ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 508อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 512อ่านอรรถกถา 2 / 516อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๘

               โภชนวรรค สันนิธิการสิกขาบทที่ ๘               
               ในสิกขาบทที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [เรื่องพระเวฬัฏฐสีสะทำการสั่งสม]               
               พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งรวมอยู่ภายในแห่งภิกษุชฎิลพันรูป ชื่อว่าเวฬัฏฐสีสะ.
               สองบทว่า อรญฺเญ วิหรติ ได้แก่ อยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง อันเป็นเรือนเป็นที่บำเพ็ญเพียรใกล้พระเชตวันวิหาร.
               บทว่า สุกฺขกูรํ ได้แก่ ข้าวสุกไม่มีแกงและกับ. ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉันภายในบ้านแล้ว ภายหลังเที่ยวบิณฑบาต นำเอาข้าวสุกเช่นนั้นมา.
               ก็แลพระเถระนำเอาข้าวสุกนั้นมาเพราะความเป็นผู้มักน้อย ไม่ใช่เพราะความเป็นผู้ติดในปัจจัย. ได้ยินว่า พระเถระยับยั้งอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน ออกจากสมาบัติแล้ว เอาบิณฑบาตนั้นชุบน้ำฉัน, ย่อมนั่งเข้าสมาบัติต่อจาก ๗ วันนั้นไปอีก ๗ วัน, ท่านยับยั้งอยู่ตลอด ๒ สัปดาห์บ้าง ๓ สัปดาห์บ้าง ๔ สัปดาห์บ้าง ด้วยประการอย่างนี้ จึงเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า นานๆ ท่านจึงจะเข้าไปยังบ้านเพื่อบิณฑบาต.
               คำว่า การ การณ์ กิริยา (ทั้ง ๓ นี้) โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน. การทำความสะสมมีอยู่แก่ขาทนียะและโภชนียะนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าสันนิธิการ. สันนิธิการนั่นแหละ ชื่อว่าสันนิธิการก. ความว่า สันนิธิกิริยา (ความทำการสะสม). คำว่า สันนิธิการก นั้นเป็นชื่อ (แห่งขาทนียโภชนียะ) ที่ภิกษุรับประเคนไว้ให้ค้างคืน ๑. ด้วยเหตุนั้นแล พระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะแห่งบทว่า สนฺนิธิการกํ นั้นว่า ที่ภิกษุรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น ชื่อว่า สันนิธิการก.
               คำว่า ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า เมื่อภิกษุรับยาวกาลิก หรือยามกาลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่กระทำสันนิธิอย่างนี้ ด้วยความประสงค์จะกลืนกิน ต้องทุกกฏ ในเพราะรับประเคนก่อน. แต่เมื่อกลืนกินเป็นปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน. ถ้าแม้นว่า บาตรล้างไม่สะอาด ซึ่งเมื่อลูบด้วยนิ้วมือ รอยปรากฏ, เมือกซึมเข้าไปในระหว่างหมุดแห่งบาตรที่มีหมุด, เมือกนั้น เมื่ออังที่ความร้อนให้ร้อนย่อมซึมออก หรือว่า รับข้าวยาคูร้อน จะปรากฏ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันแม้ในบาตรเช่นนั้นในวันรุ่งขึ้น. เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงล้างบาตรแล้ว เทน้ำใสลงไปในบาตรนั้น หรือลูบด้วยนิ้วมือ จึงจะรู้ได้ว่าไม่มีเมือก.
               ถ้าแม้นว่ามีเมือกบนน้ำก็ดี รอยนิ้วมือปรากฏในบาตรก็ดี, บาตรย่อมเป็นอันล้างไม่สะอาด. แต่ในบาตรมีสีน้ำมัน รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ, รอยนิ้วมือนั้นเป็นอัพโพหาริก. ภิกษุทั้งหลายไม่เสียดาย สละโภชนะใดให้แก่สามเณร, ถ้าสามเณรเก็บโภชนะนั้นไว้ถวายแก่ภิกษุ ควรทุกอย่าง. แต่ที่ตนเองรับประเคนแล้วไม่สละเสียก่อน ย่อมไม่ควรในวันรุ่งขึ้น. จริงอยู่ เมื่อภิกษุกลืนกินข้าวสุกแม้เมล็ดเดียวจากโภชนะที่ไม่สละนั้น เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน.
               บรรดาเนื้อที่เป็นอกัปปิยะ ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์กับถุลลัจจัย. ในเนื้อที่เหลือเป็นปาจิตตีย์กับทุกกฏ. เมื่อกลืนกินยามกาลิกในเมื่อมีเหตุเป็นปาจิตตีย์. เมื่อกลืนกินเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฏ. ถ้าภิกษุเป็นผู้ห้ามภัต กลืนกินโภชนะที่ไม่ได้ทำให้เป็นเดน, ในอามิสตามปรกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว. ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว กับถุลลัจจัย. ในอกัปปิยมังสะที่เหลือ เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฏ. เมื่อกลืนกินยามกาลิก ทางปากที่มีอามิส เมื่อมีเหตุ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว. ทางปากไม่มีอามิสเป็นปาจิตตีย์ตัวเดียวเท่านั้น. เมื่อกลืนกินเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร ทุกกฏเพิ่มขึ้นแม้ในวิกัปทั้ง ๒. ถ้าภิกษุกลืนกินในเวลาวิกาล, ในโภชนะตามปรกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว เพราะการสันนิธิเป็นปัจจัย ๑ เพราะฉันในวิกาลเป็นปัจจัย ๑. ในอกัปปิยมังสะ ถุลลัจจัยและทุกกฏเพิ่มขึ้น. ในพวกยามกาลิกไม่เป็นอาบัติ เพราะฉันในวิกาลเป็นปัจจัย. แต่ไม่เป็นอาบัติในวิกัปทุกอย่าง ในเวลาวิกาล เพราะความไม่เป็นเดนในยามกาลิกเป็นปัจจัย.
               ข้อว่า สตฺตาหกาลิกํ ยาวชีวิกํ อาหารตฺถาย มีความว่า เมื่อภิกษุรับประเคนเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นทุกกฏ เพราะการรับประเคนเป็นปัจจัยก่อน. แต่เมื่อกลืนกิน ถ้าเป็นของไม่มีอามิสเป็นทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. ถ้าสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ระคนด้วยอามิสเป็นของที่ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ เป็นปาจิตตีย์ตามวัตถุแท้.
               ในคำว่า อนาปตฺติ ยาวกาลิกํ เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า ขาทนียะโภชนียะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขยายไว้แล้วในวิกาลโภชนสิกขาบท เรียกว่า ยาวกาลิก เพราะเป็นของอันภิกษุพึงฉันได้ชั่วเวลา คือเที่ยงวัน, ปานะ ๘ อย่าง กับพวกอนุโลมปานะ เรียกว่า ยามกาลิก ด้วยอรรถว่า มีเวลาเป็นครู่ยาม เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงฉันได้ตลอดชั่วยาม คือ ปัจฉิมยามแห่งราตรี, เภสัช ๕ อย่างมีสัปปิเป็นต้น เรียกว่า สัตตาหกาลิก ด้วยอรรถว่า มีเวลา ๗ วัน เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงเก็บไว้ได้ถึง ๗ วัน, กาลิกที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นน้ำเสีย เรียกว่า ยาวชีวิก เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงรักษาไว้ฉันได้ตลอดชีวิตเมื่อมีเหตุ.
               บรรดากาลิกเหล่านั้น ภิกษุเก็บยาวกาลิกที่รับประเคนในเวลารุ่งอรุณไว้ ฉันได้ตั้งร้อยครั้ง ตราบเท่าที่กาลเวลายังไม่ล่วงเลยไป, ฉันยามกาลิกได้ตลอดวัน ๑ กับคืน ๑, ฉันสัตตาหกาลิกได้ ๗ คืน ฉันยาวชีวิกนอกนี้ได้แม้ตลอดชีวิตเมื่อมีเหตุ ไม่เป็นอาบัติ. บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               แต่ในฐานะนี้ ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านกล่าวปานกถา กัปปิยานุโลมกถา กถามีอาทิว่า ยามกาลิก กับยาวกาลิก ระคนกัน ควรไหมหนอ? และกัปปิยภูมิกถาไว้พิสดารแล้ว. ข้าพเจ้าจักกล่าวกถานั้นๆ ในอาคตสถานนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               สันนิธิการกสิกขาบทที่ ๘ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 508อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 512อ่านอรรถกถา 2 / 516อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10932&Z=10988
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8870
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8870
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :