ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 58อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 2 / 66อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘               
               พรรณนาปฐมอุปักขฏสิกขาบท               
               อุปักขฏสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในอุปักขฏสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถมูลเหตุปฐมบัญญัติ]               
               ในคำว่า อตฺถาวุโส มํ โส อุปฏฺฐาโก นี้ มีความอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ! บุรุษที่ท่านพูดถึง เห็นปานนี้นั้น เป็นอุปัฏฐากของผม มีอยู่.
               คำว่า อปิมยฺยา เอวํ โหติ มีความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ความจริง ผมตั้งใจไว้อย่างนั้น. ปาฐะว่า อปิ เมยฺยา เอวํ โหติ แปลว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า! ถึงผมก็มีความคิดอย่างนี้ ดังนี้ ก็มี.
               บทว่า อุทฺทิสฺส ที่มีอยู่ในคำว่า ภิกฺขุํ ปเนว อุทฺทิสฺส นี้ มีอรรถว่า อ้างถึง คือปรารภถึง. ก็เพราะทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรที่พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ตระเตรียมไว้เฉพาะภิกษุใด จัดว่าเป็นอันเขาตระเตรียมแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุนั้น ฉะนั้น ในบทภาชนะแห่งบทว่า ภิกฺขุํ ปเนว อุทฺทิสฺส นั้น ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ.

               [แก้อรรถสิกขาบทวิภังค์ว่าด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร]               
               คำว่า ภิกฺขุํ อารมฺมณํ กริตฺวา ได้แก่ กระทำภิกษุให้เป็นปัจจัย.
               จริงอยู่ ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรที่พ่อเจ้าเรือน หรือแม่เจ้าเรือนตระเตรียมไว้เฉพาะภิกษุใด ย่อมชื่อว่าเป็นอันเขาทำภิกษุนั้นให้เป็นปัจจัยตระเตรียมไว้โดยแน่นอนทีเดียว. เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ทำภิกษุให้เป็นอารมณ์. ความจริง แม้ปัจจัยก็มาแล้วโดยชื่อว่า อารมณ์ ในคำว่า ลภติ มาโร อารมฺมณํ แปลว่า มารย่อมได้ปัจจัย ดังนี้เป็นต้น.
               บัดนี้ เพื่อแสดงอาการของกัตตา (ผู้ทำ) ในบทว่า อุทฺทิสฺส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ประสงค์จะให้ภิกษุครอง. จริงอยู่ คฤหบดีผู้ประสงค์จะให้ภิกษุครองนั้น ตระเตรียมไว้เฉพาะภิกษุนั้น, มิใช่ (ตระเตรียม) เพราะเหตุอื่น. เพราะเหตุนี้ คฤหบดีนั้นจึงชื่อว่า เป็นผู้ประสงค์จะให้ครอง. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ผู้ประสงค์จะให้ภิกษุครอง.
               สองบทว่า อญฺญาตกสฺส คหปติสฺส วา มีอรรถว่า อันคฤหบดีผู้มิใช่ญาติ ก็ดี. แท้จริง คำนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ. แต่ในบทภาชนะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะไม่วิจารณ์พยัญชนะ แสดงแต่อรรถอย่างเดียว จึงตรัสคำมีอาทิว่า อญฺญาตโก นาม ฯเปฯ คหปติ นาม ดังนี้.
               บทว่า จีวรเจตาปนํ แปลว่า มูลค่าแห่งจีวร.
               ก็เพราะมูลค่าแห่งจีวรนั้น ย่อมเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในบรรดาทรัพย์มีเงินเป็นต้น ฉะนั้น ในบทภาชนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า หิรญฺญํ วา เป็นต้น.
               สองบทว่า อุปกฺขฏํ โหติ ได้แก่ เป็นทรัพย์ที่เขาตระเตรียมไว้ คือรวบรวมไว้แล้ว. ก็เพราะด้วยคำว่า หิรญฺญํ วา เป็นต้นนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่มูลค่าจีวรนั้น เป็นของอันคฤหบดีนั้นตระเตรียมไว้แล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงยกบทว่า อุปกฺขฏํ นาม ขึ้นแล้วตรัสบทภาชนะแยกไว้ต่างหาก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงทรัพย์ที่เขาตระเตรียมไว้ จึงตรัสว่า อิมินา เป็นต้น. เพราะเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า อิมินา นั้น จึงตรัสว่า ปจฺจุปฏฺฐิเตน แปลว่า ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดไว้เฉพาะ. จริงอยู่ มูลค่าแห่งจีวรที่คฤหบดีตระเตรียมไว้ คือรวบรวมไว้แล้ว ชื่อว่า เป็นทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ ฉะนี้แล.
               คำว่า อจฺฉาเทสฺสามิ นี้เป็นคำสำนวน. แต่ความหมายในคำว่า อจฺฉาเทสฺสามิ นี้ ดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจักถวายแก่ภิกษุ ผู้มีชื่อนี้. เพราะเหตุนั้นนั่นแล แม้ในบทภาชนะแห่งบทว่า อจฺฉาเทสฺสามิ นั้น พระองค์จึงตรัสว่า ทสฺสามิ แปลว่า เราจักถวาย.
               ในคำว่า ตตฺร เจ โส ภิกฺขุ นี้ มีการเชื่อมบทอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุนั้น เขามิได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร ในสำนักของเจ้าพ่อเรือน หรือแม่เจ้าเรือนนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น เมื่ออรรถแห่งบทว่า อุปสงฺกมิตฺวา แปลว่า เข้าไปหาแล้ว นี้สำเร็จด้วยบทว่า คนฺตฺวา แปลว่า ไปแล้ว นี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สู่เรือน ดังนี้ ด้วยอำนาจโวหารข้างมาก.
               เนื้อความในบทว่า คนฺตฺวา นี้ อย่างนี้ว่า ก็ทายกนั้นอยู่ในที่ใด ไปแล้ว ณ ที่นั้น. เพราะฉะนั้นจึงตรัสซ้ำอีกว่า เข้าไปหาแล้ว ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง.
               สองบทว่า วิกปฺปํ อาปชฺเชยฺย มีความว่า พึงถึงความกำหนดพิเศษยิ่ง คือ การจัดแจงอย่างยิ่ง. แต่ในบทภาชนะ เพื่อแสดงเหตุเป็นเครื่องให้ถึงความกำหนดเท่านั้น จึงตรัสว่า อายตํ วา เป็นต้น.
               ศัพท์ว่า สาธุ เป็นนิบาตลงในความอ้อนวอน.
               ศัพท์ว่า วต เป็นนิบาตเป็นไปในความรำพึง.
               ภิกษุย่อมอ้างตนเอง ด้วยบทว่า มํ (ยังรูป).
               ย่อมร้อง คือย่อมเรียก ผู้อื่นว่า อายสฺมา (ท่าน).
               ก็คำทั้งหมดนี้ เป็นเพียงสักว่าพยัญชนะ มีอรรถตื้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสอธิบายไว้ในบทภาชนะแห่งบทว่า สาธุ เป็นต้นนั้น.
               สองบทว่า กลฺยาณกมฺยตํ อุปาทาย มีความว่า ถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรที่ดี คือความเป็นผู้ปรารถนาจีวรที่วิเศษยิ่งด้วยจิต. บทว่า อุปาทาย นั้น เชื่อมความกับบทว่า อาปชฺเชยฺย เจ นี้.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่ภิกษุใดถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี ย่อมถึงความกำหนด, ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้มีความต้องการจีวรดี คือมีความต้องการด้วยจีวรที่มีค่ามาก ฉะนั้น ในบทภาชนะแห่งบทว่า กลฺยาณกมฺยตํ อุปาทาย นั้น จึงทรงละพยัญชนะเสีย ตรัสคำนั้นเท่านั้น เพื่อแสดงเฉพาะอรรถที่ต้องการ. แต่เพราะอาบัติ ยังไม่ถึงที่สุดด้วยเหตุสักว่า การถึงความกำหนดจีวรนี้เท่านั้น ฉะนั้น จึงตรัสคำว่า ตสฺส วจเนน แปลว่า ตามคำของภิกษุนั้น เป็นต้น.
               ในคำว่า อนาปตฺติ ญาตกานํ เป็นต้น ผู้ศึกษาพึงเห็นอรรถอย่างนี้ว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ถึงความกำหนดในจีวรของพวกญาติ.
               คำว่า มหคฺฆํ เจตาเปตุกามสฺส อปฺปคฺฆํ เจตาเปติ มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าวแก่คฤหบดี ผู้ใคร่จะให้จ่ายจีวรมีราคา ๒๐ บาทว่า อย่าเลย ด้วยจีวรมีราคา ๒๐ นี้ แก่รูป, จงถวายจีวรมีค่า ๑๐ บาทหรือ ๘ บาท เถิด.
               คำว่า อปฺปคฺฆํ นี้ ตรัสไว้ เพื่อป้องกันราคาที่มากเกินไปนั่นเอง. แต่แม้ในจีวรที่เสมอกัน (มีราคาเท่ากัน) ก็ไม่เป็นอาบัติ. ก็แล จีวรนั้นเสมอกัน (เท่ากัน) ด้วยอำนาจแห่งราคาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยอำนาจประมาณ (ขนาด).
               จริงอยู่ สิกขาบทนี้มีการให้เพิ่มราคา เพราะฉะนั้น แม้จะพูดกะคฤหบดีผู้ใคร่จะให้จ่ายอันตรวาสกมีราคา ๒๐ ว่า จงถวายจีวรมีราคาเพียงเท่านี้แหละ ดังนี้ ก็ควร.
               คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               แม้สมุฏฐานเป็นต้น ก็เป็นเช่นกับตทุตตริสิกขาบทนั่นแล.

               พรรณนาปฐมอุปักขฏสิกขาบทที่ ๘ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 58อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 2 / 66อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=1204&Z=1339
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :