ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 644อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 648อ่านอรรถกถา 2 / 654อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ สัปปาณกวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๕

               สัปปาณกวรรค อูนวีสติวัสสสิกขาบทที่ ๕               
               ในสิกขาบทที่ ๕ มีวินิจฉัยดังนี้ :-

               [แก้อรรถบางปาฐะในปฐมบัญญัติ]               
               ข้อว่า องฺคุลิโย ทุกฺขา ภวิสฺสนฺติ มีความว่า มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีคิดว่า เมื่อเจ้าอุบาลีเขียนหนังสือ นิ้วมือจักระบม.
               สองบทว่า อุรสฺส ทุกฺโข มีความว่า มารดาบิดาของอุบาลีสำคัญว่า เมื่ออุบาลีเรียนวิชาคำนวณจำจะต้องคิดแม้มาก เพราะเหตุนั้น เขาจักหนักอก.
               สองบทว่า อกฺขีนิสฺส ทุกฺขานิ มีความว่า มารดาบิดาของอุบาลีสำคัญว่า อุบาลีเมื่อเรียนตำราดูรูปภาพ จำต้องพลิกไปพลิกมาดูเหรียญกษาปณ์ เพราะเหตุนั้น นัยน์ตาทั้ง ๒ ของเขาจักชอกช้ำ.
               ในบทว่า ฑังสะ เป็นต้น จำพวกแมลงสีเหลือง ชื่อว่าฑังสะ (เหลือบ).
               บทว่า ทุกฺขานํ แปลว่า ทนได้ยาก.
               บทว่า ติพฺพานํ แปลว่า กล้า.
               บทว่า ขรานํ แปลว่า แข็ง.
               บทว่า กฏุกานํ แปลว่า เผ็ดร้อน.
               อนึ่ง ความว่า เป็นเช่นกับรสเผ็ดร้อน เพราะไม่เป็นที่เจริญใจ.
               บทว่า อสาตานํ แปลว่า ไม่เป็นที่ยินดี.
               บทว่า ปาณหรานํ แปลว่า อาจผลาญชีวิตได้.
               สองบทว่า สีมํ สมฺมนฺนติ ได้แก่ ผูกสีมาใหม่. แต่ในกุรุนที ท่านปรับเป็นทุกกฏแม้ในการกำหนดวักน้ำสาด.
               บทว่า ปริปุณฺณวีสติวสฺโส ได้แก่ ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์นับแต่ถือปฏิสนธิมา.

               [ว่าด้วยบุคคลผู้มีอายุหย่อนและครบ ๒๐ ปี]               
               ความจริง แม้ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์ ก็ถึงการนับว่าผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีเหมือนกัน. เหมือนอย่างที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้
               ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสป เป็นผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงอุปสมบท ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท, เราจะเป็นอุปสัมบันหรือไม่เป็นอุปสัมบันหนอ.
               พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั่นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในท้องของมารดา, วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว, อาศัยจิตดวงแรกวิญญาณ ดวงแรกนั้นนั่นแหละ เป็นความบังเกิดของสัตว์นั้น, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์.
               ในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว คพฺภวีสํอุปสมฺปาเทตุํ นั้น บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ผู้ใดอยู่ในท้องของมารดาถึง ๑๒ เดือนเกิด (คลอด) ในวันมหาปวารณา, ตั้งแต่วันมหาปวารณานั้นไปจนถึงวันมหาปวารณาในปีที่ ๑๙ พึงให้ผู้นั้นอุปสมบทในวันปาฏิบท (แรมค่ำ ๑) เลยวันมหาปวารณานั้นไป. พึงทราบการลดลงและเพิ่มขึ้นโดยอุบายนั่น.
               แต่พวกพระเถระครั้งก่อนให้สามเณรอายุ ๑๙ ปีอุปสมบทในวันปาฏิบท (วันแรมค่ำ ๑) เลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป.
               ถามว่า การอุปสมบทนั้นมีได้ เพราะเหตุไร?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลย :-
               ในปีหนึ่ง มีจาตุทสีอุโบสถ (อุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ) ๖ วัน, เพราะฉะนั้น ใน ๒๐ ปีจะมีเดือนขาดไป ๔ เดือน, เจ้าผู้ครองบ้านเมืองจะเลื่อนกาลฝนออกไปทุกๆ ๓ ปี (เพิ่มอธิกมาสทุกๆ ๓ปี), ฉะนั้น ใน ๑๘ ปี จะเพิ่มเดือนขึ้น ๖ เดือน (เพิ่มอธิกมาส ๖ เดือน). นำ ๔ เดือนที่ขาดไปด้วยอำนาจอุโบสถออกไปจาก ๖ เดือนที่เพิ่มเข้ามาใน ๑๘ ปีนั้น ยังคงเหลือ ๒ เดือน. เอา ๒ เดือนนั้นมาเพิ่มเข้า จึงเป็น ๒๐ ปีบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้ พระเถระทั้งหลายจึงหมดความสงสัยอุปสมบทให้ (สามเณรอายุ ๑๙ ปี) ในวันปาฏิบทเลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป.
               ก็ในคำว่า สามเณรมีอายุ ๑๙ ปี เป็นต้นนี้ ท่านกล่าวคำว่ามีอายุ ๑๙ ปี หมายเอาสามเณรผู้ซึ่งปวารณาแล้ว จักมีอายุครบ ๒๐ ปี. เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในท้องมารดาถึง ๑๒ เดือน จะเป็นผู้มีอายุครบ ๒๑ ปี. ผู้ซึ่งอยู่ (ในท้องมารดา) ๗ เดือน จะเป็นผู้มีอายุ ๒๐ ปี กับ ๗ เดือน. แต่ผู้ (อยู่ในท้องมารดา) ๖ เดือนคลอด จะไม่รอด.
               ในคำว่า อนาปตฺติ อูนวีสติวสฺสํ ปุคฺคลํ ปริปุณฺณสญฺญี นี้ มีวินิจฉัยว่า ไม่เป็นอาบัติแก่อุปัชฌายะผู้ให้อุปสมบทแม้โดยแท้. ถึงอย่างนั้น บุคคลก็ไม่เป็นอันอุปสมบทเลย. แต่ถ้าบุคคลนั้น ให้ผู้อื่นอุปสมบทโดยล่วงไป ๑๐ พรรษา, หากว่า เว้นบุคคลนั้นเสียคณะครบ, บุคคลผู้นั้นเป็นอันอุปสมบทดีแล้ว. และแม้บุคคลผู้ไม่ใช่อุปสัมบันนั้น ยังไม่รู้เพียงใด ยังไม่เป็นอันตรายต่อสวรรค์ ไม่เป็นอันตรายต่อพระนิพพานของเขาเพียงนั้น. แต่ครั้นรู้แล้ว พึงอุปสมบทใหม่.
               บทที่เหลือ ตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               อูนวีสติวัสสสิกขาบทที่ ๕ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สัปปาณกวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 644อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 648อ่านอรรถกถา 2 / 654อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=12786&Z=12868
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9723
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9723
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :