ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 731อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 738อ่านอรรถกถา 2 / 744อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๒

               รตนวรรค รัตนสิกขาบทที่ ๒               
               ในสิกขาบทที่ ๒ มีวินิจฉัยดังนี้ :-

               [ว่าด้วยสถานที่และของตกที่ควรเก็บไม่ควรเก็บ]               
               บทว่า วิสฺสริตฺวา แปลว่า ได้ลืมไว้. ๕ เหรียญกษาปณ์จาก ๑๐๐ เหรียญ ชื่อว่าปุณณปัตตะ (ร้อยละ ๕).
               คำว่า กฺยาหํ กริสฺสามิ แปลว่า เราจักกระทำอย่างไร?
               คำว่า อาภรณํโอมุญฺจิตฺวา คือ ได้เปลื้องเครื่องประดับชื่อมหาลดามีค่า ๙ โกฏิออกไว้.
               บทว่า อนฺเตวาสี แปลว่า สาวใช้.
               ๒ ชั่วขว้างก้อนดินตกแห่งวัดที่อยู่ ชื่อว่าอุปจาร ในคำว่า อปริกฺขิตสฺส อุปจาโร นี้. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า สำหรับที่อยู่พัก ชั่วเหวี่ยงกระด้งตก หรือชั่วเหวี่ยงสากตก (ชื่อว่า อุปจาร).
               ในคำว่า อุคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺส นี้ มีวินิจฉัยว่า
               ภิกษุรับเองก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองและเงิน เพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. รับเองก็ดี ให้รับเองก็ดี เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะ บุคคล เจดีย์และนวกรรม เป็นทุกกฏ. ภิกษุรับเองก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งรัตนะมีมุกดาเป็นต้นที่เหลือ เพื่อประโยชน์แก่ตนหรือแก่สงฆ์เป็นต้น เป็นทุกกฏ.
               สิ่งที่เป็นกัปปิยวัตถุก็ดี เป็นอกัปปิยวัตถุก็ดี อันเป็นของคฤหัสถ์ ชั้นที่สุดแม้ใบตาลเป็นเครื่องประดับหูเป็นของมารดา เมื่อภิกษุรับเก็บโดยมุ่งวัตรแห่งภัณฑาคาริกเป็นใหญ่ เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน. แต่ถ้าของๆ มารดาบิดาเป็นกัปปิยภัณฑ์อันควรที่ภิกษุจะเก็บไว้ได้แน่นอน พึงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์ตน. แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านโปรดเก็บของนี้ไว้ให้ด้วย พึงห้ามว่า ไม่ควร.
               ถ้าพวกคฤหัสถ์โยนของทิ้งไว้กล่าวว่า นิมนต์ท่านเก็บไว้ให้ด้วย แล้วไปเสีย, จัดว่าเป็นธุระ สมควรจะเก็บไว้. พวกคนงานมีนายช่างไม้เป็นต้น ผู้กระทำการงานในวิหารก็ดี พวกราชพัลลภก็ดี ขอร้องให้ช่วยเก็บเครื่องมือ หรือเครื่องนอนของตนว่า นิมนต์ ท่านช่วยเก็บไว้ให้ด้วย. อย่าพึงกระทำ เพราะชอบกันบ้าง เพราะกลัวบ้าง. แต่จะแสดงที่เก็บให้ ควรอยู่. ส่วนในเหล่าชนผู้โยนของทิ้งไว้โดยพลการแล้วไปเสีย จะเก็บไว้ให้ก็ควร.
               ในคำว่า อชฺฌาราเม วา อชฺฌาวสเถ วา นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ถ้าอารามใหญ่เช่นกับมหาวิหาร, ภิกษุเก็บเองก็ดี ใช้ให้เก็บก็ดี ซึ่งของคฤหัสถ์ที่ตกในสถานที่ เช่นกับที่ซึ่งจะเกิดมีความระแวงสงสัยว่า จักถูกพวกภิกษุและสามเณรฉวยเอาไป แล้วพึงเก็บไว้ในบริเวณที่มีกำแพงกั้นในอารามใหญ่นั้น. แต่ที่ตกในสถานที่สัญจรของมหาชน เช่นที่ซุ้มประตูแห่งมหาโพธิ์และลานต้นมะม่วง ไม่ควรเก็บ. ไม่ใช่ธุระหน้าที่ (ของภิกษุ).
               แต่ในกุรุนทีกล่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปเห็นภัณฑะบางอย่าง ในสถานที่ไม่มีคน. แม้เมื่อเกิดมีคนพลุกพล่าน พวกชาวบ้านก็จะสงสัยภิกษุนั้นทีเดียว. เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นพึงแวะออกจากทางแล้วนั่งพัก. เมื่อพวกเจ้าของมา พึงบอกทรัพย์นั้น. ถ้าไม่พบเจ้าของ เธอจักต้องทำให้เป็นของสมควร (มีถือเอาเป็นของบังสุกุลเป็นต้น).
               ในคำว่า รูเปน วา นิมิตฺเตน วาสญฺญาณํ กตฺวา นี้ ที่ชื่อว่า รูป ได้แก่ ภัณฑะภายในห่อ. เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงแก้ห่อภัณฑะออกนับดู แล้วกำหนดไว้ว่า เหรียญกษาปณ์เท่านี้ หรือเงินและทองเท่านี้.
               ดวงตราเครื่องหมาย (ดุน) เป็นต้น ชื่อว่านิมิต (เครื่องหมาย). เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำหนดเครื่องหมายทุกอย่าง ในห่อภัณฑะที่ประทับตราเครื่องหมายมีอาทิอย่างนี้ คือประทับตราด้วยดินเหนียว หรือว่าประทับตราด้วยครั่ง, ห่อภัณฑะที่เขาห่อด้วยผ้าสีเขียว หรือว่าที่เขาห่อด้วยผ้าสีเหลือง.
               สองบทว่า ภิกฺขู ปฏิรูปา ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายผู้มีความละอายมักรังเกียจสงสัย. เพราะจะมอบไว้ในมือของพวกคนผู้มีนิสัยโลเลไม่ได้.
               ก็ภิกษุใดยังไม่หลีกไปจากอาวาสนั้นหรือยังไม่พบพวกเจ้าของ, แม้ภิกษุนั้น อย่าพึงทำให้เป็นมูลค่าแห่งจีวรเป็นต้นเพื่อตนเอง. แต่พึงให้สร้างเสนาสนะหรือเจดีย์หรือสระโบกขรณีที่เป็นของถาวร. ถ้าว่า โดยกาลล่วงไปนาน เจ้าของจึงมาทวง, พึงบอกเขาว่า อุบาสก! ของชื่อนี้ เขาสร้างด้วยทรัพย์ของท่าน, ท่านจงอนุโมทนาเถิด. ถ้าหากว่าเขาอนุโมทนาด้วย ข้อนั้นเป็นการดี ด้วยประการฉะนี้, ถ้าเขาไม่อนุโมทนาด้วย กลับทวงว่า ขอท่านจงให้ทรัพย์ผมคืน พึงชักชวนคนอื่นคืนให้ทรัพย์เขาไป.
               ในคำว่า รตนสมฺมตํ วิสฺสาสํ คณฺหาติ เป็นต้น ตรัสหมายเอาอามาสวัตถุ (ของควรจับต้องได้) เท่านั้น. ของอนามาส ไม่ควรเลย.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               รัตนสิกขาบทที่ ๒ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 731อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 738อ่านอรรถกถา 2 / 744อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=14202&Z=14316
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10156
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10156
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :