ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 191อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 20 / 207อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง
วรรคที่ ๔

               อรรถกถาวรรคที่ ๔#-               
____________________________
#- บาลี ๒๐๕-๒๐๖

               วรรคที่ ๔ สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ชมฺพูทีเป ความว่า ชื่อว่าชมพูทวีป เพราะเป็นทวีปที่รู้กันทั่วไป คือปรากฏด้วยต้นหว้าเป็นสำคัญ. เขาว่าทวีปนี้มีต้นหว้าใหญ่ตระหง่านสูง ๑๐๐ โยชน์ กิ่งยาว ๕๐ โยชน์ ลำต้นกลม ๑๕ โยชน์ เกิดอยู่ที่เขาหิมพานต์ตั้งอยู่ชั่วกัป. ทวีปนี้เรียกว่าชมพูทวีป เพราะมีต้นหว้าใหญ่นั้น.
               อนึ่ง ในทวีปนี้ ต้นหว้าตั้งอยู่ชั่วกัปฉันใด แม้ต้นไม้เหล่านี้ คือต้นกระทุ่มในอมรโคยานทวีป ต้นกัลปพฤกษ์ในอุตตรกุรุทวีป ต้นซีกในบุพพวิเทหทวีป ต้นแคฝอยของพวกอสูร ต้นงิ้วของพวกครุฑ ต้นปาริชาตของพวกเทวดา ก็ตั้งอยู่ชั่วกัปเหมือนกัน ฉันนั้น.
                         ปาตลี สิมฺพลี ชมฺพู        เทวานํ ปาริฉตฺตโก
                         กทมฺโพ กปฺปรุกฺโข จ    สิรีเสน ภวติ สตฺตโม
               แปลว่า
                         ต้นแคฝอย ต้นงิ้ว ต้นหว้า ต้นปาริชาต ของเทวดา
                         ต้นกระทุ่ม ต้นกัลปพฤกษ์ และต้นซึกครบ ๗ ต้น.

               บทว่า อารามรามเณยฺยกํ ความว่า บรรดาสวนดอกไม้และสวนผลไม้ที่น่ารื่นรมย์ เช่น สวนพระเวฬุวัน ชีวกัมพวัน เชตวันและบุพพาราม.
               สวนอันน่ารื่นรมย์นั้นในชมพูทวีปนี้มีน้อย คือนิดหน่อย. อธิบายว่า มีไม่มาก.
               แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วนรามเณยฺยกํ ในสูตรนี้ พึงทราบว่าป่าไม้ คืออรัญดงไม้ ในประเทศแห่งเขาวงก์ และเขาหิมวันต์เป็นต้น ก็เช่นเดียวกับป่านาควัน ป่าสาลวันและป่าจัมปกวันเป็นต้น.
               บทว่า ภูมิรามเณยฺยกํ ได้แก่ พื้นที่สม่ำเสมอ คือราบเรียบ เช่นพระเชตวันวิหารและนาในแคว้นมคธเป็นต้น.
               บทว่า โปกฺขรณีรามเณยฺยกํ ได้แก่ สถานที่ตั้งสระโบกขรณีซึ่งมีสัณฐานกลม สี่เหลี่ยม ยาวและโค้งเป็นต้น เช่นสระโบกขรณีของเจ้าเชต และสระโบกขรณีของเจ้ามัลละ.
               บทว่า อุกฺกูลวิกูลํ แปลว่า ที่ดอนและที่ลุ่ม. ในพระบาลีว่า อุกฺกูลวิกูลํ นั้น ที่ดอนชื่อว่าอุกกูละ ที่ลุ่มชื่อว่าวิกูละ.
               บทว่า นทีวิทุคฺคํ ได้แก่ แม่น้ำ ที่เรียกว่า นทีวิทุคฺคํ เพราะเป็นแม่น้ำที่ไหลไปยาก คือหล่ม.
               บทว่า ขาณุกณฺฏกฏฺฐานํ ได้แก่ ที่ทับถมอยู่แห่งตอและหนามอันเกิดในที่นั้นเอง และที่คนอื่นนำมาทิ้งไว้.
               บทว่า ปพฺพตวิสมํ ได้แก่ ที่ขรุขระแห่งภูเขานั่นแหละ.
               บทว่า เย โอทกา ความว่า สัตว์ที่เกิดในน้ำเท่านั้น มากกว่า.
               ได้ยินว่า จากที่นี้ไป ประมาณ ๗๐๐ โยชน์ มีประเทศชื่อว่า สุวรรณภูมิ. เรือแล่นไปด้วยลมพัดไปทางเดียว จะเดินทางถึงในเวลา ๗ วัน ๗ คืน. ครั้นสมัยหนึ่งเรือแล่นไปอย่างนั้น เดินทางไปเพียง ๗ วัน (โดยแล่นไป) ตามหลังปลานันทิยาวัฏ.
               พึงทราบว่าสัตว์น้ำมีมากอย่างนี้.
               อีกประการหนึ่ง เพราะพื้นที่บนบกน้อย และเพราะน้ำมีมาก.
               พึงทราบความหมายในเรื่องนี้ดังต่อไปนี้
               เหมือนอย่างว่า ในบึงใหญ่มีกอบัวกอหนึ่งมีใบ ๔ ใบ เฉพาะตรงกลาง (กอ) มีดอกบัวตูมดอกหนึ่งฉันใด ทวีปทั้ง ๔ เหมือนใบบัว ๔ ใบ เขาสิเนรุ เหมือนดอกบัวตูมที่กลาง (กอ) ฉันนั้นเหมือนกัน. โอกาสว่างที่น้ำล้อมรอบทวีป ก็เหมือนน้ำที่เหลือ. ความที่น้ำนั้นเป็นของมาก ย่อมปรากฏแก่ท่านผู้มีฤทธิ์. เพราะเมื่อท่านผู้มีฤทธิ์ไปทางอากาศ ทวีปทั้ง ๔ ย่อมปรากฏเหมือนใบบัว ๔ ใบ เขาสิเนรุปรากฏเหมือนดอกบัวตูมอยู่ตรงกลาง พึงทราบว่า เพราะสัตว์เกิดในน้ำมีมาก สัตว์น้ำเท่านั้นจึงมากกว่าด้วยประการอย่างนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒ เป็นต้น               
               ในสูตรที่ ๒ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อญฺญตฺร มนุสฺเสหิ ความว่า ในที่นี้ท่านประสงค์เอาอบายทั้ง ๔ เว้นมนุษย์ทั้งหลาย.
               บทว่า มชฺฌิเมสุ ชนปเทสุ อธิบายว่า ในทิศตะวันออกมีนิคมชื่อกชังคละ. ต่อจากนิคมนั้นไปเป็นมหาสาลนคร, ถัดจากมหาสาลนครนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ. ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำชื่อว่าสาลวดี ถัดจากแม่น้ำนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเข้ามา เป็นมัชฌิมประเทศ, ในทิศใต้มีนิคมชื่อว่า เสตกัณณิกะ ถัดจากนิคมนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ, ในทิศตะวันตก มีบ้านพราหมณ์ชื่อถูนะ ถัดจากบ้านพราหมณ์นั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ, ในทิศเหนือมีภูเขาชื่ออุสีรธชะ ถัดจากภูเขานั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ, ในชนบทที่ท่านกำหนดไว้ดังกล่าวมาฉะนี้.
               ชนบทนี้มีสัณฐานเหมือนตะโพน (วัด) โดยตรง บางแห่ง ๘๐ โยชน์ บางแห่ง ๑๐๐ โยชน์ บางแห่ง ๒๐๐ โยชน์. แต่ตรงกลาง ๓๐๐ โยชน์ (วัด) โดยรอบประมาณ ๙๐๐ โยชน์. สัตว์เหล่านี้ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวก พระพุทธอุปัฏฐากและพระพุทธสาวก พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเกิดในที่มีประมาณเท่านี้.
               อีกประการหนึ่ง มัชฌิมประเทศ แม้เทียบเคียงเอาย่อมได้. พึงทราบนัยอย่างนี้ว่า ก็ชมพูทวีปแม้ทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นมัชฌิมประเทศ ทวีปที่เหลือเป็นปัจจันตชนบท. เมืองอนุราธปุระในตามพปัณณิทวีป (เกาะลังกา) ชื่อว่าเป็นมัชฌิมประเทศ ประเทศที่เหลือเป็นปัจจันตชนบท.
               ในบทว่า ปญฺญวนฺโต อชฬา อเนฬมูคา นี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญาเหล่านี้ คือ กัมมัสสกตปัญญา ๑ ฌานปัญญา ๑ วิปัสสนาปัญญา ๑ มัคคปัญญา ๑ ผลปัญญา ๑ ชื่อว่าผู้มีปัญญา.
               ผู้ไม่โง่เขลา ชื่อว่าผู้ไม่โง่เง่า. น้ำลายของชนเหล่าใดไม่ไหลออกจากปาก ชนเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ไม่มีน้ำลายไหล. อธิบายว่า ปากไม่มีน้ำลาย (ไหลยืด) ปากไม่มีโทษ.
               บทว่า ปฏิพลา แปลว่า ผู้สามารถ คือเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังกายและกำลังญาณ.
               บทว่า อญฺญาตุ ความว่า เพื่อรู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า ทุปฺปญฺญา แปลว่า ผู้ไม่มีปัญญา.
               บทว่า ชฬา แปลว่า ผู้เขลา ผู้หลง.
               บทว่า อริเยน ปญฺญาจกฺขุนา ความว่า พร้อมกับวิปัสสนาและมรรค.
               บทว่า อวิชฺชาคตา แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความมืดบอด คืออวิชชา.
               บทว่า เย ลภนฺติ ตถาคตํ ทสฺสนาย ความว่า สัตว์เหล่าใดรู้คุณของพระตถาคต ย่อมได้เห็นพระตถาคตด้วยจักขุวิญญาณ.
               บทว่า ตถาคตปฺปเวทิตํ ความว่า อันพระตถาคตประกาศแล้ว คือตรัสประกาศไว้แล้ว.
               บทว่า สวนาย ได้แก่ เพื่อสดับด้วยโสตวิญญาณ.
               บทว่า ธาเรนฺติ ได้แก่ ไม่หลงลืมพระธรรมวินัยนั้น.
               บทว่า ธตานํ ธมฺมานํ อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ ความว่า สอบสวนอรรถะและมิใช่อรรถะแห่งพระบาลีโดยคล่องแคล่ว.
               บทว่า อตฺถมญฺญาย ธมฺมมญฺญาย ได้แก่ รู้อรรถกถาและบาลี.
               บทว่า ธมฺมานุธมฺมํ ปฏิปชฺชนฺติ ได้แก่ บำเพ็ญปฏิปทาอันสมควร.
               บทว่า สํเวชนีเยสุ ฐาเนสุ ได้แก่ ในเหตุอันน่าสังเวช.
               บทว่า สํวิชฺชนฺติ ความว่า ย่อมถึงความสังเวช.
               บทว่า โยนิโส ปทหนฺติ ความว่า กระทำปธานะ คือ ความเพียรอันตั้งไว้โดยอุบาย.
               บทว่า ววสฺสคฺคารมฺมณํ ความว่า พระนิพพานเรียกว่า ววัสสัคคะ (เป็นที่สละสังขาร), กระทำพระนิพพานนั้นให้เป็นอารมณ์.
               บทว่า ลภนฺติ สมาธึ ความว่า ย่อมได้มรรคสมาธิและผลสมาธิ.
               บทว่า อนฺนคฺครสคฺคานํ ได้แก่ ข้าวอย่างดีและรสอย่างดี.
               บทว่า อุญฺเฉน กปาลภตฺเตน ยาเปนฺติ ความว่า ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยรากไม้ และผลไม้น้อยใหญ่ในป่า หรือด้วยภัตตาหารที่ตนนำมาแล้วด้วยภาชนะกระเบี้องโดยการแสวงหา.
               ก็ในเรื่องนี้ บุคคลใดเมื่อจิตเกิดต้องการของเคี้ยวของกินอะไรๆ ไม่ได้ของนั้นในทันที บุคคลนี้ชื่อว่าไม่ได้ข้าวอย่างดีและรสอย่างดี. แม้เมื่อบุคคลใดได้ในทันทีแล้วมองดูอยู่ (เห็น) สี กลิ่นและรส ไม่ชอบใจ แม้บุคคลนี้ก็ชื่อว่าไม่ได้ข้าวอย่างดีและรสอย่างดี. ส่วนบุคคลใดได้ของที่มี สี กลิ่นและรสชอบใจ บุคคลนี้ชื่อว่าได้ข้าวอย่างดีและรสอย่างดี. บุคคลผู้นั้น พึงทราบโดยตัวอย่างสูงสุด เช่น พระเจ้าจักรพรรดิ โดยตัวอย่างอย่างต่ำพระเจ้าธรรมาโศกราช. ก็โดยสังเขป ภัตตาหารหนึ่งถาดมีราคาแสนหนึ่งนี้ ชื่อว่าข้าวอย่างดีและรสอย่างดี.
               ถามว่า ก็การที่พวกมนุษย์ได้เห็นภิกษุสงฆ์เที่ยวบิณฑบาตแล้วถวายภัตตาหารอันอุดมและประณีตนี้ เรียกว่าอะไร.
               ตอบว่า นี้ก็เรียกว่าข้าวอย่างดีและรสอย่างดี เทียบเคียงบุคคลผู้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยภัตตาหารที่ตนนำมาด้วยภาชนะกระเบื้อง ด้วยการเที่ยวแสวงหา.
               ในบทว่า อตฺถรโส เป็นต้นไป ความว่า สามัญญผล ๔ ชื่อว่าอรรถรส. มรรค ๔ ชื่อว่า ธรรมรส. พระอมตนิพพาน ชื่อว่าวิมุตติรส.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาวรรคที่ ๔               
               จบชมพูทวีปเปยยาล               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง วรรคที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 191อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 20 / 207อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1003&Z=1058
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10315
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10315
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :