ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 363อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 375อ่านอรรถกถา 20 / 386อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์
อายาจนวรรคที่ ๒

               อายาจนวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สทฺโธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เอวํ สมฺมา อายาจมาโน อายาเจยฺย ความว่า ภิกษุผู้มีศรัทธา เมื่อจะขอ คือต้องการปรารถนาอย่างนี้ว่า แม้เราก็จงเป็นเช่นพระสารีบุตรเถระ ทางปัญญา แม้เราก็จงเป็นเช่นพระโมคคัลลานเถระ ทางฤทธิ์ ดังนี้ ชื่อว่าพึงปรารถนาโดยชอบ เพราะปรารถนาสิ่งที่มีอยู่เท่านั้น.
               เมื่อปรารถนายิ่งกว่านี้ พึงปรารถนาผิด ด้วยว่าละความปรารถนา ๒ อย่างเสีย ปรารถนาเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่าปรารถนาผิด เพราะปรารถนาสิ่งที่ไม่มี. เพราะเหตุไร.
               บทว่า เอสา ภิกฺขเว เอตํ ปมาณํ ความว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อจะชั่งทองหรือเงินพึงใช้ตราชู เมื่อจะตวงข้าวเปลือกพึงใช้เครื่องตวง ตราชูเป็นมาตรฐานในการชั่ง และเครื่องตวงเป็นมาตรฐานในการตวงด้วยประการดังนี้ ฉันใด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นเครื่องชั่ง เป็นเครื่องตวง สำหรับเหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา ยึดท่านทั้งสองนั้นจึงอาจที่จะชั่งหรือตวงตนว่า แม้เราก็เท่ากันทางญาณหรือทางฤทธิ์ นอกไปจากนี้ไม่อาจจะชั่งหรือตวงได้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒ เป็นต้น               
               แม้ในสูตรที่ ๒ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่ในสูตรนี้ แยกกันดังนี้.
               บทว่า เขมา จ ภิกฺขุนี อุปฺปลวณฺณา จ ความว่า ก็บรรดาภิกษุณี ๒ รูปนั้น ภิกษุณีเขมาเลิศทางปัญญา ภิกษุณีอุบลวรรณาเลิศทางฤทธิ์ ฉะนั้น เมื่อขอโดยชอบ พึงขอว่า ขอเราจงเป็นแม้เช่นนี้ ทางปัญญาก็ตาม ทางฤทธิ์ก็ตาม.
               แม้อุบาสกขุชชุตตราก็เลิศเพราะมีปัญญามาก นันทมารดาเลิศเพราะมีฤทธิ์มาก เพราะฉะนั้น เมื่อขอโดยชอบ พึงขอว่าขอเราจงเป็นแม้เช่นนี้ ทางปัญญาก็ตาม ทางฤทธิ์ก็ตาม.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒ เป็นต้น               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               สูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ขตํ ความว่า ชื่อว่าถูกกำจัด เพราะถูกกำจัดคุณความดี.
               บทว่า อุปหตํ ความว่า ชื่อว่าถูกทำลาย เพราะถูกทำลายคุณความดี. อธิบายว่า ถูกตัดคุณความดี ขาดคุณความดี เสียคุณความดี.
               บทว่า อตฺตานํ ปริหรติ ความว่า รักษาคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณความดี.
               บทว่า สาวชฺโช แปลว่า มีโทษ.
               บทว่า สานุวชฺโช แปลว่า ถูกตำหนิ.
               บทว่า ปสวติ แปลว่า ย่อมได้.
               บทว่า อนนุวิจฺจ ได้แก่ ไม่รู้ ไม่พิจารณา.
               บทว่า อปริโยคาเหตฺวา แปลว่า ไม่สอบสวน.
               บทว่า อวณฺณารหสฺส ความว่า ของเดียรถีย์ก็ตาม ของสาวกเดียรถีย์ก็ตาม ผู้ปฏิบัติผิด ควรตำหนิ.
               บทว่า วณฺณํ ภาสติ ความว่า กล่าวคุณว่า ผู้นี้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดังนี้.
               บทว่า วณฺณารหสฺส ความว่า บรรดาพระอริยบุคคลมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นองค์ใดองค์หนึ่ง ผู้ปฏิบัติชอบ.
               บทว่า อวณฺณํ ภาสติ ความว่า กล่าวโทษว่า ผู้นี้ปฏิบัติชั่วปฏิบัติผิด ดังนี้.
               บทว่า อวณฺณารหสฺส อวณฺณํ ภาสติ ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวตำหนิเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ ผู้ปฏิบัติชั่วปฏิบัติผิด ว่าเป็นผู้ปฏิบัติชั่วเพราะเหตุดังนี้บ้าง เป็นผู้ปฏิบัติผิดเพราะเหตุดังนี้บ้าง ชื่อว่าย่อมกล่าวตำหนิผู้ที่ควรตำหนิ.
               บทว่า วณฺณารหสฺส วณฺณํ ความว่า กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าและเหล่าพุทธสาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีเพราะเหตุดังนี้บ้าง เป็นผู้ปฏิบัติชอบเพราะเหตุดังนี้บ้าง.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               สูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อปฺปสาทนีเย ฐาเน ได้แก่ ในเหตุที่ทำให้ไม่เลื่อมใส.
               บทว่า ปสาทํ อุปธํเสติ ความว่า ให้เกิดความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติชั่ว ข้อปฏิบัติผิด ว่านี้ข้อปฏิบัติดี ข้อปฏิบัติชอบ ดังนี้.
               บทว่า ปสาทนีเย ฐาเน อปฺปสาทํ ความว่า ให้เกิดความไม่เลื่อมใสในข้อปฏิบัติดีข้อปฏิบัติชอบว่า นี้ข้อปฏิบัติชั่ว นี้ข้อปฏิบัติผิด ดังนี้.
               คำที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               สูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทฺวีสุ ได้แก่ ในโอกาสสอง ในเหตุสอง.
               บทว่า มิจฺฉาปฏิปชฺชมาโน ได้แก่ ถือข้อปฏิบัติผิด.
               บทว่า มาตริ จ ปิตริ จ ความว่า ปฏิบัติผิดในมารดาเหมือนนายมิตตวินทุกะ ปฏิบัติผิดในบิดา เหมือนพระเจ้าอชาตศัตรู.
               ธรรมฝ่ายขาวพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               สูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ตถาคเต จ ตถาคตสาวเก จ ความว่า ปฏิบัติผิดในพระตถาคต เช่นพระเทวทัต และปฏิบัติผิดในสาวกของพระตถาคต เช่นพระโกกาลิกะ.
               ในฝ่ายขาวปฏิบัติชอบในพระตถาคต เช่นพระอานนทเถระ และปฏิบัติชอบในสาวกของพระตถาคต เช่นบุตรของเศรษฐีผู้เลี้ยงโคชื่อนันทะ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               สูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สจิตฺตโวทานํ แปลว่า ความผ่องแผ้วแห่งจิตของตน. บทนี้ เป็นชื่อของสมาบัติ ๘.
               บทว่า น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ความว่า ไม่ถือ คือไม่แตะต้องบรรดาธรรมมีรูปเป็นต้นแม้ธรรมอย่างหนึ่งไรๆ ในโลก.
               ในสูตรนี้ ความไม่ถือมั่น เป็นธรรมที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐-๑๑               
               สูตรที่ ๑๐ และสูตรที่ ๑๑ ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐-๑๑               
               จบอายาจนวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อายาจนวรรคที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 363อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 375อ่านอรรถกถา 20 / 386อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=2295&Z=2375
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1474
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1474
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :