ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 470อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 471อ่านอรรถกถา 20 / 472อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔
๒. อานันทสูตร

               อรรถกถาอานันทสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในอานันทสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตถารูโป แปลว่า ชนิดนั้น.
               บทว่า สมาธิปฏิลาโภ แปลว่า การได้เอกัคคตาแห่งจิต.
               ในบทว่า อิมสฺมํ จ สวิญฺญาณเก นี้พึงทราบอธิบายว่า
               ในร่างกายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งของตนและของคนอื่นที่พระอานันทเถระเจ้ากล่าวไว้ว่า อิมสฺมึ (นี้) โดยรวม (ร่างกายทั้งสอง) เข้าด้วยกัน เพราะมีความหมายเอาเป็นสวิญญาณกะ (มีวิญญาณ) เหมือนกัน.
               บทว่า อหงฺการมมงฺการมานานุสยา ได้แก่ กิเลสเหล่านี้ คือ ทิฏฐิคืออหังการ ๑ ตัณหาคือมมังการ ๑ อนุสัยคือมานะ ๑.
               บทว่า นาสฺสุ แปลว่า ไม่พึงมี.
               บทว่า พหิทฺธา จ สพฺพนิมิตฺเตสุ ได้แก่ ในนิมิตทั้งหมดในภายนอกเห็นปานนี้ คือ รูปนิมิต ๑ สัททนิมิต ๑ คันธนิมิต ๑ รสนิมิต ๑ โผฏฐัพพนิมิต ๑ สัสสตาทินิมิต (นิมิตว่า เที่ยงเป็นต้น) ๑ ปุคคลนิมิต ๑ ธรรมนิมิต ๑.
               บทว่า เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลสมาธิและผลญาณ.
               บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี.
               บทว่า อิธานนฺท ภิกฺขุโน ความว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในศาสนานี้.

               ลักษณะของนิพพาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพระนิพพานจึงตรัสว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ดังนี้. ก็นิพพานชื่อว่าสันตะ เพราะกิเลสทั้งหลายสงบ. นิพพานชื่อว่าสันตะ เพราะจิตตุปบาทของผู้แอบอิงสมาบัติ โดยคำนึงว่าพระนิพพานเป็นแดนสงบ แล้วนั่งตลอดทั้งวัน เป็นไปว่าสงบแล้วนั่นแหละ ดังนี้บ้าง.
               บทว่า ปณีตํ ความว่า นิพพานชื่อว่าประณีต เพราะจิตตุปบาทของบุคคลที่นั่งเข้าสมาบัติ ย่อมเป็นไปว่าประณีต.
               แม้บทว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น ก็เป็นไวพจน์ของนิพพานนั้นเหมือนกัน.
               ก็จิตตุปบาทของบุคคลผู้นั่งเข้าสมาบัติทั้งวัน โดยคำนึงว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งหมดดังนี้ ย่อมเป็นไปว่า "ระงับสังขารทั้งปวง" ฯลฯ
               อนึ่ง เพราะความไม่มีแห่งตัณหากล่าว คือเครื่องร้อยรัดไว้ในภพ ๓ อันได้นามว่านิพพาน จิตตุปาทของบุคคลผู้นั่งเข้าสมาบัติในนิพพานนั้นย่อมเป็นไปว่านิพพาน เพราะเหตุนั้น นิพพานจึงได้นามว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น.
               ก็ในการพิจารณา คือการคำนึงทั้งแปดอย่างนี้ ในที่นี้จะคำนึงอย่างเดียว ก็ได้ ๒ อย่างก็ได้ ทั้งหมดก็ได้เหมือนกัน.
               บทว่า สงฺขาย คือ รู้ด้วยญาณ.
               บทว่า ปโรปรานิ ตัดบทเป็น ปรานิ จ โอปรานิ จ อธิบายว่า อัตภาพของบุคคลอื่น และอัตภาพของตนเป็นต้น ชื่อว่าประ (คืออัตภาพของบุคคลอื่น) และชื่อว่าโอประ (คืออัตภาพของตน).
               บทว่า ยสฺส คือ ของพระอรหันต์ใด.
               บทว่า อิญฺชิตํ คือ ความหวั่นไหว ได้แก่ความกวัดแกว่ง คือความดิ้นรน ๗ อย่างเหล่านี้ (ความหวั่นไหว ๗ อย่างคือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต) คือ ความหวั่นไหวเพราะราคะ ความหวั่นไหวเพราะโทสะ ความหวั่นไหว เพราะโมหะ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส และความหวั่นไหวเพราะทุจริต.
               บทว่า นตฺถิ กุหิญฺจิ คือ ไม่มีในอารมณ์ไหนๆ คือ แม้ในอารมณ์อย่างหนึ่ง.
               บทว่า สนฺโต ได้แก่ (บุคคลนั้น) ชื่อว่าสงบ เพราะกิเลสที่เป็นข้าศึกสงบ.
               บทว่า วิธูโม ได้แก่ ปราศจากควันมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า อนีโฆ ได้แก่ ปราศจากเครื่องคับแค้นมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า นิราโส ได้แก่ ไม่มีตัณหา.
               บทว่า อตาริ ได้แก่ ข้าม คือข้ามพ้น ได้แก่ล่วงเลย.
               บทว่า โส ได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพนั้น.
               ในบทว่า ชาติสรํ นี้ แม้พยาธิและมรณะ ก็พึงทราบว่าทรงหมายเอาแล้วเหมือนกันด้วยศัพท์ว่า ชาติ ชรานั่นเอง.
               อรหัตผลสมาบัตินั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วทั้งในพระสูตรทั้งในคาถา ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอานันทสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔ ๒. อานันทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 470อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 471อ่านอรรถกถา 20 / 472อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=3482&Z=3511
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=2536
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=2536
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :