ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 478อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 479อ่านอรรถกถา 20 / 480อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔
๑๐. อธิปไตยสูตร

               อรรถกถาอธิปไตยสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิปไตยสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

               อธิบายอธิปไตย ๓               
               อธิปไตยที่เกิดจากเหตุที่สำคัญที่สุด ชื่อว่าอธิปไตย.
               ในบทว่า อตฺตาธิปไตยฺยํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               คุณชาตที่เกิดโดยทำตนให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าอัตตาธิปไตย.
               คุณชาตที่เกิดโดยทำชาวโลกให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าโลกาธิปไตย.
               คุณชาตที่เกิดโดยทำโลกุตรธรรม ๙ ให้เป็นใหญ่ ชื่อว่าธัมมาธิปไตย.
               บทว่า อิติภโว ในคำว่า น อิติภวาภวเหตุ หมายถึง ภายในอนาคตอย่างนี้ (เราตถาคตออกบวชเป็นอนาคาริก) ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งภพในอนาคตนั้น ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งปัจจุบันภพนั้น.
               บทว่า โอติณฺโณ คือ แทรกซ้อน.
               ก็ชาติแทรกซ้อนอยู่ข้างในของบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่าถูกชาติครอบงำ.
               แม้ในชราเป็นต้นก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส ได้แก่ กองวัฏทุกข์ทั้งหมด.
               บทว่า อนฺตกิริยา ปญฺญาเยถ ความว่า การทำที่สุด คือการทำทาง รอบด้านให้ขาดตอน พึงปรากฏ.
               บทว่า โอหาย แปลว่า ละ.
               บทว่า ปาปิฏฺฐตเร แปลว่า ต่ำช้ากว่า.
               บทว่า อารทฺธํ ความว่า (ความเพียร) ที่ประคองไว้แล้ว คือให้บริบูรณ์แล้ว และชื่อว่าไม่ย่อหย่อน เพราะเริ่มแล้ว.
               บทว่า อุปฏฺฐิตา ความว่า สติ ชื่อว่าตั้งมั่นและไม่หลงลืม เพราะตั้งมั่นด้วยอำนาจสติปัฏฐาน ๔.
               บทว่า ปสฺสทโธ กาโย ความว่า นามกายและกรชกายสงบ คือมีความกระวนกระวายระงับแล้ว และเพราะระงับแล้ว จึงชื่อว่าไม่กระสับกระส่าย.
               บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ ความว่า จิตที่ตั้งมั่นโดยชอบ คือตั้งไว้ด้วยดีในอารมณ์ (และ) เพราะตั้งไว้โดยชอบนั่นเอง จึงชื่อว่ามีอารมณ์เดียวเป็นเลิศ.
               บทว่า อธิปตึ กริตฺวา ได้แก่ ทำธรรมให้เป็นใหญ่ (สำคัญ).
               บทว่า สุทฺธมตฺตานํ ปริหรติ ได้แก่ ปริหาร. ความว่า ปฏิบัติ คือคุ้มครองตนให้บริสุทธิ์ คือให้หมดมลทิน. และภิกษุนี้ชื่อว่าบริหารตนให้บริสุทธิ์โดยอ้อมจนกระทั่งถึงอรหัตมรรค. ส่วนท่านผู้บรรลุผลแล้ว ชื่อว่าบริหารตนให้บริสุทธิ์โดยตรง.
               บททั้งหลายมีบทว่า สฺวากฺขาโต เป็นต้นได้อธิบายไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า ชานํ ปสฺสํ วิหรนฺติ ความว่า เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมนั้นอยู่.
               ก็ในบทว่า อิมานิ โข ภิกฺขเว ตีณิ อธิปเตยฺยานิ นี้มีความว่า อธิปไตย ๓ อย่างเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้คละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า ปกุพฺพโต ความว่า กระทำอยู่.
               บทว่า อตฺตา เต ปุริส ชานาติ สจฺจํ วา ยทิ วา มุสา ความว่า เธอทำสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นจะมีสภาพเป็นจริง หรือมีสภาพไม่จริงก็ตาม ตัวของเธอเองย่อมรู้สิ่งนั้น.
               นักศึกษาพึงทราบตามเหตุนี้ ชื่อว่าสถานที่ปิดบังสำหรับผู้ทำบาปกรรม ไม่มีในโลก.
               บทว่า กลฺยาณํ แปลว่า ดี.
               บทว่า อติมญฺญสิ คือ เธอสำคัญล่วงเลย (ลืมตัว).
               บทว่า อถ นํ ปริคุยฺหสิ ความว่า เธอพยายามอยู่ว่า เราจะปิดบังไว้โดยประการที่แม้ตัวของเราก็ไม่รู้.
               บทว่า อตฺตาธิปโก ได้แก่ มีตนเป็นอธิบดี คือมีตนเป็นใหญ่.
               บทว่า โลกาธิโป ได้แก่ มีโลกเป็นใหญ่.
               บทว่า นิปโก แปลว่า มีปัญญา.
               บทว่า ฌายี แปลว่า เพ่งอยู่.
               บทว่า ธมฺมาธิโป ได้แก่ มีธรรมเป็นใหญ่.
               บทว่า สจฺจกปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นอย่างมั่นคง คือมีความบากบั่นอย่างแท้จริง.
               บทว่า ปสยฺห มารํ แปลว่า ข่มมาร.
               บทว่า อภิภุยฺย อนฺตกํ นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า ปสยฺห มารํ นั้นนั่นเอง.
               บทว่า โย จ ผุสี ชาติกฺขยํ ปธานวา ความว่า บุคคลใดมีปกติเพ่ง มีความเพียรครอบงำมาร แล้วสัมผัสอรหัตผลอันเป็นสภาวะที่สิ้นไปแห่งชาติ.
               บทว่า โส ตาทิโส ได้แก่ บุคคลนั้น ชนิดนึ้น คือดำรงอยู่โดยอาการอย่างนั้น.
               บทว่า โลกวิทู คือ ทำโลก ๓ ให้เป็นอันรู้แจ้ง คือให้ปรากฏอยู่แล้ว.
               บทว่า สุเมโธ แปลว่า ผู้มีปัญญาดี.
               บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อตมฺมโย มุนิ ความว่า มุนีคือพระขีณาสพ ชื่อว่าอตัมมยะ เพราะไม่มีตัมมยะ กล่าวคือตัณหาในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด.
               มีคำอธิบายว่า ท่านไม่เสื่อม ไม่สูญไป ในกาลไหนๆ ในที่ไหนๆ.

               จบอรรถกถาอธิปไตยสูตรที่ ๑๐               
               จบเทวทูตวรรควรรณนาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. พรหมสูตร
                         ๒. อานันทสูตร
                         ๓. สาริปุตตสูตร
                         ๔. นิพพานสูตร
                         ๕. หัตถกสูตร
                         ๖. ทูตสูตร
                         ๗. ราชสูตรที่ ๑
                         ๘. ราชสูตรที่ ๒
                         ๙. สุขุมาลสูตร
                         ๑๐. อธิปไตยสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔ ๑๐. อธิปไตยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 478อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 479อ่านอรรถกถา 20 / 480อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=3827&Z=3899
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=3328
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=3328
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :