ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 490อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 491อ่านอรรถกถา 20 / 492อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑
๑. ชนสูตรที่ ๑

               พราหมณวรรควรรณนาที่ ๑               
               อรรถกถาปฐมชนสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมชนสูตรที่ ๑ แห่งพราหมณวรรคดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ชิณฺณา ได้แก่ แก่คร่ำครวญเพราะชรา.
               บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่ เจริญวัย.
               บทว่า มหลฺลกา ได้แก่ แก่เพราะเกิด (มานาน).
               บทว่า อฑฺฒคตา ได้แก่ ผ่านวัยครึ่งไปแล้ว.
               บทว่า วโย อนุปฺปตฺตา ได้แก่ ย่างเข้าปัจฉิมวัย.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมึสุ ความว่า พราหมณ์เห็นลูกเมียไม่ปฏิบัติตามคำของตน คิดว่า เราจะไปเฝ้าพระสมณโคดม แสวงหาทางที่จะนำออกจากทุกข์ ดังนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้า.
               บทว่า มยมสฺสุ โภ โคตม พฺราหฺมณ ความว่า พราหมณ์ทั้งสองประกาศข้อที่ตนเป็นพราหมณ์ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ใช่อมาตย์ ไม่ใช่คฤหบดีดังนี้ แล้วกราบทูลคำเป็นต้นว่า ชิณฺณา (ข้าพระองค์แก่แล้ว) ดังนี้.
               ด้วยบทว่า อกตภีรุตฺตาณา พราหมณ์ทั้งสองแสดงว่า ข้าพระองค์ทั้งสองยังไม่ได้ทำการป้องกันภัย คือการงานอันเป็นที่พึ่ง เป็นที่พำนัก.
               บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่าโดยส่วนเดียวกัน หรือลงในอรรถว่ารับรอง. และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ โดยที่สุดอย่างเดียวกันว่า ท่านทั้งหลายเป็นอย่างนี้ ถึงเราตถาคตก็รับรองอย่างเดียวกัน.
               บทว่า อุปนียติ ได้แก่ ถูกนำเข้าไป. อธิบายว่า สัตวโลกนี้ถูกชาตินำไปสู่ชรา ถูกชรานำไปสู่พยาธิ ถูกพยาธินำไปสู่มรณะ ถูกมรณะนำไปสู่ชาติอีก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อุปนียติ ดังนี้.

               เรื่องพราหมณ์รักษาศีล ๕               
               บัดนี้ เพราะเหตุที่พราหมณ์เหล่านั้น แม้บวชแล้วก็ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์ได้ เพราะเป็นคนแก่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะให้พราหมณ์ทั้งสองนั้น ดำรงอยู่ในศีล ๕ จึงตรัสว่า โยธ กาเยน สญฺญโม.
               บรรดาบทเหล่านั้น การสำรวมทางกายทวาร ชื่อว่ากายสัญญมะ
               แม้บทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ด้วยบทว่า ตํ ตสฺส เปตสฺส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า บุญนั้น ชื่อว่าตาณะ เพราะหมายความว่าเป็นที่ต้านทานของผู้ไปสู่ปรโลก. ชื่อว่าเลณะ เพราะหมายความว่าเป็นที่ซ่อนเร้น. ชื่อว่าทีปะ เพราะหมายความว่าเป็นที่พำนัก. ชื่อว่าสรณะ เพราะหมายความว่าเป็นที่พึ่งอาศัย และชื่อว่าปรายนะ เพราะสามารถจะให้คติที่สูงได้.
               พระคาถามีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               พราหมณ์เหล่านั้นอันพระตถาคตเจ้าให้สมาทานศีล ๕ อย่างนี้แล้ว รักษาศีล ๕ ตลอดชีวิต เกิดแล้วในสวรรค์.

               จบอรรถกถาปฐมชนสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ ๑. ชนสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 490อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 491อ่านอรรถกถา 20 / 492อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=4031&Z=4055
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=3580
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=3580
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :