ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 501อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 502อ่านอรรถกถา 20 / 503อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๒. ภยสูตร

               อรรถกถาภยสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในภยสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

               ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้               
               บทว่า อมาตาปุตฺติกานิ ความว่า มารดาและบุตร ชื่อว่ามาตาปุตตะ มารดาและบุตร ชื่อว่าไม่มีในเพราะภัยเหล่านี้ โดยสามารถจะป้องกันซึ่งกันและกันได้ เหตุนั้น ภัยเหล่านี้จึงชื่อว่าไม่มีมารดาและบุตร.
               บทว่า ยํ คือ ในสมัยใด.
               บทว่า ตตฺถ มาตาปิ ปุตฺตํ น ปฏิลภติ ความว่า เมื่ออัคคีภัยนั้นเกิดขึ้นแล้ว แม้มารดาก็ไม่ได้เห็นบุตร แม้บุตรก็ไม่ได้เห็นมารดา.
               บทว่า ภยํ โหติ ความว่า มีภัยคือความหวาดสะดุ้งแห่งจิต.
               บทว่า อฏวีสงฺโกโป ได้แก่ ความกำเริบของโจรผู้ซุ่มซ่อนอยู่ในดง.
               ก็ในบทว่า อฏวี นี้พึงทราบว่า ได้แก่โจรที่ซุ่มซ่อนอยู่ในดง.
               อธิบายว่า เมื่อใด โจรเหล่านั้นออกจากดงลงสู่ชนบท เที่ยวปล้นทำลาย คาม นิคมและราชธานี เมื่อนั้น ชื่อว่ามีความกำเริบของโจรอยู่ในดง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงควาวกำเริบของโจรที่อยู่ในดงนั้น จึงตรัสคำนี้ว่า อฏวีสงฺโกโป.

               คนขึ้นล้อ               
               ในบทว่า จกฺกสมารุฬฺหา นี้ มีอธิบายว่า หมุนไปทั้งจักร คืออิริยาบถ ทั้งจักรคือยาน. เพราะว่าเมื่อภัยมาถึง คนเหล่าใดมียาน คนเหล่านั้นก็ยกสิ่งของบริขารของตนขึ้นยานเหล่านั้น แล้วขับหนีไป คนเหล่าใดไม่มี คนเหล่านั้นก็ใช้หาบ หรือใช้ศีรษะเทินหนีไปจนได้. คนเหล่านั้นชื่อว่าขึ้นล้อ.
               บทว่า ปริยายนฺติ ได้แก่ ไปข้างโน้น ข้างนี้.
               บทว่า กทาจิ คือ ในกาลบางครั้งนั่นแล.
               บทว่า กรหจิ เป็นไวพจน์ของบทว่า กทาจิ นั่นเอง.
               บทว่า มาตาปิ ปุตฺตํ ปฏิลภติ ความว่า (แม้มารดา) ย่อมได้เห็นบุตรผู้มาอยู่ ผู้ไปอยู่ หรือผู้หลบแอบอยู่ในที่แห่งหนึ่ง.
               บทว่า อุทกวาหโก คือ เต็มแม่น้ำ.
               บทว่า มาตาปิ ปุตฺตํ ปฏิลภติ ความว่า บุตรลอยย้ำติดอยู่บนทุ่นหรือแพ ในภาชนะดินหรือบนท่อนไม้ มารดาก็ได้เห็น. ก็หรือว่า มารดาได้เห็นบุตรว่ายข้ามไปโดยปลอดภัยแล้ว ยืนอยู่ในหมู่บ้านหรือในป่า.

               ภัย ๓ อย่าง               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงภัยที่มารดาและบุตรไม่ได้พบกัน ที่ทรงประสงค์เอาอันมาโดยอ้อมอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงภัยโดยตรง จึงตรัสคำว่า ตีณีมานิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชราภยํ ได้แก่ ภัยที่อาศัยชราเกิดขึ้น.
               แม้ในภัย ๒ อย่างนอกนี้ ก็มีนัยนี้แล.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ภัย สิ่งที่น่ากลัว ความหวาดเสียว ขนชูชัน ความสะดุ้งกลัวแห่งจิตเกิดขึ้น เพราะอาศัยชรา... เพราะอาศัยพยาธิ ภัย สิ่งที่น่ากลัว ความหวาดเสียว ขนชูชัน ความสะดุ้งกลัวแห่งจิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยมรณะ.
               บทที่เหลือในทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาภยสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๒. ภยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 501อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 502อ่านอรรถกถา 20 / 503อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=4687&Z=4738
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4225
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4225
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :