ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 509อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 510อ่านอรรถกถา 20 / 511อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๑๐. อุโปสถสูตร

               อรรถกถาอุโปสถสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุโปสถสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตทหุโปสเถ เท่ากับ ตสฺมึ อหุ อุโปสเถ คือ ตํทิวสํ อุโปสเถ แปลว่า อุโบสถในวันนั้น. มีอธิบายว่า ในวันนั้น เป็นวันปัณณรสีอุโบสถ.
               บทว่า อุปสงฺกมติ ความว่า นางวิสาขาอธิฏฐานองค์อุโบสถแล้วถือของหอมและระเบียบเป็นต้น เข้าไปเฝ้าแล้ว.
               บทว่า หนฺท เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าเชื้อเชิญ.๑-
____________________________
๑- ปาฐะว่า อุปสคฺคตฺเถ ฉบับพม่าเป็น วงสฺสคฺคตเถ.

               บทว่า ทิวา ทิวสฺส ความว่า เวลาเที่ยงวันชื่อว่ายังวันอยู่ ได้แก่ในเวลาที่มีพระอาทิตย์ตั้งอยู่ในท่ามกลาง.
               บทว่า กุโต นุ ตฺวํ อาคจฺฉสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถามว่า เธอจะไปทำอะไร.
               อุโบสถที่เปรียบด้วยลูกจ้างเลี้ยงใด เพราะมีความวิตกว่าจะไม่บริสุทธิ์ ชื่อว่าโคปาลอุโบสถ. อุโบสถคือการเข้าจำของนิครนถ์ทั้งหลาย ชื่อว่านิคัณฐอุโบสถ. อุโบสถคือการเข้าจำของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าอริยอุโบสถ ฉะนี้แล.
               บทว่า เสยฺยถาปิ วิสาเข ความว่า ดูก่อนวิสาขา เปรียบเหมือน.
               บทว่า สายณฺหสมเย สามิกานํ คาโว นิยฺยาเทตฺวา ความว่า แท้จริง ลูกจ้างเลี้ยงโครับโคมาเลี้ยง เพราะค่าจ้างรายวัน โดยกำหนดไว้ว่า ๕ วัน ๑๐ วัน ครึ่งเดือน หนึ่งเดือน ๖ เดือนหรือ ๑ ปี (จึงจะจ่าย) แต่ในพระสูตรนี้ ตรัสคำว่า โคปาลกุโปสโถ นี้ ทรงหมายถึง ผู้เลี้ยงวัวเพราะค่าจ้างรายวัน.
               บทว่า นิยฺยาเทตฺวา ความว่า มอบให้ คือพูดว่าโคของท่านมีจำนวนเท่านี้.
               บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ ความว่า ไปถึงเรือนของตน รับประทานอาหารแล้วนอนบนเตียง พิจารณาอย่างนี้.
               บทว่า อภิชฺฌาสหคเตน ความว่า สัมปยุตด้วยตัณหา.
               บทว่า เอวํ โข วิสาเข โคปาบกุโปสโถ โหติ ความว่า นี้เป็นอริยอุโบสถเหมือนกัน แต่เพราะมีวิตกไม่บริสุทธิ์ จึงอยู่ในฐานะแห่งโคปาลกอุโบสถเท่านั้น.
               บทว่า น มหปฺผโล ความว่า ไม่มีผลมาก เพราะผลคือวิบาก [มีไม่มาก].
               บทว่า น มหานิสํโส ความว่า ชื่อว่าไม่มีอานิสงส์มาก เพราะอานิสงส์คือวิบาก [มีไม่มาก].
               บทว่า น มหาชุติโก ความว่า ไม่มีแสงสว่างมาก เพราะแสงสว่างคือวิบาก [มีไม่มาก].
               บทว่า น มหาวิปฺผาโร ความว่า ชื่อว่าไม่แผ่ไปมาก เพราะการแผ่ไปแห่งวิบากมีไม่มาก.
               บทว่า สมณชาติกา ได้แก่ หมู่สมณะ.
               บทว่า ปรํ โยชนสตํ ความว่า ไกลเกินกว่า ๑๐๐ โยชน์ คือเลยนั้นไป.
               บทว่า เตสุ ทณฺฑํ นิกฺขิปาหิ ความว่า วางอาชญา คือเป็นผู้วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นที่อยู่เกิน ๑๐๐ โยชน์ไป.
               บทว่า นาหํ กฺวจินิ กสฺสจิ กิญฺจนํ ตสฺมึ ความว่า เราไม่มีความกังวลต่อใครคนอื่นในที่ไหนๆ. อธิบายว่า ปลิโพธ พระองค์ตรัสเรียกว่าความกังวล เราเป็นผู้ไม่มีความกังวล.
               บทว่า น จ มม กฺวจินิ กิสฺมิญฺจิ กิญฺจนํ นตฺถิ ความว่า เราไม่มีความกังวล คือไม่มีปลิโพธ ในสิ่งไรๆ คือแม้ในบริขารอย่างหนึ่งในที่ไหนๆ คือทั้งภายในและภายนอก. มีอธิบายว่า เราตัดความกังวลได้ขาดแล้ว.
               บทว่า โภเค ได้แก่ เครื่องอุปโภคและบริโภค มีเตียง ตั่ง ข้าวยาคูและภัตรเป็นต้น.
               บทว่า อทินฺนํเยว ปริภุญฺชติ ความว่า ในวันรุ่งขึ้น เขาเมื่อนอนบนเตียงก็ดี นั่งบนตั่งก็ดี ดื่มข้าวยาคูก็ดี ฉันอาหารก็ดี ชื่อว่าบริโภคโภคะเหล่านั้นที่เขาไม่ได้ให้เลย.
               บทว่า น มหปฺผโล แปลว่า ไร้ผล.
               ก็ในบทว่า น มหปฺผโล นี้มีแต่พยัญชนะเท่านั้นที่เหลืออยู่ ส่วนเนื้อความไม่มีเหลือเลย. เพราะว่าอุโบสถของผู้เข้าจำอย่างนี้ ไม่มีวิบากผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แม้เพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น นิคัณฐอุโบสถ พึงทราบว่าไม่มีผลเลย.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสคำนี้ไว้ว่า จิตเศร้าหมองแล้ว?
               ตอบว่า เพราะว่า ความที่อุโบสถที่ผู้มีจิตบริสุทธิ์เข้าจำแล้วมีผลมากเป็นอันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว เพราะทรงแสดงไว้ว่า อุโบสถที่ผู้มีจิตเศร้าหมองเข้าจำแล้ว ย่อมไม่มีผลมาก. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้เพื่อทรงแสดงกัมมัฏฐานที่เป็นเหตุให้จิตบริสุทธิ์ คือกรรมฐานที่เป็นเหตุให้ชำระจิต.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปกฺกเมน ความว่า ด้วยความเพียรของบุรุษเฉพาะตน หรือด้วยอุบาย.
               บทว่า ตถาคตํ อนุสฺสรติ ความว่า ระลึกถึงพระคุณของพระตถาคตด้วยเหตุ ๘ ประการ.
               ก็ในบทว่า ตถาคตํ อนุสฺสรติ นี้ ท่านสงเคราะห์เอาพระพุทธคุณทั้งหมด ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระไว้ด้วยคำว่า อิติปิ โส ภควา ซึ่งขยายความออกไปว่า เพราะศีลแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะสมาธิแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. ทรงแสดงพระคุณที่เป็นส่วนพระองค์เท่านั้น ด้วยบทมีอาทิว่า อรหํ ดังนี้.
               บทว่า ตถาคตํ อนุสฺสรโต จิตฺตํ ปสีทติ ความว่า เมื่อเขาระลึกถึงพระคุณของพระตถาคตเจ้า ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ จิตตุปบาทย่อมผ่องใส.
               นิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่าอุปกิเลสแห่งจิต. น้ำคั้นมะขามป้อม ชื่อว่ากักกะ.
               บทว่า ตชฺชํ วายามํ ความว่า ความพยายามเพื่อชโลม ขัดสีและล้างด้วยตะกอนที่เกิดจากน้ำคั้นมะขามป้อมนั้น อันสมควรแก่น้ำคั้นมะขามป้อมนั้น.
               บทว่า ปริโยทปนา โหติ ความว่า ย่อมเป็นการทำความสะอาด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ด้วยพุทธประสงค์ว่า ถ้าประดับเครื่องประดับไว้บนศีรษะที่สกปรก เล่นนักษัตร ก็ไม่งาม แต่ถ้าประดับเครื่องประดับบนศีรษะที่สะอาดเล่นนักษัตร ย่อมงดงาม (ฉันใด) ก็อุโบสถที่ผู้มีจิตเศร้าหมอง๒- อธิฏฐานองค์อุโบสถแล้วเข้าจำ จะไม่มีผลมาก แต่อุโบสถที่ผู้มีจิตสะอาด๓- อธิฏฐานองค์อุโบสถแล้วเข้าจำ ย่อมมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกันดังนี้.
____________________________
๒- ปาฐะว่า กิลิฏฺฐจิตฺโต ฉบับพม่าเป็น กิลิฏฐจิตฺเตน.
๓- ปาฐะว่า ปริสุทฺเธ ปน จิตฺเต ฉบับพม่าเป็น ปริสุทฺเธน ปน จิตฺเตน.

               บทว่า พฺรหฺมุโปสถํ อุปวสติ ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเรียกกันว่าพระพรหม อุโบสถนี้ ชื่อว่าพรหมอุโบสถ ด้วยสมาทานแห่งการระลึกถึงคุณของพระพรหมนั้นเข้าจำ พรหมอุโบสถนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมุนา สทฺธึ สํวสติ ความว่า คบหากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า พฺรหฺมญฺจสฺส อารพฺภ ความว่า ปรารภสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ธมฺมํ อนุสฺสรติ ความว่า ระลึกถึงโลกุตรธรรม พร้อมกับพุทธพจน์.
               บทว่า โสตฺตึ ได้แก่ ฝุ่นหินที่ค้นพบในแคว้นกุรุ. ก็คนทั้งหลายผสมคลั่งเข้ากับฝุ่นหินที่ค้นพบในแคว้นกุรุ ปั้นเป็นลูกประคำ เจาะรูแล้วเอาด้ายร้อย จักสายพวงลูกประคำทั้งสองข้างแล้วถูหลัง.
               บทว่า โสตฺติญฺจ ปฏิจฺจ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาพวงลูกประคำนั้น.
               บทว่า จุณฺณํ ได้แก่ จุณที่ใช้เวลาอาบน้ำ.
               บทว่า ตชฺชํ วายามํ ได้แก่ ความพยายามที่สมกับกิจนั้น มีการไล้ทา ขัดสีและชำระล้างเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมุโปสถํ ความว่า อุโบสถนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าธัมมอุโบสถ เพราะปรารภนวโลกุตรธรรม พร้อมกับพุทธพจน์แล้วเข้าจำ.
               นักศึกษาควรวางบทว่า ปริโยทปนา แม้นี้ไว้เป็นหลัก แล้วประกอบความโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า สํฆํ อนุสฺสรติ ความว่า ระลึกถึงคุณของพระอริยบุคคล ๘ จำพวก.
               บทว่า อูสญฺจ ปฏิจฺจ ความว่า อาศัยไออบที่ให้จับ โดยยกขึ้นเตาต้ม ๒-๓ ครั้ง. ปาฐะว่า อุสฺสํ ดังนี้ก็มี ความหมายก็อย่างเดียวกันนี้แหละ.
               บทว่า ขีรํ ได้แก่ ขี้เถ้า.
               บทว่า โคมยํ ได้แก่ เยี่ยววัว หรือขี้แพะ. แม้ในบทว่า ปริโยทปนา นี้ก็พึงประกอบความ โดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า สงฺฆุโปสถํ ความว่า อุโบสถนี้ตรัสเรียกว่าสังฆอุโบสถ เพราะปรารภคุณของพระอริยบุคคล ๘ จำพวกแล้ว จึงเข้าจำ.
               บทว่า สีลานิ ความว่า เป็นคฤหัสถ์ที่ระลึกถึงศีลของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต ก็ระลึกถึงศีลของบรรพชิต.
               อรรถาธิบายของบทว่า อขณฺฑานิ เป็นต้น ข้าพเจ้าได้ให้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า วาลณฺฑุกํ ได้แก่ แปรงที่เขาทำด้วยขนหางม้าหรือขนปอเป็นต้น.
               บทว่า ตชฺชํ วายามํ ได้แก่ การที่เอาน้ำมันทา คะเนว่าสนิมเปียกทั่วแล้ว เทขี้เถ้าลงไปแล้วพยายามเอาแปรงขัด.
               ผู้ศึกษาควรประกอบความอย่างนี้ โดยยืดบทว่า ปริโยทปนา นี้เป็นหลักดังต่อไปนี้.
               เหมือนอย่างว่า ร่างกายถึงจะตกแต่งประดับประดาแล้ว (แต่) เมื่อแว่น (สำหรับส่อง) สกปรก มองดูก็ไม่งาม เมื่อแว่นสะอาดจึงจะงามฉันใด อุโบสถที่เข้าจำแล้วก็เช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจิตเศร้าหมองก็ไม่มีผลมาก เมื่อจิตบริสุทธิ์จึงจะมีผลมากฉะนี้แล.
               บทว่า สีลุโปสถํ ความว่า อุโบสถที่เข้าจำ ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงศีลของตน ชื่อว่าศีลอฺโบสถ.
               บทว่า สีเลน สทฺธึ ความว่า พร้อมกับศีล ๕ ศีล ๑๐ ของตน.
               บทว่า สีลํ อารพฺภ ความว่า ปรารภทั้งศีล ๕ ทั้งศีล ๑๐.
               บทว่า เทวตา อนฺสฺสรติ ความว่า ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นของตน โดยตั้งเทวดาไว้ในฐานะเป็นพยาน.
               บทว่า อุกฺกํ แปลว่า เตา.
               บทว่า โลณํ ได้แก่ ดินเค็ม. บทว่า เครุกํ ได้แก่ ผงดินสอพอง.
               บทว่า นาฬิกสณฺฑาสํ ได้แก่ สูบที่ทำด้วยไม้อ้อ และคีมสำหรับคีบ.
               บทว่า ตชฺชํ วายามํ ได้แก่ ความพยายามอันเหมาะสม มีการใส่ลงในเตา การสูบและการใช้คีมเขี่ยเป็นต้น.
               นักศึกษาควรวาง บทว่า ปริโยทปนา นี้ไว้เป็นหลักแล้ว ประกอบความโดยนัยก่อนนั่นแหละ เพราะว่าผู้ตกแต่งตัวด้วยเครื่องประดับซึ่งทำด้วยทองคำที่หมอง เล่นนักษัตร ย่อมไม่งาม (แต่ถ้าแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ) ซึ่งทำด้วยทองที่ไม่หมอง เล่นนักษัตรจึงจะงามฉันใด ผู้มีจิตเศร้าหมองก็ฉันนั้นเหมือนกัน อุโบสถย่อมไม่มีผลมาก ส่วนผู้มีจิตบริสุทธิ์ จึงจะมีผลมาก.
               บทว่า เทวตูโปสถํ ความว่า อุโบสถที่บุคคลระลึกถึงคุณธรรมของตน โดยตั้งเทวดาไว้ในฐานะเป็นพยาน แล้วเข้าจำ ชื่อว่าเทวดาอุโบสถ.
               คำใดที่เหลืออยู่อันควรจะกล่าวถึงในกัมมัฏฐานมีพุทธานุสติเป็นต้นเหล่านี้ทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วเทียว.
               บทว่า ปาณาติปาตํ ได้แก่การฆ่าสัตว์.
               บทว่า ปหาย ความว่า ละความทุศีล กล่าวคือเจตนาเป็นเหตุฆ่าสัตว์นั้น.
               บทว่า ปฏิวิรตา ความว่า งดคือเว้นจากความเป็นผู้ทุศีลนั้นตั้งแต่เวลาที่ละได้แล้ว.
               บทว่า นิหิตทณฺฑา นิหิตสตฺถา มีอธิบายว่า ชื่อว่าทั้งทิ้งท่อนไม้ ทั้งทิ้งศาตรา เพราะไม่ถือท่อนไม้หรือศาสตรา เป็นไปเพื่อฆ่าผู้อื่น. เว้นท่อนไม้เสียแล้ว อุปกรณ์ที่เหลือทั้งหมด พึงทราบว่า ชื่อว่าศาสตรา ในบทว่า นิหิตทณฺฑา นิหิตสตฺถา นี้ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้พินาศ. ส่วนการที่ภิกษุถือไม้เท้าคนแก่ มีดเหลาไม้ชำระฟัน หรือตะไกร มิใช่เพื่อต้องการฆ่าผู้อื่น เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นจัดว่าวางท่อนไม้แล้ว วางศาสตราแล้วเหมือนกัน.
               บทว่า ลชฺชี ความว่า ประกอบด้วยความละอาย มีการรังเกียจบาปเป็นลักษณะ.
               บทว่า ทฺยาปนฺนา ความว่า ถึงความเอ็นดูคือความเป็นผู้มีเมตตาจิต.
               บทว่า สพฺพปาณภูตนิตานุกมฺปี ความว่า อนุเคราะห์สัตว์มีชีวิตทั้งปวงด้วยประโยชน์เกื้อกูล. อธิบายว่า มีจิตเกื้อกูลเหล่าสัตว์มีชีวิตทั้งปวง เพราะความเป็นผู้มีใจเอ็นดูนั่นเอง.๔-
____________________________
๔- ปาฐะว่า สพฺพปาณภูเต หิเตน อนุกมฺปีตาย ทฺยาปนฺนาย ฉบับพม่าเป็น สพฺพปาณภูเต หิเตน อนุกมฺปกา ตาย เอว ทฺยาปนฺนตาย.

               บทว่า อหมฺปชฺช ตัดบทเป็น อหํปิ อชฺช.
               บทว่า อิมินาปิ องฺเคน ได้แก่ ด้วยองคคุณแม้นี้.
               บทว่า อรหตํ อนุกโรมิ ความว่า เมื่อเดินตามหลังผู้ที่เดินไปข้างหน้า ชื่อว่าเดินตามฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น เมื่อบำเพ็ญคุณความดีนี้ภายหลังที่พระอรหันต์ทั้งหลายบำเพ็ญมาก่อน ชื่อว่าเจริญรอยตามพระอรหันต์เหล่านั้น.
               บทว่า อุโปสโถ จ เม อุปวุตฺโถ ภวิสฺสติ ความว่า การที่เรากระทำอย่างนี้จักเป็นอันชื่อว่าเจริญรอยตามพระอรหันต์ด้วย จักชื่อว่าเป็นอันเข้าจำอุโบสถด้วย.
               การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คือที่ผู้อื่นหวงแหน ชื่อว่าอทินนาทาน. อธิบายว่า ได้แก่การขโมย คืองานของโจร.
               ชื่อว่า ทินฺนาทายี เพราะถือเฉพาะแต่ของที่เขาให้. ชื่อว่า ทินฺนาปาฏิกงฺขี เพราะจำนงหวังแม้ด้วยจิต เฉพาะของที่เขาให้. ชื่อว่า เถนะ เพราะลักขโมย. ชื่อว่า อเถนะ เพราะไม่ลักขโมย ชื่อว่าเป็นผู้สะอาด เพราะไม่ลักขโมยนั่นเอง.
               บทว่าอตฺตนา ได้แก่ มีอัตภาพ. ท่านอธิบายว่า ทำอัตภาพที่ไม่ลักขโมยให้สะอาดอยู่.
               บทว่า อพฺรหฺมจริยํ ได้แก่ การประพฤติที่ไม่ประเสริฐ. ชื่อว่า พฺรหฺมจารี เพราะประพฤติธรรมอันประเสริฐ คืออาจาระอันสูงสุด.
               บทว่า อาจารี ความว่า ชื่อว่ามีอาจาระชั่ว เพราะไม่ประพฤติธรรมอันประเสริฐ.
               บทว่า เมถฺนา ได้แก่ อสัทธรรมที่ถึงการนับว่าเมถุน เพราะซ่องเสพด้วยธรรมอันได้นามว่าเมถุน เพราะคล้ายกันโดยเป็นกิเลสที่กลุ้มรุมจิต คือราคะ.
               บทว่า คามธมฺมา ได้แก่ ธรรมของชาวบ้าน.
               บทว่า มุสาวาทา ความว่า จากการพูดเหลาะแหละ คือพูดคำไร้ประโยชน์.
               ชื่อว่า สจฺจวาที เพราะพูดความจริง. ชื่อว่า สจฺจสนฺธา เพราะสืบต่อสัจจะด้วยสัจจะ. อธิบายว่า ไม่พูดเท็จในระหว่างๆ. เพราะว่า ผู้ใดบางครั้งก็พูดเท็จ บางครั้งก็พูดจริง ผู้นั้นชื่อว่าไม่สืบต่อสัจจะด้วยสัจจะ เพราะมีมุสาวาทมาขีดคั่น. เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ชื่อว่ามีสัจจะต่อเนื่อง. แต่คนเหล่านี้ไม่เป็นเช่นนั้น สืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์อย่างเดียว โดยไม่ยอมพูดเท็จ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีสัจจะต่อเนื่อง.
               บทว่า เถตา แปลว่า มั่นคง. อธิบายว่า มีถ้อยคำมั่นคง. คนผู้หนึ่งเป็นผู้ไม่มีถ้อยคำมั่นคง เหมือนการย้อมผ้าด้วยขมิ้น เหมือนหลักที่ปักไว้บนกองแกลบ และเหมือนลูกฟักที่วางไว้บนหลังม้า. แต่อีกผู้หนึ่งมีถ้อยคำมั่นคง เหมือนรอยจารึกบนแผ่นดิน และเหมือนเสาอินทขีละ ถึงจะเอาดาบตัดศีรษะก็ไม่ยอมพูดเป็นคำสอง. คนผู้นี้ ชื่อว่า เถตะ มีถ้อยคำมั่นคง.
               บทว่า ปจฺจยิกา ได้แก่วางใจ อธิบายว่า เชื่อถือได้. เพราะคนบางคนเชื่อถือไม่ได้ คือเมื่อถูกเขาถามว่า คำนี้ใครพูด พอตอบว่า คนโน้นพูด ก็จะถึงความเป็นผู้อันเขาพึงพูดว่า อย่าเชื่อคำพูดของมัน แต่คนผู้หนึ่งพูดเชื่อถือได้ คือเมื่อถูกถามว่า คำนี้ใครพูด พอตอบว่า คนโน้นพูด ก็จะถึงการรับรองว่า ถ้าคนนั้นพูด ข้อนี้ก็ถือเป็นประมาณได้ บัดนี้ไม่มีข้อที่จะต้องทักท้วง คำนี้เป็นอย่างนี้ อย่างนี้. คนผู้นี้ เรียกว่าเป็นที่วางใจได้.
               บทว่า อวิสํวาทกา โลกสฺส มีอธิบายว่า ไม่พูดลวงโลก เพราะพูดแต่ความจริงเท่านั้น.
               เหตุแห่งความประมาท กล่าวคือเจตนาที่จะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ชื่อว่าสุราเมรยมัชปมาทัฏฐาน.
               บทว่า เอกภตฺติกา ความว่า อาหารมี ๒ เวลา คือ อาหารที่จะต้องรับประทานในเวลาเช้า ๑ อาหารที่จะต้องรับประทานในเวลาเย็น ๑.
               บรรดาอาหารทั้งสองอย่างนั้น อาหารที่จะรับประทานในเวลาเช้า กำหนดโดยเวลาภายในเที่ยงวัน (ส่วน) อาหารที่จะรับประทานในเวลาเย็น นอกนี้กำหนดโดยเวลาแต่เลยเที่ยงไป จนถึงเวลาอรุณขึ้น. เพราะฉะนั้นในเวลาภายในเที่ยงถึงจะรับประทาน ๑๐ ครั้ง ก็ชื่อว่ามีการรับประทานอาหารเวลาเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เอกภาตฺติกา ทรงหมายถึงการรับประทานอาหารภายในเวลาเที่ยงวัน. การรับประทานอาหารในเวลากลางคืน ชื่อว่า รตฺติ ผู้เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลากลางคืนนั้น สันถัตเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รตฺตูปรตา. การรับประทานอาหารในเวลาเลยเที่ยงวันไป จนถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ชื่อว่าการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล ผู้ชื่อว่าเว้นจากวิกาลโภชน์ เพราะเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาลนั้น.
               การดูที่ชื่อว่าเป็นข้าศึก คือเป็นศัตรู เพราะอนุโลมตามคำสอนไม่ได้ (ขัดต่อศาสนา) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสูกทัสสนะ การฟ้อนรำ การขับร้อง. การดีดสีตีเป่า แม้ด้วยสามารถแห่งการฟ้อนด้วยตนเอง และการให้ผู้อื่นฟ้อนเป็นต้น และการดูการร่ายรำเป็นต้น ที่เป็นไปแล้วโดยที่สุดแม้ด้วยสามารถแห่งการรำแพนของนกยูงเป็นต้นที่เป็นข้าศึก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ. ก็การประกอบการฟ้อนเป็นต้น ด้วยตนเองก็ดี การให้ผู้อื่นประกอบก็ดี การดูการฟ้อนเป็นต้น ที่เขาประกอบแล้วก็ดี ไม่ควรแก่ภิกษุ ภิกษุณีเลย.
               ในบรรดามาลาเป็นต้น ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามาลา. คันธชาตอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าของหอม. เครื่องประเทืองผิว ชื่อว่าวิเลปนะ.
               ในบรรดาสิ่งเหล่านั้น เมื่อประดับประดา ชื่อว่าทัดทรง. เมื่อเสริมส่วนที่บกพร่อง ชื่อว่าตกแต่ง. เมื่อยินดีด้วยของหอมก็ดี ด้วยเครื่องประเทืองผิวก็ดี ชื่อว่าประดับประดา.
               เหตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ฐานะ. อธิบายว่า เพราะฉะนั้น มหาชนกระทำการทัดทรงดอกไม้เป็นต้นเหล่านั้น ด้วยเจตนาคือความเป็นผู้ทุศีลอันใด พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้เว้นจากทุศีลเจตนานั้น.
               ที่นั่งที่นอนเกินขนาด ตรัสเรียกว่าอุจจาสยนะ. เครื่องปูลาดที่เป็นอกัปปิยะ (ไม่สมควร) ชื่อว่ามหาเสยนะ.
               อธิบายว่า พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้เว้นจากที่นั่งที่นอนสูงและที่นั่งที่นอนใหญ่นั้น.
               บทว่า กีวมหปฺผโล ความว่า มีผลมากขนาดไหน.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปหุตสตฺตรตนานํ ความว่า ประกอบด้วยรตนะกล่าวคือแก้วมากมาย.
               อธิบายว่า ปราบพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นให้เป็นเหมือนหน้ากลอง แล้วเทรตนะทั้ง ๗ ลงสูงเท่าสะเอว.
               บทว่า อิสฺสริยาธิปจฺจํ ความว่า (เสวยราชสมบัติ) ที่เป็นใหญ่หรือเป็นอธิบดี ทั้งโดยความเป็นอิสระ ทั้งโดยความเป็นอธิบดี ไม่ใช่เป็นใหญ่ หรือเป็นอธิบดี โดยความเป็นพระราชาที่หนักพระทัย. ชื่อว่าเสวยไอศวรรยาธิปัตย์ เพราะไม่มีอาชญากรรมที่ร้ายแรง (คดีอุกฉกรรจ์) ดังนี้บ้าง.
               บทว่า รชฺชํ กา รยฺย ได้แก่ เสวยจักรพรรดิราชสมบัติเห็นปานนี้.
               คำว่า องฺคานํ เป็นต้น เป็นชื่อของชนบทเหล่านั้น.
               บทว่า กลํ นาคฺฆติ โสฬสึ ความว่า แบ่งบุญในการอยู่จำอุโบสถ ตลอดวันและคืนหนึ่งออกเป็น ๑๖ ส่วนแล้ว จักรพรรดิราชสมบัติยังมีค่าไม่ถึงส่วนเดียวจาก ๑๖ ส่วนนั้น.
               อธิบายว่า ผลวิบากของส่วนที่ ๑๖ ของอุโบสถคืนหนึ่งมากกว่า จักรพรรดิราชสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดินั้น.
               บทว่า กปณํ ได้แก่ เล็กน้อย.
               บทว่า อพฺรหฺมจริยา ได้แก่ จากความประพฤติอันไม่ประเสริฐ.
               บทว่า รตฺตึ น ภุญฺเชถ วิกาลโภชนํ ความว่า เมื่อเข้าจำอุโบสถไม่ควรบริโภคอาหารในเวลากลางคืน และอาหารในเวลากลางวัน อันเป็นเวลาวิกาล.
               บทว่า มญฺเจ ฉมายํ ว สเยถ สนฺถเต มีอธิบายว่า ควรนอนบนเตียงที่เป็นกัปปิยะมีเท้าสูงศอกกำ หรือพื้นที่ๆ เขาเทไว้ด้วยปูนขาวเป็นต้น หรือบนสันถัตที่เขาปูลาดด้วยหญ้า ใบไม้หรือฟางเป็นต้น.
               บทว่า เอตํ หิ อฏฺฐงฺคิกมาหุโปสถํ ความว่า นักปราชญ์เรียกอุโบสถที่ผู้ไม่ละเมิดปาณาติบาตเป็นต้น เข้าจำแล้วอย่างนี้ว่า เป็นอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ เพราะประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.
               ส่วนผู้ที่เข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ นั้น คิดว่า พรุ่งนี้เราจักรักษาอุโบสถ แล้วควรตรวจสอบสิ่งที่ต้องจัดมีอาหารเป็นต้นว่า เราต้องกระทำอย่างนี้ อย่างนี้ ในวันนี้ทีเดียว. ในวันอุโบสถควรเปล่งวาจาสมาทานองค์อุโบสถ ในสำนักของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาผู้รู้ลักษณะของศีล ๑๐ แต่เช้าๆ.
               ส่วนผู้ไม่รู้บาลี ควรอธิษฐานว่า พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ อธิฏฺฐามิ (ข้าพเจ้าขออธิษฐานองค์อุโบสถที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว). เมื่อหาคนอื่นไม่ได้ ก็ควรอธิษฐานด้วยตนเอง. ส่วนการเปล่งวาจา ควรทำโดยแท้.
               ผู้เข้าจำอุโบสถ ไม่พึงวิจารการงาน อันเนื่องด้วยความบกพร่องของคนอื่น ผู้คำนึงถึงผลได้ผลเสียไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป. ส่วนผู้ได้อาหารในเรือนแล้ว ควรบริโภคเหมือนภิกษุผู้ได้อาหารประจำ แล้วตรงไปวิหาร ฟังธรรม หรือมนสิการอารมณ์ (กัมมัฏฐาน) ๓๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า สุทสฺสนา ได้แก่ เห็นได้ชัดดี.
               บทว่า โอภาสยํ ได้แก่ ส่องสว่างอยู่.
               บทว่า อนุปริยนฺติ แปลว่า โควรไป.
               บทว่า ยาวตา ได้แก่ สู่ที่มีประมาณเท่าใด.
               บทว่า อนฺตลิกฺขคา ได้แก่ลอยไปสู่อากาศ.
               บทว่า ปภาสนฺติ แปลว่า ส่องแสงสว่าง คือเปล่งรัศมี.
               บทว่า ทิสา วิโรจนา ได้แก่ ส่องแสงสว่างไปทิศทั้งปวง.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปภาสนฺติ แปลว่า สว่างจ้าไปทั่วทุกทิศ.๕-
____________________________
๕- ปาฐะว่า อถวา ปภาสนฺติ ทิสา วิทิสา โอภาสนฺติติ วิโรจมานา ฉบับพม่าเป็น อถวา ปภาสนฺตีติ ทิสาหิ ทิสา โอภาสนฺติ วิโรจนาติ วิโรจมานา.

               บทว่า วิโรจนา เท่ากับ วิโรจมานา แปลว่า ส่องสว่าง.
               บทว่า เวฬุริยํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงจะตรัสบทว่า มณีไว้แล้ว (แต่) ก็ทรงแสดงถึงความเป็นแก้วมณี โดยกำเนิดไว้ด้วยบทว่า เวฬุริยํ นี้.
               ด้วยว่า แก้วไพฑูรย์ที่มีสีเหมือนไม้ไผ่ที่เกิดได้ ๑ ปี ชื่อว่าแก้วมณีโดยกำเนิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ทรงหมายถึงแก้วมณีโดยกำเนิดนั้น.
               บทว่า ภทฺทกํ เท่ากับ ลทฺธกํ แปลว่า งดงาม.
               บทว่า สิงฺคิสุวณฺณํ ได้แก่ ทองที่งอกขึ้นมีสัณฐานดังเขาโค.
               บทว่า กาญฺจนํ ได้แก่ ทองที่เกิดจากเขา คือทองคำที่เกิดบนภูเขา.
               บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทองที่มีสีเหมือนพระฉวีวรรณของพระศาสดา.
               บทว่า หฏกํ ได้แก่ ทองที่มดแดงคาบมา.
               บทว่า นานุภวนฺติ แปลว่า ยังไม่ถึง.
               บทว่า จนฺทปฺปภา เป็นปฐมาวิภัติลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัติ. อธิบายว่า (ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖) แห่งแสงจันทร์.
               บทว่า อุปวสฺสโปสถํ ได้แก่ เข้าจำอุโบสถ.
               บทว่า สุขุทฺริยานิ ได้แก่ มีสุขเป็นผล คือเสวยความสุข.
               บทว่า สคฺคมฺเปนฺติ ฐานํ ได้แก่ เข้าถึงฐานะกล่าวคือสวรรค์. อธิบายว่า ไม่มีใครตำหนิ ย่อมเกิดในเทวโลก.
               คำที่เหลือที่มิได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ ในพระสูตรนี้นั้น พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาอุโปสถสูตรที่ ๑๐               
               จบมหาวรรควรรณนาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. ติตถสูตร
                         ๒. ภยสูตร
                         ๓. เวนาคสูตร
                         ๔. สรภสูตร
                         ๕. เกสปุตตสูตร
                         ๖. สาฬหสูตร
                         ๗. กถาวัตถุสูตร
                         ๘. ติตถิยสูตร
                         ๙. มูลสูตร
                         ๑๐. อุโบสถสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๑๐. อุโปสถสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 509อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 510อ่านอรรถกถา 20 / 511อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=5421&Z=5666
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4998
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4998
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :