ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 525อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 526อ่านอรรถกถา 20 / 527อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สมณวรรคที่ ๔
๖. เสขสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยเสขสูตรที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในทุติยเสขสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อตฺตกามา ได้แก่ กุลบุตรทั้งหลายผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน.
               บทว่า ยตฺเถตํ สพฺพํ สโมธานํ คจฺฉติ ความว่า สิกขาบท ๑๕๐ ทั้งหมดนี้ถึงการสงเคราะห์เข้าในสิกขาแม้เหล่าใด.
               บทว่า ปริปูริกานี โหติ ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์.
               บทว่า มตฺตโสการี ความว่า เป็นผู้มีปกติทำพอประมาณ. อธิบายว่า ไม่สามารถจะทำได้ทั้งหมด.
               บทว่า ขุทฺทานุขุทฺทกานิ ได้แก่ สิกขาบทที่เหลือเว้นปาราชิก ๔.
               อนึ่ง ในบทว่า ขุทฺทานุขุทฺทกานิ นั้น มีอธิบายว่า
               สังฆาทิเสส ชื่อว่าขุททกสิกขาบท ถุลลัจจัย ชื่อว่าอนุขุททกสิกขาบท อนึ่ง ถุลลัจจัย ชื่อว่าขุททกสิกขาบท ปาจิตตีย์ ชื่อว่าอนุขุททกสิกขาบท. อนึ่ง ปาจิตตีย์ ชื่อว่าขุททกสิกขาบท ปาฏิเทสนียะทุกกฏและทุพภาสิต ชื่อว่าอนุขุททกสิกขาบท. แต่อาจารย์ผู้ใช้อังคุตตรมมหานิกายนี้กล่าวว่า สิกขาบทที่เหลือทั้งหมดยกเว้นปาราชิก ๔ ชื่อว่าขุททานุขุททกสิกขาบท.

               พระขีณาสพต้องอาบัติ               
               ก็ในบทว่า ตานิ อาปชฺชติปิ วุฏฺฐาติปิ นี้ มีอธิบายว่า พระขีณาสพไม่ต้องอาบัติที่เป็นโลกวัชชะเลย จะต้องก็แต่อาบัติที่เป็นปัณณัตติวัชชะเท่านั้น และเมื่อต้องก็ต้องทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง คือ เมื่อต้องทางกายก็ต้องกุฏิการสิกขาบทและสหไสยสิกขาบทเป็นต้น เมื่อต้องทางวาจาก็ต้องสัญจริตตสิกขาบท และปทโสธัมมสิกขาบทเป็นต้น. เมื่อต้องทางใจก็ต้อง (เพราะ) รับรูปิยะ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า น หิ เมตฺถ ภิกฺขเว อภพฺพตา วุตฺตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในที่นี้ เราตถาคตมิได้กล่าวว่า พระอริยบุคคลไม่ควรทั้งในการต้องและการออกจากอาบัติเห็นปานนี้.
               บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกานิ ความว่า สิกขาบทที่เป็นมหาศีล ๔ ซึ่งเป็นเบื้องต้นของมรรคพรหมจรรย์.
               บทว่า พฺรหฺมจริยสารุปฺปานิ ความว่า สิกขาบทที่เป็นมหาศีลเหล่านั้นแล เหมาะสม คือสมควรแก่มรรคพรหมจรรย์ที่ ๔.
               บทว่า ตฺตฺถ ได้แก่ ในสิกขาบทเหล่านั้น.

               ลักษณะพระโสดาบัน               
               บทว่า ธุวสีโล แปลว่า ผู้มีศีลประจำ.
               บทว่า ฐิตสีโล แปลว่า ผู้มีศีลมั่นคง.
               บทว่า โสตาปนฺโน ได้แก่ ผู้เข้าถึงผลด้วยมรรคที่เรียกว่า โสตะ.
               บทว่า อวินิปาตธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่ตกไปในอบาย ๔ เป็นสภาพ.
               บทว่า นิยโต ได้แก่ ผู้เที่ยงด้วยคุณธรรมเครื่องกำหนด คือโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า สมฺโพธิปรายโน ได้แก่ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้พร้อม คือ มรรค ๓ เบื้องสูงที่เป็นไปในเบื้องหน้า.

               ลักษณะพระสกทาคามี               
               บทว่า ตนุตฺตา แปลว่า เพราะ (กิเลสทั้งหลาย) เบาบาง. อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ของพระสกทาคามีเบาบางไม่แน่นหนา เปรียบเหมือนชั้นแผ่นเมฆและเปรียบเหมือนปีกแมลงวัน.

               ลักษณะพระอนาคามี               
               บทว่า โอรมฺภาคิยานํ ได้แก่ เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ.
               บทว่า สํโยชนานํ ได้แก่ สังโยชน์ (เครื่องผูกทั้งหลาย).
               บทว่า ปริกฺขยา แปลว่า เพราะความสิ้นไป.
               บทว่า โอปปาติโก โหติ ได้แก่ เป็นผู้อุบัติขึ้น.
               บทว่า ตตฺถ ปรินิพฺพายี ได้แก่ มีอันไม่ลงมาเกิดในภพชั้นต่ำๆ จะปรินิพพานในภพชั้นสูงนั้นแล.
               บทว่า อนาวตฺติธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่หวนกลับมาอีกเป็นธรรมดา ด้วยอำนาจกำเนิดและคติ.

               ผู้ทำได้เป็นบางส่วน-ผู้ทำได้สมบูรณ์               
               ในบทว่า ปเทสํ ปเทสฺการี เป็นต้น มีอธิบายว่า พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มีปกติทำได้เป็นบางส่วน คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีนั้นทำไตรสิกขาให้สมบูรณ์ได้เป็นบางส่วนเท่านั้น. (ส่วน) พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ คือพระอรหันต์นั้นทำไตรสิกขาให้สมบูรณ์ได้บริบูรณ์ทีเดียว.
               บทว่า อวญฺฌานิ คือ ไม่เปล่า อธิบายว่า มีผล มีกำไร.
               แม้ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสิกขา ๓ ไว้คละกัน.

               จบอรรถกถาทุติยเสขสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สมณวรรคที่ ๔ ๖. เสขสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 525อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 526อ่านอรรถกถา 20 / 527อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=6123&Z=6160
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=5601
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=5601
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :