ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
รูปาทิวรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต               
               บทว่า ภิกฺขโว แสดงอาการเรียก. ก็บทนั้น ตรัสเพราะสำเร็จด้วยการประกอบด้วยคุณ คือความเป็นผู้ขอโดยปกติ.
               ผู้รู้สัททศาสตร์ย่อมสำคัญว่า ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณคือความเป็นผู้ขอเป็นปกติก็มี ประกอบด้วยคุณคือความเป็นผู้ขอเป็นธรรมดาก็มี ประกอบด้วยคุณคือความเป็นผู้มีปกติกระทำดีในการขอก็มี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประกาศความประพฤติที่ชนเลวและชนดีเสพแล้ว จึงทรงทำการข่มความเป็นคนยากไร้ที่ยกขึ้น ด้วยพระดำรัสนั้น ที่สำเร็จด้วยการประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้ขอเป็นปกติเป็นต้นของภิกษุเหล่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภิกษุเหล่านั้น ให้หันหน้าตรงพระพักตร์ของพระองค์ ด้วยพระดำรัสที่ทรงทอดพระนัยนาลง ด้วยพระหฤทัยที่แช่มชื่น แผ่ไปด้วยพระกรุณาเป็นเบื้องหน้าว่า ภิกฺขโว นี้ ทรงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความอยากจะฟัง ด้วยพระดำรัสอันแสดงพุทธประสงค์จะตรัสนั้นนั่นแหละ และทรงชักชวนภิกษุเหล่านั้นไว้ แม้ในการใส่ใจฟังด้วยดี ด้วยพระดำรัสนั้นอันมีอรรถว่า ปลุกให้ตื่นนั้นนั่นเอง.
               จริงอยู่ พระศาสนาจะสมบูรณ์ได้ ก็เพราะการใส่ใจในการฟังด้วยดี.
               หากมีคำถามว่า เมื่อเทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่นก็มีอยู่ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกเฉพาะภิกษุเหล่านั้น.
               แก้ว่า เพราะภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด อยู่ใกล้ชิดและเป็นผู้อยู่ประจำ.
               จริงอยู่ พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทั่วไปแก่คนทั้งปวง แต่ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้เจริญที่สุดของบริษัท ก็เพราะเป็นผู้เกิดก่อน และชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ก็เพราะเป็นผู้ดำเนินตามพระจรรยาของพระศาสดา ตั้งต้นแต่เป็นผู้ไม่ครองเรือน และเพราะเป็นผู้รับพระศาสนาทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิด เพราะเมื่อเธอนั่งในที่นั้นๆ ก็ใกล้พระศาสดาทั้งนั้น ชื่อว่าอยู่ประจำ ก็เพราะขลุกง่วนอยู่แต่ในสำนักพระศาสดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นภาชนะรองรับพระธรรมเทศนา เพราะเกิดด้วยการปฏิบัติตามที่ทรงพร่ำสอน แม้เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ก็เพื่อประโยชน์อะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรม จึงตรัสเรียกภิกษุเสียก่อน ไม่ทรงแสดงธรรมเลยทีเดียว.
               แก้ว่า เพื่อให้เกิดสติ.
               ความจริง ภิกษุทั้งหลายคิดเรื่องอื่นอยู่ก็มี มีจิตฟุ้งซ่านก็มี พิจารณาธรรมอยู่ก็มี นั่งมนสิการกรรมฐานอยู่ก็มี ภิกษุเหล่านั้น เมื่อไม่ตรัสเรียกให้รู้ (ตัว) ทรงแสดงธรรมไปเลย ก็ไม่สามารถจะกำหนดได้ว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย พระองค์ทรงแสดง เพราะอัตถุปปัตติ (เหตุเกิดเรื่อง) อย่างไหน? จะพึงรับเอาได้ยากหรือไม่พึงรับเอาเลย. เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดสติด้วยพระดำรัสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกเสียก่อน แล้วจึงทรงแสดงธรรมภายหลัง.
               บทว่า ภทนฺเต นี้ เป็นคำแสดงความเคารพ หรือเป็นการถวายคำตอบ (คือขานรับ) แด่พระศาสดา. อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ภิกฺขโว ชื่อว่าเรียกภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลายเมื่อทูลว่า ภทนฺเต ชื่อว่าขานรับพระผู้มีพระภาคเจ้าในภายหลัง.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ภิกฺขโว. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลในภายหลังว่า ภทนฺเต. พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ภิกษุตอบพระดำรัสที่ว่า ภิกฺขโว. ภิกษุถวายคำตอบว่า ภทนฺเต.
               บทว่า เต ภิกฺขู ได้แก่ เหล่าภิกษุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก.
               บทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ความว่า ภิกษุทั้งหลายได้ฟังเฉพาะพระดำรัสตรัสเรียกของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า หันหน้ามาฟัง คือรับ ได้แก่ประคองรับ.
               บทว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนั้น คือพระสูตรทั้งสิ้นที่จะพึงกล่าวในบัดนี้.
               ก็ด้วยคำเพียงเท่านี้ คำเริ่มต้นอันใด อันประกอบด้วยกาล, ผู้แสดง, เทสะ, บริษัทและประเทศ ท่านพระอานนท์กล่าวแล้วเพื่อกำหนดเอาพระสูตรนี้ได้โดยสะดวก.
               การพรรณนาเนื้อความแห่งคำเริ่มต้นนั้นจบบริบูรณ์แล้วแล.               

               บัดนี้ มาถึงโอกาสพรรณนาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ โดยนัยเป็นต้นว่า นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกรูปํปิ สมนุปสฺสามิ ดังนี้แล้ว.
               ก็การพรรณนาความนี้นั้น เพราะเหตุที่กำลังกล่าววิจารณ์เหตุตั้งแห่งพระสูตรปรากฎอยู่ ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบการวิจารณ์เหตุตั้งแห่งพระสูตรก่อน.
               จริงอยู่ เหตุตั้งแห่งพระสูตรมี ๔ อย่าง คือ
                         เกิดเพราะอัธยาศัยของตน ๑
                         เกิดเพราะอัธยาศัยของผู้อื่น ๑
                         เกิดด้วยอำนาจคำถาม ๑
                         เกิดเพราะเหตุเกิดเรื่อง ๑.
               ในเหตุทั้ง ๔ อย่างนั้น พระสูตรเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าอันผู้อื่นมิได้อาราธนา ตรัสโดยพระอัธยาศัยของพระองค์อย่างเดียว เช่น อากังเขยยสูตร วัตถสูตรเป็นต้น สูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุตั้งเกิดจากอัธยาศัยของพระองค์.
               อนึ่ง สูตรเหล่าใดที่พระองค์ทรงสำรวจดูอัธยาศัย ความชอบใจใจ บุญเก่าและความตรัสรู้ แล้วตรัสโดยอัธยาศัยของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติของพระราหุลแก่กล้าแล้ว ถ้ากระไร เราพึงแนะนำในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะยิ่งๆ ขึ้นไปแก่พระราหุล เช่น ราหุโลวาทสูตร ธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น สูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุตั้งเกิดจากอัธยาศัยของผู้อื่น.
               ก็เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วถามปัญหาโดยประการต่างๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทูลถามแล้ว ตรัสสูตรใด มีเทวตาสังยุตและโพชฌังคสังยุตเป็นต้น. สูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุตั้งเกิดโดยอำนาจคำถาม.
               อนึ่ง สูตรเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพราะอาศัยเหตุเกิดขึ้น เช่นธัมมทายาทสูตรและปุตตมังสูปมสูตรเป็นต้น สูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุตั้งโดยเหตุเกิดเรื่องขึ้น.
               ในเหตุตั้งสูตรทั้ง ๔ นี้ สูตรนี้ชื่อว่ามีเหตุตั้งเกิดจากอัธยาศัยของผู้อื่นอย่างนี้.
               จริงอยู่ สูตรนี้ตั้งขึ้นด้วยอำนาจอัธยาศัยของผู้อื่น.
               ถามว่า ด้วยอัธยาศัยของคนพวกไหน?
               แก้ว่า ของบุรุษผู้หนักในรูป.
               ในบทเหล่านั้น อักษร ในคำว่า นาหํ ภิกฺขเว เป็นต้น มีปฏิเสธเป็นอรรถ. ด้วยบทว่า อหํ แสดงอ้างถึงพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกฺขเว.
               บทว่า อญฺญํ ความว่า ซึ่งรูปอื่นจากรูปหญิงที่พึงกล่าวในบัดนี้.
               บทว่า เอกรูปํปิ แปลว่า รูปแม้อย่างหนึ่ง.
               บทว่า สมนุปสฺสามิ ความว่า สมนุปัสสนา ๒ อย่างคือญาณสมนุปัสสนา ๑ ทิฏฐิสมนุปัสสนา ๑.
               ในสองอย่างนั้น อนุปัสสนาว่า ภิกษุเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยเป็นของเที่ยง นี้ชื่อว่าญาณสมนุปัสสนา.
               ส่วนอนุปัสสนามีอาทิว่า ภิกษุพิจารณาเห็นรูปโดยเป็นอัตตา ชื่อว่าทิฏฐิสมนุปัสสนา.
               ในสองอย่างนั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาญาณสมนุปัสสนา. แต่พึงทราบการเชื่อมบทนี้ด้วย อักษร. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราแม้เมื่อตรวจดูด้วยสัพพัญญุตญาณ ก็มองไม่เห็น แม้รูปอื่นสักอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ยํ เอวํ ปุริสสฺส จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺฐติ ความว่า รูปใดเกาะกุมทำกุศลจิตอันเป็นไปในภูมิ ๔ ของบุรุษผู้หนักในรูปให้สิ้นไปตั้งอยู่.
               จริงอยู่ การยึดถือ ชื่อว่าการยึดมั่น ได้ในคำว่า ยึดมั่นกายหญิงทั้งหมดเป็นต้น. ชื่อว่า ให้สิ้นไป ได้ในคำมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาอันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำกามราคะทั้งปวงให้สิ้นไป.๑-
____________________________
๑- ปาฐะว่า อิธ อิทํ รูปํ จตุภูมิกํ กุสลจิตฺตํ คณฺหนฺตํ นีลุปฺปลกลาปํ ปุริโส วิย หตฺเถน คณฺหาติ นาม ฯ เขปยมานํ อคฺคิ วิย อุทฺธเน อุทกํ สนฺตาเปตฺวา เขเปติ ฯ
พม่าเป็น ตตฺถ อิทํ รูปํ จตุภูมถกุสลจิตฺตํ คณฺหนฺตํ น นีลุปฺปลกลาปํ ปุริโสวิย หตฺเถน คณฺหาติ, นาปิ เขปยมานํ อคฺคิ วิย อุทฺธเน อุทกํ สนฺตาเปตฺวา เขเปติ. (แปลตามพม่า)

               ในที่นี้ ก็ถูกทั้งสองอย่าง.ในการยึดถือและการให้สิ้นไปทั้งสองอย่างนั้น รูปนี้เมื่อถือเอากุศลจิตอันเป็นไปในภูมิ ๔.
               ชื่อว่าถือเอา เหมือนบุรุษเอามือถือกำอุบลบัวขาบ ก็หามิได้ เมื่อทำให้สิ้นไป ชื่อว่าทำให้สิ้นไป เหมือนไฟที่ทำน้ำบนเตาไฟ ให้ร้อนแล้วให้สิ้นไป ก็หามิได้
               อนึ่ง #รูปที่ห้ามการเกิดขึ้นแห่งกุศลจิตนั้น นั่นแหละ พึงทราบว่า ชื่อว่ายึดและทำกุศลจิตอันแม้ที่เป็นไปในภูมิ ๔ ให้สิ้นไป. ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า ปุริสสฺส จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺฐติ (ยึดจิตของบุรุษตั้งอยู่)
____________________________
# ปาฐะว่า อุปฺปตฺติญฺจสฺส นิวาริยมานเมว จตุภูมิกํ กุสลจิตฺตํ คณฺหาติ เจว เขเปติ จ เวทิตพฺพํ ฯ
พม่าเป็น อุปฺปตฺติญฺจสฺส นิวารยมานเมว จตุภูมกมฺปิ กุสลจิตฺตํ คณฺหาติ เจว เขเปฺติ จาติ เวทตพฺพํ. (แปลตามพม่า)

               บทว่า ยถยิทํ ตัดเป็น ยถา อิทํ. บทว่า อิตฺกีรูปํ แปลว่า รูปของหญิง.
               ในคำว่า รูป นั้นพึงทราบอรรถแห่งคำและสามัญญลักษณะแห่งรูป ตามแนวแห่งสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวรูปอะไร? ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใดย่อมแตกสลาย เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้น จึงเรียกว่ารูป. รูปย่อมแตกสลายไปเพราะเหตุอะไร? ย่อมแตกสลายไปเพราะเย็นบ้าง ย่อมแตกสลายไปเพราะร้อนบ้าง.
               ก็ศัพท์ว่า รูป นี้ย่อมได้ในอรรถหลายอย่าง เช่น ขันธ์, ภพ, นิมิต, ปัจจัย, สรีระ, วัณณะ, สัณฐานเป็นต้น.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า รูป นี้ใช้ในอรรถว่ารูปขันธ์ ในประโยคนี้ว่า รูปขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน. ใช้ในอรรถว่ารูปภพ ในประโยคนี้ว่า เจริญมรรคเพื่ออุปบัติในรูปภพ. ใช้ในอรรถว่ากสิณนิมิต ในประโยคนี้ว่า กำหนดอรูปภายใน เห็นรูปกสิณภายนอก. ใช้ในอรรถว่าปัจจัย ในประโยคนี้ว่า อกุศลธรรมอันลามกทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ย่อมเกิดขึ้น. ใช้ในอรรถว่าสรีระ ในประโยคนี้ว่า อากาศที่ล้อมรอบตัวก็เรียกว่าสรีรรูปเหมือนกัน. ใช้ในอรรถว่าวรรณะ ในประโยคนี้ว่า อาศัยจักษุและวรรณรูปเกิดจักขุวิญญาณ. ใช้ในอรรถว่าสัญฐาน ในประโยคนี้ว่า ผู้ถือประมาณในรูปสัญฐาน เลื่อมใสในรูปสัณฐาน. พึงสงเคราะห์รูป มีอาทิว่า ปิยรูปํ สาตรูปํ อรสรูโป (รูปน่ารัก รูปน่าชื่นใจ ผู้มีรูปไม่น่ายินดี) ด้วย อาทิ ศัพท์.
               แต่ในที่นี้ รูปศัพท์นั้น ใช้ในอรรถว่าวรรณะ กล่าวคือูรูปายตนะอันมีสมุฏฐาน ๔ ของหญิง.
               อีกอย่างหนึ่ง วรรณะ (สี) อย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยกายของหญิง ไม่ว่าผ้าที่นุ่ง เครื่องประดับ กลิ่นหอมและผิวพรรณเป็นต้น หรือเครื่องประดับและระเบียบดอกไม้ ย่อมสำเร็จเป็นอารมณ์แห่งจักขุวิญญาณของชาย. ทั้งหมดนั้นพึงทราบว่า เป็นรูปแห่งหญิงเหมือนกัน.
               บทว่า อิตฺถีรูปํ ภิกฺขเว ปุริสสฺส จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺฐติ นี้ตรัสไว้เพื่อทำคำที่ตรัสมาก่อนนั่นแลให้หนักแน่น. หรือคำก่อนตรัสไว้ด้วยอำนาจอุปมาอย่างนี้ว่า ยถยิทํ ภิกฺขเว อิตฺถีรูปํ (เหมือนรูปหญิงนี้นะ ภิกษุทั้งหลาย). แต่คำนี้ตรัสด้วยอำนาจการชี้ภาวะแห่งการยึดถือ.
               ในการที่รูปหญิงครอบงำนั้นมีเรื่องสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า พระราชาทรงพระนามว่ามหาทาฐิกนาค ให้สร้างพระสถูปใหญ่ที่ถ้ำอัมพัฏฐะ ใกล้เจติยคิรีวิหาร กระทำคิริภัณฑวาหนบูชา (บูชาด้วยนำของที่เกิด ณ ภูเขามา) มีหมู่นางสนมแวดล้อม เสด็จไปยังเจติยคิรีวิหาร ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ ตามกาลอันสมควร. ธรรมดาว่า สถานที่ชนเป็นอันมากประชุมกัน ชนทั้งหมดไม่มีสติที่จะตั้งมั่นอยู่ได้. พระอัครมเหสีของพระราชาทรงพระนามว่าทมิฬเทวี ทรงตั้งอยู่ในวัยสาว น่าชม น่าพิศมัย.
               ครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งชื่อจิตตะ ผู้บวชเมื่อแก่ แลดูโดยทำนองที่ไม่สำรวม ยึดเอานิมิตในรูปารมณ์ของพระอัครมเหสีนั้นเป็นดังคนบ้า. เที่ยวพูดไปในที่ๆ ตนยืนและนั่งว่า เชิญสิ แม่ทมิฬเทวี เชิญสิ แม่ทมิฬเทวี.
               ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุหนุ่มและสามเณรตั้งชื่อไว้เรียกท่านว่า พระอุมมัตตกจิตตเถระ (พระจิตบ้า).
               ต่อไม่นานนัก พระเทวีนั้นก็ทิวงคต. เมื่อภิกษุสงฆ์ไปเยี่ยมในป่าช้าแล้วกลับมา ภิกษุหนุ่มและสามเณรได้ไปยังสำนักของท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระจิตตเถระ ขอรับ ท่านพร่ำเพ้อถึงพระเทวีพระองค์ใด พวกผมไปเยี่ยมป่าช้าของพระเทวีพระองค์นั้น กลับมาแล้ว. ถึงภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายจะพูดอย่างนั้น ท่านก็ไม่เชื่อ ได้แต่พูดดังคนบ้าว่า พวกท่านไปเยี่ยมใครๆ ก็ได้ในป่าช้า หน้าของพวกท่านจึงมีสีเหมือนควันไฟ.
               รูปแห่งหญิงนี้ได้ครอบงำจิตของพระจิตตเถระผู้เป็นบ้าตั้งอยู่ด้วยประการฉะนี้.
               อีกเรื่องหนึ่ง เล่ากันว่า วันหนึ่งพระมหาราชาทรงพระนามว่าสัทธาติสสะ มีหมู่นางสนมแวดล้อมเสด็จมายังวิหาร. ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งยืนอยู่ที่ซุ้มประตูแห่งโลหปราสาท ตั้งอยู่ในความไม่สำรวมแลดูหญิงคนหนึ่ง. ฝ่ายหญิงนั้นก็หยุดแลดูภิกษุหนุ่มรูปนั้น. ทั้งสองถูกไฟคือราคะ ที่ตั้งขึ้นในทรวงแผดเผาได้ตายไปด้วยกัน.
               รูปแห่งหญิงได้ครอบงำจิตของภิกษุหนุ่มตั้งอยู่ด้วยประการอย่างนี้.
               อีกเรื่องหนึ่ง เล่ากันมาว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากกัลยาณิยมหาวิหาร ไปยังประตูบ้านกาฬทีฆวาปีคาม เพื่อแสดงพระปาฏิโมกข์ เสร็จการแสดงพระปาฏิโมกข์แล้ว เมื่อไม่เชื่อถือคำพูดของผู้ปรารถนาดี คิดว่า ในที่ๆ ไปแล้ว เราถูกภิกษุหนุ่ม และสามเณรถามแล้ว ควรจักบอกอาการที่เราอาศัยหมู่บ้านอยู่ ดังนี้แล้วจึงไปเที่ยวบิณฑบาตในบ้าน ยึดเอานิมิต ในวิสภาคารมณ์ (อารมณ์ที่เป็นข้าศึก) แล้วไปยังที่อยู่ของตน จำผ้าที่นางนุ่งได้ พลางถามว่า ท่านขอรับ ท่านได้ผ้านี้มาอย่างไร? รู้ว่านางตายแล้ว คิดว่า หญิงชื่อเห็นปานนี้ตายเพราะเรา ดังนี้ ถูกไฟคือราคะที่ตั้งขึ้นแผดเผาก็สิ้นชีวิตไป.
               บัณฑิตพึงทราบว่า รูปของหญิงครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               สูตรที่ ๒ เป็นต้น ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งบุคคลผู้หนักในเสียงเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิตฺถีสทฺโท ได้แก่ เสียงพูด ขับร้องและประโคม อันมีจิตเป็นสมุฏฐานของหญิง.
               อีกอย่างหนึ่ง เสียงพิณ ขลุ่ย สังข์ บัณเฑาะว์เป็นต้นที่สำเร็จด้วยการประกอบของหญิงที่มีเครื่องนุ่งห่มบ้าง ที่มีเครื่องประดับบ้าง. พึงทราบว่า เสียงของหญิงทั้งนั้น.
               จริงอยู่ เสียงหญิงทั้งหมดนั้นย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ ฉะนี้แล.
               ในสูตรนั้น พึงทราบเรื่องปูทอง นกยูงทองและภิกษุหนุ่มเป็นต้น.
               ดังได้สดับมา โขลงพระยาช้างโขลงใหญ่ อาศัยซอกเขาอยู่. และในที่ไม่ไกลซอกเขานั้นมีสระขนาดใหญ่สำหรับใช้สอย. ในสระนั้นมีปูทองตัวล่ำสัน ปูทองนั้นเอาก้ามจับเท้าสัตว์ที่พากันมาลงสระนั้น เหมือนจับด้วยคีมแล้วให้อยู่ในอำนาจของมันแล้วทำให้ตาย. พระยาช้างจ้องคอยโอกาสปูทองนั้น ตั้งช้างใหญ่เชือกหนึ่งให้เป็นหัวหน้าเที่ยวไป.
               วันหนึ่ง ปูนั้นจับพระยาช้างนั้นได้. พระยาช้างผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังและสติ คิดว่า ถ้าเราจักร้องเพราะกลัวไซร้ ช้างทั้งหมดจะไม่เล่นตามความชอบใจ จักหนีไปเสีย จึงได้ยืนนิ่งอยู่นั่นเอง. ครั้นรู้ว่าช้างขึ้นหมดแล้ว จึงร้องเพื่อให้ภรรยาของตนรู้ว่า ตนถูกปูทองจับไว้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
                         ก็ปูสีดังทอง มีตาโปน มีกระดองแทนหนัง
                         อาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน เราถูกมันหนีบ ร้องไห้
                         ขอความสงสาร เจ้าอย่าละทิ้งข้า ผู้ปานชีวิต
               ภรรยาได้ฟังดังนั้น รู้ว่าสามีถูกปูหนีบ จึงเจรจากับช้างบ้าง กับปูบ้าง เพื่อให้สามีพ้นจากภัยนั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า
                                   พ่อเจ้าเอ๋ย ข้าจักไม่ละเจ้าผู้เป็นกุญชรชาติ
                         มีอายุ ๖๐ ปี เจ้าเป็นที่รักยิ่งของข้า บนแผ่นดินซึ่ง
                         มีทวีปทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ปูเหล่าใดอยู่ในสมุทร
                         ในแม่น้ำคงคา และในแม่น้ำยมุนา ท่านเป็นสัตว์
                         เกิดในน้ำผู้ประเสริฐสุดของปูเหล่านั้น โปรดปล่อย
                         สามีของฉันผู้ซึ่งร้องไห้อยู่.
               ปูคลายการหนีบให้เพลาลง พร้อมกับได้ยินเสียงของหญิง.
               ลำดับนั้น พระยาช้างคิดว่า นี้แลเป็นโอกาสช่องว่างของมัน จึงยันเท้าข้างหนึ่งไว้ โดยอาการที่ถูกหนีบอยู่นั่นแล ยกเท้าที่ ๒ ขึ้นเหยียบกระดองหลังปูนั้น ทำให้แหละละเอียด กระชากปูนั้นเหวี่ยงขึ้นบนฝั่ง.
               ลำดับนั้น ช้างทั้งหมดชุมนุมกันทำปูนั้นให้แหลกละเอียดด้วยคิดว่า มันเป็นไพรีของพวกเรา.
               เสียงของหญิงครอบงำจิตของปูทองด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               ฝ่ายนกยูงทองเข้าไปยังป่าหิมพานต์ อาศัยชัฏแห่งภูเขาใหญ่อยู่ แลดูดวงอาทิตย์ ในเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นตลอดกาลเป็นนิตย์
               เมื่อจะกระทำการรักษาตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
                                   พระอาทิตย์ เป็นดวงตาโลก เป็นราชาเอก มีสี
                         เหลืองดังทอง ทำพื้นแผ่นดินให้สว่างไสว อุทัยขึ้นมา
                         ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอมน้อมพระอาทิตย์นั้นซึ่ง
                         มีสีเหลืองดังทอง ทำพื้นแผ่นดินให้สว่างไสว ข้าพเจ้า
                         ทั้งหลายเป็นผู้อันท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่
                         เป็นสุขตลอดวัน.
                                   พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้จบเวทในธรรม
                         ทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพราหมณ์เหล่านั้น และ
                         พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นโปรดรักษาข้าพเจ้าด้วย.
                                   ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธ
                         เจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระ
                         โพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่าน
                         ผู้หลุดพ้นแล้ว ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่
                         วิมุตติ (ธรรมเครื่องหลุดพ้น).

               นกยูงนั้น ได้กระทำปริตร อันนี้แล้ว จึงเที่ยวแสวงอาหาร.
               นกยูงทองนั้นเที่ยวหากินตลอดวัน ในเวลาเย็นจึงเข้าไปที่อยู่ จึงแลดูดวงพระอาทิตย์ซึ่งอัสดงคต ได้กล่าวชมเชยอย่างนี้ว่า
                                   พระอาทิตย์เป็นดวงตาโลก เป็นราชาเอก มีสี
                         เหลืองดังทอง ทำพื้นแผ่นดินให้สว่างไสว ย่อมอัสดง
                         คตไป ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์
                         นั้นซึ่งมีสีเหลืองดังสีทอง ทำพื้นแผ่นดินให้สว่างไสว
                         ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อันท่านคุ้มครองแล้ว ในวันนี้
                         พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน.
                                   พราหมณ์เหล่าใด ผู้จบแวทในธรรมทั้งปวง
                         ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพราหมณ์เหล่านั้น และพราหมณ์
                         เหล่านั้น โปรดรักษาข้าพเจ้าด้วย.
                                   ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระพุทธ
                         เจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระ
                         โพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่าน
                         ผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า
                         จงมีแด่วิมุตติ (ธรรมเครื่องหลุดพ้น).

               นกยูงนั้นได้กระทำปริตรนี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่แล.
               นกยูงนั้นยับยั้งอยู่ตลอด ๗๐๐ ปีโดยทำนองนี้นั้นแล.
               อยู่มาวันหนึ่ง ได้ยินเสียงนางนกยูงก่อนแต่การกระทำปริตร ไม่ยอมระลึกการกระทำปริตร จึงติดบ่วงของนายพรานที่พระราชาส่งไป เสียงของหญิงครอบงำจิตของนกยูงทองตั้งอยู่ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มผู้อยู่ที่ฉาตกบรรพตและภิกษุหนุ่มผู้อยู่ที่สุธามุณฑกวิหาร ได้ยินเสียงของหญิงย่อยยับไปแล้วแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิตฺถิคนฺโธ ได้แก่ คันธายตนะของหญิงมีสมุฏฐาน ๔. กลิ่นกายของหญิงนี้นั้นย่อมเหม็น แต่กลิ่นเครื่องประเทืองผิวเป็นต้นภายนอกที่ชโลมกาย ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               จริงอยู่ หญิงบางคนมีกลิ่นเหมือนกลิ่นม้า บางคนมีกลิ่นเหมือนกลิ่นแพะ บางคนมีกลิ่นเหมือนเหงื่อไคล บางคนมีกลิ่นเหมือนกลิ่นเลือด คนโง่บอดบางคน รักใคร่ในหญิงเห็นปานนั้น นั่นแล. ส่วนกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกาย และกลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของหญิง นางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ์ กลิ่นนี้ไม่มีแก่หญิงทุกจำพวก. เฉพาะกลิ่นเครื่องประเทืองผิวเป็นต้นภายนอก ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ส่วนสัตว์เดียรัจฉานมีช้าง ม้าและโคเป็นต้น ย่อมเดินไปได้สิ้นทาง ๑ โยชน์ ๒ โยชน์ ๓ โยชน์ และ ๔ โยชน์ตามกลิ่นระดูของสัตว์เดียรัจฉานตัวเมีย. ไม่ว่ากลิ่นกายหญิง หรือกลิ่นเครื่องนุ่งห่มที่หญิงนุ่ง เครื่องประเทืองผิวที่หญิงลูบไล้ เครื่องประดับและระเบียบดอกไม้เป็นต้นของหญิงก็ตามที ทั้งหมดพึงทราบว่า กลิ่นหญิงทั้งนั้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิตฺถิรโส ได้แก่ รสายตนะของหญิงมีสมุฏฐาน ๔. ก็พระจูฬาภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวว่า รสนี้ใดจะเป็นรสแห่งการฟัง หรือรสแห่งการบริโภค ด้วยอำนาจการรับใช้เป็นต้นของหญิง. รสนี้ ชื่อว่ารสของหญิง.
               ก็รสน้ำลายที่เปื้อนเนื้อริมฝีปากเป็นต้นของหญิง แม้แต่รสแห่งข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นที่เธอให้แก่สามี ทั้งหมดนี้พึงทราบว่ารสแห่งหญิงเหมือนกัน.
               จริงอยู่ สัตว์เป็นอันมากถือเอาของอย่างใดอย่างหนึ่งที่หญิงแม่บ้านให้ด้วยมือของตนเท่านั้น ว่าเป็นของอร่อย ถึงความพินาสไปแล้วแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิตฺถิโผฏฺฐพฺโพ ความว่า สัมผัสกายของหญิง สัมผัสแม้ของผ้า เครื่องประดับและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ที่อยู่กับตัวหญิง พึงทราบว่าโผฏฐัพพะหญิงทั้งนั้น.
               ก็ผัสสะทั้งหมดนั้นย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ เหมือนผัสสะที่เป็นวิสภาคารมณ์ (อารมณ์ที่เป็นข้าศึก) ของภิกษุหนุ่มผู้กำลังสาธยายเป็นคณะอยู่ที่ลานแห่งมหาเจดีย์.
               ดังนั้น พระศาสดาจึงถือเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งอาสยะ (อัธยาศัย) และอนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน) ของสัตว์ทั้งหลาย จึงตรัสว่า เรามองไม่เห็น อารมณ์อื่นเช่นนี้.
               เหมือนอย่างว่า รูปหญิงย่อมเข้าถึงจิตตุปบาทของบุรุษผู้หนักในรูป ย่อมพัวพันให้เมา ให้มัวเมา ให้หลง ให้ลุ่มหลงฉันใด เสียงเป็นต้นที่เหลือ หาเป็นฉันนั้นไม่.
               อนึ่ง เสียงเป็นต้นย่อมเข้าถึงจิตตุปบาทของบุรุษผู้หนักในเสียงเป็นต้น ฉันใด๑- อารมณ์มีรูปเป็นต้นหาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะบรรดาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น อารมณ์เดียวเท่านั้นย่อมครอบงำจิตของบุรุษบางคน. สำหรับบุรุษบางคน ๒ อารมณ์บ้าง ๓ อารมณ์บ้าง ๔ อารมณ์บ้าง ๕ อารมณ์บ้าง ครอบงำจิต.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ตถา เสสา สทฺทาทโย ฯ ยถา จ สทฺทาทิครุกานํ สทฺทาทโย ตถา รูปาทีนิ อารมฺมณาหิ
พม่าเป็น น ตถา เสสา สทฺทาทโย. ยถา จ สทฺทาทิครุกานํ สทฺทาทโย, น ตถา รูปาทีนิ อารมฺมณานิ. แปลตามพม่า

               ดังนั้น สูตรทั้ง ๕ สูตรนี้ พระองค์ตรัสแล้วด้วยอำนาจบุคคลผู้หนักในอารมณ์ ๕ อย่าง ไม่ตรัสด้วยอำนาจปัญจครุกชาดก. ส่วนปัญจครุกชาดกก็ควรนำมากล่าวเพื่อเป็นพยาน.
               จริงอยู่ ในชาดกนั้น เมื่อพวกอมนุษย์พากันจัดร้านตลาดกลางทางกันดาร. บรรดาสหาย ๕ คนของมหาบุรุษ สหายผู้หนักในรูป ติดอยู่ในรูปารมณ์ ถึงความย่อยยับ. ผู้หนักในเสียงเป็นต้น ติดอยู่ในสัททารมณ์เป็นต้น ก็ถึงความย่อยยับ.
               เรื่องที่เป็นอดีต ควรนำมากล่าวเพื่อเป็นพยาน.
               ก็พระสูตรทั้ง ๕ นี้ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจบุคคลผู้หนักในอารมณ์ ๕ อย่างเท่านั้น ก็เพราะเหตุที่ไม่ใช่แต่ผู้ชายอย่างเดียวเท่านั้น เป็นผู้หนักในอารมณ์ทั้ง ๕ แม้หญิงก็เป็นผู้หนักเหมือนกัน ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสพระสูตร ทั้ง ๕ อีกด้วยอำนาจหญิงผู้หนักในอารมณ์แม้เหล่านั้น.
               เนื้อความแห่งพระสูตรแม้นั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               แม้บรรดาเรื่องทั้งหลาย ในสูตรที่ ๑ พึงทราบเรื่องของสนมของมหาราชา ผู้มองดูภิกษุหนุ่มซึ่งยืนอยู่ที่ประตูแห่งโลหปราสาทแล้วก็ตายไป เรื่องนั้นกล่าวไว้พิสดารแล้วตอนต้นนั่นแล.
               ในสูตรที่ ๒ พึงทราบเรื่องหญิงผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพในกรุงสาวัตถี.
               เล่ากันมาว่า นักดีดพิณ ชื่อว่าคุตติละ ได้ส่งทรัพย์ ๑,๐๐๐ ไปให้หญิงคนหนึ่ง นางกลับเย้ยหยัน ไม่ปรารถนาจะรับ.
               เขาคิดว่า เราจักทำสิ่งที่ควรทำในเรื่องนี้ เวลาจวนจะเย็น จึงแต่งตัวนั่งที่ประตูแห่งหนึ่งตรงหน้าเรือนของนาง ขึ้นสายพิณเหมาะเจอะดีแล้ว จึงขับร้องคลอไปกับเสียงพิณ.
               หญิงนั้นได้ยินเสียงเพลงขับของเขา คิดว่า เราจักไปหาเขาทางหน้าต่างที่เปิดไว้ ด้วยความสำคัญว่าประตู ก็พลัดตกลงไปถึงสิ้นชีวิต.
               ในสูตรที่ ๓ พึงทราบ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากพระกาย และกลิ่นอุบลฟุ้งออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ์
               เรื่องนี้ควรนำมาแสดง ก็ในข้อนี้พึงทราบเรื่องดังต่อไปนี้ :-
               เล่ากันมาว่า สามีของธิดาแห่งกุฏุมพีผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา คิดว่า เราเป็นคฤหัสถ์ไม่สามารถจะบำเพ็ญธรรมนี้ได้ จึงบวชในสำนักของพระปิณฑปาติกเถระ (พระเถระผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) รูปหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบภรรยาของเขาว่า หญิงผู้นี้ไม่มีสามี จึงโปรดให้คนนำมาอยู่ในพระราชวัง. วันหนึ่ง ทรงถือเอากำดอกอุบลบัวขาบกำหนึ่ง เสด็จเข้าไปในพระราชวัง โปรดให้ประทานดอกอุบลแก่หญิงคนละดอก. เมื่อแบ่งกันอยู่ ดอกอุบล ๒ ดอกได้ถึงมือของหญิงนั้น. หญิงนั้นแสดงอาการร่าเริง สูดดมแล้วก็ร่ำไห้. พระราชาทรงเห็นอาการทั้ง ๒ ของนาง จึงรับสั่งให้เรียกนางมาตรัสถาม.
               ฝ่ายนางกราบทูลเหตุที่ตนยินดีและร้องไห้ ให้ทรงทราบ.
               แม้เมื่อนางกราบทูลถึงครั้งที่ ๓ พระราชาไม่ทรงเชื่อ วันรุ่งขึ้นจึงรับสั่งให้คนขนเอาของหอมที่มีกลิ่นอย่างดี มีระเบียบดอกไม้และเครื่องลูบไล้เป็นต้นทุกอย่าง ในพระราชนิเวศน์ออกไป ให้ปูอาสนะสำหรับภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ตรัสถามหญิงนั้นว่า พระเถระรูปไหน. เมื่อนางกราบทูลว่า รูปนี้ ทรงทราบแล้วถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอภิกษุสงฆ์จงไปกับพระองค์ พระเถรรูปโน้น ของข้าพระองค์จักกระทำอนุโมทนา.
               พระศาสดาเว้นภิกษุรูปนั้นไว้ แล้วเสด็จไปยังพระวิหาร. พอพระเถระเริ่มกล่าวอนุโมทนา ทั่วพระราชนิเวศน์เป็นเหมือนเต็มไปด้วยกลิ่นหอม. พระราชาทรงเลื่อมใสว่า นางพูดจริงทีเดียว วันรุ่งขึ้นจึงถามถึงเหตุนั้นกะพระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสบอกว่า ในอดีตกาล ภิกษุรูปนี้ฟังธรรมกถา เปล่งสาธุการว่า สาธุ สาธุ ไม่ขาดสาย ได้ฟังโดยเคารพ
               ดูก่อนมหาบพิตร ภิกษุนั้นได้อานิสงส์นี้มีการเปล่งสาธุการนั้นเป็นมูล
                         ในเวลาฟังแสดงพระสัทธรรม เมื่อภิกษุนั้นกล่าวว่า
                         สาธุ สาธุ กลิ่นหอมเกิดจากปาก ฟุ้งไปเหมือนกลิ่น
                         ดอกอุบล ฉะนั้น.

               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล ในวรรคนี้ท่านกล่าวแต่เรื่องทั้งนั้น.
               บาลีว่าด้วยรูปจบ.

                จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               
               จบอรรถกถารูปาทิวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี รูปาทิวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1&Z=41
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :