ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 1อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 20 / 22อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
นีวรณปหานวรรคที่ ๒

               อรรถกถานีวรณปหานวรรคที่ ๒#-               
____________________________
#- วรรคที่ ๒ นี้ บาลีมิได้แบ่งออกเป็นสูตรๆ แต่อรรถกถาแบ่งไว้ ๑๐ สูตร.

               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ในบทว่า เอกธมฺมํปิ นี้ พึงทราบธรรมด้วยอรรถว่า มิใช่สัตว์ เหมือนในคำมีอาทิว่า ก็ในสมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี. เพราะฉะนั้นในบทว่า เอกธมฺมํปิ นี้มีใจความดังนี้ว่า แม้สภาวะอันหนึ่งมิใช่สัตว์.
               ก็ วาศัพท์ในบทว่า อนุปฺปนฺโน วา นี้ มีสมุจจัยเป็นอรรถ ไม่ใช่มีวิกัปเป็นอรรถ เหมือน วาศัพท์ในประโยคอย่างนี้ว่า ภูตานํ สตฺตานํ ฐิติยา สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย ยาวตา ภิกฺขเว สตฺตา อปทา วา ทฺวิปทา วา เพื่อดำรงอยู่แห่งสัตว์ผู้เกิดแล้วด้วย เพื่ออนุเคราะห์พวกสัตว์สัมภเวสีด้วย ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสัตว์ไม่มีเท้าและสัตว์ ๒ เท้ามีประมาณเพียงใด ดังนี้.
               ก็ในข้อนี้มีใจความดังนี้ว่า
               กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อไพบูลย์เจริญเต็มที่ด้วยธรรมใด เรามองไม่เห็นธรรมนั้นอย่างอื่น เหมือนศุภนิมิตเลย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุปฺปนฺโน ความว่า ไม่เกิด ไม่เกิดพร้อม ไม่ปรากฎ ไม่เป็นไป.
               บทว่า กามฉนฺโท ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ที่กล่าวไว้พิสดารแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ความอยากในกาม อันใด.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ ได้แก่บังเกิด ปรากฎ.
               ก็กามฉันท์นี้นั้น พึงทราบว่า ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ด้วยอำนาจความฟุ้งขึ้น หรือด้วยอารมณ์ที่ยังไม่ได้เสวย.
               จริงอยู่ เมื่อว่าโดยประการอื่น กามฉันท์ชื่อว่าไม่เกิดขึ้นในสงสารอันไม่ปรากฎเบื้องต้นและเบื้องปลาย ย่อมไม่มี. ในข้อนั้น กิเลสย่อมไม่ฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุบางรูปด้วยอำนาจวัตร ย่อมไม่ฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุบางรูปด้วยอำนาจคันถะ, ธุดงค์, สมาธิ, วิปัสสนาและงานนวกรรมที่เธอทำแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ ภิกษุบางรูปเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร เมื่อภิกษุนั้นกระทำขุททกวัตร ข้อวัตรเล็ก ๘๒ มหาวัตร ข้อวัตรใหญ่ ๑๔ เจติยังคณวัตร โพธิยังคณวัตร ปานียมาฬกวัตร อุโปสถาคารวัตร อาคันตุกวัตรและคมิกวัตร กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ครั้นต่อมา เมื่อเธอสละวัตร มีวัตรแตกแล้วเที่ยวไป อาศัยการใส่ใจโดยไม่แยบคายและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น กิเลสยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ก็ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               บางรูปเป็นผู้ประกอบด้วยคันถะ เรียน ๑ นิกายบ้าง ๒ นิกายบ้าง ๓ นิกายบ้าง ๔ นิกายบ้าง ๕ นิกายบ้าง เมื่อเธอเรียน ท่องบ่น บอก แสดง ประกาศพุทธพจน์คือปิฎก ๓ ด้วยอำนาจอรรถ ด้วยอำนาจบาลี ด้วยอำนาจอนุสนธิ ด้วยอำนาจอักษรเบื้องต้นเบื้องปลาย กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. ต่อมาเมื่อละการเล่าเรียน เกียจคร้าน เที่ยวไปอยู่ อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ก็ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               แต่บางรูปเป็นผู้ทรงธุดงค์ สมาทานธุดงคคุณ ๑๓ ประพฤติอยู่. ก็เมื่อเธอปริหารคือรักษาธุดงคคุณอยู่ กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ต่อมา เมื่อเธอสละธุดงค์เวียนมาเพื่อความมักมากประพฤติอยู่ อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ก็ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               บางรูปมีความชำนาญที่สั่งสมไว้ในสมาบัติ ๘. เมื่อเธอประกอบเนืองๆ ในปฐมฌานเป็นต้นอยู่ด้วยอำนาจวสีมีอาวัชชวสี ชำนาญเข้าสมาบัติเป็นต้น กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ต่อมาเมื่อเธอเสื่อมฌานหรือสลัดฌานเสียแล้ว ประกอบเนืองๆ ในกิจมีชอบคุยเป็นต้น อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่ง บางรูปเป็นผู้เจริญวิปัสสนากระทำกิจในอนุปัสสนา ๗ และมหาวิปัสสนา ๑๘ อยู่. เมื่อเธอเป็นอยู่อย่างนี้ กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ต่อมา เมื่อเธอละกิจในวิปัสสนา มุ่งไปในการทำร่างกายให้แข็งแรง อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ก็ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               บางรูปเป็นผู้ประกอบงานนวกรรม ให้สร้างโรงอุโบสถและโรงฉันเป็นต้น เมื่อเธอกำลังคิดถึงเครื่องอุปกรณ์ของโรงอุโบสถเป็นต้นเหล่านั้นอยู่ กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส. ครั้นต่อมา เมื่องานนวกรรมของเธอเสร็จแล้วหรือทอดทิ้งเสีย อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสก็เกิดขึ้น. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่งบางรูปมาแต่พรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์, เพราะตนไม่มีการซ่องเสพมาก่อน กิเลสจึงไม่ได้โอกาส. แต่ครั้นต่อมาได้การซ่องเสพ อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติ กิเลสย่อมเกิดขึ้น.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ก็ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               พึงทราบความเกิดขึ้นแห่งกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ฟุ้งขึ้น ด้วยประการอย่างนี้ก่อน.
                         กถํ อนนุภูตารมฺมณวเสน? อิเธกจฺโจ อนนุภูตปุพฺพํ มนาปิยรูปาทิอารมฺมณํ
               ลภติ, ตสฺส ตตฺถ อโยนิโสมนสิการสติโวสฺสคฺเค อาคมฺม ราโค อุปฺปชฺชติ. เอวํ
               อนนุภูตารมฺมณวเสน อนุปฺปนฺโน อุปฺปชฺชติ นาม.

               กิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ที่ยังไม่เคยเสวยเป็นอย่างไร?
               ภิกษุบางรูปย่อมได้อารมณ์มีรูปารมณ์ที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจเป็นต้นที่ตนไม่เคยได้เสวย อาศัยอโยนิโสมนสิการและการปล่อยสติไปในอารมณ์นั้น ราคะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดเพราะอารมณ์ที่ยังไม่เคยเสวย ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า อุปฺปนฺโน ได้แก่ เกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดยิ่งแล้ว ปรากฎแล้ว.
               บทว่า ภิยฺโยภาวาย ได้แก่ เพื่อเกิดมีบ่อยๆ
               บทว่า เวปุลฺลาย ได้แก่ เพื่อความไพบูลย์คือ เพื่อความเป็นกอง.
               ในข้อนั้น ข้อที่ว่ากามฉันท์เกิดขึ้นคราวเดียวจักไม่ดับ หรือดับไปคราวเดียวจักไม่เกิดขึ้นอีก นั่นมิใช่ฐานะที่จะมีได้. ก็เมื่อกามฉันท์อย่างหนึ่งดับไปแล้ว กามฉันท์เมื่อเกิดสืบๆ ไปในอารมณ์นั้น หรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ชื่อว่าย่อมเป็นไปเพื่อมียิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์.
               บทว่า สุภนิมิตฺตํ ได้แก่ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ.
               จริงอยู่ บทว่า นิมิตฺตํ เป็นชื่อแห่งปัจจัย ได้ในคำนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อกุศลบาปธรรมที่มีปัจจัยย่อมเกิดขึ้น ที่ไม่มีปัจจัยหาเกิดขึ้นไม่.
               บทว่า นิมิตฺตํ เป็นชื่อแห่งเหตุ ได้ในคำนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการถึงเหตุทั้ง ๕ ตามกาลอันควร
               บทว่า นิมิตฺตํ เป็นชื่อของสมาธิ ได้ในคำนี้ว่า โส ตํ นิมิตฺตํ อาเสวติ ภาเวติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมเสพ ย่อมเจริญสมาธินั้น.
               บทว่า นิมิตฺตํ เป็นชื่อแห่งวิปัสสนา ได้ในคำนี้ว่า เมื่อภิกษุอาศัยวิปัสสนาใด มนสิการวิปัสสนาใด อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปเรื่อยๆ.
               แต่ในที่นี้ ธรรมอันเป็นอิฎฐารมณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ท่านประสงค์เอาสุภนิมิต.
               บทว่า อโยนิโส มนสิกโรโต ความว่า เมื่อภิกษุใส่ใจโดยมิใช่อุบาย ด้วยอำนาจการใส่ใจนี้ว่า บรรดาการใส่ใจเหล่านั้น การใส่ใจโดยไม่แยบคายเป็นไฉน? การใส่ใจโดยไม่แยบคาย คือการใส่ใจไปนอกทาง ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่เป็นอัตตาว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม หรือการรำพึงถึง การคำนึงถึงเนืองๆ การผูกใจ การประมวลจิต ด้วยสิ่งอันเป็นปฏิกูลที่ปราศจากความจริง แม้นี้เรียกว่าการใส่ใจโดยไม่แยบคายแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า พฺยาปาโท ได้แก่ ความวิบัติ ความละปกติแห่งจิต เหมือนความวิบัติแห่งอาหาร (อาหารบูด).
               บทว่า พฺยาปาโท นี้เป็นชื่อแห่งพยาปาทนิวรณ์ ที่กล่าวไว้พิสดารแล้วอย่างนี้ว่า ในนิวรณ์เหล่านั้น พยาปาทนิวรณ์เป็นไฉน? คือความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้ได้ทำความฉิบหายแก่เรา.
               บทว่า ปฏิฆนิมิตฺตํ ได้แก่ นิมิตที่ไม่น่าปรารถนา.
               คำว่า ปฏิฆนิมิตฺตํ นี้ เป็นชื่อของปฏิฆจิต ความแค้นเคืองก็มี เป็นชื่อของอารมณ์ที่ทำให้แค้นเคืองก็มี
               สมจริงดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า แม้ปฏิฆจิต ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต แม้ธรรมที่เป็นอารมณ์ของปฏิฆจิต ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต.
               คำที่เหลือในที่นี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในกามฉันท์นั่นแล.
               ในปฏิฆนิวรณ์นี้ฉันใด แม้ในนิวรณ์อื่นจากนี้ก็ฉันนั้น.
               ก็ในสูตรนั้นๆ ข้าพเจ้าจักกล่าวเพียงข้อแปลกกันเท่านั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ถีนมิทฺธํ ได้แก่ ถีนะและมิทธะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น ภาวะที่จิตไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่าถีนะ. คำว่า ถีนะ นี้เป็นชื่อของความเกียจคร้าน. ภาวะที่ขันธ์ทั้ง ๓ ไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่ามิทธะ. คำว่า มิทธะ นี้เป็นชื่อของความโงกง่วง ดุจความโงกง่วงของลิง เป็นธรรมชาติกลับกลอก.
               พึงทราบความพิสดารแห่งถีนะและมิทธะทั้ง ๒ นั้นโดยนัยเป็นต้นว่า ในถีนะและมิทธะทั้ง ๒ นั้น ถีนะเป็นไฉน? ภาวะที่จิตไม่เหมาะไม่ควรแก่การงาน หย่อนยาน ท้อแท้ ชื่อว่าถีนะ. ในถีนะและมิทธะทั้ง ๒ นั้น มิทธะเป็นไฉน? ภาวะที่กายไม่เหมาะ ไม่ควรแก่การงาน โงกง่วง ชื่อว่ามิทธะ.
               บทว่า อรติ เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่จำแนกไว้แล้วในวิภังค์นั่นแล.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               บรรดาธรรมเหล่านั้น อรติเป็นไฉน? ความไม่ยินดี ภาวะที่ไม่ยินดี ความไม่ยินดียิ่ง ความไม่อภิรมย์ ความเอือมระอา ความหวาด ในเสนาสนะอันสงัด หรือในอธิกุศลธรรมอย่างอื่นๆ นี้เรียกว่าอรติ.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ตนฺทิ ความเกียจคร้านเป็นไฉน? ความเกียจ ความคร้าน ความใส่ใจในความคร้าน ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะแห่งผู้เกียจคร้าน นี้ท่านเรียกว่าตันทิ.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ความบิดกายเป็นไฉน? ความบิด ความเอี้ยว ความน้อมไป ความโน้มมา ค้อมไปค้อมมา ความบิดเบี้ยว นี้เรียกว่าวิชัมภิกา.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ความเมาอาหารเป็นไฉน? ผู้มักบริโภค มึนในอาหาร ลำบากในอาหาร อ่อนเปลี้ยในกาล นี้เรียกว่า ความเมาในอาหาร.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ความที่จิตหดหู่เป็นไฉน? ภาวะที่จิตไม่เหมาะ ไม่ควรแก่การงาน ความย่อหย่อน ความย่นย่อ ความท้อแท้ ความท้อถอย ภาวะท้อแท้แห่งจิต นี้เรียกว่าความท้อแท้แห่งจิต.
               ก็บรรดาธรรมเหล่านี้ ธรรม ๔ ข้างต้นเป็นปัจจัยแก่ถีนมิทธนิวรณ์ ทั้งโดยสหชาตปัจจัย ทั้งโดยอุปนิสสยปัจจัย. อนึ่ง ภาวะที่ย่อหย่อนย่อมไม่เป็นสหชาตปัจจัยโดยตนของตนเอง แต่ย่อมเป็นสหชาตปัจจัย ในที่สุดแห่งอุปนิสสยปัจจัย.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุทฺธจฺจกุกฺกุจจํ ได้แก่ อุทธัจจะและกุกกุจจะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น อาการที่จิตฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอุทธัจจะ ความเดือดร้อนของบุคคลผู้ไม่ได้กระทำคุณความดี ทำแต่ความชั่ว เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย ชื่อว่ากุกกุจจะ.
               บทว่า เจตโส อวูปสโม นี้เป็นชื่อของอุทธัจจะและกุกกุจจะนั่นเอง.
               บทว่า อวูปสนฺตจิตฺตสฺส ได้แก่ ผู้มีจิตไม่สงบด้วยฌานและวิปัสสนา ก็ความไม่สงบนี้เป็นปัจจัยแก่อุทธัจจะและกุกกุจจะ ในที่สุดแห่งอุปนิสสยปัจจัย.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วิจิกิจฺฉา ได้แก่ วิจิกิจฉานิวรณ์ ที่กล่าวไว้พิสดารแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ย่อมสงสัยในพระศาสดา ความใส่ใจโดยไม่แยบคายมีลักษณะดังกล่าวแล้วแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี นีวรณปหานวรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 1อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 20 / 22อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=42&Z=93
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=608
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=608
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :