ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๐.

               เรื่องพระอัญญาโกณฑัญญะเถระ               
               บทว่า เอตทคฺคํ ในบาลีนั้น มีอรรถได้กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               บทว่า รตฺตญฺญูนํ แปลว่า ผู้รู้ราตรี.
               จริงอยู่ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่น ชื่อว่าผู้บวชก่อนท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ไม่มี เพราะเหตุนั้น พระเถระย่อมรู้ราตรีตลอดกาลนาน จำเดิมตั้งแต่บวช เหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นรัตตัญญู. เพราะท่านแทงตลอดธรรมก่อนใครทั้งหมด ท่านรู้ราตรีที่รู้แจ้งธรรมนั้นมานาน แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่ารัตตัญญู.
               อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดคืนและวันของท่านผู้สิ้นอาสวะทั้งหลายเป็นของปรากฎชัด และพระอัญญาโกณฑัญญเถระนี้เป็นผู้สิ้นอาสวะก่อน เพราะเหตุนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะนี้แลเป็นผู้เลิศ เป็นยอดคนแรก เป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งเหล่าสาวกผู้รัตตัญญู แม้ด้วยประการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า รตฺตญฺญูนํ ยทิทํ อญฺญาโกณฺฑญฺโญ ดังนี้.
               ก็ศัพท์ ยทิทํ ในบาลีนี้เป็นนิบาต (ถ้า) เพ่งเอาพระเถระนั้น มีอรรถว่า โย เอโส เพ่งอัคคศัพท์ มีอรรถว่า ยํ เอตํ.
               บทว่า อญฺญาโกณฺฑญฺโญ แปลว่า โกณฑัญญะรู้ทั่วแล้ว โกณฑัญญะแทงตลอดแล้ว. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อิติ หิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว นามํ อโหสิ โกณฑัญญะรู้ทั่วแล้วหนอ โกณฑัญญะรู้ทั่วแล้วหนอ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพระโกณฑัญญะจึงได้มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ ดังนี้.
               พึงทราบปัญหากรรม (กรรมที่ตั้งปรารถนาไว้ครั้งแรกในอดีต) ในพระสาวกผู้เอตทัคคะทุกรูป โดยนัยนี้ว่า
               ก็พระเถระนี้ได้กระทำความปรารถนาครั้งก่อนให้เป็นความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน? ท่านบวชเมื่อไร? ท่านบรรลุธรรมครั้งแรกเมื่อไร? ได้รับสถาปนาในตำแหน่งเมื่อไร? บรรดาพระเถระเอตทัคคะเหล่านั้น ก่อนอื่นในปัญหากรรมของพระเถระนี้ มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               ปลายแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ อุบัติขึ้นในโลก. เมื่อพระองค์ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เสด็จลุกจากมหาโพธิบัลลังก์ พอยกพระบาทขึ้นเพื่อวางบนมหาปฐพี ดอกปทุมขนาดใหญ่ผุดขึ้นรับพระบาท. ดอกปทุมนั้นกลีบยาว ๙๐ ศอก เกสร ๓๐ ศอก ช่อ ๑๒ ศอก ที่ประดิษฐานพระบาท ๑๑ ศอก.
               ก็พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นสูง ๕๘ ศอก เมื่อพระบาทขวาของพระองค์ประดิษฐานอยู่บนช่อปทุม ละอองเกษรประมาณทะนานใหญ่พลุ่งขึ้นโปรยรดพระสรีระ. แม้ในเวลาวางพระบาทซ้าย ดอกปทุมเห็นปานนั้นนั่นแลผุดขึ้นรับพระบาท. ละอองมีขนาดดังกล่าวแล้วนั่นแลพลุ่งขึ้นจากนั้น โปรยรดพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น. ก็รัศมีพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าเปล่งออกปกคลุมละอองนั้น กระทำที่ประมาณ ๑๒ โยชน์โดยรอบให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน เหมือนสายน้ำทองที่พุ่งออกทะนานยนต์.
               ในเวลาย่างพระบาทครั้งที่ ๓ ดอกปทุมที่ผุดขึ้นก่อนก็หายไป. ปทุมดอกใหม่อื่นก็ผุดขึ้นรับพระบาท. โดยทำนองนี้แล พระองค์ประสงค์จะเสด็จไปในที่ใดๆ ปทุมดอกใหญ่ก็ผุดขึ้นในที่นั้นๆ ทุกย่างพระบาท.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงมีพระนามว่า ปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงอุบัติขึ้นในโลกอย่างนี้ มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวภิกษาในคามนิคมและราชธานี เพื่อสงเคราะห์มหาชน เสด็จถึงกรุงหังสวดี. มหาราชาผู้เป็นพระพุทธบิดาทรงทราบข่าวว่า พระศาสดานั้นเสด็จมา จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับ.
               พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาแด่พระพุทธบิดา. จบเทศนา บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต. พระราชาทรงนิมนต์พระทศพล เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ในวันรุ่งขึ้นทรงให้แจ้งเวลา (ภัตตาหาร) ได้ถวายมหาทานในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร.
               พระศาสดาทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้วเสด็จไปพระวิหารตามเดิม. โดยทำนองนั้นนั่นแล ได้ถวายทานตลอดกาลยืดยาวนาน คือวันรุ่งขึ้น ชาวเมืองถวาย วันรุ่งขึ้น (ต่อไป) พระราชาถวาย.
               ครั้งนั้น พระเถระนี้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงหังสวดี.
               วันหนึ่ง ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เห็นชาวกรุงหังสวดีต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นผู้น้อมไป โอนไป เงื้อมไปทางพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ แล้วได้ไปยังที่แสดงธรรม พร้อมกับมหาชนนั้นนั่นแล.
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งผู้แทงตลอดธรรมก่อนในพระศาสนาของพระองค์ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ.
               กุลบุตรนั้นได้สดับเหตุนั้นแล้วคิดว่า ภิกษุนี้เป็นผู้ใหญ่หนอ ได้ยินว่า เว้นพระพุทธเจ้าเสีย ผู้อื่นชื่อว่าผู้แทงตลอดธรรมก่อนกว่าภิกษุนี้ ย่อมไม่มี แม้เราพึงเป็นผู้สามารถแทงตลอดธรรมก่อน ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.
               ในเวลาจบเทศนา จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์ว่า พรุ่งนี้ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์. พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว กุลบุตรนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำประทักษิณแล้วไปยังที่อยู่ของตน ประดับที่ประทับนั่งสำหรับพระพุทธเจ้า ด้วยของหอมและพวงมาลัยเป็นต้น ให้จัดของควรเคี้ยวและควรบริโภคอันประณีต ตลอดคืนยังรุ่ง.
               ล่วงราตรีนั้นได้ถวายข้าวสาลีหอมมีแกงและกับข้าวต่างๆ รส มีข้าวยาคูและของเคี้ยวอันวิจิตรเป็นบริวาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ในที่อยู่ของตน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้วางผ้าคู่พอทำจีวรได้สามผืน ใกล้พระบาทของพระตถาคต คิดว่า
               เราไม่ได้ขอเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งเล็กน้อย เราปรารถนาตำแหน่งใหญ่จึงขอ แต่เราไม่อาจให้ทานเพียงวันเดียวเท่านั้นแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงคิด (อีก) ว่า จักถวายทานตลอด ๗ วัน ติดต่อกันไป แล้วจึงจักปรารถนา.
               โดยทำนองนั้นนั่นเอง เขาจึงถวายมหาทาน ๗ วัน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ให้เปิดคลังผ้าวางผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีเยี่ยม ไว้ใกล้พระบาทแห่งพระพุทธเจ้า ให้ภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปครองไตรจีวรแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าย ๗ วันแต่วันนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นผู้สามารถบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะอุบัติในอนาคตแล้วรู้แจ้งได้ก่อนเหมือนภิกษุนี้ แล้วหมอบศีรษะลงใกล้พระบาทของพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูว่า กุลบุตรนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้มาก ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จไหมหนอ เมื่อทรงรำลึกก็ทรงเห็นความสำเร็จ.
               จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรำพึงถึงอดีต อนาคตหรือปัจจุบัน ย่อมไม่มีอะไรขัดขวางเลย. เหตุที่เป็นอดีตหรือเหตุที่เป็นอนาคต ที่เป็นไปในภายในระหว่างแสนโกฏิกัปเป็นอันมากก็ดี ปัจจุบันระหว่างแสนจักรวาลก็ดี ย่อมเนื่องด้วยการนึก เนื่องด้วยมนสิการทั้งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ได้ทรงเห็นเหตุนี้ ด้วยญาณที่ไม่มีใครๆ ให้เป็นไปได้ว่า ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักอุบัติขึ้นในโลก ครั้งนั้น ความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนกุลบุตรผู้เจริญ ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อันถึงพร้อมด้วยนัยพันนัย พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ เวลาจบพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอันมีวนรอบ ๓ ด้วยการแสดงธรรมครั้งแรกของพระโคดมพุทธเจ้านั้น.
               พระศาสดาครั้นทรงพยากรณ์กุลบุตรนั้นดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, สรีระของพระองค์ผู้ปรินิพพานแล้ว ได้เป็นแท่งอันเดียวกัน เหมือนก้อนทองฉะนั้น.
               ก็ชนทั้งหลายได้สร้างเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระองค์สูง ๗ โยชน์ อิฐทั้งหลายล้วนแล้วด้วยทองคำ ชนทั้งหลายใช้หรดาลและมโนสิลาแทนดินเหนียว ใช้น้ำมันงาแทนน้ำ ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่รัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไป ๑๒ โยชน์. ก็เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานแล้ว รัศมีนั้นสร้านออกปกคลุมที่ร้อยโยชน์โดยรอบ.
               เศรษฐีนั้นให้สร้างของควรค่าเท่ารัตนะพันดวงล้อมเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ในวันประดิษฐานพระเจดีย์ ให้สร้างเรือนแก้วภายในเจดีย์. เศรษฐีนั้นกระทำกัลยาณกรรม ล้วนแล้วด้วยทานใหญ่โตถึงแสนปี เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในสวรรค์.
               เมื่อเศรษฐีนั้นท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง ล่วงไป ๙๙,๙๐๙ กัป เมื่อกาลล่วงไปเท่านี้ ในท้ายกัปที่ ๙๑ จากภัทรกัปนี้ กุลบุตรนี้บังเกิดในเรือนแห่งกุฏุมพี ในรามคาม ใกล้ประตูกรุงพันธุมดี ได้นามว่ามหากาล. ส่วนน้องชายของท่านนามว่าจุลกาล.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี จุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพันธุมะ กรุงพันธุมดี บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ อันท้าวมหาพรหมอาราธนาเพื่อประโยชน์แก่การแสดงธรรม จึงดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงเห็นพระราชกุมารทรงพระนามว่าขัณฑะ ผู้เป็นพระกนิฏฐาของพระองค์ และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ว่าเป็นผู้สามารถตรัสรู้ธรรมก่อน จึงทรงดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่ชนทั้งสองนั้น และจักสงเคราะห์พระพุทธบิดา จึงเสด็จเหาะมาจากโพธิมัณฑสถาน ลงที่เขมมิคทายวัน รับสั่งให้เรียกคนทั้ง ๒ นั้นมาแล้วแสดงธรรม.
               ในเวลาจบเทศนา ชนทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผลพร้อมกับสัตวโลก ๘๔,๐๐๐ คน อีกพวกหนึ่งผู้บวชตามในเวลาพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็มาเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
               ณ ที่นั้นเอง พระศาสดาทรงสถาปนาพระขัณฑเถระไว้ ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระติสสเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒.
               ฝ่ายพระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่าจักเยี่ยมบุตรจึงเสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงสดับพระธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ นิมนต์พระศาสดาเพื่อเสวยภัตตาหาร ถวายบังคมแล้ว กระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ พระองค์ขึ้นสู่ปราสาทอันประเสริฐแล้วประทับนั่ง ทรงดำริว่า บุตรคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า บุตรคนที่ ๒ ของเราก็เป็นอัครสาวก บุตรปุโรหิตเป็นสาวกที่ ๒ และภิกษุที่เหลือเหล่านี้ ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ เที่ยวแวดล้อมบุตรของเราเท่านั้น ภิกษุเหล่านี้ทั้งเมื่อก่อน ทั้งบัดนี้เป็นภาระของเราผู้เดียว เราเท่านั้นจักบำรุงภิกษุเหล่านั้นด้วยปัจจัย ๔ จักไม่ให้โอกาสแก่คนเหล่าอื่น จึงให้สร้างรั้วไม้ตะเคียนสองข้าง ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระตำหนักพระราชนิเวศน์ ให้ปิดด้วยผ้า ให้สร้างเพดานพวงดอกไม้ต่างๆ แม้ขนาดต้นตาล วิจิตรด้วยดาวทองห้อยเป็นระย้า ให้ลาดพื้นล่างด้วยเครื่องลาดอันวิจิตร ให้ตั้งหม้อน้ำเต็ม ไว้ใกล้กอมาลัยและของหอมทั้งสองข้าง วางดอกไม้ไว้ระหว่างของหอม และวางของหอมไว้ในระหว่างดอกไม้ เพื่อให้กลิ่นตลบตลอดทาง แล้วกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอันหมู่ภิกษุแวดล้อมแล้วเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร กระทำภัตกิจแล้ว กลับมายังวิหารภายในม่านนั่นแหละ. ใครๆ อื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ แล้วไฉนจะได้ถวายภิกษาหารและการบูชาเล่า.
               ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลกเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ในวันนี้ พวกเราก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไยที่จะได้ถวายภิกษา กระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า. พระราชายึดถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระสงฆ์เป็นของเรา จึงทรงบำรุงด้วยพระองค์เองผู้เดียว. พระศาสดา เมื่อเสด็จอุบัติก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่โลกพร้อมด้วยเทวโลก หาอุบัติเพื่อประโยชน์แก่พระราชาเท่านั้นไม่ นรกเป็นของร้อนสำหรับพระราชาพระองค์เดียว สำหรับชนเหล่าอื่นเป็นเหมือนดอกอุบลเขียว ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น เราจะกราบทูลพระราชาอย่างนี้ว่า ถ้าพระราชาจะประทานพระศาสดาแก่พวกเราไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าไม่ให้ พวกเราจะรบกับพระราชาแล้วรับสงฆ์ไปกระทำบุญมีทานเป็นต้น
               ก็แลชาวพระนครล้วนๆ ไม่อาจทำอย่างนี้ได้ พวกเราจะยึดเอาแม้คนผู้เป็นหัวหน้าไว้คนหนึ่ง ดังนี้แล้วจึงเข้าไปหาเสนาบดี บอกความนั้นแก่ท่าน แล้วกล่าวว่า นาย ท่านเป็นฝ่ายของเรา หรือฝ่ายพระราชา.
               เสนาบดีกล่าวว่า เราจะเป็นฝ่ายท่าน ก็แต่ว่า พวกท่านต้องให้เราวันแรก.
               ชาวพระนครก็รับคำ.
               เสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวพระนครโกรธพระองค์. พระราชาถามว่า โกรธเรื่องไรละพ่อ.
               เสนาบดีกราบทูลว่า ได้ยินว่า พระองค์เท่านั้นบำรุงพระศาสดา พวกเราไม่ได้ แล้วทูลว่า ถ้าพวกอื่นได้ เขาไม่โกรธ เมื่อไม่ได้ ประสงค์จะรบกับพระองค์ พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า รบก็รบซิพ่อ เราไม่ให้ภิกษุสงฆ์ละ.
               เสนาบดีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกทาสของพระองค์พูดว่าจะรบกับพระองค์ แล้วพระองค์จักเอาใครรบ. พระราชาตรัสว่า ท่านเป็นเสนาบดี มิใช่หรือ? เสนาบดีทูลว่า เว้นชาวพระนครเสีย ข้าพระองค์ไม่สามารถ พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระราชาทราบว่า ชาวพระนครมีกำลัง ทั้งเสนาบดีก็เป็นฝ่ายของชาวพระนครเหล่านั้นเหมือนกัน จึงตรัสว่า. ชาวพระนครจงให้ภิกษุสงฆ์แก่เราอีก ๗ ปี ๗ เดือน. ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี จึงขออีก ๗ วัน.
               ชาวพระนครอนุญาตด้วยเห็นว่า การที่เรากระทำกรรมอันหยาบช้า กับพระราชาในบัดนี้ ไม่สมควร.
               พระราชาทรงจัดทานมุข (ทานที่เป็นประธาน) ที่จัดไว้สำหรับ ๗ ปี ๗ เดือน เพื่อ ๗ วันเท่านั้น เมื่อใครๆ ไม่เห็นอยู่เลย ให้ทานอยู่ ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงให้เรียกชาวพระนครมาตรัสว่า ดูก่อน พ่อทั้งหลาย พวกท่านจักอาจให้ทานเห็นปานนี้หรือ.
               ชาวพระนครแม้เหล่านั้นกราบทูลว่า ทานนั้นเกิดขึ้นแก่พระองค์ เพราะอาศัยพวกข้าพระองค์เท่านั้นมิใช่หรือ? เพราะฉะนั้น พวกข้าพระองค์จักอาจถวายทานได้.
               พระราชาทรงเอาหลังพระหัตถ์เช็ดน้ำพระเนตร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดว่า จักทำภิกษุ ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูปให้เป็นภาระของคนอื่นแล้วบำรุงด้วยปัจจัย ๔ ตลอดชีวิต บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชาวพระนครเขาโกรธว่า พวกเขาไม่ได้ถวายทาน ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด.
               ครั้นในวันที่ ๒ เสนาบดีได้ถวายมหาทาน. ต่อแต่นั้น ชาวพระนครกระทำสักการะและสัมมานะให้ยิ่งกว่าสักการะที่พระราชาทรงกระทำแล้ว ได้ถวายทานโดยทำนองนั้นนั่นแหละ เมื่อถึงลำดับของชาวพระนครทั่วๆ ไป ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ประตูได้ตระเตรียมสักการะสัมมานะแล้ว.
               กุฏุมพีมหากาลกล่าวกะกุฏุมพีจุลกาลว่า สักการะและสัมมานะของพระทศพล ถึงแก่เราวันพรุ่งนี้ เราจะทำสักการะอย่างไร? จุลกาลกล่าวว่า ดูก่อนพี่ท่าน ท่านเท่านั้นจงรู้.
               มหากาลกล่าวว่า ถ้าท่านทำตามชอบใจของเรา ข้าวสาลีที่ตั้งท้องแล้วๆ มีอยู่ในนา ประมาณ ๑๖ กรีสของเรา เราจักให้ฉีกท้องข้าวสาลี ถือเอามาหุงให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. จุลกาลกล่าวว่า เมื่อทำอย่างนี้ย่อมไม่เป็นอุปการะแก่ใครๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่พอใจข้อนั้น.
               มหากาลกล่าวว่า ถ้าท่านกล่าวอย่างนี้ ข้าก็จะทำตามความชอบใจของข้า แล้วจึงแบ่งนา ๑๖ กรีส ผ่ากลางเป็น ๒ ส่วนเท่าๆ กัน ปักเขตในที่ ๘ กรีส ผ่าท้องข้าวสาลีเอาไปเคี่ยวด้วยน้ำนมไม่ผสม ใส่ของอร่อย ๔ ชนิด แล้วถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. ที่ที่ฉีกท้องข้าวสาลีแม้นั้นแล้วถือเอาๆ ก็กลับเต็มอีก. ในเวลาข้าวเม่า ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเม่า ได้ถวายข้าวกล้าอย่างเลิศ พร้อมกับชาวบ้าน ในเวลาเกี่ยว ถวายส่วนเลิศในข้าวเกี่ยว ในเวลาทำเขน็ดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวเขน็ด ในเวลามัดเป็นฟ่อนเป็นต้นก็ถวายส่วนเลิศในข้าวฟ่อน ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวในลาน ในเวลานวดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวนวด ในเวลาข้าวขึ้นยุ้งก็ถวายส่วนเลิศในข้าวขึ้นยุ้ง ได้ถวายทานตามคราว ๙ ครั้งสำหรับข้าวกล้าอย่างเดียวเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าวกล้าแม้นั้นก็คงยังตั้งขึ้นเหลือเฟือ.
               ท่านกระทำกรรมงามตามทำนองนั้นแลตราบเท่าที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และตราบเท่าที่พระสงฆ์ยังมีอยู่. (ครั้น) จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก. ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ เสวยสมบัติตลอด ๙๑ กัป.
               ในเวลาที่พระศาสดาของเราทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ไม่ไกลกรุงกบิลพัสดุ. ในวันขนานนาม พวกญาติขนานนามท่านว่า โกณฑัญญมาณพ. ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพทจบ ลักษณะมนต์ทั้งหลาย (ตำราทายลักษณะ).
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต บังเกิดในกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันถวายพระนามของพระองค์ พระประยูรญาติได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนครองผ้าใหม่ ให้ดื่มข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย เลือกพราหมณ์ ๘ คน ในระหว่างพราหมณ์ ๑๐๘ นั้นให้นั่งบนพื้นใหญ่ ให้พระโพธิสัตว์ผู้ประดับตกแต่งแล้วนอนบนเบาะผ้าที่ทำด้วยผ้าเนื้อละเอียด นำมายังสำนักของพราหมณ์เหล่านั้น เพื่อตรวจพระลักษณะ.
               พราหมณ์ผู้นั่งบนอาสนะใหญ่ ตรวจดูสมบัติแห่งพระสรีระของพระมหาบุรุษแล้วยกขึ้น ๒ นิ้ว. ๗ คนยกขึ้น ตามลำดับอย่างนี้. ก็บรรดาพราหมณ์ ๘ คนนั้น โกณฑัญญมาณพผู้หนุ่มกว่าเขาหมด ตรวจดูลักษณะอันประเสริฐ ยกนิ้วขึ้นนิ้วเดียวเท่านั้นว่า ไม่มีเหตุที่พระองค์จะทรงดำรงอยู่ท่ามกลางเรือน พระกุมารนี้จักเป็นพระพุทธเจ้ามีกิเลสดังหลังคาอันเปิดแล้วโดยส่วนเดียว. ฝ่ายคนทั้ง ๗ นี้เห็นคติเป็น ๒ ว่า ถ้าอยู่ครองเรือนจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าบวชจักเป็นพระพุทธเจ้า จึงยกขึ้น ๒ นิ้ว.
               ก็พระอัญญาโกณฑัญญะนี้ได้สร้างบุญญาธิการไว้ เป็นสัตว์เกิดในภพสุดท้าย เหนือคนทั้ง ๗ นอกนี้ด้วยปัญญา ได้เห็นคติเพียงอย่างเดียวว่าชื่อว่าท่านผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ ไม่ดำรงอยู่ท่ามกลางเรือน จักเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น จึงยกนิ้วเดียว.
               ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้นไปสู่เรือนของตนๆ ปรึกษากับบุตรทั้งหลายว่า ลูกเอย พ่อแก่แล้วจะได้ชมเชยหรือไม่ได้ชมเชยพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พวกเจ้าเมื่อพระกุมารบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พึงบวชในพระศาสนาของพระองค์.
               ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงจัดการบริหาร เช่นแต่งตั้งแม่นมเป็นต้นสำหรับพระโพธิสัตว์ ทรงเลี้ยงดูพระโพธิสัตว์ให้เติบโต.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยแล้ว เสวยสมบัติเหมือนเทพเจ้า เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้ว ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม จึงในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ มีนายฉันนะเป็นพระสหาย ทรงขึ้นม้ากัณฐกะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทางประตูที่เทวดาเปิดให้ เสด็จเลยไป ๓ ราชอาณาเขตโดยตอนกลางคืนนั้นนั่นเอง. ทรงบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที พอทรงรับธงชัยแห่งพระอรหันต์ที่ท้าวฆฏิการมหาพรหมนำมาถวายเท่านั้น เป็นเหมือนพระเถระ ๑๐๐ พรรษา เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ด้วยพระอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นั้น เสวยบิณฑบาตที่ร่มเงาแห่งภูเขา ชื่อว่าปัณฑวะ. ถูกพระเจ้ามคธทรงเชื้อเชิญให้ครองราชสมบัติ ก็ทรงปฏิเสธ เสด็จถึงอุรุเวลาประเทศโดยลำดับ ทรงเกิดพระดำริมุ่งหน้าต่อความเพียรขึ้นว่า ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์หนอ ที่นี้เหมาะจะทำความเพียรของกุลบุตรที่ต้องการจะทำความเพียรหนอ ดังนี้แล้วจึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น.
               สมัยนั้น พราหมณ์อีก ๗ คน ได้ไปตามกรรม. ส่วนโกณฑัญญมาณพผู้ตรวจพระลักษณะ หนุ่มกว่าเขาทั้งหมด เป็นผู้ปราศจากป่วยไข้. ท่านทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปหาพวกบุตรพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระสิทธัตถราชกุมารทรงผนวชแล้ว ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย ถ้าบิดาของพวกท่านไม่ป่วยไข้สบายดี วันนี้ก็พึงออกบวช ถ้าแม้ท่านทั้งหลายปรารถนาไซร้ มาเถิด พวกเราจะบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษนั้น.
               บุตรพราหมณ์เหล่านั้นก็ไม่อาจจะมีฉันทเป็นอันเดียวกันได้หมดทุกคน. ๓ คนไม่บวช. อีก ๔ คนมีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า บวชแล้ว. บรรพชิตทั้ง ๕ นี้เที่ยวภิกษาในคามนิคมและราชธานีได้ไปยังสำนักพระโพธิสัตว์. บรรพชิตเหล่านั้น เมื่อพระโพธิสัตว์เริ่มตั้งความเพียรใหญ่ตลอด ๖ ปี คิดว่า บัดนี้พระโพธิสัตว์จักเป็นพระพุทธเจ้า บัดนี้พระโพธิสัตว์จักเป็นพระพุทธเจ้า จึงบำรุงพระมหาสัตว์ ได้เป็นผู้เที่ยวไปเที่ยวมาในสำนักพระโพธิสัตว์นั้น.
               ก็เมื่อใด พระโพธิสัตว์ แม้ทรงยับยั้งอยู่ด้วยงาและข้าวสารเมล็ดเดียวเป็นต้น ทรงรู้ว่าจะไม่แทงตลอดอริยธรรมด้วยทุกกรกิริยา จึงเสวยพระกระยาหารหยาบ. เมื่อนั้น บรรพชิตเหล่านั้นก็หลบไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระกระยาหารหยาบ ทำพระฉวีวรรณ พระมังสะและพระโลหิตให้บริบูรณ์แล้ว. ในวันวิสาขบุรณมี ทรงเสวยโภชนะอย่างดีที่นางสุชาดาถวาย ทรงลอยถาดทองไป ทวนกระแสแม่น้ำจึงตกลงพระทัยว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้. ในเวลาเย็น พญากาลนาคราชชมเชยด้วยการชมเชยหลายร้อย ทรงขึ้นสู่มหาโพธิมัณฑสถาน บ่ายพระพักตร์ไปสู่โลกธาตุด้านตะวันออก นั่งขัดสมาธิในที่อันไม่หวั่นไหว อธิษฐานความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ เมื่อพระอาทิตย์ยังโคจรอยู่นั่นแล ทรงกำจัดมารและพลมาร ปฐมยามทรงรำลึกถึงปุพเพนิวาสญาณ มัชฌิมยามทรงชำระทิพจักษุณาณ ในเวลาต่อเนื่องกันแห่งปัจจุสสมัย ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาท พิจารณาปัจจยาการทั้งอนุโลมและปฏิโลม ตรัสรู้เฉพาะพระสัพพัญญุตญาณ อันเป็นอสาธารณญาณ๑- (ญาณที่ไม่มีทั่วไปแก่สาวกอื่น) ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแทงตลอดแล้ว ทรงยับยั้งในโพธิมัณฑสถานนั้นนั่นแล ๗ วัน ด้วยผลสมาบัติอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
____________________________
๑- ญาณนี้มี ๖ คือ
               ๑. อินทริยปโรปริยัตติญาณ ปรีชากำหนดรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย
               ๒. อาสยานุสยญาณ ปรีชากำหนดรู้อัธยาศัยและกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน
               ๓. ยมกปาฏิหิรญาณ ญาณในยมกปาฏิหาริย์
               ๔. มหากรุณาสมาบัติญาณ ญาณในมหากรุณาสมาบัติ
               ๕. สัพพัญญุตญาณ ญาณในความเป็นพระสัพพัญญู
               ๖. อนาวรญาณ ญาณที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้.
ขุ.ป. เล่ม เล่ม ๓๑/หน้า ๔

               ด้วยอุบายนั้นนั่นแล ทรงประทับอยู่ ณ โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ เสวยข้าวสัตตุก้อน ที่โคนต้นไม้เกต แล้วเสด็จกลับมาที่โคนต้นอชปาลนิโครธอีก ประทับนั่ง ณ ที่นั้น ทรงพิจารณาความที่ธรรมอันลึกซึ้ง เมื่อพระทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวนขวายน้อย อันท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายต่างด้วยสัตว์มีอินทรีย์กล้าและมีอินทรีย์อ่อนเป็นต้น จึงประทานปฏิญญาแด่ท้าวมหาพรหมเพื่อแสดงธรรม ทรงพระดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงทราบว่าอาฬารดาบสและอุททกดาบสทำกาละแล้ว เมื่อทรงดำริต่อไป ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้บำรุงเราตอนเราตั้งความเพียร นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน.
               ก็ข้อนี้ทั้งหมดเทียวเป็นเพียงพระปริวิตกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น.
               ก็เว้นโกณฑัญญพราหมณ์เสีย คนอื่นใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้สามารถแทงตลอดธรรมก่อนไม่มี.
               จริงอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์นั้นได้กระทำกรรมคือบุญญาธิการไว้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป เพื่อประโยชน์นี้เอง จึงได้ถวายทานในเพราะข้าวกล้าอันเลิศ ๙ ครั้งแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยลำดับ เสด็จไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์. พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นเห็นพระตถาคตเสด็จมา ไม่อาจดำรงอยู่ในกติกาของพวกตน (ที่ตกลงกันไว้) องค์หนึ่งล้างพระบาท องค์หนึ่งจับพัดใบตาลยืนถวายงานพัด. เมื่อพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นแสดงวัตรอย่างนี้แล้วนั่ง ณ ที่ใกล้ พระศาสดาทรงกระทำพระโกณฑัญญเถระให้เป็นกายสักขีพยานแล้ว ทรงเริ่มธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีวนรอบ ๓ อันยอดเยี่ยม.
               มนุษยบริษัท ก็คือชนทั้ง ๕ (ปัญจวัคคีย์) เท่านั้น เทวบริษัท พระศาสดาทรงกระทำพระโกณฑัญญะ ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับท้าวมหาพรหม ๑๘ โกฎิ. ครั้งนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า โกณฑัญญะรู้ทั่วธรรมที่เราได้ ได้มาด้วยการทำความเพียรอย่างหนัก ก่อนผู้อื่นทั้งนั้น เมื่อทรงเรียกพระเถระว่า ภิกษุนี้ชื่ออัญญาโกณฑัญญะ จึงตรัสว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ โกณฑัญญะ รู้ทั่วแล้วหนอ โกณฑัญญะ รู้ทั่วแล้วหนอ ดังนี้.
               คำนั้นนั่นแลจึงเป็นชื่อของท่าน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อิติ หิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส อญฺญาโกณฺฑญฺโญ เตฺวว นามํ อโหสิ ดังนั้น คำนี้ว่าอัญญาโกฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ดังนั้น พระเถระจึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘ วันแรม ๑ ค่ำ พระภัททิยเถระ วันแรม ๒ ค่ำ พระวัปปเถระ. วันแรม ๓ ค่ำ พระมหานามเถระ. วันแรม ๔ ค่ำ พระอัสสชิเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. ส่วนวันแรม ๕ ค่ำ จบอนัตตลักขณสูตร ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตหมดทุกรูป.
               สมัยนั้นแล จึงมีพระอรหันต์ในโลก ๖ องค์
               ตั้งแต่นั้นมา พระศาสดาทรงให้มหาชนหยั่งลงสู่อริยภูมิอย่างนี้คือ บุรุษ ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นหัวหน้า ภัททวัคคิยกุมารจำนวน ๓๐ คนที่ป่าฝ้าย ปุราณชฏิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูปที่หลังแผ่นหิน คยาสีสประเทศ ทรงให้ราชบริพาร ๑๑ นหุตมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ๑ นหุตให้ดำรงอยู่ในไตรสรณะ ทรงทำพระศาสนาให้ผลิตดอกออกผล บนพื้นชมพูทวีป ทรงทำทั่วมณฑลชมพูทวีปให้รุ่งเรืองด้วยกาสาวพัสตร คลาคล่ำไปด้วยนักแสวงบุญ.
               สมัยหนึ่ง เสด็จถึงพระเชตวันมหาวิหาร สถิตอยู่ ณ ที่นั้น ประทับบนพระพุทธอาสน์อย่างดีที่เขาจัดไว้แล้ว ทรงแสดงธรรมท่ามกลางภิกษุสงฆ์เพื่อทรงแสดงว่า โกณฑัญญะ บุตรเราเป็นยอดระหว่างเหล่าภิกษุผู้แทงตลอดธรรมก่อนใคร จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ.
               แม้พระเถระเห็นพระอัครสาวกทั้งสองกระทำความเคารพนบนอบตน ประสงค์จะหลีกไปเสียจากสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เห็นว่า ปุณณมานพบวชแล้วจักเป็นยอดธรรมกถึกในพระศาสนา จึงกลับไปตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ (ชาติภูมิของท่าน) ให้ปุณณมานพหลานชายบรรพชาแล้ว คิดว่า ปุณณมาณพนี้จักอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า จึงได้ปุณณมานพนั้นอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ท่านเองก็เข้าไปเฝ้าพระทศพล ขออนุญาตพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสนาสนะใกล้บ้านไม่เป็นสัปปายะสำหรับข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่อาจอยู่เกลื่อนกล่น จำจักไปอยู่สระฉัททันต์ พระเจ้าข้า.
               ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมแล้วไปยังสระฉัททันต์ อาศัยโขลงช้างสกุลฉัททันต์ ยับยั้งอยู่ ๑๒ ปี ปรินิพพานด้วยอนุปานิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นั้นเอง.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=628&Z=643
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :