ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๖ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ประวัติพระทัพพมัลลบุตร               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๖ (พระทัพพมัลลบุตร) ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เสนาสนปญฺญาปกานํ ความว่า ภิกษุผู้เจ้าหน้าที่จัดเสนาสนะ.
               ได้ยินว่า ในเวลาพระเถระจัดเสนาสนะในบรรดามหาวิหารทั้ง ๑๘ แห่ง มิได้มีบริเวณที่ยังมิได้กวาดให้เรียบร้อย เสนาสนะที่มิได้ปฏิบัติบำรุง เตียงตั่งที่ยังมิได้ชำระให้สะอาด น้ำดื่ม น้ำใช้ที่ยังมิได้ตั้งไว้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่จัดเสนาสนะ.
               คำว่า ทัพพะ เป็นชื่อของท่าน แต่เพราะท่านเกิดในตระกูลของเจ้ามัลละจึงชื่อว่า มัลลบุตร.
               ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวไปตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               จะกล่าวโดยย่อ ครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า พระเถระนี้เกิดในครอบครัวในกรุงหงสวดี เจริญวัยแล้วไปวิหารฟังธรรม โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีหน้าที่จัดเสนาสนะ กระทำกุศลกรรมปรารถนาตำแหน่งนั้น. พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว กระทำกุศลจนตลอดชีพ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์.
               เมื่อครั้งศาสนาของพระกัสสปทศพล เสื่อมแล้ว จึงบวชแล้ว.
               ครั้งนั้น คนอื่นอีก ๖ คนกับภิกษุนั้นรวมเป็นภิกษุ ๗ รูปมีจิตเป็นอันเดียวกัน เห็นบุคคลเหล่าอื่นๆ นั้น ไม่กระทำความเคารพในพระศาสดา จึงปรึกษากันว่า ในครั้งนี้เราจะทำอย่างไร กระทำบำเพ็ญสมณธรรมในที่สมควรส่วนหนึ่ง จักกระทำที่สุดทุกข์ได้ จึงผูกบันไดขึ้นยอดภูเขาสูง กล่าวว่า ผู้ที่รู้กำลังจิตของตนจงผลักบันไดให้ตกไป ผู้ที่ยังมีความเดือดร้อนในภายหลังอยู่เถิด จึงพร้อมใจกันผลักบันไดให้ตกไป กล่าวสอนซึ่งกันและกันว่า อาวุโส ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด นั่งในที่ที่ชอบใจ เริ่มบำเพ็ญสมณธรรม.
               บรรดาภิกษุทั้ง ๗ นั้น พระเถระรูปหนึ่งบรรลุพระอรหัตในวันที่ ๕ คิดว่า กิจของเราเสร็จแล้ว เราจักทำอะไรในที่นี้ จึงไปนำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีปด้วยอิทธิฤทธิ์ กล่าวว่า อาวุโส ท่านทั้งหลายจงฉันบิณฑบาตนี้ หน้าที่ภิกษาจารเป็นของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญสมณธรรมเถิด.
               อาวุโส พวกเราผลักบันไดให้ตกไปได้พูดกันอย่างนี้มิใช่หรือว่า ผู้ใดกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมก่อน ผู้นั้นจงไปนำภิกษามา ภิกษุนอกนี้ฉันภิกษาที่ท่านนำมาแล้วจักกระทำสมณธรรม. ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส ไม่ต้อง. พระเถระกล่าวว่า ท่านทั้งหลายได้แล้วด้วยเหตุอันมีในก่อนแห่งตน แม้กระผมทั้งหลายสามารถอยู่ก็จักกระทำที่สุดแห่งวัฏฏะได้ นิมนต์ไปเถิดท่าน.
               พระเถระเมื่อไม่อาจยังภิกษุเหล่านั้นให้เข้าใจกันได้ ฉันบิณฑบาตในที่ที่เป็นผาสุกแล้วก็ไป ในวันที่ ๗ พระเถระอีกองค์หนึ่งบรรลุอนาคามิผล จุติจากอัตภาพนั้นไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส.
               ฝ่ายพระเถระนอกนี้ จุติจากอัตภาพนั้น ก็เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์สิ้นพุทธันดรหนึ่ง บังเกิดในตระกูลนั้นๆ องค์หนึ่งบังเกิดในพระราชนิเวศน์ในกรุงตักกสิลาแคว้นคันธาระ. องค์หนึ่งเกิดในท้องนางปริพาชิกาในปัพพไตยรัฐ. องค์หนึ่งเกิดในเรือนกุฏุมพี ในพาหิยรัฐ. องค์หนึ่งเกิดในเรือนแห่งกุฎุมพีกรุงราชคฤห์.
               ส่วนพระทัพพมัลละนี้ถือปฏิสนธิในนิเวศน์ของเจ้ามัลละพระองค์หนึ่ง ในอนุปิยนคร มัลลรัฐ ในเวลาใกล้คลอด มารดาของท่านก็ทำกาละ ญาติทั้งหลายนำสรีระของคนตายไปยังป่าช้าแล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนไม้แล้วจุดไฟ. พอไฟสงบลงพื้นท้องของนางนั้นก็แยกออกเป็น ๒ ส่วน มีทารกกระเด็นขึ้นไปตกที่เสาไม้ต้นหนึ่งด้วยกำลังบุญของตน คนทั้งหลายอุ้มทารกนั้นไปให้แก่ย่าแล้ว ย่านั้นเมื่อจะตั้งชื่อทารกนั้น จึงตั้งชื่อของท่านว่า ทัพพะ เพราะท่านกระเด็นไปที่เสาไม้จึงรอดชีวิต.
               เมื่อท่านมีอายุ ๗ ขวบ พระศาสดามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปในมัลลรัฐ ลุถึงอนุปิยนิคมประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน ทัพพกุมารเห็นพระศาสดาก็เลื่อมใสในพุทธศาสนาทีเดียว ก็อยากจะบวชจึงลาย่าว่า “หลานจักบวชในสำนักพระทศพล” ย่ากล่าวว่า ดีละพ่อ พาทัพพกุมารไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า ท่านเจ้าข้า ขอจงให้กุมารนี้บวชเถิด.
               พระศาสดาทรงประทานสัญญาแก่ภิกษุรูปหนึ่งว่า ภิกษุ เธอจงให้ทารกนี้บวชเถิด. พระเถระนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้วก็ให้ทัพพกุมารบรรพชา บอกตจปัญจกกัมมัฏฐาน สัตว์ผู้สมบูรณ์ด้วยบุรพเหตุ ได้บำเพ็ญบารมีไว้แล้ว ในขณะที่ปลงผมปอยแรก ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลเมื่อปลงผมปอยที่ ๒ ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ปอยที่ ๓ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็การปลงผมเสร็จและการทำให้แจ้งอรหัตตผล ก็เกิดไม่ก่อนไม่หลังคือพร้อมกัน.
               พระศาสดาประทับอยู่ในมัลลรัฐตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ สำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร ในที่นั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรอยู่ในที่ลับ ตรวจดูความสำเร็จกิจของตน ประสงค์จะประกอบกายในการกระทำความขวนขวายแก่พระสงฆ์ คิดว่า ถ้ากะไร เราจะพึงจัดแจงเสนาสนะและจัดอาหารถวายสงฆ์ ท่านจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลถึงความปริวิตกของตน พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วทรงมอบหน้าที่จัดเสนาสนะและหน้าที่จัดอาหาร.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า พระทัพพนี้ยังเด็กอยู่แต่ดำรงอยู่ในตำแหน่งใหญ่ จึงทรงให้ท่านอุปสมบทแล้ว ในเวลาที่ท่านมีพรรษา ๗ เท่านั้น ตั้งแต่เวลาที่ท่านอุปสมบทแล้ว พระเถระจัดเสนาสนะและจัดอาหารถวายภิกษุทุกรูปที่อาศัยกรุงราชคฤห์อยู่ ความที่ท่านมีหน้าที่จัดเสนาสนะได้ปรากฏไปในทิศทั้งปวงว่า
               ได้ยินว่า พระทัพพมัลลบุตรย่อมเข้าใจจัดเสนาสนะในที่เดียวกันสำหรับภิกษุผู้ถูกอัธยาศัยกัน ย่อมจัดแจงเสนาสนะแม้ในที่ไกล พวกภิกษุที่ไม่อาจจะไปได้ ท่านนำไปด้วยฤทธิ์.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสั่งให้ท่านจัดแจงเสนาสนะอย่างนี้ว่า อาวุโส จงจัดเสนาสนะแก่พวกเราในชีวกัมพวัน จงจัดเสนาสนะให้แก่พวกเราในมัททกุจฉิมิคทายวัน แล้วเห็นฤทธิ์ของท่านก็ไป ในกาลบ้างในวิกาลบ้าง แม้พระทัพพนั้นก็บันดาลกายมโนมัยด้วยฤทธิ์เนรมิตเป็นภิกษุให้เหมือนกับตนสำหรับพระเถระองค์ละรูปๆ ถือไฟไปข้างหน้าบอกว่า นี่เตียง นี่ตั่งเป็นต้น จัดเสนาสนะแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของตนอีก.
               นี้เป็นความสังเขปในเรื่องนี้ แต่โดยพิสดารเรื่องนี้มาในพระบาลีแล้วเหมือนกัน
               พระศาสดาทรงกระทำเหตุนี้นั่นแหละให้เป็นอัตถุปปัติเหตุเกิดเรื่อง เหมือนกับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่จัดเสนาสนะแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=660&Z=674
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=5351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=5351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :