ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 149อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 150อ่านอรรถกถา 20 / 151อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๕

               อรรถกถาวรรคที่ ๕               
               เรื่องพระเถรีผู้มีตำแหน่งเป็นเลิศ ๑๓ รูป               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ๑. ประวัติพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี               
               ในสูตรที่ ๑ นั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า ยทิทํ มหาปชาปตี โคตมี ท่านแสดงว่า พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้รู้ราตรีนาน.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พระมหาปชาบดีโคตมีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี สมัยต่อมา กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้รู้ราตรีนาน ก็ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น.
               นางถวายทานรักษาศีลจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกในพุทธันดรหนึ่งอีก ไปบังเกิดเป็นหัวหน้าทาสี ในจำนวนทาสี ๕๐๐ คน ในกรุงพาราณสี.
               ครั้งนั้น สมัยเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ไปที่ป่าอิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วกลับมาป่าอิสิปตนะดำริว่า ควรเราจักขอหัตถกรรมงานช่างฝีมือ เพื่อทำกุฎีสำหรับเข้าจำพรรษา.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะผู้จะเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ทั้งปฏิบัตินาลกปฏิปทา จำต้องเข้าอยู่ในเสนาสนะประจำที่มุงบังด้วยเครื่องมุงบัง ๕ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               สมจริงดังพระพุทธดำรัสนี้ว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงเข้าอยู่จำพรรษา ภิกษุใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๑๙

               เพราะเหตุนั้น เมื่อใกล้ฤดูฝน [เข้าพรรษา] ถ้าได้เสนาสนะนั่นก็บุญละ ถ้าไม่ได้ก็จำต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ เมื่อไม่ได้หัตถกรรมก็พึงทำเสียเอง. ภิกษุไม่มีเสนาสนะ ไม่ควรเข้าอยู่จำพรรษา. นี้เป็นธรรมดาประเพณี. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นคิดว่า เราจำจักต้องขอหัตถกรรม จึงห่มจีวรเข้าไปสู่พระนครเวลาเย็น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี.
               นางทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำกำลังเดินไปท่าน้ำ เห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินเข้าพระนคร. เศรษฐีรู้เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาแล้ว ก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่มีเวลา โปรดไปเถิด.
               ลำดับนั้น ทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำจะเข้าไป เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเดินจากพระนคร จึงลดหม้อน้ำลง ไหว้อย่างนอบน้อม เผยปากถามว่า ทำไมหนอ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายพอเข้าไปแล้วก็ออกไป. ท่านตอบว่า เราพากันมาก็เพื่อขอหัตถกรรม งานสร้างกุฎีสำหรับอยู่จำพรรษา. นางจึงถามว่า ได้ไหมล่ะเจ้าข้า. ตอบว่า ไม่ได้ดอก อุบาสิกา.
               นางถามว่า จำเป็นหรือที่คนใหญ่ๆ เท่านั้นจึงจะทำกุฎีนั้นได้ หรือแม้คนยากจนก็ทำได้.
               ท่านตอบว่า ใครๆ ก็ทำได้.
               นางจึงกล่าวว่า ดีละเจ้าข้า พวกดิฉันจักช่วยกันทำ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันในวันพรุ่งนี้ นิมนต์แล้วก็ถือหม้อน้ำพักไว้ที่ทางท่าน้ำที่มาแล้ว กล่าวกับนางทาสีทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงอยู่ตรงนี้กันนะ เวลาที่ทาสีเหล่านั้นมา ก็กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลาย พวกเราจักทำงานเป็นทาสีสำหรับคนอื่นกันตลอดไปหรือ หรือว่าอยากจะพ้นจากการเป็นทาสีเขา. เหล่าทาสีก็ตอบว่า พวกเราอยากพ้นเสียวันนี้นี่แหละ แม่เจ้า.
               นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ที่ยังไม่ได้หัตถกรรม เราก็นิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว พวกเจ้าจงให้สามีของพวกเจ้า ให้งานหัตถกรรมเสียวันหนึ่ง.
               เหล่าทาสีก็รับว่า ดีละ แล้วบอกพวกสามี เวลาที่เขาออกมาจากดงเวลาเย็น. สามีเหล่านั้นรับปากแล้วมาประชุมกันที่ประตูเรือนทาสีหัวหน้า.
               ครั้งนั้น ทาสีหัวหน้าจึงกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้พวกเจ้าจงถวายหัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แล้วบอกอานิสงส์ ขู่คนที่ไม่อยากจะทำด้วยโอวาทอันหนักหน่วง ให้ทุกคนยอมรับ.
               รุ่งขึ้น นางถวายอาหารแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้การนัดหมายแก่ลูกทาสทุกคน. ทันใดนั้นเอง ลูกทาสเหล่านั้นก็พากันเข้าป่า รวบรวมทัพพสัมภาระแล้ว สร้างกุฎีทีละหลังเป็นร้อยๆ หลัง จัดบริเวณมีที่จงกรมเป็นต้น วางเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้นไว้ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับปฏิญญาที่จะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้นตลอดไตรมาส ให้จัดเวรถวายอาหาร.
               ทาสีผู้ใดไม่อาจถวายในวันเวรของตนได้ ทาสีหัวหน้าก็นำอาหารจากเรือนตนถวายแทนทาสีผู้นั้น. ทาสีหัวหน้าบำรุงมาตลอดไตรมาสอย่างนี้ ให้ทาสีคนหนึ่งๆ จัดผ้าสาฎกคนละผืน. รวมเป็นผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน. นางให้เปลี่ยนแปลงผ้าสาฎกเนื้อหยาบเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศทั้งที่ทาสีเหล่านั้นเห็นอยู่นั่นแล.
               ทาสีเหล่านั้นทุกคนทำกุศลจนตลอดชีวิต ก็บังเกิดในเทวโลก. บรรดาทาสีเหล่านั้น ทาสีหัวหน้าจุติจากภพนั้นแล้ว บังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างทอหูก ไม่ไกลกรุงพาราณสี. ต่อมาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ บุตรนางปทุมวดีที่พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ไว้ มาถึงประตูพระราชนิเวศน์ไม่พบคนใดๆ ที่จะดูแล จึงกลับออกไปทางประตูกรุง ไปยังหมู่บ้านช่างทอหูกนั้น. หญิงผู้นั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นึกเอ็นดู ก็ไหว้หมดทุกองค์แล้วถวายอาหาร. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ไปสู่เขาคันธมาทน์อย่างเดิม.
               แม้หญิงผู้นั้นทำกุศลจนตลอดชีวิตท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ แล้วถือปฏิสนธิในเรือนของเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด. พระประยูรญาติถวายพระนามของท่านว่าโคตมี เป็นกนิษฐภคินีของพระนางมหามายา [พระพุทธมารดา].
               เหล่าพราหมณ์ผู้ชำนาญมนต์ตรวจดูพระลักษณะแล้วพยากรณ์ว่า ทารกที่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางทั้งสองพระองค์ จักเป็นจักรพรรดิ. พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงมงคลอภิเษกกับพระนางทั้งสองพระองค์ เวลาที่ทรงเจริญวัยแล้วทรงนำไปอยู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์.
               ต่อมา พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี. ในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันที่พระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว พระนางมหามายาเทวีก็สวรรคต บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต. พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็ทรงสถาปนาพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา [พระน้านาง] ของพระมหาสัตว์ไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี. เวลานั้น นันทกุมารก็ประสูติ.
               พระมหาปชาบดีนี้ทรงมอบพระนันทกุมารแก่พระพี่เลี้ยงนางนม ทรงประคบประหงมบำรุงพระโพธิสัตว์ด้วยพระองค์เอง.
               สมัยต่อมา พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงอนุเคราะห์โลก เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร.
               ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาทรงสดับธรรมกถา ณ ระหว่างถนน เป็นพระโสดาบัน. ครั้นวันที่ ๒ พระนันทกุมารก็ทรงผนวช. วันที่ ๗ พระราหุลก็ทรงผนวช. ต่อมา พระศาสดาทรงอาศัยกรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา. สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร.
               ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีเกิดว้าเหว่พระหฤทัยจะทรงผนวช. แต่นั้น นางปาทปริจาริกาของพระกุมาร ๕๐๐ พระองค์ผู้ซึ่งเสด็จออกทรงผนวชเมื่อจบกลหวิวาทสูตร ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ทุกคนมีจิตเป็นอันเดียวกันว่า พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดีแล้วบวชในสำนักพระศาสดาหมดทุกคน จึงให้พระนางมหาปชาบดีเป็นหัวหน้า ประสงค์จะไปเฝ้าพระศาสดา.
               ก็พระนางมหาปชาบดีนี้ทรงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา ครั้งเดียวครั้งแรกเท่านั้น ก็ไม่ได้. เพราะเหตุนั้น พระนางจึงรับสั่งเรียกช่างกัลบกมาแล้วให้ตัดพระเกศา ทรงครองผ้ากาสายะ [ผ้าย้อมน้ำฝาด] ทรงพาเหล่าสากิยานีทั้งหมดนั้น เสด็จถึงกรุงเวสาลี ให้ท่านพระอานนทเถระทูลอ้อนวอนพระทศพล ก็ทรงได้บรรพชาอุปสมบทด้วยครุธรรม ๘ ประการ. ส่วนเหล่าสากิยานีทั้งหมด ก็ได้อุปสมบทพร้อมกัน.
               นี้เป็นความสังเขปในเรื่องนี้. ส่วนเรื่องนี้โดยพิสดารมาแล้วในพระบาลี.
               ก็พระนางมหาปชาบดีครั้นทรงอุปสมบทอย่างนี้แล้ว เข้าเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้ว ประทับ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เวลานั้นพระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดพระนาง พระนางรับกรรมฐานในสำนักพระศาสดาพระองค์เดียวก็บรรลุพระอรหัต.
               ภิกษุณี ๕๐๐ รูปนอกนั้นก็บรรลุพระอรหัต เมื่อจบนันทโกวาทสูตร.
               เรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้.
               ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะหลายตำแหน่ง จึงทรงสถาปนาพระมหาปชาบดีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นรัตตัญญู รู้ราตรีนานแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 149อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 150อ่านอรรถกถา 20 / 151อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=694&Z=715
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=7123
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=7123
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :