ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 150อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 20 / 152อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๖

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ๒. ประวัติสุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี               
               ในสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า ทายกานํ ท่านแสดงว่า อนาถบิณฑิกคฤหบดีชื่อสุทัตตะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ยินดียิ่งในทาน.
               ดังได้สดับมา ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ คฤหบดีนั้นบังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี เมื่อฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถวายทาน จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น.
               เขาเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้มา บังเกิดในเรือนของสุมนเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ชนทั้งหลายตั้งชื่อให้แก่เขาว่า สุทัตตะ.
               ต่อมา เขาดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย เป็นผู้ให้ทาน เป็นทานบดีจึงได้มีชื่อว่าอนาถปิณฑิกะ อันเป็นชื่อที่เขาได้ปรารถนาไว้ เพราะคุณนั้นนั่นแหละ เขาใช้เกวียน ๕๐๐ เล่มบรรทุกสินค้า ไปยังเรือนของเศรษฐีผู้เป็นสหายรักของตนในกรุงราชคฤห์.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในที่นั้น ในเวลาจวนจะใกล้รุ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทางประตูที่เปิดไว้ด้วยอำนาจของเทวดา ฟังธรรมแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ในวันที่ ๒ ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถือปฏิญญาของพระศาสดา เพื่อเสด็จมาสู่กรุงสาวัตถี ในทาง ๕๔ โยชน์ ในระหว่างทางให้ทานทรัพย์นับแสนๆ ให้สร้างวิหารในระยะทุกโยชน์ ปูลาดพระเชตวันด้วยเครื่องปูลาดราคานับโกฏิ ซื้อที่ดินด้วยทรัพย์ ๑๘ โกฏิ สร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๑๘ โกฏิ เมื่อวิหารเสร็จแล้ว ให้ทานตามที่ต้องการแก่บริษัท ๔ ในเวลาก่อนอาหารและหลังอาหาร กระทำการฉลองวิหารด้วยทรัพย์ ๑๘ โกฏิ. การฉลองวิหารเสร็จสิ้นในเวลา ๙ เดือน. อาจารย์พวกอื่นอีกกล่าวว่า ในเวลา ๕ เดือน. แต่ข้อทุ่มเถียงกันของอาจารย์ทั้งปวงเหล่านั้นไม่มี.
               เขาสละทรัพย์ ๕๔ โกฏิโดยอาการอย่างนี้ ทำทานเห็นปานนี้ให้เป็นไปในเรือนของตนตลอดกาลเป็นนิตย์. ทุกๆ วันมีสลากภัต ๕๐๐ ที่ มีปักขิกภัต ๕๐๐ ที่ มีสลากยาคู ๕๐๐ ที่ มีปักขิยยาคู ๕๐๐ ที่ มีธุวภัต ๕๐๐ ที่ มีสลากภัตสำหรับภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ ที่ มีภัตสำหรับภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง ๕๐๐ ที่ มีภัตสำหรับภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่ มีภัตสำหรับภิกษุผู้คอยดูแลภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่ มีอาสนะ ๕๐๐ ที่ปูไว้ประจำเป็นนิตย์ในเรือนทีเดียว
               เมื่อเป็นเช่นนั้น ในกาลต่อมาพระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้ถวายทานแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๖
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 150อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 20 / 152อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=716&Z=734
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=8017
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=8017
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :