ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 205อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 20 / 247อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
ปสาทกรธัมมาทิบาลี

หน้าต่างที่ ๓ / ๖.

               ในบทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ภวาเวติ นี้ มีภาวนานัยแห่งการพรรณนาเนื้อความพร้อมกับกุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐานเพียงเท่านี้. บทต้น ๗ บทซึ่งกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ดังนี้ ในพระบาลีนั้นมีการพรรณนาความดังต่อไปนี้ก่อน.
               พึงทราบวินิจฉัยในสติสัมโพชฌงค์ก่อน.
               ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าระลึกได้. ก็สตินั่นนั้นมีความปรากฏขึ้นเป็นลักษณะ หรือมีอันให้นึกได้เป็นลักษณะ.
               สมจริงดังที่ท่านพระนาคเสนกล่าวไว้ว่า
               มหาบพิตร ขุนคลังของพระราชากราบทูลให้พระราชาทรงนึกถึงพระราชทรัพย์ว่า ข้าแต่มหาราช เงินมีเท่านี้ ทองมีเท่านี้ ทรัพย์สินมีเท่านี้ ดังนี้ฉันใด มหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้นึกได้ ย่อมให้ระลึกได้ซึ่งธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล มีโทษและไม่มีโทษ เลวและประณีต มีส่วนเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว. คือสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ความพิสดารแล้ว.
               (สติ) มีอันให้นึกได้เป็นรส (คือกิจ).
               ก็พระเถระกล่าวลักษณะนั่นของสตินั้นว่าเป็นกิจนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง (สติ) มีความไม่หลงลืมเป็นรส มีความเผชิญหน้าต่ออารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน (เครื่องปรากฏ). สตินั่นแหละเป็นสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ ด้วยประการอย่างนี้.
               ในบทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺโค นั้น ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้หรือแห่งพระโพธิญาณ.
               ถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ตอบว่า อธิบายไว้ว่า ธรรมสามัคคีนี้เรียกว่าโพธิ เพราะกระทำอธิบายว่า พระอริยสาวกย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคี คือ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขาอันเกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออันตรายมิใช่น้อย มีการตั้งอยู่และการประมวลไว้ซึ่งความหดหู่และความฟุ้งซ่าน และความยึดมั่นในการประกอบกามสุข การทำตนให้ลำบาก และในอุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ.
               บทว่า พุชฺฌติ ความว่า ออกจากความหลับ คือกิเลสสันดาน. อธิบายว่า แทงตลอดอริยสัจ ๔ หรือทำให้แจ้งเฉพาะพระนิพพาน.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ดังนี้.๑- ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งโพธิ คือธรรมสามัคคีนั้นดังนี้บ้าง เหมือนดังฌานังคะ องค์ฌาน มัคคังคะ องค์มรรคฉะนั้น.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๗๓๑  ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๗๔

               พระอริยสาวกเรียกว่าโพธิ เพราะกระทำอธิบายว่า พระอริยสาวกนั้นแม้ใดตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนั่นซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว องค์แห่งพระอริยสาวก (ที่เรียกว่าโพธิ) นั้น แม้เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าโพชฌงค์ (องค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้) เหมือนดังองค์ประกอบแห่งกองทัพและองค์ประกอบแห่งรถเป็นต้นฉะนั้น.
               เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งบุคคลผู้ตรัสรู้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบาลีว่า โพชฺฌงฺคา๒- นี้ ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถอะไร. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะตรัสรู้. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะแทงตลอด. (ย่อมเจริญ) สติสัมโพชฌงค์นั้น.
               แม้ในบทว่า ธมฺมวิจยสมฺโพชฺฌงฺคํ ดังนี้เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๕๗

               ชื่อว่าธรรมวิจัย เพราะคันหาสัจธรรมทั้ง ๔. ก็ธรรมวิจัยนั้นมีการเลือกเฟ้นเป็นลักษณะ มีความแจ่มแจ้งเป็นรส มีความไม่หลงลืมเป็นปัจจุปัฏฐาน (เครื่องปรากฏ).
               ชื่อว่าวิริยะ เพราะภาวะกล้าหาญและเพราะดำเนินไปตามวิธี. ก็วิริยะนั้นมีการประคองไว้เป็นลักษณะ มีการค้ำจุนไว้เป็นรส มีการไม่ย่อหย่อนเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ชื่อว่าปีติ เพราะอิ่มเอิบ. ปีตินั้นมีการแผ่ซ่านเป็นลักษณะ หรือมีความยินดีเป็นลักษณะ มีการทำกายและจิตให้เอิบอิ่มเป็นรส มีการทำกายและจิตนั้นแหละให้ฟูขึ้นเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ชื่อว่าปัสสัทธิ เพราะระงับความกระวนกระวายแห่งกายและจิต. ปัสสัทธินั้นมีความสงบเป็นลักษณะ มีการย่ำยีความกระวนกระวายแห่งกายและจิตเป็นรส มีความเย็นอันเกิดจากความไม่ดิ้นรนเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ชื่อว่าสมาธิ เพราะความตั้งมั่น. ก็สมาธินั้น มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ หรือมีการไม่ซ่านออกเป็นลักษณะ มีการประมวลจิตและเจตสิกไว้เป็นรส มีความตั้งอยู่แห่งจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ชื่อว่าอุเบกขา เพราะความเพ่งเฉย. อุเบกขานั้นมีการพิจารณาเป็นลักษณะ หรือมีการนำไปอย่างสม่ำเสมอเป็นลักษณะ มีการห้ามความหย่อนไปและความเกินไปเป็นรส หรือมีการตัดขาดในการเข้าเป็นฝักฝ่ายเป็นรส มีความเป็นกลางเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บทว่า ภาเวติ ความว่า พอกพูน คือให้เพิ่มขึ้น. อธิบายว่า ให้เกิดขึ้น.
               ในสัมโพชฌงค์นั้น ธรรม ๔ ประการ คือ
                         สติสัมปชัญญะ ๑
                         ความเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม ๑
                         ความเสพบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ๑
                         ความเป็นผู้น้อมใจไปในสติสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์.
               ก็ในฐานะทั้ง ๗ แม้มีการก้าวไปเป็นต้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยการเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืมดุจกาซ่อนเหยื่อ ด้วยการเสพบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เช่นพระติสสทัตตเถระและพระอภัยเถระ และด้วยความเป็นผู้มีจิตโอนน้อมโน้มไปเพื่อให้สติตั้งขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐาน ยังสติสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ แล้วกระทำสติสัมโพชฌงค์นั้นอย่างเดียวให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ.
               กุลบุตรนั้นนั่นแล ชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ในพระอรหัตมรรค. เมื่อกุลบุตรนั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์แล้ว.
               ธรรม ๗ ประการ คือ
                         ความสอบถาม ๑
                         ความทำวัตถุให้สละสลวย ๑
                         ความทำอินทรีย์ให้ดำเนินไปสม่ำเสมอ ๑
                         ความเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม ๑
                         ความเสพบุคคลผู้มีปัญญา ๑
                         ความพิจารณาญาณจริยาอันลึกซึ้ง ๑
                         ความน้อมใจไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์.
               บรรดาธรรม ๗ ประการนั้น ความเป็นผู้มากด้วยการสอบถามอันอิงอาศัยอรรถแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ องค์มรรค ฌาน สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าความสอบถาม.
               การทำความสละสลวยแก่วัตถุทั้งภายในและภายนอก ชื่อว่าความทำวัตถุให้สละสลวย.
               ก็ในกาลใด ผม เล็บและขนของกุลบุตรนั้นยาว หรือสรีระมีโทษหมักหมมและมอมแมมด้วยมลทินเหงื่อไคล. ในกาลนั้น วัตถุภายในไม่สละสลวย ไม่หมดจด.
               อนึ่ง ในกาลใด จีวรเก่า สกปรกมีกลิ่นเหม็นสาบ หรือเสนาสนะรกรุงรัง. ในกาลนั้น วัตถุภายนอกไม่สละสลวย ไม่สะอาด.
               เพราะฉะนั้น ควรทำวัตถุภายในให้สละสลวยด้วยการโกนผมเป็นต้น ด้วยการทำร่างกายให้เบาด้วยการขับถ่ายทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างเป็นต้น และด้วยการอบและอาบ. พึงทำวัตถุภายนอกให้สละสลวยด้วยการเย็บการซัก การย้อมและการประพรมเป็นต้น
               ก็แม้ญาณในจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นในวัตถุภายในและภายนอกที่ไม่สละสลวยนี้นั่นแล ก็พลอยเป็นญาณไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เปรียบเหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปที่อาศัยโคมประทีป ไส้และน้ำมันเป็นต้นที่ไม่สะอาดเกิดขึ้นฉะนั้น.
               ก็แม้ญาณในจิตและเจตสิกที่เกิดในวัตถุทั้งภายในและภายนอกอันสละสลวย ก็เป็นญาณชัดแจ้ง เหมือนแสงสว่างของดวงประทีปที่อาศัยโคมประทีป ไส้และน้ำมันเป็นต้นที่สะอาดเกิดขึ้นฉะนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กระทำวัตถุให้สละสลวย ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้.
               การทำอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นให้สม่ำเสมอ ชื่อว่าการทำอินทรีย์ให้ถึงความสม่ำเสมอ. ก็ถ้าสัทธินทรีย์ของกุลบุตรนั้นมีกำลัง อินทรีย์นอกนี้อ่อน. แต่นั้น วิริยินทรีย์ไม่อาจทำหน้าที่ประคับประคอง สตินทรีย์ไม่อาจทำหน้าที่ปรากฏ สมาธินทรีย์ไม่อาจทำหน้าที่ไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญินทรีย์ไม่อาจทำหน้าที่เห็น. เพราะฉะนั้น ควรให้ลดลงไปด้วยการพิจารณาสภาวธรรม หรือด้วยการไม่ได้ใส่ใจโดยประการที่เมื่อใส่ใจ (สัทธินทรีย์) กลับมีกำลังขึ้น.
               ก็ในข้อนี้ มีเรื่องพระวักกลิเถระเป็นอุทาหรณ์.
               ก็ถ้าวิริยินทรีย์มีกำลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น สัทธินทรีย์ย่อมไม่อาจทำกิจในการน้อมใจเชื่อ อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำกิจนอกนี้แต่ละชนิดได้. เพราะฉะนั้น วิริยินทรีย์นั้นควรทำให้ลดลง ด้วยการทำศรัทธาเป็นต้นให้เจริญขึ้น. แม้ในข้อนั้นก็ควรแสดงเรื่องราวของพระโสณเถระ.
               แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็อย่างนั้น. พึงทราบว่า เมื่ออินทรีย์อย่างหนึ่งมีกำลังกล้า อินทรีย์นอกนี้จะไม่มีความสามารถในหน้าที่ของตนๆ.
               ก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอธิการว่าด้วยอินทรีย์นี้ ท่านสรรเสริญความเสมอกันของศรัทธากับปัญญา และสมาธิกับวิริยะ. เพราะคนผู้มีศรัทธาแก่กล้าย่อมเป็นผู้มีปัญญาเขลา เลื่อมใสง่าย ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่เข้าเรื่อง. คนผู้มีปัญญามาก มีศรัทธาน้อย ย่อมคบกับฝ่ายเกเร เหมือนโรคมีสมุฏฐานมาจากยา ย่อมเป็นโรคที่แก้ไขยาก. คนผู้ (มีความคิด) แล่นเกินไปว่า กุศลมีได้ด้วยสักว่าทำให้เกิดขึ้นในจิตเท่านั้น แล้วไม่ทำกุศล มีการให้ทานเป็นต้น ย่อมเกิดในนรก. เพราะศรัทธากับปัญญาทั้งสองเท่ากัน คนจึงเลื่อมใสในเรื่องที่เป็นเรื่อง. ก็ความเกียจคร้านย่อมครอบงำคนผู้มีสมาธิกล้า แต่มีความเพียรอ่อน เพราะสมาธิเป็นฝ่ายข้างความเกียจคร้าน. ความฟุ้งซ่าน ย่อมครอบงำคนที่มีความเพียรกล้า สมาธิอ่อน เพราะความเพียรเป็นฝ่ายข้างความฟุ้งซ่าน. ก็สมาธิที่กำกับด้วยความเพียรย่อมไม่ตกไปในความเกียจคร้าน. ความเพียรที่กำกับด้วยสมาธิ ย่อมไม่ตกไปในความฟุ้งซ่าน. เพราะฉะนั้น ต้องทำทั้งสองอย่างนั้นให้เท่ากัน ก็เพราะทั้งสองอย่างเท่ากัน อัปปนาย่อมเกิด.
               อีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้บำเพ็ญสมาธิ ศรัทธามีกำลังจึงควร. เพราะผู้เชื่อเมื่อปักใจเชื่ออย่างนั้น จักบรรลุถึงอัปปนา. ก็บรรดาสมาธิและปัญญา ความมีจิตแน่วแน่มีกำลัง ย่อมควรสำหรับผู้บำเพ็ญสมาธิ. เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น ผู้บำเพ็ญสมาธินั้น ย่อมบรรลุถึงอัปปนา. ปัญญามีกำลังย่อมควรสำหรับท่านผู้บำเพ็ญวิปัสสนา. เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านผู้บำเพ็ญวิปัสสนานั้น ย่อมบรรลุการแทงตลอดไตรลักษณ์. ก็แม้สมาธิกับปัญญาทั้งสองเท่ากัน ย่อมเป็นอัปปนาแท้. ก็สติมีกำลังในทุกอย่าง ย่อมไม่เสียหาย. ก็สติย่อมรักษาจิตไว้มิให้ตามไปในความฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจของศรัทธา ความเพียรและปัญญา อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่าน และมิให้ตกไปในความเกียจคร้านด้วยสมาธิอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความเกียจคร้าน. เพราะฉะนั้น สตินั้นจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนเกลือกับเครื่องเทศต้องใช้ปรุงกับข้าวทุกชนิด และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในสรรพกิจ จำต้องใช้ในราชการทั้งปวงฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็แลสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ามีประโยชน์ทุกอย่าง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะจิตมีสติเป็นที่พึ่งอาศัย และสติมีการรักษาเป็นเครื่องปรากฏ เว้นสติเสียแล้ว การประคองและการข่มจิต จะมีไม่ได้ ดังนี้.
               การเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีปัญญาทราม ผู้ไม่มีปัญญาหยั่งลงในประเภทแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม. การเสพบุคคลผู้ประกอบด้วยอุทยัพยปัญญา (เห็นเกิดดับ) อันกำหนดพิจารณาลักษณะ ๕๐ ถ้วน ชื่อว่าเสพบุคคลผู้มีปัญญา. การพิจารณาประเภทของญาณอันลึกซึ้งซึ่งดำเนินไปในขันธ์เป็นต้นอันลึกซึ้ง ชื่อว่าพิจารณาความเป็นไปแห่งญาณอันลึกซึ้ง. ความมีจิตน้อมไปเพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ตั้งขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น ชื่อว่าความน้อมใจไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น. เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญเพียร ทำธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๗ ประการเหล่านี้ ทำธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแหละให้เป็นการเป็นงาน เริ่มยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้นชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงอรหัตมรรค. เมื่อบรรลุผล ย่อมชื่อว่าเป็นผู้อบรมเสร็จแล้ว.
               ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ
                         ความพิจารณาภัยในอบาย ๑
                         ความเห็นอานิสงส์ ๑
                         ความพิจารณาทางสำหรับไป ๑
                         ความยำเกรงต่อบิณฑบาต ๑
                         ความพิจารณามรดกความเป็นทายาทเป็นใหญ่ ๑
                         ความพิจารณาความเป็นใหญ่แห่งพระศาสดา ๑
                         ความพิจารณาความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑
                         ความพิจารณาความที่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์เป็นใหญ่ ๑
                         ความเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน ๑
                         ความเสพบุคคลผู้เริ่มทำความเพียร ๑
                         ความเป็นผู้มีใจน้อมไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น ๑.
               บรรดาธรรม ๑๑ ประการนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาอบายอย่างนี้ว่า ใครๆ ไม่อาจยังวิจยสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นแม้ในเวลาเสวยทุกข์ใหญ่ จำเดิมแต่ต้องถูกลงโทษด้วยเครื่องจองจำครบ ๕ อย่างในนรก แม้ในเวลาถูกเขาจับก้วยแห อวนและไซเป็นต้นในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน. อนึ่ง แม้ในเวลาลากเกวียนเป็นต้นของสัตว์ที่ถูกแทงด้วยเครื่องประหารมีปฏักและคันธนูเป็นต้น แม้ในเวลากระสับกระส่ายด้วยความหิวและความระหายตลอดพันๆ ปีบ้าง พุทธันดรหนึ่งบ้างในเปรตวิสัย แม้ในเวลาเสวยทุกข์อันเกิดจากลมและแดดเป็นต้นด้วยทั้งอัตภาพสักแต่หนังหุ้มกระดูกสูงประมาณ ๖๐ ศอกในพวกเปรตกาลกัญชิกาสูร,
               ดูก่อนภิกษุ กาลนี้แหละเป็นกาลของเธอแล้ว ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้เห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า ผู้เกียจคร้านไม่ได้โลกุตรธรรม ๙, ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงได้.
               นี้เป็นอานิสงส์ของวิริยสัมโพชฌงค์.
               ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาทางไปอย่างนี้ว่า ทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระมหาสาวกทั้งปวงไปแล้ว เราควรไป ก็ทางนั้นอันผู้เกียจคร้านไม่อาจไป ดังนี้.
               ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาถึงความยำเกรงต่อบิณฑบาตอย่างนี้ว่า มนุษย์เหล่าใดบำรุงท่านด้วยบิณฑบาตเป็นต้น มนุษย์เหล่านี้มิใช่ญาติ มิใช่ทาสกรรมกร ให้บิณฑบาตอันประณีตแก่ท่านด้วยหวังใจว่า พวกเราจักอาศัยบิณฑบาตนั้นเลี้ยงชีวิตก็หามิได้. โดยที่แท้ เขาหวังว่าการทำอุปการะของตนเป็นของมีผลมากจึงให้.
               แม้พระศาสดาทรงเห็นอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้วจักเป็นผู้มีร่างกายล่ำสันอยู่เป็นสุข ดังนี้ จึงทรงอนุญาตปัจจัยทั้งหลายแก่เธอก็หามิได้ โดยที่แท้ ทรงอนุญาตปัจจัยทั้งหลายแก่เธอก็ด้วยพระประสงค์ว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้กระทำสมณธรรมแล้วจักพ้นวัฏทุกข์. บัดนี้ เธอนั้นเกียจคร้านอยู่จักประพฤติยำเกรงต่อบิณฑบาตนั้นก็หาไม่. เพราะธรรมดาว่า ความยำเกรงต่อบิณฑบาตย่อมมีแก่ผู้ที่ปรารภความเพียรเท่านั้น เหมือนพระมหามิตตเถระและพระปิณฑปาติติสสเถระฉะนั้น.
               เขาเล่าว่า พระมหามิตตเถระอาศัยอยู่ในถ้ำชื่อกัสสกะ. ก็มหาอุบาสิกาคนหนึ่งในโคจรคามของท่าน ปฏิบัติพระเถระเหมือนกับบุตร.
               วันหนึ่ง นางจะไปป่าจึงสั่งลูกสาวว่า ลูกจ๋า ข้าวสารเก่าอยู่โน้น นมสดอยู่โน้น เนยใสอยู่โน้น น้ำอ้อยอยู่โน้น เวลาพระผู้เป็นเจ้ามิตตะ พี่ชายของเจ้ามา เจ้าจงหุงข้าวถวายพร้อมกับนมสด เนยใสและน้ำอ้อย และเจ้าก็ควรบริโภคเสียด้วย ส่วนแม่จะบริโภคข้าวค้างคืนที่หุงไว้เมื่อวานนี้กับน้ำผักดอง.
               ลูกสาวถามว่า กลางวันแม่จะบริโภคอะไรล่ะจ๊ะแม่.
               แม่ตอบว่า เจ้าจงใส่ผักดองเอาข้าวสารหักๆ ต้มข้าวยาคูเปรี้ยวเก็บไว้ให้นะลูก
               พระเถระห่มจีวรแล้วกำลังนำบาตรออกมา ได้ยินเสียงนั้นจึงกล่าวสอนตนว่า
               นัยว่า มหาอุบาสิกาจักบริโภคข้าวค้างคืนกับน้ำผักดอง แม้ตอนกลางวันก็จักบริโภคข้าวยาคูเปรี้ยวปรุงด้วยข้าวสารหักกับผัก. ก็นางบอกให้ข้าวสารเก่าเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่ท่าน และนางอาศัยท่านแล้วจะหวังได้นา หวังได้สวนก็หามิได้ แต่นางปรารถนาสมบัติทั้ง ๓ จึงให้ท่านจักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่นางไหม ก็บิณฑบาตนี้แล ท่านผู้มีราคะโทสะโมหะ ไม่อาจรับ ดังนี้แล้วจึงเอาบาตรใส่ถลก ปลดลูกดุม กลับไปที่ถ้ำกัสสกะ เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้ที่สายระเดียง นั่งอธิษฐานความเพียรว่า เรายังไม่บรรลุพระอรหัต จักไม่เอาไป.
               ภิกษุผู้ไม่ประมาทอยู่ประจำมานาน เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตในเวลาก่อนภัตตาหาร เป็นพระขีณาสพกระทำความแย้มออกไป เหมือนดอกบัวแย้มฉะนั้น.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูถ้ำเปล่งอุทานว่า
                         นโม เต ปุริสาชญฺญ     นโม เต ปุริสุตฺตม
                         ยสฺส เต อาสวา ขีณา    ทกฺขิเณยฺโยสิ มาริส
                         ท่านบุรุษอาชาไนย เราขอนอบน้อมท่าน
                         ท่านบุรุษผู้สูงสุด เราขอนอบน้อมท่าน
                         ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านมีอาสวะสิ้นแล้ว เป็น
                         พระทักขิไณยบุคคล.

               ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ หญิงแก่ถวายภิกษาหารแก่พระอรหันต์เช่นท่านผู้เข้าไปบิณฑบาต จักพ้นทุกข์. พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูมองดูเวลา รู้ว่ายังเช้าอยู่ จึงถือบาตรและจีวรเข้าไปยังบ้าน. แม้เด็กหญิงก็เตรียมภัตตาหารไว้พร้อมแล้ว นั่งมองดูประตูด้วยหวังใจว่า ประเดี๋ยวพระพี่ชายของเราจักมาถึง.
               เมื่อพระเถระถึงประตูบ้าน เด็กหญิงนั้นก็รับบาตรบรรจุภัตตาหารอันประกอบด้วยเนยใสและน้ำอ้อยให้เต็ม แล้ววางไว้ที่มือ. พระเถระทำอนุโมทนาว่าจงมีความสุขเถิด แล้วหลีกไป. ก็เด็กหญิงนั้นได้ยืนมองดูท่านอยู่. ก็ในคราวนั้น พระเถระมีฉวีวรรณบริสุทธิ์ยิ่งนัก อินทรีย์ผ่องใส ใบหน้าสุกสกาวเหมือนผลตาลสุกที่หลุดจากขั้วฉะนั้น.
               มหาอุบาสิกากลับมาจากป่าถามบุตรสาวว่า พระพี่ชายมาแล้วหรือลูก. บุตรสาวนั้นจึงบอกความเป็นไปนั้นทั้งหมด. อุบาสิการู้ว่า กิจแห่งบรรพชิตของบุตรเราถึงที่สุดแล้วในวันนี้ จึงกล่าวว่า แม่พระพี่ชายของเจ้ายินดีไม่เบื่อระอาในพระพุทธศาสนาแล้ว.
               ก็เรื่องพระปิณฑปาติยเถระพึงทราบอย่างนี้.
               ได้ยินว่า บุรุษเข็ญใจคนหนึ่งในบ้านมหาคาม เลี้ยงชีวิตด้วยการขายฟืน. บุรุษนั้นได้ชื่อตามเหตุการณ์นั้นนั่นแลจึงมีชื่อว่า ทารุภัณฑกมหาติสสะ.
               วันหนึ่ง เขาพูดกะภรรยาของเขาว่า ชื่อว่าความเป็นอยู่ของพวกเราเป็นอย่างไรกัน พระศาสดาตรัสว่า ทลิทททานมีผลมาก แต่เราไม่อาจให้เป็นประจำได้ เราถวายปักขิกภัตแล้ว แม้สลากภัตอันเกิดขึ้นข้างหน้าเราก็จักถวาย. ภรรยารับคำว่า ดีละนาย แล้วได้ถวายปักขิกภัตตามมีตามได้ในวันรุ่งขึ้น.
               ก็เวลานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ไม่ขัดข้องด้วยเรื่องปัจจัยทั้งหลาย. ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายฉันโภชนะล้วนประณีตรู้ว่านี้เป็นอาหารไม่สู้ดี ก็กระทำปักขิกภัตของคนทั้งสองนั้นให้เป็นแต่สักว่ารับไว้เท่านั้น เมื่อคนทั้งสองนั้นเห็นอยู่นั่นแหละก็ทิ้งเสียแล้วก็ไป.
               ฝ่ายหญิงนั้นเห็นการกระทำนั้นจึงบอกแก่สามี แต่ไม่ได้มีความเดือดร้อนใจว่าพระทิ้งของที่เราถวาย. สามีของนางกล่าวว่า ก็พวกเราไม่อาจให้พระผู้เป็นเจ้าฉันได้โดยง่าย เพราะเป็นคนจน เราจักกระทำอย่างไรหนอแลจึงจักอาจเอาใจพระผู้เป็นเจ้าได้.
               ทีนั้น ภรรยาของเขากล่าวว่า นาย ท่านพูดว่าอะไรหรือ ธรรมดาคนเข็ญใจทั้งหลายมีบุตรก็มีอยู่มิใช่หรือ นี้ธิดาของท่าน. ท่านจงเอาธิดาคนนี้วางเป็นประกันไว้ในตระกูลหนึ่ง เอาทรัพย์มาสัก ๒ กหาปณะ (๑ กหาปณะ = ๔ บาทของชาวมคธ) แล้วซื้อแม่โคนมมาตัวหนึ่ง เราจักถวายสลากภัตปรุงกับนมสดแก่พระผู้เป็นเจ้า เราอาจเอาใจของพระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
               สามีรับคำว่า ได้ แล้วจึงกระทำอย่างนั้น.
               ด้วยบุญของคนทั้งสองนั้น แม่โคนมตัวนั้นให้น้ำนม ๓ มาณิกะ ในตอนเย็น (มาณิกะเป็นมาตราตวงของชาวมคธ) ในตอนเช้าให้นม ๓ มาณิกะ. คนทั้งสองทำนมสดที่ได้ในตอนเย็นให้เป็นนมเปรี้ยว ในวันรุ่งขึ้นจึงทำให้เป็นเนยใสจากเนยข้นที่ถือเอาจากนมส้มนั้น แล้วถวายสลากภัตปรุงด้วยนมสดพร้อมกับเนยใสนั่นแหละ. จำเดิมแต่นั้น พระผู้มีบุญจึงจะได้สลากภัตในเรือนของเขา.
               วันหนึ่ง สามีกล่าวกะภรรยาว่า พวกเราพ้นจากเรื่องที่น่าละอายก็เพราะมีลูกสาว ทั้งภัตตาหารในเรือนของเราแห่งเดียวเป็นของควรบริโภคแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย เธออย่าประมาทในวัตรอันดีงามนี้จนกว่าพี่จะมา พี่จะทำงานอะไรสักอย่างไถ่ตัวลูกสาว.
               เขาไปยังประเทศหนึ่งทำงานหีบอ้อย โดยเวลา ๖ เดือนได้เงิน ๑๒ กหาปณะ คิดว่า เงินเท่านี้อาจจะไถ่ลูกสาวของเราได้ จึงเอาชายผ้าขอดกหาปณะเหล่านั้นไว้ แล้วเดินทางด้วยตั้งใจว่าจักไปบ้าน.
               ในสมัยนั้น พระปิณฑาปาติยติสสเถระอยู่ในอัมพริยมหาวิหาร คิดว่าจักไปมหาวิหารไหว้พระเจดีย์ จึงออกจากที่อยู่ของตนไปยังบ้านมหาคาม เดินไปทางนั้นเหมือนกัน. อุบาสกนั้นเห็นพระเถระแต่ไกล คิดว่าเรามาผู้เดียวจักไปฟังธรรมกถากัณฑ์หนึ่ง พร้อมกันกับพระผู้เป็นเจ้ารูปนี้ เพราะผู้มีศีลหาได้ยากตลอดมาทุกเวลา จึงรีบไปทันพระเถระ ไหว้แล้วเดินไปด้วยกัน เมื่อเวลาฉันภัตตาหารใกล้เข้ามาจึงคิดว่า ห่อภัตตาหารไม่มีอยู่ในมือเรา และก็ถึงเวลาฉันภิกษาหารของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ทั้งค่าใช้สอยนี้ก็มีอยู่ในมือเรา ในเวลาถึงประตูบ้านแห่งหนึ่ง เราจักถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้า.
               เมื่อความคิดของเขาสักว่าพอเกิดขึ้นอย่างนี้เท่านั้น คนผู้หนึ่งถือห่อภัตตาหารมาถึงที่นั้นพอดี อุบาสกเห็นคนผู้นั้นแล้ว กล่าวนิมนต์ว่า ท่านผู้เจริญโปรดคอยหน่อยเถิดๆ แล้วเข้าไปหาคนผู้นั้นกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ ฉันจะให้กหาปณะแก่ท่าน ท่านจงให้ห่อภัตตาหารแก่ฉัน.
               บุรุษผู้นั้นคิดว่า ภัตตาหารแม้นี้จะมีราคาแม้สักมาสกหนึ่งในเวลานี้ก็หามิได้ แต่อุบาสกนี้ให้เรากหาปณะหนึ่งเป็นครั้งแรกทีเดียว เหตุในเรื่องนี้จักมี ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวว่า โดยกหาปณะหนึ่ง เราจะไม่ให้. อุบาสกกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถือเอา ๒ กหาปณะ จงถือเอา ๓ กหาปณะ โดยทำนองนี้ประสงค์จะให้กหาปณะเหล่านั้นแม้ทั้งหมด. บุรุษนอกนี้สำคัญว่า กหาปณะแม้อื่นของอุบาสกนั้นมีอยู่ (อีก) จึงกล่าวว่า เราไม่ให้.
               ครั้งนั้น อุบาสกนั้นกล่าวกะบุรุษนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ถ้ากหาปณะแม้อื่นของเราพึงมีอยู่ไซร้ เราพึงให้กหาปณะแม้เหล่านั้น แต่เราจะถือเอาเพื่อประโยชน์แก่ตนเองก็หามิได้เลย เรานิมนต์พระผู้เป็นเจ้ารูปหนึ่งให้นั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง กุศลจักมีแก่ท่านด้วย ท่านจงให้ภัตตาหารนั้นแก่เราเถิด.
               บุรุษนั้นพูดว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเอาไปจงนำกหาปณะเหล่านั้นมา ได้ถือเอากหาปณะแล้วให้ห่อภัตตหารไป.
               อุบาสกถือภัตตาหารเข้าไปหาพระเถระแล้วกล่าวว่า นำบาตรออกมาเถิด ท่านขอรับ.
               พระเถระนำบาตรออกมา เมื่ออุบาสกถวายภัตตาหารเข้าไปได้ครึ่งหนึ่ง ก็ปิดบาตรเสีย อุบาสกกล่าวว่า มีส่วนเดียวเท่านั้น กระผมไม่อาจบริโภคจากส่วนเดียวนี้ ภัตตาหารนี้กระผมเที่ยวหาได้มาก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านเท่านั้น ขอท่านจงรับภัตตาหารนั้นเถิด เพื่ออนุเคราะห์กระผม.
               พระเถระคิดว่ามีเหตุ จึงรับมาฉันทั้งหมด. อุบาสกได้กรองน้ำดื่มด้วยเครื่องกรองน้ำแล้วถวาย ต่อจากนั้น เมื่อพระเถระทำภัตกิจเสร็จแล้ว แม้ทั้งสองก็เดินทางไป (ด้วยกัน).
               พระเถระถามอุบาสกว่า เพราะเหตุไรท่านจึงไม่บริโภค. อุบาสกนั้นบอกเรื่องราวในการไปของตนทั้งหมด. พระเถระฟังความเป็นไปนั้นแล้วสลดใจ คิดว่า อุบาสกทำสิ่งที่ทำได้ยาก ก็เราบริโภคบิณฑบาตเห็นปานนี้ ควรเป็นผู้กตัญญูต่ออุบาสกนี้ เราได้เสนาสนะอันเป็นสัปปายะแล้ว เมื่อผิวหนัง เนื้อและเลือด แม้จะแห้งไปในเสนาสนะนั้น (ก็ตามที) ยังไม่บรรลุพระอรหัตโดยนั่งขัดสมาธิอยู่นั่นแหละ จักไม่ลุกขึ้น.
               พระเถระนั้นไปยังติสสมหาวิหาร กระทำอาคันตุกวัตร (คือระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้จรมา) แล้ว เข้าไปยังเสนาสนะที่ถึงแก่ตน ลาดเครื่องลาดแล้วนั่งบนเครื่องลาดนั้น กำหนดมูลกรรมฐานของตนนั่นเอง พระเถระนั้นไม่อาจจะทำแม้สักว่าโอภาสให้บังเกิดขึ้นในราตรีนั้น.
               จำเดิมแต่วันรุ่งขึ้น จึงตัดความกังวลในการเที่ยวภิกษาจารเสีย ก็เห็นแจ้งกรรมฐานนั้นนั่นแหละ ทั้งอนุโลมและปฏิโลม พระเถระเห็นแจ้งอยู่โดยอุบายนั้น ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในอรุณที่ ๗ แล้วคิดว่า สรีระเมื่อยล้าเหลือเกิน ชีวิตของเราจักดำเนินไปได้นานไหมหนอ ครั้งนั้น พระเถระกำหนดได้แน่นอนว่า สรีระนั้นจะไม่ดำเนินไป จึงถือบาตรและจีวรไปยังท่ามกลางวิหาร ตีกลองให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน.
               พระสังฆเถระถามว่า ใครให้ภิกษุสงฆ์ประชุม.
               พระเถระตอบว่า กระผมขอรับ.
               พระสังฆเถระถามว่า เพื่ออะไร ท่านสัตบุรุษ.
               พระเถระตอบว่า กรรมอื่นไม่มีดอกขอรับ แต่ว่า ท่านผู้มีความสงสัยในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามกระผมเถิด.
               พระสังฆเถระถามว่า ท่านสัตบุรุษ ภิกษุทั้งหลายเช่นท่าน ย่อมไม่กล่าวคุณที่ไม่มีอยู่ ความสงสัยในมรรคหรือผลนี้ไม่มีแก่พวกเรา. ก็อะไรเป็นเหตุให้เกิดความสังเวชแก่ท่าน. ท่านทำอะไรให้เป็นปัจจัย พระอรหัตนี้จึงบังเกิดขึ้น.
               พระเถระตอบว่า ท่านขอรับ ในวัลลิยวิถีไว้ภายนอกแล้วเอาทรัพย์มา ๑๒ กหาปณะ ซื้อแม่โคนมมาตัวหนึ่ง เริ่มตั้งสลากภัตนมสดแก่พระสงฆ์. เขาคิดว่าเราจักไถ่ธิดา จึงทำการรับจ้างอยู่ในโรงหีบอ้อยถึง ๖ เดือนได้ทรัพย์ ๑๒ กหาปณะแล้วจึงเดินไปบ้านของตนด้วยหวังใจว่าจักไถ่ธิดา เห็นกระผมในระหว่างทาง ในเวลาภิกษาจารได้ให้กหาปณะนั้นแม้ทั้งหมด แล้วถือเอาห่อภัตตาหารมาถวายกระผมทั้งหมด. กระผมฉันบิณฑบาตนั้นแล้วมาที่นี้ ได้เสนาสนะอันเป็นสัปปายะแล้วคิดว่า เราจักกระทำความยำเกรงต่อบิณฑบาตดังนี้ จึงได้ทำคุณวิเศษให้เกิดขึ้นขอรับ.
               บริษัท ๔ ผู้ประชุมกันอยู่ที่นั้นได้ให้สาธุการแก่พระเถระ. ชื่อว่าผู้สามารถเพื่อดำรงตามภาวะของตนไม่มีเลย.
               พระเถระนั่งพูดอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ กำลังพูดอยู่นั่นแล อธิษฐานว่า กูฏาคาร (คือเรือนมียอด) ของเราจงเคลื่อนไป ในเวลาที่ทารุภัณฑกมหาติสสะเอามือถูกต้องเท่านั้น ดังนี้แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               พระเจ้ากากวัณณติสสมหาราชทรงสดับว่าพระเถระรูปหนึ่งปรินิพพาน จึงเสด็จไปยังวิหารทรงทำสักการะสัมมานะแล้ว ตรัสสั่งให้ตระเตรียมกูฏาคารแล้วยกพระเถระขึ้นใส่ในกูฏาคารนั้น ทรงดำริว่า เราจักไปที่เชิงตะกอนเดี๋ยวนี้ จึงทรงยกกูฏาคาร ก็ไม่อาจให้เคลื่อนที่ได้.
               พระราชารับสั่งถามภิกษุสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ คำพูดอะไรที่พระเถระกล่าวไว้มีอยู่หรือ. ภิกษุทั้งหลายจึงทูลเรื่องราวที่พระเถระกล่าวไว้.
               พระราชารับสั่งให้เรียกอุบาสกนั้นมาแล้วตรัสถามว่า ในที่สุด ๗ วันจากวันนี้ไป เธอถวายห่อภัตตาหารแก่ภิกษุไรๆ ผู้เดินทางหรือ.
               อุบาสกทูลว่า ถวายพระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ.
               พระราชาตรัสถามว่า เธอถวายทำนองไหน.
               อุบาสกนั้นจึงกราบทูลเหตุการณ์นั้นทั้งหมด.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงทรงส่งอุบาสกนั้นไป ณ ที่ตั้งกูฏาคารของพระเถระด้วยพระดำรัสว่า เธอจงไป จงรู้พระเถระนั้นว่าเป็นรูปนั้นหรือรูปอื่น. อุบาสกนั้นไปแล้วเลิกม่านขึ้นเห็นหน้าพระเถระก็จำได้ เอามือทั้งสองทุบหัวใจไปยังสำนักของพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เป็นพระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์.
               ลำดับนั้น พระราชารับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับชุดใหญ่แก่อุบาสกนั้น. ตรัสกะอุบาสกผู้ประดับเสร็จแล้วว่า ท่านมหาติสสะผู้พี่ชาย ท่านจงไปไหว้พระผู้เป็นเจ้าของเราแล้วจึงยกกูฏาคารขึ้น. อุบาสกรับพระดำรัสว่า ขอรับใส่เกล้า ข้าแต่สมมติเทพ แล้วไปไหว้เท้าพระเถระ เอามือทั้งสองยกขึ้นทูนไว้เหนือกระหม่อมของตน. ขณะนั้นเอง กูฏาคารลอยไปทางอากาศ ประดิษฐานอยู่ ณ ข้างบนของเชิงตะกอน. ในกาลนั้น เปลวไฟลุกขึ้นเองจากมุมแม้ทั้ง ๔ ของเชิงตะกอน.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาถึงมรดกความเป็นทายาทเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
               ก็ทรัพย์มรดกคืออริยทรัพย์ ๗ ของพระศาสดานั้น เป็นของใหญ่ ทรัพย์มรดกนั้นอันคนผู้เกียจคร้านไม่อาจรับ เหมือนอย่างว่า บิดามารดาย่อมกีดกันบุตรผู้ประพฤติผิดไว้ภายนอกว่า ผู้นี้ไม่เป็นบุตรของเรา เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป เขาย่อมไม่ได้ทรัพย์มรดกฉันใด แม้คนเกียจคร้านก็ฉันนั้น ย่อมไม่ได้มรดกคืออริยทรัพย์นี้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงจะได้ ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาถึงความที่พระศาสดาเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
               ก็พระศาสดาของท่าน (ยิ่ง) ใหญ่แล เพราะในเวลาที่พระศาสดาของท่านถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดาก็ดี ในการเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ก็ดี ในการตรัสรู้สัมโพธิญาณอันยิ่งก็ดี ในการประกาศพระธรรมจักร ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากเทวโลกและทรงปลงอายุสังขารก็ดี ในกาลดับขันธปรินิพพานก็ดี หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ความที่ท่านบวชในศาสนาของพระศาสดาเห็นปานนั้นแล้ว เป็นผู้เกียจคร้านไม่สมควรเลย.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาถึงความที่ชาติเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
               แม้ว่าโดยชาติ บัดนี้ท่านก็เป็นผู้มีชาติไม่ต่ำทราม ท่านเป็นผู้เกิดในวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราชอันสืบมาจากเชื้อสายของพระเจ้ามหาสมมตราชอันไม่ปะปน (กับวงศ์อื่น) เป็นหลานของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ของพระนางมายาเทวี เป็นน้องชายของพระราหุลภัททะ ชื่อว่าท่านเป็นบุตรของพระชินเจ้าเห็นปานนี้ เป็นผู้เกียจคร้านอยู่ ไม่ควรเลย.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้พิจารณาถึงความที่เพื่อนพรหมจรรย์เป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
               พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะกับพระอสีติมหาสาวก ย่อมแทงตลอดโลกุตรธรรม ๙ ด้วยความเพียร ท่านจงดำเนินตามทางของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์เหล่านั้น ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ผู้เว้นบุคคลเกียจคร้าน ผู้สละความเพียรทางกายและทางจิต เช่นกับงูเหลือมกินเต็มท้องแล้วก็หยุด (ไม่เลื้อยไปไหน) แม้แก่ผู้เสพบุคคลผู้มีจิตมั่นคง ปรารภความเพียร แม้แก่บุคคลผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อยังความเพียรให้เกิดขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น. เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐาน ทำวิริยสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๑๑ ประการเหล่านี้แล้ว ทำวิริยสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแลให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้น ชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงอรหัตมรรค. เมื่อบรรลุผลแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้เจริญแล้วแล.
               ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์ คือ
                         พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ๑
                         ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ๑
                         สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ๑
                         สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณของศีล ๑
                         จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาค ๑
                         เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา ๑
                         อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความเข้าไปสงบ (คือพระนิพพาน) ๑
                         เว้นคนผู้เศร้าหมอง ๑
                         เสพคนผู้เรียบร้อย ๑
                         พิจารณาพระสูตรอันน่าเลื่อมใส ๑
                         ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น ๑.
               ก็แม้เมื่อบุคคลระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแผ่ซ่านไปตลอดร่างกายทั้งสิ้น จนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ.
               ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่บุคคลผู้ระลึกถึงคุณของพระธรรมและพระสงฆ์ แม้แก่บรรพชิตผู้พิจารณาจตุปาริสุทธิศีล รักษาไม่ให้ขาดมาตลอดกาลนาน แม้แก่คฤหัสถ์ผู้พิจารณาศีล ๑๐ ศีล ๕ แม้แก่บุคคลผู้ถวายโภชนะอันประณีตแก่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในยามมีภัยอันเกิดแต่การที่ภิกษาหาได้ยากเป็นต้นแล้ว พิจารณาถึงการบริจาคว่าเราได้ให้ทานชื่ออย่างนี้แล้วเป็นต้น แม้แก่คฤหัสถ์ผู้พิจารณาถึงทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเห็นปานนี้ แม้แก่ผู้พิจารณาถึงคุณทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ผู้ประกอบไว้ซึ่งคุณเครื่องเป็นเทวดาเห็นปานนั้นว่ามีอยู่ในตน แม้แก่ผู้พิจารณาถึงกิเลสทั้งหลายที่ข่มไว้ด้วยการเข้าสมาบัติว่า ไม่ฟุ้งซ่านมาตั้ง ๖๐ ปี บ้าง ๗๐ ปีบ้าง แม้แก่ผู้เว้นบุคคลเศร้าหมองเช่นกับธุลีบนหลังลา เพราะไม่มีความรักด้วยอำนาจความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะความเป็นผู้เศร้าหมองอันบ่งถึงกิริยาที่ไม่เคารพในการเห็นพระเจดีย์ เห็นต้นโพธิ์ และเห็นพระเถระ แม้แก่ผู้เสพบุคคลผู้เรียบร้อย มีจิตอ่อนโยนมากด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น แม้แก่ผู้พิจารณาพระสูตรอันน่าเลื่อมใสแสดงคุณของพระรัตนตรัย แม้แก่ผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อยังปีติให้เกิดขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐาน ยังปีติสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๑๑ ประการนี้แล้ว ทำปีติสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแหละให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ.
               กุลบุตรนั้น ชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์จนกระทั่งถึงอรหัตมรรค. เมื่อบรรลุผลแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้เจริญปีติสัมโพชฌงค์แล้ว.
               ธรรม ๗ ประการ คือ
                         เสพโภชนะอันประณีต ๑
                         เสพฤดูอันสบาย ๑
                         เสพอิริยาบถอันสบาย ๑
                         ประกอบตนเป็นกลาง ๑
                         เว้นบุคคลผู้มีกายไม่สงบ ๑
                         เสพบุคคลผู้มีกายสงบ ๑
                         น้อมจิตไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์.
               ก็ความสงบย่อมเกิดแม้แก่ผู้บริโภคโภชนะอันเป็นสัปปายะ ประณีตงดงามแม้แก่ผู้เสพฤดูในฤดูหนาวและร้อนและอิริยาบถมียืนเป็นต้นอันเป็นสัปปายะ.
               ก็บุคคลใดมีชาติเป็นมหาบุรุษ เป็นผู้อดทนได้ในฤดู (หนาวร้อน) และอิริยาบถทั้งปวง คำนี้ท่านกล่าวโดยหมายเอาบุคคลนั้นก็หามิได้.
               ความสงบย่อมเกิดแก่บุคคลผู้เสพฤดูและอิริยาบถอันเป็นสภาคกัน. การพิจารณาความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน ทั้งของตนและของคนอื่น เรียกว่าการประกอบตนเป็นกลาง ความสงบย่อมเกิดด้วยการประกอบคนเป็นกลางดังกล่าวมานี้.
               ความสงบย่อมเกิดแม้แก่ผู้เว้นบุคคลผู้มีกายไม่สงบ ผู้เที่ยวเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นเห็นปานนั้น แม้แก่ผู้เสพบุคคลผู้มีกายสงบ สำรวมมือและเท้า แม้แก่ผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อต้องการทำความสงบให้เกิดขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐานยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๗ ประการนี้ กระทำปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้น ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์จนถึงพระอรหัตมรรค เมื่อบรรลุผลแล้ว ย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ได้แล้ว.
               ธรรม ๑๑ ประการ คือ
                         ทำวัตถุให้สละสลวย ๑
                         ทำอินทรีย์ให้ดำเนินไปสม่ำเสมอ ๑
                         ความฉลาดในนิมิต ๑
                         ประคองจิตในสมัย (ควรประคอง) ๑
                         ข่มจิตในสมัย (ควรข่ม) ๑
                         การทำ (จิต) ให้ร่าเริงในสมัย (ควรให้ร่าเริง) ๑
                         การเพ่งดูจิตในสมัย (ควรเพ่งดู) ๑
                         การเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ๑
                         เสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ๑
                         พิจารณาฌานและวิโมกข์ ๑
                         ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น การทำวัตถุให้สละสลวยและการทำอินทรีย์ให้ดำเนินไปสม่ำเสมอ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               ความฉลาดในการเรียนกสิณนิมิต ชื่อว่าฉลาดในนิมิต.
               บทว่า สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา ความว่า ในสมัยใด จิตหดหู่ด้วยย่อหย่อนความเพียรเป็นต้น ในสมัยนั้นประคองจิตไว้ด้วยการทำธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา ความว่า ในสมัยใด จิตฟุ้งซ่านด้วยปรารภความเพียรเป็นต้นเกินไป ในสมัยนั้นข่มจิตไว้ด้วยการทำปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า สมเย สมฺปหํสนตา ความว่า ในสมัยใด จิตไม่แช่มชื่นเพราะประกอบปัญญาน้อยไป หรือเพราะไม่ได้สุขอันสงบ ในสมัยนั้นยังจิตให้สังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ.
               ชื่อว่าสังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีตเป็นที่ ๖ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบันเป็นที่ ๗ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคตเป็นที่ ๘.
               การยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นด้วยการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย นี้เรียกว่าความทำจิตให้ร่าเริงในสมัย.
               ชื่อว่าความเพ่งดูจิตในสมัย ได้แก่ในคราวที่จิตอาศัยการปฏิบัติชอบ เป็นจิตไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความแช่มชื่น ดำเนินไปตามสมถวิถีซึ่งเป็นไปอย่างสม่ำเสมอในอารมณ์นั้น กุลบุตรไม่ต้องขวนขวายในการประคอง ข่มและทำให้ร่าเริง เหมือนสารถีไม่ต้องขวนขวายในเมื่อม้าวิ่งไปเรียบ นี้เรียกว่าความเพ่งดูจิตในสมัย.
               ชื่อว่าการเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ได้แก่เว้นให้ห่างไกลบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ผู้ยังไม่บรรลุอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ.
               ชื่อว่าเสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ได้แก่ เสพคือคบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               ชื่อว่าความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ได้แก่ความเป็นผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้สมาธิเกิดขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               ก็เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้แหละ สมาธิสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๑๑ ประการเหล่านี้ การทำสมาธิสัมโพชฌงค์นั้นเท่านั้นให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้น ชื่อว่าบำเพ็ญสมาธิสัมโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงอรหัตมรรค เมื่อบรรลุผลแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ได้เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์แล้ว.
               ธรรม ๕ ประการ คือ
                         ความเป็นกลางในสัตว์ ๑
                         ความเป็นกลางในสังขาร ๑
                         ความเว้นบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขาร (ว่าเป็นของตน) ๑
                         เสพบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร ๑
                         ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ๑
               ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               ในธรรม ๕ ประการนั้น บุคคลย่อมยังความเป็นกลางในสัตว์ให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า ท่านมาด้วยกรรมของตนจักไปด้วยกรรมของตน แม้สัตว์นี้จักไปด้วยกรรมของตนเหมือนกัน ท่านจะยึดถือใครว่าเป็นของตน ดังนี้ และด้วยการพิจารณาถึงความไม่มีสัตว์อย่างนี้ว่า โดยปรมัตถ์ สัตว์ไม่มี ท่านนั้นจะยึดถือใครว่าเป็นของตน ดังนี้.
               บุคคลย่อมยังความเป็นกลางในสังขารให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณาถึงความเป็นของไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า จีวรนี้เข้าถึงความวิการ (ผันแปร) แห่งสีและความเก่าไปโดยลำดับ เป็นท่อนผ้าสำหรับเช็ดเท้า จักต้องเอาปลายไม้เท้าเขี่ยทิ้งไป ก็ถ้าจีวรนั้นพึงมีเจ้าของ เขาจะต้องไม่ให้มันฉิบหายไปอย่างนี้ และด้วยการพิจารณาเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้เป็นของชั่วคราว ไม่คงทน ดังนี้.
               แม้ในบาตรเป็นต้น ก็พึงประกอบความเหมือนดังในจีวรนั่นแล.
               บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ยึดถือบุตรและธิดาเป็นต้นของตนว่าเป็นของเรา หรือเป็นบรรพชิตยึดถืออันเตวาสิกผู้ร่วมอุปัชฌาย์กันเป็นต้นว่าเป็นของเรา กระทำการปลงผม โกนหนวด เย็บจีวร ซักจีวรและระบมบาตรเป็นต้นแก่อันเตวาสิกเป็นต้นเหล่านั้นด้วยมือของตนเอง เมื่อไม่เห็นแม้สักครู่หนึ่งก็มองหาไปรอบๆ ว่า สามเณรโน้นไปไหน ภิกษุหนุ่มโน้นไปไหน ดังนี้ เหมือนเนื้อตื่นเหลียวมองทางโน้นทางนี้อยู่ฉะนั้น แม้ผู้อื่นจะขอไปเพื่อประโยชน์แก่การปลงผมเป็นต้นว่า ขอท่านจงส่งท่านรูปโน้นไปสักครู่ก่อนเถิด ก็ไม่ให้โดยพูดบ่ายเบี่ยงว่า แม้พวกเราก็ยังไม่ให้ท่านรูปนั้นทำการงานของตน พวกท่านพาเธอไปจักลำบาก นี้ชื่อว่ายึดถือสัตว์เป็นของตน.
               ส่วนบุคคลใดยึดถือจีวร บาตร ภาชนะและไม้เท้าเป็นต้นว่าเป็นของเรา แม้คนอื่นจะเอามือลูบคลำ ก็ไม่ (ยอม) ให้ (ทำ) เขายืมชั่วคราวก็พูดว่า แม้เราเป็นเจ้าของสิ่งนี้ก็ยังไม่ใช้เอง เราจะให้พวกท่านได้อย่างไร นี้ชื่อว่ายึดถือสังขารว่าเป็นของตน.
               ส่วนบุคคลใดวางตนเป็นกลาง เป็นผู้วางเฉยในวัตถุแม้ทั้งสองเหล่านั้น บุคคลนี้ชื่อว่าวางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร.
               อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้เว้นห่างไกลบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขารเห็นปานนี้ แม้แก่ผู้เสพบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร แม้แก่ผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นในการยืนและการนั่งเป็นต้นด้วยประการดังนี้.
               เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญกรรมฐานทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๕ ประการเหล่านี้ กระทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแหละให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้น ชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์จนถึงอรหัตมรรค เมื่อบรรลุผลแล้ว ย่อมชื่อว่าได้เจริญแล้ว.
               สัมโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระด้วยประการดังนี้.

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 205อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 20 / 247อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1059&Z=1266
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10418
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10418
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :