ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 205อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 20 / 247อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
ปสาทกรธัมมาทิบาลี

หน้าต่างที่ ๔ / ๖.

               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐึ ภาเวติ ความว่า ย่อมพอกพูน คือเพิ่มขึ้นซึ่งสัมมาทิฏฐิอันเป็นเบื้องต้นของมรรคมีองค์ ๘.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้นั่นแล.
               ก็ในข้อที่ว่าด้วยมรรคมีองค์ ๘ นี้ สัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบเป็นลักษณะ สัมมาสังกัปปะมีความยกขึ้นซึ่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวาจามีความกำหนดถือเอาชอบเป็นลักษณะ สัมมากัมมันตะมีการตั้งขึ้นซึ่งการงานโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาอาชีวะมีความทำอาชีพให้บริสุทธิ์โดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวายามะมีความประคองไว้ชอบเป็นลักษณะ สัมมาสติมีความปรากฏขึ้นชอบเป็นลักษณะ สัมมาสมาธิมีความตั้งใจชอบเป็นลักษณะ.
               ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น มรรคหนึ่งๆ มีกิจ ๓ อย่าง คือ ก่อนอื่นสัมมาทิฏฐิละมิจฉาทิฏฐิพร้อมกับกิเลสที่เป็นข้าศึกของตนแม้อย่างอื่นๆ กระทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ เห็นสัมปยุตธรรม เพราะไม่หลงด้วยอำนาจการกำจัดโมหะที่ปกปิดสัมมาทิฏฐินั้น.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็เหมือนกัน ละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น และทำนิโรธให้เป็นอารมณ์.
               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมรรคนี้ สัมมาสังกัปปะดำริถึงสหชาตธรรม สัมมาวาจากำหนดถือเอาชอบ สัมมากัมมันตะตั้งขึ้นซึ่งการงานชอบ สัมมาอาชีวะทำอาชีพให้บริสุทธิ์โดยชอบ สัมมาวายามะประคองไว้ชอบ สัมมาสติปรากฏขึ้นชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ.
               อีกประการหนึ่ง ธรรมดาว่าสัมมาทิฏฐินี้ในเบื้องต้นมีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน (แต่) ในเวลาเป็นมรรค มีขณะเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน. แต่เมื่อว่าโดยกิจได้ชื่อ ๔ ชื่อมีว่า ทุกฺเข ญาณํ ดังนี้เป็นต้น.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกันในเบื้องต้น แต่ในเวลาเป็นมรรคมีขณะเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน. ในมรรคเหล่านั้น สัมมาสังกัปปะเมื่อว่าโดยกิจ ได้ชื่อ ๓ ชื่อมีว่าเนกขัมมสังกัปปะดังนี้เป็นต้น. องค์มรรค ๓ แม้มีสัมมาวาจาเป็นต้นในเบื้องต้นมีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน คือเป็นวิรัติบ้าง เป็นเจตนาบ้าง แต่ในขณะมรรคเป็นวิรัติเท่านั้น. แม้องค์มรรคทั้งสองนี้ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เมื่อว่าโดยกิจได้ชื่อ ๔ ชื่อด้วยอำนาจสัมมัปปธาน ๔ และสติปัฏฐาน ๔. ด้วยสัมมาสมาธิคงเป็นสัมมาสมาธิอย่างเดียว ทั้งในเบื้องต้น ทั้งในขณะมรรค.
               ในธรรม ๘ ประการนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน เพราะเป็นอุปการะแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน. ก็สัมมาทิฏฐินี้เป็นไปโดยชื่อว่า ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญาสตฺถํ (ปัญญาเป็นแสงสว่าง ปัญญาเพียงดังศัสตรา) ดังนี้. เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรกำจัดมืดคืออวิชชา ด้วยสัมมาทิฏฐิ คือวิปัสสนาญาณนี้ในเบื้องต้น ฆ่าโจรคือกิเลสเสีย ย่อมบรรลุพระนิพพานโดยความเกษม.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         นิพฺพานาธิคมาย ปฏิปนฺนสฺส โยคิโน
                         พหุการตฺตา ปฐมํ สมฺมาทิฏฺฐิ เทสิตา.

                         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน
                         เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่พระโยคีผู้
                         ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน.
               ก็สัมมาสังกัปปะมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ในลำดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น. เหมือนอย่างว่า เหรัญญิกใช้มือพลิกไปพลิกมา ตาดูเหรียญกษาปณ์ ย่อมรู้ว่า อันนี้ปลอม อันนี้ดี ฉันใด แม้พระโยคาวจรก็ฉันนั้น ในเบื้องต้นใช้วิตกตรึกไปตรึกมา ใช้วิปัสสนาปัญญาตรวจดู ย่อมรู้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร ธรรมเหล่านี้เป็นรูปาวจรเป็นต้น.
               ก็หรือว่าช่างถากเอาขวานถากไม้ใหญ่ที่บุรุษจับปลายคอยพลิกให้ ย่อมนำไปใช้งานได้ฉันใด พระโยคาวจรพิจารณาธรรมที่วิตกคอยตรึกให้ด้วยปัญญา โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร ธรรมเหล่านี้เป็นรูปาวจร ย่อมนำเข้าไปใช้งานได้ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สัมมาสังกัปปะมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ในลำดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น ดังนี้.
               สัมมาสังกัปปะนี้นั้นมีอุปการะแก่สัมมาวาจา เหมือนดังมีอุปการะแก่สัมมาทิฏฐิฉะนั้น. สมดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนคหบดี บุคคลตรึกแล้วพิจารณาแล้วในเบื้องต้นก่อนแล จึงเปล่งวาจา. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสสัมมาวาจาไว้ในลำดับแห่งสัมมาสังกัปปะนั้น.
               ก็เพราะเหตุที่คนจะต้องจัดแจงด้วยวาจาก่อนว่า เราจะกระทำสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้แล้ว จึงประกอบการงานในโลก เพราะฉะนั้น จึงตรัสสัมมากัมมันตะไว้ในลำดับสัมมาวาจา เพราะวาจามีอุปการะแก่การงาน.
               ก็เพราะเหตุที่ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ ย่อมบริบูรณ์แก่ผู้ละวจีทุจริต ๔ และกายทุจริต ๓ แล้วทำวจีสุจริตและกายสุจริตทั้งสองอย่างให้บริบูรณ์ ไม่บริบูรณ์สำหรับคนนอกนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสัมมาอาชีวะไว้ในลำดับแห่งสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะทั้งสองนั้น.
               เพื่อแสดงว่า ถ้าบุคคลผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์อย่างนี้ กระทำความปลาบปลื้มด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่าอาชีพของเราบริสุทธิ์ แล้วเป็นผู้ประมาทเหมือนดังหลับอยู่ ไม่ควร โดยที่แท้ควรต้องปรารภความเพียรนี้ทุกๆ อิริยาบถ จึงตรัสสัมมาวายามะไว้ในลำดับแห่งสัมมาอาชีวะนั้น.
               ต่อแต่นั้น เพื่อจะแสดงว่า แม้ปรารภความเพียรแล้ว ก็ควรกระทำสติให้ตั้งมั่นในวัตถุทั้ง ๔ มีกายเป็นต้น จึงทรงแสดงสัมมาสติไว้ในลำดับแห่งสัมมาวายามะ.
               ก็เพราะเหตุที่สติตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว ใส่ใจได้ดีถึงคติธรรมทั้งหลายที่มีอุปการะและไม่มีอุปการะแก่สมาธิ ย่อมสามารถทำจิตให้แน่วแน่ในเอกัคคตารมณ์ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ทรงแสดงสัมมาสมาธิไว้ในลำดับแห่งสัมมาสติแล. ดังนั้น จึงตรัสมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แม้นี้คละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
               ในบทว่า อชฺฌตฺตํ รูปสญฺญี ดังนี้เป็นต้น
               ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความเข้าใจรูปภายในด้วยอำนาจบริกรรมรูปภายใน.
               ก็เมื่อกระทำบริกรรมรูปสีเขียวในภายใน ย่อมกระทำ (บริกรรม คือพิจารณาบ่อยๆ) ที่ผม ที่ดีหรือที่ดวงตา. เมื่อทำบริกรรมรูปสีเหลือง ย่อมทำที่มันข้นที่ผิวหนัง ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหรือในที่ที่นัยน์ตามีสีเหลือง. เมื่อทำบริกรรมรูปสีแดง ย่อมทำที่เนื้อ ที่เลือด ที่ลิ้นหรือในที่ที่นัยน์ตามีสีแดง. เมื่อทำบริกรรมรูปสีขาว ย่อมทำที่กระดูก ที่ฟัน ที่เล็บหรือในที่ที่นัยน์ตามีสีขาว.
               ก็รูปสีเขียวเป็นต้นนั้น ไม่เป็นสีเขียวแท้ ไม่เหลืองแท้ ไม่แดงแท้ ไม่ขาวแท้ เป็นสีไม่บริสุทธิ์เลย.
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า บริกรรมอย่างนี้ของภิกษุใดเกิดขึ้นภายใน นิมิตเกิดขึ้นภายนอก ภิกษุนั้นเรียกว่ามีความเข้าใจรูปภายใน เห็นรูปภายนอก ด้วยอำนาจบริกรรมรูปภายในและให้รูปภายนอกถึงอัปปนา.
               บทว่า ปริตฺตานิ ได้แก่ ยังไม่เจริญ.
               บทว่า สุวณฺณทุพฺพณฺณานิ ความว่า จะเป็นรูปมีวรรณะดี หรือวรรณะทรามก็ช่างเถิด พึงทราบว่า ท่านกล่าวอภิภายตนะ๑- นี้ด้วยอำนาจรูปที่เป็นปริตตารมณ์เท่านั้น.
____________________________
๑- อภิภายตนะมี ๘ ประการ หมายถึงการบำเพ็ญโดยเพ่งรูปคือวัณณกสิณเป็นอารมณ์.

               บทว่า ตานิ อภิภุยฺย ความว่า บุรุษผู้มีไฟธาตุดีได้ภัตตาหารประมาณทัพพีหนึ่ง คิดว่า มีอะไรที่เราจะพึงบริโภคได้ในภัตตาหารนี้ จึงรวมทำให้เป็นคำข้าวคำเดียวกันฉันใด บุคคลผู้มีญาณอันยิ่ง มีญาณแจ่มใสก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาว่า มีอะไรที่เราจะพึงเข้าฌานในปริตตารมณ์นี้ อันนี้ไม่เป็นเรื่องหนักสำหรับเรา จึงครอบงำรูปเหล่านั้นเข้าฌาน. อธิบายว่า ให้ถึงอัปปนาในรูปนั้นพร้อมกับทำนิมิตให้เกิดขึ้นทีเดียว.
               ก็ด้วยบทว่า ชานามิ ปสฺสามิ นี้ ท่านกล่าวถึงความคำนึงของภิกษุนั้น. ก็ความคำนึงถึงนั้นแล ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ออกจากสมาบัติ ไม่ใช่มีในภายในสมาบัติ.
               บทว่า เอวํ สญฺญี โหติ ความว่า ย่อมมีความเข้าใจอย่างนี้ ด้วยความเข้าใจในความคำนึงถึงบ้าง ด้วยความเข้าใจในฌานบ้าง. ก็ความเข้าใจในการครอบงำ (รูป) ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นแม้ในภายในสมาบัติ แต่ความเข้าใจในการคำนึงถึง ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ออกจากสมาบัติแล้วเท่านั้น.
               บทว่า อปฺปมาณานิ ความว่า ขยายขนาดขึ้น คือใหญ่ขึ้น.
               ก็ในบทว่า อภิภุยฺย นี้ มีความว่า เหมือนบุรุษผู้กินจุ ได้ภัตตาหารเพิ่มอีกหนึ่งที่ ก็คิดว่า แม้ภัตตาหารอื่นก็ช่างเถิด ภัตตาหารนั้นจักทำอะไรเรา ย่อมไม่เห็นภัตตาหารที่ได้เพิ่มนั้นโดยเป็นของมากมาย ฉันใด บุคคลผู้มีญาณอันยิ่ง มีญาณแจ่มใส ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นว่า เราจะพึงเข้าฌานอะไรในรูปนี้ รูปนี้มีประมาณมากมายก็หามิได้ เราไม่หนักใจในการทำจิตให้แน่วแน่ (กับรูปนี้) ดังนี้ ครอบงำรูปเหล่านั้นเสียแล้วเข้าสมาบัติ คือทำให้ถึงอัปปนาพร้อมกับทำนิมิตให้เกิดขึ้นทีเดียว.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี ความว่า ผู้เดียวเว้นบริกรรมสัญญาในรูปภายในเสีย เพราะไม่ได้หรือเพราะไม่ต้องการ.
               บทว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า บริกรรมก็ดี นิมิตก็ดีของภิกษุใดเกิดขึ้นเฉพาะภายนอก ภิกษุนั้นท่านเรียกว่าผู้เดียว มีความเข้าใจอรูปในภายใน เห็นรูปในภายนอก.
               คำที่เหลือในสูตรนี้ มีนัยดังกล่าวไว้ในอภิภายตนะที่ ๔ นั่นแล.
               ก็บรรดารูปทั้ง ๔ นี้ รูปที่เป็นปริตตารมณ์มาด้วยอำนาจวิตกจริต. รูปมากหลายไม่มีประมาณมาด้วยอำนาจโมหจริต. รูปมีวรรณะดีมาด้วยอำนาจโทสจริต. รูปมีวรรณะทรามมาด้วยอำนาจราคจริต. เพราะรูปเหล่านี้เป็นสัปปายะของจริตเหล่านี้.
               ก็ความที่รูปเหล่านั้นเป็นสัปปายะได้กล่าวไว้พิสดารแล้วในจริยนิเทศในวิสุทธิมรรค.
               ในอภิภายตนะที่ ๕ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยต่อไปนี้
               บทว่า นีลานิ กล่าวเนื่องด้วยการถือเอาทั้งหมด.
               บทว่า นีลวณฺณานิ กล่าวเนื่องด้วยวรรณะ.
               บทว่า นีลนิทสฺสนานิ กล่าวเนื่องด้วยเห็นสีเขียว. อธิบายว่า สีไม่ปะปนกันปรากฏชัดเจน. เห็นเป็นสีเขียวสีเดียวเท่านั้น.
               ก็บทว่า นีลนิภาสานิ กล่าวเนื่องด้วยแสง. อธิบายว่า ประกอบด้วยสีเขียว. ท่านแสดงว่า อภิภายตนะเหล่านั้นบริสุทธิ์ ด้วยบทว่า นีลนิภาสานิ นี้. ก็ท่านกล่าวอภิภายตนะเหล่านี้ด้วยสีบริสุทธิ์เท่านั้น.
               ก็ในอธิการที่ว่าด้วยอภิภายตนะนี้ การทำกสิณ การบริกรรมและวิธีถึงอัปปนา มีอาทิว่า เมื่อถือเอานีลกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในดอกไม้ ผ้าหรือวรรณธาตุที่มีสีเขียวดังนี้ทั้งหมด ได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในวิสุทธิมรรค.
               ก็อภิภายตนฌานทั้ง ๘ ประการนี้เป็นวัฏฏะบ้าง เป็นบาทของวัฏฏะบ้าง เป็นบาทของวิปัสสนาบ้าง เป็นบาทของอภิญญาบ้าง แต่พึงทราบว่าเป็นโลกิยะเท่านั้น ไม่เป็นโลกุตระ.
               ในบทว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ นี้ รูปฌานที่เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณเป็นต้น ณ ที่ผมเป็นต้นในภายใน ชื่อว่ารูป. ชื่อว่ารูปี เพราะอรรถว่าเขามีรูปฌานนั้น.
               บทว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นรูปมีนีลกสิณเป็นต้นภายนอก ด้วยฌานจักษุ. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงรูปาวจรฌานแม้ทั้ง ๔ ของบุคคลผู้ทำฌานให้เกิดในกสิณอันเป็นวัตถุภายในและภายนอก.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี ความว่า ไม่มีความเข้าใจรูปภายใน คือรูปาวจรฌานอันไม่เกิดที่ผมเป็นต้นของตน. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงรูปาวจรฌานของบุคคลผู้กระทำบริกรรม (กสิณ) ในภายนอกแล้วทำฌานให้เกิด (ที่กสิณ) ในภายนอกนั่นแหละ.
               ด้วยบทว่า สุภนฺเตว อธิมุตฺโต โหติ นี้ ท่านแสดงฌานในวัณณกสิณมีนีลกสิณเป็นต้นอันบริสุทธิ์. ในฌานเหล่านั้น ความคำนึงว่างาม ย่อมไม่มีในภายในอัปปนาก็จริง ถึงอย่างนั้น ภิกษุใดทำความงามอันบริสุทธิ์ดีให้เป็นอารมณ์ของกสิณอยู่ เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นจะต้องถูกเรียกว่าเป็นผู้น้อมใจไปว่างาม เพราะฉะนั้น จึงตรัสเทศนาอย่างนั้น.
               ก็ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะเป็นผู้น้อมใจไปว่างามอย่างไร. ภิกษุในพระศาสนานี้ มีจิตสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ เพราะเป็นผู้เจริญเมตตา สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ไม่น่ารังเกียจ. มีจิตสหรคตด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขาแผ่ไป ฯลฯ ตลอดทิศหนึ่งอยู่ เพราะเป็นผู้เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ไม่น่ารังเกียจ, ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะอรรถว่าเป็นผู้น้อมใจว่างามอย่างนี้ ด้วยประการดังกล่าวนี้.
               คำใดที่จะพึงกล่าวในบทว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ เป็นต้น คำทั้งหมดแม้นั้นได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ก็ในบทว่า ปฐวีกสิณํ ภาเวติ นี้ ที่ชื่อว่ากสิณ เพราะอรรถว่าทั้งสิ้น. กสิณมีปฐวีเป็นอารมณ์ ชื่อว่าปฐวีกสิณ.
               คำว่า ปฐวีกสิณํ ภาเวติ นี้เป็นชื่อของบริกรรมว่าปฐวีก็มี ของอุคคหนิมิตก็มี ของปฏิภาคนิมิตก็มี ของฌานอันทำนิมิตนั้นให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นก็มี. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาฌานที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์. ภิกษุนั้นเจริญปฐวีกสิณนั้น.
               แม้ในอาโปกสิณเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ภิกษุเมื่อจะเจริญกสิณเหล่านี้ ชำระศีลแล้วตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ ตัดบรรดาปลิโพธความกังวล ๑๐ ประการที่มีอยู่นั้นออกไปเสีย แล้วเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กรรมฐาน เรียนเอากรรมฐานที่เป็นสัปปายะ โดยเกื้อกูลแก่จริตของตน แล้วละที่อยู่อันไม่เหมาะแก่การบำเพ็ญกสิณ อยู่ในที่อยู่อันเหมาะสม ทำการตัดความกังวลเล็กๆ น้อยๆ อย่าทำภาวนาวิธีทุกอย่างให้เสื่อมไป พึงเจริญเถิด.
               นี้เป็นความย่อในสูตรนี้ ส่วนความพิสดารได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ก็วิญญาณกสิณมาในวิสุทธิมรรคนั้นทั้งสิ้น วิญญาณกสิณนั้นโดยใจความก็คือวิญญาณอันเป็นไปในอากาสกสิณ. ก็วิญญาณนั้นแล ท่านกล่าวโดยเป็นอารมณ์ ไม่ใช่กล่าวโดยเป็นสมาบัติ. ก็ภิกษุนี้กระทำวิญญาณกสิณนั้นให้เป็นวิญญาณไม่มีที่สุด แล้วเจริญวิญญาณัญจายตนะสมาบัติอยู่ เรียกว่าเจริญวิญญาณกสิณ. กสิณ ๑๐ แม้นี้เป็นวัฏฏะบ้าง เป็นบาทของวัฏฏะบ้าง เป็นบาทของวิปัสสนาบ้าง เป็นประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันบ้าง เป็นบาทของอภิญญาบ้าง เป็นบาทของนิโรธบ้าง เป็นโลกิยะเท่านั้น ไม่เป็นโลกุตระ.
               บทว่า อสุภสญฺญํ ภาเวติ ความว่า สัญญาอันสหรคตด้วยปฐมฌานซึ่งเกิดในอารมณ์ ๑๐ มีศพที่ขึ้นพองเป็นต้น เรียกว่าอสุภ. อบรมคือพอกพูน เจริญอสุภสัญญานั้น.
               อธิบายว่า ทำอสุภสัญญาที่ยังไม่เกิดขึ้น ตามรักษาอสุภสัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเอาไว้.
               ก็แนวของการเจริญอสุภ ๑๐ ทั้งหมดกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า มรณสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันทำมรณะแม้ทั้ง ๓ คือ สมมุติมรณะ ขณิกมรณะ สมุจเฉทมรณะให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น. อธิบายว่า ทำสัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ตามรักษาสัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเอาไว้.
               มรณสติอันมีลักษณะดังกล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ เรียกว่ามรณสัญญาในที่นี้. อธิบายว่า เจริญมรณสัญญานั้น ทำให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น. ก็นัยแห่งการเจริญมรณสัญญานั้นกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               บทว่า อาหาเร ปฏิกูลสญฺญํ ภาเวติ ความว่า ย่อมเจริญสัญญาอันเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พิจารณาความปฏิกูล ๙ อย่างมีปฏิกูลโดยการไปเป็นต้น ในกวฬิงการาหารชนิดที่กินและดื่มเป็นต้น. อธิบายว่า ทำให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น. นัยแห่งการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาแม้นั้น ก็ได้กล่าวไว้อย่างพิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคเหมือนกัน.
               บทว่า สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญอนภิรตสัญญา (ความสำคัญว่าไม่น่ายินดี) คืออุกกัณฐิตสัญญาในไตรโลกธาตุแม้ทั้งสิ้น.
               บทว่า อนิจฺจสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันเกิดขึ้นในขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยง กำหนดพิจารณาความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปและความแปรปรวนแห่งอุปาทานขันธ์ ๕.
               บทว่า อนิจฺเจ ทุกฺขสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันเกิดขึ้นว่า เป็นทุกข์ กำหนดพิจารณาทุกขลักษณะคือความบีบคั้น ในขันธปัญจกอันไม่เที่ยง.
               บทว่า ทุกฺเข อนตฺตสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันเกิดขึ้นว่า เป็นอนัตตา อันกำหนดพิจารณาอนัตตลักษณะ กล่าวคือ อาการอันไม่อยู่ในอำนาจ ในขันธบัญจกอันเป็นทุกข์เพราะอรรถว่าบีบคั้น.
               บทว่า ปหานสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันทำปหานะ ๕ อย่างให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               บทว่า วิราคสญฺญํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันกระทำวิราคะ ๕ อย่างนั่นแลให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               บทว่า นิโรธสญฺญ ภาเวติ ความว่า เจริญสัญญาอันทำสังขารนิโรธให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น. บางอาจารย์กล่าวว่า สัญญาอันกระทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ดังนี้ก็มี.
               ก็ในบทว่า นิโรธสญฺญํ ภาเวติ นี้ ท่านกล่าวถึงวิปัสสนาอันแก่กล้าด้วยสัญญาทั้ง ๓ นี้ คือ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑. ท่านกล่าวซ้ำเฉพาะการปรารภวิปัสสนาด้วยสัญญา ๑๐ ประการมีคำว่า อนิจฺจสญฺญํ ภาเวติ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า พุทฺธานุสฺสติ เป็นต้น ได้กล่าวอธิบายความไว้แล้ว.
               บทว่า ปฐมชฺฌานสหคตํ แปลว่า ไป คือเป็นไปพร้อมกับปฐมฌาน. อธิบายว่า สัมปยุตด้วยปฐมฌาน.
               บทว่า สทฺธินฺทฺริยํ ภาเวติ ความว่า เจริญสัทธินทรีย์ให้สหรคตด้วยปฐมฌาน คืออบรม พอกพูน ให้เจริญ.
               ในบททุกบทมีนัยดังกล่าวนี้.


               จบอรรถกถาอปรอัจฉราสังฆาตวรรค               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 205อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 207อ่านอรรถกถา 20 / 247อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1059&Z=1266
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10418
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10418
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :