ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 141อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 21 / 161อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
๑. อินทรียวรรค

               อินทริยวรรควรรณนาที่ ๑               
               อรรถกถาอาภาสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในอินทริยสูตรที่ ๑ แห่งปัณณาสก์ที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าสัทธินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในสัทธาธุระ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล.
               จบอรรถกถาอินทริยสูตรที่ ๑               

               ปฐมพลสูตรที่ ๒ ชื่อว่าสัทธาพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในอัสสัทธิยะ (ความไม่เชื่อ).
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล.

               อรรถกถาทุติยพลสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในทุติยพลสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อนวชฺชพลํ คือ พละคือกรรมทีไม่มีโทษ.
               บทว่า สงฺคาหกพลํ ได้แก่ พละคือการสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์.
               จบอรรถกถาทุติยพลสูตรที่ ๓               

               ตติยพลสูตรที่ ๔ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               จตุตถพลสูตรที่ ๕ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

               อรรถกถากัปปสูตรที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในกัปปสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
               ในบทว่า สํวฏฺโฏ นี้ ความเสื่อม ๓ คือ ความเสื่อมด้วยน้ำ ๑ ความเสื่อมด้วยไฟ ๑ ความเสื่อมด้วยลม ๑.
               เขตความเสื่อมมี ๓ คือ อาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม.
               ในคราวที่กัปเสื่อมด้วยไฟ ไฟย่อมไหม้ภายใต้อาภัสสรพรหม. ในคราวที่เสื่อมด้วยน้ำ น้ำย่อมละลายแต่ภายใต้สุภกิณหพรหม. ในคราวที่เสื่อมด้วยลม ลมย่อมทำลายภายใต้แต่เวหัปผลพรหม. แต่เมื่อกล่าวโดยพิสดาร พุทธเขตแห่งหนึ่งย่อมพินาศได้ทุกเมื่อ.
               นี้เป็นความสังเขปในที่นี้. ส่วนเรื่องพิสดาร ผู้ศึกษาพึงทราบได้ โดยนัยอันกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               จบอรรถกถากัปปสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาโรคสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในโรคสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วิฆาตวา ได้แก่ ประกอบด้วยความร้อนใจ คือทุกข์มีความมักมากเป็นปัจจัย.
               บทว่า อสนฺตุฏฺโฐ ได้แก่ เป็นผู้ไม่สันโดษ ด้วยสันโดษ ๓ ในปัจจัย ๔.
               บทว่า อนวญฺญปฏิลาภาย ได้แก่ เพื่อได้ความยกย่องจากผู้อื่น.
               บทว่า ลาภสกฺการสิโลกปฏิลาภาย ได้แก่ เพื่อได้ลาภสักการะอันได้แก่ปัจจัย ๔ ที่เขาจัดไว้เป็นอย่างดี และความสรรเสริญอันได้แก่การกล่าวยกย่อง.
               บทว่า สงฺขาย กุลานิ อุปสงฺกมติ ได้แก่ เข้าไปสู่ตระกูล เพื่อรู้ว่าชนเหล่านี้รู้จักเราไหม.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาโรคสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาปริหานิสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในปริหานิสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า คมฺภีเรสุ ได้แก่ ลึกโดยอรรถ.
               บทว่า ฐานาฐาเนสุ ได้แก่ ในเหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า น กมติ ได้แก่ ไม่นำไปคือไม่เป็นไป.
               ในบทว่า ปญฺญาจกฺขุํ นี้ แม้ปัญญาเกิดจากการเรียน การสอบถามก็ควร แม้ปัญญาเกิดจากการพิจาณา การแทงตลอดก็ควร.
               จบอรรถกถาปริหานิสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอหิ ตฺวํ ได้แก่ ภิกษุณีมีจิตปฏิพันธ์ในพระเถระ จึงกล่าวอย่างนี้ เพื่อส่งบุรุษนั้นไป.
               บทว่า สสีสํ ปารุปิตฺวา ได้แก่ คลุมกายตลอดศีรษะ.
               บทว่า มญฺจเก นิปชฺชิ ได้แก่ ภิกษุณีรีบลาดเตียงแล้วนอนบนเตียงนั้น.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอานนท์สังเกตอาการของภิกษุณีนั้น จึงได้กล่าวกะภิกษุณีนั้น เพื่อแสดงอสุภกถาโดยนิ่มนวล เพื่อให้ภิกษุณีละความโลภ.
               บทว่า อาหารสมฺภูโต ได้แก่ ร่างกายนี้เกิดเป็นมาเพราะอาหาร คือเจริญขึ้นเพราะอาศัยอาหาร.
               บทว่า อาหารํ นิสฺสาย อาหารํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยกวฬีการาหารอันเป็นปัจจุบัน เสพอาหารนั้นโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมละอาหารกล่าวคือกรรมเก่า พึงละตัณหา อันเป็นความใคร่ในกวฬีการาหารแม้อันเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า ตณฺหํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยตัณหาอันเป็นปัจจุบันที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ ในบัดนี้ ย่อมละบุพตัณหาอันมีวัฏฏะเป็นมูล.
-----------------------------------------------------
                         อยํ ปน ปจฺจุปฺปนฺนตณฺหา กุสลา อกุสลาติ? กุสลา.
               เสวิตพฺพา น เสวิตพฺพาติ? เสวิตพฺพา

               ถามว่า ก็ตัณหาอันเป็นปัจจุบันนี้เป็นกุศลหรืออกุศล.
               ตอบว่า เป็นอกุศล.
               ถามว่า ควรเสพหรือไม่ควรเสพ.
               ตอบว่า ควรเสพ.
-----------------------------------------------------
               ถามว่า จะชักปฏิสนธิมาหรือไม่ชักมา.
               ตอบว่า ไม่ชักมา. แต่ควรละความใคร่ในตัณหาที่ควรเสพ อันเป็นปัจจุบันแม้นี้เสียทีเดียว.
               บทว่า กิมงฺคํ ปน ในบทว่า โส หิ นาม อายสฺมา อาสวานํ ขยา ฯเปฯ อุปสมฺปชฺช วิหริสฺติ กิมงฺคํ ปนาหํ นี้ นั่นเป็นความปริวิตกถึงเหตุ.
               ท่านอธิบายข้อนี้ไว้ว่า ภิกษุนั้นจักทำอรหัตผลให้แจ้งอยู่ ด้วยเหตุไรเราจึงจักไม่ทำให้แจ้งอยู่เล่า แม้ภิกษุนั้นก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เราก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน อรหัตผลนั้นจักเกิดแก่เราบ้าง.
               บทว่า มานํ นิสฺสาย ได้แก่ อาศัยมานะที่ควรเสพอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้.
               บทว่า มานํ ปชหติ ได้แก่ บุคคลละบุพมานะอันมีวัฏฏะเป็นมูล. อธิบายว่า ก็บุคคลนั้นอาศัยมานะใดละมานะนั้นได้ แม้มานะนั้นก็เป็นอกุศล ควรเสพและไม่ชักปฏิสนธิมาดุจตัณหา แต่ควรละความใคร่แม้ในมานะนั้นเสีย.
               บทว่า เสตุฆาโต วุตฺโต ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะตรัสสอนให้ทำลายทาง คือทำลายปัจจัยเสีย. เมื่อพระเถระยักเยื้องเทศนาด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล้ว ฉันทราคะอันปรารภพระเถระเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีนั้นได้หมดไปแล้ว. แม้ภิกษุณีนั้นก็ขอโทษที่ล่วงเกิน เพื่อให้พระเถระยกโทษให้. แม้พระเถระก็รับโทษที่ล่วงเกินของภิกษุณีนั้น. เพื่อแสดงถึงข้อนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า อถโข สา ภิกฺขุนี ดังนี้.
               จบอรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสุคตสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในสุคตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทุคฺคหิตํ ได้แก่ ถือกันมานอกลำดับ.
               บทว่า ปริยาปุณนฺติ ได้แก่ ถ่ายทอดมาคือกล่าว.
               ก็ในบทว่า ปทพฺยญฺชเนหิ นี้ ท่านกล่าวว่า บทของความนั่นแหละเป็นพยัญชนะโดยพยัญชนะ.
               บทว่า ทุนฺนิกฺขิตฺตสฺส ได้แก่ ใช้ผิด คือตั้งไว้นอกลำดับ.
               บทว่า อตฺโถปิ ทุนฺนโย โหติ ได้แก่ ไม่อาจจะนำอรรถกถาออกมากล่าวได้.
               บทว่า ฉินฺนมูลโก ได้แก่ ชื่อว่า ฉินฺนมูลก เพราะขาดภิกษุผู้เป็นมูล (อาจารย์).
               บทว่า อปฺปฏิสรโณ คือ ไม่มีที่พึ่ง.
               บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อสะสมปัจจัย.
               บทว่า สาถลิกา ได้แก่ ถือไตรสิกขาย่อหย่อน.
               บทว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ท่านเรียกว่าโอกกมนะ เพราะเดินลงต่ำ (เสื่อม). อธิบายว่า มุ่งไปในโอกกมนะนั้น (มุ่งไปในทางจะลาสิกขา).
               บทว่า ปริเวเก ได้แก่ วิเวก ๓.
               บทว่า นิกฺขิตฺตธุรา ได้แก่ ไม่มีความเพียร.
               พึงทราบความในที่ทั้งปวงในสูตรนี้.
               จบอรรถกถาสุคตสูตรที่ ๑๐               
               จบอินทริยวรรควรรณนาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ๑. อินทรียวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 141อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 21 / 161อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=3884&Z=4082
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8828
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8828
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :