ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 20อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 21 / 22อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓
๑. อุรุเวลสูตรที่ ๑

               อุรุเวลวรรควรรณนาที่ ๓               
               อรรถกถาอุรุเวลสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุรุเวลสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุรุเวลา ในบทว่า อุรุเวลายํ นี้ ได้แก่ เขตทรายกองใหญ่. อธิบายว่า ทรายกองใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในข้อนี้อย่างนี้ว่า ทรายเรียกว่าอุรุ เขตแดนเรียกว่าเวลา. ทรายที่เขาขนมาเพราะละเมิดกติกาเป็นเหตุ ชื่อว่าอุรุเวลา.
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ กุลบุตรหมื่นคนบวชเป็นดาบสอยู่ในประเทศนั้น ในวันหนึ่ง ประชุมพร้อมกันแล้วได้ตั้งกติกากันว่า ชื่อว่ากายกรรม วจีกรรม ย่อมปรากฏแก่ชนเหล่าอื่นได้ ส่วนมโนกรรมไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น บุคคลใดตรึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก. บุคคลอื่นชื่อว่า จะตักเตือนบุคคลนั้นไม่มี บุคคลนั้นตักเตือนตนด้วยตนเองแล้ว เอาใบไม้ห่อทรายนำมาเกลี่ยลงในที่นี้. นี้จัดเป็นทัณฑกรรมของบุคคลนั้น.
               ตั้งแต่นั้นมา ผู้ใดตรึกวิตกเช่นนั้น ผู้นั้นเอาใบไม้ห่อทรายมาเกลี่ยลงในที่นั้น จึงเกิดเป็นกองทรายใหญ่โดยลำดับ ในที่นั้น ด้วยประการฉะนี้ ต่อมา หมู่คนที่เกิดในภายหลังจึงล้อมกองทรายใหญ่นั้น ทำให้เป็นเจติยสถาน. ท่านหมายถึงเจติยสถานนั้น จึงกล่าวว่า อุรุเวลาติ มหาเวลา มหาวาลิการาสีติ อตฺโถ ดังนี้ ท่านหมายถึงข้อนั้นเองจึงกล่าวไว้. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในข้อนี้อย่างนี้ว่า ทรายเรียกว่าอุรุ เขตแดนเรียกว่าเวลา ทรายที่เขานำมาเพราะเหตุละเมิดกติกาเป็นเหตุ ชื่ออุรุเวลา.
               ด้วยบทว่า นชฺชา เนรญฺชราย ตีเร ทรงแสดงว่า เราอาศัยอุรุเวลคามพักอยู่ แทบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา.
               บทว่า อชปาลนิโคฺรเธ ความว่า พวกคนเลี้ยงแพะนั่งบ้าง ยืนบ้าง ในร่มเงาของต้นนิโครธนั้น เพราะเหตุนั้น ต้นนิโครธนั้น จึงเรียกว่าอชปาลนิโครธ. อธิบายว่า ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธนั้น.
               บทว่า ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ความว่า เป็นผู้ตรัสรู้ครั้งแรก.
               บทว่า อุทปาทิ ความว่า วิตกนี้เกิดในสัปดาห์ที่ ๕.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงเกิดขึ้น.
               ตอบว่า เพราะเป็นอาจิณปฏิบัติและอาเสวนปัจจัยชาติก่อน ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ในเหตุข้อนั้น พึงนำติตติรชาดกมาแสดงเพื่อประกาศอาเสวนะ การซ่องเสพในชาติก่อน.
               ได้ยินว่า นกกระทา ลิงและช้าง เมื่ออยู่ในประเทศแห่งหนึ่ง จึงแสดงต้นไทรว่า บรรดาพวกเรา ผู้ใดเป็นผู้แก่ เราทั้งหลายจักเคารพในผู้นั้นอยู่. ทบทวนกันอยู่ว่า บรรดาพวกเราใครหนอเป็นผู้แก่. รู้ว่านกกระทาเป็นผู้แก่ จึงทำความอ่อนน้อมต่อนกกระทานั้น เป็นผู้พร้อมเพรียง ยินดีกะกันและกันอยู่ ก็ได้มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า.
               เทววดาผู้สถิตอยู่ ณ ต้นไม้ ทราบเหตุนั้นจึงกล่าวคาถานี้ว่า
                         เย วุฑฺฒมปจายนฺนิ         นรา ธมฺมสฺส โกวิทา
                         ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ ปาสํสา    สมฺปราเย จ สุคฺคติ
                         นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมอ่อนน้อม
                         ผู้ใหญ่ นรชนเหล่านั้นได้รับสรรเสริญในโลก
                         นี้ และในสัมปรายภพก็มีสุคติ ดังนี้.

               พระตถาคตแม้เกิดในกำเนิดอเหตุกดิรัจฉานอย่างนี้ ยังทรงชอบพระทัยการอยู่อย่างมีความเคารพ บัดนี้ เหตุไรจักไม่ทรงชอบพระทัยเล่า.
               บทว่า อคารโว คือ เว้นความเคารพในบุคคลอื่น. อธิบายว่า ไม่ตั้งใครไว้ในฐานะควรเคารพ.
               บทว่า อปฺปติสฺโส คือ เว้นความยำเกรง. อธิบายว่า ไม่ตั้งใครไว้ในฐานะผู้ใหญ่.
               ในบทว่า สมณํ วา พฺรหฺมณํ วา นี้ ท่านประสงค์เอาสมณะและพราหมณ์ผู้สงบบาป และผู้ลอยบาปแล้วเท่านั้น.
               บทว่า สกฺกตฺวา ครุกตฺวา ความว่า ทำสักการะและเข้าไปตั้งความเคารพ.
               ในบทว่า สเทวเก โลเก เป็นอาทิ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               สเทวกะ แปลว่า พร้อมกับเทวดาทั้งหลาย ก็บรรดามารและพรหมทั้งหลายที่ทรงถือเอาด้วยเทวศัพท์ในบทนี้ ชื่อว่ามาร ผู้มีอำนาจย่อมใช้อำนาจเหนือสัตว์ทั้งปวง ชื่อว่าท้าวมหาพรหมผู้มีอานุภาพใหญ่ ย่อมแผ่แสงสว่างไปในหนึ่งจักรวาลด้วยนิ้วหนึ่ง ในสองจักรวาลด้วยสองนิ้ว ย่อมแผ่แสงสว่างไปในหนึ่งจักรวาลด้วยนิ้วทั้ง ๑๐ จึงแยกตรัสว่า สมารเก สพฺรหฺมเก ด้วยดำริว่า ชนทั้งหลายอย่าได้กล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์กว่าด้วยศีลนี้. ชื่อว่า สมณะทั้งหลายก็เหมือนกันเป็นพหูสูต ด้วยอำนาจนิกายหนึ่งเป็นต้น มีศีลเป็นบัณฑิต. แม้พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นพหูสูต ด้วยอำนาจวิชารู้พื้นที่เป็นต้น เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย ด้วยทรงดำริว่า ชนทั้งหลายอย่าได้กล่าวว่าสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์กว่า ด้วยศีลนี้. ส่วนบทว่า สเทวมนุสฺสาย นี้ทรงถือเอาเพื่อทรงแสดงโดยสิ้นเชิง ครั้นทรงถือเอาแล้วจึงตรัส. อนึ่ง ในคำนี้ สามบทแรกตรัสด้วยอำนาจโลก สองบทหลังตรัสด้วยอำนาจหมู่สัตว์.
               บทว่า สีลสมฺปนฺนตรํ ความว่า ผู้สมบูรณ์กว่า คือผู้ยิ่งกว่าด้วยศีล.
               ก็ในข้อนี้ ธรรม ๔ มีศีลเป็นต้น ตรัสทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระ.
               วิมุตติญาณทัสสนะ และปัจเวกขณญาณ เป็นโลกิยะอย่างเดียว.
               บทว่า ปาตุรโหสิ ความว่า สหัมบดีพรหมคิดว่า พระศาสดานี้ เมื่อไม่ทรงเห็นผู้ที่ยิ่งกว่าพระองค์ด้วยศีลเป็นต้น ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม ทรงดำริว่า เราจักทำสักการะโลกุตรธรรม ๙ ที่เราแทงตลอดแล้วเข้าอาศัยอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริถึงเหตุ ทรงดำริถึงประโยชน์ คุณวุฒิพิเศษ จำเราจักไปทำอุตสาหะให้เกิดแด่พระองค์ ดังนี้ จึงได้ปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์. อธิบายว่า ได้ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์.
               ในบทว่า วิหํสุ วิหรนฺติ จ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               ผู้ใดพึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอันมาก แม้ในปัจจุบัน เพราะพระบาลีว่า วิหรนฺติ ดังนี้ ผู้นั้นพึงถูกคัดค้าน ด้วยบาลีนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ดังนี้. พึงแสดงความไม่มีพระพุทธะทั้งหลายอื่นแก่ผู้นั้นด้วยสูตรทั้งหลายเป็นอาทิว่า
                         น เม อาจริโย อตฺถิ    สทิโส เม น วิชฺชติ
                         สเทวกสฺมึ โลกสฺมึ     นตฺถิ เม ปฏิปุคฺคโล
                         เราไม่มีอาจารย์ ไม่มีคนเสมือนเรา
                         คนที่จะเทียบเราไม่มีในโลก ทั้งเทวโลก.

               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงทรงเคารพพระสัทธรรม.
               บทว่า มหตฺตมภิกงฺขตา ความว่า ปรารถนาความเป็นใหญ่.
               บทว่า สรํ พุทฺธาน สาสนํ ความว่า เมื่อมาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า ยโต แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า มหตฺเตน สมนฺนาคโต ความว่า แม้สงฆ์ประกอบด้วยความเป็นใหญ่ ๔ อย่างนี้ คือ
                         ความเป็นใหญ่โดยเป็นรัตตัญญู รู้ราตรีนาน ๑
                         ความเป็นใหญ่โดยความไพบูลย์ ๑
                         ความเป็นใหญ่โดยพรหมจรรย์ ๑
                         ความเป็นใหญ่โดยความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ๑.
               บทว่า อถ เม สงฺเฆปิ คารโว ความว่า เมื่อนั้นเราก็เกิดความเคารพแม้ในสงฆ์.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำความเคารพในสงฆ์ในเวลาไร.
               ตอบว่า ในเวลาพระนางปชาบดีถวายผ้าคู่ จริงอยู่ ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสถึงผ้าคู่ที่พระนางมหาปชาบดีน้อมเข้าไปถวายแด่พระองค์ว่า โคตมี พระนางจงถวายในสงฆ์เถิด เมื่อพระนางถวายในสงฆ์แล้ว ทั้งเราทั้งสงฆ์ก็จักเป็นอันพระนางบูชาแล้ว ชื่อว่าทรงทำความเคารพในสงฆ์.

               จบอรรถกถาอุรุเวลสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓ ๑. อุรุเวลสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 20อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 21 / 22อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=510&Z=554
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=6826
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=6826
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :