ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 21อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 21 / 23อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓
๒. อุรุเวลสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สมฺพหุลา คือ พวกพราหมณ์เป็นอันมาก.
               บทว่า พฺราหฺมณา ความว่า พวกพราหมณ์มาแล้วพร้อมกันกับพราหมณ์ผู้พูดคำหยาบ.
               บทว่า ชิณฺณา วุฑฺฒา ได้แก่ ผู้คร่ำคร่าด้วยชรา เจริญด้วยวัย.
               บทว่า มหลฺลกา ได้แก่ แก่โดยชาติ.
               บทว่า อทฺธคตา ได้แก่ ล่วงกาลผ่านวัยทั้งสามไปแล้ว.
               บทว่า สุตํ เมตํ ได้แก่ ข้อนี้พวกเราฟังมาแล้ว.
               บทว่า ตยิทํ โภ โคตม ตเถว ความว่า ท่านพระโคดม ข้อนี้พวกเราฟังมาแล้ว การณ์ก็เป็นจริงอย่างนั้น.
               บทว่า ตยิทํ โภ โคตม น สมฺปนฺนเมว ความว่า การไม่ทำอภิวาทเป็นต้นนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
               ในบทเป็นต้นว่า อกาลวาที มีวินิจฉัยดังนี้.
               ชื่อว่า อกาลวาที เพราะพูดไม่รู้จักกาล (พร่ำเพรื่อ).
               ชื่อว่า อภูตวาที เพราะพูดแต่เรื่องที่ไม่จริง.
               ชื่อว่า อนัตถวาที เพราะพูดแต่เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์.
               ชื่อว่า อธัมมวาที เพราะพูดไม่เป็นธรรม ไม่พูดเป็นธรรม.
               ชื่อว่า อวินยวาที เพราะพูดไม่เป็นวินัย ไม่พูดเป็นวินัย.
               บทว่า อนิธานวตึ วาจํ ภาสิตา ได้แก่ ไม่กล่าววาจาที่ควรจดจำไว้ในหทัย.
               บทว่า อกาเลน ได้แก่ โดยกาลไม่ควรจะพูด.
               บทว่า อนปเทสํ ได้แก่ พูดขาดที่อ้างอิง ไม่พูดให้มีที่อ้างอิงมีเหตุ.
               บทว่า อปริยนฺตวตึ ได้แก่ ไม่รู้จักจบ ไม่พูดมีกำหนด (จบ).
               บทว่า อนตฺถสญฺหิตํ ได้แก่ ไม่แสดงให้อาศัยประโยชน์อันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า พาโล เถโร เตวฺว สงฺขฺยํ คจฺฉติ ความว่า นับได้ว่าเป็นเถระอันธพาล (ผู้โง่บอด).
               บทเป็นต้นว่า กาลวาที พึงทราบด้วยสามารถแห่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
               บทว่า ปณฺฑิโต เถโรเตฺวว สงฺขฺยํ คจฺฉติ ความว่า นับได้ว่าบัณฑิต เพราะประกอบด้วยความฉลาด ว่าเถระเพราะถึงความเป็นผู้มั่นคง.
               บทว่า พหุสฺสุโต โหติ ความว่า ภิกษุนั้นมีสุตะมาก อธิบายว่า นวังคสัตถุศาสน์เป็นอันภิกษุนั้นเรียนแล้ว ด้วยสามารถเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งบาลีและอนุสนธิ.
               บทว่า สุตธโร ได้แก่ เป็นผู้รองรับสุตะไว้ได้.
               จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุใดเรียนแต่บาลีประเทศนี้ เลือนหายไปจากบาลีประเทศนี้ ไม่คงอยู่ ดุจน้ำในหม้อทะลุ เธอไม่สามารถจะกล่าวหรือบอกสูตรหรือชาดกอย่างหนึ่ง ในท่ามกลางบริษัทได้ ภิกษุนี้หาชื่อว่า ผู้ทรงสุตะไม่.
               ส่วนพระพุทธวจนะอันภิกษุใดเรียนแล้ว ย่อมเป็นอย่างเวลาที่ตนเรียนมาแล้วนั่นแหละ เมื่อเธอไม่ทำการสาธยายตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่เลือนหาย ภิกษุนี้ ชื่อว่าผู้ทรงสุตะ.
               บทว่า สุตสนฺนิจโย ได้แก่ ผู้สั่งสมสุตะ.
               ก็สุตะอันภิกษุใดสั่งสมไว้ในตู้คือหทัย ย่อมคงอยู่ดุจรอยจารึกที่ศิลา และดุจมันเหลวราชสีห์ที่เขาใส่ไว้ในหม้อทองคำ ภิกษุนี้ ชื่อว่า สั่งสมสุตะ.
               บทว่า ธตา คือ ทรงจำไว้ได้คล่องแคล่ว.
               จริงอยู่ พระพุทธวจนะอันภิกษุบางรูปเรียนแล้วไม่ทรงจำให้คล่องแคล่ว ไม่หนักแน่น เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้นดังนี้ เธอก็กล่าวว่า เราจักสาธยายเทียบเคียง สอบสวนก่อนแล้ว จึงค่อยรู้ พระพุทธวจนะที่ภิกษุบางรูปทรงจำคล่องแคล่วเป็นเสมือนภวังคโสต. เมื่อถูกเขาพูดว่า ท่านโปรดกล่าวสูตรหรือชาดกโน้น ดังนี้ เธอจะยกขึ้นกล่าวสูตรหรือชาดกนั้นได้ทันที. ตรัสว่าธตาทรงหมายถึงข้อนั้น.
               บทว่า วจสา ปริจิตา ได้แก่ สาธยายด้วยวาจาได้สูตร ๑๐ หมวด วรรค ๑๐ หมวด ๕๐ หมวด.
               บทว่า มนสานุเปกฺขิตา ได้แก่ เพ่งด้วยจิต. พระพุทธวจนะที่ภิกษุใดสาธยายแล้วด้วยวาจา ปรากฏชัดในที่นั้นๆ แก่เธอผู้คิดอยู่ด้วยใจ เหมือนรูปปรากฏชัด แก่บุคคลผู้ยืนตามประทีปดวงใหญ่ ฉะนั้น. ทรงหมายเอาพระพุทธวจนะของภิกษุนั้นจึงตรัสคำนี้.
               บทว่า ทิฏฺฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา ได้แก่ ใช้ปัญญาขบทะลุปรุโปร่ง ทั้งเหตุทั้งผล.
               บทว่า อาภิเจตสิกานํ ความว่า จิตที่บริสุทธิ์ น่าใคร่ หรืออธิจิตท่านเรียกว่า อภิเจตะ ฌาน ๔ เกิดในอภิจิต ชื่ออาภิเจตสิก. อีกนัยหนึ่ง ฌาน ๔ อาศัยอภิเจตะ เหตุนั้น จึงชื่อว่าอาภิเจตสิกะ.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารานํ ได้แก่ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
               อัตภาพที่ประจักษ์ ท่านเรียกว่าทิฏฐธรรม. อธิบายว่า เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนั้น คำนี้เป็นชื่อของรูปาวจรฌานทั้งหลาย จริงอยู่ ผู้ได้ฌานนั่งเข้าฌานเหล่านั้นย่อมได้เนกขัมมสุข อันไม่เศร้าหมอง ในอัตภาพนี้นี่แหละ. เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ทิฏฐธมฺมสุขวิหารานํ ดังนี้.
               บทว่า นิกามลาภี ได้แก่ ได้ตามต้องการ ได้ตามอำนาจ ความปรารถนาของตน. ท่านอธิบายว่า สามารถจะเข้าฌานได้ในขณะที่ปรารถนาแล้ว.
               บทว่า อกิจฺฉลาภี ท่านอธิบายว่า สามารถข่มธรรมที่เป็นข้าศึกแล้วเข้าฌานได้สะดวก.
               บทว่า อกสิรลาภี ได้แก่ ได้ความไม่ลำบากคือคล่อง. ท่านอธิบายว่า สามารถออกจากฌานได้ตามกำหนด.
               จริงอยู่ บางคนได้ฌานเท่านั้น ไม่สามารถจะเข้าได้ในขณะที่ปรารถนา. บางคนสามารถเข้าอย่างนั้นได้ แต่ก็ข่มธรรมที่ทำอันตรายได้โดยยาก. บางคนเข้าได้อย่างนั้น ทั้งข่มธรรมที่ทำอันตรายได้ โดยไม่ยากเลย แต่ก็ไม่สามารถออกจากฌานได้ตามกำหนด เหมือนนาฬิกายนต์. ก็สัมปทา ๓ อย่างนี้มีแก่ผู้ใด ผู้นั้น ท่านเรียกว่าอกสิรลาภีได้คล่อง ดังนี้.
               บทเป็นต้นว่า อาสวานํ ขยา มีเนื้อความอันกล่าวมาแล้วทั้งนั้น. ในที่นี้แม้ศีล ก็ตรัสถึงศีลของพระขีณาสพเท่านั้น แม้พาหุสัจจะก็ตรัสพาหุสัจจะของพระขีณาสพเท่านั้น แม้ฌานก็ตรัสฌานที่ใช้สำหรับพระขีณาสพเท่านั้น. ส่วนพระอรหัต ตรัสด้วยบทเป็นต้นว่า อาสวานํ ขยา ดังนี้. แต่กิจของมรรคในที่นี้ พึงทราบว่า ทรงประกาศด้วยผล (อรหัตผล).
               บทว่า อุทฺธเตน ได้แก่ ประกอบด้วยอุทธัจจะ.
               บทว่า สมฺผญฺจ ได้แก่ คำเพ้อเจ้อ.
               บทว่า อสมาหิตสงฺกปฺโป ได้แก่ มีความดำริไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า มิโค ได้แก่ เสมือนมฤค.
               บทว่า อารา แปลว่า ในที่ใกล.
               บทว่า ถาวเรยฺยมฺหา ได้แก่ จากความมั่นคง.
               บทว่า ปาปทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นลามก.
               บทว่า อนาทโร ได้แก่ เว้นจากความเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า สุตวา ได้แก่ เข้าถึงโดยสูตร.
               บทว่า ปฏิภาณวา ความว่า ผู้ประกอบด้วยปฏิภาณสองอย่าง.
               บทว่า ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นปรุโปร่ง ซึ่งอรรถแห่งสัจจะ ๔ ด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า ปารคู สพฺพธมฺมานํ ความว่า ถึงฝั่งแห่งธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง เป็นผู้ถึงฝั่งคือที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง ด้วยการถึงฝั่ง ๖ อย่าง อย่างนี้คือ ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ๑ ถึงฝั่งแห่งปริญญา ๑ ถึงฝั่งแห่งภาวนา ๑ ถึงฝั่งแห่งปหานะ ๑ ถึงฝั่งแห่งสัจฉิกิริยา ๑ ถึงฝั่งแห่งสมาบัติ ๑.
               บทว่า อขิโล ได้แก่ เว้นจากตะปู คือราคะเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิภาณวา ได้แก่ ประกอบด้วยปฏิภาณ ๒ อย่าง.
               บทว่า พฺรหฺมจริยสฺส เกวลี ได้แก่ อยู่จบพรหมจรรย์.
               คำที่เหลือในสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓ ๒. อุรุเวลสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 21อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 21 / 23อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=555&Z=595
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=6899
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=6899
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :