ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 221อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 232อ่านอรรถกถา 21 / 243อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์
๔. กรรมวรรค

               กรรมวรรควรรณนาที่ ๔               
               อรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสังขิตตสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้
               บทว่า กณฺหํ ได้แก่ กรรมดำ คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า กณฺหวิปากํ ได้แก่ มีวิบากดำ เพราะให้เกิดในอบาย.
               บทว่า สุกฺกํ ได้แก่ กรรมขาว คือ กุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า สุกฺกวิปากํ ได้แก่ มีวิบากขาว เพราะให้เกิดในสวรรค์.
               บทว่า กณฺหํ สุกฺกํ ได้แก่ กรรมคละกัน.
               บทว่า กณฺหสุกฺกวิปากํ ได้แก่ มีวิบากทั้งสุขและทุกข์.
               จริงอยู่ บุคคลทำกรรมคละกันแล้ว เกิดในกำเนิดเดียรัจฉานด้วยอกุศลในฐานะเป็นมงคลหัตถีเป็นต้นเสวยสุขในปัจจุบันด้วยกุศล. บุคคลเกิดแม้ในราชตระกูลด้วยกุศล ย่อมเสวยทุกข์ในปัจจุบันด้วยอกุศล.
               บทว่า อกณฺหํ อสุกฺกํ ท่านประสงค์เอามรรคญาณ ๔ อันทำกรรมให้สิ้นไป.
               จริงอยู่ กรรมนั้นผิว่าเป็นกรรมดำ ก็พึงให้วิบากดำ ผิว่าเป็นกรรมขาว พึงให้วิบากขาว แต่ที่ไม่ดำ ไม่ขาว เพราะไม่ให้วิบากทั้งสอง ดังกล่าวมานี้เป็นใจความในข้อนี้.
               จบอรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาวิตถารสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในวิตถารสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ คือ มีโทษ.
               บทว่า กายสงฺขารํ ได้แก่ เจตนาในกายทวาร.
               บทว่า อภิสงฺขโรติ ได้แก่พอกพูน คือประมวลมา.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ โลกํ ได้แก่ โลกมีทุกข์.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌา ผสฺสา ได้แก่ ผัสสะเป็นวิบากมีทุกข์.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ เวทนํ เวทิยติ ได้แก่ เสวยเวทนามีวิบาก เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน.
               บทว่า เอกนฺตทุกฺขํ ได้แก่ เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้น คือไม่เจือด้วยสุข.
               บทว่า เสยฺยถาปิ ในบทนี้ว่า เสยฺยถาปิ สตฺตา เนรยิกา พึงเห็นว่าเป็นนิบาตลงในอรรถว่าตัวอย่าง.
               ด้วยบทนั้นทรงแสดงถึงสัตว์นรกอย่างเดียว ก็สัตว์อื่นชื่อว่าจะเห็นคล้ายกับสัตว์นรกนั้นไม่มี.
               พึงทราบความในบททั้งปวงโดยวิธีอุบายนี้.
               ก็ในบทมีอาทิว่า เสยฺยาปิ มนุสฺสา จะว่าถึงมนุษย์ก่อน สุขเวทนาย่อมเกิดตามเวลา ทุกขเวทนาก็เกิดตามเวลา.
               ส่วนในบทนี้ว่า เอกจฺเจ จ เทวา พึงเห็นว่าเทวดาชั้นกามาวจร.
               จริงอยู่ เทวดาเห็นเทวดาผู้มีศักดิ์ยิ่งกว่ากามาวจรเทพเหล่านั้น ย่อมถึงทุกข์ตามเวลาด้วยกิจ มีอาทิว่า ต้องลุกจากที่นั่ง ต้องลดผ้าห่มทำผ้าเฉวียงบ่า ต้องประคองอัญชลี. เมื่อเสวยทิพยสมบัติ ย่อมถึงสุขตามเวลา.
               ในบทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา พึงเห็นความเวมานิกเปรตบางจำพวก. เวมานิกเปรตเหล่านั้นเสวยสุขในเวลาหนึ่ง ทุกข์ในเวลาหนึ่งชั่วนิรันดร ก็สัตว์ทั้งหลายมีนาค ครุฑ ช้างและม้าเป็นต้น ย่อมมีทั้งสุขและทุกข์เกลื่อนกล่นเหมือนมนุษย์.
                         ปหานาย ยา เจตนาติ เอตฺถ วิวฏฺฏคามินี มคฺคเจตนา
               เวทิตพฺพา. สา หิ กมฺมกฺขยาย สํวตฺตติ.

               ในบทว่า ปหานาย ยา เจตนา นี้ พึงทราบมรรคเจตนาอันให้ถึงวิวัฏฏะ.
               จริงอยู่ มรรคเจตนานั้นย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
               จบอรรถกถาวิตถารสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาโสณกายนสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในโสณกายนสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สิขาโมคฺคลฺลาโน ได้แก่ พราหมณ์โมคคัลลานโคตร มีแหยมใหญ่ตั้งอยู่กลางศีรษะ.
               บทว่า ปุริมานิ ได้แก่ วันก่อน ตั้งแต่วันที่ล่วงไปแล้ว. พึงทราบวันยิ่งกว่าวันก่อน จำเดิมแต่วันที่สองเป็นต้น.
               บทว่า โสณกายโน ได้แก่ อันเตวาสิกของพราหมณ์นั้นนั่นเอง.
               บทว่า กมฺมสจฺจายํ โภ โลโก ได้แก่ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ.
               บทว่า กมฺมสมารมฺภฏฺฐายี ความว่า โลกนี้ดำรงอยู่ด้วยการก่อกรรม คือเพิ่มพูนกรรมตั้งอยู่ มิใช่ไม่เพิ่มพูน.
               บทว่า อุจฺฉิชฺชติ คือแสดง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               จบอรรถกถาโสณกายนสูตรที่ ๓               

               สิกขาปทสูตรที่ ๔ เป็นต้นมีความง่ายทั้งนั้น.
               ก็ในองค์มรรคทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า เพราะพระโยคาวจรเข้าไปตั้งสติไว้แล้วกำหนดด้วยปัญญา ฉะนั้น ทั้งสองนั่นแหละเป็นกรรม ที่เหลือเป็นองค์เท่านั้นไม่ใช่กรรม. แม้ในโพชฌงค์ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนในอภิธรรมท่านพรรณนากรรมทั้งหมดนั้นว่า เป็นกรรมอันสัมปยุตด้วยเจตนา โดยไม่แปลกกัน.

               อรรถกถาสมณสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในสมณสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิเธว คือ ในศาสนานี้เท่านั้น.
               ก็ความไม่แน่นอนนี้ พึงทราบแม้ในบทที่เหลือ.
               จริงอยู่ แม้สมณะที่ ๒ เป็นต้นก็มีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น.
               บทว่า สุญฺญา แปลว่า ว่างเปล่า.
               บทว่า ปรปฺปวาทา ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อันมาแล้วในพรหมชาลสูตร แม้ทั้งหมดเหล่านี้ คือสัสสตวาทะ ๔ เอกัจจสัสสติกะ ๔ อันตานันติกะ ๔ อมราวิกเขปิกะ ๔ อธิจจสมุปปันนิกะ ๒ สัญญีวาทะ ๑๖ อสัญญีวาทะ ๘ เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘ อุจเฉทวาทะ ๗ ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ ๕. วาทะของผู้อื่นนอกจากธรรมวินัยนี้ ชื่อปรัปปวาทะ.
               วาทะแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ว่างเปล่าจากสมณะผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ เหล่านี้ ทั้งวาทะเหล่านั้นก็ไม่มีอยู่ในธรรมวินัยนี้.
               อนึ่ง วาทะเหล่านั้นมิใช่ว่างเปล่าจากสมณะเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นทั้งยังว่างจากสมณะ แม้ ๑๒ คือ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ บ้าง สมณะผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อประโยชน์แก่มรรค ๔ บ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายความนี้ จึงตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า
                         ดูก่อนสุภัททะ เรามีวัย ๒๙ แสวงหาว่า อะไร
                         เป็นกุศล จึงออกบวช ตั้งแต่เราบวชแล้วนับได้
                         ๕๑ ปี แม้สมณะเป็นไปในประเทศแห่งธรรม
                         เป็นเครื่องรู้ ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้.

               แม้สมณะที่ ๒ ก็ไม่มี แม้สมณะที่ ๓ ก็ไม่มี แม้สมณะที่ ๔ ก็ไม่มี ลัทธิอื่นว่างเปล่าจากสมณะผู้รู้.
               จริงอยู่ ผู้ปรารภวิปัสสนาท่านประสงค์เอาในบทว่า ปเทสวตฺติ นี้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำสมณะแม้ ๓ จำพวก คือ สมณะผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อโสดาปัตติมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในผล ๑ รวมกันจึงตรัสว่า แม้สมณะก็ไม่มี ดังนี้.
               ทรงกระทำสมณะแม้ ๓ จำพวก คือ สมณะผู้ปรารภวิปัสสนาเพื่อสกทาคามิมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๑ สมณะผู้ตั้งอยู่ในผล ๑ รวมกันจึงตรัสว่า แม้สมณะที่ ๒ ก็ไม่มีดังนี้.
               แม้ในสมณะสองพวกนอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาสมณสูตรที่ ๑๐               

               อานิสังสสูตรที่ ๑๑ ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบกรรมวรรควรรณนาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์ ๔. กรรมวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 221อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 232อ่านอรรถกถา 21 / 243อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=6195&Z=6386
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=10099
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=10099
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :