![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() อรรถกถาสังฆเภทกสูตรที่ ๑ บทว่า อปิ นุตํ อานนฺท อธิกรณํ ความว่า บรรดาอธิกรณ์ ๔ มีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น อธิกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุสงฆ์. พระศาสดาเมื่อจะถามถึงเรื่องอธิกรณ์นั้นสงบแล้วจึงตรัสอย่างนี้. บทว่า กุโต ตํ ภนฺเต ความว่า พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อธิกรณ์นั้นจะระงับแต่ที่ไหนได้ คืออธิกรณ์นั้นจักระงับได้ด้วยเหตุไร. บทว่า เกวลกปฺปํ ได้แก่ ถ่ายเดียว. บทว่า สงฺฆเภทาย ฐิโต ได้แก่ พระพาหิยะยังยืนกรานกล่าวโต้วาทะกับด้วยสงฆ์. บทว่า ตตฺภายสฺมา ความว่า เมื่อพระพาหิยะนั้นยืนกรานอยู่อย่างนี้ ท่านพระอนุรุทธะ. บทว่า น เอกวาจิกปิ กถิตพฺพํ มญฺญติ ความว่า ท่านพระอนุรุทธะไม่เอาธุระที่จะกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านอย่าพูดอย่างนี้กับสงฆ์ซิ ดังนี้. บทว่า โวยุญฺชติ ได้แก่ ขวนขวาย คือตั้งหน้าพยายาม. บทว่า อตฺถวเส แปลว่า อำนาจแห่งเหตุ. บทว่า นาเสสฺสนฺติ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายจักไม่ให้เราเข้าไป จักคร่าเราออกไปเสียจากอุโบสถและปวารณา. บทที่เหลือพึงทราบตามบาลีนั่นแล. อรรถกถาปัตติสูตรที่ ๒ บทว่า ขฺรมุณฺฑํ กริตฺวา ได้แก่ โกนผมเหลือไว้ ๕ แหยม. บทว่า ขรสฺเรน คือ เสียงกร้าว. บทว่า ปณเวน คือ กลองประหาร. บทว่า ถลฏฺฐสฺส คือ บุรุษผู้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง. บทว่า สีสจฺเฉชฺชํ คือ ควรแก่การตัดหัว. บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ ยํ นาม. บทว่า โส วตสฺสํ ความว่า เรานั้นหนอไม่ควรทำบาปเห็นปานนี้เลย. บทว่า ยถาธมฺมํ ปฏิกริสฺสติ คือ จักกระทำคืนสมควรแก่ธรรม. อธิบายว่า จักตั้งอยู่ในสามเณรภูมิ. บทว่า กาฬกํ วตฺถํ ปริธาย ได้แก่ นุ่งผ้าเก่าสีดำ. บทว่า โมสลฺลํ แปลว่า ควรแบกสาก. บทว่า ยถาธมฺมํ ความว่า ออกจากอาบัติในธรรมวินัยนี้ แล้วดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ ชื่อว่าย่อมทำคืนตามธรรม. บทว่า อสฺสปุฏํ ได้แก่ ห่อขี้เถ้า. บทว่า คารยฺหํ อสฺสปุฏํ ได้แก่ ควรเทินห่อขี้เถ้า น่าติเตียน. บทว่า ยถาธมฺมํ ได้แก่ แสดงอาบัติในธรรมวินัยนี้ ชื่อว่าย่อมทำคืนตามธรรม. บทว่า อุปวชฺชํ ได้แก่ ควรตำหนิ. บทว่า ปาฏฺเทสนีเยสุ คือ ควรแสดงคืน. อาบัติที่เหลือแม้ทั้งหมด ท่านสงเคราะห์ด้วยบทนี้. บทว่า อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อาปตฺติภยานิ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาบัติภัย (ความกลัวอาบัติ) ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าภัยอาศัยอาบัติเกิดขึ้น. อรรถกถาสิกขานิสังสสูตรที่ ๓ พรหมจรรย์ ชื่อว่าสิกขานิสังสะ เพราะมีสิกขาเป็นอานิสงส์. ชื่อปัญญุตตระ เพราะมีปัญญาเป็นยอด. ชื่อวิมุตติสาระ เพราะมีวิมุตติเป็นแก่น. ชื่อสตาธิปเตยยะ เพราะมีสติเป็นใหญ่. ท่านอธิบายไว้ว่า พรหมจรรย์ที่อยู่ประพฤติเพื่อประโยชน์แก่อานิสงส์เป็นต้น อันได้แก่สิกขาเป็นต้นแม้เหล่านั้น. บทว่า อภิสมาจาริกา ได้แก่ สิกขาเนื่องด้วยอภิสมาจารอันสูงสุด. บทนี้เป็นชื่อของศีลที่ทรงบัญญัติไว้ด้วยเป็นข้อวัตรปฏิบัติ. บทว่า ตถา ตถา โส ตสฺสา สิกฺขาย ความว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ใคร่ศึกษาในสิกขาบทนั้นอย่างนั้นๆ. บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกา นี้ เป็นชื่อแห่งมหาศีล ๔ อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์. บทว่า สพฺพโส แปลว่า โดยอาการทั้งปวง. บทว่า ธมฺมา ได้แก่ สัจจธรรม ๔. บทว่า ปญฺญาย สมเวกฺขิตา โหนฺติ ความว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอันสาวกพิจารณาเห็นด้วยดี ด้วยมรรคปัญญากับสมาธิและวิปัสสนา. บทว่า วิมุตฺติยา ผุสิตา โหนฺติ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันสาวกถูกต้อง (บรรลุ) ด้วยผัสสะ คือญาณแห่งวิมุตติ คืออรหัตผล. บทว่า อชฺฌตฺตํเยว สติ สุปฏฺฐิตา โหติ ความว่า สติอันสาวกเข้าไปตั้งไว้ด้วยดีในภายในตนนั้นเอง. บทว่า ปญฺญาย อนุคฺคเหสฺสามิ ความว่า เราจักประคับประคองด้วยวิปัสสนาปัญญา. แม้ใน บทว่า ปญฺญาย สมเวกฺขิสฺสามิ นี้ ท่านก็ประสงค์เอาแม้วิปัสสนาปัญญา แต่ในบทนี้ว่า ผุสิตํ วา ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ ปญฺญาย อนุคฺคเหสฺสามิ (เราจักประคับประคองธรรมที่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในที่นั้นๆ) ท่านประสงค์เอามรรคปัญญาอย่างเดียว. อรรถกถาเสยยสูตรที่ ๔ คนตายแล้ว ท่านเรียกว่าเปตะ คนตาย. บทว่า อุตฺตานา เสนฺติ ได้แก่ คนตายเหล่านั้นโดยมากนอนหงาย. อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ที่เกิดในปิตติวิสัย ชื่อว่าเปรต. เปรตเหล่านั้น เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย มีกระดูกขึ้นระเกะระกะ ไม่สามารถจะนอนตะแคงได้ จึงได้แต่นอนหงายท่าเดียว. บทว่า อนตฺตมโน โหติ ความว่า ก็สีหมิคราช เพราะเป็นสัตว์มีอำนาจมาก วางสองเท้าหน้าไว้ที่เท้าหลังแห่งหนึ่ง สอดหางไว้ในระหว่างขา กำหนดโอกาสที่เท้าหน้า เท้าหลังและหางวางอยู่ ทอดศีรษะลงบนเท้าหน้าทั้งสองแล้วนอนตลอดวัน เมื่อนอนหลับตื่นขึ้นก็ไม่สะดุ้งตื่น แต่ผงกศีรษะขึ้นสังเกตโอกาสที่เท้าหน้าเป็นต้นวางอยู่ หากเคลื่อนที่ไรๆ ไป (ไม่อยู่อย่างเดิม) ก็ไม่พอใจว่า นี้ไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของเจ้าไม่สมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญดังนี้ จึงนอนในที่นั้นต่อไม่ออกไปแสวงหาอาหาร. บทว่า อนตฺตมโน โหติ ท่านกล่าวหมายเอาข้อนี้. แต่เมื่ออะไรๆ ไม่เคลื่อนที่ไป สีหมิคราชจึงยินดีว่า นี้สมควรแก่ชาติตระกูลของเจ้าและสมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญของเจ้า แล้วลุกจากที่นั้นบิดกายสลัดสร้อยคอ บันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้วจึงออกหาอาหาร. บทว่า อตฺตมโน โหติ ท่านกล่าวด้วยข้อนี้. อรรถกถาถูปารหสูตรที่ ๕ ในบทว่า ราชา จกฺกวตฺตี นี้ ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตการก่อทำสถูปแด่พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งสวรรคตแล้ว ไม่ทรงอนุญาตให้ทำแก่ภิกษุผู้เป็นปุถุชนผู้มีศีล. ตอบว่า เพราะความเป็นอัจฉริยะ. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตสถูปทั้งหลายแก่ภิกษุผู้เป็นปุถุชน ก็จะไม่พึงมีช่องว่างแก่บ้านและท่าเรือในตัมพปัณณิทวีปเลย ในฐานะอื่นก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงอนุญาตด้วยทรงเห็นว่า ภิกษุเหล่านั้นจักไม่เป็นอัจฉริยะ. พระเจ้า ปัญญาวุฑฒิสูตรที่ ๖ และพหุการสูตรที่ ๗ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น. อรรถกถาปฐมโวหารสูตรที่ ๘ บทว่า อนริยโวหารา ได้แก่ การพูดของผู้ไม่เป็นอริยะ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. จบอาปัตติภยวรรควรรณนาที่ ๕ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์ ๕. อาปัตติภยวรรค จบ. |