บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า ปนุณฺณปจฺเจกสจฺโจ ได้แก่ ภิกษุชื่อว่าผู้มีปัจเจกสัจจะอันถ่ายถอนได้แล้ว เพราะว่า ทิฏฐิสัจจะกล่าวคือความเห็นแต่ละอย่าง เพราะยึดถือความเห็นแต่ละอย่าง อย่างนี้ว่า ความเห็นนี้เท่านั้นจริง นี้เท่านั้นจริง เธอถ่ายถอนคือกำจัดละได้แล้ว. ในบทว่า สมวยสฏฺเฐสโน นี้ บทว่า สมวย แปลว่า ไม่บกพร่อง. บทว่า สฏฺฐา แปลว่า สละแล้ว. ชื่อว่าสมวยสฏฺเฐสโน เพราะละเลิกการแสวงหาโดยสิ้นเชิง. อธิบายว่า ผู้ละเลิกการแสวงหาหมดทุกอย่างโดยชอบ. บทว่า ปฏิลีโน แปลว่า ผู้หลีกเร้น คืออยู่ผู้เดียว. บทว่า ปุถุชนสมณพฺราหฺมณานํ ได้แก่ สมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก. ในคำว่า สมณพฺราหฺมณานํ นี้ ก็คนที่เข้าไปบวชชื่อสมณะ. คนที่กล่าวว่าโภผู้เจริญ ชื่อว่าพราหมณ์. บทว่า ปุถุปจฺเจกสจฺจานิ ได้แก่ สัจจะแต่ละอย่างเป็นอันมาก. บทว่า นุณฺณานิ แปลว่า นำออกแล้ว. บทว่า ปนุณฺณานิ แปลว่า นำออกดีแล้ว. บทว่า จตฺตานิ แปลว่า สลัดแล้ว. บทว่า วนฺตานิ แปลว่า คายออกแล้ว. บทว่า มุตฺตานิ คือ ทำเครื่องผูกให้ขาดแล้ว. บทว่า ปหีนานิ แปลว่า ละได้แล้ว. บทว่า ปฏินิสฺสสฏฺฐานิ แปลว่า สละทิ้งไปแล้ว โดยที่จะไม่งอกขึ้นที่ใจอีก. บทเหล่านี้ทุกบท เป็นคำใช้แทนความเสียสละ ซึ่งความยึดถือที่ยึดถือไว้แล้ว. บทว่า กาเมสนา ปหีนา โหติ ได้แก่ การแสวงหากามเป็นอันละได้แล้วด้วยอนาคา บทว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ความว่า กายสังขารระงับแล้วด้วยจตุตถฌาน อย่างนี้ก็ชื่อว่าลมอัสสาสะปัสสาสะสงบแล้ว. บทว่า อสฺมิมาโน ได้แก่ มานะ ๘ อย่างที่เกิดขึ้นว่า เราเป็น. คาถาทั้งหลาย พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ การแสวงหานี้มี ๒ คือ การแสวงหากาม การแสวงหาภพ. บทว่า พฺรหฺมจริเยสนา สห ความว่า การแสวงหานั่นเป็น ๓ คือ การแสวงหาพรหมจรรย์ รวมทั้งการแสวงหา ๒ นั้น พึงยืนหลักไว้ในที่นี้ แล้วประกอบความกับบทนี้ว่า เอสนา ปฏินิสฺสฏฺฐา ละเลิกการแสวงหา. บทว่า อิติ สจฺจปรามาโส ทิฏฺฐิฏฐานา สมุสฺสยา ความว่า ความยึดถือว่า ดังนี้จริง ดังนี้จริง และที่ตั้งแห่งทิฏฐิ กล่าวคือทิฏฐินั่นเอง ที่เรียกว่าสมุสสยะ เพราะกายถูกธาตุ ๔ สร้างขึ้น คือยกขึ้นตั้งไว้ แม้หมดทุกอย่าง. พึงยืนหลักไว้ในที่นี้แล้วประกอบความกับบทนี้ว่า ทิฏฺฐิฏฺฐานา สมูหตา เพิกถอนกายที่ตั้งแห่งทิฏฐิ. ถามว่า ใครละเลิกการแสวงหาเหล่านั้น และใครเพิกถอนที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านั้นได้แล้ว. ตอบว่า ภิกษุผู้คลายกำหนัดทั้งปวงแล้ว ได้วิมุตติเพราะสิ้นตัณหา ด้วยว่าภิกษุใดคลายความกำหนัดแล้วจากราคะทั้งปวง เป็นผู้ประกอบด้วยอรหัตผลวิมุตติที่เป็นไปเพราะสิ้นตัณหา คือเพราะดับสนิท ภิกษุนั้นละเลิกการแสวงหาได้แล้ว และเพิกถอนกายที่ตั้งแห่งทิฏฐิได้แล้ว. บทว่า ส เว สนฺโต ความว่า ภิกษุนั้นคือเห็นปานนี้ ชื่อว่าสงบ เพราะกิเลสสงบ. บทว่า ปสฺสทฺโธ ได้แก่ ระงับแล้ว ด้วยกายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิทั้งสอง. บทว่า อปราชิโต ความว่า ชื่อว่าอันใครๆ ทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้ เพราะชนะสรรพกิเลสเสร็จแล้ว. บทว่า มานาภิสมยา คือ เพราะละมานะได้. บทว่า พุทฺโธ ความว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔ ตั้งอยู่. ด้วยเหตุนั้น ทั้งในพระสูตรนี้ ทั้งในพระคาถา จึงตรัสแต่ท่านผู้สิ้นอาสวะอย่างเดียว. จบอรรถกถาปฏิลีนสูตรที่ ๘ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จักกวรรคที่ ๔ ๘. ปฏิลีนสูตร จบ. |