บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า อิมานิ จตฺตาริ อหิราชกุลานิ นี้ ตรัสหมายถึงพิษที่ถูกงูกัด พิษที่ถูกงูกัดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พิษเหล่านั้นทั้งหมดอยู่ภายในตระกูลพระยางูทั้ง ๔ เหล่านี้. บทว่า อตฺตคุตฺติยา คือ เพื่อคุ้มตน. บทว่า อตฺตรกฺขาย คือ เพื่อรักษาตน. บทว่า อตฺตปริตฺตาย คือ เพื่อป้องกันตน. อธิบายว่า เราจึงอนุญาตปริตไว้ดังนี้. บัดนี้ ภิกษุพึงทำปริตนั้นโดยวิธีใด เมื่อทรงแสดงวิธีนั้น จึงตรัสว่า วิรูปกฺเขหิ เม เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า วิรูปกฺเขหิ ได้แก่ มีเมตตาจิตกับงูตระกูลวิรูปักขะ. แม้ในตระกูลงูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อปาทเกหิ ได้แก่ มีเมตตาจิตกับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย. แม้ในสัตว์ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สพฺเพ สตฺตา ความว่า ก่อนแต่นี้ ภิกษุกล่าวเมตตาเจาะจงด้วยฐานะประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ จึงเริ่มคำนี้ เพื่อกล่าวเมตตาไม่เจาะจง. ในบทเหล่านั้น คำว่า สัตว์ ปาณะ ภูตเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคำกล่าวถึงบุคคลเท่านั้น. บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ความว่า จงเห็นแต่อารมณ์ที่เจริญใจเถิด. บทว่า มา กญฺจิ ปาปมาคมา ความว่า สัตว์อะไรๆ อย่าประสบสิ่งอันเป็นบาปลามกเลย. ในบทว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ นี้พึงทราบพุทธคุณว่า พุทฺโธ แท้จริง พุทธคุณเหล่านั้น ชื่อว่าสุดที่จะประมาณได้. แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แล. บทว่า ปมาณวนฺตานิ ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยประมาณแห่งพระคุณ. บทว่า อุณฺณานาภี ได้แก่ แมงมุมมีขนที่ท้อง. บทว่า สรพู ได้แก่ ตุ๊กแกในเรือน. บทว่า กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา ความว่า การรักษาและการป้องกัน ข้าพเจ้าได้ทำแล้วแก่ชนประมาณเท่านี้. บทว่า ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ ความว่า สัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งหมดอันข้าพเจ้าทำการป้องกันแล้ว จงหลีกไปเสีย. อธิบายว่า อย่าเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย ดังนี้. จบอรรถกถาอหิสูตรที่ ๗ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ปัตตกรรมวรรคที่ ๒ ๗. อหิสูตร จบ. |