บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า วุสิตวา ได้แก่ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว. บทว่า กตกรณีโย ได้แก่ ผู้ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ แล้วอยู่. บทว่า โอหิตภาโร ได้แก่ ผู้ปลงขันธภาระ กิเลสภาระและอภิสังขารภาระลงแล้วอยู่. บทว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ ความว่า พระอรหัตเรียกว่า ประโยชน์ของตน ผู้บรรลุประโยชน์ของตนนั้น. บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน ความว่า ผู้มีกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว. บทว่า สมฺมทญฺญา วิมุตฺโต ความว่า หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยการณะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธมานะ ๓ มีมานะว่าเราดีกว่าเป็นต้น (อันเป็นของมีอยู่) ของปุถุชนผู้ดีกว่า (บุคคลอื่น) แม้ด้วยบทว่า ตสฺส น เอวํ โหติ อตฺถิ เม เสยฺโยติ วา เป็นต้น. เพราะว่า พระขีณาสพไม่มีมานะว่า คนที่ดีกว่าเรายังมีอยู่ คนที่เสมอกับเรายังมีอยู่ คนที่เลวกว่าเรายังมีอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธมานะ ๓ เหล่านั้นนั่นแล แม้ด้วยบทว่า นตฺถิ เม เสยฺโย เป็นต้น. เพราะว่า พระขีณาสพไม่มีมานะอย่างนี้ว่า เรานี่แหละดีกว่าเขา เราเสมอกับเขา เราเลวกว่าเขา ไม่มีบุคคลอื่นที่ดีกว่าเป็นต้น. บทว่า อจิรปกฺกนฺเตสุ ความว่า เมื่อพระเขมะกับพระสุมนะพยากรณ์อรหัตผล แล้วหลีกไปได้ไม่นาน. บทว่า อญฺญํ พฺยากโรนฺติ ได้แก่ กล่าวถึงอรหัตผล. บทว่า หสมานกา มญฺเญ อญฺญํ พฺยากโรนฺติ ความว่า พูดเหมือนหัวเราะ. บทว่า วิฆาตํ อาปชฺชนติ ได้แก่ ประสบทุกข์. ในบทว่า น อุสฺเสสุ นโอเมสุ สมตฺเต โนปนียฺยเร นี้ มีอธิบายว่า บทว่า อุสฺสา ได้แก่ บุคคลผู้ที่เขายกย่อง คือบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเขา. บทว่า โอมา ได้แก่ บุคคลผู้เลวกว่าเขา. บทว่า สมตฺโต ได้แก่ บุคคลผู้เสมอกันกับเขา. บรรดาบุคคลผู้ประเสริฐกว่าเขา เลวกว่าเขา และเสมอกับเขาทั้ง ๓ จำพวกนี้ พระขีณาสพอันมานะย่อมนำเข้าไปไม่ได้ คือไม่เข้าใกล้. อธิบายว่า ไม่เข้าถึงมานะ. บทว่า ขีณา สญฺชาติ ได้แก่ ชาติของพระขีณาสพเหล่านั้นสิ้นแล้ว. บทว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์อันพระขีณาสพอยู่จบแล้ว. บทว่า จรนฺติ สญฺโญชนวิปฺปมุตฺตา ความว่า พระขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวงเที่ยวไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระขีณาสพทั้งในพระสูตร ทั้งในคาถา. จบอรรถกถาเขมสุมนสูตรที่ ๗ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ธรรมิกวรรคที่ ๕ ๗. เขมสุมนสูตร จบ. |