ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 325อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 326อ่านอรรถกถา 22 / 327อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑
๑. โสณสูตร

               ทุติยปัณณาสก์               
               มหาวรรควรรณนาที่ ๑               
               อรรถกถาโสณสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในโสณสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โสโณ ได้แก่ พระโสณเถระผู้สุขุมาลชาติ.
               บทว่า สีตวเน ได้แก่ ในป่าช้าที่มีชื่ออย่างนี้ (สีตวัน).
               เล่ากันว่า ในป่าช้านั้นเขาสร้างที่จงกรมไว้ ๕๐๐ แห่ง (เรียงรายกัน) ตามลำดับ. บรรดาที่จงกรม ๕๐๐ แห่งนั้น พระเถระเลือกเอาที่จงกรม (แห่งหนึ่ง) ซึ่งเป็นที่สัปปายะสำหรับตน แล้วบำเพ็ญสมณธรรม. เมื่อพระเถระนั้นปรารภความเพียรเดินจงกรมอยู่ พื้นเท้าก็แตก. เมื่อท่านคุกเข่าเดินจงกรมทั้งเข่าทั้งฝ่ามือก็แตกเป็นช่องๆ. พระเถระปรารภความเพียรอยู่อย่างนั้น ก็ไม่สามารถเห็นแม้แต่โอภาสหรือนิมิต.
               เพื่อแสดงถึงวิตกที่เกิดขึ้นแก่พระโสณะนั้นผู้ลำบากกายด้วยความเพียรแล้วนั่ง (พัก) อยู่บนแผ่นดิน (ซึ่งตั้งอยู่) ในที่สุดที่จงกรม พระอานนทเถระจึงกล่าวคำว่า อถโข อายสฺมโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธวิริยา ได้แก่ ประคองความเพียรไว้เต็มที่.
               บทว่า น อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุจฺจติ ความว่า พระโสณะปลงใจเชื่อว่า ก็ถ้าว่า เราจะพึงเป็นอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญูหรือเนยยะไซร้ จิตของเราจะพึงหลุดพ้นได้อย่างแน่นอน แต่นี่เราเป็นปทปรมบุคคลแท้ทีเดียว จิตของเราจึงไม่หลุดพ้น ดังนี้ แล้วคิดถึงเหตุที่มีอาทิว่า ก็โภคทรัพย์แลมีอยู่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โภคา เป็นปฐมาวิภัตติใช้ในความหมายแห่งทุติยาวิภัตติ.
               บทว่า ปาตุรโหสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระจิตของพระเถระแล้วทรงดำริว่า วันนี้ โสณะนี้นั่งอยู่บนพื้นดินที่บำเพ็ญเพียรในป่าสีตวัน ตรึกถึงวิตกเรื่องนี้อยู่ จำเราจักไปถือเอาวิตกที่เบียดเบียนเธอ แล้วบอกกัมมัฏฐานที่อุปมาด้วยพิณให้ ดังนี้ แล้วได้มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าพระเถระ.
               บทว่า ปญฺญฺตเต อาสเน ความว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรปูลาดอาสนะตามที่หาได้ไว้เพื่อเป็นที่ประทับนั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จมา เพื่อตรัสสอนถึงที่เป็นที่อยู่ของตนก่อนแล้วจึงบำเพ็ญเพียร เมื่อหาอาสนะอย่างอื่นไม่ได้ก็ปูลาดแม้ใบไม้เก่าๆ แล้วปูลาดสังฆาฏิทับข้างบน.
               ฝ่ายพระเถระปูลาดอาสนะก่อนแล้วจึงได้บำเพ็ญเพียร.
               พระสังคีติกาจารย์หมายเอาอาสนะนั้น จึงกล่าวว่า ปญฺญฺตเต อาสเน ดังนี้.
               บทว่า ตํ กึ มญฺญสิ ความว่า พระศาสดาทรงดำริว่า ภิกษุนี้ไม่มีความต้องการด้วยกัมมัฏฐานที่เหลือ ภิกษุนี้ฉลาดเคยชำนาญมาแล้วในศิลปะของนักดนตรี เธอจักกำหนดอุปมาที่เรากล่าวในวิสัยของตนได้เร็วพลัน ดังนี้แล้ว เพื่อจะตรัสอุปมาด้วยพิณ พระองค์จึงตรัสคำว่า ตํ กึ มญฺญสิ เป็นต้น.
               ความเป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ ชื่อว่าความเป็นผู้ฉลาดในเสียงสายพิณ. และพระโสณะนั้นก็เป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณนั้น เป็นความจริง มารดาบิดาของพระโสณะนั้นคิดว่า ลูกชายของเราเมื่อจะศึกษาศิลปะอย่างอื่นก็จักลำบากกาย แต่ว่าศิลปะดีดพิณนี้ ลูกของเรานั่งอยู่บนที่นอน ก็สามารถเรียนได้ จึงให้เรียนเฉพาะศิลปะของนักดนตรีเท่านั้น.
               ศิลปะของนักดนตรี (คนธรรพ์) มีอาทิคือ
                         เสียงเหล่านี้ คือ เสียง ๗ เสียง หมู่เสียงผสม
                         ๓ หมู่ ระดับเสียง ๒๑ ระดับ ฐานเสียง ๔๙
                         ฐาน จัดเป็นกลุ่มเสียง
               เสียงทั้งหมดนั่นแหละ พระโสณะได้ชำนาญมาแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า อจฺจายตา ได้แก่ (พิณ) ที่ขึงตึงเกินไป คือมีระดับเสียงแข็ง (ไม่นุ่มนวล).
               บทว่า สรวตี ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยเสียง.
               บทว่า กมฺมญฺญา ได้แก่ เหมาะที่จะใช้งาน คือใช้งานได้.
               บทว่า อติสิถิลา ได้แก่ ระดับเสียงอ่อน (ยาน).
               บทว่า สเม คุเณ ปติฏฺฐิตา ได้แก่ อยู่ในระดับเสียงปานกลาง.
               บทว่า อจฺจารทฺธํ ได้แก่ ความเพียรที่ตึงเกินไป.
               บทว่า อุทฺธจฺจาย สํวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า อติลีนํ ได้แก่ หย่อนเกินไป.
               บทว่า โกสชฺชาย ได้แก่ เพื่อความเป็นผู้เกียจคร้าน.
               บทว่า วิริยสมตํ อธิฏฺฐาหิ ความว่า เธอจงดำรงสมถะที่สัมปยุตด้วยวิริยะไว้ให้มั่น. หมายความว่า จงประกอบวิริยะเข้ากับสมถะ.
               บทว่า อินฺทฺริยานญฺจ สมตํ ปฏิวิชฺฌ ความว่า เธอจงดำรงสม่ำเสมอ คือภาวะที่เสมอกันแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นไว้ให้มั่น.
               ในข้อนั้น ภิกษุผู้ประกอบศรัทธาเข้ากับปัญญา ประกอบปัญญาเข้ากับศรัทธา ประกอบวิริยะเข้ากับสมาธิ และประกอบสมาธิเข้ากับวิริยะ ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงภาวะที่เสมอกันแห่งอินทรีย์ทั้งหลายวันไว้มั่น. ส่วนสติมีประโยชน์ต่อธรรมทั้งปวง สตินั้นเฉพาะที่มีกำลังย่อมควรแม้ในกาลทุกเมื่อ.
               ก็วิธีประกอบอินทรีย์เหล่านั้นเข้าด้วยกันนั้น แถลงไว้ชัดเจนแล้วทีเดียวในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค.
               บทว่า ตตฺถ จ นิมิตฺตํ คณฺหาหิ ความว่า ก็เมื่อภาวะที่เสมอกัน (แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย) นั้นมีอยู่ นิมิตใดจะพึงเกิดขึ้นเหมือนเงาหน้าในกระจก เธอจงกำหนดถือเอานิมิตนั้นจะเป็นสมถนิมิตก็ดี วิปัสสนานิมิตก็ดี มรรคนิมิตก็ดี ผลนิมิตก็ดี คือจงทำให้นิมิตนั้นบังเกิด.
               พระศาสดาตรัสกัมมัฏฐานแก่พระโสณะนั้น สรุปลงในพระอรหัตผลด้วยประการดังพรรณนามานี้.
               บทว่า ตตฺถ จ นิมิตฺตํ อคฺคเหสิ ความว่า พระโสณะได้กำหนดถือเอาทั้งสมถนิมิตทั้งวิปัสสนานิมิต.
               บทว่า ฉฏฺฐานานิ ได้แก่ เหตุ ๖ อย่าง.
               บทว่า อธิมุตฺโต โหติ ได้แก่ เป็นผู้แทงตลอด คือทำให้ประจักษ์ดำรงอยู่.
               บททั้งหมดมีอาทิว่า เนกฺขมฺมาธิมุตฺโต พระโสณะกล่าวไว้ด้วยอำนาจอรหัตผลนั่นแล.
               จริงอยู่ อรหัตผล ชื่อว่าเนกขัมมะ เพราะออกไปจากกิเลสทั้งปวง.
                         ชื่อว่าปวิเวกะ เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้นนั่นแล
                         ชื่อว่าอัพยาปัชฌะ เพราะไม่มีความเบียดเบียน
                         ชื่อว่าตัณหักขยะ เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา
                         ชื่อว่าอุปาทานักขยะ เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน
                         ชื่อว่าอสัมโมหะ เพราะไม่มีความงมงาย.
               บทว่า เกวลํ สทฺธามตฺตกํ ได้แก่ เว้นจากปฏิเวธ คือเพียงศรัทธาล้วนๆ ที่ไม่เจือปนด้วยปฏิเวธปัญญา.
               บทว่า ปฏิจยํ ได้แก่ การเจริญด้วยการบำเพ็ญบ่อยๆ.
               บทว่า วีตราคตฺตา ได้แก่ เพราะราคะปราศจากไปด้วยการแทงตลอดมรรคนั่นแล.
               ภิกษุเป็นผู้แทงตลอด คือทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล กล่าวคือเนกขัมมะอยู่.
               บทว่า ผลสมาปตฺติวิหาเรน วิหรติ ความว่า และเป็นผู้มีใจน้อมไปในผลสมาบัตินั้นนั่นแล.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัย อย่างเดียวกันนี้แล.
               บทว่า ลาภสกฺการสิโลกํ ได้แก่ ลาภ คือปัจจัย ๔ ความที่ตนเหล่านั้นนั่นแลทำดีแล้ว และการกล่าวสรรเสริญคุณ.
               บทว่า นิกามยมาโน ได้แก่ ต้องการ คือปรารถนาอยู่.
               บทว่า ปวิเวกาธิมุตฺโต ความว่า พยากรณ์อรหัตผลอย่างนี้ว่า เราน้อมไปในปวิเวก.
               บทว่า สีลพฺพตปรามาสํ ความว่า เพียงแต่ยึดถือศีลและพรตที่ตนได้ลูบคลำยึดถือมาแล้ว.
               บทว่า สารโต ปจฺจาคจฺฉนฺโต ได้แก่ รู้อยู่โดยความเป็นสาระ.
               บทว่า อพฺยาปชฺฌาธิมุตฺโต ได้แก่ พยากรณ์ความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นอรหัตผล.
               พึงเห็นความหมายในที่ทุกแห่งตามนัยนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่งในตอนนี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอรหัตผลไว้เฉพาะในบทนี้ว่า เนกฺขมฺมาธิมุตฺโต ตรัสนิพพานไว้ใน ๕ บทที่เหลือ.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนิพพานไว้เฉพาะในบทนี้ว่า อสมฺโมหาธิมุตฺโต ตรัสอรหัตผลไว้ในบทที่เหลือ. แต่ในที่นี้มีสาระสำคัญดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทั้งอรหัตผลทั้งนิพพานไว้ในบทเหล่านั้นทุกบททีเดียวแล.
               บทว่า ภูสา ได้แก่ มีกำลัง คือเหมือนรูปทิพย์.
               บทว่า เนวสฺส จิตฺตํ ปริยาทิยนฺติ ความว่า (กิเลสทั้งหลาย) ไม่สามารถจะครอบงำจิตของพระขีณาสพนั่นอยู่ได้. เป็นความจริง กิเลสทั้งหลายกำลังเกิดขึ้น ชื่อว่าครอบงำจิต.
               บทว่า อมิสฺสีกตํ ความว่า ก็กิเลสทั้งหลายย่อมทำจิตกับอารมณืให้ผสมกัน เพราะไม่มีกิเลสอย่างนั้น จิตจึงชื่อว่าไม่ถูกทำให้ผสมกัน.
               บทว่า ฐิตํ ได้แก่ ตั้งมั่นอยู่.
               บทว่า อาเนญฺชปฺปตฺตํ ได้แก่ ถึงความไม่หวั่นไหว.
               บทว่า วยญฺจสฺสานุปสฺสติ ความว่า ก็ภิกษุนี้ย่อมเห็นทั้งความเกิดขึ้นทั้งความดับของจิตนั้น.
               บทว่า ภูสา วาตวุฏฺฐิ ได้แก่ หัวลมแรง.
               บทว่า เนว สํกมฺเปยฺย ได้แก่ ไม่พึงสามารถจะให้หวั่นไหวได้โดยส่วนหนึ่ง.
               บทว่า น สมฺปกมฺเปยฺย ได้แก่ ไม่พึงสามารถจะให้หวั่นไหวได้ทุกส่วน เหมือนไม่สามารถจะให้คุณหวั่นไหวได้ฉะนั้น.
               บทว่า น สมฺปเวเธยฺย ได้แก่ ไม่พึงสามารถจะทำให้สะเทือน คือสั่นจนหวั่นไหวได้.
               บทว่า เนกฺขมฺมมธิมุตฺตสฺส ความว่า ผู้แทงตลอดอรหัตผลแล้วดำรงอยู่.
               แม้ในบทที่เหลือ ก็ตรัสเฉพาะพระอรหัตเหมือนกัน.
               บทว่า จ อุปาทานกฺขยสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในความหมายแห่งทุติยาวิภัตติ.
               บทว่า อสมฺโมหญฺจ เจตโส ได้แก่ และน้อมไปสู่ความไม่ลุ่มหลงแห่งจิต.
               บทว่า ทิสฺวา อายตนุปฺปาทํ ได้แก่ เห็นความเกิดขึ้นและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย.
               บทว่า สมฺมา จิตฺตํ วิมุจฺจติ ความว่า จิตย่อมหลุดพ้น คือย่อมน้อมไปในอารมณ์คือนิพพาน โดยชอบคือโดยเหตุ โดยนัยได้แก่ด้วยอำนาจผลสมาบัติ เพราะการปฏิบัติวิปัสสนานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงปฏิปทาของพระขีณาสพด้วยบทนี้ เพราะว่า จิตของพระขีณาสพนั้นย่อมหลุดพ้นด้วยดีจากกิเลสทั้งหมดด้วยอานุภาพอริยมรรคที่ท่านได้เห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ แล้วบรรลุด้วยวิปัสสนานี้ เมื่อพระขีณาสพนั้นหลุดพ้นด้วยดีอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมไม่มี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตจิตฺตสฺส ได้แก่ มีจิตดับแล้ว.
               บทที่เหลือในสูตรนี้มีความหมายง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาโสณสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ ๑. โสณสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 325อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 326อ่านอรรถกถา 22 / 327อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=8830&Z=8947
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3038
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3038
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :