ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 32อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 22 / 34อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สุมนวรรคที่ ๔
๓. อุคคหสูตร

               อรรถกถาอุคคหสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุคคหสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ภทฺทิเก แปลว่า ใกล้ภัททิกนคร. (บาลีเป็น ภัททิยนคร).
               บทว่า ชาติยาวเน ได้แก่ ในป่าชัฏที่เกิดขึ้นเองเขามิได้ปลูกแล้ว เป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าไปอาศัยนครนั้น ประทับอยู่ในป่านั้น.
               บทว่า อตฺตจตุตฺโถ ได้แก่ มีพระองค์เป็นที่ ๔.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อุคคหเศรษฐีหลานชายเมณฑกเศรษฐีนั้นจึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ มีภิกษุไปด้วย ๓ รูปเล่า?
               ตอบว่า ได้ยินว่า ในเรือนของท่านเศรษฐีนั้นได้มีงานมงคลใหญ่ ด้วยการจัดงานใหญ่ ผู้คนเป็นอันมากก็มาชุมนุมกันในเรือนนั้น ท่านคิดว่า ผู้อังคาสเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ คงจักสงเคราะห์ยึดใจผู้คนเหล่านั้นได้ยาก จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ เท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านมีความดำริอย่างนี้ว่า เมื่อพระศาสดาทรงโอวาทอยู่กลางภิกษุหมู่ใหญ่ สาวรุ่นทั้งหลายมัวแต่ดูเสีย ก็ไม่สามารถจะรับเอาพระโอวาทได้. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ท่านจึงนิมนต์เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ เท่านั้น.
               บทว่า โอวทตุ ตาสํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดโอวาท คือสั่งสอนสาวรุ่นเหล่านั้น.
               ที่จริง คำว่า ตาสํ เป็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ.
               บทว่า ยํ ตาสํ ได้แก่ โอวาทานุศาสน์สำหรับสาวรุ่นเหล่านั้น.
               ก็แลท่านเศรษฐีนั้น ครั้นกราบทูลแล้วอย่างนี้ คิดว่า สาวรุ่นเหล่านี้เมื่อได้รับโอวาทในสำนักของเรา พึงให้นำไปสกุลสามี ดังนี้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็หลีกไป.
               บทว่า ภตฺตุ คือ สามี. บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ได้แก่ อาศัยความเอ็นดู.
               บทว่า ปุพฺพุฏฺฐายินิโย ได้แก่ ปกติตื่นก่อนเขาหมด.
               บทว่า ปจฺฉานิปาตินิโย ได้แก่ ปกตินอนหลังเขาหมด.
               ก็หญิงบริโภคแล้วขึ้นที่นอน นอนก่อนไม่ควร. แต่ให้คนในครัวเรือนทั้งหมดบริโภคแล้ว จัดสิ่งของที่เป็นอุปกรณ์ รู้ว่าโคเป็นต้นที่มาแล้วและยังไม่มา สั่งการงานที่จะพึงทำในวันรุ่งขึ้น ถือลูกกุญแจไว้ในมือ ถ้าอาหารมีก็บริโภค ถ้าไม่มีก็ให้คนอื่นหุงหา แล้วเลี้ยงคนทั้งหมดให้อิ่ม แล้วนอนในภายหลังจึงควร. แม้นอนแล้ว จะนอนจนตะวันขึ้นก็ไม่ควร แต่ลุกก่อนเขาทั้งหมดแล้ว ให้เรียกทาสและคนงานมาแล้วสั่งงานว่า ท่านจงทำงานอันนี้ๆ ให้รีดนมแม่โค ทำกิจที่ควรทำทั้งหมดในเรือนไว้เป็นพนักงานของตนจึงควร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าหมายถึงข้อความนั้น จึงตรัสว่า ปุพฺพุฏฺฐายินิโย ปจฺฉานิปาตินิโย ตื่นก่อนนอนหลัง ดังนี้.
               บทว่า กึการปฏิสฺสาวินิโย ความว่า มีปกติมองหน้ากันแล้วตรวจดูว่า เราจะทำอะไร เราจะทำอะไรดังนี้.
               บทว่า มนาปจาริณิโย ได้แก่ ปกติทำกิริยาแต่ที่น่าพอใจ.
               บทว่า ปิยวาทินิโย ได้แก่ พูดแต่ถ้อยคำที่น่ารัก.
               บทว่า ปูชิสฺสาม ได้แก่ บูชาด้วยปัจจัย ๔.
               บทว่า อพฺภาคเต ได้แก่ ท่านผู้มาถึงสำนักของตน.
               บทว่า อาสโนทเกน ปฏิปูเชสฺสาม ความว่า ต้อนรับด้วยอาสนะและน้ำล้างเท้า. แต่ในข้อนี้ ควรทำสักการะทุกวันแก่มารดาบิดา. ส่วนสำหรับสมณพราหมณ์ผู้มาถึงแล้วควรถวายอาสนะน้ำล้างเท้าและควรทำสักการะ.
               บทว่า อุณฺณา คือ ขนแกะ.
               บทว่า ตตฺถ ทกฺขา ภวิสฺสาม ความว่า จักเป็นผู้ฉลาดในการสางและซัก การย้อมและจัดให้เป็นฟ่อนสำหรับขนแกะทั้งหลาย และในการปั่น แผ่ ยีและกรอเป็นต้นสำหรับฝ้าย.
               บทว่า ตตฺรุปายาย ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นอุบายในการจัดขนสัตว์และฝ้ายนั้น ที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า เราควรทำงานนี้ในเวลานั้นดังนี้.
               บทว่า อลํ กาตุํ อลํ สํวิธาตุํ ได้แก่ ตนทำเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำก็ดี ก็ควรทั้งนั้น. อธิบายว่า จักชื่อว่าเป็นผู้สามารถได้ ดังนี้.
               บทว่า กตญฺจ กตโต ชานิสฺสาม อกตญฺจ อกตโต ความว่า เราจักรู้อย่างนี้ว่า เราควรให้สิ่งนี้และทำกิจนี้แก่ผู้มาทำงานชื่อนี้ตลอดทั้งวัน ผู้มาทำงานชื่อนี้ครึ่งวัน แก่ผู้เสร็จงาน แก่ผู้นั่งอยู่ในเรือน ดังนี้.
               ด้วยบทว่า คิลานกานญฺจ พลาพลํ ท่านแสดงว่า ก็ถ้าว่าเขาให้ยาและอาหารเป็นต้นแก่คนเหล่านั้นในเวลาเจ็บไข้ไม่ทำให้แสลงแก่โรค คนเหล่านี้ย่อมทำสิ่งที่ตนปรารถนาในเวลาเราไม่มีโรค ในเวลาเจ็บไข้ ก็ไม่รู้ว่าเรามีอยู่ ดังนั้นเขาเป็นผู้เหนื่อยหน่ายไม่ทำกิจทั้งหลายในภายหลัง หรือทำกิจที่ควรทำ เพราะฉะนั้น เจ้าทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักรู้ความมีกำลังและไม่มีกำลังของคนเหล่านั้นแล้ว จักรู้สิ่งที่พึงให้และกิจที่ควรทำ.
               บทว่า ขาทนียํ โภชนียํ จสฺส ได้แก่ จักแจกจ่ายของเคี้ยวและของกินแก่คนภายใน.
               บทว่า ปจฺจยํเสน คือ ตามส่วนที่เขาควรจะได้. อธิบายว่า ตามสมควรแก่ส่วนอันตนพึงได้.
               บทว่า สํวิภชิสฺสาม คือ จักให้.
               บทว่า สมฺปาเทสฺสาม คือ จักให้ถึงพร้อม.
               บทว่า อธุตฺตี ได้แก่ ไม่เป็นหญิงนักเลง โดยเป็นนักเลงผู้ชาย และนักเลงสุรา.
               บทว่า อเถนี คือ ไม่เป็นหญิงขโมย ไม่เป็นหญิงโจร.
               บทว่า อโสณฺฑี คือ ไม่เป็นนักเลงมีนักเลงสุราเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจบพระสูตรอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงสรุปด้วยคาถาทั้งหลาย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โย นํ ภชติ สพฺพทา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภรติ ได้แก่ หาเลี้ยง บำรุง.
               บทว่า สพฺพกามหรํ คือ ให้สิ่งน่าใคร่ทั้งปวง.
               บทว่า โสตฺถี แปลว่า เป็นหญิงที่ดี.
               บทว่า เอวํ วตฺตติ ได้แก่ ประพฤติวัตรประมาณเท่านี้ให้บริบูรณ์.
               บทว่า มนาปา นาม เต เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นนิมมานรดี.
               ก็จริงอยู่ เทวดาเหล่านั้นเรียกกันว่า นิมมานรดีและมนาปา เพราะเนรมิตรูปที่ตนปรารถนาๆ แล้วอภิรมย์.

               จบอรรถกถาอุคคหสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สุมนวรรคที่ ๔ ๓. อุคคหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 32อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 22 / 34อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=794&Z=840
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=432
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=432
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :