ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 331อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 332อ่านอรรถกถา 22 / 333อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑
๗. ปรายนสูตร

               อรรถกถาปรายนสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาปรายนสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปารายเน เมตฺเตยฺยปญฺเห ได้แก่ ในปัญหาของเมตเตยยมาณพที่มาในปารายนวรรค.
               บทว่า อุภนฺเต วิทตฺวาน ได้แก่ ทราบที่สุด ๒ อย่าง คือ ส่วน ๒ ส่วน.
               บทว่า มชฺเฌ มนฺตา น ลิปฺปติ ความว่า ปัญญาเรียกว่า มันตา (บุคคลใด) ทราบที่สุดทั้งสองด้วยปัญญาที่เรียกว่ามันตา นั้นแล้วไม่ติดอยู่ในท่ามกลาง คือไม่ติดอยู่ในที่ตรงกลาง.
               บทว่า สิพฺพนิมจฺจคา ความว่า (บุคคลนั้น) ผ่านพ้นตัณหาที่เรียกว่า สิพพนี (เครื่องร้อยรัด) ได้แล้ว.
               บทว่า ผสฺโส ความว่า เพราะบังเกิดด้วยอำนาจผัสสะ อัตภาพนี้จึงมี.
               บทว่า เอโก อนฺโต ความว่า ผัสสะนี้เป็นส่วนหนึ่ง.
               บทว่า ผสฺสสมุทโย มีรูปวิเคราะห์ว่า ผัสสะเป็นเหตุเกิดของอัตภาพนั้น เหตุนั้น อัตภาพนั้นจึงชื่อว่ามีผัสสะเป็นเหตุเกิด. อัตภาพในอนาคตจักบังเกิดได้ เพราะมีผัสสะ คือกรรมที่ทำไว้ในอัตภาพนี้เป็นปัจจัย.
               บทว่า ทุติโย อนฺโต ได้แก่ ส่วนที่ ๒.
               บทว่า ผสฺสนิโรโธ ได้แก่ นิพพาน.
               บทว่า มชฺเฌ ความว่า นิพพานชื่อว่าเป็นท่ามกลาง เพราะหมายความว่าแยกธรรม (ผัสสะและเหตุเกิดของผัสสะ) ออกเป็น ๒ ฝ่ายโดย ตัดตัณหาเครื่องร้อยรัดเสียได้.
               บทว่า ตณฺหา หิ นํ สิพฺพติ ความว่า ตัณหาย่อมร้อยรัด คือเชื่อมต่อผัสสะ (กล่าวคืออัตภาพทั้งสอง) และเหตุเกิดของผัสสะนั้นเข้าด้วยกัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะทำภพนั้นๆ นั่นแลให้บังเกิด. อธิบายว่า ถ้าหากตัณหาจะไม่พึงร้อยรัด (ผัสสะกับเหตุเกิดของผัสสะ) ไว้ไซร้ ภพนั้นๆ แลก็จะไม่พึงบังเกิด.
               ในที่นี้ นักปราชญ์ทั้งหลายได้แสดงข้อเปรียบเทียบระหว่างที่สุดกับท่ามกลางไว้. อธิบายว่า คำว่าที่สุด (ปลาย) และท่ามกลาง ท่านกล่าวไว้ สำหรับไม้ ๒ ท่อน ที่บุคคลรวมเข้าด้วยกันแล้วเอาเชือกมัดตรงกลางไว้. เมื่อเชือกขาด ไม้ทั้งสองท่อนก็จะหล่นจากทั้งสองข้าง (ข้างปลายและตรงกลาง).
               ในข้อนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือ ที่สุด ๒ อย่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว เปรียบเหมือนไม้ ๒ ท่อน. ตัณหาเปรียบเหมือนด้ายที่ร้อยรัด (ไม้) อยู่ เมื่อตัณหาดับ ที่สุดทั้งสองเป็นอันดับด้วย เปรียบเหมือนเมื่อด้ายขาด ไม้ทั้ง ๒ อันก็หล่นจากทั้งสองข้าง.
               บทว่า เอตฺตาวตา คือ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะรู้ที่สุดทั้งสองแล้วไม่ถูกตัณหาฉาบติดไว้ตรงกลางนี้ ภิกษุจึงชื่อว่ารู้ยิ่งธรรม คือสัจจะ ๔ ที่ควรรู้ยิ่ง จึงชื่อว่ากำหนดรู้สัจจะที่เป็นโลกิยะทั้งสองที่ควรกำหนดรู้ด้วยตีรณปริญญาและปหานปริญญา.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ได้แก่ ในอัตภาพนี้แล.
               บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตกโร โหติ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ทำที่สุด คือทำการกำหนดรอบวัฏทุกข์.
               ในวาระที่ ๒ มีอธิบายดังต่อไปนี้
               พึงทราบอุปมาด้วยอำนาจไม้ ๓ ท่อน. จริงอยู่ ไม้ ๓ ท่อนที่บุคคลเอาเชือกมัดไว้ เมื่อเชือกขาด ไม้ ๓ ท่อนก็จะตกไปในที่ ๓ แห่ง. ในข้อนี้ก็เป็นอย่างนี้ คือ ขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เปรียบเหมือนไม้ ๓ ท่อน. ตัณหาเปรียบเหมือนเชือก เพราะว่าตัณหานั้นร้อยรัดขันธ์ที่เป็นอดีตเข้ากับขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน และร้อยรัดขันธ์ที่เป็นปัจจุบันเข้ากับขันธ์ที่เป็นอนาคต เมื่อตัณหาดับ ขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันก็เป็นอันดับด้วย เปรียบเหมือนเมื่อเชือกขาด ไม้ ๓ ท่อนก็ตกไปในที่ ๓ แห่ง.
               ในวาระที่ ๓ มีอธิบายดังต่อไปนี้
               บทว่า อทุกฺขมสุขา มชฺเฌ ความว่า อทุกขมสุขเวทนาชื่อว่าท่ามกลาง เพราะภาวะที่อยู่ในระหว่างเวทนาอีก ๒ (สุขเวทนากับทุกขเวทนา). เพราะว่า สุขชื่อว่าอยู่ในภายในแห่งทุกข์ หรือว่า ทุกข์ชื่อว่าอยู่ในภายในแห่งสุขไม่มี.
               บทว่า ตณฺหา สิพฺพินี ได้แก่ ความเพลิดเพลินและความกำหนัด ในเวทนาทั้งหลาย.
               บทว่า เวทนานํ อุปจฺเฉทํ นิวาเรติ ความว่า (ตัณหา) ชื่อว่าร้อยรัดเวทนาเหล่านั้นไว้.
               ในวาระที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า วิญฺญาณํ มชฺเฌ ความว่า ทั้งปฏิสนธิวิญญาณ ทั้งวิญญาณที่เหลือ ชื่อว่าเป็นท่ามกลางของนามรูปทั้งหลาย เพราะเกิดขึ้นโดยเป็นปัจจัยของนามรูป.
               ในวาระที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า วิญฺญาณํ มชฺเฌ ความว่า กรรมวิญญาณ ชื่อว่าเป็นท่ามกลาง.
               อีกอย่างหนึ่ง วิญญาณชนิดใดชนิดหนึ่งในที่นี้ ชื่อว่าเป็นท่ามกลาง เพราะในบรรดาอายตนะภายใน (เฉพาะ) มนายตนะ (อายตนะคือใจ) รับเอากรรมไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชวนวิญญาณชื่อว่าเป็นท่ามกลาง เพราะมโนทวาราวัชชนะ (การน้อมนึกในมโนทวาร) อาศัยอายตนะภายใน.
               ในวาระที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า สกฺกาโย ได้แก่ วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า สกฺกายสมุทโย ได้แก่ สมุทัยสัจ.
               บทว่า สกฺกายนิโรโธ ได้แก่ นิโรธสัจ.
               บทว่า ปริยาเยน คือ ด้วยเหตุนั้นๆ.
               บทที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวในที่ทุกแห่งทีเดียว.

               จบอรรถกถาปรายนสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ ๗. ปรายนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 331อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 332อ่านอรรถกถา 22 / 333อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=9368&Z=9442
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3286
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3286
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :