ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 101อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 102อ่านอรรถกถา 23 / 103อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๒. สีหสูตร

               อรรถกถาสีหสูตรที่ ๒               
               สีหสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อภิญฺญาตา ได้แก่ รู้จักกันแล้ว รู้จักกันแล้ว ปรากฏแล้ว.
               บทว่า สนฺถาคาเร ได้แก่ สันถาคารของมหาชน คือเรือนที่สร้างไว้เพื่อต้องการพักผ่อน (ของมหาชน).
               เล่ากันว่า สันถาคารศาลานั้นได้มีอยู่กลางเมือง ปรากฏแก่คนทั้งสองซึ่งอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน พวกมนุษย์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ พักผ่อนที่สันถาคารนั้นก่อน ภายหลังจึงไปยังที่อันผาสุกแก่ตน. บางอาจารย์กล่าวว่า เรือนที่สร้างไว้เพื่อปฏิบัติราชกิจของราชตระกูล ดังนี้บ้าง.
               จริงอยู่ เจ้าลิจฉวีประทับนั่งที่สันถาคารนั้น ริเริ่มกระทำจัดราชกิจ.
               บทว่า สนฺนิสินฺนา ความว่า นั่งประชุมบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ มีเครื่องลาดควรค่ามาก ยกเศวตฉัตรขึ้นไว้ เพื่อสำหรับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นประทับนั่ง.
               บทว่า อเนกปริยาเยน พุทฺธสฺส วณฺณํ ภาสนฺติ ความว่า เจ้าลิจฉวีทั้งหลายพิจารณาในราชสกุลและการบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกแล้วกล่าวพูดแสดงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยเหตุมิใช่น้อย.
               จริงอยู่ เจ้าเหล่านั้นเป็นบัณฑิตมีศรัทธาเลื่อมใส เป็นพระอริยสาวกระดับโสดาบันบ้าง สกทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง เจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ตัดรกชัฏฝ่ายโลกีย์ได้แล้ว สรรเสริญคุณของรัตนะทั้ง ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บรรดารัตนะทั้ง ๓ เหล่านั้น ชื่อว่าคุณของพระพุทธเจ้ามี ๓ อย่าง คือ จริยคุณ สรีรคุณ คุณคุณ.
               บรรดาคุณทั้ง ๓ นั้น เจ้าเหล่านี้ปรารภพระจริยคุณ :-
               คือกล่าวคุณของพระพุทธเจ้าด้วยชาดก ๕๕๐ เรื่องว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ สิ้นสี่อสงไขยกำไรแสนกัป ทรงทำญาตัตถจริยา โลกัตถจริยาและพุทธัตถจริยาให้ถึงที่สุด แล้วทำบริจาคซึ่งมหาบริจาค ๕ ประการ ทรงทำกิจกรรมที่ทำยากหนอดังนี้ พรรณนาจนถึงภพดุสิตแล้วจึงหยุด.
               อนึ่ง เมื่อกล่าวคุณของพระธรรม ได้กล่าวพระธรรมคุณเป็นส่วนๆ ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแสดงแล้ว ว่าโดยนิกาย ๕ นิกาย ว่าโดยปิฎกมี ๓ ปิฎก ว่าโดยองค์มี ๙ องค์ ว่าโดยขันธ์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               เมื่อกล่าวคุณของพระสงฆ์ ก็กล่าวสังฆคุณโดยสังเขปแห่งบรรพชาว่า กุลบุตรทั้งหลายได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้มีศรัทธา ละกองโภคะและวงศ์ญาติ ไม่นำพาถึงเศวตฉัตร ตำแหน่งอุปราช ตำแหน่งเสนาบดี เศรษฐีและขุนคลังเป็นต้น ออกบวชในศาสนาอันประเสริฐของพระศาสดา.
               ในสมัยพุทธกาล เฉพาะราชบรรพชิต เช่นพระเจ้าภัททิยะ พระเจ้ามหากัปปินะและพระเจ้าปุกกุสาติเป็นต้นผู้ละเศวตฉัตรออกบวชมีจำนวนถึง ๘๐,๐๐๐ พระองค์. ส่วนสำหรับกุลบุตรทั้งหลายมียสกุลบุตร โสณบุตรเศรษฐีและรัฐปาลกุลบุตรเป็นต้น ผู้ละทรัพย์หลายโกฏิ ออกบวช. กำหนดไม่ได้ กุลบุตรเห็นปานนั้นๆ ย่อมบวชในพระศาสนาของพระศาสดา.
               บทว่า สีโห เสนาปติ ได้แก่ แม่ทัพผู้มีชื่ออย่างนั้น.
               ก็ในเมืองเวสาลีมีเจ้าถึง ๗,๗๐๗ พระองค์ แม้เจ้าทั้งหมดนั้นประชุมกัน เจ้าทั้งหมดต่างยึดน้ำใจกัน เลือกเฟ้นกันว่า ท่านทั้งหลายจงเลือกเฟ้นเจ้าสักพระองค์หนึ่งผู้สามารถบริหารรัฐแว่นแคว้นได้ เห็นสีหราชกุมาร จึงตกลงกันว่าผู้นี้จักสามารถ จึงได้ถวายฉัตรประจำตำแหน่งเสนาบดีมีสีเหมือนทับทิม บุด้วยผ้ากัมพลแก่สีหราชกุมารนั้น. ทรงหมายเอาสีหราชกุมารนั้นจึงตรัสว่า สีโห เสนาปติ ดังนี้.
               บทว่า นิคฺคณฺฐสาวโก ได้แก่ อุปฐากผู้ให้ปัจจัยแก่นิครนถ์นาฏบุตร.
               ก็ในภาคพื้นชมพูทวีป มีชน ๓ คนที่เป็นอัครอุปฐากของพวกนิครนถ์ คือ ในเมืองนาลันทาอุบาลีคหบดี, ในเมืองกบิลพัสุด์วัปปศากยะ. ในเมืองเวลาสีสีหเสนาบดีผู้นี้.
               บทว่า นิสินฺโน โหติ ความว่า ปูลาดอาสนะตามริมๆ สำหรับบริษัทของเหล่าเจ้านอกนั้น ส่วนของสีหเสนาบดี ปูลาดไว้ตรงกลาง ดังนั้น สีหเสนาบดีจึงประทับนั่งเหนือราชอาสน์อันควรค่ามากที่เขาปูลาดไว้นั้น.
               บทว่า นิสฺสํสยํ ได้แก่ ไม่สงสัย คือโดยแท้ส่วนเดียว เพราะว่า เจ้าลิจฉวีเหล่านี้จะไม่กล่าวคุณของเจ้าผู้มีศักดิ์น้อยองค์ไรๆ ด้วยเหตุหลายร้อยอย่างนี้.
               บทว่า เยน นิคฺคณฺโฐ นาฏปุตฺโต เตนุปสงฺกมิ ความว่า เขาเล่าว่า นิครนถ์นาฏบุตรคิดว่า ถ้าสีหเสนาบดีนี้ เมื่อใครๆ กล่าวคุณของพระสมณโคดม ได้ฟังแล้วจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมไซร้ เราก็จักเสื่อม จึงได้กล่าวคำนี้กะสีหเสนาบดีล่วงหน้าไว้ก่อนว่า
               ดูก่อนเสนาบดี ในโลกนี้ คนเป็นอันมากเที่ยวพูดว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า เราเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าท่านประสงค์จะเข้าไปพบใครๆ ไซร้ ควรจะถามเรา ที่อันสมควร เราจะส่งท่านไปที่ ไม่สมควร เราก็จะห้ามท่านเสีย. สีหเสนาบดีนั้นระลึกถึงถ้อยคำนั้น จึงคิดว่า ถ้าท่านนิครนถ์นาฏบุตรจักส่งเราไปไซร้ เราจักไป ถ้าไม่ส่ง เราจักไม่ไป ดังนี้แล้วเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.
               ครั้งนั้น นิครนถ์ได้ฟังคำของสีหเสนาบดีนั้น ถูกความโศกอย่างรุนแรงดุจภูเขาใหญ่ทับ เสียใจว่า เราไม่ปรารถนาให้เขาไปที่ใด เขาก็ประสงค์จะไปที่นั้น เราถูกเขาฆ่าเสียแล้ว จึงคิดว่า เราจักทำอุบายห้ามเขา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กึ ปน ตฺวํ ดังนี้.
               นิครนถ์เมื่อจะกล่าวอย่างนี้ ทำปีติอันเกิดขึ้นแล้วของสีหเสนาบดีให้พินาศไป เหมือนเอาปากกระแทกโคตัวกำลังเที่ยวไป เหมือนทำประทีปที่ลุกโพลงให้ดับ เหมือนคว่ำบาตรที่เต็มภัตตาหาร ฉะนั้น.
               บทว่า คมิยาภิสงฺขาโร ได้แก่ การตระเตรียมที่เป็นไปโดยการให้เทียมช้าง ม้าและการถือเอามาลัยและของหอมเป็นต้น.
               บทว่า โส วูปสนฺโต ได้แก่ การเตรียมจะไปนั้นถูกระงับแล้ว.
               บทว่า ทุติยมฺปิ โข คือ แม้วาระที่ ๒.
               ในวาระแม้นี้ เมื่อเจ้าลิจฉวีสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า ได้กล่าวสรีรคุณด้วยอำนาจมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ พระอนุพยัญชนะ ๘๐ และพระรัศมีข้างละแห่งพระทศพล กำหนดเอาเบื้องล่างแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องบนแต่ปลายผมลงมา ตั้งแต่ภพดุสิตจนถึงมหาโพธิบัลลังก์. เมื่อจะกล่าวสรรเสริญคุณพระธรรมได้กล่าวคุณของพระธรรมด้วยอำนาจธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้วเท่านั้นว่า ชื่อว่าความพลั้งพลาดในบทหนึ่งก็ดี ในพยัญชนะตัวหนึ่งก็ดี ไม่มีเลย. เมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ ได้กล่าวคุณของพระสงฆ์ ด้วยอำนาจปฏิปทาการปฏิบัติว่า กุลบุตรผู้ละยศ สิริและทรัพย์สมบัติเห็นปานนี้ บวชในศาสนาของพระศาสดา ไม่เป็นผู้เกียจคร้านเป็นปกติ แต่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธุดงค์คุณ ๑๓ ประการ กระทำกิจกรรมในอนุปัสสนา ๗ ใช้การจำแนกอารมณ์ ๓๘.
               ก็ในวาระที่ ๓ เมื่อจะกล่าวสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า กล่าวพุทธคุณทั้งหลายโดยปริยายแห่งพระสูตรนั่นแลว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้เป็นต้น. กล่าวสรรเสริญพระธรรมคุณทั้งหลายโดยปริยายแห่งพระสูตรนั่นแหละว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ดังนี้เป็นต้น. กล่าวสรรเสริญพระสังฆคุณทั้งหลายโดยปริยายแห่งพระสูตรนั่นแหละว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ดังนี้เป็นต้น.
               ลำดับนั้น สีหเสนาบดีคิดว่า ก็เมื่อลิจฉวีราชกุมารเหล่านี้กล่าวพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จำเดิมแต่วันที่ ๓ พระโอฐก็ไม่พอ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกอบด้วยพระคุณไม่ต่ำทรามแน่ บัดนี้ เราจะไม่ละปีติที่เกิดขึ้นแล้วนี้อย่างเด็ดขาด จักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าวันนี้.
               ลำดับนั้น สีหเสนาบดีเกิดความวิตกขึ้นว่า พวกนิครนถ์จักกระทำอะไรแก่เราเล่า.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ หิ เม กริสฺสนฺติ ความว่า นิครนถ์ทั้งหลายจักกระทำอะไรแก่เรา.
               บทว่า อปโลกิตา วา อนปโลกิตา วา ได้แก่ บอกกล่าวหรือจะไม่บอกกล่าว. อธิบายว่า นิครนถ์เหล่านั้นเราบอกกล่าวแล้ว จักให้สมบัติคือยานพาหนะ (และ) อิศริยยศอันพิเศษก็หาไม่ เราไม่บอกกล่าว เขาจักนำอิศริยยศไปเสียก็หามิได้ การบอกกล่าวนิครนถ์เหล่านั้นจึงไม่มีผล.
               บทว่า เวสาลิยา นิยฺยาสิ ความว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อฝนตกในฤดูร้อน น้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ไหลไปได้หน่อยหนึ่งเท่านั้นก็หยุด ไม่ไหลฉันใด เวลาที่เมื่อปีติเกิดขึ้นแก่สีหเสนาบดีในวันแรกว่า เราจักเฝ้าพระทศพล ถูกนิครนถ์ห้ามไว้ก็ฉันนั้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อฝนตกในวันที่ ๒ น้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ไหลไปได้หน่อยหนึ่ง ปะทะกองทรายเข้าก็หยุดไหลฉันใด เวลาที่เมื่อปีติเกิดขึ้นแก่สีนเสนาบดี ในวันที่ ๒ ว่าเราจักเฝ้าพระทศพล ถูกนิครนถ์ห้ามไว้ก็ฉันนั้น. เมื่อฝนตกในวันที่ ๓ น้ำไหลลงสู่แม่น้ำ พัดพาเอาใบไม้เก่า ท่อนไม้แห้ง ต้นอ้อและหยากเยื่อเป็นต้นไป พังกองทราย ไหลลงสมุทรไปได้ฉันใด สีหเสนาบดีก็ฉันนั้น เมื่อความปีติปราโมทย์เกิดขึ้น เพราะได้ฟังกถาพรรณนาคุณของวัตถุ (คือสรณะ) ทั้ง ๓ ในวันที่ ๓ จึงคิดว่า พวกนิครนถ์ไม่มีผล พวกนิครนถ์ไร้ผล นิครนถ์เหล่านี้จักทำอะไรเรา จำเราจักไปเฝ้าพระศาสดา จึงตระเตรียมการเสร็จแล้วก็ออกไปจากเมืองเวสาลี.
               ก็เมื่อจะออกไปคิดว่า เราประสงค์จะไปเฝ้าพระทศพล เป็นเวลานานแล้ว ก็การไปด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก (คือปลอมตัวไป) ไม่ควรแก่เราแล จึงให้ป่าวร้องว่า คนเหล่าใดเหล่าหนึ่งประสงค์จะไปเฝ้าพระทศพล คนทั้งหมดจงออกมา แล้วให้เทียมรถ ๕๐๐ คันและบริษัทหมู่ใหญ่ห้อมล้อม ถือเอาของหอม ดอกไม้และจุณณอบเป็นต้นออกไป.
               บทว่า ทิวา ทิวสฺส ได้แก่ ในเวลากลางวัน คือในเวลาประมาณเลยเที่ยงไป.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า เมื่อเข้าไปยังพระอารามได้เห็นพระรัศมีด้านละวาแห่งอนุพยัญชนะ ๘๐ พระปุริสลักษณะ ๓๒ และพระรัศมีหนาแน่นมีวรรณะ ๖ ประการแต่ที่ไกลทีเดียว จึงคิดว่า เราไม่ได้พบบุรุษเห็นปานนี้ซึ่งอยู่ในที่ใกล้อย่างนี้ เป็นเวลาถึงเท่านี้ เราถูกลวงเสียแล้วหนอ เราไม่มีลาภหนอ เกิดความปีติปราโมทย์ เหมือนบุรุษเข็ญใจพบขุมทรัพย์ใหญ่ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               บทว่า ปรเมน อสฺสาเทน ความว่า ด้วยความโล่งใจอย่างยิ่ง กล่าวคือมรรคผล.
               บทว่า อสฺสาสาย ธมฺมํ เทเสมิ ความว่า จำเราจะแสดงธรรมเพื่อความโล่งใจ เพื่อสนับสนุน. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี ด้วยองค์ ๘.
               บทว่า อนุวิจฺจการํ ความว่า ใคร่ครวญแล้ว. อธิบายว่า คิดแล้วคือพิจารณาแล้วจึงกระทำกิจที่พึงกระทำ.
               บทว่า สาธุ โหติ แปลว่า เป็นความดี.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลผู้เช่นท่านเห็นเราแล้ว ก็ถึงเราว่าเป็นที่พึ่ง เห็นนิครนถ์แล้วก็ถึงนิครนถ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมจะเกิดครหาขึ้นว่า ทำไม สีหเสนาบดีผู้นี้จึงถึงผู้ที่ตนเห็นแล้วๆ เท่านั้น ว่าเป็นที่พึ่ง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับบุคคลเช่นท่าน.
               บทว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า ได้ยินว่า นิครนถ์เหล่านั้นได้บุคคลเห็นปานนั้นเป็นสาวก ก็ยกป้ายแผ่นผ้าเที่ยวป่าวร้องไปในพระนครว่า พระราชาองค์โน้น ราชมหาอำมาตย์คนโน้น เศรษฐีคนโน้นถึงสรณะที่พึ่งของเรา.
               เพราะเหตุไร? เพราะนิครนถ์เหล่านั้นคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นใหญ่ของเราจักปรากฏชัด และคิดว่า ก็ถ้าสีหเสนาบดีนั้นพึงเกิดความร้อนใจขึ้นว่า เราถึงนิครนถ์เหล่านี้เป็นที่พึ่งทำไม สีหเสนาบดีนั้นจักบรรเทาความร้อนใจนั้นว่า ชนเป็นอันมากรู้ว่าเราถึงนิครนถ์เหล่านั้นเป็นที่พึ่ง ก็จักไม่ถอยกลับ เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ.
               บทว่า โอปานภูตํ ได้แก่ ตระกูลที่ตั้งอยู่ดุจบ่อน้ำที่เขาจัดแต่งไว้.
               บทว่า กุลํ ได้แก่ นิเวศน์ที่อยู่อาศัยของท่าน.
               ด้วยบทว่า ทาตพฺพํ มญฺเญยฺยาสิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทว่า เมื่อก่อนท่านเห็นชน ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้างมาถึงไม่กล่าวว่าไม่มี แล้วก็ให้ไป บัดนี้ ท่านอย่าตัดไทยธรรมสำหรับนิครนถ์เหล่านี้เสีย โดยเหตุเพียงถึงเราเป็นที่พึ่งเท่านั้นเลย ความจริง ท่านควรให้แก่นิครนถ์ผู้มาถึงอย่างเดิม.
               สีหเสนาบดีทูลว่า คำนั้นข้าพระองค์ได้ฟังมาแล้ว พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ได้ฟังมาจากไหน?
               สีหเสนาบดีทูลว่า จากสำนักนิครนถ์ พระเจ้าข้า.
               ได้ยินว่า นิครนถ์เหล่านั้นประกาศไปในเรือนแห่งตระกูลทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายกล่าวว่า ควรให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งผู้มาถึงเข้า แต่พระสมณโคดมพูดอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น ควรให้แก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้แก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนเหล่าอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก.
               สีหเสนาบดีกล่าวว่า สุตเมตํ หมายเอาคำนั้น.
               บทว่า อนุปุพฺพิกถํ ได้แก่ ถ้อยคำตามลำดับอย่างนี้ว่า ศีลในลำดับแห่งทาน สวรรค์ในลำดับแห่งศีล มรรคในลำดับแห่งสวรรค์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทานกถํ ได้แก่ ถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยคุณของทานมีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าทานนี้เป็นเหตุแห่งความสุข เป็นมูลแห่งสมบัติ เป็นที่ตั้งแห่งโภคะทั้งหลาย เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นคติ เป็นที่พำนักของบุคคลเดินทางไม่เรียบ ที่พึ่งอาศัย ที่พึ่ง ที่ยึดหน่วง ที่ต้านทาน ที่เร้น ที่ไป ที่พำนัก เช่นกับทาน ในโลกนี้และโลกหน้า ไม่มี.
               จริงอยู่ ทานนี้เป็นเช่นกับอาสนะทองคำอันสำเร็จด้วยรัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นเช่นกับมหาปฐวี เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งอาศัย เป็นเช่นกับเชือกสำหรับยึดเหนี่ยว เพราะอรรถว่าเป็นที่ยึดหน่วง และทานนี้เป็นดุจนาวา เพราะอรรถว่าเป็นที่ช่วยทุกข์ เป็นดุจนักรบผู้แกล้วกล้าในสงคราม เพราะอรรถว่าเป็นที่โล่งใจ เป็นดุจนครที่จัดแต่งไว้ดีแล้ว เพราะอรรถว่าเป็นที่ต้านภัย เป็นดุจดอกปทุม เพราะอรรถว่าไม่ถูกมลทินคือ ความตระหนี่เป็นต้น ซึมซาบ เป็นดุจเพลิง เพราะอรรถว่าเผามลทินคือ ความตระหนี่เป็นต้นเหล่านั้น เป็นดุจอสรพิษ เพราะอรรถว่าเข้าใกล้ได้ยาก เป็นดุจสีหะ เพราะอรรถว่าไม่หวาดสะดุ้ง เป็นดุจช้าง เพราะอรรถว่ามีกำลัง เป็นดุจโคอุสภะขาว เพราะอรรถว่าอันโลกสมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง เป็นดุจพระยาม้าวลาหก เพราะอรรถว่าทำบุคคลให้ถึงถิ่นอันเกษมปลอดภัย.
               ธรรมดาว่าทานนี้เป็นหนทางที่เราไป นั่นเป็นวงศ์ของเรา เราเมื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ได้ปฏิบัติมหายัญเป็นอเนก คือมหายัญครั้งเป็นเวลามพราหมณ์ มหายัญครั้งเป็นมหาโควินพราหมณ์ มหายัญครั้งที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์นามว่ามหาสุทัศนะ มหายัญครั้งเป็นเวสสันดร เราเมื่อครั้งเป็นกระต่ายได้มอบตนในกองเพลิงที่ลุกโชน แล้วประคับประคองจิตของยาจกที่มาถึงไว้ได้ ด้วยว่าทานในโลก ย่อมให้สักกสมบัติ มารสมบัติ พรหมสมบัติ จักรพรรดิ์สมบัติ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ ให้อภิสัมโพธิญาณ.
               ก็เพราะเหตุที่ผู้ให้ทานอาจสมาทานศีลได้ ฉะนั้น จึงตรัสสีลกถาในลำดับทาน.
               บทว่า สีลกถํ ได้แก่ ถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยคุณของศีลมีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าศีลนี้เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่พำนัก เป็นที่ยึดหน่วง เป็นที่ต้านทาน เป็นคติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ธรรมดาว่า ศีลนี้เป็นวงศ์ของเรา เราบำเพ็ญศีลในอัตตภาพทั้งหลายหาที่สุดมิได้ เช่นครั้งเป็นพระยานาคชื่อว่าสังขบาล ครั้งเป็นพระยานาคชื่อว่าจัมเปยยะ ครั้งเป็นพระยานาคชื่อว่าศีลวะ ครั้งเป็นพระยาช้างผู้เลี้ยงมารดา ครั้งเป็นพระยาช้างชื่อว่าฉัททันตะ เพราะที่พึ่งอาศัย ที่พึ่ง ที่ยึดหน่วง ที่ต้านทาน ที่เร้น ที่ไปและที่พำนักแห่งสมบัติในโลกนี้และโลกอื่น เสมือนศีลไม่มี. เครื่องประดับเช่นเครื่องประดับคือศีลไม่มี. ดอกไม้เช่นดอกไม้คือศีลไม่มี กลิ่นเช่นกับกลิ่นคือศีลไม่มี เพราะชาวโลกกับทั้งเทวโลก เมื่อตรวจดูคนผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ลูบไล้ด้วยกลิ่นคือศีล ย่อมไม่อิ่มใจ.
               อนึ่ง เพื่อทรงแสดงว่า บุคคลอาศัยศีลนี้ ย่อมได้สวรรค์นี้จึงตรัสสัคคกถาในลำดับแห่งศีล.
               บทว่า สคฺคกถํ ได้แก่ ถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยคุณแห่งสวรรค์ มีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า สวรรค์นี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในสวรรค์นี้มีการเล่นเป็นนิตย์ ได้สมบัติเป็นนิตย์ เทพชั้นจาตุมหาราชิกะเสวยสุขสมบัติ ทิพยสมบัติ ๙,๐๐๐,๐๐๐ ปี เทวดาชั้นดาวดึงส์เสวยสุขสมบัติ ทิพยสมบัติ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี.
               จริงอยู่ พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่พอที่จะกล่าวพรรณนาสวรรค์สมบัติ
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพึงกล่าวสัคคกถา โดยอเนกปริยายแล.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงว่า สวรรค์แม้นี้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความยินดีด้วยอำนาจ ความพอใจในสวรรค์นั้น เหมือนบุคคลประดับช้างแล้วตัดงวงช้างเสีย จึงทรงแสดงโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้มากยิ่ง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทีนโว ได้แก่ โทษ.
               บทว่า โอกาโร แปลว่า ความต่ำทราม ได้แก่ความเลวทราม.
               บทว่า สงฺกิเลโส ได้แก่ ความที่สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองในสังสารวัฏฏ์ ก็ด้วยกามเหล่านั้น.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงขู่ด้วยโทษแห่งกามอย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ การออกจากกาม.
               บทว่า กลฺลจิตฺตํ ได้แก่ จิตไม่เสีย.
               บทว่า สามุกฺกํสิกา ได้แก่ พระธรรมเทศนาที่ทรงยกขึ้นเอง คือจับยกขึ้นด้วยพระองค์เอง. อธิบายว่า พระธรรมเทศนาที่ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ ไม่สาธารณ์ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น.
               ถามว่า ก็เทศนาที่ยกขึ้นแสดงเองนั้นคืออะไร?
               ตอบว่า คือ อริยสัจจเทศนา. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า ทุกขํ สมุทยํ นิโรธํ มคฺคํ.
               บทว่า วิรชํ วีตมลํ ความว่า ธรรมจักษุชื่อว่าปราศจากธุลี เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้น. ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะปราศจากมลทินมีมลทินคือราคะเป็นต้น.
               ในบทว่า ธมฺมจกฺขุํ นี้ หมายถึงโสดาปัตติมรรค. เพื่อจะทรงแสดงอาการเกิดขึ้นของโสดาปัตติมรรคนั้น จึงตรัสว่า ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา. ก็ธรรมจักขุนั้น ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ รู้แจ้งแทงตลอดธรรม คือสัจจะด้วยอำนาจกิจนั่นแหละเกิดขึ้น.
               อริยสัจจธรรมอันสีหเสนาบดีนั้นเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทิฏฐธัมมะ ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               วิจิกิจฉาอันสีหเสนาบดีนั้นข้ามได้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าติณฺณวิจิกิจฺฉะ มีวิจิกิจฉา ความสงสัยอันข้ามได้แล้ว. ความเคลือบแคลงของสีหเสนาบดีนั้น ไปปราศแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิคตกถังกถะ ผู้ปราศจากความเคลือบแคลง.
               สีหเสนาบดีนั้นถึงความแกล้วกล้า ผู้อื่นไม่เป็นปัจจัยแห่งเสนาบดีนั้นในศาสนาของพระศาสดา คือเขาเป็นไปในศาสนานี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอปรปัจจยะ ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย.
               บทว่า ปวตฺตมํสํ ได้แก่ เนื้อที่เป็นกัปปิยะ ที่เป็นไปแล้วตามปกติ. อธิบายว่า เธอจงหาซื้อเอาในร้านตลาด.
               บทว่า สมฺพหุลา นิคฺคณฺฐา ได้แก่ นิครนถ์ประมาณ ๕๐๐.
               บทว่า ถูลํ ปสุํ ได้แก่ สัตว์ของเลี้ยงกล่าวคือกวาง กระบือและสุกรที่อ้วนคือตัวใหญ่.
               บทว่า อุทฺทิสฺสกตํ ความว่า เนื้อที่เขาทำ คือฆ่าเจาะจงตน.
               บทว่า ปฏิจฺจกมฺมํ ความว่า พระสมณโคดมนี้นั้นย่อมถูกต้องกรรม คือการฆ่าสัตว์มีชีวิตนั้น เพราะอาศัยเนื้อนี้. นิครนถ์เหล่านั้นมีลัทธิอย่างนี้ว่า จริงอยู่ กรรมที่เป็นอกุศลนั้นมีแก่ทายกกึ่งหนึ่ง มีแก่ปฏิคาหกกึ่งหนึ่ง.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปฏิจฺจกมฺมํ ได้แก่ เนื้อที่เขาอาศัยตนทำ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปฏิจฺจกมฺมํ นี้เป็นชื่อของนิมิตกรรม. ปฏิจจกรรมมีในเนื้อนี้ เพราะเหตุนั้นแม้เนื้อก็เรียกว่าปฏิจจกรรม.
               บทว่า อุปกณฺณเก แปลว่า ที่กกหู.
               ก็คำว่า อลํ นี้เป็นคำปฏิเสธ. อธิบายว่า จึงมีประโยชน์อะไรด้วยเนื้อนี้.
               บทว่า น จ ปเนเต ความว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้จะติเตียนมานาน. แม้เมื่อจะกล่าวติเตียนก็กล่าวตู่ไม่กระดากปาก. อธิบายว่า กล่าวตู่ไม่รู้จักจบ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ชีรนฺติ นี้ พึงเห็นโดยอรรถว่าละอาย. อธิบายว่า ย่อมไม่ละอาย.

               จบอรรถกถาสีหสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๒. สีหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 101อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 102อ่านอรรถกถา 23 / 103อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=3659&Z=3861
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5124
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5124
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :