ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 13อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 14อ่านอรรถกถา 23 / 15อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อนุสยวรรคที่ ๒
๔. ปุคคลสูตร

               อรรถกถาปุคคลสูตรที่ ๔               
               ปุคคลสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า หลุดพ้นแล้วโดยส่วนทั้ง ๒. อธิบายว่า หลุดพ้นแล้วจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ และหลุดพ้นแล้วจากนามกายด้วยมรรค.
               บุคคลนั้นมี ๕ จำพวก คือ บุคคลผู้ออกจากอรูปสมาบัติ ๔ แต่ละสมาบัติแล้วพิจารณาสังขาร แล้วบรรลุพระอรหัต ๔ จำพวก. และพระอนาคามีผู้ออกจากนิโรธแล้ว บรรลุพระอรหัต ๑ จำพวก.
               แต่บาลีในพระสูตรมาแล้วด้วยอำนาจผู้ได้วิโมกข์ ๘ อย่างนี้ว่า๑-
               ก็บุคคลผู้หลุดพ้นโดยส่วน ๒ เป็นไฉน?
               บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายแล้วอยู่ อาสวะของผู้นั้นย่อมสิ้นไป เพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา.
____________________________
๑- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๑๕๑

               บุคคลผู้ชื่อว่าปัญญาวิมุตตะ เพราะหลุดพ้นด้วยปัญญา.
               ปัญญาวิมุตตะนั้นมี ๕ จำพวก ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ พระอรหันตสุกขวิปัสสกะจำพวก ๑ ท่านผู้ออกจากฌาน ๔ แล้วบรรลุพระอรหัต ๔ จำพวก.
               แต่บาลีในสูตรนี้มาแล้ว โดยปฏิเสธวิโมกข์ ๘ ดังพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ความจริง บุคคลไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายอยู่ อาสวะทั้งหลายของเขาย่อมสิ้นไป เพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา. บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าปัญญาวิมุตตะ หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญา.
               บุคคลชื่อว่ากายสักขี เพราะทำให้วิโมกข์นั้นอันตนทำให้แจ้งแล้วด้วยนามกาย. กายสักขีบุคคลนั้นย่อมถูกต้องฌานสัมผัสก่อน ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ คือพระนิพพานในภายหลัง. กายสักขีพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค รวมเป็น ๖ จำพวก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายอยู่ อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นย่อมสิ้นไป เพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา. บุคคลนี้ ท่านเรียกว่ากายสักขี ด้วยเห็นวิโมกข์ด้วยนามกาย.
               บุคคลผู้ชื่อว่าทิฏฐิปปัตตะ เพราะถึงอริยสัจจธรรมที่ตนเห็นแล้ว.
               ในทิฏฐิปปัตตบุคคลนั้นมีลักษณะสังเขปดังต่อไปนี้
               บุคคลชื่อว่าทิฏฐิปปัตตะ เพราะรู้ เห็น รู้แจ้ง ทำให้แจ้ง ถูกต้องด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ความดับสังขารเป็นสุขดังนี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร บุคคลแม้นั้นย่อมมี ๖ จำพวก ดุจกายสักขีบุคคลฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ปฏิปทาเป็นเครื่องยังสัตว์ให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้ และเป็นผู้มีธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ซึ่งตนเห็นด้วยปัญญาอันตนประพฤติแล้วด้วยปัญญา. บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าทิฏฐิปปัตตะ ผู้ถึงอริยสัจจ์ที่ตนเห็นแล้ว.
               บุคคลชื่อว่าสัทธาวิมุตตะ เพราะหลุดพ้นด้วยศรัทธา
               สัทธาวิมุตตบุคคลแม้นั้นก็มี ๖ จำพวก โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ปฏิปทาเป็นเครื่องให้ถึงความดับทุกข์ และย่อมเป็นผู้มีธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว ซึ่งตนเห็นแล้วด้วยปัญญา อันตนประพฤติแล้วด้วยปัญญา ฯลฯ บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าสัทธาวิมุตตะ หลุดพ้นด้วยศรัทธา.
               แต่ว่าไม่เป็นเหมือนความหลุดพ้นของทิฏฐิปปัตตะบุคคล เพราะความสิ้นกิเลสของสัทธาวิมุตตะบุคคลนี้ เหมือนความสิ้นกิเลสของบุคคลผู้เชื่ออยู่ ปักใจเชื่ออยู่ และน้อมใจเชื่ออยู่ ในมัคคขณะอันเป็นส่วนเบื้องต้นฉะนั้น. ญาณอันเป็นเครื่องตัดกิเลสในมัคคขณะอันเป็นส่วนเบื้องต้นของทิฏฐิปปัตตะบุคคล เป็นญาณไม่ชักช้า กล้าแข็ง แหลมคม ตัดกิเลสผ่านไปไม่ได้ เพราะเหตุนั้น เหมือนอย่างว่า บุคคลใช้ดาบที่ไม่คม ตัดต้นกล้วย รอยขาดของต้นกล้วยย่อมเกลี้ยงเกลา ดาบก็ไม่นำ (ตัด) ไปได้โดยฉับพลัน ยังได้ยินเสียงต้องทำความพยายามอย่างแรงกล้าฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของสัทธาวิมุตตบุคคลนั้น พึงทราบเหมือนฉันนั้น. แต่บุคคลเอาดาบที่ลับดีแล้วตัดต้นกล้วย รอยขาดของต้นกล้วยย่อมเกลี้ยงเกลา ดาบย่อมนำ (ตัด) ได้ฉับพลัน ไม่ได้ยินเสียง ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของปัญญาวิมุตตบุคคล ก็พึงทราบฉันนั้นเหมือนกัน.
               บุคคลชื่อว่าธัมมานุสารี เพราะตามระลึกถึงธรรม. ปัญญาชื่อว่าธรรม. อธิบายว่า บุคคลย่อมเจริญมรรคอันมีปัญญาเป็นตัวนำ.
               แม้ในบุคคลผู้สัทธานุสารีก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บุคคลทั้ง ๒ นั้น ก็คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั่นแล.
               สมจริงดังคำที่ธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า บุคคลใดปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ปัญญินทรีย์ย่อมมีจำนวนมาก บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมเจริญอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นตัวนำ บุคคลนี้ท่านเรียกว่าธัมมานุสารี.
               ในธัมมานุสารีนั้น มีความสังเขปเพียงเท่านี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร กถาว่าด้วยอุภโตภาควิมุตตะปุคคลเป็นต้นนี้ ก็กล่าวไว้แล้วในอธิการว่าด้วยปัญญาภาวนาในวิสุทธิมรรค เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในปกรณ์นั้นเถิด ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาปุคคลสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อนุสยวรรคที่ ๒ ๔. ปุคคลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 13อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 14อ่านอรรถกถา 23 / 15อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=224&Z=232
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3579
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3579
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :