ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 200อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 23 / 206อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สัมโพธวรรคที่ ๑
๑. สัมโพธิสูตร

               มโนรถปูรณี               
               อรรถกถาอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต               
               สัมโพธวรรควรรณนาที่ ๑               
               อรรถกถาสัมโพธิสูตรที่ ๑               
               สัมโพธวรรคที่ ๑ แห่งนวกนิบาต สัมโพธิสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สมฺโพธิกานํ ได้แก่ เจริญในฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ กล่าวคือมรรค ๔. อธิบายว่า เป็นอุปการะ ย่อมถามมุ่งถึงธรรม ๙ ประการซึ่งมาแล้วในบาลี.
               บทว่า กา อุปนิสา ได้แก่ อะไรเป็นเหตุคือเป็นปัจจัย.
               กถาชื่อว่า อภิสลฺเลขิกา เพราะย่อมขัดเกลากิเลส. ชื่อว่า เจโตวิวรณสปฺปยา เพราะเป็นที่สบายและมีอุปการะในการเปิดจิตด้วยสมถะและวิปัสสนา. ถ้อยคำที่เป็นไปปรารภถึงความมักน้อย ชื่อว่าอัปปิจฉกถา.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อสุภา ภาเวตพฺพา ราคสฺส ปหานาย เนื้อความพึงอธิบายให้แจ่มแจ้ง ด้วยการเปรียบเทียบกับคนผู้เกี่ยวข้าวสาลีดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า บุรุษคนหนึ่งถือเคียวแล้วเกี่ยวข้าวสาลีทั้งหลาย ในนาข้าวสาลีตั้งแต่ปลาย. ต่อมา โคทั้งหลายทำลายรั้วนาข้าวสาลีนั้นแล้วเข้าไป เขาวางเคียวถือไม้ไล่โคทั้งหลายออกไปตามทางนั้นแล ทำรั้วให้เป็นปกติแล้ว จึงถือเคียวเกี่ยวข้าวสาลีอีก.
               ในข้อเปรียบเทียบนั้น พึงเห็นพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนนาข้าวสาลี. พระโยคาวจรเปรียบเหมือนคนผู้เกี่ยวข้าวสาลี. ปัญญาเปรียบเหมือนเคียว. เวลาทำวิปัสสนาเปรียบเหมือนเวลาเกี่ยว. อสุภกัมมัฏฐานเปรียบเหมือนไม้. ความสำรวมระวังเปรียบเหมือนรั้ว.
               ความเลินเล่อยังไม่ทันพิจารณาราคะเกิดขึ้นฉับพลัน เปรียบเหมือนโคทั้งหลายทำลายรั้วแล้วเข้าไป. เวลาที่ข่มราคะไว้ได้ด้วยอสุภกัมมัฏฐานแล้วเริ่มทำวิปัสสนาอีก เปรียบเหมือนการวางเคียวถือไม้ไล่โค ออกไปตามทางที่เข้ามานั้นแล ทำรั้วให้กลับเป็นปกติแล้ว จึงเกี่ยวข้าวสาลีอีก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า อสุภา ภาเวตพฺพา ราคสฺส ปหานาย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ราคสฺส ได้แก่ ราคะประกอบด้วยเบญจกามคุณ.
               เมตตากัมมัฏฐาน ชื่อว่าเมตตา.
               บทว่า พฺยาปาทสฺส ปหานาย ได้แก่ เพื่อละความโกรธที่เกิดขึ้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อานาปานสติ ได้แก่ อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก) มีอารมณ์ ๑๖.
               บทว่า วิตกฺกูปจฺเฉทาย ได้แก่ เพื่อเข้าไปตัดวิตกทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อสฺมิมานสมุคฺฆาตาย ได้แก่ เพื่อถอนมานะ ๙ อย่างที่เกิดขึ้นว่าเรา ดังนี้.
               บทว่า อนตฺตสฺญฺญา สณฺฐาติ ได้แก่ เมื่อบุคคลเห็นอนิจจลักขณะแล้ว อนัตตลักขณะก็ได้เห็นแล้วเหมือนกัน. ด้วยว่า ในลักขณะสามเหล่านั้น เมื่อเห็นลักขณะหนึ่งแล้ว สองลักขณะนอกนี้ก็ได้เห็นแล้วเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนิจฺจสญฺญิโน ภิกฺขเว อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ ดังนี้.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม นิพฺพานํ ความว่า ผู้ที่ได้อนัตตสัญญา ย่อมถึงการดับสนิทโดยไม่มีปัจจัยในปัจจุบันทีเดียว.
               ในสูตรนี้ ท่านกล่าวไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

               จบอรรถกถาสัมโพธิสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สัมโพธวรรคที่ ๑ ๑. สัมโพธิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 200อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 23 / 206อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=7460&Z=7514
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6405
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6405
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :