ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 214อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 215อ่านอรรถกถา 23 / 216อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สีหนาทวรรคที่ ๒
๑. วุฏฐิสูตร

               สีหนาทวรรควรรณนาที่ ๒               
               อรรถกถาวุฏฐิสูตรที่ ๑               
               วุฏฐิสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ท่านพระสารีบุตรคิดว่า ถ้าพระศาสดาทรงประสงค์จะหลีกไปสู่ที่จาริก พึงทรงหลีกไปในกาลนี้ เอาเถิดเราจะทูลลาพระศาสดาเพื่อไปสู่ที่จาริกดังนี้ เป็นผู้อันหมู่ภิกษุห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าแล้ว.
               บทว่า อายสฺมา มํ ภนฺเต ความว่า นัยว่า ภิกษุนั้นเห็นพระเถระมาด้วยภิกษุบริวารเป็นอันมาก คิดว่า พวกภิกษุเหล่านี้ทิ้งพระตถาคตแล้ว ออกไปแวดล้อมพระสารีบุตร เราจักทูลห้ามการไปของพระเถระนั้นเสียดังนี้ ผูกความโกรธโดยมิใช่ฐานะ จึงได้กราบทูลแล้วอย่างนั้น.
               บทว่า ตตฺถ อาสชฺช ได้แก่ กระทบ.
               บทว่า อปฺปฏินิสฺสชฺช ได้แก่ ไม่ขอโทษ คือไม่แสดงความผิด.
               ถามว่า ก็ภิกษุนั้นผูกอาฆาตในเพราะเหตุไร?
               ตอบว่า ชายจีวรของพระเถระผู้กำลังลุกขึ้นไปไหว้พระทศพล ถูกตัวของภิกษุนั้นเข้า. บางท่านกล่าวว่า ลมพัดไปถูกเอาดังนี้ก็มี. ท่านผูกอาฆาตด้วยเหตุประมาณเท่านี้แล้ว เมื่อได้เห็นพระเถระไปด้วยบริวารเป็นอันมากเกิดริษยา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทูลห้ามการไปของพระเถระนั้นเสียดังนี้.
               บทว่า เอหิ ตฺวํ ภิกฺขุ ความว่า พระศาสดาสดับคำของภิกษุนั้นแล้ว ทรงรู้ว่า เมื่อใครพูดค้านว่า พระสารีบุตรมิได้ประหารภิกษุนั้น เธอจะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เข้าข้างฝ่ายของพระอัครสาวกของพระองค์อย่างเดียว มิได้เข้าข้างข้าพระองค์ดังนี้ พึงเจ็บใจในเราแล้วเกิดในอบายดังนี้ ได้ตรัสสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ให้เรียกสารีบุตรมา เราจักถามเรื่องนี้ดู ดังนี้ จึงได้ตรัสแล้วอย่างนี้.
               บทว่า อปาปุรณํ อาทาย ได้แก่ ถือกุญแจ.
               บทว่า สีหนาทํ ได้แก่ บันลือประเสริฐเฉพาะพระพักตร์ ไม่เปลี่ยนแปลง ภิกษุสงฆ์อันพระมหาเถระทั้งสองรูปประกาศแล้วอย่างนี้ ก็พากันมา ทิ้งที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.
               บทว่า ขียธมฺมํ ได้แก่ ธรรมกถา.
               บทว่า คูถคตํ คือ คูถ.
               ถึงในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปฐวีสเมน ได้แก่ ชื่อว่ามีใจเสมอด้วยแผ่นดิน เพราะไม่โกรธ เพราะไม่ประทุษร้าย.
               แท้จริง แผ่นดินจะไม่ทำความสุขใจว่า ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดลงบนเราดังนี้ จะไม่ทำความทุกข์ใจว่า ชนทั้งหลายทิ้งของไม่สะอาดลงดังนี้ ท่านแสดงว่า ถึงจิตของข้าพระองค์ก็เห็นปานนั้น.
               บทว่า วิปูเลน ได้แก่ ไม่น้อย.
               บทว่า มหคฺคตน ได้แก่ ถึงความกว้างใหญ่.
               บทว่า อปฺปมาเณน ได้แก่ ขยายออกไปได้ไม่มีประมาณ.
               บทว่า อวเรน ได้แก่ เว้นแล้วจากเวรต่ออกุศลและเวรต่อบุคคล.
               บทว่า อพฺยาปชฺเฌน ได้แก่ ไม่มีทุกข์ คือปราศจากโทมนัส.
               บทว่า โส อิธ ได้แก่ ภิกษุนั้นเป็นผู้มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว พึงกระทำอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้เป็นเช่นข้าพระองค์จักทำกรรมเห็นปานนั้นได้อย่างไรดังนั้น ท่านจึงบันลือแล้วซึ่งสีหนาทเป็นครั้งแรก.
               พึงทราบการประกอบในบททั้งปวงอย่างนี้.
               บทว่า รโชหรณํ ได้แก่ ราชตระกูลพวกเขาไม่กวาดด้วยไม้กวาด แต่พวกเขาเช็ดด้วยท่อนผ้า. นั่นเป็นชื่อของรโชหรณะ (ผ้าเช็ดธุลี).
               บทว่า กโฬปิหตฺโถ ได้แก่ เป็นผู้มีมือถือตะกร้า หรือถือหม้อข้าว.
               บทว่า นนฺติกวาสี ได้แก่ เป็นผู้นุ่งผ้าเก่าชายขาด.
               บทว่า สุรโต ได้แก่ เป็นผู้มีปกติแจ่มใสประกอบด้วยความสงบเสงี่ยม.
               บทว่า สุทนฺโต ได้แก่ ได้รับการฝึกดีแล้ว.
               บทว่า สุสิกฺขิโต ได้แก่ เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว.
               บทว่า น กญฺจิ หึสติ ได้แก่ ไม่เบียดเบียนใครๆ แม้จะจับที่เขาเป็นต้น แม้จะลูบคลำหลัง.
               บทว่า อุสภจฺฉินฺนวิสาณสาเมน ได้แก่ เช่นกับจิตของโคอุสภะเขาขาด.
               บทว่า อฏฺฏิเยยฺย ได้แก่ พึงเป็นผู้มีอาการ คือถูกเบียดเบียน.
               บทว่า หราเยยฺย ได้แก่ ละอาย.
               บทว่า ชิคุจฺเฉยฺย ได้แก่ ถึงความเกลียดชัง.
               บทว่า เมทกถาลิกํ ได้แก่ ภาชนะที่บุคคลทำไว้สำหรับสุนัขเจาะเป็นรูไว้ในที่นั้นๆ เพื่อการไหลออกของน้ำแกง เรียกภาชนะมันข้น.
               บทว่า ปริหเรยฺย ได้แก่ คนพึงบรรจุให้เต็มด้วยเนื้อแล้วยกขึ้นเดินไป.
               บทว่า ฉิทฺทาวฉิทฺทํ ได้แก่ ประกอบด้วยช่องน้อยช่องใหญ่.
               บทว่า อคฺฆรนฺตํ ได้แก่ น้ำแกงไหลลงทางรูที่เป็นช่องข้างบน.
               บทว่า ปคฺฆรนฺตํ ได้แก่ น้ำแกงไหลออกทางรูที่เป็นช่องข้างล่าง. ร่างกายทั้งสิ้นของเขาพึงเปื้อนด้วยน้ำแกงด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า ฉิทฺทาวฉิทฺทํ ได้แก่ เป็นช่องน้อยช่องใหญ่จากปากแผลทั้ง ๙.
               ในข้อนี้ พระเถระกล่าวแล้วซึ่งความที่ตนไม่มีฉันทราคะในร่างกาย ด้วยองค์ที่แปดหรือที่เก้าด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า อถ โข โส ภิกฺขุ ความว่า ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเมื่อพระเถระบันลือสีหนาทด้วยเหตุเก้าอย่างนี้แล้ว.
               บทว่า อจฺจโย ได้แก่ ความผิด.
               บทว่า มํ อจฺจคมา ได้แก่ ข้าพเจ้ายอมรับ (โทษ) ที่ได้เป็นไปแล้ว.
               บทว่า ปฏิคฺคณฺหาตุ ได้แก่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดอดโทษด้วยเถิด.
               บทว่า อายตึ สํวราย ได้แก่ เพื่อความสำรวมในอนาคต คือเพื่อไม่ทำความผิดเห็นปานนี้อีก.
               บทว่า ตคฺฆ คือ โดยแน่นอน.
               บทว่า ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ ได้แก่ เธอได้ทำตามธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว. ท่านอธิบายว่า ให้เราอดโทษดังนี้.
               บทว่า ตนฺเต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม ความว่า เราจะไม่เอาความผิดนั้นกับเธอ.
               บทว่า วุฑฺฒิ เหสา ภิกฺขุ อริยสฺส วินเย ความว่า ดูก่อนภิกษุ นี้ชื่อว่าความเจริญในวินัยของพระอริยะ คือในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ถามว่า ความเจริญเป็นไฉน?
               ตอบว่า การเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรมถึงความสำรวมต่อไป. ก็เมื่อพระเถระจะทำเทศนาให้เป็นปุคคลาธิฏฐาน จึงกล่าวว่า โย อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรติ อายตึ สํวรํ อาปชฺชติ ดังนี้.
               บทว่า ผลติ ความว่า ก็ถ้าพระเถระไม่พึงอดโทษไซร้ ศีรษะของภิกษุนั้นพึงแตกเจ็ดเสี่ยงในเพราะโทษนั้นแล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า สเจ มํ โส ความว่า ถ้าภิกษุนี้กล่าวกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ท่านอดโทษเถิด ดังนี้.
               บทว่า ขมตุ จ เม โส ความว่า พระเถระยกโทษแก่ภิกษุนั้นอย่างนี้ด้วยคิดว่า ก็ท่านผู้มีอายุนี้อดโทษแก่ข้าพเจ้าดังนี้ ให้ภิกษุนั้นขอโทษเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา แม้ด้วยตนเองดังนี้.

               จบอรรถกถาวุฏฐิสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ สีหนาทวรรคที่ ๒ ๑. วุฏฐิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 214อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 215อ่านอรรถกถา 23 / 216อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=7916&Z=8017
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6548
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6548
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :