ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 29อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 24 / 31อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๓
๑๐. โกศลสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐               
               ทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุยฺโยธิกาย นิวตฺโต โหติ ความว่า เสด็จกลับจากการรบ.
               บทว่า ลทฺธาธิปฺปาโย ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้ามหาโกศล เมื่อถวายพระธิดาแก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็พระราชทานหมู่บ้านกาสีคาม ซึ่งมีรายได้จำนวนหนึ่งแสน ระหว่างแคว้นของพระราชาทั้งสองแก่พระธิดา.
               เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระชนกแล้ว แม้พระมารดาของพระองค์ ไม่นานนักก็ทิวงคตด้วยความเศร้าโศกเหตุวิปโยคถึงพระราชสวามี. ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำริว่า พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระชนกชนนี กาสีคามก็ควรตกเป็นสมบัติของพระบิดาของเรา จึงทรงสร้างหอรบ เพื่อต้องการกาสีคามนั้น. ดังนั้น เพื่อประสงค์หมู่บ้านนั้น พระเจ้าลุงและพระเจ้าหลาน ทั้งสองพระองค์จึงทรงยกจตุรงคินีเสนากองทัพ ๒ เหล่าออกรบกัน.
               ในสงครามนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพ่ายแพ้ ๒ ครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ครั้งที่ ๓ ทรงดำริว่าเราจะพึงชนะได้อย่างไรหนอ ทรงรู้อาการที่ควรรบด้วยวิธีสอดแนม. จึงทรงแสดงกองทัพล้อมทั้งสองข้างจับพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ในทันที จึงทรงได้ชื่อว่า ทรงสมพระประสงค์ เพราะทรงได้ชัยชนะสมประสงค์.
               บทว่า เยนาราโม เตน ปายาสิ ความว่า ทรงให้ตั้งค่ายฉลองชัยนอกพระนคร ทรงพระดำริว่า ชาวพระนครประดับประดาพระนคร อยู่เพียงใด เราจักถวายบังคมพระศาสดาเพียงนั้น ก็ตั้งแต่เวลาที่เข้าพระนครแล้วก็จะเนิ่นช้า ทรงมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม แล้วเสด็จไปทางพระอาราม แล้วเสด็จเข้าไปยังพระอาราม.
               ถามว่า เสด็จเข้าไปเวลาไร.
               ตอบว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาต เสด็จเข้าพระคันธกุฎี และเมื่อภิกษุสงฆ์รับพระโอวาทแล้ว เข้าไปยังที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันของตนๆ.
               บทว่า จงฺกมนฺติ ถามว่า ภิกษุทั้งหลายกำลังจงกรมกันในเวลานั้น เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า ภิกษุเหล่านั้นจงกรมกันเวลากลางวัน เพื่อบรรเทาถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งมีการฉันโภชนะอันประณีตเป็นปัจจัย.
               จริงอยู่ เหล่าภิกษุเช่นนั้นจงกรมภายหลังฉันอาหารอาบน้ำ ชำระทั่วทั้งตัวแล้ว จึงนั่งกระทำสมณธรรม จิตจึงจะมีอารมณ์เป็นอันเดียว.
               บทว่า เยน เต ภิกฺขู ความว่า นัยว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นทรงดำริว่า พระสุคตประทับอยู่ไหน เสด็จมาตรวจดูทั่วบริเวณด้วยมีพระประสงค์จะเข้าไปทูลถาม ทอดพระเนตรเห็นเหล่าภิกษุผู้ถือบังสุกุลิกธุดงค์ กำลังจงกรม ณ ที่จงกรมใหญ่เหมือนช้างในป่า จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น.
               ท่านหมายเอาข้อนั้นจึงกล่าวคำนี้ไว้.
               บทว่า ทสฺสนกามา แปลว่า ต้องการจะเฝ้า.
               ภิกษุทั้งหลายหมายเอาพระคันธกุฎี จึงกล่าวว่า วิหาโร พระวิหาร.
               บทว่า อตรมาโน แปลว่า ไม่รีบด่วน. อธิบายว่า ค่อยๆ วางพระบาทลงบนที่พอควรแก่พระบาท มิให้ทรายอันเปรียบด้วยแก้วมุกดาหรือเถาย่างทรายอันเรียบเสมอกันดีต้องเสียหาย.
               บทว่า อาฬินฺทํ ได้แก่ ระเบียง.
               บทว่า อคฺคฬํ ได้แก่ บานประตู.
               บทว่า อุกฺกาสิตฺวา แปลว่า ทำเสียงกระแอม.
               บทว่า อาโกเฏหิ ท่านอธิบายว่า เอาปลายเล็บเคาะค่อยๆ ใกล้ๆ ช่องดาลนิดหน่อย. เขาว่าพวกอมนุษย์ เคาะประตูสูงเกินไป พวกทีฆชาติ [เช่นงู] เคาะต่ำเกินไป พระเจ้าปเสนทิโกสลเคาะอย่างนั้น พึงทรงเคาะตรงกลางใกล้ช่องดาล เพราะฉะนั้น อาจารย์บางพวกแสดงกล่าวว่านี้เป็นธรรมเนียมการเคาะประตู.
               บทว่า วิวริ ภควา ทฺวารํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จลุกขึ้นไปเปิดพระทวาร แต่ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า เปิดได้. แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เมื่อพระองค์ให้ทานมาหลายโกฏิกัป ไม่เคยทำงานเปิดประตูด้วยมือตนเอง พระทวารเปิดเอง แต่เพราะเหตุที่พระทวาร นั้นเปิดด้วยพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น จึงควรกล่าวว่า วิวริ ภคฺวา ทฺวารํ พระผู้มีพระภาคเจ้า (มิได้เสด็จลุกขึ้นไป) ทรงเปิดพระทวาร.
               บทว่า เมตฺตูปหารํ ได้แก่ การน้อมเข้าไปทางกายและวาจาอันประกอบด้วยเมตตา.
               บทว่า กตญฺญุตํ ความว่า ก็พระราชาพระองค์นี้ แต่ก่อนทรงมีพระสรีระอ้วน เสวยข้าวสุกทะนานหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทแก่ท้าวเธออย่างนี้ว่า.
                         มนุชสฺส สทา สติมโต    มตฺตํ ชานโต ลทฺธโภชเน
                         ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา   สณิกํ ชีรติ อายุปาลยํ
                         คนผู้มีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว
                         เขาก็มีเวทนาเบาบาง อาหารที่บริโภคก็ค่อยๆ ย่อย
                         รักษาอายุไว้ได้.

               ท้าวเธอตั้งอยู่ในพระโอวาทนี้ ลดอาหารทีละน้อยๆ ทุกๆ เว้น จนคงที่อยู่ ตรงที่มีข้าวสุกหนึ่งทะนานเป็นอย่างสูงมาโดยลำดับ แม้พระวรกายของท้าวเธอก็เบามั่นคง ท้าวเธอทรงหมายเอาอุปการะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำแล้วนั้นจึงกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เห็นความกตัญญูกตเวทีแล.
               บทว่า อริยญาเย ได้แก่ มรรคพร้อมกับวิปัสสนา.
               บทว่า พุทฺธสีโล ได้แก่ ผู้มีศีลอันจำเริญ.
               บทว่า อริยสีโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศีลอันมิใช่ของปุถุชน.
               บทว่า กุสลสีโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันไม่มีโทษ.
               บทว่า อารญฺญโก ความว่า ท้าวเธอเมื่อทรงแสดงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เกิดก็เกิดในป่า แม้ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในป่า แม้อยู่ในพระคันธกุฎีเฉกเช่นเทพวิมาน ก็ประทับอยู่ในป่าเหมือนกัน จึงกราบทูลอย่างนี้.
               คำที่เหลือในทุกๆ บทมีข้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐               
               จบมหาวรรคที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. สีหสูตร
                         ๒. อธิมุตติสูตร
                         ๓. กายสูตร
                         ๔. จุนทสูตร
                         ๕. กสิณสูตร
                         ๖. กาลีสูตร
                         ๗. มหาปัญหาสูตรที่ ๑
                         ๘. มหาปัญหาสูตรที่ ๒
                         ๙. โกศลสูตรที่ ๑
                         ๑๐. โกศลสูตรที่ ๒
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๓ ๑๐. โกศลสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 29อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 24 / 31อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=1590&Z=1690
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :