ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ สรณคมน์

อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-------------------------
คำปรารภพระคัมภีร์
               นิเทศนี้ว่า
                         ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
                         ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ
                         ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
               แม้วาระที่ ๒ ที่ ๓ ก็เหมือนกัน เป็นนิเทศอธิบายเรื่องการถึงพระสรณตรัย เป็นข้อต้นของคัมภีร์ขุททกปาฐะ.
               บัดนี้ เพื่อเปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งบาลีนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวอธิบายข้อนี้ ด้วยอรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อว่าปรมัตถโชติกา
                                   ข้าพเจ้าไหว้พระรัตนตรัย ที่สูงสุดแห่งวัตถุ
                         ทั้งหลายที่ควรไหว้แล้ว จักทำการพรรณนาความแห่ง
                         ขุททกปาฐะ การพรรณนานี้อันข้าพเจ้าผู้รู้พระศาสนา
                         น้อยทำได้ยากยิ่ง เพราะขุททกปาฐะ มีอรรถลึกซึ้งก็จริง
                         อยู่ ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่ข้อวินิจฉัยของท่านบุรพา-
                         จารย์ยังมีอยู่เป็นนิตย์ถึงวันนี้ และนวังคสัตถุศาสน์ยัง
                         ดำรงอยู่อย่างเดิม ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะอาศัยนวังคสัตถุ-
                         ศาสน์และข้อวินิจฉัยของบุรพาจารย์นี้จึงปรารถนาจะ
                         พรรณนาความ ด้วยความเคารพอย่างมากในพระสัท-
                         ธรรม ไม่ใช่ประสงค์จะยกตนข่มท่าน ขอท่านทั้งหลาย
                         จงตั้งใจ สดับการพรรณนาความนั้น เทอญ.

               การกำหนดขุททกปาฐะ               
               เพราะข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำปรารภนั้นว่า จักทำการพรรณนาความแห่งขุททกปาฐะ บางปาฐะ. ข้าพเจ้าจำต้องกำหนดขุททกปาฐะทั้งหลายเสียก่อนแล้ว จึงจักทำการพรรณนาความภายหลัง เอกเทศส่วนๆ หนึ่งของขุททกนิกาย ชื่อว่า ขุททกะ. เอกเทศส่วนหนึ่งๆ ของนิกายทั้ง ๕ ชื่อ ขุททกนิกาย ว่าโดยธรรมและโดยอรรถ คัมภีร์เหล่านี้ มี ๕ นิกาย คือทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย ชื่อว่า นิกาย ๕.
               บรรดานิกายทั้ง ๕ นั้น พระสูตร ๓๔ สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น ชื่อว่า ทีฆนิกาย จริงดังที่ท่านกล่าวว่า
               นิกายที่รวบรวมพระสูตร ๓๔ สูตร ๓ วรรค ชื่อว่า ทีฆนิกาย อนุโลมที่ ๑.
               พระสูตร ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น ชื่อว่า มัชฌิมนิกาย.
               พระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น ชื่อว่า สังยุตตนิกาย.
               พระสูตร ๙,๕๕๗ สูตรมีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น ชื่อว่า อังคุตตรนิกาย.
               ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก พระพุทธพจน์ที่เหลือเว้นวินัยปิฎกและอภิธรรมปิฏก หรือนิกาย ๔ ชื่อว่า ขุททกนิกาย.
               เหตุไร นิกายนี้ ท่านจึงเรียกว่า ขุททกนิกาย
               เหตุเป็นที่รวม เป็นที่อยู่ของหมวดธรรมเล็กๆ จำนวนมาก.
               จริงอยู่ การรวมกันอยู่ ท่านเรียกว่า นิกาย ว่าโดยศาสนาและโดยโลก ในข้อนี้ มีสาธกเป็นต้นอย่างนี้ คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตมองไม่เห็นหมู่สัตว์หมู่หนึ่งอื่นวิจิตรเหมือนอย่างหมู่สัตว์เดียรฉานเลย. หมู่กษัตริย์โปณิกะ หมู่กษัตริย์จิกขัลลิกา. เอกเทศส่วนหนึ่งของขุททกนิกายนั้น มีดังนี้ หมวดธรรมเล็กๆ ที่นับเนื่องในพระสุตตันตปิฎกเหล่านี้ มุ่งหมายที่จะเปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายโดยอรรถ
               ขุททกปาฐะ ๙ ประเภท คือ สรณะสิกขาบท ทวัตตึงสาการ กุมารปัญหา [สามเณรปัญหา] มงคลสูตร รตนสูตร ติโรกุฑฑสูตร นิธิกัณฑสูตรและเมตตสูตร เป็นข้อต้นของหมวดธรรมแม้เหล่านั้น โดยอาจารย์ต่อมายกขึ้นสู่ทางการบอกการสอน มิใช่โดยเป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
               จริงอยู่ คาถาเหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
                         อเนกชาติสํสารํ    สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
               คหการํ คเวสนฺโต          ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
               คหการก ทิฎฺโฐสิ           ปุน เคหํ น กาหสิ
               สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา  คหกูฏํ วิสงฺขตํ
               วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ            ตณฺหานํ ขยมชฺฌคาติ.
                         เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เมื่อไม่พบ
               ได้ท่องเที่ยวไปแล้ว สิ้นสงสารนับด้วยชาติมิใช่น้อย
               ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์.
                         ดูก่อนช่างผู้ทำเรือนคือ อัตภาพ เราพบท่านแล้ว
               ท่านจักทำเรือนคืออัตภาพของเราอีกไม่ได้
               โครงบ้านของท่านทั้งหมด เราทำลายแล้ว
               ยอดแห่งเรือนคืออวิชชา เรารื้อแล้ว
               จิตของเราถึงพระนิพพานแล้ว
               เพราะเราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาทั้งหลายแล้ว.


               ชื่อว่าเป็นพระปฐมพุทธวจนะแม้ทั้งหมด โดยเป็นพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ที่ชื่อว่าพระปฐมพุทธดำรัสนั้น ก็โดยที่ตรัสทางพระมนัส มิใช่ทรงเปล่งพระวาจาตรัส ส่วนพระคาถานี้ว่า
                                   ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
                                   อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
                                   อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
                                   ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ.

                         เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
               เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป
               เพราะมารู้ชัดธรรมพร้อมทั้งเหตุ.


               ชื่อว่าเป็นพระปฐมพุทธดำรัส โดยที่เป็นพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเปล่งพระวาจาตรัส. เพราะฉะนั้น ขุททกปาฐะ ๙ ประเภทนี้ใด ชื่อว่าเป็นข้อต้นของหมวดธรรมเล็กๆ เหล่านี้ เราจะเริ่มพรรณนาความแห่งขุททกปฐะนั้นตั้งแต่ต้นไป.

               การชำระคำเริ่มต้น               
               วาจานี้ว่า
                         พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                         ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                         สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
               เป็นข้อต้นของคำเริ่มต้นนั้น หัวข้อพรรณนาความของคำเริ่มต้นนั้น มีดังนี้
               พระสรณตรัย ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุไร อนึ่ง ที่มิได้ตรัสไว้มาแต่แรก เพราะเหตุไร ในที่นี้จึงว่า ตรัสไว้เป็นข้อแรก จำต้องชำระคำเริ่มต้น ต่อจากนั้นไปในคำเริ่มต้น ก็จะชี้แจงเรื่องพระพุทธะ เรื่องการถึงสรณะ และเรื่องบุคคลผู้ถึงสรณะ จะแสดงการขาดการไม่ขาดแห่งสรณคมน์ทั้งผล ทั้งสรณะที่ควรถึง แม้ในสองสรณะ มีธมฺมํ สรณํ เป็นต้น ก็รู้กันแล้วว่ามีนัยอย่างนี้ จะอธิบายเหตุในการกำหนดโดยลำดับ และจะประกาศสรณตรัยนั้นด้วยข้ออุปมาทั้งหลาย.
               บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาแรก ก่อนอื่น มีปัญหา ๕ ข้อ คือ
               ๑. พระสรณตรัยนี้ ใครกล่าว
               ๒. กล่าวที่ไหน
               ๓. กล่าวเมื่อไร
               ๔. กล่าวเพราะเหตุไร
               ๕. อนึ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัสไว้มาแต่แรก เพราะเหตุไร ในที่นี้จึงว่าตรัสไว้เป็นข้อแรก

               จะวิสัชนาปัญหาทั้ง ๕ ข้อนั้น.               
               ปัญหาว่า ใครกล่าว วิสัชนาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไม่ใช่พระสาวก ไม่ใช่เหล่าฤษี ไม่ใช่เทวดากล่าว.
               ปัญหาว่า กล่าวที่ไหน วิสัชนาว่า ที่อิสิปตนมิคทายวัน กรุงพาราณสี.
               ปัญหาว่า กล่าวเมื่อไร วิสัชนาว่า เมื่อท่านพระยสะบรรลุพระอรหัตพร้อมกับสหายทั้งหลาย เมื่อพระอรหันต์ ๖๑ องค์ กระทำการแสดงธรรมในโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก.
               ปัญหาว่า กล่าวเพราะเหตุไร วิสัชนาว่า เพื่อบรรพชาและเพื่ออุปสมบท
               อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลอุปสัมปทาเปกขะอัน
                         ภิกษุพึงให้บรรพชา อุปสมบท อย่างนี้ ข้อแรกให้
                         ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ทำผ้าห่ม
                         เฉวียงบ่า ให้ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง
                         ให้ประคองอัญชลี [ ประนมมือ] พึงสอนให้ว่าตาม
                         อย่างนี้ว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมมํ สรณํ คจฺฉามิ,
                         สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.


               ปัญหาว่า เพราะเหตุไรในที่นี้จึงตรัสเป็นข้อแรก
               วิสัชนาว่า เพราะเหตุที่เทวดาและมนุษย์พากันเข้าสู่พระศาสนาด้วยเป็นอุบาสกบ้าง เป็นบรรพชิตบ้าง ด้วยทางนี้ ฉะนั้นจึงควรรู้ว่า นวังคสัตถุศาสน์นี้ ท่านบุรพาจารย์ทั้งหลายรวบรวมไว้ด้วยปิฎกทั้งสามยกขึ้นสู่ทางการบอกการสอน จึงว่าตรัสเป็นข้อแรกในขุททกปาฐะนี้ เพราะเป็นทางเข้าสู่พระศาสนา.

               การชี้แจงเรื่องพระพุทธะ               
               บัดนี้ คำใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จะชี้แจงเรื่องพระพุทธะ เรื่องการถึงสรณะ และเรื่องบุคคลผู้ถึงสรณะ ในคำนั้นสัตว์พิเศษ ชื่อว่า พุทธะ เพราะบัญญัติอาศัยขันธสันดานที่ถูกอบรมด้วยการบรรลุอนุตตรวิโมกข์ ซึ่งเป็นนิมิตแห่งพระญาณอันอะไรๆ ขัดขวางมิได้ หรือเพราะบัญญัติอาศัยการตรัสรู้เองยิ่งซึ่งสัจจะ อันเป็นปทัฎฐานแห่งพระสัพพัญญุตญาณ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นใด เป็นพระสยัมภูเป็นเอง ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้ยิ่งพร้อมด้วยพระองค์เอง ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ในธรรมทั้งหลายที่มิได้ทรงฟังมาก่อน ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในธรรมเหล่านั้น และความเป็นผู้เชี่ยวชาญในพละทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อว่า พุทธะ.
               การชี้แจงเรื่องพระพุทธะโดยอรรถะเท่านี้ก่อน.
               แต่เมื่อว่าโดยพยัญชนะ พึงทราบโดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         ชื่อว่าพุทธะ เพราะทรงเป็นผู้ตรัสรู้
                         ชื่อว่าพุทธะ เพราะทรงเป็นผู้ปลุกให้ตื่น
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ในบทว่า พุทฺโธ ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่าอะไร.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ทรงปลุกหมู่สัตว์ให้ตื่น.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงรู้ทุกอย่าง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงเห็นทุกอย่าง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะตรัสรู้เองไม่ใช่ผู้อื่นทำให้รู้
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะบานแล้ว
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะนับกันว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะนับกันว่า เป็นผู้ไม่มีอุปกิเลส.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า สิ้นราคะสิ้นเชิง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า สิ้นโทสะสิ้นเชิง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า สิ้นโมหะสิ้นเชิง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ไร้กิเลสสิ้นเชิง.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ทรงดำเนินเอกายนมรรค.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิลำพังพระองค์เดียว.
                         ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงได้ความรู้ เหตุทรงกำจัดความไม่รู้ได้แล้ว.
               พระนามว่า พุทธะ นี้ มิใช่พระชนนีตั้ง มิใช่พระชนกตั้ง มิใช่พระเชษฐภาดาตั้ง มิใช่พระเชษฐภคินีตั้ง มิใช่มิตรอมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติสาโลหิตตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง พระนามนี้ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า มีตอนท้ายแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส บัญญัติคือพุทธะ ทรงทำให้แจ้งพร้อมกับทรงได้พระสัพพัญญุตญาณ.
               ในบทว่า พุทธะ นั้น ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย เหมือนผู้ที่ลงมาในโลก [อวตาร] ก็เรียกว่า ผู้ลงมา [อวตาร]. ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ทรงปลุกหมู่สัตว์ให้ตื่น เหมือนลมที่ทำใบไม้ให้แห้ง ก็เรียกว่าใบไม้แห้ง.
               บทว่า สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ เพราะความรู้ที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง.
               บทว่า สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ เพราะความรู้ ที่สามารถรู้ธรรมได้ทุกอย่าง.
               บทว่า อนญฺญเญยฺยตาย พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ เพราะตรัสรู้เอง มิใช่ผู้อื่นทำให้ตรัสรู้.
               บทว่า วิกสิตาย พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงบาน เหตุบานด้วยพระคุณนานาประการเหมือนดอกปทุมบาน.
               ด้วยบทอย่างนี้เป็นต้นว่า ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงตื่นแล้ว เหตุสิ้นกิเลสดุจความหลับทุกอย่าง เหมือนบุรุษตื่นเพราะสิ้นความหลับ เพราะทรงละธรรมอันทำความหดหู่แห่งจิตได้.
               ท่านกล่าวว่า เอกายนมคฺคํ คโตติ พุทฺโธ ดังนี้ ก็เพื่อแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเรียกว่าพุทธะ ก็เพราะทรงดำเนินเอกายนมรรค เหมือนบุรุษแม้เดินทาง เขาก็เรียกว่าผู้เดินไป เพราะปริยาย (ทาง) แห่งอรรถว่าไปสู่ทางตรัสรู้.
               บทว่า เอโก อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ พุทฺโธ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า พุทธะ ไม่ใช่เพราะตรัสรู้โดยคนอื่น ที่แท้ ชื่อว่าพุทธะ เพราะตรัสรู้ยิ่งซึ่งพระสัมมาสัมโพธิ อันยอดเยี่ยมด้วยพระองค์เองเท่านั้น. คำนี้ว่า อพุทฺธิวิหตตฺตา พุทฺธิปฎิลาภา พุทฺโธ เป็นคำแสดงปริยายว่า พุทฺธิ พุทฺธํ โพโธ. ในคำนั้น พึงทราบอรรถ ที่สามารถทำ พุทธะ ศัพท์ของบททุกบทให้สำเร็จความ โดยนัยอย่างนี้ว่า ท่านอธิบายเพื่อให้รู้ว่า พุทธะ เพราะทรงประกอบด้วยพระคุณ คือพุทธิความรู้เหมือนที่เรียกกันว่า ผ้าเขียว ผ้าแดง ก็เพราะประกอบด้วยสีเขียว สีแดง ต่อแต่นั้น คำเป็นต้นอย่างนี้ว่า พุทฺโธติ เนตํ นามํ ท่านกล่าวไว้ก็เพื่อให้รู้ว่า บัญญัตินี้ ดำเนินไปตามอรรถะ คือเนื้อความ.
               การชี้แจงเรื่องพุทธะแม้โดยพยัญชนะ มีดังกล่าวมานี้

               ชี้แจงเรื่องสรณคมน์และผู้ถึงสรณคมน์               
               บัดนี้ จะกล่าวชี้แจงในเรื่องการถึงสรณคมน์เป็นต้น ดังต่อไปนี้-
               พระรัตนตรัยที่ชื่อว่า สรณะ เพราะกำจัด. อธิบายว่า บีบ ทำลาย นำออก ดับภัย คือความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมอง ด้วยการถึงสรณะนั้นนั่นแลของคนทั้งหลายที่ถึงสรณคมน์.
               อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าชื่อว่า สรณะ เพราะกำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์และนำออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์. พระธรรมชื่อว่า สรณะ เพราะให้สัตว์ข้ามพ้นกันดารคือภพ และให้ความโปร่งใจ. พระสงฆ์ชื่อว่า สรณะ เพราะกระทำสักการะ แม้เล็กน้อย ให้กลับได้ผลอันไพบูลย์
               เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยนั้นจึงชื่อว่า สรณะ โดยปริยายดังว่ามานี้.
               จิตตุปบาทที่ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้นและความเคารพในพระรัตนตรัยนั้น กำจัดทำลายกิเลสเสียได้ เป็นไปโดยอาการคือความมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า หรือไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย [ชักจูง] ชื่อว่า สรณคมน์. สัตว์ผู้พรั่งพร้อมด้วยจิตตุปบาทนั้น ย่อมถึงพระรัตนตรัยนั้นเป็นสรณะ. อธิบายว่า ย่อมเข้าถึงพระรัตนตรัยด้วยจิตตุปบาทที่มีประการดังกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า นี้เป็นสรณะของข้าพเจ้า นี่เป็นเครื่องนำหน้าของข้าพเจ้า.
               ก็บุคคลเมื่อจะเข้าถึง ย่อมเข้าถึงด้วยวิธีสมาทานเหมือนอย่างนายพาณิชสองคนชื่อว่า ตปุสสะและภัลลิกะ เป็นต้นว่า
               “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้น ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก” ดังนี้ก็ได้
               เข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ เหมือนอย่างท่านพระมหากัสสปะเป็นต้นว่า
               “ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ดังนี้ ก็ได้.
               เข้าถึงด้วยวิธีทุ่มตัวไปในพระรัตนตรัยนั้น เหมือนอย่างพรหมยุพราหมณ์ เป็นต้น ความบาลีว่า
               “เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พรหมยุพราหมณ์ก็ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ เปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส,
                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส,
                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
”
               ดังนี้ก็ได้
               เข้าถึงโดยวิธีมอบตน เช่นโยคีบุคคลผู้ขวนขวายในกรรมฐานก็ได้.
               เข้าถึงโดยวิสัยและโดยกิจ หลายวิธี เช่นด้วยวิธีกำจัดอุปกิเลสด้วยการถึงสรณคมน์ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก็ได้.
               ชี้แจงเรื่องการถึงสรณคมน์ และเรื่องบุคคล ผู้เข้าถึงสรณคมน์ ดังกล่าวมานี้.

               แสดงสรณคมน์ขาด ไม่ขาด และผล               
               บัดนี้ จะแสดงสรณคมน์ขาดเป็นต้น ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จะแสดงสรณคมน์ขาดและไม่ขาดทั้งผล ทั้งสรณะที่ควรถึง ดังต่อไปนี้.
               การขาดสรณคมน์ ของบุคคลผู้ถึงสรณคมน์อย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือ มีโทษและไม่มีโทษ
               การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ
               การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่น และประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ.
               การขาดแม้ทั้ง ๒ นั้นย่อมมีแก่พวกปุถุชนเหล่านั้น สรณะของปุถุชนเหล่านั้นย่อมชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้นในพระพุทธคุณทั้งหลาย
               ส่วนพระอริยบุคคลหามีสรณะที่ขาดไม่ และหามีสรณะเศร้าหมองไม่ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฎฐิ [สัมมาทิฎฐิ] จะพึงนับถือศาสดาอื่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
               ส่วนพวกปุถุชน ยังไม่ถึงการขาดสรณะตราบใด ตราบนั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้มีสรณะไม่ขาด การขาดสรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมมีโทษ มีความเศร้าหมองและอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนา การขาดสรณะที่ไม่มีโทษ ก็ไม่มีผล เพราะหาวิบากมิได้.
               ส่วนการไม่ขาดสรณะว่าโดยผล ก็ย่อมอำนวยผลที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
               ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว ก็จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ
               จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ ดังนี้.

               ก็ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายแห่งคาถาอย่างนี้ว่า
               ชนเหล่าใด ถึงสรณะด้วยการตัดอุปกิเลสได้ขาดด้วยสรณคมน์ ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบาย ส่วนชนนอกนั้น จักไม่ไปอบาย ก็ด้วยการถึงสรณะ.
               แสดงสรณะขาดไม่ขาดและผลเพียงเท่านี้ก่อน.

               แสดงสรณะที่ควรถึง               
               ในการแสดงสรณะที่ควรถึง ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ในคำนี้ว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้นั้นจะพึงถึงพระพุทธเจ้าหรือสรณะ แม้ทั้งสองคำ การกล่าวแต่คำเดียว ก็ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุไร เพราะมีแต่กิริยาคือการถึง ไม่มีสองกรรม ความจริง นักคิดทางอักษรศาสตร์ ไม่ประสงค์กรรม ๒ กรรมในข้อนี้ เหมือนในคำว่า อชํ คามํ เนติ เป็นต้นฉะนั้น.
               ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า การกล่าวแม้คำทั้งสองมีแค่ประโยชน์อย่างเดียว เหมือนในคำว่า คจฺฉเตว ปุพฺพํ ทิสํ คจฺฉติ ปจฺฉิมํ ทิสํ นักคิดอักษรศาสตร์ไม่ประสงค์อย่างนั้นดอก เพราะท่านไม่ประสงค์ว่า พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน ความจริงเมื่อประสงค์ว่า พระพุทธเจ้าและสรณะเหล่านั้น เป็นตัวเหตุเท่าๆ กันแล้ว บุคคลแม้มีจิตขุ่นเคือง เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะพึงชื่อว่า ถึงพระพุทธเจ้า ถึงสรณะน่ะสิ สรณะนั้นใดทำให้ต่างไปว่า พระพุทธเจ้า. ผู้นั้นก็ชื่อว่าถึงสรณะนั้นทั้งนั้น.
               ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า ท่านประสงค์เอาความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะบาลีว่า
                         เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ
                         สรณะนั่นแลเกษม ปลอดภัย สรณะนั้นอุดมสูงสุด
               ไม่ประสงค์เช่นนั้นดอก เพราะในบทคาถานั้น มีแต่พระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น.
               ความจริง ในบทคาถานั้นนั่นแล ท่านประสงค์ถึงความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน อย่างนี้ว่า สรณะทั้งเกษมทั้งอุดม เพราะพิจารณาเน้นถึงพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้น ในความเป็นสรณะ ที่นับได้ว่า กำจัดภัยแก่ผู้ถึงสรณคมน์ได้จริง
               ส่วนในบาลีประเทศอื่น เมื่อมีความสัมพันธ์ด้วยผู้ถึงสรณคมน์ ท่านก็ไม่ประสงค์ความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะไม่สำเร็จเป็นสรณคมน์ ดังนั้น คำนี้จึงสาธกไม่ได้.
               ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า น่าจะประสงค์เอาความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะสำเร็จเป็นสรณคมน์ แม้เมื่อมีความสัมพันธ์ด้วยผู้ถึงสรณคมน์ได้ในบาลีนี้ว่า
                         เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
                         บุคคลอาศัยสรณะนั้น ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงดังนี้
               ไม่ใช่เช่นนั้นดอก เพราะขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนแล้ว.
               ความจริง แม้ในข้อนั้น ก็จะพึงขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนว่า เมื่อมีความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กันอยู่ บุคคลแม้มีจิตขุ่นเคืองอาศัยสรณะ คือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ก็จะพึงหลุดพ้นจากทุกข์ได้หมดน่ะสิ แต่จะว่าไม่ขัดข้องด้วยโทษก็หามิได้ ดังนั้น คำนั้นจึงสาธกไม่ได้.
               พึงทราบอธิบายในข้อนั้น อย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะหลุดพ้น ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นกัลยาณมิตร ท่านก็กล่าวว่า อาศัยกัลยาณมิตรจึงหลุดพ้น ได้ในบาลีนี้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ ก็สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติความเกิด
                         เป็นธรรมดา อาศัยเราตถาคตเป็นกัลยาณมิตร ย่อม
                         หลุดพ้นจากชาติดังนี้ ฉันใด แม้ในที่นี้ บุคคลเมื่อ
                         จะหลุดพ้น ด้วยอานุภาพแห่งสรณะ คือพระพุทธเจ้า
                         พระธรรมและพระสงฆ์ ท่านก็กล่าวว่า บุคคลอาศัย
                         สรณะนี้ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้ ก็ฉันนั้น.
               ความที่พระพุทธเจ้าเป็นคมนียะ ควรถึงก็ไม่ถูก ความที่สรณะเป็นคมนียะควรถึงก็ไม่ถูก ความที่พระพุทธเจ้าและสรณะทั้งสอง เป็นคมนียะควรถึงก็ไม่ถูก แม้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้
               คมนียะสิ่งที่ควรถึงของผู้ถึงสรณคมน์ ที่ท่านอธิบายว่า ข้าพเจ้าถึงสิ่งที่พึงปรารถนา ควรกล่าวถึง ต่อนั้น ก็ควรกล่าวข้อยุติคือข้อที่ถูก ในเรื่องนี้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวข้อยุติดังต่อไปนี้
               ในข้อยุตินี้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นคมนียะ แต่เพื่อแสดงอาการคือการถึง คำกล่าวถึงสรณะนั้นมีว่า
               ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นปรายนะนำหน้าของข้าพเจ้า เป็นผู้กำจัดทุกข์ เป็นผู้ทรงประโยชน์ ข้าพเจ้าถึง คบ เสพ เข้าใกล้ชิดพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยความประสงค์ดังกล่าวมานี้ หรือว่าข้าพเจ้ารู้ทราบอย่างนี้
               จริงอยู่ คติเป็นประโยชน์ของธาตุเหล่าใด แม้ความรู้ก็เป็นประโยชน์ของธาตุเหล่านั้น.
               ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า ข้อนั้นไม่ถูก เพราะไม่ประกอบ อิติ ศัพท์
               คำทักท้วงนั้นก็ไม่ถูก ข้อยุติที่ถูกในเรื่องนั้น พึงมีดังนี้.
               หากว่าความในเรื่องนั้น พึงมีอย่างนี้ไซร้.
               แต่นั้น ก็พึงต้องประกอบอิติศัพท์ ดังในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า
                         อนิจฺจํ รูปํ อนิจฺจํ รูปนฺติ ยถาภูตํ ปชานาติ
                         ย่อมรู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า รูปไม่เที่ยง ดังนี้.
               แต่อิติศัพท์ท่านหาประกอบไว้ไม่ เพราะฉะนั้น ข้อทักท้วงนั้นจึงไม่ถูก
               แต่ข้อนั้นไม่ถูกเพราะเหตุไร
               เพราะความของอิติศัพท์มีอยู่ในตัวนั้นแล้ว ความของอิติศัพท์แม้ในที่นี้ ก็มีอยู่พร้อม ดังในประโยคทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
                         ก็ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ดังนี้
               แต่มิใช่จะต้องประกอบอิติศัพท์ไว้ในที่ทุกแห่ง เพราะมีความอยู่พร้อมในตัวแล้ว บัณฑิตพึงทราบความของอิติศัพท์แม้มิได้ประกอบไว้ เหมือนดังประกอบไว้ในที่นั้น ทั้งในที่อื่นซึ่งมีกำเนิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อิติศัพท์จึงไม่มีโทษ [ไม่ผิด]
               ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า ก็เพื่อแสดงอาการคือถึง จึงต้องกล่าวระบุสรณะดังนี้ คำนั้นก็ไม่ถูก เพราะสรณะเท่านั้นเป็นคมนียะ สิ่งที่ควรถึง ได้ในบาลีเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตการบรรพชา ด้วยสรณคมน์สาม ดังนี้ คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้น ไม่ใช่ไม่ถูก เพราะเหตุไร เพราะคำนั้นมีความอยู่พร้อมในตัว. ความจริง ความของอิติศัพท์นั้นก็มีอยู่พร้อมในคำแม้นั้นเอง เพราะเหตุที่แม้ไม่ประกอบอิติศัพท์ไว้เช่นคำก่อน ก็พึงเห็นเหมือนดังประกอบอิติศัพท์ไว้ นอกจากนี้ก็พึงขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พึงถือเอาตามที่ท่านสอนไว้เท่านั้น.
               แสดงสิ่งที่ควรถึงดังกล่าวมาฉะนี้

               ชี้แจงสรณะคือพระธรรมและพระสงฆ์               
               บัดนี้ จะกล่าวอธิบายต่อไป. ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า แม้ในสรณะทั้งสองมีว่า ธมฺมํ สรณํ เป็นต้น ก็รู้กันแล้วว่ามีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. นัยแห่งการพรรณนาความนี้ใด ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำนี้ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ก็พึงทราบนัยแห่งการพรรณนาความนั้น
               ในสองบทนี้ว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ. จริงอยู่ ในข้อแม้นั้น ว่าโดยอรรถและพยัญชนะของพระธรรมและพระสงฆ์ ก็มีเพียงการชี้แจงเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน นอกนั้นก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น เพราะจะกล่าวอธิบายเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ในพระธรรมและพระสงฆ์นี้ ดังนี้
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มรรค ผล นิพพาน ชื่อว่า พระธรรม. ขันติ ความชอบใจหรือมติของพวกเราว่า มรรคและวิราคะเท่านั้น ชื่อว่าพระธรรมในอรรถนี้ เพราะทรงผู้เจริญมรรคผล และผู้ทำให้แจ้งพระนิพพานแล้ว โดยไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย และทำให้โปร่งใจอย่างยิ่ง ขอยกอัคคัปปสาทสูตรนั่นแลเป็นข้อสาธก
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอัคคัปปสาทสูตรนั้นเป็นต้นอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีเพียงใด อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ท่านกล่าวว่าเป็นยอดของสังขตธรรมเหล่านั้น. กลุ่มของบุคคลทั้งหลาย ผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค ๔ อย่าง และผู้มีขันธสันดานอบรมยิ่งด้วยสามัญผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์ เพราะรวมตัวกันด้วยการรวมทิฏฐิและศีล
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน
                         ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงเพื่อรู้ยิ่งสำหรับเธอทั้งหลาย
                         คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์
                         ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อานนท์
                         เธอจะไม่เห็นภิกษุแม้ ๒ รูป มีวาทะต่างกันในธรรม
                         เหล่านี้เลย.
               จริงอยู่ พระสงฆ์โดยปรมัตถ์นี้ อันบุคคลพึงถึงว่าเป็นสรณะ ในพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลียกมือไหว้ เป็นนาบุญของโลกยอดเยี่ยม.
               สรณคมน์ของผู้ถึงสรณะนั้นย่อมไม่ขาด ไม่เศร้าหมอง ด้วยการทำการไหว้เป็นต้น ในภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แม้หมู่อื่น หรือพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หรือสมมติสงฆ์ต่างโดยสงฆ์จตุวรรคเป็นต้น หรือแม้ในบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งบวชเจาะจงพระผู้มีพระภาคเจ้า ความต่างกันในสังฆสรณะที่มีเท่านี้ ส่วนวิธีการขาดและไม่ขาดเป็นต้นแห่งสรณคมน์นี้และที่สอง นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้ว
               การพรรณนาความข้อนี้ว่า แม้ในสองสรณะว่า ธมฺมํ สรณํ เป็นต้น ก็รู้กันแล้วว่านัยนี้เหมือนกัน มีเท่านี้ก่อน.

               อธิบายเหตุในการกำหนดตามลำดับ               
               ในคำนี้ว่า จะอธิบายเหตุในการกำหนดตามลำดับ บัดนี้จะอธิบายเหตุในการกำหนดตามลำดับอย่างนี้ว่า ในคำถึงสรณะทั้งสามนั้น ท่านประกาศพระพุทธเจ้าอันดับแรก เพราะเป็นผู้เลิศแห่งสัตว์ทั้งปวง ประกาศพระธรรมอันดับต่อมา เพราะเป็นแดนเกิดของพระพุทธเจ้านั้น และเพราะเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้านั้นทรงนำออกสั่งสอนแล้ว ประกาศพระสงฆ์อันดับสุดท้าย เพราะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรมนั้น และเพราะซ่องเสพพระธรรมนั้น
               อีกนัยหนึ่ง ท่านประกาศพระพุทธเจ้าอันดับแรก เพราะทรงประกอบสัตว์ทั้งปวงไว้ในหิตประโยชน์ ประกาศพระธรรมอันดับต่อมา เพราะเป็นแดนเกิดแห่งพระพุทธเจ้านั้น และเพราะเป็นธรรมเป็นหิตประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ประกาศพระสงฆ์อันดับสุดท้าย เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุหิตประโยชน์ และมีหิตประโยชน์อันบรรลุแล้ว กำหนดโดยความเป็นสรณะ.

               ประกาศด้วยข้ออุปมา               
               บัดนี้ จะกล่าวอธิบายคำที่ว่าจะประกาศพระสรณตรัยนั้น ด้วยข้ออุปมาทั้งหลาย
               ก็ในคำนั้น พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ พระธรรมดังกล่าวเปรียบเหมือนข่ายรัศมีของดวงอาทิตย์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้นกำจัดมืดแล้ว.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนคนเผาป่า พระธรรมเครื่องเผาป่าคือกิเลส เปรียบเหมือนไฟเผาป่า พระสงฆ์ที่เป็นบุญเขต เพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบเหมือนภูมิภาคที่เป็นเขตนา เพราะเผาป่าเสียแล้ว.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝน พระสงฆ์ผู้ระงับละอองกิเลสเปรียบเหมือนชนบทที่ระงับละอองฝุ่นเพราะฝนตก.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ฝึกมาดีแล้ว.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนศัลยแพทย์ [หมอผ่าตัด] เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิได้หมด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายที่ถอนลูกศรออกได้ พระสงฆ์ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว.
               อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจักษุแพทย์ เพราะทรงลอก พื้นชั้นโมหะออกได้แล้ว พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้น [ตา] พระสงฆ์ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีดวงตาคือญาณอันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้ว มีดวงตาสดใส.
               อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาด เพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิคือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัยออกได้ พระธรรมเปรียบเหมือนเภสัชยาที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพยาธิคือกิเลสและอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่พยาธิระงับแล้ว เพราะประกอบยา.
               อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดี หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทาง ถึงที่ที่ปลอดภัย
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้เดินทางถึงฝั่ง.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ พระธรรมเปรียบเหมือนโอสถยาที่เกิดแต่ป่าหิมพานต์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ไม่มีโรคเพราะใช้ยา.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ประทาน ทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ พระสงฆ์ผู้ได้อริยทรัพย์มาโดยชอบ เปรียบเหมือนชนผู้ได้ทรัพย์ตามที่ประสงค์.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์.
               อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้เป็นวีรบุรุษ เปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบเหมือนไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ล่วงภัยทุกอย่าง เปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ปลอบ พระธรรมเปรียบเหมือนการปลอบ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนคำสอนที่เป็นหิตประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตน เพราะประกอบหิตประโยชน์.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบ่อเกิดทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ที่เป็นสาระ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระ
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ทรงสรงสนานพระราชกุมาร พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำที่สนานตลอดพระเศียร พระสงฆ์ผู้สรงสนานดีแล้วด้วยน้ำคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนหมู่พระราชกุมารที่สรงสนานดีแล้ว.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบเหมือนเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับด้วยพระสัทธรรมเปรียบเหมือนหมู่พระราชโอรสที่ทรงประดับแล้ว.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นจันทร์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลิ่นอันเกิดแต่ต้นจันทน์นั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความเร่าร้อนได้สิ้นเชิง เพราะอุปโภคใช้พระสัทธรรม เปรียบเหมือนชนผู้ระงับความร้อน เพราะใช้จันทน์.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบิดามอบมฤดกโดยธรรม พระธรรมเปรียบเหมือนมฤดก พระสงฆ์ผู้สืบมฤดกคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมฤดก.
               พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกปทุมที่บาน พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำต้อยที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำต้อยนั้น.
               พึงประกาศพระสรณตรัยนั้น ด้วยข้ออุปมาทั้งหลายดังกล่าวมาฉะนี้.
               มาติกาหัวข้อของกถาพรรณนาความที่ยกตั้งไว้ในเบื้องต้นด้วย ๔ คาถาว่า
               พระสรณตรัย ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อไร กล่าวเพราะเหตุไรเป็นต้น ก็เป็นอันประกาศแล้วโดยอรรถ ด้วยกถามีประมาณเพียงเท่านี้แล.
               จบกถาพรรณนาพระสรณตรัย               
               อรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ สรณคมน์ จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 25 / 2อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :