บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ในคาถาพึงทราบความดังต่อไปนี้ :- บทว่า อธิเจตโส แปลว่า ผู้มีอธิจิต. อธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยอรหัตผลจิต อันยิ่งกว่าจิตทั้งปวง. บทว่า อปฺปมชฺชโต แปลว่า ผู้ไม่ประมาท ท่านอธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยการกระทำเป็นไปติดต่อในธรรมอันหาโทษมิได้ ด้วยความไม่ประมาท. บทว่า มุนิโน ความว่า พระขีณาสพชื่อว่ามุนี เพราะรู้โลกทั้งสองอย่างนี้ว่า เพราะผู้รู้โลกทั้งสอง ท่านเรียกว่า มุนี หรือเพราะประกอบด้วยญาณ กล่าวคือปัญญาอันสัมปยุตด้วยอรหัตผลนั้น ท่านเรียกว่า โมนะ. แก่พระมุนีนั้น. บทว่า มุนิปเถสุ สิกฺขโต ความว่า ผู้ศึกษาในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือในสิกขา ๓ อันเป็นทางแห่งโมนะ กล่าวคืออรหัตมรรคญาณ. ก็คำนี้ ท่านหมายเอาปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น. จริงอยู่ ผู้สำเร็จการศึกษา ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในที่นี้ว่า แก่พระมุนีผู้สำเร็จการศึกษาดังว่ามานี้ คือผู้ถึงความเป็นมุนี ด้วยการศึกษานี้. ก็เพราะข้อนั้นนั่นแหละ ฉะนั้น อรรถแห่งบททั้ง ๓ นี้อย่างนี้ คือของท่านผู้มีอธิจิต (จิตเป็นสมาธิขั้นฌาน) คือมรรคจิต ผลจิตเบื้องต่ำ ผู้ไม่ประมาทด้วยความไม่ประมาท ในการปฏิบัติอันเกี่ยวด้วยการตรัสรู้สัจจะ ๔ ชื่อว่าผู้เป็นมุนี เพราะประกอบด้วยมรรคญาณย่อมสมแท้. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอรรถแห่งเหตุของบทว่า อปฺปมชฺชโต จ สิกฺขโต ว่า ชื่อว่ามีอธิจิต เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาท และเพราะเหตุแห่งการศึกษา. บทว่า โสกา น ภวนฺติ ตาทิโน ความว่า ความเศร้าโศก คือความกรมเกรียมใจ อันมีความพลัดพรากจากสิ่งที่น่าปรารถนาเป็นต้น เป็นที่ตั้ง ย่อมไม่มีในภายในของผู้คงที่ คือของมุนีผู้เป็นพระขีณาสพ. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ตาทิโน นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า ความเศร้าโศกย่อมไม่มีแก่มุนีเห็นปานนี้ ผู้ประกอบด้วยลักษณะแห่งความเป็นผู้คงที่. บทว่า อุปสนฺตสฺส ได้แก่ ผู้สงบระงับ เพราะสงบกิเลสมีราคะเป็นต้นได้เด็ดขาด. บทว่า สทา สตีมโต ได้แก่ ผู้ไม่เว้นสติตลอดกาลเป็นนิจ. ก็ในที่นี้ ด้วยบทว่า อธิเจตโส นี้ พึงทราบว่า ท่านประสงค์เอาอธิจิตสิกขา. ด้วยบทว่า อปฺปมชฺชโต นี้ ท่านประสงค์เอาอธิสีลสิกขา. ด้วยบทว่า มุนิโน โมนปเถสุ สิกฺขโต นี้ ท่านประสงค์เอาอธิปัญญาสิกขา. อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า มุนิโน นี้ ท่านประสงค์เอาอธิปัญญาสิกขา. ด้วยบทว่า โมนปเถสุ สิกฺขโต นี้ ท่านประสงค์เอาปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งโลกุตรสิกขาเหล่านั้น. ด้วยบทว่า โสกา น ภวนฺติ เป็นต้น พึงทราบว่า ท่านประกาศอานิสงส์แห่ง คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๗ ------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔ สาริปุตตสูตร จบ. |