ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 10อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 25 / 12อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๑๓ / ๑๔.

               ๑๓. เรื่องนางสุมนาเทวี [๑๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางสุมนาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ ” เป็นต้น.

               อบรมลูกหลานให้รับหน้าที่ของตน               
               ความพิสดารว่า ภิกษุสองพันรูป ย่อมฉันในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีทุกวัน, ในเรือนของนางวิสาขามหาอุบาสิกาก็เช่นนั้น. ก็บุคคลใดๆ ในกรุงสาวัตถี เป็นผู้ประสงค์จะถวายทาน, บุคคลนั้นๆ ต้องได้โอกาสของท่านทั้งสองนั้นก่อนแล้ว จึงทำได้.
               ถามว่า “เพราะเหตุไร?”
               ตอบว่า “เพราะคนอื่นๆ ถามว่า ‘ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขา มาสู่โรงทานของท่านแล้วหรือ’ เมื่อเขาตอบว่า ‘ไม่ได้มา’, ย่อมติเตียน แม้ทานอันบุคคลสละทรัพย์ตั้งแสนแล้วทำว่า ‘นี่ชื่อว่าทานอะไร?’ เพราะท่านทั้งสองนั้นย่อมรู้จักความชอบใจของภิกษุสงฆ์และกิจอันสมควรแก่ภิกษุสงฆ์. เมื่อท่านทั้งสองนั้นอยู่, พวกภิกษุย่อมฉันได้ตามพอใจทีเดียว, เพราะฉะนั้น ทุกๆ คนที่ประสงค์จะถวายทาน จึงเชิญท่านทั้งสองนั้นไป.” ท่านทั้งสองนั้นย่อมไม่ได้ เพื่อจะอังคาสภิกษุทั้งหลายในเรือนของตนด้วยเหตุนี้
               เพราะเหตุนั้น นางวิสาขา เมื่อใคร่ครวญว่า “ใครหนอแล? จักดำรงในหน้าที่ของเราเลี้ยงภิกษุสงฆ์” เห็นธิดาของบุตรแล้ว จึงตั้งเขาไว้ในหน้าที่ของตน. นางอังคาสภิกษุสงฆ์ในเรือนของนางวิสาขานั้น.
               ถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตั้งธิดาคนใหญ่ ชื่อมหาสุภัททาไว้. ก็นางมหาสุภัททานั้น ทำการขวนขวายแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ (และ) ฟังธรรมอยู่ เป็นพระโสดาบันแล้ว ได้ไปสู่สกุลแห่งสามี.
               แต่นั้น ท่านอนาถบิณฑิกะก็ตั้งนางจุลลสุภัททา (แทน). แม้นางจุลสุภัททานั้นก็ทำอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ไปสู่สกุลแห่งสามี.
               ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะจึงตั้งธิดาคนเล็กนามว่า สุมนาเทวี (แทน).

               นางสุมนาป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย               
               ก็นางสุมนาเทวีนั้นฟังธรรมแล้ว บรรลุสกทาคามิผล ยังเป็นกุมาริกา (รุ่นสาว) อยู่เทียว, กระสับกระส่ายด้วยความไม่ผาสุก เห็นปานนั้น ตัดอาหาร๑- มีความประสงค์จะเห็นบิดา จึงให้เชิญมา.
____________________________
๑- อาหารุปจฺเฉทํ กตฺวา ทำการเข้าไปตัดซึ่งอาหาร.

               ท่านเศรษฐีนั้นพอได้ยินข่าวของธิดาในโรงทานแห่งหนึ่ง ก็มาหาแล้วพูดว่า “เป็นอะไรหรือ? แม่สุมนา”
               ธิดานั้นตอบบิดาว่า “อะไรเล่า? น้องชาย”
               บ. เจ้าเพ้อไปหรือ? แม่.
               ธ. ไม่เพ้อ น้องชาย.
               บ. เจ้ากลัวหรือ? แม่.
               ธ. ไม่กลัว น้องชาย.
               แต่พอนางสุมนาเทวีกล่าวได้เพียงเท่านี้ ก็ได้ทำกาละแล้ว.

               ท่านเศรษฐีผู้บิดาร้องไห้ไปทูลพระศาสดา               
               ท่านเศรษฐีนั้น แม้เป็นพระโสดาบัน ก็ไม่สามารถจะกลั้นความโศกอันเกิดในธิดาได้ ให้ทำการปลงศพ๑- ของธิดาเสร็จแล้ว ร้องไห้ไปสู่สำนักพระศาสดา,
____________________________
๑- สรีรกิจฺจํ

               เมื่อพระองค์ตรัสว่า “คฤหบดี ทำไม? ท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้าอาบไปด้วยน้ำตา ร้องไห้มาแล้ว” จึงกราบทูลว่า “นางสุมนาเทวี ธิดาของข้าพระองค์ ทำกาละเสียแล้ว พระเจ้าข้า”
               ศ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร? ท่านจึงโศก, ความตาย ย่อมเป็นไปโดยส่วนเดียวแก่สรรพสัตว์ มิใช่หรือ?
               อ. ข้าพระองค์ทราบข้อนั้น พระเจ้าข้า แต่ธิดาของข้าพระองค์ ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเห็นปานนี้, ในเวลาจวนตาย นางไม่สามารถคุมสติไว้ได้เลย บ่นเพ้อตายไปแล้ว, ด้วยเหตุนั้น โทมนัสไม่น้อย จึงเกิดแก่ข้าพระองค์.
               ศ. มหาเศรษฐี ก็นางพูดอะไรเล่า?
               อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เรียกนางว่า ‘เป็นอะไรหรือ? สุมนา’ ทีนั้น นางก็กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ‘อะไร? น้องชาย’ แต่นั้น เมื่อข้าพระองค์กล่าวว่า ‘เจ้าเพ้อไปหรือ? แม่’ ก็ตอบว่า ‘ไม่เพ้อ น้องชาย’ เมื่อข้าพระองค์ถามว่า ‘เจ้ากลัวหรือ? แม่’ ก็ตอบว่า ‘ไม่กลัว น้องชาย’ พอกล่าวได้เท่านี้ก็ทำกาละแล้ว.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า “มหาเศรษฐี ธิดาของท่านจะได้เพ้อก็หามิได้”
               อ. เมื่อเช่นนั้น เหตุไร? นางจึงพูดอย่างนั้น.
               ศ. เพราะท่านเป็นน้องนางจริงๆ (นางจึงพูดอย่างนั้นกะท่าน), คฤหบดี ก็ธิดาของท่านเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล, เพราะท่านเป็นเพียงโสดาบัน, ส่วนธิดาของท่านเป็นสกทาคามินี; เพราะนางเป็นใหญ่โดยมรรคและผล นางจึงกล่าวอย่างนั้นกะท่าน.
               อ. อย่างนั้นหรือ พระเจ้าข้า.
               ศ. อย่างนั้น คฤหบดี.
               อ. เวลานี้นางเกิดที่ไหน พระเจ้าข้า.
               เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “ในภพดุสิต คฤหบดี” ท่านเศรษฐีจึงกราบทูลว่า “ธิดาของข้าพระองค์ เที่ยวเพลิดเพลินอยู่ในระหว่างหมู่ญาติในโลกนี้ แม้ไปจากโลกนี้แล้ว ก็เกิดในที่ๆ เพลิดเพลินเหมือนกันหรือ? พระเจ้าข้า.”

               คนทำบุญย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง               
               ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า “อย่างนั้น คฤหบดี ธรรมดาผู้ไม่ประมาท เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้และโลกหน้าแท้” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
               ๑๓.  อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ     กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
               ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ    ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต.
                ผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้,
               ละไปแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน เขาย่อมเพลิดเพลิน
               ในโลกทั้งสอง เขาย่อมเพลิดเพลินว่า ‘เราทำบุญ
               ไว้แล้ว’ ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินยิ่งขึ้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ ความว่า ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ด้วยความเพลิดเพลินเพราะกรรม.
               บทว่า เปจฺจ ความว่า ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า ด้วยความเพลิดเพลินเพราะวิบาก.
               บทว่า กตปุญฺโญ คือ ผู้ทำบุญมีประการต่างๆ
               บทว่า อุภยตฺถ ความว่า ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ด้วยคิดว่า “กุศลเราทำไว้แล้ว, บาปเราไม่ได้ทำ”. เมื่อเสวยวิบาก ชื่อว่าย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า.
               สองบทว่า ปุญฺญํ เม ความว่า ก็เมื่อเพลิดเพลินในโลกนี้ ชื่อว่าย่อมเพลิดเพลิน เหตุอาศัยความเพลิดเพลินเพราะกรรม ด้วยเหตุเพียงโสมนัสเท่านั้นว่า “เราทำบุญไว้แล้ว”
               บทว่า ภิยฺโย เป็นต้น ความว่า ก็เขาไปสู่สุคติแล้ว เมื่อเสวยทิพยสมบัติ ตลอด ๕๗ โกฏิปีบ้าง ๖๐ แสนปีบ้าง ย่อมชื่อว่าเพลิดเพลินอย่างยิ่งในดุสิตบุรี ด้วยความเพลิดเพลินเพราะวิบาก.
               ในกาลจบคาถา คนเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคล มีโสดาบันเป็นต้นแล้ว.
               พระธรรมเทศนาได้เป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

               เรื่องนางสุมนาเทวี จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 10อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 25 / 12อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=268&Z=329
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=18&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=18&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :