ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 10อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 25 / 12อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๙ / ๑๔.

               ๙. เรื่องพระนันทเถระ [๙]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านนันทะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ ” เป็นต้น

               พระศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์               
               ความพิสดารว่า พระศาสดาทรงมีพระธรรมจักรบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน. บรรดาทูต ๑๐ คน มีบริวารคนละพัน อันพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงนำบุตรมาแสดงแก่เราเถิด” พระกาฬุทายีเถระไปทีหลังกว่าทูตทั้งหมด บรรลุพระอรหัตแล้ว ทราบกาลเป็นที่เสด็จมาแล้ว พรรณนาหนทางด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถา นำเสด็จ (พระศาสดา) ผู้มีพระขีณาสพสองหมื่นแวดล้อมแล้ว ไปสู่กบิลพัสดุ์บุรี, ทรงทำฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุเกิดแห่งเรื่องแล้วตรัสมหาเวสสันดรชาดก๑- ในสมาคมพระญาติ, วันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยพระคาถาว่า “ อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย ”๒- เป็นต้น, โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และโปรดพระราชา (พระบิดา) ให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ด้วยพระคาถาว่า “ ธมฺมญฺจเร สุจริต ”๓- เป็นต้น. ก็ในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรีชาดก๔- ในวันที่ ๓ แต่วันนั้น ครั้นเมื่อวิวาหมงคลเป็นที่เชิญเสด็จเข้าเรือนเพื่ออภิเษกของนันทกุมาร เป็นไปอยู่, เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสมงคล (อวยพร) เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารไม่.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๑๐๔๕; อรรถกถา. ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๑๐๔๕.
๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๓
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๓
๔- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๘๘๓; อรรถกถา. ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๘๘๓.

               นันทะพุทธอนุชาออกบวช               
               ฝ่ายนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูล (เตือน) ว่า “ขอพระองค์รับบาตรไปเถิด พระเจ้าข้า” แต่คิดอย่างนี้ว่า “พระศาสดาคงจักทรงรับบาตรที่หัวบันได” แม้ในที่นั้นพระศาสดาก็มิได้ทรงรับ. นันทกุมารนอกนี้ก็คิดว่า “คงจักทรงรับที่ริมเชิงบันได” แม้ในที่นั้น พระศาสดาก็ไม่ทรงรับ นันทกุมารก็คิดว่า “จักทรงรับที่พระลานหลวง” แม้ในที่นั้น พระศาสดาก็ไม่ทรงรับ. พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ (แต่) จำเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัย ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงไม่สามารถทูลว่า “ขอพระองค์ทรงรับบาตรเถิด” ทรงเดินนึกไปว่า “พระองค์จักทรงรับในที่นี้. พระองค์จักทรงรับในที่นี้”
               ในขณะนั้น หญิงพวกอื่นเห็นอาการนั้นแล้ว จึงบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่า “พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว, คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า.”
               ฝ่ายนางชนบทกัลยาณีนั้นได้ยินคำนั้นแล้ว มีหยาดน้ำยังไหลอยู่เทียว มีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง รีบไปทูลว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์พึงด่วนเสด็จกลับ.” คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมาร. แม้พระศาสดาก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารนั้นเลย ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม?” นันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า “จักไม่บวช” ทูลรับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวชพระเจ้าข้า.” พระศาสดารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด.”

               ราหุลกุมารทูลขอสมบัติกะพระศาสดา               
               พระศาสดาเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์บุรี ในวันที่ ๓ ทรงยังนันทกุมารให้บวชแล้ว, ในวันที่ ๗ พระมารดาของพระราหุลทรงตกแต่งพระกุมารแล้ว ทรงส่งไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระดำรัสว่า “พ่อ พ่อจงดูพระสมณะซึ่งมีพระสมณะสองหมื่นแวดล้อมทรงมีวรรณะประดุจสีทองคำ มีวรรณะแห่งพระรูปประดุจพรหมนั่น, พระสมณะนี้เป็นพระบิดาของพ่อ, หม้อทรัพย์ใหญ่ได้มีแล้วในเวลาที่พระบิดาของพ่อนั่นประสูติ, ตั้งแต่เวลาพระองค์ออกบวช แม่ไม่พบเลย” พ่อจงไปทูลขอมรดกกะพระองค์ท่านว่า “ ข้าแต่เสด็จพ่อ ข้าพระองค์เป็นกุมาร, ถึงอภิเษกแล้ว จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ข้าพระองค์ต้องการด้วยทรัพย์, ขอเสด็จพ่อได้ประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์, เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของสมบัติของพระบิดา.”
               พระกุมารเสด็จไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว หวนได้ความสิเนหาในพระบิดา สำเริงยินดีแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของเสด็จพ่อสบาย” ได้ยืนทูลคำแม้อื่นเป็นอันมากที่สมควรแก่ตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป. แม้พระกุมาร ก็ทูลขอว่า “ข้าแต่พระสมณะ ขอได้ประทานมรดกแก่ข้าพระองค์เถิด, ข้าแต่พระสมณะ ขอได้ประทานมรดกแก่ข้าพระองค์เถิด” ดังนี้แล้ว เสด็จติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ให้พระกุมารกลับ. ฝ่ายปริชนก็ไม่สามารถเพื่อจะเชิญพระกุมารผู้เสด็จไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้กลับได้. พระกุมารนั้นได้เสด็จไปถึงพระอารามทีเดียว พร้อมด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า “กุมารนี้อยากได้ทรัพย์อันเป็นสมบัติของบิดา. ทรัพย์นั้นไปตามวัฏฏะ มีความคับแคบ; ช่างเถิด เราจักให้อริยทรัพย์ ๗ ประการ อันเราได้เฉพาะที่ควงไม้โพธิแก่เธอ, จะทำเธอให้เป็นเจ้าของมรดกอันเป็นโลกุตระ.”

               ราหุลกุมารบรรพชา               
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้หาท่านพระสารีบุตรมา แล้วตรัสว่า “สารีบุตร ถ้ากระนั้น เธอจงให้ราหุลกุมารบวชเถิด.” พระเถระยังพระกุมารนั้นให้ผนวชแล้ว. ก็เมื่อพระกุมารผนวชแล้ว. ทุกข์มีประมาณยิ่งได้เกิดขึ้นแก่พระราชาเพราะได้ทรงสดับข่าวนั้น.
               พระราชาไม่ทรงสามารถเพื่อจะกลั้นความทุกข์นั้นไว้ได้ เสด็จไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลชี้แจงแล้วขอประทานพรว่า “พระเจ้าข้า หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงยังบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช.”
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานพรนั้นแด่ท้าวเธอแล้ว, รุ่งขึ้น วันหนึ่งเสวยพระกระยาหารเช้าในพระราชนิเวศน์แล้ว เมื่อพระราชาประทับอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทูลเล่าว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยา เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาหม่อมฉันบอกว่า พระโอรสของพระองค์ทิวงคตแล้ว” หม่อมฉันไม่เชื่อถ้อยคำของเทวดานั้น จึงคัดค้านเทวดานั้นว่า ‘บุตรของข้าพเจ้ายังไม่บรรลุโพธิญาณ ย่อมไม่ทำกาละ” ดังนี้แล้ว, ตรัสว่า “มหาบพิตร บัดนี้ พระองค์จักเชื่อได้อย่างไร? แม้ในกาลก่อน เมื่อเขาแสดงร่างกระดูกแก่พระองค์ ทูลว่า ‘บุตรของพระองค์ทิวงคตแล้ว’ พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อ” ได้ตรัสมหาธรรมปาลชาดก๑- เพราะอุบัติเหตุแห่งเรื่องนี้. ในกาลจบกถา พระราชาดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔๑๐; อรรถกถา. ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔๑๐

               พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในผล ๓ ด้วยประการฉะนี้แล้ว มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จกลับไปสู่กรุงราชคฤห์อีก, แต่นั้น ทรงรับปฏิญญาไว้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพื่อประโยชน์แก่การเสด็จมาสู่กรุงสาวัตถี, ครั้นเมื่อพระเชตวันมหาวิหารสำเร็จแล้ว, เสด็จไปจำพรรษาในพระเชตวันมหาวิหารนั้น.

               พระนันทะอยากสึก               
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันอย่างนี้นั่นแล, ท่านพระนันทะกระสันขึ้นแล้ว จึงบอกเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์, ไม่สามารถที่จะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้, ข้าพเจ้าจักกล่าวคืนสิกขาแล้วสึก๑-”
____________________________
๑- หีนายาวตฺติสฺสามิ จักเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว รับสั่งให้หาท่านพระนันทะมาเฝ้าแล้ว ตรัสคำนี้ว่า “จริงหรือนันทะ? ได้ยินว่า เธอบอกกล่าวแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้, ข้าพเจ้าจักกล่าวคืนสิกขาแล้วสึก’ หรือ?”
               น. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               ภ. นันทะ ก็เธอไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์. ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้, จะกล่าวคืนสิกขาสึกไปเพื่อเหตุอะไร?
               น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือน นางชนบทกัลยาณีผู้ศากิยะมีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง ได้ร้องสั่งคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระลูกเจ้าพึงด่วนเสด็จมา’, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นแล หวนระลึกถึงคำนั้นอยู่ จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้, จักกล่าวคืนสิกขาสึกไป.”

               พระศาสดาทรงทรมานพระนันทะ               
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจับท่านพระนันทะที่พระพาหาแล้ว นำไปสู่ดาวดึงสเทวโลกด้วยกำลังพระฤทธิ์, ในระหว่างทางทรงแสดงนางลิงลุ่นตัวหนึ่ง ซึ่งมีหูจมูกและหางขาด นั่งเจ่าอยู่บนปลายตอไม้ที่ไฟไหม้ ในนาที่ไฟไหม้แห่งหนึ่งแล้ว ทรงแสดงนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดังเท้านกพิราบ๑- ผู้มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์.
____________________________
๑- บทว่า กกุฏปาทานิ ได้แก่ มีเท้า เช่นกับเท้านกพิราบ เพราะมีสีแดง.

               ก็แลครั้นทรงแสดงแล้ว ตรัสอย่างนี้ว่า “ นันทะ เธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ฝ่ายไหนหนอแล? มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่ากัน, นางชนบทกัลยาณีผู้ศากิยะหรือนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าเช่นกับเท้านกพิราบนี้.” พระนันทะได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงลุ่นมีหูจมูกและหางขาดนั้น แม้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณีผู้ศากิยะ ก็เหมือนกันฉันนั้น, เพราะการเปรียบเทียบกัน นางย่อมไม่ถึงการนับบ้าง ไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งบ้าง ไม่ถึงส่วน (หนึ่ง) บ้าง แห่งนางอัปสร ๕๐๐ นี้, ที่แท้นางอัปสร ๕๐๐ นี้แล มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า.”
               ภ. นันทะ เธอจงยินดี, นันทะ เธอจงยินดี, เราจะเป็นผู้ประกันของเธอ เพื่ออันได้เฉพาะนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจเท้านกพิราบ.
               น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประกันของข้าพระองค์ เพื่ออันได้เฉพาะนางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจเท้านกพิราบไซร้, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยินดีในพรหมจรรย์.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาท่านนันทะไป หายวับไปในที่นั้น ได้ปรากฏในพระเชตวันดังเดิม.
               ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วแลว่า “ข่าวว่า ท่านนันทะเป็นพระภาดา๑- ของพระผู้มีพระภาคเจ้า โอรสพระน้านาง ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสรทั้งหลาย; นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ประกันของพระนันทะนั้น เพื่ออันได้เฉพาะนางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจเท้านกพิราบ.”
____________________________
๑- น้องชาย.

               พระนันทะสำเร็จอรหัตผล               
               ครั้งนั้นแล พวกภิกษุผู้สหายของท่านพระนันทะ เรียกท่านพระนันทะด้วยวาทะว่า คนรับจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่า คนอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไถ่ไว้บ้าง ว่า “นัยว่า ท่านพระนันทะเป็นคนรับจ้าง, นัยว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้อันพระศาสดาทรงไถ่ไว้, พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ๕๐๐, ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ประกันของเธอ เพื่ออันได้เฉพาะนางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจเท้านกพิราบ.”
               ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะขวยเขิน ละอาย รังเกียจด้วยวาทะว่าคนรับจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่าคนที่พระศาสดาทรงไถ่ไว้บ้าง ของเหล่าภิกษุสหาย เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกไปแล้วไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่. ต่อกาลไม่นานเลย ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย (ออก) จากเรือนบวชไม่มีเรือน โดยชอบต้องการ ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้ว อยู่ในทิฏฐธรรม๑- รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว, กิจจำต้องทำๆ เสร็จแล้ว, กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี.” เป็นอันว่า ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย.
____________________________
๑- อีกนัยหนึ่ง :- ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม เป็นที่ต้องการแห่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ (ออก) จากเรือนโดยชอบ บวชไม่มีเรือน ด้วยความรู้ยิ่งเอง.

               ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งยังพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ในส่วนแห่งราตรีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะ เป็นพระภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า โอรสพระน้านาง ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ๑- ปัญญาวิมุตติ๒-, อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม. ญาณได้เกิดขึ้นแม้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า (เหมือนกัน) ว่า “นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม.”
____________________________
๑- พ้นจากกิเลสด้วยอำนาจใจ. ๒- พ้นจากกิเลสด้วยอำนาจปัญญา.

               ท่านพระนันทะแม้นั้น โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ประกันของข้าพระองค์ เพื่ออันได้เฉพาะซึ่งนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจเท้านกพิราบ ด้วยการรับรองใด, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เปลื้องพระผู้มีพระภาคเจ้าจากการรับรองนั่น.”
               พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทะ แม้เราก็กำหนดใจของเธอด้วยใจ (ของเรา) ทราบแล้วว่า ‘นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม.’ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม.’ นันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะมีความไม่ยึดมั่น, เมื่อนั้น เราก็พ้นจากการรับรองนั้น.”
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
               ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
                         เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว, หนาม
                         คือกามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว ผู้นั้นบรรลุความ
                         สิ้นไปแห่งโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะ
                         สุขและทุกข์.

               พระนันทะถูกฟ้อง               
               ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายถามท่านพระนันทะว่า “นันทะผู้มีอายุ เมื่อก่อน ท่านกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว’ บัดนี้ จิตของท่านเป็นอย่างไร?”
               พระนันทะตอบว่า “ผู้มีอายุ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี”
               พวกภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวกันว่า “ท่านนันทะพูดไม่จริง ย่อมพยากรณ์พระอรหัตผล, ในวันที่แล้วๆ มา กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว’ (แต่) บัดนี้กล่าวว่า ‘ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเรา ไม่มี’” ดังนี้แล้ว ไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่แล้วๆ มา อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี, (แต่) บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่า นันทะนี้ จำเดิมแต่กาลที่ตนเห็นนางเทพอัปสรแล้ว พยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่ ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว”
               ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
                         ๙. ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐี สมติวิชฺฌติ
                         เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ                 ราโค สมติวิชฺฌติ.
                         ยถา อคารํ สุจฺฉนฺ วุฏฺฐี น สมติวิชฺฌติ
                         เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ.
                         “ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด,
                         ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น.
                         ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด,
                         ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น.”

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคารํ คือ ซึ่งเรือนชนิดใดชนิดหนึ่ง.
               บทว่า ทุจฺฉนฺนํ คือ ที่เขามุงห่างๆ มีช่องเล็กช่องน้อย.
               บทว่า สมติวิชฺฌติ คือ เม็ดฝนย่อมรั่วรดได้.
               บทว่า อภาวิตํ เป็นต้น ความว่า ราคะย่อมเสียดแทงจิต ที่ชื่อว่าไม่ได้อบรม เพราะเป็นธรรมชาติเหินห่างภาวนา ราวกะว่าฝน (รั่วรด) เรือนนั้นได้ฉะนั้น, ใช่แต่ราคะอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้, สรรพกิเลสทั้งหลายมีโทสะ โมหะ และมานะเป็นอาทิ ก็เสียดแทงจิตเห็นปานนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า สุภาวิตํ ได้แก่ ที่อบรมดีแล้ว ด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา; กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่อาจเสียดแทงจิตเห็นปานนั้นได้ ราวกะว่าฝนไม่อาจรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วได้ฉะนั้น.
               ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

               พระนันทะเคยถูกล่อด้วยมาตุคาม               
               ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า “ผู้มีอายุ ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัจฉริยบุคคล. ท่านพระนันทะ ชื่อว่าอาศัยนางชนบทกัลยาณีกระสันแล้ว พระศาสดาทรงทำเหล่านางเทพอัปสรให้เป็นอามิส แนะนำได้แล้ว”
               พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?”
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ด้วยกถาชื่อนี้” ดังนี้แล้ว
               ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น, แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคาม แนะนำแล้วเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว
               อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)

               บุรพกรรมของพระนันทะ               
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ได้มีพ่อค้าชาวเมืองพาราณสี (คนหนึ่ง) ชื่อกัปปกะ. ลาผู้ของเขาตัวหนึ่งนำภาระ (สิ่งของ) ไปได้กุมภะหนึ่ง, มันเดินไปได้วันละ ๗ โยชน์,
               สมัยหนึ่ง เขาไปเมืองตักกสิลา (พร้อม) ด้วยภาระที่นำไปด้วยลา ปล่อยลาเที่ยวไปจนกว่าจำหน่ายสิ่งของหมด. ครั้งนั้น ลาของเขานั้นเที่ยวไปบนหลังคู พบนางลาตัวหนึ่ง จึงเข้าไปหา. นางลา เมื่อจะทำปฏิสันถารกับลาผู้ตัวนั้น จึงกล่าวว่า “ท่านมาแต่ไหน?”
               ลาผู้. มาแต่เมืองพาราณสี.
               นางลา. ท่านมาด้วยกรรมอะไร?
               ลาผู้. ด้วยกรรมของพ่อค้า.
               นางลา. ท่านนำภาระไปได้เท่าไร?
               ลาผู้. ภาระประมาณกุมภะหนึ่ง.
               นางลา. ท่านเมื่อนำภาระประมาณเท่านั้นไป ไปได้กี่โยชน์.
               ลาผู้. ได้ ๗ โยชน์
               นางลา. ในที่ซึ่งท่านไปแล้ว นางลาไรๆ ผู้ทำการนวดเท้า หรือประคบประหงมให้แก่ท่านมีอยู่หรือ?
               ลาผู้. หามีไม่ นางผู้เจริญ
               นางลา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านคงได้รับทุกข์มากนะ?
               จริงอยู่ ชื่อว่าผู้ทำกรรมมีการนวดเท้าเป็นต้น สำหรับสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายย่อมไม่มีแม้โดยแท้ แต่นางลากล่าวคำเห็นปานนั้น เพื่อพาดพิงถึงกามสังโยชน์ ลาผู้นั้นกระสันขึ้นด้วยคำของนางลานั้นแล้ว
               ฝ่ายกัปปกพาณิชขายภัณฑะหมดแล้ว ไปยังที่ลาพำนักอยู่ กล่าวว่า “มาเถิด พ่อ เราจักไป” ลาผู้ตัวนั้นตอบว่า “ท่านจงไปเถิด, ข้าพเจ้าจักไม่ไป,”
               ลำดับนั้น นายกัปปกะอ้อนวอนลานั้นแล้วๆ เล่าๆ คิดว่า “เราจะยังลานั้นซึ่งไม่ปรารถนาจะไปให้กลัวแล้ว จักนำไป” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า
                                   “เราจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่เจ้า,
                         เราจักทิ่มแทงกายของเจ้า, แน่ะเจ้าลา เจ้าจงรู้อย่างนี้.”
               ลาได้ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวตอบว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น, ข้าพเจ้าก็รู้จักกิจที่ควรทำแก่ท่านบ้าง” ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า
                                   “ท่านจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่ข้าพเจ้า,
                         ข้าพเจ้าจักยันข้างหน้า ยกข้างหลังขึ้นแล้ว ยังภัณฑะของท่าน
                         ให้ตกไป, กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้.”
               พ่อค้าได้ฟังคำนั้น จึงดำริว่า “ด้วยเหตุไฉนหนอแล? ลานี้จึงกล่าวอย่างนี้กะเรา” ดังนี้แล้ว เมื่อแลดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นนางลานั้น แล้วคิดว่า “เจ้านี่คงจะถูกนางลาตัวนี้ ให้สำเหนียกแล้วอย่างนี้, เราต้องล่อมันด้วยมาตุคามว่า “ข้าจักนำนางลาชื่อมีรูปอย่างนี้มาให้เจ้า.” แล้วจักนำไป” ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   “เราจักนำนางลาสาว มีเท้า ๔ มีหน้าดุจสังข์
                         มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นภรรยาข้าพเจ้า, แน่ะลา
                         เจ้าจงรู้อย่างนี้."
               ลาได้ฟังคำนั้น มีจิตยินดี กล่าวคาถานี้ว่า
                                    "ท่านจักนำนางลาสาว มีเท้า ๔ มีหน้าดุจสังข์
                         มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นภรรยาข้าพเจ้า, ข้าแต่กัปปกะ
                         ท่านจงรู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าจักไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์น่ะ
                         กัปปกะ.”
               ทีนั้น นายกัปปกะจึงกล่าวกะลานั้นว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าจงมาเถิด” ดังนี้แล้ว ได้จูงไปสู่ที่ของตน. ลานั้น โดยกาลล่วงไปสองสามวัน จึงกล่าวกับนายกัปปกะว่า “ท่านได้พูดกะข้าพเจ้าว่า “จักนำภรรยามาให้เจ้า, ดังนี้ มิใช่หรือ?” นายกัปปะตอบว่า “เออ เรากล่าวแล้ว, เราจักไม่ทำลายถ้อยคำของตน, จักนำภรรยามาให้เจ้า, แต่เราจะให้อาหารแก่เจ้าเฉพาะตัวเดียว, อาหารนั้นจงเพียงพอแก่เจ้า ซึ่งมีตนเป็นที่สอง๑- หรือไม่มีก็ตามที. เจ้าพึงรู้ตัวเองเถอะ แม้ลูกทั้งหลาย อาศัยการสังวาสของเจ้าทั้งสองก็จักเกิดขึ้น, อาหารนั้นจงเพียงพอแก่เจ้ากับลูกเป็นอันมาก แม้เหล่านั้นหรือไม่ก็ตามที, เจ้าพึงรู้เองเถอะ.”
               ลา เมื่อนายกัปปกะนั้นกล่าวอยู่เช่นนั้น, ได้เป็นผู้หมดหวังแล้ว.
____________________________
๑- หมายความว่า สองตัวผัวเมีย.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงยังชาดกให้จบลงด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นางลาในคราวนั้นได้เป็นนางชนบทกัลยาณี, ลาผู้ได้เป็นนันทะ, พ่อค้าได้เป็นเราเอง, แม้ในกาลก่อน นันทะนี้ เราก็ได้ล่อด้วยมาตุคามแนะนำแล้ว ด้วยประการอย่างนี้ ดังนี้แล.

               เรื่องพระนันทเถระ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 10อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 25 / 12อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=268&Z=329
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=18&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=18&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :