ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 112อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 115อ่านอรรถกถา 25 / 116อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ กุมารกสูตร

               อรรถกถากุมารกสูตร               
               กุมารกสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กุมารกา แปลว่า คนหนุ่ม. แต่ในที่นี้ คนหนุ่มซึ่งรู้อรรถของสุภาษิตและทุพภาษิต ท่านประสงค์ว่า กุมารกะ. จริงอยู่ สัตว์เหล่านี้ จำเดิมแต่วันที่เกิดมา จนถึงอายุ ๑๕ ปี ท่านเรียกว่า กุมารกะ และว่าพาละ ต่อจากนั้น มีอายุ ๒๐ ปี ท่านเรียกว่า คนหนุ่มสาว.
               บทว่า มจฺฉเก พาเธนฺติ ความว่า เด็กหนุ่มเหล่านั้น ในฤดูแล้ง เมื่อน้ำในสระแห่งหนึ่งใกล้หนทางแห้งแล้ว จึงพากันวิดน้ำที่ขังอยู่ในที่ลุ่ม จับและฆ่าปลาตัวเล็กๆ ด้วยหมายใจว่า เราจักปิ้งกิน.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พระองค์เสด็จแวะจากทางเข้าไปยังสระน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วประทับยืนอยู่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปสงฺกมิ.
               ก็เพราะเหตุไร จึงเสด็จเข้าไปหา.
               เพราะเพื่อจะให้เด็กเหล่านั้นเกิดความคุ้นเคยกับพระองค์ จึงเสด็จเข้าไปหา.
               ศัพท์ว่า โว ในคำนี้ว่า ภายถ โว เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ทุกฺขสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถปัญจมีวิภัตติ. อธิบายว่า ทุกฺขสฺมา จากทุกข์. ด้วยบทว่า อปฺปิยํ โว ทุกฺขํ พระองค์ตรัสถามว่า ทุกข์ที่เกิดในร่างกายของพวกเธอ ไม่น่ารักไม่น่าปรารถนา มิใช่หรือ?
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวงซึ่งอรรถนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ไม่ปรารถนาทุกข์เพื่อตนเลย แต่ปฏิบัติเหตุแห่งทุกข์อยู่ โดยใจความเป็นอันชื่อว่าปรารถนาทุกข์อยู่นั่นเอง.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันเกียดกั้นการกระทำชั่วและประกาศโทษของการทำชั่ว.
               อุทานนั้นมีความหมายดังต่อไปนี้
               ถ้าว่า ทุกข์อันจะให้เป็นไปในอบายทั้งสิ้น และอันต่างด้วยความเป็นผู้มีอายุน้อยและความเป็นผู้มีส่วนชั่วแห่งมนุษย์เป็นต้นในสุคติ เป็นธรรมชาติ ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนาสำหรับพวกท่าน ถ้าพวกท่านกลัวทุกข์นั้นไซร้ พวกท่านอย่าได้กระทำ คืออย่าได้ก่อกรรมชั่ว คือกรรมลามกแม้มีประมาณน้อย ชนิดปาณาติบาตเป็นต้นทางกายหรือทางวาจา ทั้งในที่แจ้ง คือไม่ปิดบัง เพราะปรากฏแก่คนอื่น (และ) ชนิดอภิชฌาเป็นต้น เพราะในมโนทวาร ทั้งในที่ลับคือปกปิดโดยความไม่ปรากฏแก่คนอื่น
               ถ้าว่า ท่านทำกรรมชั่วนั้นบัดนี้ หรือจักทำในอนาคตไซร้ ทุกข์อันเป็นผลของกรรมนั้น ในอบาย ๔ มีนรกเป็นต้น และในมนุษย์ทั้งหลายจักไม่ติดตามพวกเราผู้หนีไปข้างโน้นข้างนี้ ด้วยความประสงค์ดังว่ามานี้ แม้พวกท่านจะเหาะหนี คือจงใจหลีกหนีไป ก็ไม่หลุด คือไม่พ้นจากทุกข์นั้นไปได้ ท่านแสดงไว้ว่าจะให้ผล ในเมื่อความพรั่งพร้อมแห่งปัจจัยอื่นมีคติและกาลเป็นต้นนั่นแล.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปลายเน ดังนี้ก็มี ความว่า เมื่อการไป คือการหลีกไปในที่ใดที่หนึ่ง มีอยู่ โดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               ก็ความนี้พึงแสดงด้วยคาถานี้ว่า ผู้ทำกรรมชั่วจะหนีไปในอากาศ หรือท่ามกลางสมุทร ฯลฯ ย่อมไม่พ้นจากกรรมชั่วนั้นไปได้.๑-
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๙

               จบอรรถกถากุมารกสูตรที่ ๔               
               ---------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ กุมารกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 112อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 115อ่านอรรถกถา 25 / 116อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=2971&Z=2990
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=7045
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=7045
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :