ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒

               ๒. อัปปมาทวรรควรรณนา               
               ๑. เรื่องพระนางสามาวดี [๑๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่ออาศัยกรุงโกสัมพี ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ทรงปรารภความวอดวายคือมรณะ ของหญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน และของญาติ ๕๐๐ ของพระนางมาคันทิยานั้น ซึ่งมีนางมาคันทิยาเป็นประธาน
               จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ” เป็นต้น
               ในเรื่องนั้น มีอนุปุพพีกถา ดังต่อไปนี้ :-

               กษัตริย์ ๒ สหาย               
               ในกาลล่วงมาแล้ว พระราชา ๒ องค์ เหล่านี้ คือในแคว้นอัลลกัปปะ พระราชาทรงพระนามว่าอัลลกัปปะ, ในแคว้นเวฏฐทีปกะ พระราชาทรงพระนามว่าเวฏฐทีปกะ เป็นพระสหายกัน ตั้งแต่เวลายังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาศิลปะในสำนักอาจารย์เดียวกัน โดยล่วงไปแห่งพระราชบิดาของตนๆ ได้ให้ยกเศวตฉัตรขึ้นแล้ว ทรงเป็นพระราชาในแคว้น มีประมาณแคว้นละ ๑๐ โยชน์. พระราชา ๒ พระองค์นั้น เสด็จมาประชุมกันตลอดกาลตามกาล (ตามกาลอันสมควร) ทรงยืน, นั่ง, บรรทมร่วมกัน ทอดพระเนตรเห็นมหาชนผู้เกิดอยู่และตายอยู่ จึงทรงปรึกษากันว่า “ชื่อว่า ผู้ตามคนผู้ไปสู่ปรโลก ไม่มี, โดยที่สุดถึงสรีระของตน ก็ตามไปไม่ได้; ต้องละสิ่งทั้งปวงไป, ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือนของเรา, เราจักบวช” ดังนี้แล้ว ทรงมอบรัชสมบัติให้แก่พระโอรสและพระมเหสี ออกผนวชเป็นพระฤษี อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้ทรงปรึกษากันว่า “พวกเราไม่อาจเพื่อเป็นอยู่ จึงละราชสมบัติออกบวชก็หาไม่, เราเหล่านั้น เมื่ออยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็จักเหมือนกับผู้ไม่บวชนั้นเอง, เพราะฉะนั้น เราจักแยกกันอยู่: ท่านจงอยู่ที่ภูเขาลูกนั้น, เราจักอยู่ที่ภูเขาลูกนี้; แต่จักรวมกัน ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน.”
               ครั้งนั้น พระดาบสทั้งสองนั้นเกิดมีความดำริขึ้นอย่างนี้ว่า “แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคลุกคลีด้วยคณะเทียว จักมีแก่เราทั้งหลาย, ท่านพึงจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของท่าน, เราก็จักจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของเรา; ด้วยเครื่องสัญญานั้น เราทั้งหลายก็จักรู้ความที่เรายังมีชีวิตอยู่.” พระดาบสทั้งสองนั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว.

               เรียนมนต์และพิณ               
               ต่อมาในกาลอื่น เวฏฐทีปกดาบส ทำกาละ บังเกิดเป็นเทพเจ้าผู้มีศักดิ์ใหญ่. แต่นั้น ครั้นถึงกึ่งเดือน อัลลกัปดาบส พอแลไม่เห็นไฟ ก็ทราบได้ว่า “สหายของเรา ทำกาละเสียแล้ว” แม้เวฏฐทีปกดาบสตรวจดูทิพพสิริของตนในขณะที่เกิด ใคร่ครวญถึงกรรม เห็นกิริยาที่ตนกระทำ จำเดิมแต่ออกบวชแล้ว คิดว่า “บัดนี้ เราจักไปเยี่ยมสหายของเรา” ในขณะนั้น จึงละอัตภาพนั้นเสีย เป็นเหมือนคนหลงทาง ไปยังสำนักของอัลลกัปปดาบสนั้น ไหว้แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง.
               ลำดับนั้น อัลลกัปปดาบสนั้นจึงกล่าวถามบุรุษนั้นว่า “ท่านมาจากไหน?”
               บุรุษ. ท่านผู้เจริญ ผมเป็นคนหลงทาง เดินมาจากที่ไกลเหลือเกิน, ก็พระผู้เป็นเจ้าอยู่รูปเดียวเท่านั้น ในที่นี้ หรือ? มีใครอื่นบ้างไหม?
               อัลละ. มีสหายของเราอยู่ผู้หนึ่ง.
               บุรุษ. ผู้นั้น ไปอยู่ที่ไหนหรือ?
               อัลละ. เขาอยู่ที่ภูเขาลูกนั้น. แต่วันอุโบสถ เขาไม่จุดไฟให้โพลง, เขาจักตายเสียแล้วเป็นแน่.
               บุรุษ. เป็นอย่างนั้นหรือ ขอรับ?
               อัลละ. ผู้มีอายุ เป็นอย่างนั้น.
               บุรุษ. กระผมคือผู้นั้น ขอรับ.
               อัลละ. ท่านเกิดที่ไหน?
               บุรุษ. กระผมเกิดเป็นเทพเจ้า ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ในเทวโลกขอรับ, มาอีก ก็ด้วยประสงค์ว่า ‘จักเยี่ยมพระผู้เป็นเจ้า’ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในที่นี้ อุปัทวะอะไรมีบ้างหรือ?
               อัลละ. เออ อาวุโส, เราลำบาก เพราะอาศัยช้าง.
               บุรุษ. ท่านผู้เจริญ ก็ช้างทำอะไรให้ท่านเล่า?
               อัลละ. มันถ่ายคูถลงในที่กวาด, เอาเท้าประหารคุ้ยฝุ่นขึ้น; ข้าพเจ้านั้นคอยขนคูถช้างทิ้ง คอยเกลี่ยฝุ่นให้เสมอ ก็ย่อมลำบาก.
               บุรุษ. พระผู้เป็นเจ้าปรารถนาจะไม่ให้ช้างเหล่านั้นมาไหมเล่า?
               อัลละ. เออ อาวุโส.
               บุรุษ. ถ้ากระนั้น กระผมจักทำไม่ให้ช้างเหล่านั้นมา ได้ถวายพิณสำหรับให้ช้างใคร่ และสอนมนต์สำหรับให้ช้างใคร่ แก่พระดาบสแล้ว: ก็เมื่อจะให้ ได้ชี้แจงสายพิณ ๓ สาย ให้เรียนมนต์ ๓ บท แล้วบอกว่า “เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว, ช้างไม่อาจแม้เพื่อจะหันกลับแลดู ย่อมหนีไป; เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว ช้างจะกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป: เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว ช้างนายฝูงย่อมน้อมหลังเข้ามาหา”, แล้วกล่าวว่า “สิ่งใด อันท่านชอบใจ, ท่านพึงทำสิ่งนั้นเถิด”. ไหว้พระดาบสแล้ว ก็หลีกไป.
               พระดาบสร่ายมนต์บทสำหรับไล่ช้าง ดีดสายพิณสำหรับไล่ช้าง ยังช้างให้หนีไปอยู่แล้ว.

               พระเจ้าอุเทนกับหัสดีลิงค์               
               ในสมัยนั้น ในกรุงโกสัมพี ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้าปรันตปะ วันหนึ่ง พระเจ้าปรันตปะทรงนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ที่กลางแจ้ง๑- กับพระราชเทวี ผู้ทรงครรภ์. พระราชเทวีทรงห่มผ้ากัมพลแดงอันมีราคาแสนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระภูษาทรงของพระราชา ทรงนั่งปราศรัยกับพระราชา ถอดพระธำมรงค์อันมีราคาแสนหนึ่งจากพระองคุลีของพระราชา มาสวมใส่ที่นิ้วของพระองค์.
____________________________
๑- อากาสกเล ที่พื้นแห่งอากาศ.

               ในสมัยนั้น นกหัสดีลิงค์บินมาโดยอากาศ เห็นพระราชเทวี จึงชะลอปีกบินโผลง โดยหมายว่า “ชิ้นเนื้อ.” พระราชาทรงตกพระทัยด้วยเสียงโผลงของนกนั้น จึงเสด็จลุกเข้าภายในพระราชนิเวศน์. พระราชเทวีไม่อาจไปโดยเร็วได้ เพราะทรงครรภ์แก่ และเพราะเป็นผู้มีชาติแห่งคนขลาด. ครั้งนั้น นกนั้นจึงโผลง ยังพระนางนั้นให้นั่งอยู่ที่กรงเล็บ บินไปสู่อากาศแล้ว. เขาว่า พวกนกเหล่านั้นทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก เพราะฉะนั้น จึงนำเหยื่อไปทางอากาศ จับ ณ ที่อันพอใจแล้ว ย่อมเคี้ยวมังสะกิน.
               แม้พระนางนั้น อันนกนั้นนำไปอยู่ ทรงหวาดต่อมรณภัย จึงทรงดำริว่า “ถ้าว่าเราจักร้อง, ธรรมดาเสียงคน เป็นที่หวาดเสียวของสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มันฟังเสียงนั้นแล้ว ก็จักทิ้งเราเสีย, เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักถึงความสิ้นชีพ พร้อมกับเด็กในครรภ์; แต่มันจับในที่ใดแล้วเริ่มจะกินเรา, ในที่นั้น เราจักร้องขึ้น แล้วไล่ให้มันหนีไป. พระนางยับยั้งไว้ได้ ก็เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต.
               ก็ในกาลนั้น ที่หิมวันตประเทศ มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งเจริญขึ้นเล็กน้อยแล้ว ก็ตั้งอยู่โดยอาการดังมณฑป. นกนั้นนำเหยื่อมีเนื้อเป็นต้นไปแล้ว ย่อมเคี้ยวกินที่ต้นไทรนั้น; เพราะฉะนั้น นกหัสดีลิงค์ตัวนั้นนำพระราชเทวีแม้นั้น ไปที่ต้นไทรนั้นแล วางไว้ในระหว่างค่าคบไม้ แลดูทางอันตนบินมาแล้ว. นัยว่า การแลดูทางบินมาแล้วเป็นธรรมดาของนกเหล่านั้น. ในขณะนั้น พระราชเทวีทรงดำริว่า “บัดนี้ ควรไล่นกนี้ให้หนีไป” จึงทรงยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ขึ้น ทั้งปรบมือ ทั้งร้อง ให้นกนั้นหนีไปแล้ว.
               ครั้งนั้น ในเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต ลมกัมมัชวาตปั่นป่วนแล้ว ในพระครรภ์ของพระราชเทวีนั้น. มหาเมฆคำรามร้อง ตั้งขึ้นในทุกทิศ ชื่อว่าความหลับ มิได้มีแล้วตลอดคืนยังรุ่ง แก่พระราชเทวีผู้ดำรงอยู่ในความสุข ไม่ได้แม้สักคำพูดว่า “อย่ากลัวเลย พระแม่เจ้า” อันความทุกข์ครอบงำแล้ว แต่เมื่อราตรีสว่าง ความปลอดโปร่งจากวลาหกก็ดี, ความขึ้นแห่งอรุณก็ดี, ความคลอดแห่งสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ของพระนางก็ดี ได้มีแล้ว ในขณะเดียวกันนั้นแล. พระนางได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า “อุเทน” เพราะถือเอาฤดูเมฆและฤดูอรุณขึ้นประสูติแล้ว.

               อัลลกัปปดาบสเสียพิธี               
               ที่อยู่แม้ของอัลลกัปปดาบส ก็อยู่ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น. โดยปกติในวันมีฝน พระดาบสนั้นย่อมไม่ไปสู่ป่า เพื่อประโยชน์แก่ผลาผล เพราะกลัวหนาว, ไปยังโคนไม้นั้น เก็บกระดูกเนื้อที่นกกินแล้ว ทุบต้มให้มีรสแล้ว ก็ดื่มกิน; เพราะฉะนั้น แม้ในวันนั้น พระดาบสก็คิดว่า “จักเก็บกระดูก” จึงไปที่ต้นไม้นั้น แสวงหากระดูกที่โคนไม้อยู่ ได้ยินเสียงเด็กข้างบน จึงแลดู เห็นพระราชเทวี จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร?”
               พระราชเทวี. ข้าพเจ้าเป็นหญิงมนุษย์.
               ดาบส. ท่านมาได้อย่างไร? เมื่อพระนางกล่าวว่า ‘นกหัสดีลิงค์นำข้าพเจ้ามา’ จึงกล่าวว่า ‘ท่านจงลงมา.’
               พระเทวี. ข้าพเจ้ากลัวแต่ความเจือด้วยชาติ พระผู้เป็นเจ้า.
               ดาบส. ท่านเป็นใคร?
               พระราชเทวี. ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์.
               ดาบส. แม้ข้าพเจ้าก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน.
               พระราชเทวี. ถ้ากระนั้น ท่านจงแถลงมายากษัตริย์.
               พระดาบสนั้น แถลงแล้ว.
               พระราชเทวี. ถ้ากระนั้น ท่านจงขึ้นมา พาบุตรน้อยของข้าพเจ้าลง.
               พระดาบสนั้นทำทางขึ้นโดยข้างหนึ่ง ขึ้นไปแล้ว รับเด็ก, เมื่อพระราชเทวีกล่าวห้ามว่า “อย่าเอามือถูกต้องข้าพเจ้า”, ก็ไม่ถูกพระนางเลย อุ้มเด็กลงมา. แม้พระราชเทวีก็ลงแล้ว. ครั้งนั้น พระดาบสนำนางไปสู่อาศรมบท ไม่กระทำศีลเภทเลย บำรุงแล้ว ด้วยความอนุเคราะห์, นำน้ำผึ้งที่ไม่มีตัวมา นำข้าวสาลีอันเกิดเองมา ได้ต้มเป็นยาคูให้แล้ว. เมื่อพระดาบสนั้น กำลังบำรุงอย่างนั้น,
               ในกาลอื่น พระนางจึงคิดว่า “เราไม่รู้จักทางมาทางไปเลย, แม้เหตุสักว่าความคุ้นเคยของเรากับพระดาบสแม้นี้ ก็ไม่มี; ก็ถ้าว่าพระดาบสนี้จักทอดทิ้งเราไปไหนเสีย, เราแม้ทั้งสองคน ก็จักถึงความตายในที่นี้นั่นเอง, ควรเราทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำลายศีลของพระดาบสรูปนี้เสีย ทำโดยอาการที่ดาบสรูปนี้จะไม่ปล่อยปละเราไปได้.
               ทีนั้น พระราชเทวีจึงประเล้าประโลมพระดาบสด้วยการแสดงผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย ให้ถึงความพินาศแห่งศีลแล้ว. ตั้งแต่วันนั้นชนทั้งสองก็อยู่สมัครสังวาสกันแล้ว.

               กุมารอุเทนยกทัพช้าง               
               ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระดาบสตรวจดูความประกอบแห่งดาวนักษัตร เห็นความหม่นหมองแห่งดาวนักษัตร๑- ของพระเจ้าปรันตปะ จึงตรัสว่า “นางผู้เจริญ พระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพีสวรรคตแล้ว.”
____________________________
๑- นกฺขตฺตปีฬนํ ความบีบคั้นแห่งนักษัตร.

               พระราชเทวี. เหตุไร พระผู้เป็นเจ้า จึงตรัสอย่างนี้? ท่านมีความอาฆาตกับพระเจ้าปรันตปะนั้นหรือ?
               ดาบส. ไม่มี นางผู้เจริญ เราเห็นความเศร้าหมองของดาวนักษัตรของพระเจ้าปรันตปะ จึงพูดอย่างนี้.
               พระราชเทวีทรงกันแสงแล้ว.
               ครั้งนั้น พระดาบสจึงตรัสถามพระราชเทวีนั่นว่า “เพราะเหตุไร หล่อนจึงร้องไห้?” เมื่อพระราชเทวีตรัสบอกความที่พระเจ้าปรันตปะนั้น เป็นพระสวามีของพระองค์แล้ว, จึงตรัสว่า อย่าร้องไห้ไป นางผู้เจริญ ธรรมดาสัตว์ผู้เกิดแล้ว ย่อมตายแน่แท้.”
               พระราชเทวี. หม่อมฉันทราบ พระผู้เป็นเจ้า.
               ดาบส. เมื่อฉะนี้ ไฉน หล่อนจึงร้องไห้?
               พระราชเทวี. บุตรของหม่อมฉัน เป็นผู้ควรแก่ราชสมบัติอันเป็นของตระกูล, ถ้าว่า เขาอยู่ที่เมืองนั้น เขาจักให้ยกเศวตฉัตรขึ้น, บัดนี้ เขาเกิดเป็นผู้เสื่อมใหญ่เสียแล้ว ด้วยความโศกถึงอย่างนี้ หม่อมฉันจึงร้องไห้ พระผู้เป็นเจ้า.
               ดาบส. ช่างเถอะ นางผู้เจริญอย่าคิดไปเลย ถ้าว่า หล่อนปรารถนาราชสมบัติให้บุตร, ฉันจักทำอาการให้เขาได้ราชสมบัติ (สมดังความปรารถนา).
               ครั้งนั้น พระดาบสได้ให้พิณและมนต์อันยังช้างให้ใคร่ แก่บุตรของพระนางแล้ว. ในกาลนั้น ช้างหลายแสนมาพักอยู่ที่โคนต้นไทรย้อย. ลำดับนั้น พระดาบสจึงตรัสกะกุมารนั้นว่า “เมื่อช้างทั้งหลาย ยังไม่มาถึงนั่นแล, เจ้าจงขึ้นต้นไม้, เมื่อช้างทั้งหลายมาถึงแล้ว, จงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างทั้งหมดไม่อาจแม้จะหันกลับแลดู จักหนีไป, ทีนั้น เจ้าพึงลงมา”, กุมารนั้นทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปแล้ว.
               ครั้นถึงวันที่ ๒ พระดาบสจึงตรัสกับกุมารนั้นว่า “ในวันนี้ เจ้าจงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป แม้ในกาลนั้น พระกุมารก็ทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปนั้น.
               ครั้งนั้น พระดาบสตรัสเรียกพระมารดาของกุมารนั้นมาแล้ว ตรัสว่า “นางผู้เจริญ หล่อนจงให้ข่าวสาสน์แก่บุตรของหล่อน, เขาไปจากที่นี่เทียว จักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน.” พระราชเทวีตรัสเรียกพระโอรสมาแล้ว ตรัสว่า “เจ้าเป็นลูกของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี, นกหัสดีลิงค์นำเรามาทั้งที่มีครรภ์ ” ดังนี้แล้ว ตรัสบอกชื่อของเสนาบดีเป็นต้น แล้วตรัสว่า “เมื่อเขาพากันไม่เชื่อ เจ้าพึงเอาผ้ากัมพลอันเป็นพระภูษาห่ม และพระธำมรงค์อันเป็นเครื่องประดับของพระบิดานี้ แสดง” ดังนี้ จึงส่งไปแล้ว.
               พระกุมารจึงทูลถามพระดาบสว่า “บัดนี้ หม่อมฉันจะทำอย่างไร?”
               ดาบสกล่าวว่า “เจ้าจงนั่งกิ่งข้างล่างแห่งต้นไม้ ร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้ ช้างนายฝูงน้อมหลังเข้ามาหาเจ้า เจ้านั่งบนหลังของมันเทียว จงไปยึดเอาราชสมบัติ”
               พระกุมารนั้นถวายบังคมพระราชบิดาพระราชมารดาแล้ว ทรงทำตามนั้นแล้ว นั่งบนหลังของช้างตัวที่มาแล้ว กระซิบบอกช้างว่า “ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี ขอท่านจงยึดเอาราชสมบัติอันเป็นของบิดาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด นาย”
               ช้างนายฝูงฟังคำนั้นแล้ว จึงร้องเป็นเสียงช้างว่า “ช้างจงมาประชุมกันหลายๆ พัน.” ช้างหลายพันมาประชุมกันแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างแก่ๆ จงถอยไป.” ช้างแก่พากันถอยไปแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างตัวเล็กๆ จงกลับไป.” แม้ช้างเหล่านั้นก็พากันกลับแล้ว.
               พระกุมารนั้น อันช้างนักรบตั้งหลายพันพากันแวดล้อมแล้ว ถึงบ้านปลายแดนแล้วประกาศว่า “เราเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ที่ปรารถนาสมบัติ จงมากับเรา.” ตั้งแต่นั้นไป ก็ทรงทำการรวบรวมผู้คน ไปล้อมพระนครไว้แล้ว ส่งคำขาด (สาสน์) ไปว่า “จะให้เรารบหรือจะให้ราชสมบัติ?”
               ชาวเมืองทั้งหลายกล่าวว่า “เราจักไม่ให้ทั้งสองอย่าง, แท้จริง พระราชเทวีของพวกเรามีพระครรภ์แก่ ถูกนกหัสดีลิงค์พาไปแล้ว, เราทั้งหลายไม่ทราบว่า พระนางยังมีพระชนม์อยู่ หรือว่าหาพระชนม์ไม่แล้ว ตลอดกาลที่เราไม่ทราบเรื่องราวของพระนาง เราจักไม่ให้ทั้งการรบและราชสมบัติ.” ได้ยินว่า ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบเชื้อสาย ได้มีแล้วในกาลนั้น.
               ลำดับนั้น พระกุมารจึงตรัสว่า “ฉันเป็นบุตรของพระนาง” แล้วอ้างชื่อเสนาบดีเป็นต้น เมื่อพวกเหล่านั้นไม่เชื่อถือแม้อย่างนั้น จึงแสดงผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์. พวกชาวเมืองจำผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์นั้นได้ หมดความกินแหนงใจ จึงเปิดประตู อภิเษกกุมารนั้นไว้ในราชสมบัติแล้ว.
               นี้เป็นเรื่องเกิดแห่งพระเจ้าอุเทนก่อน.

               สองผัวเมียเดินทางไปหาอาชีพ               
               ก็เมื่อทุพภิกขภัยเกิดแล้วในแคว้นอัลลกัปปะ ชายผู้หนึ่งชื่อว่าโกตุหลิก ไม่อาจจะเป็นอยู่ได้ จึงพาภรรยาผู้มีบุตรอ่อนนามว่ากาลี จัดแจงเสบียงออกไปแล้ว ด้วยมุ่งหมายว่า “จะไปหากินที่เมืองโกสัมพี.” อาจารย์บางท่านกล่าวว่า “เขาออกไปแล้ว ในเมื่อมหาชนกำลังตายกันด้วยโรคอหิวาต์” บ้าง. สองสามีภรรยานั้นเดินไปอยู่ เมื่อเสบียงทางหมดสิ้นแล้ว ถูกความหิวครอบงำแล้ว ไม่สามารถจะนำเด็กไปได้. ครั้งนั้น สามีจึงกล่าวกะภรรยาว่า “หล่อนเรามีชีวิตอยู่ ก็จักได้ลูกอีก, ทิ้งเขาเสียแล้วไปเถิด.” ธรรมดาว่า ดวงใจของมารดาอ่อนโยน เพราะฉะนั้น นางจึงพูดว่า “ดิฉันไม่อาจทิ้งลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดอก.”
               สามี. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรกัน?
               ภรรยา. เราเปลี่ยนกันนำเขาไป.
               มารดายกลูกขึ้นประหนึ่งพวงดอกไม้ ในวาระของตน กกไว้ที่อก อุ้มไปแล้ว ก็เอาให้แก่บิดา. เวทนามีกำลังแม้กว่าความหิว บังเกิดแก่ชายผู้เป็นสามีนั้น ในที่ซึ่งเขารับเด็กผู้เป็นลูกนั้นแล้ววางลง เขาก็พูดกะภรรยานั้นแล้วๆ เล่าๆ ว่า “หล่อน เรามีชีวิตอยู่ จักได้ลูก (อีก) ทิ้งมันเสียเถิด.” แม้ภรรยาก็ห้ามเขาไว้ตั้งหลายครั้ง แล้วก็เฉยเสีย. เด็กถูกเปลี่ยนกันตามวาระ เหนื่อยอ่อนเลยนอนหลับอยู่ในมือของบิดา. ชายผู้เป็นสามี รู้ว่าลูกชายนั้นหลับ จึงปล่อยให้มารดาเดินไปข้างหน้าก่อน แล้วเอาเด็กนอนไว้บนใบไม้ลาด ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วก็เดิน (ตามไป), มารดาเหลียวกลับแลดู ไม่เห็นลูก จึงถามว่า “นาย ลูกของเราไปไหน?”
               สามี. ฉันให้เขานอนอยู่ภายใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง.
               ภรรยา. นาย อย่ายังฉันให้ฉิบหายเลย, ฉันเว้นลูกเสียแล้ว ไม่อาจเป็นอยู่ได้, นายนำลูกฉันมาเถิด ประหารอกคร่ำครวญแล้ว. ครั้งนั้น ชายผู้สามีจึงกลับไปเอาเด็กนั้นมาแล้ว. แม้ลูกก็ตายเสียแล้วในระหว่างทาง.
               นายโกตุหลิกทิ้งบุตรในฐานะมีประมาณเท่านี้ จึงถูกเขาทอดทิ้ง ๗ วาระในระหว่างภพ ด้วยผลแห่งกรรมนั้นด้วยประการฉะนี้. ชื่อว่าบาปกรรมนี้ อันบุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า “น้อย”, สองสามีภรรยานั้นเดินทางไปถึงตระกูลของคนเลี้ยงโคแห่งหนึ่งแล้ว.

               นายโกตุหลิกตายไปเกิดเป็นสุนัข               
               ก็ในวันนั้น มีการทำขวัญแม่โคนมของนายโคบาล. ในเรือนของนายโคบาล พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งฉันเป็นนิตย์. นายโคบาลนั้นนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว จึงได้ทำการมงคล. ข้าวปายาสเขาจัดแจงไว้เป็นอันมาก. นายโคบาลเห็นสองสามีภรรยานั้นมา จึงถามว่า “ท่านมาจากไหน?” ทราบเรื่องนั้นแล้ว เป็นกุลบุตรมีใจอ่อนโยน จึงกระทำความสงเคราะห์ในสองสามีภรรยานั้น ให้ๆ ข้าวปายาสกับเนยใสเป็นอันมาก.
               ภรรยาจึงกล่าวกะสามีว่า “นาย เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ฉันก็ชื่อว่ามีชีวิตอยู่, ท่านท้องพร่องมานาน, จงบริโภคตามความต้องการ” ดังนี้แล้ว จึงวางข้าวปายาสไว้เบื้องหน้าเขาพร้อมกับสัปปิ ตนเองบริโภคสัปปิเหลวแต่น้อยหนึ่งเท่านั้น. ส่วนนายโกตุหลิกบริโภคมากไป ไม่อาจตัดความอยากในอาหารได้ เพราะตัวหิวมาตั้ง ๗-๘ วัน.
               นายโคบาล ครั้นให้ๆ ข้าวปายาสแก่ ๒ ผัวเมียแล้ว ตนเองจึงเริ่มจะบริโภค. นายโกตุหลิกนั่งแลดูเขาแล้ว เห็นก้อนข้าวปายาสที่นายโคบาลปั้นให้แก่นางสุนัข ซึ่งนอนอยู่แล้วใต้ตั่ง จึงคิดว่า “นายสุนัขตัวนี้มีบุญ จึงได้โภชนะเห็นปานนี้เนืองนิตย์.” ตกกลางคืน นายโกตุหลิกนั้นไม่สามารถจะยังข้าวปายาสนั้นให้ย่อยได้ จึงทำกาละ ไปเกิดในท้องแห่งนางสุนัขนั้น.
               ครั้งนั้น ภรรยาของเขาทำสรีรกิจ (เผา) แล้ว ก็ทำการรับจ้างอยู่ในเรือนนั่นเอง ได้ข้าวสารทะนานหนึ่ง หุงแล้วเอาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอกุศลนี้จงถึงแก่ทาสของท่านเถิด” ดังนี้แล้ว จึงคิดว่า “ควรเราจะอยู่ในที่นี้แล, พระผู้เป็นเจ้าย่อมมาในที่นี้เนืองนิตย์, ไทยธรรมจักมีหรือไม่ก็ช่างเถิด, เราไหว้อยู่ ทำความขวนขวายอยู่ ยังใจให้เลื่อมใสอยู่ทุกวัน จักประสพบุญมาก” (คิดดังนี้แล้ว) นางจึงทำการรับจ้างอยู่ในบ้านนั้นนั่นเอง.

               สุนัขตายเพราะอาลัยในพระปัจเจกพุทธเจ้า               
               ในเดือนที่ ๖ หรือที่ ๗ นางสุนัขแม้นั้นแล ก็คลอดลูกออกมาตัวหนึ่ง. นายโคบาลจึงให้ๆ น้ำนมของแม่โคนมตัวหนึ่งแก่ลูกสุนัขนั้น. ไม่นานเท่าไรนัก ลูกสุนัขนั้นก็เติบใหญ่. ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉัน ย่อมให้ก้อนข้าวแก่ลูกสุนัขนั้นก้อนหนึ่งเป็นนิตย์. เพราะอาศัยก้อนข้าว สุนัขนั้นจึงได้มีความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า. นายโคบาลย่อมไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า (วันหนึ่ง) ๒ ครั้งเนืองนิตย์. นายโคบาลนั้นแม้เดินไป ก็เอาไม้ตีที่พุ่มไม้และพื้นที่ดินในที่ซึ่งมีเนื้อร้าย ระหว่างทาง ส่งเสียงว่า “สุ สุ” ๓ ครั้ง ยังเนื้อร้ายให้หนีไปแล้ว. แม้สุนัขก็ไปด้วยกับนายโคบาลนั้น.
               ในวันหนึ่ง นายโคบาลนั้นกล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้า “ท่านผู้เจริญ กาลใด ผมไม่มีโอกาสว่าง กาลนั้น ผมจักส่งสุนัขตัวนี้มา: ขอพระผู้เป็นเจ้าพึงมาด้วยเครื่องหมายแห่งสุนัขนี้ที่กระผมส่งมาแล้ว.” ตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ไม่มีโอกาส นายโคบาลนั้นก็ส่งสุนัขไปว่า “พ่อ จงไป จงนำพระผู้เป็นเจ้ามา” ด้วยคำเดียวเท่านั้น สุนัขนั้นก็วิ่งไป ถึงที่ซึ่งนายตีพุ่มไม้และพื้นดินก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง รู้ว่าเนื้อร้ายหนีไปแล้วด้วยเสียงนั้น ไปถึงที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้กระทำสรีปฏิบัติแต่เช้าตรู่ เข้าไปยังบรรณศาลา นั่งอยู่แล้ว ถึงประตูบรรณศาลา จึงเห่าขึ้น ๓ ครั้ง ให้ท่านรู้ว่าตนมาแล้ว ก็นอนหมอบอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากำหนดเวลาออกไปแล้ว สุนัขนั้นก็เดินเห่าไปข้างหน้าๆ เทียว พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัข จึง (ทำเป็น) เดินไปทางอื่นในระหว่างๆ ทีนั้น สุนัขจึงไปยืนเห่าขวางหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไว้ แล้วนำท่านลงทางนอกนี้. ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัขนั้น จึงเดินไปสู่ทางอื่นแล้ว แม้สุนัขนั้นจะยืนขวางห้ามอยู่ข้างหน้าก็ไม่กลับ เอาเท้ากระตุ้นสุนัขแล้วเดินไป: สุนัขรู้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ จึงกลับไปคาบชายผ้านุ่งฉุดมา นำท่านลงสู่ทางนอกนี้. สุนัขนั้นได้ยังความรักอันมีกำลัง ให้เกิดขึ้นแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยประการอย่างนี้.
               ต่อมาในกาลอื่น จีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าเก่าแล้ว. ครั้งนั้น นายโคบาลจึงได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวรแก่ท่าน. พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกับนายโคบาลนั้นว่า “ผู้มีอายุ ชื่อว่าการทำจีวร อันบุคคลผู้เดียวทำได้ยาก, อาตมาไปสู่สถานที่สบายแล้วจักกระทำ.”
               นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ นิมนต์ทำที่นี่เถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า. ผู้มีอายุ อาตมาไม่อาจ.
               นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ท่านอย่าไปอยู่ภายนอกให้นานนัก.
               สุนัขได้ยืนฟังคำของคนทั้งสองนั้นอยู่เหมือนกัน.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวกะนายโคบาลนั้นว่า “จงหยุดเถิด อุบาสก” ให้นายโคบาลกลับแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อเขาคันธมาทน์ หลีกไปแล้ว. สุนัขแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เหาะไปทางอากาศ ยืนเห่าอยู่แล้ว เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นลับคลองจักษุไป หทัยก็แตกทำลายลง.

               สุนัขไปเกิดเป็นโฆสกเทพบุตร               
               ชื่อว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนั้น เป็นสัตว์มีชาติซื่อตรง ไม่คดโกง; ส่วนมนุษย์ใจคิดไปอย่าง ปากพูดไปอย่าง (ไม่ตรงกัน)
               เพราะเหตุนั้นแล นายเปสสะผู้เป็นบุตรของนายควาญช้าง จึงกล่าวว่า๑-
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือมนุษย์นี้รกชัฏ
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือสัตว์ของเลี้ยงนี้ตื้น.
               สุนัขนั้นทำกาละแล้ว ไปเกิดในดาวดึงสภพ มีนางอัปสร ๑ พันแวดล้อม ได้เสวยสมบัติใหญ่ ก็เพราะเป็นสัตว์มีความเห็นอันตรง (และ) ไม่คดโกงนั้น ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓

               เมื่อเทพบุตรนั้นกระซิบที่ใกล้หูของใครๆ เสียงย่อมดังไปไกลได้ ๑๖ โยชน์ ส่วนเสียงพูดโดยปกติ ย่อมกลบเทพนครทั้งสิ้น ซึ่งมีประมาณหมื่นโยชน์. เพราะเหตุนั้นแล เทพบุตรนั้นจึงได้มีนามว่า “โฆสกเทพบุตร” ก็นี้เป็นผลของอะไร ? เป็นผลของการเห่าด้วยความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               โฆสกเทพบุตรนั้นดำรงอยู่ในเทพนครนั้นไม่นานก็เคลื่อนแล้ว.

               เหตุทำให้เทพบุตรเคลื่อน ๔ อย่าง               
               จริงอยู่ เทพบุตรทั้งหลายย่อมเคลื่อนจากเทวโลก ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ :-
                         ๑. ด้วยความสิ้นอายุ
                         ๒. ด้วยความสิ้นบุญ
                         ๓. ด้วยความสิ้นอาหาร
                         ๔. ด้วยความโกรธ
               ในเหตุ ๔ อย่างเหล่านั้น เทพบุตรองค์ใดทำบุญกรรมไว้มาก เทพบุตรองค์นั้นเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้ว ก็เกิดในเทวโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นอายุ.
               เทพบุตรองค์ใดทำบุญไว้น้อย บุญนั้นของเทพบุตรนั้นย่อมสิ้นไปเสียในระหว่างเทียว เหมือนธัญชาติที่บุคคลใส่ไว้ในฉางหลวงเพียง ๔-๕ ทะนานฉะนั้น, เทพบุตรนั้นย่อมทำกาละเสียในระหว่างเทียว, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นบุญ.
               เทพบุตรบางองค์มักบริโภคกามคุณ ไม่บริโภคอาหาร เพราะการหลงลืมสติ มีกายอันเหนื่อยอ่อน ทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยการสิ้นอาหาร.
               เทพบุตรบางองค์ไม่อดทนสมบัติของผู้อื่น โกรธเคืองแล้วจึงทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความโกรธ.

               โฆสกเทพบุตรไปเกิดในกรุงโกสัมพี               
               ก็โฆสกเทพบุตรนี้ มัวบริโภคกามคุณอยู่ หลงลืมสติ จึงเคลื่อนด้วยความสิ้นอาหาร. ก็แลเคลื่อนเสร็จแล้ว ไปถือปฏิสนธิในท้องแห่งหญิงงามเมืองในกรุงโกสัมพี. ในวันคลอด นางถามทาสีว่า “นี่อะไร?” เมื่อนางทาสีตอบว่า “ลูกชาย เจ้าค่ะ” จึงบอกให้นางทาสีเอาไปทิ้งด้วยคำว่า “เจ้าจงเอาทารกนี้ใส่กระด้งแล้วเอาไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ”
               แท้จริง หญิงงามเมืองทั้งหลาย ย่อมเลี้ยงลูกหญิง ไม่เลี้ยงลูกชาย เพราะเชื้อสายของพวกหล่อนจะสืบไปได้ ก็ด้วยลูกหญิง.
               กาบ้าง สุนัขบ้าง ต่างพากันจับกลุ่มแวดล้อมเด็กไว้. ด้วยผลแห่งการเห่า อันเกิดแต่ความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า สัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่อาจเข้าใกล้ได้. ในขณะนั้น คนผู้หนึ่งออกไปนอกบ้านเห็นการจับกลุ่มของกาและสุนัขนั้น คิดว่า “นี่มันเหตุ อะไรกันหนอ?” จึงเดินไปที่นั้น เห็นทารก หวนได้ความรักเหมือนดังลูก จึงนำไปสู่เรือนด้วยดีใจว่า “เราได้ลูกชายแล้ว.”

               นางกาลีนำโฆสกทารกไปให้โคเหยียบ               
               ในกาลครั้งนั้น เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพีไปสู่ราชตระกูล พบปุโรหิตเดินมาแต่พระราชวัง จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ วันที่ท่านได้ตรวจตราดูความประกอบของดาวนักษัตร๑- อันเป็นเหตุเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายแล้วหรือ?”
____________________________
๑- ติถิกรณนกฺขตฺตโยโค ความประกอบแห่งนักษัตรอันเป็นเครื่องกระทำซึ่งดิถี.

               ปุโรหิต. จ้ะ ท่านมหาเศรษฐี, กิจอะไรอื่นของพวกเราไม่มี,
               เศรษฐี. อะไรจะมีแก่ชนบทหรือ? ท่านอาจารย์.
               ปุโรหิต. อย่างอื่นไม่มี, แต่เด็กที่เกิดในวันนี้ จักได้เป็นเศรษฐี ผู้ประเสริฐในเมืองนี้.
               ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่, เพราะฉะนั้น เศรษฐีนั้นจึงส่งคนใช้ไปสู่เรือนโดยเร็วด้วยคำว่า “จงไป จงทราบภรรยาของเรานั้นว่า คลอดแล้วหรือยังไม่คลอด” พอทราบว่า “ยังไม่คลอด”, เฝ้าพระราชาเสร็จแล้ว รีบกลับบ้าน เรียกหญิงคนใช้ชื่อกาลีมาแล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พัน กล่าวว่า “เจ้าจงไป จงตรวจดูในเมืองนี้ ให้ทรัพย์ ๑ พันพาเอาเด็กที่เกิดในวันนี้มา” นางกาลีนั้นตรวจตราดูไปถึงเรือนนั้น เห็นเด็กแล้ว จึงถามหญิงแม่บ้านว่า “เด็กนี้ เกิดเมื่อไร” เมื่อหญิงนั้นตอบว่า “เกิดวันนี้.” จึงพูดว่า “ จงให้เด็กนี้แก่ฉัน จึงประมูลราคาตั้งแต่ ๑ กหาปณะเป็นต้น จนถึงให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว นำเด็กนั้นไปแสดงแก่เศรษฐี.
               เศรษฐีคิดว่า “ถ้าว่าลูกของเรา จักเกิดเป็นลูกหญิง, เราจักให้มันอยู่ร่วมกับลูกสาวของเรานั้น แล้วทำให้มันเป็นเจ้าของตำแหน่งเศรษฐี, ถ้าว่าลูกของเราจักเกิดเป็นลูกชาย เราก็จักฆ่ามันเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้รับเด็กนั้นไว้ในเรือน.
               ต่อมา ภรรยาของเศรษฐีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย โดยล่วงไป ๒-๓ วัน. เศรษฐีจึงคิดว่า “เมื่อไม่มีเจ้าเด็กนี้ ลูกชายของเราก็จักได้ตำแหน่งเศรษฐี, บัดนี้ควรที่เราจักฆ่ามันเสียเถิด” ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางกาลีมาแล้ว กล่าวว่า “แม่จงไป ในเวลาที่พวกโคออกจากคอก เจ้าจงเอาเด็กนี้ให้นอนขวางไว้ที่กลางประตูคอก แม่โคทั้งหลายจักเหยียบมันให้ตาย, แต่ต้องรู้ว่า โคเหยียบมันหรือไม่เหยียบแล้วจึงมา”
               นางกาลีนั้นไปแล้ว พอนายโคบาลเปิดประตูคอกเท่านั้น ก็เอาเด็กนั้นให้นอนไว้ตามนั้น (เหมือนที่เศรษฐีสั่ง). โคอุสภะซึ่งเป็นนายฝูง แม้ออกภายหลังโคทั้งปวงในเวลาอื่น (แต่) ในวันนั้น ออกไปก่อนกว่าโคอื่นทั้งหมด ได้ยืนคร่อมทารกไว้ในระหว่างเท้าทั้งสี่. แม่โคตั้งหลายร้อยต่างก็พากันเบียดเสียดข้างทั้งสองของโคอุสภะออกไป. ถึงนายโคบาลก็คิดว่า “เจ้าโคอุสภะตัวนี้ เมื่อก่อนออกทีหลังโคทุกตัว, แต่วันนี้ออกไปก่อนโคทั้งหมด แล้วยืนนิ่งอยู่ที่ประตูคอกเทียว, นั่นจะมีเหตุอันใดหนอ?” จึงเดินไปแลเห็นเด็กนอนอยู่ภายใต้ท้องโคนั้น หวนกลับได้ความรักเสมือนบุตร จึงนำไปสู่เรือนด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีไปแล้ว ถูกเศรษฐีถาม จึงเล่าเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป จงให้ทรัพย์เขา ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว ได้นำกลับมาให้อีก.

               นางกาลีนำโฆสกะไปให้เกวียนทับ               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกับนางกาลีว่า “แม่กาลี ในเมืองนี้มีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม ลุกขึ้นแต่เช้ามืด ย่อมไปค้าขาย, เจ้าจงเอาเด็กนี้ไปให้นอนไว้ที่ทางเกวียน (ทางล้อ) พวกโคจักเหยียบมัน หรือล้อเกวียนจักตัด (ตัวมัน) พอรู้เรื่องของมันแล้ว จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปแล้ว ให้นอนอยู่ที่ทางเกวียน. ในกาลนั้น หัวหน้าเกวียนได้ไปข้างหน้า. ครั้งนั้น พวกโคของเขาถึงที่นั้นแล้ว ต่างพากันสลัดแอกเสีย. แม้จะถูกหัวหน้ายกขึ้นแล้วขับไปตั้งหลายครั้ง ก็ไม่เดินไปข้างหน้า. เมื่อหัวหน้านั้นพยายามอยู่กับโคทั้งสองนั้นอย่างนี้เทียว อรุณขึ้นแล้ว (ก็พอสว่าง). เขาจึงคิดว่า “โคทั้งสองพากันทำเหตุนี้ เพราะอะไร?” จึงตรวจตราดูทาง เห็นทารกแล้วก็คิดว่า “กรรมของเราหนักหนอ” มีความยินดีว่า “เราได้ลูกชายแล้ว” จึงนำเด็กนั้นไปสู่เรือน.
               นางกาลีไปแล้ว อันเศรษฐีถาม จึงบอกความเป็นไปนั้น อันเศรษฐีบอกว่า “เจ้าจงไปให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว จงนำเด็กนั้นกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ได้กระทำตามนั้นแล้ว.

               นางกาลีนำโฆสกะไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางกาลีนั้นว่า “บัดนี้ เจ้าจงนำมันไปยังป่าช้าผีดิบ แล้วเอานอนไว้ในระหว่างพุ่มไม้, มันจักถูกสัตว์มีสุนัขป่าเป็นต้นกัด หรือถูกอมนุษย์ประหารตายในที่นั้น, เจ้ารู้ว่ามันตายแล้ว หรือไม่ตายเทียว จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไป ให้นอนอยู่ที่ป่าช้าผีดิบแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง. สุนัขบ้าง กาบ้าง อมนุษย์บ้าง ไม่อาจเข้าใกล้เด็กนั้นได้.
               มีคำถามสอดเข้ามาว่า “ก็มารดาบิดาและบรรดาพี่น้องเป็นต้น ใครๆ ชื่อว่าผู้รักษาของเด็กนั้น ไม่มีมิใช่หรือ? ใครรักษาตัวเด็กนั้นไว้?”
               แก้ว่า “กรรมสักว่าความเห่าเท่านั้น ซึ่งเด็กให้เป็นไปแล้ว ด้วยความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาเป็นสุนัข รักษาเด็กไว้.”
               ครั้งนั้น นายอชบาลผู้หนึ่งต้อนแม่แพะตั้งหลายแสนตัวไปหากิน เดินไปข้างป่าช้า. แม่แพะตัวหนึ่งเคี้ยวกินใบไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พุ่มไม้เห็นทารกแล้ว จึงคุกเข่าให้นมแก่ทารก. แม้นายอชบาลจะทำเสียงว่า “เห, เห” ก็หาออกไปไม่. เขาคิดว่า “จักเอาไม้ตีมันไล่ออก” จึงเข้าไปสู่พุ่มไม้ เห็นแม่แพะคุกเข่าให้ทารกน้อยกินนมอยู่ จึงหวนกลับได้รับความรักในทารกเสมือนบุตร จึงพาเอาทารกนั้นไปด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงไป ถูกเศรษฐีถามแล้ว จึงบอกความเป็นไปอันนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป ให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ได้กระทำตามนั้นแล้ว.

               นางกาลีเอาโฆสกะไปโยนเหว               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางทาสีนั้นว่า “แม่กาลี เจ้าจงเอาเด็กนี้ไป ขึ้นสู่ภูเขาอันเป็นที่ทิ้งโจร จงโยนมันลงไปในเหว, มันกระทบท้องภูเขา ก็จักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ตกลงที่พื้น, เจ้ารู้ว่า มันตายแล้วหรือไม่ตาย จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปที่นั้นแล้ว ยืนอยู่บนยอดเขา โยนลงไปแล้ว. ก็พุ่มไผ่ใหญ่ อาศัยท้องภูเขานั้นแล เจริญโดยเทือกเขานั่นเอง. พุ่มกระพังโหมหนาทึบ ได้คลุมเบื้องบนพุ่มไผ่นั้นไว้. ทารกเมื่อตก จึงตกลงบนพุ่มนั้น เหมือนตกลงบนผ้าขนสัตว์.
               ในวันนั้น หัวหน้าช่างสานมีความต้องการด้วยไม้ไผ่. เขาไปกับลูกชายเริ่มจะตัดพุ่มไม้นั้น, เมื่อพุ่มไม้ไผ่นั้นไหวอยู่ เด็กก็ได้ร้องขึ้นแล้ว. เขาจึงพูดว่า “เหมือนเสียงเด็ก” จึงขึ้นไปทางหนึ่ง เห็นเด็กนั้น มีใจยินดีจึงพาไปด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีไปสู่สำนักของเศรษฐี ถูกเศรษฐีนั้นถามแล้ว จึงบอกเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป เอาทรัพย์ให้ (เขา) ๑ พันแล้วนำมันกลับมาอีก” ได้ทำตามนั้นแล้ว.

               ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว               
               เมื่อเศรษฐีทำกรรมนี้ๆ อยู่นั่นเทียว เด็กเติบใหญ่แล้ว. เขาได้มีชื่อว่า “โฆสกะ” นายโฆสกะนั้นปรากฏแก่เศรษฐีประหนึ่งหนามแทงตา. เศรษฐีไม่อาจเพื่อจะแลดูเขาตรงๆ ได้.
               ครั้งนั้น เศรษฐีตรองหาอุบายจะฆ่านายโฆสกะนั้น จึงไปสู่สำนักของนายช่างหม้อผู้สหายของตน แล้วถามว่า “เมื่อไร ท่านจะเผาเตา?” เมื่อเขาตอบว่า “พรุ่งนี้” จึงกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น ท่านจงเอาทรัพย์ ๑ พันนี้ไว้แล้วจงทำการงานให้ฉันสักอย่างหนึ่ง”
               นายช่างหม้อ. การงานอะไร? นาย.
               เศรษฐี. ฉันมีบุตรชาติชั่วอยู่คนหนึ่ง ฉันจักส่งมันมายังสำนักของท่าน, เมื่อฉะนี้ ท่านจงให้มันเข้าไปสู่ห้อง เอามีดอันคมตัดให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ เอาใส่ในตุ่ม แล้วเผาในเตา ทรัพย์ ๑ พันนี้เป็นเช่นกับรางวัลของท่าน. ในภายหลัง ฉันจักทำสิ่งที่ควรทำแก่ท่านให้ยิ่งขึ้นอีก.
               นายช่างหม้อ. ได้จ้ะ.
               ในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีจึงเรียกนายโฆสกะมาแล้ว กล่าวว่า “พ่อ เมื่อวานนี้ ฉันสั่งการงานนายช่างหม้อไว้อย่างหนึ่ง, เจ้าจงมา จงไปยังสำนักของเขา แล้วพูดอย่างนี้ว่า “ได้ยินว่า ท่านจงยังการงานที่คุณพ่อของผม สั่งไว้เมื่อวันวานนี้ให้สำเร็จเถิด” ดังนี้แล้ว ได้ส่งไปแล้ว. นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” ได้ไปแล้ว.
               ฝ่ายลูกชายของเศรษฐีกำลังเล่นคลีกับพวกเด็ก เห็นนายโฆสกะนั้นเดินไปในที่นั้น จึงเรียกนายโฆสกะนั้นแล้ว ถามว่า “ไปไหน? พี่” เมื่อนายโฆสกะบอกว่า “เอาข่าวของคุณพ่อ ไปสำนักของนายช่างหม้อ”, จึงพูดว่า “ฉันจักไปในที่นั้น, เด็กเหล่านี้ชนะฉันหลายคะแนนแล้ว, พี่จงชนะเอาคะแนนคืนให้ฉัน.”
               นายโฆสกะ. พี่กลัวคุณพ่อ.
               ลูกเศรษฐี. อย่ากลัวพี่ ฉันจักนำข่าวนั้นไปเอง พวกเด็กหลายคนชนะฉันแล้ว พี่จงชิงชัยเอาคะแนนให้ฉัน จนกว่าฉันจะกลับมา. ได้ยินว่า โฆสกะเป็นผู้ฉลาดในการเล่นคลี เพราะฉะนั้น ลูกชายของเศรษฐีจึงได้หน่วงเหนี่ยวนายโฆสกะนั้นไว้อย่างนั้น.
               ฝ่ายโฆสกะนั้นจึงพูดกับลูกชายเศรษฐีนั้นว่า “ถ้ากระนั้น จงไปบอกกับนายช่างหม้อว่า ทราบว่า เมื่อวานนี้ คุณพ่อผม สั่งให้ท่านทำการงานไว้อย่างหนึ่ง, ท่านจงยังการงานนั้นให้สำเร็จ” ดังนี้แล้ว ส่งเขาไปแล้ว. ลูกชายของเศรษฐีนั้นไปยังสำนักของนายช่างหม้อนั้น ได้กล่าวตามสั่งนั้น. ครั้งนั้น นายช่างหม้อได้ฆ่าลูกชายเศรษฐีนั้นตามคำสั่งเศรษฐีสั่งไว้ทีเดียว แล้วโยนไปในเตา.
               ฝ่ายนายโฆสกะเล่นตลอดภาคของวัน พอตกเย็นก็กลับบ้าน, เมื่อเศรษฐีเห็นแล้ว จึงถามว่า “ไม่ได้ไปหรือ? พ่อ” ก็แจ้งถึงเหตุที่ตนไม่ไปและเหตุที่น้องชายไปให้ทราบ. เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว จึงร้องลั่นว่า “อย่าได้ฆ่าเลย” ปานประหนึ่งว่า มีโลหิตเดือดพล่านในสรีระทั้งสิ้น ประคองแขนคร่ำครวญอยู่ว่า “ช่างหม้อผู้เจริญ อย่าให้เราฉิบหายเสียเลย อย่าให้เราฉิบหายเสียเลย” ดังนี้ ได้ไปยังสำนักของนายช่างหม้อนั้นแล้ว.
               นายช่างหม้อเห็นเศรษฐีนั้นมาอยู่โดยอาการอย่างนั้น จึงพูดว่า “นาย ท่านอย่าทำเสียงดังไป, การงานของท่านสำเร็จแล้ว”, เศรษฐีนั้นอันความโศกเปรียบดังภูเขาใหญ่ท่วมทับแล้ว เสวยโทมนัสมีประมาณมิใช่น้อย ดังบุคคลผู้มีใจคิดร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายฉะนั้น.

               ทำร้ายผู้ไม่ทำร้ายตอบย่อมถึงฐานะ ๑๐               
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๑-
                                   “ผู้ประทุษร้ายในท่านผู้ไม่ประทุษร้าย หาอาชญามิได้
                         ด้วยอาชญา ย่อมพลันถึงฐานะ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งทีเดียว
                         คือ พึงถึงเวทนาอันหยาบ, ความเสื่อม, ความแตกแห่งสรีระ,
                         ความเจ็บไข้อย่างหนัก, ความฟุ้งซ่านแห่งจิต, ความขัดข้อง
                         แต่พระราชา, ความกล่าวตู่อย่างทารุณ, ความเสื่อมรอบแห่ง
                         หมู่ญาติ, ความย่อยยับแห่งโภคะ, อีกประการหนึ่ง ไฟป่าย่อม
                         ไหม้เรือนของผู้นั้น,
                                   เพราะความแตกแห่งกาย เขาผู้มีปัญญาทราม ย่อมเข้า
                         ถึงนรก.”

____________________________
๑- คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐

               อุบายใหม่ของเศรษฐี               
               แม้เช่นนั้น เศรษฐีก็ไม่อาจแลดูนายโฆสกะนั้นตรงๆ อีกได้ ครุ่นคิดหาอุบายว่า “อย่างไร? จึงจะฆ่ามันเสียได้” มองเห็นอุบายว่า “เราจักส่งมันไปยังสำนักของคนเก็บส่วย (นายเสมียน) ใน ๑๐๐ บ้านของเรา ให้มันตายเสีย” ดังนี้แล้ว จึงเขียนหนังสือไปถึงคนเก็บส่วยนั้นว่า “ผู้นี้เป็นลูกชาติชั่วของเรา, ฆ่ามันเสียแล้ว จงโยนลงไปในหลุมคูถ, เมื่อทำการอย่างนี้เสร็จแล้ว, ฉันจักรู้สิ่งที่จะตอบแทนแก่ท่านลุงในภายหลัง” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “พ่อโฆสกะ คนเก็บส่วยของฉันมีอยู่ที่บ้านส่วย ๑๐๐ บ้าน, เจ้าจงนำเอาจดหมายฉบับนี้ไปให้เขา” ดังนี้ จึงเอาจดหมายผูกไว้ที่ชายผ้าของเขา.
               ก็นายโฆสกะนั้นไม่รู้จักอักษรสมัย, เพราะตั้งแต่เขาเป็นเด็ก เศรษฐีก็ครุ่นคิดฆ่าเขาเสมอ (แต่) ไม่อาจฆ่าได้, จักให้เขาศึกษาอักษรสมัยได้อย่างไร? นายโฆสกะนั้น ผูกจดหมายฆ่าตัวเองไว้ที่ชายผ้าด้วยประการฉะนี้ เมื่อจะออกเดินจึงพูดว่า “คุณพ่อ ผมไม่มีเสบียงอาหาร”
               เศรษฐี. เจ้าไม่ต้องมีกิจ (ห่วง) ด้วยเสบียงทาง. ในบ้านชื่อโน้น ในระหว่างทาง เศรษฐีผู้เป็นสหายของข้ามีอยู่ เจ้าจงไปกินอาหารเช้าที่เรือนของเขาแล้ว จึงเดินต่อไป.
               นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” ไหว้บิดาแล้ว ออกเดินไปถึงบ้านนั้น ถามถึงเรือนเศรษฐี เดินไปพบภรรยาของเศรษฐี. เมื่อนางกล่าวว่า “เจ้ามาจากไหน?” จึงตอบว่า “มาจากในเมือง.”
               ภรรยาของเศรษฐี. เจ้าเป็นลูกของใคร?
               โฆสกะ. คุณแม่ ผมเป็นลูกของเศรษฐี ผู้เป็นสหายของท่าน.
               ภรรยาของเศรษฐี. เจ้าชื่อโฆสกะหรือ?
               โฆสกะ. ขอรับ คุณแม่.
               พร้อมกับเวลาเห็นเท่านั้น ความรักใคร่เหมือนลูกในโฆสกะนั้นบังเกิดแก่นางแล้ว.

               ความรักเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ               
               ก็เศรษฐีมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง, นางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี รูปร่างสะสวย น่าเลื่อมใส. เศรษฐีให้หญิงรับใช้ไว้คนหนึ่งเพื่อรักษานางแล้ว ให้อยู่ที่ห้องมีสิริ (ห้องพิเศษ) ที่พื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น ในขณะนั้น ลูกสาวเศรษฐีใช้หญิงคนใช้ไปตลาด. ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีเห็นหญิงทาสีนั้นแล้ว ถึงถามว่า “จะไปไหน?” เมื่อนางตอบว่า “ข้าแต่แม่เจ้า ดิฉันไปด้วยกิจรับใช้แห่งธิดาของแม่เจ้า” จึงกล่าวว่า “เจ้าจงมา ทางนี้ก่อน งดการรับใช้ไว้. จงลาดตั่ง ล้างเท้า ทาน้ำมัน ปูที่นอนให้บุตรของเรา จึงทำการรับใช้ภายหลัง.” นางได้กระทำการตามสั่งแล้ว.
               ครั้งนั้น ลูกสาวของเศรษฐีได้ดุหญิงรับใช้นั้นผู้มาช้า. ทีนั้น หญิงคนใช้นั้นเรียนกะนางว่า “แม่เจ้าอย่าเพิ่งโกรธดิฉัน. บุตรเศรษฐีชื่อโฆสกะมาแล้ว, ดิฉันทำสิ่งนี้ๆ แก่เขาแล้ว ไปในตลาดนั้นแล้วจึงมา.” เพราะฟังชื่อว่า “โฆสกะ” ผู้บุตรเศรษฐีนั้น ความรักเฉือนผิวหนังเป็นต้นจดถึงเยื่อในกระดูก ตั้งขึ้นแก่ลูกสาวเศรษฐีแล้ว.

               ลูกสาวเศรษฐีแปลงสาสน์               
               แท้จริง ลูกสาวเศรษฐีนั้นเป็นภรรยาของนายโฆสกะนั้นในเวลาที่เขาเป็นนายโกตุหลิก ได้ถวายข้าวสุกทะนานหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งผลทานนั้น นางจึงมาเกิดในตระกูลเศรษฐีนี้. ความรักในปางก่อน ได้ท่วมทับยึดลูกสาวเศรษฐีนั้นไว้ ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   “ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ
                         อย่างนี้ คือ ด้วยความอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑
                         ด้วยการเกื้อกูลกันในกาลปัจจุบัน ๑ เหมือนอุบล
                         (อาศัยเปือกตมและน้ำ) เกิดในน้ำฉะนั้น.”

               ทีนั้น นางจึงถามหญิงสาวใช้นั้นว่า “(เดี๋ยวนี้) เขาอยู่ที่ไหนจ๊ะ? แม่.”
               หญิงสาวใช้. เขานอนหลับอยู่บนที่นอน (เจ้าค่ะ) แม่เจ้า.
               ธิดาเศรษฐี. ก็ในมือของเขา มีอะไรอยู่หรือ?
               หญิงสาวใช้. มีหนังสืออยู่ที่ชายผ้าเจ้าค่ะ แม่เจ้า.
               ธิดาเศรษฐีนั้นจึงคิดว่า “นั่นจะเป็นหนังสืออะไรหนอ?” เมื่อนายโฆสกะนั้นกำลังหลับอยู่, เมื่อมารดาบิดาไม่แลเห็น เพราะมัวเอาใจส่งไปในเรื่องอื่น, ลงไปสู่สำนัก (ของเขา) แล้ว แก้เอาหนังสือนั้น เข้าไปยังห้องของตน ปิดประตู เปิดหน้าต่าง อ่านหนังสือ เพราะนางฉลาดในอักษรสมัย แล้วคิดว่า “ตายจริง! คนเขลาผูกหนังสือสำหรับฆ่าตัวที่ชายผ้าแล้วก็เที่ยวไป. ถ้าเราไม่เห็นหนังสือแล้ว เขาคงไม่มีชีวิตอยู่” ดังนี้แล้ว จึงฉีกหนังสือฉบับนั้นเสีย เขียนหนังสืออีกฉบับหนึ่ง ตามถ้อยคำของเศรษฐีว่า “ลูกชายของข้าพเจ้านี้ ชื่อเจ้าโฆสกะ, จงให้นำเครื่องบรรณาการมาจากบ้าน (ส่วย) ๑๐๐ บ้าน ทำมงคลกับบุตรสาวเศรษฐีในชนบทนี้ ให้ปลูกเรือนขึ้น ๒ ชั้นในท่ามกลางบ้านเป็นที่อยู่ของตน ทำการรักษาอย่างแข็งแรง ด้วยเครื่องล้อมคือกำแพง และเครื่องล้อมคือบุรุษ, และจงส่งข่าวไปให้ข้าพเจ้าว่า ‘การนี้ การนี้ ฉันทำเสร็จแล้ว’ เมื่อกรรมอย่างนี้ท่านทำแล้ว ฉันจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่ท่านลุงในภายหลัง”,
               ก็แลครั้นเขียนเสร็จแล้ว นางจึงพับลงไปผูกไว้ที่ชายผ้าของนายโฆสกะนั้นตามเดิม.

               นายโฆสกะได้ภรรยา               
               นายโฆสกะนั้นนอนหลับตลอดวัน ลุกขึ้นบริโภคแล้วก็หลีกไป. ในวันรุ่งขึ้น เขาไปสู่บ้านนั้นแต่เช้าตรู่ แลเห็นนายเสมียนทำกิจในบ้านอยู่ทีเดียว.
               นายเสมียนนั้นเห็นนายโฆสกะนั้นแล้ว จึงถามว่า “อะไร? พ่อ”
               นายโฆสกะนั้นกล่าวว่า “คุณพ่อของผม ส่งหนังสือมาถึงท่าน”
               นายเสมียนจึงถามว่า “หนังสือเพื่อการอะไร? พ่อ จงบอกมา” รับเอาหนังสือแล้ว อ่านดูก็มีความพอใจ จึงกล่าวกะคหบดีทั้งหลายว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย ขอเชิญท่านดูความรักใคร่ในเราของนายเรา, ท่านเศรษฐีส่งบุตรชายมายังสำนักของเรา ด้วยแจ้งว่า ‘จงทำมงคลแก่บุตรคนโตของเรา’ พวกท่านจงรีบเอาไม้เป็นต้นมาเร็ว” ดังนี้แล้ว ให้ปลูกเรือนมีประการดังกล่าวแล้วในท่ามกลางบ้าน ให้นำเครื่องบรรณาการมาแต่บ้าน ๑๐๐ บ้าน นำลูกสาวของเศรษฐีในชนบทมากระทำมงคลแล้ว จึงส่งข่าวไปแก่เศรษฐีว่า “การนี้ การนี้ ข้าพเจ้าทำเสร็จแล้ว”

               เศรษฐีเสียใจจนเกิดโรค               
               เพราะได้ฟังข่าวนั้น ความเสียใจอย่างใหญ่บังเกิดแก่เศรษฐีแล้วว่า “เราให้ทำสิ่งใด สิ่งนั้นไม่สำเร็จ, สิ่งใดมิให้ทำ สิ่งนั้นก็กลับสำเร็จ.” ความเศร้าโศกนั้น กับความเศร้าโศกถึงบุตร เป็นอันเดียวกันเทียว ยังความร้อนในท้องให้เกิดขึ้น ให้เกิดโรคอติสาร๑- แล้ว.
____________________________
๑- โรคอันยังโลหิตให้แล่นไปยิ่ง, โรคลงแดง

               แม้ลูกสาวของเศรษฐีก็บังคับพวกคนว่า “ถ้าว่าใครๆ มาจากสำนักของเศรษฐี, ท่านยังไม่บอกแก่เราแล้ว อย่าบอกแก่เศรษฐีบุตรก่อน.”
               แม้เศรษฐีเล่าก็คิดว่า “บัดนี้ เราจะไม่ทำบุตรชั่วชาติคนนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของเรา.” ดังนี้แล้ว จึงบอกนายเสมียนคนหนึ่งว่า “ลุง ฉันปรารถนาจะพบบุตรของฉัน, ท่านจงส่งคนรับใช้ไปคนหนึ่ง ให้เรียกบุตรของฉันมา.” เขารับว่า “ได้จ้ะ” ให้หนังสือแล้ว ส่งคนผู้หนึ่งไป.
               ฝ่ายลูกสาวของเศรษฐีทราบว่า บุรุษนั้นมายืนอยู่ที่ประตู ให้เรียกเขามาแล้ว ถามว่า “อะไร? พ่อ”
               คนรับใช้. เศรษฐีไม่สบาย เพื่อจะพบลูกชาย ให้เรียก (เขา) แม่เจ้า.
               เศรษฐีธิดา. พ่อ เศรษฐียังมีกำลัง หรือถอยกำลัง ?
               คนรับใช้. ยังมีกำลัง บริโภคอาหารได้อยู่ก่อน แม่เจ้า.
               ลูกสาวเศรษฐีนั้นไม่ให้บุตรเศรษฐีทราบเทียว ให้ๆ ที่อยู่และเสบียงเดินทางแก่เขาแล้ว กล่าวว่า “ท่านจักไปได้ในเวลาที่ฉันส่งไป จงพักอยู่ก่อน.”
               มหาเศรษฐีได้กล่าวกะนายเสมียนอีกว่า “ลุง ท่านยังไม่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักบุตรของฉันหรือ?”
               นายเสมียน. ส่งไปแล้ว นาย คนผู้ไปแล้ว ยังไม่มาก่อน.
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น ท่านจงส่งผู้อื่นไปอีก.
               นายเสมียนนั้นส่งไปแล้ว.
               ลูกสาวของเศรษฐีปฏิบัติแม้ในบุรุษนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ในกาลนั้น โรคของเศรษฐีหนักแล้ว. ภาชนะหนึ่งเข้า, ภาชนะหนึ่งออก.
               เศรษฐีจึงถามนายเสมียนอีกว่า “ลุง ท่านยังไม่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักบุตรของฉันแล้วหรือ.”
               นายเสมียน. ส่งไปแล้ว นาย แต่คนที่ไปยังไม่กลับ.
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น ท่านจงส่งผู้อื่นไปอีก.
               นายเสมียนนั้นส่งไปแล้ว. ลูกสาวเศรษฐีถามประพฤติเหตุนั้น แม้กะบุรุษผู้มาในวาระที่ ๓ แล้ว. บุรุษผู้นั้นบอกว่า “ข้าแต่นาย เศรษฐีป่วยหนัก ตัดอาหารเสียแล้ว มีความตายเป็นเบื้องหน้า, ภาชนะหนึ่งออก ภาชนะหนึ่งเข้า.” ลูกสาวของเศรษฐีจึงคิดว่า “บัดนี้เป็นเวลาที่เขาควรไปได้” จึงบอกแก่เศรษฐีบุตรว่า “ทราบว่า คุณพ่อของท่านป่วย.” เมื่อเขากล่าวว่า “พูดอะไร? หล่อน” จึงพูดว่า “ความไม่สำราญมีแก่บิดาของท่านนั้น นาย.”
               โฆสกะ. บัดนี้ ฉันควรทำอย่างไร?
               เศรษฐีธิดา. นาย เราจักถือเครื่องบรรณาการอันเกิดจากบ้านส่วย ๑๐๐ บ้าน ไปเยี่ยมท่าน.
               นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” แล้วให้คนนำเครื่องบรรณาการมา เอาเกวียนบรรทุก หลีกไปแล้ว.
               ครั้งนั้น ลูกสาวของเศรษฐีนั้นพูดกะโฆสกะนั้นว่า “บิดาของท่านถอยกำลัง, เมื่อเราถือเอาเครื่องบรรณาการมีประมาณเท่านี้ไป จักเป็นการเนิ่นช้า, ขอท่านจงให้ขนบรรณาการนี้กลับเถิด” ดังนี้แล้ว จึงส่งบรรณาการนั้นทั้งหมดไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน แล้วพูดอีกว่า “นาย ท่านพึงยืนข้างเท้าแห่งบิดาของท่าน, ฉันจักยืนข้างเหนือศีรษะ.” เมื่อเข้าไปสู่เรือนนั่นเทียว นางก็บังคับพวกคนของตนว่า “พวกท่านจงถือเอาการรักษาทั้งข้างหน้าเรือนทั้งข้างหลังเรือน.” ก็ในเวลาที่เข้าไป เศรษฐีบุตรได้ยืนอยู่แล้วที่ข้างเท้าของบิดา. ส่วนภรรยาได้ยืนข้างเหนือศีรษะ.

               เศรษฐีทำกาละ               
               ในขณะนั้น เศรษฐีนอนหงายแล้ว. ส่วนนายเสมียน เมื่อนวดเท้าของเศรษฐีนั้น จึงพูดว่า “นาย บุตรชายของท่านมาแล้ว.”
               เศรษฐี. เขาอยู่ที่ไหน?
               นายเสมียน. เขายืนอยู่ที่ปลายเท้า.
               ครั้งนั้น เศรษฐีเห็นบุตรชายนั้นแล้ว จึงให้เรียกนายเสมียนมาแล้ว ถามว่า ในเรือนของฉันมีทรัพย์อยู่เท่าไร? เมื่อนายเสมียนเรียนว่า “นาย มีอยู่ ๔๐ โกฏิเท่านั้น, แต่เครื่องอุปโภคบริโภคและบ้าน นา สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ยานพาหนะ มีอยู่จำนวนเท่านี้ๆ”, ใคร่จะพูดว่า “ฉันไม่ให้ทรัพย์ มีประมาณเท่านี้แก่โฆสกะบุตรของฉัน”, (กลับ) พูดว่า “ฉันให้.” ลูกสาวเศรษฐีฟังคำนั้นแล้วคิดว่า “เศรษฐีนี้ เมื่อพูด พึงพูดคำอะไรอื่น” เป็นเหมือนเร่าร้อนด้วยความโศก สยายผม ร้องไห้กล่าวว่า “คุณพ่อ พูดอะไรนี่, พวกเราฟังคำของท่าน ชื่อแม้นี้, พวกเราไม่มีบุญหนอ.” ดังนี้แล้ว จึงเอาศีรษะประหารเศรษฐีนั่นที่ท่ามกลางอก ล้มลงเอาศีรษะกลิ้งเกลือกอยู่ที่ท่ามกลางอกของเศรษฐีนั้น แสดงอาการคร่ำครวญ จนเศรษฐีไม่อาจพูดได้อีก. แม้เศรษฐีก็ได้ทำกาละในขณะนั้นเอง.

               พระเจ้าอุเทนประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่นายโฆสกะ               
               ชนทั้งหลายสดับว่า “เศรษฐีถึงอนิจกรรมแล้ว” จึงไปกราบทูลพระเจ้าอุเทน. พระเจ้าอุเทนทรงให้ทำฌาปนกิจสรีระของเศรษฐีนั้นแล้ว ตรัสถามว่า “ก็ลูกชายหรือลูกหญิงของเศรษฐีนั้น มีอยู่หรือ?”
               ชนทั้งหลายกราบทูลว่า “มีอยู่ พระเจ้าข้า ลูกชายของเศรษฐีนั้นชื่อว่า โฆสกะ, เศรษฐีนั้นมอบหมายทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่โฆสกะนั้นแล้ว ก็ถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้าข้า.” พระราชาทรงให้เรียกตัวเศรษฐีบุตรมาแล้วในกาลอื่น. ก็ในวันนั้นฝนตก, ที่พระลานหลวงมีน้ำขังอยู่ในที่นั้นๆ เศรษฐีบุตรไปแล้วด้วยหวังว่า “จักเฝ้าพระราชา” พระราชาทรงเปิดพระแกล ทอดพระเนตรดูนายโฆสกะนั้นเดินมาอยู่ ทรงเห็นเขาโดดน้ำที่พระลานหลวงเดินมา จึงตรัสถามเขา ซึ่งมาถวายบังคมแล้วยืนอยู่ว่า “พ่อ เจ้าชื่อโฆสกะหรือ?” เมื่อเขาทูลว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า” ทรงปลอบเขาว่า “เจ้าอย่าเสียใจว่า ‘บิดาของเราถึงอนิจกรรมแล้ว’ เราจักให้ตำแหน่งเศรษฐี อันเป็นของบิดาของเจ้าแก่เจ้านั่นเอง” ดังนี้แล้ว ทรงส่งเขาไปว่า “จงไปเถิด พ่อ” และพระราชาได้ประทับยืนทอดพระเนตรดูเขาซึ่งไปอยู่เทียว. เขาไม่โดดน้ำที่เขาโดดในเวลาที่มา ได้ลงไปค่อยๆ.
               ครั้งนั้น พระราชาตรัสสั่งให้เรียกนายโฆสกะนั้นมาจากที่นั้นแล แล้วตรัสถามว่า “เพราะเหตุไรหนอ? พ่อ ท่านเมื่อมาสู่สำนักของเราจึงโดดน้ำมาแล้ว, เมื่อไป เดี๋ยวนี้ลงไปแล้ว จึงค่อยๆ เดินไป.”
               นายโฆสกะทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นเด็กในขณะนั้น, นี้ชื่อว่าเป็นเวลาเล่น. ก็ในกาลนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบตำแหน่งจากพระองค์แล้ว. เพราะฉะนั้น การที่ข้าพระองค์ไม่เที่ยวเหมือนในกาลก่อน แล้วค่อยๆ ไป จึงควรในเดี๋ยวนี้.”
               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ชายผู้นี้มีปัญญา, เราจักให้ตำแหน่งเศรษฐีแก่เขาในบัดนี้เถิด” ดังนี้แล้ว ประทานโภคะที่บิดาบริโภคแล้ว ได้ประทานตำแหน่งเศรษฐี พร้อมด้วยสรรพวัตถุ ๑๐๐ อย่าง.

               นายโฆสกะรับตำแหน่งเศรษฐี               
               นายโฆสกะนั้นยืนอยู่บนรถ ได้กระทำประทักษิณพระนครแล้ว. ที่อันนายโฆสกะนั้นแลดูแล้วๆ ย่อมหวั่นไหว. แม้ลูกสาวของเศรษฐีนั่งปรึกษากับนางกาลีสาวใช้ว่า “แม่กาลี สมบัติมีประมาณเท่านี้ สำเร็จแล้วแก่บุตรของท่าน ก็เพราะอาศัยเรา.”
               กาลี. เพราะเหตุไร? แม่.
               เศรษฐีธิดา. เพราะโฆสกะนี้ผูกจดหมายฆ่าตัวตายไว้ที่ชายผ้ามาสู่เรือนของพวกเรา, ครั้งนั้น ฉันฉีกจดหมายฉบับนั้นของเขา เขียนจดหมายฉบับอื่น เพื่อให้ทำมงคลกับฉัน ทำอารักขาในเขาสิ้นกาลเท่านี้.
               กาลี. แม่ ท่านรู้เห็นเพียงเท่านี้, แต่เศรษฐีมุ่งแต่จะฆ่าเขาตั้งแต่เขาเป็นเด็ก ก็ไม่อาจเพื่อจะฆ่าได้, อาศัยนายโฆสกะนี้อย่างเดียว สิ้นทรัพย์ไปมากมาย.
               เศรษฐีธิดา. แม่ เศรษฐีทำกรรมหนักหนอ.
               เศรษฐีธิดานั้นเห็นนายโฆสกะนั้นกระทำประทักษิณพระนคร เข้าไปสู่เรือน จึงหัวเราะ ด้วยคิดว่า “สมบัติมีประมาณเท่านี้ๆ สำเร็จแล้ว ก็เพราะอาศัยเรา.”
               ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรเห็นอาการนั้น จึงถามว่า “ท่านหัวเราะ ทำไม?”
               เศรษฐีธิดา. เพราะอาศัยเหตุอันหนึ่ง.
               เศรษฐีบุตร. จงบอกเหตุนั้น.
               เศรษฐีธิดานั้น ไม่บอกแล้ว.
               เศรษฐีบุตรนั้นจึงขู่ว่า “ถ้าไม่บอก จะฟันเจ้าให้เป็น ๒ ท่อน” ดังนี้ จึงชักดาบออกแล้ว.
               เศรษฐีธิดานั้นจึงบอกว่า ดิฉันหัวเราะ ก็เพราะคิดว่า “สมบัติมีประมาณเท่านี้ๆ ท่านได้แล้ว ก็เพราะอาศัยฉัน.”
               เศรษฐี. ถ้าว่าคุณพ่อของฉันมอบมรดกของตนให้แก่ฉันแล้ว ท่านจะได้เป็นอะไรในทรัพย์นั้น. ได้ยินว่า เศรษฐีไม่รู้เรื่องอะไร สิ้นกาลเท่านี้. เพราะฉะนั้น จึงไม่เชื่อถ้อยคำของเศรษฐีธิดานั้น. ครั้งนั้น เศรษฐีธิดานั้นได้เล่าเรื่องนั้นทั้งหมดแก่เศรษฐีบุตรนั้นว่า “บิดาของท่านให้หนังสือฆ่า (ตัว) ส่งท่านมาแล้ว. ดิฉันทำกรรมอย่างนี้ๆ รักษาท่านไว้แล้ว.” เศรษฐีบุตรไม่เชื่อ พูดว่า “ท่านพูดไม่จริง” จึงคิดว่า “เราจักถามแม่กาลี” ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? แม่.” นางกาลีจึงกล่าวว่า “พ่อ ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก เศรษฐีประสงค์จะฆ่าท่าน แต่ไม่อาจเพื่อจะฆ่าได้, อาศัยท่าน สิ้นทรัพย์ไปมากมาย, ท่านพ้นแล้วจากความตายในที่ ๗ แห่ง, บัดนี้ มาแล้วจากบ้านส่วย ถึงตำแหน่งเศรษฐี พร้อมกับด้วยสรรพวัตถุอย่างละ ๑๐๐.”
               เศรษฐีนั้นฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า “เราทำกรรมหนักหนอ เราพ้นแล้วจากความตายเห็นปานนี้แล แล้วเป็นอยู่ด้วยความประมาท ไม่สมควร, เราจักไม่ประมาท.” ดังนี้ สละทรัพย์วันละพัน เริ่มตั้งทานไว้เพื่อคนเดินทางไกลและคนกำพร้า เป็นต้นแล้ว.
               กุฏมพี ชื่อว่ามิตตะ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการทานของเศรษฐีนั้นแล้ว.
               ความอุบัติของโฆสกเศรษฐี เป็นดังนี้.

               ทำลายฝาเรือนหนีย่อมพ้นอหิวาตก์               
               ในกาลนั้น เศรษฐีนามว่าภัททวติยะ ในภัททวดีนคร ได้เป็นอทิฏฐบุพพสหาย๑-ของโฆสกเศรษฐีแล้ว.
____________________________
๑- เพื่อนที่ไม่เคยพบเห็นกัน

               โฆสกเศรษฐีได้ฟังสมบัติและวัยและประเทศของภัททวติยเศรษฐี ในสำนักของพวกพ่อค้า ซึ่งมาแล้วจากภัททวดีนคร ปรารถนาความเป็นสหายกับเศรษฐีนั้น จึงส่งเครื่องบรรณาการไปแล้ว. แม้ภัททวติยเศรษฐีได้ฟังสมบัติและวัยและประเทศของโฆสกเศรษฐี ในสำนักของพวกพ่อค้า ซึ่งมาแล้วจากกรุงโกสัมพี ปรารถนาความเป็นสหายกับเศรษฐี จึงส่งเครื่องบรรณาการไปแล้ว เศรษฐีทั้งสองนั้นได้เป็นอทิฏฐบุพพสหายกันและกัน อยู่แล้วอย่างนี้.
               ในกาลอื่น อหิวาตกโรคตกแล้ว ในเรือนของภัททวติยเศรษฐี เมื่ออหิวาตกโรคนั้นตกแล้ว แมลงวันย่อมตายก่อน, ต่อนั้น ตั๊กแตน หนู ไก่ สุกร สุนัข แมว โค ทาสหญิง ทาสชาย ย่อมตายไปโดยลำดับกันทีเดียว. มนุษย์เจ้าของเรือนย่อมตายทีหลังเขาทั้งหมด. ในชนเหล่านั้น พวกใดทำลายฝาเรือนหนีไป พวกนั้นย่อมได้ชีวิต. แม้ในกาลนั้น เศรษฐี ภริยาและลูกสาวก็หนีไปโดยวิธีนั้น ปรารถนาจะเห็นโฆสกเศรษฐี จึงดำเนินไปสู่กรุงโกสัมพี. ๓ คนนั้น มีเสบียงหมดลงในระหว่างทาง มีสรีระอิดโรยด้วยลมและแดด และด้วยความหิวกระหาย ถึงกรุงโกสัมพีด้วยความลำบาก อาบน้ำในสถานอันสบายด้วยน้ำแล้ว ก็เข้าไปสู่ศาลาแห่งหนึ่ง ที่ประตูเมือง.
               ในกาลครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะภริยาว่า “นางผู้เจริญ ผู้มาโดยทำนองนี้ ย่อมไม่ถูกใจแม้ของแม่ผู้บังเกิดเกล้า, ทราบว่า สหายของเราสละทรัพย์วันละพัน ให้ทานแก่คนเดินทาง คนกำพร้าเป็นต้น, เราส่งลูกสาวไปในที่นั้น ให้นำอาหารมาบำรุงสรีระในที่นี้แล สักวันสองวันแล้ว จึงจักเยือนสหาย.” นางรับว่า “ดีแล้ว นาย” เขาพากันพักอยู่ที่ศาลานั่นแล. ในวันรุ่งขึ้น เมื่อเขาบอกเวลาแล้ว เมื่อคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น กำลังไปเพื่อต้องการอาหาร, มารดาและบิดาจึงส่งลูกสาวไปด้วยคำว่า “แม่ จงไปนำอาหารมาเพื่อพวกเรา.”
               ธิดาของตระกูลที่มีโภคะมาก ไม่ละอายเทียว เพราะความที่ตนมีความละอายอันความวิบัติตัดขาดแล้ว ถือถาดไปเพื่อต้องการอาหารกับคนกำพร้า อันมิตตกุฏุมพี ถามว่า “ท่านจักรับกี่ส่วน? แม่” ก็บอกว่า “๓ ส่วน.” ทีนั้น มิตตกุฏุมพีจึงให้ภัตตาหาร ๓ ส่วนแก่นาง. เมื่อนางนำภัตมาแล้ว ทั้ง ๓ ก็นั่งเพื่อบริโภคร่วมกัน. ครั้งนั้น มารดาและลูกสาวจึงกล่าวกะเศรษฐีว่า “นาย อันความวิบัติย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ตระกูลใหญ่, อย่านึกถึงพวกฉัน จงบริโภคเถิด, อย่าคิดเลย.” อ้อนวอนด้วยประการต่างๆ ยังเศรษฐีนั้นให้บริโภคแล้ว ด้วยประการอย่างนี้.
               เศรษฐีนั้นบริโภคแล้ว ไม่สามารถจะให้อาหารย่อยได้, เมื่ออรุณขึ้นไปอยู่, ก็ได้ทำกาละแล้ว. มารดาและลูกสาวคร่ำครวญร่ำไห้ด้วยประการต่างๆ. ในวันรุ่งขึ้น เด็กหญิง (กุมาริกา) เดินร้องไห้ไปเพื่อต้องการอาหาร อันมิตตกุฏุมพีนั้นเห็นเขาแล้ว จึงถามว่า “ท่านจักรับกี่ส่วน? แม่” จึงบอกว่า “๒ ส่วน.” มิตตกุฏุมพีนั้น จึงได้ให้ ๒ ส่วน. นางนำมาแล้ว ก็อ้อนวอนให้มารดาบริโภค. มารดานั้นอันธิดาของตนนั้นอ้อนวอนอยู่ บริโภคแล้ว ไม่สามารถจะให้อาหารย่อยได้ ในวันนั้น ก็ได้ทำกาละแล้ว.
               เด็กหญิงผู้เดียวเท่านั้น ร้องไห้ร่ำไร เป็นผู้มีความทุกข์เพราะความหิว อันเกิดขึ้นแล้วอย่างหนัก เพราะความเกิดขึ้นแห่งทุกข์นั้น ในวันรุ่งขึ้น เดินร้องไห้ไปเพื่อต้องการอาหารกับพวกยากจน อันมิตตกุฏุมพีถามว่า “ท่านจักรับกี่ส่วน? แม่” จึงบอกว่า “ส่วนเดียว.” มิตตกุฏุมพีจำนางผู้รับภัตได้ทั้ง ๓ วัน, เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวกะนางว่า “จงฉิบหายเถิด หญิงถ่อย วันนี้เจ้ารู้จักประมาณท้องของเจ้าหรือ?”
               ธิดามีตระกูลสมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ เหมือนต้องประหารด้วยหอกที่อก และเหมือนรดด้วยน้ำด่างที่แผล ร้องถามว่า “อะไร? นาย.”
               มิตตกุฏุมพี. วันก่อนเจ้ารับเอาไปแล้ว ๓ ส่วน, วันวาน ๒ ส่วน วันนี้รับเอาส่วนเดียว, วันนี้ เจ้ารู้ประมาณท้องของตัวแล้วหรือ?
               กุลธิดา. นาย ท่านอย่าเข้าใจฉันว่า “รับไปเพื่อตนเองผู้เดียว.”
               มิต. เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมจึงรับเอาไป ๓ ส่วน? แม่.
               กุล. ในวันก่อน พวกฉันมีกัน ๓ คน นาย, วานนี้ มี ๒ คน, วันนี้ มีฉันผู้เดียวเท่านั้น.
               มิตตกุฏุมพีจึงถามว่า “ด้วยเหตุไร?” ฟังเรื่องทั้งหมด อันนางบอกแล้ว ตั้งแต่ต้น ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ เกิดความเศร้าใจอย่างเหลือเกิน จึงบอกว่า “แม่ เมื่อมีเหตุอย่างนี้ อย่าคิดไปเลย, ท่านเป็นธิดาของภัททวติยเศรษฐี ตั้งแต่วันนี้ไป จงเป็นธิดาของเราเถิด” ดังนี้แล้ว จุมพิตที่ศีรษะ นำไปสู่ที่เรือน ตั้งไว้ในตำแหน่งธิดาคนโตของตนแล้ว.

               เพราะทำรั้วจึงชื่อสามาวดี               
               เศรษฐีธิดานั้นฟังเสียงอึงคะนึงในโรงทาน จึงถามว่า “พ่อ ทำไม พ่อจึงไม่ทำชนนี้ให้เงียบเสียงแล้วให้ทานเล่า?”
               มิตตกุฏุมพี จึงกล่าวว่า “ไม่อาจเพื่อทำได้ แม่.”
               ธ. อาจ พ่อ.
               ม. อย่างไร? แม่.
               ธ. พ่อ ขอท่านจงล้อมโรงทาน ติดประตูไว้ ๒ แห่ง พอประมาณคนผู้เดียวเข้าไปได้เท่านั้นแล้ว จงบอกว่า “พวกท่านจงเข้าประตูหนึ่ง ออกประตูหนึ่ง” ด้วยอาการอย่างนี้ ชนทั้งหลายก็จักเงียบเสียง รับทาน.
               มิตตกุฏุมพีนั้นฟังคำนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “อุบายเข้าทีดี แม่” ดังนี้ ให้กระทำดังนั้นแล้ว. แม้เศรษฐีธิดานั้น ในกาลก่อน ชื่อสามา, แต่เพราะนางให้กระทำรั้ว จึงชื่อว่าสามาวดี, เดิมแต่นั้น ความโกลาหลในโรงทาน ก็ขาดหายไป. โฆสกเศรษฐีได้ฟังเสียงนั้น ในกาลก่อน ก็พอใจว่า “เสียงในโรงทานของเรา”, แต่เมื่อไม่ได้ยินเสียง ๒-๓ วัน จึงถามมิตตกุฏุมพีผู้มาสู่ที่บำรุงของตนว่า “ทานเพื่อคนกำพร้าและเพื่อคนเดินทางไกลเป็นต้น อันท่านยังให้อยู่หรือ?”
               มิตตกุฏุมพี. ขอรับ นาย.
               โฆสกเศรษฐี. เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไม ฉันจึงไม่ได้ยินเสียง ๒-๓ วัน?
               มิต. ฉันทำอุบาย โดยอาการที่พวกเขาจะไม่มีเสียง รับกัน.
               โฆ. เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ทำในกาลก่อนเล่า?
               มิต. เพราะไม่รู้ นาย.
               โฆ. เดี๋ยวนี้ ท่านรู้ได้อย่างไร?
               มิต. ลูกสาวของฉันบอกให้ นาย.
               โฆ. อันลูกสาวของท่านที่ฉันไม่รู้จัก มีอยู่หรือ?
               มิตตกุฏุมพีนั้น เล่าเรื่องของภัททวติยเศรษฐีทั้งหมด จำเดิมแต่ เกิดอหิวาตกโรคแล้ว ก็บอกความที่ตนตั้งธิดาของเศรษฐีนั้นไว้ในตำแหน่งลูกสาวคนโตของตน.
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะมิตตกุฏุมพีนั้นว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่บอกแก่ฉัน? ธิดาแห่งสหายของฉัน ก็ชื่อว่าธิดาของฉัน” ดังนี้แล้ว ให้เรียกนางสามาวดีนั้นมาถามว่า “แม่ ท่านเป็นลูกสาวเศรษฐีหรือ?”
               สามาวดี. จ้ะ พ่อ.
               โฆสกเศรษฐีกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าอย่าคิดไป เจ้าเป็นธิดาของฉัน” ดังนี้ จุมพิตนางสามาวดีนั้นที่ศีรษะ ให้หญิง ๕๐๐ แก่นางสามาวดีนั้น เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นบริวาร ตั้งนางสามาวดีนั้นไว้ในตำแหน่งธิดาคนโตของตนแล้ว.

               พระเจ้าอุเทนได้อัครมเหสี               
               อยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง ในนครนั้น ประกาศนักขัตฤกษ์แล้ว ก็ในงานนักขัตฤกษ์นั้น แม้กุลธิดาทั้งหลายผู้มิได้ออกไปภายนอก ต่างพากันเดินไปสู่แม่น้ำ อาบน้ำกับด้วยบริวารของตนๆ. เพราะเหตุนั้น ในวันนั้น แม้นางสามาวดีอันหญิง ๕๐๐ แวดล้อมแล้วก็ได้ไปเพื่ออาบน้ำ โดยทางพระลานหลวงเช่นเดียวกัน. ฝ่ายพระเจ้าอุเทนประทับอยู่ที่สีหบัญชร๑- ทอดพระเนตรเห็นนางสามาวดีนั้น จึงตรัสถามว่า “พวกนี้ หญิงฟ้อนของใคร?”
____________________________
๑- หน้าต่าง.

               ราชบุรุษ ทูลว่า “ไม่เป็นหญิงฟ้อนของใคร พระเจ้าข้า.”
               อุ. เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นลูกสาวของใครเล่า?
               ร. เป็นลูกสาวของโฆสกเศรษฐี พระเจ้าข้า นางนั้นชื่อสามาวดี. พระเจ้าอุเทนพอทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงเกิดพระสิเนหา จึงรับสั่งให้ส่งสาสน์ไปให้เศรษฐีว่า “ได้ยินว่า ขอท่านเศรษฐี จงส่งธิดามาให้แก่ฉัน.”
               ศ. ส่งไม่ได้ พระเจ้าข้า.
               อุ. ได้ยินว่า ขอท่านเศรษฐีอย่าทำอย่างนี้เลย, ขอท่านเศรษฐีจงส่งมาจงได้.
               ศ. พวกข้าพระพุทธเจ้า ชื่อว่าคฤหบดี ให้ไม่ได้ ก็เพราะกลัวภัย คือการโบยตีคร่านางกุมาริกา พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงกริ้ว จึงรับสั่งให้ตีตราเรือน จับเศรษฐีและภริยาของเศรษฐีที่มือให้ทำไว้ ณ ภายนอก. นางสามาวดีอาบน้ำแล้วกลับมา ไม่ได้โอกาสเพื่อเข้าสู่บ้านได้ จึงถามว่า “นี่อะไร? พ่อ” บิดาตอบว่า “แม่ ในหลวงส่งสาสน์มา เพราะเหตุแห่งเจ้า. เมื่อพวกเรากล่าวว่า ‘ไม่ให้’ จึงรับสั่งให้ตีตราเรือน แล้วรับสั่งให้ทำพวกเราไว้ ณ ภายนอก.” นางสามาวดีจึงกล่าวว่า “พ่อ กรรมหนักอันพ่อทำแล้ว, ธรรมดาพระราชา เมื่อส่งสาสน์มาแล้ว ไม่ควรทูลว่า ‘ไม่ให้’ ควรทูลว่า ถ้าพระองค์จะทรงรับธิดาของข้าพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งบริวาร ก็จะถวายสิพ่อ.” เศรษฐีกล่าวว่า “ดีละ แม่ เมื่อเจ้าพอใจ พ่อก็จักทำตามอย่างนั้น” ดังนี้แล้ว จึงให้ส่งสาสน์ไปถวายพระราชาตามนั้น.
               พระราชาทรงรับว่า “ดีแล้ว” ทรงนำนางสามาวดีนั้นมาพร้อมทั้งบริวาร ทรงอภิเษกตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว. หญิงที่เหลือก็ได้เป็นบริวารของนางเหมือนกัน.
               นี้เป็นเรื่องของนางสามาวดี.

               พระเจ้าอุเทนถูกจับ               
               ก็พระเจ้าอุเทนได้มีพระราชเทวีอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระนางวาสุลทัตตา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต.
               ความพิสดารว่า ในเมืองอุชเชนี มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าจัณฑปัชโชต. วันหนึ่ง พระองค์เสด็จมาจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรดูสมบัติของพระองค์แล้ว ตรัสว่า “สมบัติเช่นนี้ ของใครๆ แม้อื่น มีไหมหนอ?” เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า “นี่จะชื่อว่าสมบัติอะไร? สมบัติของพระเจ้าอุเทนในเมืองโกสัมพีมากยิ่งนัก” ดังนี้แล้ว ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เราจักจับพระเจ้าอุเทนนั้น.”
               อำมาตย์. ใครๆ ก็ไม่สามารถจับท้าวเธอได้ พระเจ้าข้า.
               พระราชา. เราจักทำอุบายบางอย่าง จับให้ได้.
               อำมาตย์. ไม่สามารถดอก พระเจ้าข้า.
               พระราชา. เพราะเหตุอะไรเล่า?
               อำมาตย์. เพราะพระเจ้าอุเทนนั้นรู้ศิลปะ ชื่อหัสดีกันต์, ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกันต์อยู่ จะให้ช้างหนีไปก็ได้, จะจับเอาก็ได้, ผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยพาหนะช้าง ชื่อว่าเช่นกับท้าวเธอ เป็นไม่มี.
               พระราชา. เราไม่อาจที่จะจับเขาได้หรือ?
               อำมาตย์. พระเจ้าข้า หากพระองค์มีความจำนงพระทัยฉะนี้ โดยส่วนเดียวแล้ว, ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้นายช่างทำช้างไม้ขึ้น แล้วส่งไปยังที่อยู่ของพระเจ้าอุเทนนั้น, ท้าวเธอทรงสดับถึงพาหนะช้างหรือพาหนะม้าแล้ว ย่อมเสด็จไป แม้สู่ที่ไกล, เราจักสามารถจับท้าวเธอผู้เสด็จมาในที่นั้นได้.
               พระราชาตรัสว่า “อุบายนี้ใช้ได้” ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้นายช่างทำช้างยนต์สำเร็จด้วยไม้ เอาผ้าเก่าหุ้มข้างนอก แล้วทำเป็นลวดลาย ให้ปล่อยไปที่ริมสระแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้แว่นแคว้นของพระเจ้าอุเทนนั้น. บุรุษ ๖๐ คนเดินไปมาภายในท้องช้าง, พวกเขานำมูลช้างมาทิ้งไว้ในที่นั้นๆ.
               พรานป่าคนหนึ่งเห็นช้างแล้วก็คิดว่า “ช้างนี้คู่ควรแก่พระเจ้าแผ่นดินของเรา” ดังนี้แล้ว จึงไปกราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พบช้างตัวประเสริฐซึ่งเผือกล้วน มีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาศ คู่ควรแก่พระองค์ทีเดียว.”
               พระเจ้าอุเทนให้พรานป่านั้นแลเป็นผู้นำทาง ขึ้นทรงช้างพร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปแล้ว เหล่าจารบุรุษทราบการเสด็จมาของท้าวเธอ จึงไปกราบทูลแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต. พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นเสด็จมาแล้ว ซุ่มพลนิกายไว้ ๒ ข้าง ปล่อยว่างไว้ตรงกลาง. พระเจ้าอุเทนไม่ทรงทราบถึง การเสด็จมาของท้าวเธอจึงติดตามช้างไป. มนุษย์ที่อยู่ข้างใน รีบพาช้างไม้หนีไปโดยเร็ว. เมื่อพระราชาทรงร่ายมนต์ดีดพิณอยู่, ช้างไม้ทำเหมือนไม่ได้ยินเสียงแห่งสายพิณ หนีไปถ่ายเดียว. พระราชาไม่อาจทันพระยาช้างได้ จึงเสด็จขึ้นม้าติดตามไป. เมื่อท้าวเธอรีบตามไปโดยเร็ว พลนิกายก็ล้าหลัง. พระราชาได้เป็นผู้ (เสด็จ) พระองค์เดียวเท่านั้น.
               ครั้งนั้น เหล่าบุรุษของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ซึ่งดักซุ่มอยู่แล้ว ณ ๒ ข้าง (ทาง) จึงจับท้าวเธอถวายพระเจ้าแผ่นดินของตน.
               ต่อมา พลนิกายของท้าวเธอทราบว่า พระราชาของตนตกไปสู่อำนาจแห่งข้าศึกแล้ว จึงตั้งค่ายอยู่ภายนอก.

               พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงให้พระธิดาเรียนมนต์               
               ฝ่ายพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงสั่งให้จับพระเจ้าอุเทนอย่างจับเป็น แล้วขังไว้ในเรือนขังโจรหลังหนึ่ง ให้ปิดประตูเสีย ทรงดื่มน้ำชัยบานตลอด ๓ วัน. ในวันที่ พระเจ้าอุเทนทรงถามพวกผู้คุมว่า “พ่อทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้าไปไหนเสีย.”
               พวกผู้คุม. พระเจ้าแผ่นดินทรงดื่มน้ำชัยบาน ด้วยทรงยินดีว่า เราจับปัจจามิตรได้.
               พระเจ้าอุเทน. พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้ามีกิริยาช่างกระไร ดังผู้หญิง, การจับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศัตรูกันได้แล้ว จะปล่อยหรือฆ่าเสีย จึงควรมิใช่หรือ? นี่สิ กลับให้เรานั่งทนทุกข์ แล้วไปนั่งดื่มน้ำชัยบานเสีย.
               ผู้คุมเหล่านั้นก็พากันไปทูลเนื้อความนั้นแด่พระราชา พระองค์เสด็จไปตรัสถามว่า “ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้จริงหรือ?”
               อุเทน. ถูกแล้ว ท่านมหาราชเจ้า.
               จัณฑปัชโชต. ดีละ เราจักปล่อยท่าน, ทราบว่า ท่านมีมนต์เช่นนี้, ท่านจักให้มนต์นั้นแก่เราไหม?
               อุ. ตกลง ข้าพเจ้าจักให้. ในเวลาเรียน จงไหว้ข้าพเจ้าแล้วเรียนมนต์นั้น, ก็ท่านจักไหว้ข้าพเจ้าหรือไม่เล่า?
               จ. เราจักไหว้ท่านทำไมเล่า?
               อุ. ท่านจักไม่ไหว้หรือ?
               จ. เราจักไม่ไหว้.
               อุ. แม้ข้าพเจ้า ก็จักไม่ให้.
               จ. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักลงราชอาชญาแก่ท่าน.
               อุ. เชิญทำเถิด, ท่านเป็นอิสระแก่ร่างกายของข้าพเจ้า, แต่ไม่เป็นอิสระแก่จิต.
               พระราชาทรงสดับถ้อยคำอันองอาจของท้าวเธอแล้ว จึงทรงดำริว่า “เราจักเรียนมนต์ของพระเจ้าอุเทนนี้ ได้อย่างไรหนอ? แล้วทรงคิดได้ว่า “เราไม่อาจให้คนอื่นรู้มนต์นี้, เราจักให้ธิดาของเราเรียนในสำนักพระเจ้าอุเทนนี้ แล้วจึงเรียนในสำนักของนาง.” ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสกะพระเจ้าอุเทนนั้นว่า “ท่านจักให้แก่คนอื่นผู้ไหว้แล้วเรียนเอาหรือ?”
               อุ. อย่างนั้น ท่านมหาราช.
               จ. ถ้ากระนั้น ในเรือนของเรามีหญิงค่อมอยู่คนหนึ่ง, ท่านยืนอยู่ภายนอกม่าน จงบอกมนต์แก่หญิงนั้น ผู้นั่งอยู่ภายในม่านเถิด.
               อุ. ดีละ ท่านมหาราช นางจะเป็นคนค่อมหรือคนง่อย ก็ช่างเถอะ, เมื่อนางไหว้, ข้าพเจ้าจักให้.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปตรัสบอกพระนางวาสุลทัตตาราชธิดาว่า “ลูกหญิง ชายเป็นโรคเรื้อนน้ำเต้าคนหนึ่ง รู้มนต์หาค่ามิได้, พ่อไม่อาจที่จะให้คนอื่นรู้มนต์นั้นได้, เจ้าจงนั่งภายในม่านไหว้ชายนั้น แล้วเรียนมนต์, ชายนั้นยืนอยู่ภายนอกม่าน จักบอกแก่เจ้า, พ่อจักเรียนจากสำนักของเจ้า.” พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นตรัสทำให้พระราชธิดาเป็นหญิงค่อม ฝ่ายพระเจ้าอุเทนให้เป็นชายโรคเรื้อนน้ำเต้าอย่างนี้ เพราะทรงเกรงคนทั้งสองนั้นจะทำสันถวะกันและกัน. พระเจ้าอุเทนนั้นประทับยืนอยู่นอกม่านเทียว ได้ตรัสบอกมนต์แก่พระนางผู้ไหว้แล้วนั่งภายในม่าน.

               พระอัครมเหสีองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าอุเทน               
               ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกะพระนาง ผู้แม้อันท้าวเธอตรัสบอกบ่อยๆ ก็ไม่สามารถจะกล่าวบทแห่งมนต์ได้ว่า “เหวย อีหญิงค่อม! ปากของมึงมีริมขอบและกระพุ้งแก้มอันหนานัก, มึงจงว่าไปอย่างนี้.” พระนางทรงกริ้วจึงตรัสว่า “เหวย อ้ายขี้เรื้อน ชั่วชาติ มึงพูดอะไร? คนเช่นกูนะหรือ ชื่อว่าหญิงค่อม?” ดังนี้แล้ว ทรงยกมุมม่านขึ้น, เมื่อพระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร ?” จึงตรัสบอกว่า “เราชื่อวาสุลทัตตา ธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน.”
               พระเจ้าอุเทน. บิดาของท่าน เมื่อตรัสถึงท่านแก่เรา ก็ตรัสว่า “หญิงค่อม.”
               วาสุลทัตตา. แม้เมื่อตรัสแก่เรา พระบิดาก็ทรงกล่าวกระทำให้ท่านเป็นคนโรคเรื้อนน้ำเต้า.
               ทั้งสององค์นั้นทรงดำริว่า “คำนั้น ท้าวเธอคงจักตรัสด้วยเกรงเราจะทำสันถวะกัน” แล้วก็ทรงทำสันถวะกันในภายในม่านนั่นเอง.
               จำเดิมแต่นั้น การเรียนมนต์หรือการเรียนศิลปะจึงไม่มี.
               ฝ่ายพระราชาทรงถามพระธิดาเป็นนิตย์ว่า “เจ้ายังเรียนศิลปะอยู่หรือ? ลูก.”
               พระนางตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันยังเรียนอยู่ เพคะ.”
               ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกะพระนางว่า “นางผู้เจริญ ชื่อว่าหน้าที่ซึ่งสามีพึงกระทำ มารดาบิดา พี่น้องชาย และพี่น้องหญิงไม่สามารถจะทำได้เลย, หากเธอจักให้ชีวิตแก่เรา เราจักให้หญิง ๕๐๐ นางเป็นบริวาร แล้วให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่เธอ.”
               พระนางตรัสว่า “ถ้าพระองค์ จักอาจเพื่อตั้งอยู่ในพระดำรัสนี้, หม่อมฉันก็จักถวายทานนี้แด่พระองค์.”
               พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า “พระน้องหญิง เราจักอาจ.”
               พระนางทรงรับพระดำรัสว่า “ตกลง เพคะ” ดังนี้แล้วก็เสด็จไปสู่สำนักพระราชบิดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสถามพระนางว่า “ศิลปะสำเร็จแล้วหรือ? ลูกหญิง.”
               วาสุลทัตตา. ข้าแต่พระบิดา ศิลปะยังไม่สำเร็จก่อน เพคะ.
               ลำดับนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสถามพระนางว่า “ทำไมเล่า ลูกหญิง?”
               วาสุลทัตตา. ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันควรจะได้ประตูประตู ๑ กับพาหนะตัว ๑.
               จัณฑปัชโชต. นี้ เป็นอย่างไรเล่า ลูกหญิง?
               วาสุลทัตตา. ข้าแต่พระบิดา ทราบว่า มีโอสถขนานหนึ่งจะต้องเก็บในเวลากลางคืน ด้วยสัญญาดวงดาว เพื่อประโยชน์เป็นอุปการะแห่งมนต์, เพราะฉะนั้น ในเวลาที่หม่อมฉันออกไปในเวลาหรือนอกเวลา จึงควรที่จะได้ประตูประตูหนึ่ง กับพาหนะตัวหนึ่ง.
               พระราชาตรัสรับว่า “ได้.”
               พระเจ้าอุเทนและพระนางวาสุลทัตตานั้น ได้ทรงยึดประตูหนึ่ง ซึ่งตนพอใจ ไว้ในเงื้อมมือแล้ว.

               พาหนะ ๕ ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต               
               ก็พระราชามีพาหนะทั้ง ๕ คือ :-
                         นางช้างตัว ๑ ชื่อ ภัททวดี ไปได้วันละ ๕๐ โยชน์.
                         ทาสชื่อว่า กากะ ไปได้ ๖๐ โยชน์.
                         ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิ และม้ามุญชเกสิไปได้ ๑๐๐ โยชน์
                         ช้างนาฬาคิรีไปได้ ๑๒๐ โยชน์.

               ประวัติที่จะได้พาหนะเหล่านั้น               
               ดังได้ยินมา พระราชาพระองค์นั้น ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ได้เป็นคนรับใช้ของอิสรชนผู้หนึ่ง. ต่อมาวันหนึ่ง เมื่ออิสรชนผู้นั้นไปนอกพระนคร อาบน้ำแล้วมาอยู่, พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ไม่ได้ภิกษาเลยสักอย่างหนึ่ง เพราะชาวเมืองทั้งสิ้นถูกมารดลใจ มีบาตรตามที่ล้างไว้แล้ว (เปล่า) ออกไป.
               ลำดับนั้น มารเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วถามท่านในขณะที่ท่านถึงประตูพระนครว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?”
               พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “ก็เจ้าทำอาการคืออันไม่ได้แก่เราแล้ว มิใช่หรือ?”
               ม. ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกลับเข้าไปอีก, คราวนี้ ข้าพเจ้าจักไม่ทำ.
               ป. เราจักไม่กลับอีก.
               ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพึงกลับไปไซร้ มารนั้นจะพึงสิงร่างของชาวเมืองทั้งสิ้น แล้วปรบมือทำการหัวเราะเย้ยอีก, เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ มารก็หายไปในที่นั้นเอง. ขณะนั้น อิสรชนผู้นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาอยู่ด้วยทั้งบาตรตามที่ล้างไว้แล้ว (เปล่า) จึงไหว้ แล้วถามว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?”
               ท่านตอบว่า “ผู้มีอายุ ฉันเที่ยวไปแล้ว ออกมาแล้ว.”
               เขาคิดว่า “พระผู้เป็นเจ้าไม่ตอบคำที่เราถาม กลับกล่าวคำอื่นเสีย, ท่านคงจักยังไม่ได้อะไรๆ.” ในทันใดนั้น เขาแลดูบาตรของท่าน เห็นบาตรเปล่า ก็เป็นผู้แกล้วกล้า แต่ไม่อาจรับบาตร เพราะยังไม่รู้ว่า ภัตในเรือนของตนเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรอหน่อย” ดังนี้แล้ว ก็ไปสู่เรือนโดยเร็ว ถามว่า “ภัตสำหรับเราเสร็จแล้วหรือ?” เมื่อคนรับใช้ตอบว่า “เสร็จแล้ว” จึงกล่าวกะคนรับใช้นั้นว่า “พ่อ คนอื่นที่มีความเร็วอันสมบูรณ์กว่าเจ้าไม่มี, ด้วยฝีเท้าอันเร็ว เจ้าจงไปถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น กล่าวว่า ‘ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงให้บาตร’, แล้วรับบาตรมาโดยเร็ว.”
               เขาวิ่งไปด้วยคำสั่งคำเดียวเท่านั้น รับบาตรนำมาแล้ว.
               แม้อิสรชนทำบาตรให้เต็มด้วยโภชนะของตน แล้วกล่าวว่า “เจ้าจงรีบไป ถวายบาตรนี้แก่พระผู้เป็นเจ้า เราจะให้ส่วนบุญ แต่ทานนี้แก่เจ้า.”
               เขารับบาตรนั้นแล้วไปด้วยฝีเท้า (เร็ว) ถวายบาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว, ข้าพเจ้าไปและมาด้วยฝีเท้าอันเร็วยิ่ง, ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้ ๕๐ โยชน์ ๖๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า,
               อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้มาอยู่และไปอยู่ ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว, ด้วยผลแห่งความที่ร่างกายถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผานั้นของข้าพเจ้า ขออาชญาของข้าพเจ้า จงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ ในที่ๆ เกิดแล้วและเกิดแล้ว, ส่วนบุญในเพราะบิณฑบาตนี้ อันนายให้แล้วแก่ข้าพเจ้า, ด้วยผลอันไหลออกแห่งส่วนบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้ว.”
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้นี้ จงสำเร็จ” แล้วได้กระทำอนุโมทนาว่า :-
                         “สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
                         ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดีถีที่ ๑๕.
                         สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
                         ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังแก้วมณี ชื่อว่าโชติรส.”

               ได้ทราบว่า คาถา ๒ คาถานี้แล ชื่อว่า คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย. รัตนะคือแก้วมณี อันให้สิ่งที่มุ่งหมายทั้งปวง [แก้วสารพัดนึก] เรียกว่า “แก้วมณีโชติรส” ในคาถานั้น.
               นี้เป็นบุรพจริตแห่งบุรุษรับใช้นั้น. เขาได้เป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในบัดนี้. และด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น พาหนะ ๕ เหล่านี้จึงเกิดขึ้น.

               พระเจ้าอุเทนหนี               
               ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกเพื่อทรงกีฬาในพระราชอุทยาน.
               พระเจ้าอุเทนทรงดำริว่า “เราควรจะหนีไป ในวันนี้” จึงทรงบรรจุกระสอบหนังใหญ่ๆ ให้เต็มด้วยเงินและทอง วางเหนือหลังนางช้าง แล้วพาพระนางวาสุลทัตตาหนีไป. ทหารรักษาวังทั้งหลายเห็นพระเจ้าอุเทน กำลังหนีไป จึงกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงส่งพลไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า “พวกเจ้าจงไปเร็ว.”
               พระเจ้าอุเทนทรงทราบว่า พลนิกายไล่ตามแล้ว จึงทรงแก้กระสอบกหาปณะ ทำกหาปณะให้ตก. พวกมนุษย์เก็บกหาปณะขึ้นแล้วไล่ตามไปอีก. ฝ่ายพระเจ้าอุเทนก็ทรงแก้กระสอบทองแล้วทำให้ตก เมื่อมนุษย์เหล่านั้นมัวเนิ่นช้าอยู่ เพราะความละโมบในทอง ก็เสด็จถึงค่ายของพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอก. ขณะนั้น พลนิกายพอเห็นท้าวเธอเสด็จมา ก็แวดล้อมเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่พระนครของตน. ท้าวเธอครั้นพอเสด็จไปแล้ว ก็อภิเษกพระนางวาสุลทัตตา ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี.
               นี้เป็นเรื่องของพระนางวาสุลทัตตา.

               ประวัตินางมาคันทิยา               
               อนึ่ง หญิงอื่นอีก ชื่อว่า นางมาคันทิยา ก็ได้ตำแหน่งแห่งอัครมเหสี แต่สำนักของพระราชา. ได้ยินว่า นางเป็นธิดาของพราหมณ์ ชื่อมาคันทิยะ ในแคว้นกุรุ, แม้มารดาของนางก็ชื่อว่ามาคันทิยาเหมือนกัน. ถึงอาของนางก็ชื่อว่ามาคันทิยะด้วย นางเป็นคนมีรูปงามเปรียบด้วยเทพอัปสร. ก็บิดาของนาง เมื่อไม่ได้สามีที่คู่ควร [แก่นาง] แม้จะถูกตระกูลใหญ่ๆ อ้อนวอน ก็กลับตะเพิดเอาว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ลูกสาวของฉัน” แล้วไล่ส่งไป.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งอนาคามิผลของมาคันทิยพราหมณ์ พร้อมทั้งปชาบดี๑- ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์แล้ว ได้เสด็จไปสู่สถานเป็นที่บำเรอไฟของพราหมณ์นั้น ในภายนอกนิคม.
____________________________
๑- ภรรยา.

               พราหมณ์นั้นแลเห็นอัตภาพอันเลิศด้วยความงามแห่งพระรูปของพระตถาคตแล้ว ก็คิดว่า “ชื่อว่าบุรุษอื่นผู้เช่นกับบุรุษนี้ ย่อมไม่มีในโลกนี้, บุรุษนี้เป็นผู้คู่ควรแก่ธิดาของเรา, เราจักให้ธิดาของเราแก่บุรุษนี้ เพื่อประโยชน์จะได้เลี้ยงดูกัน” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “ท่านสมณะ ธิดาของข้าพเจ้ามีอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่เห็นชายผู้คู่ควรแก่นาง ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้, ท่านเป็นผู้คู่ควรแก่นาง, และนางก็เป็นผู้คู่ควรแก่ท่านแท้, ควรท่านได้นางไว้เป็นบาทบริจาริกา และนางก็ควรได้ท่านไว้เป็นภัสดา, เราจักให้นางแก่ท่าน ท่านจงยืนอยู่ในที่นี้แล จนกว่าข้าพเจ้าจะไป (กลับมา).”
               พระศาสดาไม่ตรัสอะไร ได้ทรงดุษณีภาพ.
               พราหมณ์ไปสู่เรือนโดยเร็วกล่าว (กะนางพราหมณี) ว่า “นาง! นาง! เราเห็นผู้ที่สมควรแก่ลูกสาวของเราแล้ว, หล่อนจงแต่งตัวลูกเร็วๆ เข้า” ให้ธิดานั้นแต่งตัวแล้วพาไป พร้อมกับนางพราหมณี ได้ไปสู่สำนักของพระศาสดา.
               ทั่วพระนครกึกก้อง (แตกตื่น) ว่า “พราหมณ์นี้ไม่ให้ (ลูกสาว) แก่ใครๆ ด้วยอ้างว่า “ชายผู้สมควรแก่ลูกสาวของเราไม่มี” ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ได้ยินว่า “เขากล่าวว่า ‘วันนี้ เราเห็นชายผู้สมควรแก่ลูกสาวของเราแล้ว’, ชายผู้นั้นจะเป็นเช่นไรหนอ? พวกเราจักดูชายผู้นั้น.” มหาชนจึงออกไปพร้อมกับพราหมณ์นั้นด้วย.
               เมื่อพราหมณ์นั้นพาธิดามาอยู่. พระศาสดามิได้ประทับยืนในที่ที่พราหมณ์นั้นพูดไว้ ทรงแสดงเจดีย์ คือรอยพระบาทไว้ในที่นั้นแล้ว ได้เสด็จไปประทับยืนในที่อื่น.
               แท้จริง เจดีย์คือรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมปรากฏในที่ที่พระองค์ทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้เท่านั้น, ย่อมไม่ปรากฏในที่อื่น,
               อนึ่ง เจดีย์คือรอยพระบาท เป็นสิ่งที่ทรงอธิษฐานไว้เพื่อประสงค์แก่บุคคลเหล่าใด, บุคคลเหล่านั้นจำพวกเดียว ย่อมแลเห็นเจดีย์คือรอยพระบาทนั้น; ก็สัตว์มีช้างเป็นต้น จงเหยียบก็ตาม, มหาเมฆ (ห่าฝนใหญ่) จงตกก็ตาม, ลมบ้าหมู จงพัดก็ตาม เพื่อจะให้บุคคลเหล่านั้นแลไม่เห็น, ใครๆ ก็ไม่สามารถเพื่อจะลบเจดีย์ คือรอยพระบาทนั้นได้.
               ลำดับนั้น นางพราหมณีกล่าวกะพราหมณ์ว่า “ชายนั้นอยู่ที่ไหน?” พราหมณ์คิดว่า “เราได้พูดกะเขาว่า ‘ท่านจงยืนอยู่ในที่นี้’, เขาไปเสียในที่ไหนหนอ?” แลดูอยู่ ก็เห็นเจดีย์คือรอยพระบาท จึงกล่าวว่า “นี้เป็นรอยเท้าของผู้นั้น.” นางพราหมณีร่ายลักษณมนต์แล้วตรวจตราดูลักษณะแห่งรอยพระบาท เพราะความเป็นผู้แคล่วคล่องในเวททั้ง ๓ พร้อมทั้งมนต์สำหรับทายลักษณะ กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ นี้มิใช่รอยเท้าของผู้มักเสพกามคุณ ๕ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
                                   “ก็คนเจ้าราคะ พึงมีรอยเท้ากระหย่ง (เว้ากลาง),
                         คนเจ้าโทสะ ย่อมมีรอยเท้าอันส้นบีบ (หนักส้น),
                         คนเจ้าโมหะ ย่อมมีรอยเท้าจิกลง (หนักทางปลายนิ้วเท้า),
                         คนมีกิเลสเครื่องมุงบังอันเปิดแล้ว มีรอยเช่นนี้ นี้.”
               ลำดับนั้น พราหมณ์กล่าวกะนางว่า “นาง หล่อนเป็นผู้มีปกติเห็นมนต์เหมือนจระเข้ในตุ่มน้ำ เหมือนโจรอยู่ในท่ามกลางเรือน, จงนิ่งเสียเถิด.” นางพราหมณีกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านอยากจะพูดคำใด ก็จงพูดคำนั้น, รอยเท้านี้ มิใช่รอยเท้าของผู้มักเสพกามคุณ ๕.” พราหมณ์แลดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นพระศาสดาแล้วกล่าวว่า “นี้ คือชายผู้นั้น” จึงไปกล่าวว่า “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะให้ธิดาเพื่อต้องการได้เลี้ยงดูกัน.”
               พระศาสดาไม่ตรัสเลยว่า “เรามีความต้องการด้วยธิดาของท่านหรือไม่มี” ตรัสว่า “พราหมณ์ เราจะกล่าวเหตุอันหนึ่งแก่ท่าน”, เมื่อพราหมณ์กล่าวว่า “จงกล่าวเถิดท่านสมณะ” จึงตรัสบอกการที่พระองค์ถูกมารติดตาม ตั้งแต่ออกผนวช จนถึงโคนต้นอชปาลนิโครธ และการประเล้าประโลมอันธิดามารทั้งหลาย ผู้มาเพื่อระงับความโศกของมารนั้น ผู้โศกาดูรอยู่ว่า “บัดนี้ พระสมณโคดมนี้ล่วงวิสัยแห่งเราเสียแล้ว” ประกอบขึ้นด้วยสามารถแห่งเพศนางกุมาริกาเป็นต้น ที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
               แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   “เรามิได้มีความพอใจในเมถุน เพราะเห็นนางตัณหา
                         นางอรดี และนางราคา, ไฉนเล่า? จักมีความพอใจเพราะเห็น
                         ธิดาของท่านนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยมูตรและกรีส, เราไม่ปรารถนา
                         จะถูกต้องธิดาของท่านนี้ แม้ด้วยเท้า.”

               ในที่สุดแห่งคาถา พราหมณ์และพราหมณีก็ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. ฝ่ายนางมาคันทิยาผู้เป็นธิดาแล ผูกอาฆาตในพระศาสดา ว่า “ถ้าสมณะนั้น ไม่มีความต้องการด้วยเรา, ก็ควรกล่าวถึงความที่ตนไม่มีความต้องการ; แต่สมณะนี้ (กลับ) ทำให้เราเป็นผู้เต็มไปด้วยมูตรและกรีส; เอาเถอะ, เราอาศัยความถึงพร้อมด้วยชาติ ตระกูล, ประเทศ, โภคะ ยศและวัย ได้ภัสดาเห็นปานนั้นแล้ว จักรู้กรรมอันเราควรทำแก่สมณโคดม.
               ถามว่า “ก็พระศาสดา ทรงทราบความเกิดขึ้นแห่งความอาฆาตในพระองค์ของนาง หรือไม่ทรงทราบ?”
               ตอบว่า “ทรงทราบเหมือนกัน.”
               ถามว่า “เมื่อพระองค์ทรงทราบ เหตุไฉนจึงตรัสพระคาถา?”
               ตอบว่า “พระองค์ตรัสพระคาถา ด้วยสามารถแห่งพราหมณ์และพราหมณีทั้งสองนอกนี้.”
               ธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงคำนึงถึงความอาฆาต ย่อมทรงแสดงธรรม ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ควรบรรลุมรรคผลเท่านั้น. มารดาบิดาพานางมาคันทิยานั้น ไปฝากนายจูฬมาคันทิยะ ผู้เป็นน้องชายแล้วไปสู่สำนักของพระศาสดา ทั้งสองคนบวชแล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตผล.
               ฝ่ายนายจูฬมาคันทิยะคิดว่า “ธิดาของเราไม่ควรแก่ผู้ต่ำช้า, ควรแก่พระราชาผู้เดียว” จึงพานางไปสู่เมืองโกสัมพี ตบแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว ได้ถวายแด่พระเจ้าอุเทน ด้วยคำว่า “นางแก้วนี้ควรแก่สมมติเทพ (ฝ่าละอองธุลีพระบาท).” พระเจ้าอุเทนนั้นพอทอดพระเนตรเห็นนาง ก็เกิดสิเนหาอย่างแรงกล้า จึงประทานการอภิเษกทำมาตุคาม ๕๐๐ ให้เป็นบริวารของนาง ตั้งไว้ในตำแหน่งแห่งอัครมเหสีแล้ว.
               นี้เป็นเรื่องของนางมาคันทิยา.
               พระเจ้าอุเทนนั้นได้มีอัครมเหสี ๓ นาง ซึ่งมีหญิงฟ้อน ๑,๕๐๐ นางเป็นบริวาร ด้วยประการดังนี้.

               สามเศรษฐีกับดาบส               
               ก็ในสมัยนั้นแล เมืองโกสัมพี มีเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี, กุกกุฏเศรษฐี, ปาวาริกเศรษฐี. เศรษฐีเหล่านั้น เมื่อวัสสูปนายิกาใกล้เข้ามาแล้ว, เห็นดาบส ๕๐๐ มาจากหิมวันตประเทศ กำลังเที่ยวไปเพื่อภิกษาในพระนคร ก็เลื่อมใส จึงนิมนต์ให้นั่ง ให้ฉันแล้ว รับปฏิญญาให้อยู่ในสำนักของตนตลอด ๔ เดือน ให้ปฏิญญาเพื่อต้องการแก่อันมาอีก ในสมัยที่ชุ่มด้วยฝน (ฤดูฝน) แล้วส่งไป.
               จำเดิมแต่นั้น แม้ดาบสทั้งหลายอยู่ในหิมวันตประเทศตลอด ๘ เดือนแล้ว จึงอยู่ในสำนักของเศรษฐีเหล่านั้นตลอด ๔ เดือน. ดาบสเหล่านั้น เมื่อมาจากหิมวันตประเทศในเวลาอื่น เห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งในแดนอรัญ จึงนั่งที่โคนต้นไทรนั้น. บรรดาดาบสเหล่านั้น ดาบสผู้เป็นหัวหน้าคิดว่า “เทวดาผู้สิงอยู่ในต้นไม้นี้ จักมิใช่เทวดาผู้ต่ำศักดิ์, เทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ทีเดียวพึงมีที่ต้นไทรนี้; เป็นการดีหนอ, ถ้าหากเทวราชนี้พึงให้น้ำควรดื่มแก่หมู่ฤษี.” เทวราชนั้นได้ถวายน้ำดื่มแล้ว. ดาบสคิดถึงน้ำอาบ. เทวราชก็ได้ถวายน้ำอาบแม้นั้น. ต่อจากนั้น ดาบสผู้เป็นหัวหน้าก็คิดถึงโภชนะ เทวราชก็ถวายโภชนะแม้นั้น.
               ลำดับนั้น ดาบสนั้นได้มีความปริวิตกนี้ว่า “เทวราชนี้ให้ทุกสิ่งที่เราคิดแล้ว, เออหนอ เราพึงเห็นเทวราชนั้น.” เทวราชนั้นชำแรกลำต้นไม้ แสดงตนแล้ว. ขณะนั้น ดาบสทั้งหลายถามเทวราชนั้นว่า “ท่านเทวราช ท่านมีสมบัติมาก สมบัตินี้ ท่านได้แล้ว เพราะทำกรรมอะไรหนอ?”
               เทวราช. ขออย่าซักถามเลย พระผู้เป็นเจ้า.
               ดาบส. จงบอกมาเถิด ท่านเทวราช.
               เทวราชนั้นละอายอยู่ เพราะกรรมที่ตนทำไว้เป็นกรรมเล็กน้อย จึงไม่กล้าจะบอก, แต่เมื่อถูกดาบสเหล่านั้นเซ้าซี้บ่อยๆ ก็กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง” ดังนี้แล้ว จึงเล่า.

               ประวัติเทวดา               
               ได้ยินว่า เทวราชนั้นเป็นคนเข็ญใจคนหนึ่ง แสวงหาการงานจ้างอยู่ ได้การงานจ้างในสำนักของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็อาศัยการงานนั้นเลี้ยงชีวิต. ต่อมา เมื่อถึงวันอุโบสถวันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีมาจากวิหารแล้ว ถามว่า “ในวันนี้ ใครๆ ได้บอกความเป็นวันอุโบสถแก่ลูกจ้างคนนั้นแล้วหรือ?” คนในบ้านตอบว่า “ข้าแต่นาย ยังไม่ได้บอก.” อนาถบิณฑิกะกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงหุงหาอาหารเย็นไว้สำหรับเขา.” คราวนั้น คนเหล่านั้นก็หุงข้าวสุกแห่งข้าวสารกอบหนึ่งไว้เพื่อชายนั้น. ชายนั้นทำงานในป่าตลอดวันนั้น มาในเวลาเย็น เมื่อเขาคดข้าวให้ ก็ยังไม่บริโภคโดยพลันก่อน ด้วยคิดว่า “เราเป็นผู้หิวแล้ว” คิดว่า “ในวันทั้งหลายอื่น ความโกลาหลใหญ่ ย่อมมีในเรือนนี้ว่า ‘ขอท่านจงให้ข้าว ขอท่านจงให้แกง ขอท่านจงให้กับ’, ในวันนี้ ทุกคนเป็นผู้เงียบเสียง นอนแล้ว, พากันคดอาหารไว้ เพื่อเราคนเดียวเท่านั้น; นี้เป็นอย่างไรหนอ ? จึงถามว่า “คนที่เหลือบริโภคแล้วหรือ?” คนทั้งหลายตอบว่า “ไม่บริโภค พ่อ.”
               ผู้รับจ้าง. เพราะเหตุไร ?
               คนทั้งหลาย. ในเรือนนี้ เขาไม่หุงอาหารในเย็นวันอุโบสถทั้งหลาย. คนทุกคนย่อมเป็นผู้รักษาอุโบสถ, โดยที่สุด เด็กแม้ผู้ยังดื่มนม ท่านมหาเศรษฐีก็ให้บ้วนปาก ให้ใส่ของมีรสหวาน ๔ ชนิด๑- ลงในปากทำให้เป็นผู้รักษาอุโบสถแล้ว, เมื่อประทีปซึ่งระคนด้วยน้ำหอม สว่างอยู่ เด็กเล็กและเด็กใหญ่ทั้งหลายไปสู่ที่นอนแล้ว ย่อมสาธยายอาการ ๓๒; แต่ว่า พวกเรามิได้ทำสติไว้ เพื่อจะบอกความที่วันนี้เป็นวันอุโบสถแก่ท่าน, เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงหุงข้าวไว้เพื่อท่านคนเดียว, ท่านจงรับประทานอาหารนั้นเถิด.
____________________________
๑- คือ เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.

               ผู้รับจ้าง. ถ้าการที่เราเป็นผู้รักษาอุโบสถในบัดนี้ ย่อมควรไซร้ แม้เราก็พึงเป็นผู้รักษาอุโบสถ.
               คนทั้งหลาย. เศรษฐีย่อมรู้เรื่องนี้.
               ผู้รับจ้าง. ถ้าเช่นนั้น ขอพวกท่านจงถามเศรษฐีนั้น.
               คนเหล่านั้นไปถามเศรษฐีแล้ว เศรษฐีกล่าวอย่างนี้ว่า “ชายนั้นไม่บริโภคในบัดนี้ บ้วนปากแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถทั้งหลาย จักได้อุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง” ฝ่ายคนรับจ้างฟังคำนั้น ได้กระทำตามนั้นแล้ว. เมื่อเขาหิวโหยแล้ว เพราะทำงานตลอดทั้งวัน ลมกำเริบแล้วในสรีระ, เขาเอาเชือกผูกท้อง จับที่ปลายเชือกแล้วกลิ้งเกลือกอยู่. เศรษฐีสดับประพฤติเหตุเช่นนั้น มีคนถือคบเพลิงให้คนถือเอาของมีรสหวาน ๔ ชนิด มาสู่สำนักของชายนั้น ถามว่า “เป็นอย่างไร? พ่อ.”
               ผู้รับจ้าง. นาย ลมกำเริบแก่ข้าพเจ้า.
               เศรษฐี. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงลุกขึ้น เคี้ยวกินเภสัชนี้.
               ผู้รับจ้าง. นาย แม้ท่านทั้งหลายรับประทานแล้วหรือ?
               เศรษฐี. ความไม่สบายของพวกเราไม่มี: เจ้าเคี้ยวกินเถิด.
               เขากล่าวว่า “นาย ข้าพเจ้า เมื่อทำอุโบสถกรรม ไม่ได้อาจเพื่อจะทำอุโบสถกรรมทั้งสิ้นได้, แม้ในอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งของข้าพเจ้าอย่าได้เป็นของบกพร่องเลย” ดังนี้แล้ว ก็ไม่ปรารถนา (เพื่อจะเคี้ยวกิน). ชายนั้น แม้อันเศรษฐีกล่าวอยู่ว่า “อย่าทำอย่างนี้เลย พ่อ” ก็ไม่ปรารถนาแล้ว, เมื่ออรุณขึ้นอยู่ ทำกาละแล้ว เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งฉะนั้น เกิดเป็นเทวดาที่ต้นไทรนั้น. เพราะเหตุนั้น เทวดานั้น ครั้นกล่าวเนื้อความนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “เศรษฐีนั้นเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา นับถือพระธรรมว่าเป็นของเรา นับถือพระสงฆ์ว่าเป็นของเรา. สมบัตินั้นข้าพเจ้าได้แล้ว ด้วยผลอันไหลออกแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าอาศัยเศรษฐีนั้นกระทำแล้ว.”

               ดาบสเลื่อมใสออกบวช               
               ดาบส ๕๐๐ พอฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” ก็ลุกขึ้นประคองอัญชลีต่อเทวดา กล่าวว่า ท่านพูดว่า “พระพุทธเจ้า” ดังนี้แล้ว ให้เทวดานั้นปฏิญญา ๓ ครั้งว่า ข้าพเจ้าพูดว่า ‘พระพุทธเจ้า”, แล้วเปล่งอุทานว่า “แม้เสียงกึกก้องนี้แล ก็หาได้ยากในโลก” แล้วกล่าวว่า “ท่านเทวดา พวกเราเป็นผู้อันท่านให้ได้ฟังเสียง ที่ยังมิได้เคยฟังแล้ว ในแสนกัลป์เป็นอเนก.”
               ลำดับนั้น พวกดาบสที่เป็นอันเตวาสิก ได้กล่าวคำนี้กะอาจารย์ว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเราจงพากันไปสู่สำนักของพระศาสดา.” อาจารย์กล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย เศรษฐี ๓ ท่านเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวกเรา, พรุ่งนี้พวกเรารับภิกษาในที่อยู่ของเศรษฐีเหล่านั้น บอกแม้แก่เศรษฐีเหล่านั้นแล้ว จึงจักไป, พ่อทั้งหลาย พวกพ่อจงยับยั้งอยู่ก่อน.” ดาบสเหล่านั้นยับยั้งอยู่แล้ว.
               ในวันรุ่งขึ้น พวกเศรษฐีเตรียมข้าวยาคูและภัตแล้ว ปูอาสนะไว้ รู้ว่า “วันนี้ เป็นวันมาแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย”; ทำการต้อนรับดาบสเหล่านั้นไปสู่ที่อยู่ เชิญให้นั่ง ได้ถวายภิกษาแล้ว. ดาบสเหล่านั้นทำภัตกิจเสร็จแล้วกล่าวว่า “ท่านมหาเศรษฐีทั้งหลาย พวกเราจักไป.”
               เศรษฐี. ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายรับปฏิญญาของพวกข้าพเจ้าตลอด ๔ เดือน ซึ่งมีในฤดูฝนแล้วมิใช่หรือ? บัดนี้พวกท่านจักไปไหน?
               ดาบส. ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก, พระธรรมก็เกิดขึ้นแล้ว, พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นแล้ว, เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจักไปสู่สำนักของพระศาสดา.
               เศรษฐี. ก็การไปสู่สำนักของพระศาสดาองค์นั้น ควรแก่ท่านทั้งหลายเท่านั้นหรือ?
               ดาบส. แม้คนเหล่าอื่นก็ควร ไม่ห้าม ผู้มีอายุ.
               เศรษฐี. ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงรอก่อน แม้พวกข้าพเจ้าทำการตระเตรียมแล้ว ก็จะไป.
               ดาบสเหล่านั้น กล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายทำการตระเตรียมอยู่, ความเนิ่นช้าย่อมมีแก่พวกเรา, พวกเราจะไปก่อน ท่านทั้งหลายพึงมาข้างหลัง” ดังนี้แล้ว ก็ไปก่อน, เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชมเชยแล้ว ถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถา แสดงธรรมแก่ดาบสเหล่านั้น. ในที่สุดแห่งเทศนา ดาบสทั้งปวงบรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ทูลขอบรรพชา ได้เป็นผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ดุจพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ในลำดับแห่งพระดำรัสว่า
               “ท่านทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด.”

               สามเศรษฐีสร้างวิหาร               
               เศรษฐีทั้งสามแม้นั้นแล จัดเกวียนคนละ ๕๐๐ เล่ม บรรทุกเครื่องอุปกรณ์แก่ทาน มีผ้า เครื่องนุ่งห่ม เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ไปถึงเมืองสาวัตถีแล้ว เข้าไปสู่พระเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา สดับธรรมกถาแล้ว ในที่สุดแห่งกถาก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ถวายทานอยู่ในสำนักของพระศาสดาประมาณกึ่งเดือนแล้ว ทูลเชิญพระศาสดา เพื่อประโยชน์เสด็จไปสู่เมืองโกสัมพี, เมื่อพระศาสดาจะประทานปฏิญญา จึงตรัสว่า “คฤหบดีทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดียิ่งในเรือนว่างแล” จึงทูลว่า “ข้อนั้น พวกข้าพระองค์ทราบแล้ว พระเจ้าข้า การที่พระองค์เสด็จมาด้วยสาสน์ที่พวกข้าพระองค์ส่งไป ย่อมควร” ดังนี้แล้ว ไปสู่เมืองโกสัมพี ให้สร้างมหาวิหาร ๓ หลัง คือ
                         โฆสกเศรษฐี ให้สร้างโฆสิตาราม,
                         กุกกุฏเศรษฐี ให้สร้างกุกกุฏาราม,
                         ปาวาริกเศรษฐี ให้สร้างปาวาริการาม
               แล้วส่งสาสน์ไปเพื่อประโยชน์แก่อันเสด็จมาแห่งพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงสดับสาสน์ของเศรษฐีเหล่านั้น ก็ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว. เศรษฐีเหล่านั้นต้อนรับ เชิญให้พระศาสดาเสด็จเข้าไปในวิหารแล้ว มอบถวาย ๓ ครั้งว่า “ข้าพระองค์ขอถวายวิหารนี้แก่ภิกษุสงฆ์อันมาแต่ ๔ ทิศ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข” ดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติตามวาระๆ๑- พระศาสดาย่อมประทับอยู่ในวิหารหนึ่งๆ ทุกๆ วัน, ประทับอยู่ในวิหารของเศรษฐีคนใด ก็ย่อมเสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตที่ประตูเรือนของเศรษฐีคนนั้นแล.
____________________________
๑- ผลัดเปลี่ยนกันปฏิบัติ

               นายสุมนมาลาการเลี้ยงภิกษุสงฆ์               
               ก็เศรษฐีทั้งสามคนนั้นได้มีนายช่างมาลาชื่อสุมนะ เป็นผู้อุปัฏฐาก. นายสุมนมาลาการนั้นกล่าวกะเศรษฐีเหล่านั้น อย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการอุปัฏฐากท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน, เป็นผู้ใคร่เพื่อจะยังพระศาสดาให้เสวย, ขอท่านทั้งหลายจงให้พระศาสดาแก่ข้าพเจ้าวันหนึ่ง.”
               เศรษฐีทั้งสามนั้นกล่าวว่า “นาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนิมนต์พระศาสดาเสวยในวันพรุ่งนี้เถิด.” นายสุมนมาลาการนั้นรับคำว่า “ดีแล้ว นาย” ดังนี้ จึงนิมนต์พระศาสดา ตระเตรียมเครื่องสักการะ.
               ในกาลนั้น พระราชาพระราชทานกหาปณะ ๘ กหาปณะให้เป็นค่าดอกไม้แก่นางสามาวดีทุกๆ วัน. ทาสีของนางสามาวดีนั้นชื่อนางขุชชุตตรา ไปสู่สำนักของนายสุมนมาลาการ รับดอกไม้ทั้งหลายเนืองนิตย์. ต่อมา นายมาลาการกล่าวกะนางขุชชุตตรานั้นผู้มาในวันนั้นว่า “ข้าพเจ้านิมนต์พระศาสดาไว้แล้ว, วันนี้ ข้าพเจ้าจักบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้อันเลิศ, นางจงรออยู่ เป็นผู้ช่วยเหลือในการเลี้ยงพระฟังธรรม (เสียก่อน) แล้วจึงรับดอกไม้ไป.” นางรับคำว่า “ได้.”
               นายสุมนะเลี้ยงภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้รับบาตรเพื่อประโยชน์แก่การกระทำอนุโมทนา. พระศาสดาทรงเริ่มธรรมเทศนาเป็นเครื่องอนุโมทนาแล้ว. ฝ่ายนางขุชชุตตราสดับธรรมกถาของพระศาสดาอยู่เทียว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. ในวันทั้งหลายอื่น นางถือเอากหาปณะ ๔ ไว้สำหรับตน รับดอกไม้ไปด้วยกหาปณะ ๔. ในวันนั้น นางรับดอกไม้ไปด้วยกหาปณะทั้ง ๘ กหาปณะ.
               ลำดับนั้น นางสามาวดีกล่าวกะนางขุชชุตตรานั้นว่า “แม่ พระราชาพระราชทานค่าดอกไม้แก่เราเพิ่มขึ้น ๒ เท่าหรือหนอ?”
               ขุชชุตตรา. หามิได้ พระแม่เจ้า.
               สามาวดี. เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร ดอกไม้จึงมากเล่า?
               ขุชชุตตรา. ในวันทั้งหลายอื่น หม่อมฉันถือเอากหาปณะ ๔ ไว้สำหรับตน นำดอกไม้มาด้วยกหาปณะ ๔.
               สามาวดี. เพราะเหตุไร ในวันนี้ เจ้าจึงไม่ถือเอา?
               ขุชชุตตรา. เพราะความที่หม่อมฉันฟังธรรมกถาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรลุธรรม.
               ลำดับนั้น นางสามาวดีมิได้คุกคามนางขุชชุตตรานั้นเลยว่า “เหวย นางทาสีผู้ชั่วร้าย เจ้าจงให้กหาปณะที่เจ้าถือเอาแล้วตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แก่เรา” กลับกล่าวว่า “แม่ เจ้าจงทำแม้เราทั้งหลายให้ดื่มอมฤตรสที่เจ้าดื่มแล้ว”, เมื่อนางกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอพระแม่เจ้าจงยังหม่อมฉันให้อาบน้ำ” จึงให้นางอาบน้ำด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อแล้ว รับสั่งให้ประทานผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืน. นางขุชชุตตรานั้นนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ให้ปูอาสนะแล้ว ให้นำพัดมาอันหนึ่ง นั่งบนอาสนะ จับพัดอันวิจิตร เรียกมาตุคาม ๕๐๐ มาแล้ว แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น โดยทำนองที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนั้นแล. หญิงแม้ทั้งปวงเหล่านั้นฟังธรรมกถาของนางแล้ว ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               หญิงแม้ทั้งปวงเหล่านั้นไหว้นางขุชชุตตราแล้ว กล่าวว่า “แม่ จำเดิมแต่วันนี้ ท่านอย่าทำการงานอันเศร้าหมอง (งานไพร่), ท่านจงตั้งอยู่ในฐานะแห่งมารดาและฐานะแห่งอาจารย์ของพวกข้าพเจ้า ไปสู่สำนักพระศาสดา ฟังธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว จงกล่าวแก่พวกข้าพเจ้า.” นางขุชชุตตรากระทำอยู่อย่างนั้น ในกาลอื่น ก็เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว.

               นางขุชชุตตราเลิศในทางแสดงธรรม               
               ต่อมา พระศาสดาทรงตั้งนางขุชชุตตรานั้นไว้ในเอตทัคคะว่า “ภิกษุทั้งหลาย นางขุชชุตตรานี้นั้นเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาอุบาสิกาสาวิกาของเรา ผู้เป็นธรรมกถิกา [แสดงธรรมกถา]๑-
____________________________
๑- นัยหนึ่ง แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสิกาสาวิกาของเราผู้กล่าวธรรมทั้งหลาย นางขุชชุตตรานี้เป็นผู้เลิศ.”

               หญิง ๕๐๐ แม้เหล่านั้นแล กล่าวกะนางขุชชุตตรานั้น อย่างนี้ว่า “แม่ พวกข้าพเจ้าใคร่เพื่อจะเฝ้าพระศาสดา, ขอท่านจงแสดงพระศาสดานั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, พวกข้าพเจ้าจะบูชาพระศาสดานั้นด้วยเครื่องสักการบูชา มีของหอม และระเบียบดอกไม้เป็นต้น.”
               ขุชชุตตรา. แม่เจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าราชสกุล เป็นของหนัก, ข้าพเจ้าไม่อาจเพื่อจะพาท่านทั้งหลายไปภายนอกได้.
               พวกหญิง แม่ ท่านอย่าให้พวกข้าพเจ้าฉิบหายเสียเลย, ขอท่านจงแสดงพระศาสดาแก่พวกข้าพเจ้าเถิด.
               ขุชชุตตรา. ถ้าอย่างนั้น การดูแลเป็นการที่ท่านอาจ [ทำได้] ด้วยช่องมีประมาณเท่าใด, จงเจาะช่องมีประมาณเท่านั้น ที่ฝาห้องเป็นที่อยู่ของพวกท่าน, ให้นำของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นมาแล้ว ยืนอยู่ในที่นั้นๆ จงดูแล จงเหยียดหัตถ์ทั้งสองออกถวายบังคม และจงบูชาพระศาสดาผู้เสด็จไปสู่เรือนของเศรษฐีทั้งสาม.
               หญิงเหล่านั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว แลดูพระศาสดาผู้เสด็จไปและเสด็จมาอยู่ ถวายบังคม และบูชาแล้ว.

               ประวัติหน้าต่าง               
               ต่อมาวันหนึ่ง พระนางมาคันทิยาเสด็จออกเดินจากพื้นปราสาทของตนไปสู่ที่อยู่ของหญิงเหล่านั้น เห็นช่องในห้องทั้งหลายแล้ว จึงถามว่า “นี้อะไรกัน?” เมื่อหญิงเหล่านั้นผู้ไม่รู้ความอาฆาตที่พระนางนั้นผูกไว้ในพระศาสดา จึงตอบว่า “พระศาสดาเสด็จมาสู่นครนี้, พวกหม่อมฉันยืนอยู่ในที่นี้ ย่อมถวายบังคมและบูชาพระศาสดา” ดังนี้แล้วคิดว่า “พระสมณโคดม ชื่อว่ามาแล้วสู่นครนี้, บัดนี้ เราจักกระทำกรรมที่ควรทำแก่พระสมณโคดมนั้น แม้หญิงเหล่านี้ก็เป็นอุปัฏฐายิกาของพระสมณโคดมนั้น, เราจักรู้กรรมที่พึงทำแม้แก่หญิงเหล่านี้” จึงไปกราบทูลแด่พระราชา ว่า “ข้าแต่มหาราช หญิง ๕๐๐ รวมทั้งพระนางสามาวดีมีความปรารถนาในภายนอก, พระองค์จักไม่มีพระชนม์โดย ๒-๓ วันเป็นแน่.” พระราชาไม่ทรงเชื่อแล้วด้วยทรงพระดำริว่า “หญิงเหล่านั้นจักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้.” แม้เมื่อพระนางมาคันทิยากราบทูลอีก ก็ไม่ทรงเชื่ออยู่นั่นเอง.
               ลำดับนั้น พระนางมาคันทิยาจึงกราบทูลพระราชานั้นผู้แม้เมื่อตนกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้งก็ไม่ทรงเชื่อว่า “ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ (คำ) หม่อมฉันไซร้ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่อยู่ของหญิงเหล่านั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญเถิด.” พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นช่องในห้องทั้งหลาย จึงตรัสถามว่า “นี่อะไรกัน?” เมื่อหญิงเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ไม่ทรงพิโรธต่อหญิงเหล่านั้น มิได้ตรัสอะไรๆ เลย, รับสั่งให้ปิดช่องทั้งหลายเสีย แล้วให้ทำหน้าต่างมีช่องน้อยไว้ในห้องทั้งปวง. ได้ยินว่า หน้าต่างมีช่องน้อยทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น.

               พระศาสดาผจญกับการแก้แค้น               
               พระนางมาคันทิยาไม่อาจเพื่อจะทำอะไรๆ แก่หญิงเหล่านั้นได้ ก็ดำริว่า “เราจักทำกรรมที่ควรทำแก่พระสมณโคดมให้ได้” จึงให้ค่าจ้างแก่ชาวเมืองแล้วกล่าวว่า “พวกเจ้าพร้อมด้วยพวกผู้ชายที่เป็นทาสและกรรมกร จงด่า บริภาษ พระสมณโคดมผู้เข้าไปสู่ภายในพระนคร เที่ยวอยู่ ให้หนีไป.”
               พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในรัตนะ ๓ ก็ติดตามพระศาสดาผู้เสด็จไปสู่ภายในพระนคร ด่าอยู่ บริภาษอยู่ด้วย วัตถุสำหรับด่า ๑๐ อย่าง ว่า
               ๑. เจ้าเป็นโจร ๒. เจ้าเป็นพาล ๓. เจ้าเป็นบ้า ๔. เจ้าเป็นอูฐ ๕. เจ้าเป็นวัว ๖. เจ้าเป็นลา ๗. เจ้าเป็นสัตว์นรก ๘. เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๙. สุคติของเจ้าไม่มี ๑๐. เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว.
               ท่านพระอานนท์ฟังคำนั้นแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระะศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวเมืองเหล่านี้ ย่อมด่า ย่อมบริภาษพวกเรา, พวกเราจะไปในที่อื่นจากที่นี้.”
               พระศาสดาตรัสถามว่า “เราจะไปที่ไหน? อานนท์.”
               พระอานนท์กราบทูลว่า “ไปเมืองอื่น พระเจ้าข้า.”
               พระศาสดา. เมื่อพวกมนุษย์ในเมืองนั้นด่าอยู่, เราจักไปในที่ไหนกันอีกเล่า? อานนท์.
               พระอานนท์. ไปสู่เมืองอื่น แม้จากเมืองนั้น พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. เมื่อพวกมนุษย์ในเมืองนั้นด่าอยู่, เราจักไปในที่ไหนกันเล่า?
               พระอานนท์. ไปเมืองอื่นจากเมืองนั้น พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. อานนท์ การทำอย่างนี้ไม่ควร; อธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด, เมื่ออธิกรณ์นั้นสงบระงับแล้วในที่นั้นแล จึงควรไปในที่อื่น; อานนท์ ก็พวกเหล่านั้น ใครเล่า? ด่า.
               พระอานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเหล่านั้นทุกคนจนกระทั่งพวกทาส และกรรมกร ด่า.
               พระศาสดา ตรัสว่า “อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างตัวก้าวลงสู่สงคราม, ก็การอดทนลูกศรอันมาจาก ๔ ทิศ ย่อมเป็นภาระของช้างซึ่งก้าวลงสู่สงครามฉันใด ชื่อว่าการอดทนต่อถ้อยคำอันคนทุศีลเป็นอันมาก กล่าวแล้ว ก็เป็นภาระของเราฉันนั้นเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว เมื่อทรงปรารภพระองค์แสดงธรรมภาษิตคาถา ๓ เหล่านี้ในนาควรรค๑- ว่า
                                   “เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน ดังช้างอดทนลูกศร
                         ซึ่งตกไปจากแล่งในสงคราม, เพราะคนเป็นอันมาก เป็น
                         ผู้ทุศีล, ราชบุรุษทั้งหลาย ย่อมนำพาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่
                         ประชุม, พระราชาย่อมเสด็จขึ้นพาหนะที่ฝึกแล้ว; ในหมู่
                         มนุษย์ผู้ใดอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้, ผู้นั้นชื่อว่าฝึก (ตน)
                         แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด.
                                   ม้าอัสดรที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐ, ม้าอาชาไนย
                         ม้าสินธพที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐ, พระยาช้างชาติกุญชร
                         ที่ฝึกแล้ว ก็เป็นสัตว์ประเสริฐ, (แต่) ผู้ฝึกตนเองได้แล้ว
                         ประเสริฐกว่านั้น.”

____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๗๕.

               ธรรมกถาได้มีประโยชน์แก่มหาชนผู้ถึงพร้อมแล้ว,
               พระศาสดา ครั้นทรงแสดงธรรมอย่างนั้นแล้ว ตรัสว่า “อานนท์ เธออย่าคิดแล้ว, พวกเหล่านั้นจักด่าได้เพียง ๗ วันเท่านั้น ในวันที่ ๗ จักเป็นผู้นิ่ง เพราะว่า อธิกรณ์ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เกิน ๗ วันไป.”

               พระนางมาคันทิยาหาความด้วยเรื่องไก่               
               พระนางมาคันทิยาให้คนด่าพระศาสดาแล้ว (แต่) ไม่อาจให้หนีไปได้ จึงคิดว่า “เราจักทำอย่างไรหนอ?” ดังนี้แล้ว คิดว่า “หญิงเหล่านี้เป็นผู้อุปถัมภ์พระสมณโคดมนั้น, เราจักทำความฉิบหายให้แก่หญิงเหล่านั้น”
               วันหนึ่ง เมื่อทำการรับใช้อยู่ในที่เป็นที่เสวยน้ำจัณฑ์แห่งพระราชา ส่งข่าวไปแก่อาว่า “โปรดทราบว่า ฉันมีความต้องการด้วยไก่ทั้งหลาย, ขออาจงนำเอาไก่ตาย ๘ ตัว ไก่เป็น ๘ ตัวมา, ก็แลครั้นมาแล้ว จงยืนอยู่ที่บันได บอกความที่ตนมาแล้ว แม้เมื่อรับสั่งว่า ‘จงเข้ามา’, ก็อย่าเข้าไป จงส่งไก่เป็น ๘ ตัวไปก่อน ส่งไก่ตายนอกนี้ไปภายหลัง”, และนางได้ประทานสินจ้างแก่คนใช้ด้วยสั่งว่า “เจ้าพึงกระทำตามคำของเรา.”
               นายมาคันทิยะมาแล้ว ให้ทูลแด่พระราชาให้ทรงทราบ, เมื่อรับสั่งว่า “จงเข้ามา” ก็กล่าวว่า “เราจักไม่เข้าไปสู่ที่เป็นที่เสวยน้ำจัณฑ์ของพระราชา.” ฝ่ายพระนางมาคันทิยาส่งคนใช้ไปด้วยคำว่า “พ่อ จงไปสู่สำนักแห่งอาของเรา.” เขาไปแล้ว นำไก่เป็น ๘ ตัว ซึ่งนายมาคันทิยะนั้นให้แล้วมา กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งเครื่องบรรณาการมาแล้ว.”
               พระราชาตรัสว่า “ดีแท้ แกงอ่อมเกิดขึ้นแก่พวกเราแล้ว, ใครหนอแล? ควรแกง.” พระนางมาคันทิยากราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข เป็นผู้ไม่มีการงานเที่ยวเตร่อยู่, ขอพระองค์จงส่งไปให้แก่หญิงเหล่านั้น; หญิงเหล่านั้นแกงแล้วจักนำมา (ถวาย).”
               พระราชาทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า “เจ้าจงไปให้แก่หญิงเหล่านั้น, ได้ยินว่า หญิงเหล่านั้น จงอย่าให้ในมือคนอื่น จงฆ่าแกงเองทีเดียว.” คนใช้รับพระดำรัสว่า “ดีละ พระเจ้าข้า” แล้วไปบอกอย่างนั้น เป็นผู้อันหญิงเหล่านั้น คัดด้านแล้วว่า “พวกฉันไม่ทำปาณาติบาต” จึงมาทูลความนั้นแด่พระราชา.
               พระนางมาคันทิยากราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์เห็นไหม? บัดนี้ พระองค์จักทรงทราบการทำ หรือไม่ทำปาณาติบาตแห่งหญิงเหล่านั้น, ขอพระองค์จงรับสั่งว่า ‘หญิงเหล่านั้นจงแกงส่งไปถวายแก่พระสมณโคดม’ ดังนี้เถิด พระเจ้าข้า.”
               พระราชาตรัสอย่างนั้นแล้วส่งไป. คนใช้นอกนี้ ถือทำเป็นเดินไปอยู่ ไปแล้ว ให้ไก่เหล่านั้นแก่ปุโรหิต รับไก่ตายไปสู่สำนักของหญิงเหล่านั้น กล่าวว่า “ได้ยินว่า พวกท่านแกงไก่เหล่านี้แล้ว จงส่งไปสู่สำนักพระศาสดา.” หญิงเหล่านั้นกล่าวรับรองว่า “นำมาเถิด นายชื่อว่าการแกงไก่ตายนี้เป็นกิจของพวกเรา” ดังนี้แล้ว ก็รับไว้. คนใช้นั้นมาสู่สำนักของพระราชา อันพระราชาตรัสถามว่า “เป็นอย่างไร? พ่อ” จึงกราบทูลว่า “เมื่อข้าพระองค์เพียงกล่าวว่า ‘พวกท่าน จงแกงส่งไปถวายพระสมณโคดม’ เท่านั้น, หญิงเหล่านั้นก็สวนทางมารับเอาแล้ว.” พระนางมาคันทิยากราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช จงดูเถิด, หญิงเหล่านั้นหาทำให้แก่บุคคลเช่นพระองค์ไม่, เมื่อหม่อมฉันทูลว่า ‘หญิงเหล่านั้นมีความปรารถนาในภายนอก’, พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ.”
               พระราชาแม้ทรงสดับคำนั้น ก็ได้ทรงอดกลั้น นิ่งไว้เช่นเดิม.
               พระนางมาคันทิยาคิดว่า “เราจะทำอย่างไรหนอแล?”

               พระนางมาคันทิยาหาความด้วยเรื่องงู               
               ก็ในกาลนั้น พระราชาย่อมทรงยับยั้งอยู่ตลอด ๗ วัน ตามวาระกัน ณ พื้นปราสาทแห่งหญิงทั้งสามนั้น คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตาและพระนางมาคันทิยา.
               ลำดับนั้น พระนางมาคันทิยารู้ว่า “พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ พระราชาจักเสด็จไปสู่พื้นปราสาทของพระนางสามาวดี” จึงส่งข่าวไปแก่อาว่า “โปรดทราบว่า ฉันมีความต้องการด้วยงู, ขออาจงถอนเขี้ยวงูทั้งหลายแล้วส่งงูไปตัวหนึ่ง.” นายมาคันทิยะกระทำอย่างนั้นแล้ว ส่งไป. พระราชาทรงถือเอาพิณหัสดีกันต์เที่ยวเสด็จไปสู่ที่เป็นที่เสด็จไปของพระองค์. ในรางพิณนั้นมีช่องๆ หนึ่ง. พระนางมาคันทิยาปล่อยงูเข้าไปทางช่องนั้น แล้วปิดช่องเสียงด้วยกลุ่มดอกไม้. งูได้อยู่ในภายในพิณนั้นเองตลอด ๒-๓ วัน.
               ในวันเสด็จไปแห่งพระราชา พระนางมาคันทิยาทูลถามว่า “ข้าแต่สมมติเทพ วันนี้ พระองค์จักเสด็จไปสู่ปราสาทของมเหสีคนไหน?” เมื่อตรัสตอบว่า “ของนางสามาวดี”, จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช วันนี้ หม่อมฉันเห็นสุบินไม่เป็นที่พอใจ, ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ไม่อาจเสด็จไปในที่นั้นได้ พระเจ้าข้า.” พระราชาตรัสว่า “เราจักไปให้ได้.” พระนางห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แล้วทูลว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้หม่อมฉันจักไปกับพระองค์ด้วย”, แม้พระราชาให้กลับอยู่ก็ไม่กลับ กราบทูลว่า “หม่อมฉันไม่ทราบว่า ‘จักมีเหตุอะไร? พระเจ้าข้า” ดังนั้นแล้ว ก็ได้ไปกับพระราชาจนได้.
               พระราชาทรงผ้า ดอกไม้ ของหอม และเครื่องอาภรณ์ ซึ่งหมู่หญิงรวมด้วยพระนางสามาวดีถวาย เสวยโภชนะอันดี วางพิณไว้เบื้องบนพระเศียร แล้วบรรทมบนที่บรรทม. พระนางมาคันทิยาทำเป็นเดินไปมา ได้นำกลุ่มดอกไม้ออกจากช่องพิณ. งูอดอาหารถึง ๒-๓ วัน เลื้อยออกมาจากช่องนั้นพ่น (พิษ) แผ่พังพาน นอนบนแท่นที่บรรทมแล้ว.
               พระนางมาคันทิยาเห็นงูนั้น ก็ร้องแหวขึ้นว่า “งู พระเจ้าข้า” เมื่อจะด่าพระราชาและหญิงเหล่านั้น จึงกล่าวว่า “พระเจ้าแผ่นดินโง่องค์นี้ไม่มีวาสนา ไม่ฟังคำพูดของเรา แม้อีหญิงเหล่านี้ก็เป็นคนไม่มีสิริหัวดื้อ, พวกมันไม่ได้อะไรจากสำนักของพระเจ้าแผ่นดินหรือ? พวกเจ้า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ พอสวรรคตแล้ว จักเป็นอยู่สบายหรือหนอ? เมื่อพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระชนม์อยู่ พวกเจ้าเป็นอยู่ลำบากหรือ? วันนี้ เราเห็นการฝันร้ายแล้ว, พระองค์เอ๋ย พระองค์ไม่ทรงฟังเสียงของหม่อมฉันแม้ผู้วิงวอนอยู่ว่า ไม่ควรเสด็จไปปราสาทของพระนางสามาวดี.”

               พระเจ้าอุเทนลงโทษพระนางสามาวดี               
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นงู ก็ทรงสะดุ้งพระหฤทัยกลัวแต่มรณะ ได้เป็นประดุจลุกโพลงด้วยความพิโรธว่า “หญิงเหล่านี้มาทำกรรมแม้เห็นปานนี้, ชิ ชิ เราก็ชั่วช้า ไม่เชื่อคำของนางมาคันทิยานี้ แม้ผู้บอกความที่หญิงเหล่านี้เป็นคนลามก, ครั้งก่อนมันเจาะช่องไว้ในห้องทั้งหลายของตนนั่งอยู่แล้ว. เมื่อเราส่งไก่ไปให้ก็ส่งคืนมาอีก, วันนี้ปล่อยงูไว้บนที่นอน.”
               ฝ่ายพระนางสามาวดี ก็ได้ให้โอวาทแก่หญิง ๕๐๐ ว่า “แม่ทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของพวกเราหามีไม่, ท่านทั้งหลายจงยังเมตตาจิตอันสม่ำเสมอนั่นแล ให้เป็นไปในพระราชาผู้เป็นจอมแห่งนรชน ในพระเทวีและในตน, ท่านทั้งหลายอย่าทำความโกรธต่อใครๆ.”
               พระราชาทรงถือธนูมีสัณฐานดังงาช้าง (หรือเขาสัตว์) ซึ่งมีกำลัง (แห่งการโก่ง) ของคนพันหนึ่ง ทรงขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษ ทำพระนางสามาวดีไว้ ณ เบื้องหน้า ให้หญิงเหล่านั้นทุกคน ยืนตามลำดับกันแล้ว จึงปล่อยลูกศรไปที่พระอุระของพระนางสามาวดี. ลูกศรนั้นหวนกลับบ่ายหน้าสู่ทางที่ตนมาเที่ยว ประดุจจะเข้าไปสู่พระหทัยของพระราชา ได้ตั้งอยู่แล้วด้วยเมตตานุภาพของพระนางสามาวดีนั้น.
               พระราชาทรงพระดำริว่า “ลูกศรที่เรายิงไป ย่อมแทงทะลุไปได้แม้ซึ่งศิลา, แม้ฐานะที่จะกระทบในอากาศก็ไม่มี, ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกศรนี้กลับมุ่งหน้ามาสู่หัวใจของเรา (ทำไม?), แท้จริง แม้ลูกศรนี้ไม่มีจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ของมีชีวิต ยังรู้จักคุณของนางสามาวดี, ตัวเรา แม้เป็นมนุษย์ก็หารู้ (คุณ) ไม่.”

               พระเจ้าอุเทนประทานพรแก่พระนางสามาวดี               
               ท้าวเธอทิ้งธนูเสีย ทรงประคองอัญชลี นั่งกระหย่งแทบบาทมูลของพระนางสามาวดี
               ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   “เราฟั่นเฟือน เลือนหลง, ทิศทั้งปวงย่อม
                         มืดตื้อแก่เรา, สามาวดีเอ๋ย เจ้าจงต้านทานเราไว้,
                         และเจ้าจงเป็นที่พึ่งของเรา.”
               พระนางสามาวดีสดับพระดำรัสของท้าวเธอแล้ว ก็มิได้กราบทูลว่า “ดีแล้ว สมมติเทพ พระองค์จงถึงหม่อมฉันเป็นที่พึ่งเถิด”, (แต่) กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันถึงผู้ใดว่า เป็นที่พึ่ง แม้พระองค์ก็จงถึงผู้นั้นแลว่า เป็นที่พึ่งเถิด.”
               พระนางสามาวดี ผู้เป็นสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ก็กล่าวว่า
                                   “พระองค์ อย่าทรงถึงหม่อมฉันเป็นที่พึ่งเลย,
                         หม่อมฉันถึงผู้ใดว่าเป็นที่พึ่ง, ข้าแต่มหาราช ผู้นั้น
                         คือพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้านั่นเป็นผู้เยี่ยมยอด,
                         ขอพระองค์ทรงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นที่
                         พึ่งด้วย, ทรงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วย.”
               พระราชาทรงสดับคำของพระนางสามาวดีนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “บัดนี้ เรายิ่งกลัวมากขึ้น”
               แล้วตรัสคาถานี้ว่า
                                   “เรานี้เลือนหลงยิ่งขึ้น, ทิศทั้งปวงย่อมมืดตื้อ
                         แก่เรา, สามาวดีเอ๋ย เจ้าจงต้านทานเราไว้ และเจ้าจง
                         เป็นที่พึ่งของเรา.”
               ลำดับนั้น พระนางสามาวดีนั้นก็ทูลถามท้าวเธออีก โดยนัยก่อนนั้นแล,
               เมื่อท้าวเธอตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เราขอถึงเจ้าและพระศาสดาว่าเป็นที่พึ่ง และเราจะให้พรแก่เจ้า” ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พร จงเป็นสิ่งอันหม่อมฉันได้รับเถิด”
               ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทรงถึง (พระองค์) เป็นสรณะแล้ว ทรงนิมนต์ ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์สิ้น ๗ วันแล้ว ทรงเรียกพระนางสามาวดีมา ตรัสว่า “เจ้าจงลุกขึ้นรับพร.”
               พระนางสามาวดีกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันไม่มีความต้องการด้วยสิ่งทั้งหลายมีเงินเป็นต้น, แต่ขอพระองค์จงพระราชทานพรนี้แก่หม่อมฉัน, (คือ) พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูป จะเสด็จมา ณ ที่นี้เนืองนิตย์ได้โดยประการใด, ขอพระองค์ทรงกระทำโดยประการนั้นเถิด, หม่อมฉันจักฟังธรรม.”
               พระราชาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จมาในที่นี้เนืองนิตย์ พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป, เหล่าหญิงซึ่งรวมทั้งพระนางสามาวดีเข้าด้วย กล่าวว่า ‘หม่อมฉันจักฟังธรรม.’”
               พระศาสดา. มหาบพิตร ธรรมดาการไปในที่เดียวเนืองนิตย์ย่อมไม่ควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะมหาชนหวังเฉพาะ (พระพุทธเจ้า) อยู่.
               พระราชา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงสั่งภิกษุไว้รูปหนึ่งเถิด.
               พระศาสดาทรงสั่งพระอานนท์เถระแล้ว. จำเดิมแต่นั้น พระอานนทเถระนั้นก็พาภิกษุ ๕๐๐ รูปไปสู่ราชสกุลเนืองนิตย์, พระเทวีแม้เหล่านั้น เลี้ยงพระเถระพร้อมทั้งบริวาร ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์.

               พระราชาทรงถวายจีวรแก่พระอานนท์               
               วันหนึ่ง หญิงเหล่านั้นฟังธรรมกถาของพระเถระแล้ว เลื่อมใส ได้กระทำการบูชาธรรมด้วยผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืน. อุตราสงค์ผืนหนึ่งๆ ย่อมมีค่าถึง ๕๐๐. พระราชาไม่ทรงเห็นผ้าสักผืนหนึ่งของหญิงเหล่านั้น จึงตรัสถามว่า “ผ้าอุตราสงค์อยู่ที่ไหน?”
               พวกหญิง. พวกหม่อมฉันถวายแล้วแด่พระผู้เป็นเจ้า.
               พระราชา. พระผู้เป็นเจ้านั้น รับทั้งหมดหรือ?
               พวกหญิง. เพคะ รับ (ทั้งหมด).
               พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระแล้ว ตรัสถามความที่หญิงเหล่านั้นถวายผ้าอุตราสงค์ ทรงสดับความที่ผ้าอันหญิงเหล่านั้นถวายแล้ว และความที่พระเถระรับไว้แล้ว จึงตรัสถามว่า “ท่านผู้เจริญ ผ้าทั้งหลายมากเกินไปมิใช่หรือ? ท่านจักทำอะไรด้วยผ้ามีประมาณเท่านี้?”
               พระเถระ. มหาบพิตร อาตมภาพรับผ้าไว้พอแก่อาตมภาพแล้ว จักถวายผ้าที่เหลือแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่า.
               พระราชา. ภิกษุทั้งหลาย จักทำจีวรเก่าของตนให้เป็นอะไร?
               พระเถระ. เธอจักให้แก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่ากว่าทั้งหลาย.
               พระราชา. ภิกษุเหล่านั้นจักทำจีวรเก่าของตนให้เป็นอะไร?
               พระเถระ. เธอจักทำให้เป็นผ้าปูนอน.
               พระราชา. เธอจักทำผ้าปูนอนเก่าให้เป็นอะไร?
               พระเถระ. เธอจักทำให้เป็นผ้าปูพื้น.
               พระราชา. เธอจักทำผ้าปูพื้นเก่าให้เป็นอะไร?
               พระเถระ. ขอถวายพระพร เธอจักทำให้เป็นผ้าเช็ดเท้า.
               พระราชา. เธอจักทำผ้าเช็ดเท้าเก่าให้เป็นอะไร?
               พระเถระ. เธอจักโขลกให้ละเอียด๑- แล้ว ผสมด้วยดินเหนียวฉาบฝา.
               พระราชา. ท่านผู้เจริญ ผ้าทั้งหลายที่ถวายแด่พวกพระผู้เป็นเจ้า จักไม่เสียหาย แม้เพราะทำกรรมมีประมาณเท่านั้นหรือ?
               พระเถระ. อย่างนั้น มหาบพิตร.
               พระราชาทรงเลื่อมใสแล้ว รับสั่งให้นำผ้า ๕๐๐ อื่นอีกมาก ให้ตั้งไว้แทบบาทมูลของพระเถระแล้ว.
____________________________
๑- ขณฺฑาขณฺฑิกํ แปลว่า ให้เป็นท่อนและหาท่อนมิได้

               ได้ยินว่า พระเถระได้ผ้ามีค่าถึง ๕๐๐ ซึ่งพระราชาทรงวางไว้แทบบาทมูลถวายโดยส่วน ๕๐๐ ถึง ๕๐๐ ครั้ง, ได้ผ้ามีค่าถึงพันหนึ่ง ซึ่งพระราชาทรงวางไว้แทบบาทมูลถวายโดยส่วนพันหนึ่ง ถึงพันครั้ง, ได้ผ้ามีค่าถึงแสนหนึ่ง ซึ่งพระราชาทรงวางไว้แทบบาทมูลถวายโดยส่วนแสนหนึ่ง ถึงแสนครั้ง. ก็ชื่อว่าการนับผ้าที่พระเถระได้แล้วโดยนัย เป็นต้นว่า ๑-๒-๓-๔-๕-๑๐ ดังนี้ ย่อมไม่มี.
               ได้ยินว่า เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว, พระเถระเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป ได้ถวายบาตรและจีวรทั้งหลาย ซึ่งเป็นของๆ ตนนั่นแลแก่ภิกษุทั้งหลายในวิหารทั้งปวงแล้ว

               พระนางสามาวดีถูกไฟคลอก               
               พระนางมาคันทิยาคิดว่า “เราทำสิ่งใด, สิ่งนั้นมิได้เป็นอย่างนั้น กลับเป็นอย่างอื่นไป, เราจักทำอย่างไรหนอแล?” ดังนี้แล้ว คิดว่า “อุบายนี้ใช้ได้” เมื่อพระราชาเสด็จไปสู่ที่ทรงกีฬาในพระราชอุทยาน จึงส่งข่าวไปแก่อาว่า “ขออาจงไปปราสาทของนางสามาวดี ให้เปิดเรือนคลังผ้าและเรือนคลังน้ำมันแล้ว ชุบผ้าในตุ่มน้ำมันแล้วพันเสา ทำหญิงทั้งหมดเหล่านั้นไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ปิดประตู ลั่นยนต์ในภายนอก เอาคบไฟมีด้ามจุดไฟตำหนัก ลงแล้วจงไปเสีย.” นายมาคันทิยะนั้นขึ้นสู่ปราสาท ให้เปิดเรือนคลังทั้งหลาย ชุบผ้าในตุ่มน้ำมันแล้ว เริ่มพันเสา.
               ลำดับนั้น หญิงทั้งหลายมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข กล่าวกะนายมาคันทิยะอยู่ว่า “นี่อะไรกัน? อา” เข้าไปหาแล้ว. นายมาคันทิยะกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่ทั้งหลาย พระราชารับสั่งให้พันเสาเหล่านี้ด้วยผ้าชุบน้ำมัน เพื่อประโยชน์แก่การทำให้มั่นคง ธรรมดาในพระราชวัง กรรมที่ประกอบดีและชั่ว เป็นของรู้ได้ยาก, อย่าอยู่ในที่ใกล้เราเลย แม่ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว ให้หญิงเหล่านั้นผู้มาแล้วเข้าไปในห้อง ปิดประตูแล้ว ลั่นยนต์ในภายนอก จุดไฟ จำเดิมแต่ต้น ลงมาแล้ว.
               พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงเหล่านั้นว่า “การกำหนดอัตภาพ ซึ่งถูกไฟเผาอย่างนี้ของพวกเราผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร อันมีส่วนสุดไม่ปรากฏแล้ว แม้พุทธญาณก็ไม่ทำได้โดยง่าย, ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.” หญิงเหล่านั้น เมื่อตำหนักถูกไฟไหม้อยู่, มนสิการซึ่งเวทนาปริคคหกัมมัฏฐาน๑-, บางพวกบรรลุผลที่ ๒, บางพวกบรรลุผลที่ ๓.
____________________________
๑- กัมมัฏฐาน มีอันกำหนดเวทนาเป็นอารมณ์.

               เพราะฉะนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวว่า
               ครั้งนั้นแล๒- ภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาตในภายหลังแห่งภัต (หลังจากฉันข้าว), พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่โดยที่ใด เข้าไปเฝ้าโดยที่นั้น, ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นผู้นั่งแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ภายในบุรีของพระเจ้าอุเทนผู้เสด็จไปสู่พระราชอุทยานถูกไฟไหม้แล้ว, หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุขทำกาละแล้ว, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คติของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร? สัมปรายภพเฉพาะหน้าเป็นอย่างไร?”
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอุบาสิกาเหล่านี้ อุบาสิกาที่เป็นโสดาบันก็มี, เป็นสกทาคามีก็มี, เป็นอนาคามีก็มี, อุบาสิกาทั้งหมดนั้นไม่เป็นผู้ไร้ผลทำกาละดอก ภิกษุทั้งหลาย.”
____________________________
๒- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕๗ อุเทนสูตร.

               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
                                   “โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมปรากฏ
                         ดุจรูปอันสมควร, คนพาลมีอุปธิกิเลสเป็นเครื่องผูก
                         ไว้ ถูกความมืดแวดล้อมแล้ว จึงปรากฏดุจมีความ
                         เที่ยง, ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นอยู่.”
๓-
____________________________
๓- ขุ อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕๗.

               ก็แลครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงธรรมว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปในวัฏฏะ เป็นผู้ไม่ประมาทตลอดกาลเป็นนิตย์กระทำบุญกรรมก็มี, เป็นผู้มีความประมาทกระทำบาปกรรมก็มี, เหตุนั้น สัตว์ผู้เที่ยวไปในวัฏฏะจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง.”

               พระเจ้าอุเทนลงโทษพระนางมาคันทิยากับพวก               
               พระราชาทรงสดับว่า “ข่าวว่า ตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้”, แม้เสด็จมาโดยเร็ว ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะทันถึงตำหนักอันไฟยังไม่ไหม้ได้, ก็แลครั้นเสด็จมาแล้ว ทรงยังตำหนักให้ดับแล้ว ทรงเกิดโทมนัสมีกำลัง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับนั่งอนุสรณ์ถึงพระคุณของพระนางสามาวดี
               ทรงพระดำริว่า “นี้เป็นการกระทำของใครหนอ?” ดังนี้แล้ว ทรงทราบว่า “กรรมนี้ จักเป็นกรรมอันนางมาคันทิยาให้ทำแล้ว”,
               ทรงพระดำริว่า “นางมาคันทิยานั้น อันเราทำให้หวาดกลัวแล้วถาม ก็จักไม่บอก, เราจักค่อยๆ ถามโดยอุบาย.” จึงตรัสกะอำมาตย์ทั้งหลายว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย ในกาลก่อนแต่กาลนี้ เราลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ก็เป็นผู้ระแวงสงสัยอยู่รอบข้างทีเดียว, นางสามาวดีแสวงหาแต่โทษเราเป็นนิตย์, นางก็ตายไปแล้ว, ก็บัดนี้ เราจักเย็นใจได้ละ, เราจักได้อยู่โดยความสุข”
               พวกอำมาตย์ทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ กรรมนี้อันใครหนอแลทำแล้ว?”
               พระราชาตรัสตอบว่า “จักเป็นกรรม อันใครๆ ทำแล้วด้วยความรักในเรา.”
               พระนางมาคันทิยาทรงยืนเฝ้าอยู่ในที่ใกล้ ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า “ใครๆ คนอื่นจักไม่อาจทำได้, พระเจ้าข้า กรรมนี้อันหม่อมฉันทำแล้ว, หม่อมฉันสั่งอาให้ทำ.”
               พระราชาตรัสว่า “ชื่อว่าสัตว์ผู้มีความรักในเราอื่น ยกไว้เสียแต่เจ้า ย่อมไม่มี, เราพอใจ, พระเทวี เราจะให้พรแก่เจ้า, เจ้าจงให้เรียกหมู่ญาติของตนมา.” นางส่งข่าวไปแก่พวกญาติว่า “พระราชาทรงพอพระหฤทัย จะพระราชทานพรแก่เรา, จงมาเร็ว.”
               พระราชารับสั่งให้ทำสักการะใหญ่ แก่ญาติทั้งหลายของพระนางมาคันทิยา ซึ่งมาแล้วๆ แม้พวกคนผู้มิใช่ญาติของพระนางมาคันทิยาเห็นสักการะนั้นแล้ว ก็ให้สินจ้าง กล่าวว่า “พวกเราเป็นญาติของพระนางมาคันทิยา” พากันมาแล้ว.
               พระราชารับสั่งให้จับคนเหล่านั้นทั้งหมดไว้ แล้วให้ขุดหลุมทั้งหลายประมาณแค่สะดือ ที่พระลานหลวงแล้ว ให้คนเหล่านั้นนั่งลงในหลุมเหล่านั้นเอาดินร่วนกลบ ให้เกลี่ยฟางไว้เบื้องบน แล้วจุดไฟ, ในเวลาที่หนังถูกไฟไหม้แล้ว, รับสั่งให้ไถด้วยไถเหล็กทั้งหลาย ให้ทำให้เป็นท่อนและหาท่อนมิได้ (หรือ) เป็นชิ้นและหาชิ้นมิได้. พระราชารับสั่งให้เชือดเนื้อ แม้จากสรีระของพระนางมาคันทิยา ตรงที่มีเนื้อล่ำๆ ด้วยมีดอันคมกริบแล้ว ให้ยกขึ้นสู่เตาไฟอันเดือดด้วยน้ำมัน ให้ทอดดุจขนมแล้ว ให้เคี้ยวกินเนื้อนั้นแล.

               ความตายของพระนางสามาวดีควรแก่กรรมในปางก่อน               
               ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า๑- “ความตายเช่นนี้ ของอุบาสิกาผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาเห็นปานนี้ ไม่สมควรเลยหนอ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.”
____________________________
๑- ยังกถาให้ตั้งขึ้นในโรงธรรม.

               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ?” เมื่อพวกภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ด้วยเรื่องชื่อนี้” ดังนี้แล้ว
               ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความตายนั่นของหญิงทั้งหลาย มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ไม่ควรแล้วในอัตภาพนี้ แต่ว่า ความตายอันหญิงเหล่านั้นได้แล้ว สมควรแท้แก่กรรมซึ่งเขาทำไว้ในกาลก่อน”, อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาว่า “กรรมอะไร อันหญิงเหล่านั้นทำไว้ในกาลก่อน พระเจ้าข้า? ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว
               จึงทรงนำอดีตนิทานมา (เล่าว่า)

               บุรพกรรมของพระนางสามาวดีกับบริวาร               
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ฉันอยู่ในพระราชวังเนืองนิตย์ หญิง ๕๐๐ คน ย่อมบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น. ในท่านเหล่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ไปสู่หิมวันตประเทศ อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในที่รกด้วยหญ้าแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ.
               ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปแล้ว, พระราชาทรงพาหญิงเหล่านั้นไป เพื่อทรงเล่นน้ำในแม่น้ำ. ณ สถานที่นั้น หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำตลอดส่วนแห่งวัน ขึ้นแล้ว ถูกความหนาวบีบคั้นเทียวใคร่จะผิงไฟ กล่าวกันว่า “ท่านทั้งหลาย พึงหาดูที่ก่อไฟของพวกเรา”, เที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ เห็นที่รกด้วยหญ้า (ชัฏหญ้า) นั้น จึงยืนล้อมก่อไฟแล้วด้วยสำคัญว่า “กองหญ้า”
               เมื่อหญ้าทั้งหลายไหม้แล้วก็ยุบลง, หญิงเหล่านั้นแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงกล่าวกันว่า “พวกเราฉิบหายแล้ว! พวกเราฉิบหายแล้ว! พระปัจเจกพุทธเจ้าของพระราชาถูกไฟคลอก, พระราชาทรงทราบจักทำพวกเราให้ฉิบหาย, เราจักทำท่านให้ไหม้ทั้งหมด”, ทุกคนนำฟืนมาจากที่โน้นที่นี้ ทำให้เป็นกองในเบื้องบนแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น กองฟืนใหญ่ได้มีแล้ว.
               ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นสุมฟืนนั้นแล้วหลีกไป ด้วยสำคัญว่า “บัดนี้ จักไหม้ละ” ครั้งก่อน พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความจงใจ ก็ถูกกรรมติดตามแล้วในบัดนี้. ก็คนทั้งหลายแม้นำฟืน ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาสุมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะทำ พระปัจเจกพุทธเจ้าภายในสมาบัติ แม้ให้มีอาการสักว่าอุ่นได้. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ในวันที่ ๗ จึงได้ลุกขึ้นไปตามสบายแล้ว.
               หญิงเหล่านั้นไหม้ในนรกสิ้นหลายพันปี เพราะความที่กรรมนั้นอันทำไว้แล้ว ไหม้แล้วในเรือนที่ถูกไฟไหม้อยู่ โดยทำนองนี้แล สิ้น ๑๐๐ อัตภาพ ด้วยวิบากอันเหลือลงแห่งกรรมนั้นแล. นี้เป็นบุรพกรรมของหญิงเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

               บุรพกรรมของนางขุชชุตตรา               
               เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางขุชชุตตราเล่า
                         เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นหญิงค่อม,
                         เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นผู้มีปัญญามาก,
                         เพราะกรรมอะไร? จึงบรรลุโสดาปัตติผล,
                         เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น.”
               พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่พระราชาองค์นั้นแลครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นเหมือนกัน ได้เป็นผู้มีธาตุแห่งคนค่อมหน่อยหนึ่ง. ลำดับนั้น หญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนหนึ่งห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม แสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้และอย่างนี้.” เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม.
               อนึ่ง ในวันแรกพระราชาทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ให้นั่งในพระราชมณเฑียรแล้ว ให้ราชบุรุษรับบาตร บรรจุบาตรให้เต็มด้วยข้าวปายาสแล้วรับสั่งให้ถวาย.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ต้องผลัดเปลี่ยน (มือ) บ่อยๆ. หญิงนั้นเห็นท่านทำอยู่อย่างนั้น ก็ถวายวลัยงา ๘ วลัย ซึ่งเป็นของของตน กล่าวว่า “ท่านจงวางไว้บนวลัยนี้แล้วถือเอา.” พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว. แลดูหญิงนั้น.
               นางทราบความประสงค์ของท่านทั้งหลาย จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ดิฉันหามีความต้องการวลัยเหล่านี้ไม่, ดิฉันบริจาควลัยเหล่านั้นแล้วแก่ท่านทั้งหลายนั่นแล, ขอท่านจงรับไป.” พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับแล้ว ได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อนันทมูลกะ.
               แม้ทุกวันนี้ วลัยเหล่านั้นก็ยังดีๆ อยู่นั่นเอง.
               เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้ นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก. เพราะผลอันไหลออกแห่งการอุปัฏฐาก ซึ่งนางทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล.
               นี้เป็นบุรพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง.
               ส่วนในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ธิดาของเศรษฐีในกรุงพาราณสีคนหนึ่ง จับแว่นนั่งแต่งตัวอยู่ในเวลามีเงาเจริญ (เวลาบ่าย). ลำดับนั้น นางภิกษุณีขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้ไปเพื่อเยี่ยมนาง. จริงอยู่ นางภิกษุณี แม้เป็นพระขีณาสพ ก็เป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะเห็นตระกูลอุปัฏฐากในเวลาเย็น.
               ก็ในขณะนั้น หญิงรับใช้ไรๆ ในสำนักของธิดาเศรษฐีไม่มีเลย. นางจึงกล่าวว่า “ดิฉันไหว้ เจ้าข้า โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั่น ให้แก่ดิฉันก่อน.”
               พระเถรีคิดว่า “ถ้าเราจักไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นางไซร้, นางจักทำความอาฆาตในเราแล้ว บังเกิดในนรก, แต่ว่า ถ้าเราจัก (หยิบ) ให้, นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น, แต่ว่า เพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่น ย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรกแล.”
               พระเถรีนั้นอาศัยความเอ็นดู จึงได้หยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่นาง. เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น.

               พระศาสดาเสด็จมาแสดงธรรมที่ธรรมสภา               
               รุ่งขึ้นวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า
               หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ถูกไฟไหม้แล้วในตำหนัก, พวกญาติของพระนางมาคันทิยาถูกจุดไฟอันมีฟางเป็นเชื้อไว้เบื้องบน แล้วทำลายด้วยไถเหล็ก, พระนางมาคันทิยาถูกทอดด้วยน้ำมันอันเดือดพล่าน, ในคนเหล่านั้น ใครหนอแล? ชื่อว่าเป็นอยู่, ใคร? ชื่อว่าตายแล้ว.”
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ? เมื่อพวกภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ด้วยเรื่องชื่อนี้” ดังนี้แล้ว
               จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าใดเหล่าหนึ่งประมาทแล้ว, คนเหล่านั้น แม้เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ชื่อว่าตายแล้วโดยแท้; คนเหล่าใดไม่ประมาทแล้ว, คนเหล่านั้น แม้ตายแล้ว ก็ชื่อว่ายังคงเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น พระนางมาคันทิยาจะเป็นอยู่ก็ตาม ตายแล้วก็ตาม ก็ชื่อว่าตายแล้วทีเดียว หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข แม้ตายแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นอยู่นั่นเทียว;
               ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย,
               ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
                         ๑. อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
                         อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา
                         เอตํ วิเสสโต ญตฺวา อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา
                         อปฺปมาเท ปโมทนฺติ อริยานํ โคจเร รตา
                         เต ฌายิโน สาตติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
                         ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ
                         ความไม่ประมาทเป็นเครื่องถึงอมตะ๑- ความประมาท
                         เป็นทางแห่งมัจจุ ผู้ไม่ประมาทแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย
                         ผู้ใดประมาทแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว;
                         บัณฑิตรู้ความนั่นโดยแปลกกันแล้ว (ตั้งอยู่) ในความ
                         ไม่ประมาท บันเทิงอยู่ในความไม่ประมาท ยินดีใน
                         ธรรมเป็นที่โคจรของพระอริยะทั้งหลาย, บัณฑิตผู้
                         ไม่ประมาทเหล่านั้น มีความเพ่ง มีความเพียรเป็น
                         ไปติดต่อ, บากบั่นมั่นเป็นนิตย์ เป็นนักปราชญ์ย่อม
                         ถูกต้องพระนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
                         ยอดเยี่ยม.
____________________________
๑- อมตํ ปทํ แปลว่า เป็นทางแห่งอมตะ ก็ได้ เป็นทางไม่ตาย ก็ได้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาโท ย่อมแสดงเนื้อความกว้าง คือถือเอาเนื้อความกว้างตั้งอยู่. จริงอยู่ พระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกแม้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจารย์ทั้งหลายนำมากล่าวอยู่ ย่อมหยั่งลงสู่ความไม่ประมาทนั่นเอง,
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสไว้ว่า
               “ภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ของสัตว์ทั้งหลายผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน, รอยเท้าทั้งปวงนั้น ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง, รอยเท้าช้าง อันชาวโลกย่อมเรียกว่าเป็นยอดแห่งรอยเท้าเหล่านั้น. เพราะรอยเท้าช้างนี้เป็นของใหญ่ แม้ฉันใด,
               ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง, กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นรากเหง้า มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง, ความไม่ประมาท อันเรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.”๑-
____________________________
๑- สํ. มหาวาร. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๕๓.

               ก็ความไม่ประมาทนั้นนั่น โดยอรรถ ชื่อว่า ความไม่อยู่ปราศจากสติ, เพราะคำว่า “ความไม่ประมาท” นั่นเป็นชื่อของสติอันตั้งมั่นเป็นนิตย์.
               พึงทราบวินิจฉัย อมตํ ปทํ, พระนิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า อมตะ, เพราะพระนิพพานนั้น ชื่อว่าไม่แก่ไม่ตาย เพราะความเป็นธรรมชาติไม่เกิด, เหตุนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกพระนิพพานว่า อมตะ, สัตว์ทั้งหลายย่อมถึง อธิบายว่า ย่อมบรรลุอมตะด้วยความไม่ประมาทนี้ เหตุนั้น ความไม่ประมาทนี้จึงชื่อว่า เป็นเครื่องถึง; (ความไม่ประมาท) ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า “เป็นอุบายเครื่องบรรลุซึ่งอมตะ” จึงชื่อว่า อมตํ ปทํ.
               ภาวะ คือความมัวเมา ชื่อว่าความประมาท. คำว่า ความประมาทนั่น เป็นชื่อของการปล่อยสติ กล่าวคือ ความมีสติหลงลืม.
               บทว่า มจฺจุโน แปลว่า แห่งความตาย.
               บทว่า ปทํ คือ เป็นอุบาย ได้แก่เป็นหนทาง. จริงอยู่ ชนผู้ประมาทแล้ว ย่อมไม่เป็นไปล่วงซึ่งชาติได้, แม้เกิดแล้ว ก็ย่อมแก่ด้วย ย่อมตายด้วย เหตุนั้น ความประมาท จึงชื่อว่าเป็นทางแห่งมัจจุ คือย่อมนำเข้าหาความตาย.
               บาทพระคาถาว่า อปฺปมตฺตา น มียนฺติ ความว่า ก็ผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว. ใครๆ ไม่พึงกำหนดว่า “ผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมไม่ตาย คือเป็นผู้ไม่แก่และไม่ตาย” ดังนี้, เพราะว่า สัตว์ไรๆ ชื่อว่าไม่แก่และไม่ตาย ย่อมไม่มี, แต่ชื่อว่าวัฏฏะของสัตว์ผู้ประมาทแล้ว กำหนดไม่ได้; (วัฏฏะ) ของผู้ไม่ประมาทกำหนดได้;
               เหตุนั้น สัตว์ผู้ประมาทแล้ว แม้เป็นอยู่ ก็ชื่อว่าตายแล้วโดยแท้ เพราะความเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ มีชาติเป็นต้นได้, ส่วนผู้ไม่ประมาท เจริญอัปปมาทลักษณะแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งมรรคและผลโดยฉับพลัน ย่อมไม่เกิดในอัตภาพที่ ๒ และที่ ๓; เหตุนั้น สัตว์ผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น เป็นอยู่ก็ตาม ตายแล้วก็ตาม ชื่อว่าย่อมไม่ตายโดยแท้.
               บาทพระคาถาว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา ความว่า ส่วนสัตว์เหล่าใดประมาทแล้ว, สัตว์เหล่านั้น ย่อมเป็นเหมือนสัตว์ที่ตายแล้ว ด้วยการขาดชีวิตินทรีย์ มีวิญญาณไปปราศแล้วเช่นกับท่อนฟืนฉะนั้นเทียว เพราะความที่ตนตายแล้วด้วยความตาย คือความประมาท;
               จริงอยู่ แม้จิตดวงหนึ่งว่า “เราจักถวายทาน, เราจักรักษาศีล เราจักทำอุโบสถกรรม” ดังนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้น แม้แก่เขาทั้งหลายผู้เป็นคฤหัสถ์ก่อน,
               จิตดวงหนึ่งว่า “เราจักบำเพ็ญวัตรทั้งหลาย มีอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเป็นต้น, เราจักสมาทานธุดงค์, เราจักเจริญภาวนา” ดังนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น แม้ผู้เป็นบรรพชิต ดังจิตดวงหนึ่งไม่เกิดขึ้นแก่สัตว์ที่ตายแล้วฉะนั้น, สัตว์ผู้ประมาทแล้วนั้น จะเป็นผู้มีอะไรเป็นเครื่องกระทำให้ต่างจากสัตว์ผู้ตายแล้วเล่า? เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว.”
               บาทพระคาถาว่า เอตํ วิเสสโต ญตฺวา ความว่า รู้ความนั้นโดยแปลกกันว่า “การแล่นออกจากวัฏฏะของผู้ประมาทแล้วย่อมไม่มี, ของผู้ไม่ประมาทแล้ว มีอยู่.”
               มีปุจฉาว่า “ก็ใครเล่า ย่อมรู้ความแปลกกันนั่น?”
               มีวิสัชนาว่า “บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ย่อมรู้.”
               อธิบายว่า บัณฑิต คือผู้มีเมธา ได้แก่ ผู้มีปัญญาเหล่าใด ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทของตนแล้ว เจริญความไม่ประมาทอยู่ บัณฑิตเหล่านั้นย่อมรู้เหตุอันแปลกกันนั่น.
               บาทพระคาถาว่า อปฺปมาเท ปโมทนฺติ ความว่า บัณฑิตเหล่านั้น ครั้นรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมบันเทิง คือเป็นผู้มีหน้ายิ้มแย้ม ได้แก่ยินดีร่าเริงในความไม่ประมาทของตนนั้น.
               บาทพระคาถาว่า อริยานํ โคจเร รตา ความว่า บัณฑิตเหล่านั้นบันเทิงอยู่ในความไม่ประมาทอย่างนั้น เจริญความไม่ประมาทนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ยินดี คือยินดียิ่งในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แยกออกเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และในโลกุตรธรรม ๙ ประการ อันนับว่า เป็นธรรมเครื่องโคจรของพระอริยะทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               สองบทว่า เต ฌายิโน ความว่า บัณฑิตผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น เป็นผู้มีความเพ่งด้วยฌานทั้งสองอย่าง คือ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน กล่าวคือ สมาบัติ ๘#-, และด้วยลักขณูปนิชฌาน กล่าวคือ วิปัสสนามรรคและผล.
____________________________
#- สมาบัติ ๘ คือ
               ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รวมเรียกว่า รูปสมาบัติ ๔,
               อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวมเรียกว่า อรูปสมาบัติ ๔.

               บทว่า สาตติกา ความว่า เป็นผู้มีความเพียร ซึ่งเป็นไปทางกายและทางจิต เป็นไปแล้วติดต่อ จำเดิมแต่กาลเป็นที่ออกบวชจนถึงการบรรลุพระอรหัต.
               บาทพระคาถาว่า นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา ความว่า ผู้ประกอบด้วยความเพียรเห็นปานนี้ว่า
               “ผลนั้นใด อันบุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุผลนั้น แล้วหยุดความเพียรเสีย จักไม่มี.”๒-
               (เช่นนี้) ชื่อว่าบากบั่นมั่น ชื่อว่าเป็นไปแล้วเป็นนิตย์ เหตุไม่ท้อถอยในระหว่าง.
____________________________
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖๔

               ในคำว่า ผุสนฺติ นี้ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้:-
               การถูกต้องมี ๒ คือ ญาณผุสนา (การถูกต้องด้วยญาณ), วิปากผุสนา (การถูกต้องด้วยวิบาก). ในผุสนา ๒ อย่างนั้น มรรค ๔ ชื่อว่าญาณผุสนา. ผล ๔ ชื่อว่าวิปากผุสนา. ในผุสนา ๒ อย่างนั้น วิปากผุสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในบทว่า ผุสนฺติ นี้. บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ เมื่อทำนิพพานให้แจ้งด้วยอริยผล ชื่อว่าย่อมทำนิพพานให้แจ้งด้วยวิปากผุสนา.
               บาทพระคาถาว่า โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ ความว่า (ซึ่งนิพพาน) อันเป็นแดนเกษม คือไม่มีภัยจากโยคะ ๔#- อันยังมหาชนให้จมลงในวัฏฏะ ชื่อว่ายอดเยี่ยม เพราะความเป็นสิ่งประเสริฐกว่าโลกิยธรรม และโลกุตรธรรมทั้งปวง.
____________________________
#- โยคะ ๔ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ อวิชชาโยคะ.

               ในที่สุดแห่งเทศนา ชนเป็นอันมากได้เป็นพระอริยบุคคล มีโสดาบันเป็นต้น.
               เทศนาเป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนดังนี้แล.

               เรื่องพระนางสามาวดี จบ.               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=330&Z=365
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=19&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=19&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :