ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 119อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 123อ่านอรรถกถา 25 / 124อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ กังขาเรวตสูตร

               อรรถกถากังขาเรวตสูตร               
               กังขาเรวตสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เรวโต เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
               จริงอยู่ พระเถระนั้นได้บรรพชาอุปสมบทในพระศาสนาแล้ว เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมอยู่. แต่เธอเป็นผู้มากไปด้วยความสงสัย กล่าวคือความรังเกียจในพระวินัย โดยมีอาทิว่า๑- ถั่วเขียวที่เป็นอกัปปิยะ ย่อมไม่ควรเพื่อจะบริโภค และว่าน้ำอ้อยงบที่เป็นอกัปปิยะ ย่อมไม่ควรเพื่อจะบริโภค. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงปรากฏชื่อว่า กังขาเรวตะ.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๔๘

               ครั้นภายหลัง ท่านเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา เพียรพยายามอยู่ ทำให้แจ้งอภิญญา ๖ ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่ฌาน และสุขอันเกิดแต่ผลจิต. แต่โดยมาก ท่านพิจารณาอริยมรรคที่ตนบรรลุแล้ว ทำได้หนักแน่น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พิจารณาอยู่ซึ่งกังขาวิตรณวิสุทธิของตน ดังนี้เป็นต้น.
               จริงอยู่ ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรค ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ เพราะข้าม คือก้าวล่วงความสงสัยทั้งปวง โดยไม่มีส่วนเหลือ คือความสงสัยมีวัตถุ ๑๖ อันเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ตลอดอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือหนอ.๒- ความสงสัยมีวัตถุ ๘ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ย่อมสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ฯลฯ ย่อมสงสัยในปฏิจจสมุปปันนธรรม.๓- จะป่วยกล่าวไปไยถึงความสงสัยนอกนี้เล่า และเพราะความบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว จากกิเลสเหล่าอื่นที่ตนพึงละ.
               ก็ท่านผู้มีอายุนี้ เพราะเหตุที่ท่านมีความสงสัยเป็นปกติมานาน ท่านจึงนั่งพิจารณาอริยมรรคที่ตนบรรลุแล้วนั้น ให้หนักแน่นว่า เราละความสงสัยเหล่านี้ได้เด็ดขาด เพราะอาศัยมรรคธรรมนี้ ไม่ใช่นั่งพิจารณาเห็นนามรูปพร้อมด้วยปัจจัย เพราะการข้ามความสงสัยเสียได้นั้น มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒ สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖๓
๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๖๗๒

               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบอรรถนี้ คือการข้ามความสงสัยแห่งอริยมรรคได้เด็ดขาด แล้วจึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยากาจิ กงฺขา อิธ วา หุรํ วา ความว่า ความสงสัยในอัตภาพนี้ คืออัตภาพที่เป็นปัจจุบันนี้ที่เกิดขึ้น โดยนัยมีอาทิว่า เราย่อมเป็นหรือหนอ หรือว่าเราไม่เป็นหนอ.๔- หรือในอัตภาพอื่น คือในอัตภาพที่เป็นอดีตและอนาคตที่เกิดขึ้น โดยนัยมีอาทิว่า ตลอดอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือหนอ.๕-
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๕๑
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒

               บทว่า สกเวทิยา วา ปรเวทิยา วา ความว่า ความสงสัยนั้น คือความเคลือบแคลงอย่างใดอย่างหนึ่งในความรู้ของตนที่จะพึงได้ คือที่เป็นไปโดยเป็นอารมณ์ในอัตภาพของตนอย่างนี้ คือโดยนัยดังกล่าวแล้ว หรือในความรู้ของผู้อื่นที่จะพึงได้ในอัตภาพของผู้อื่น คือที่จะพึงได้ ได้แก่ที่เป็นไปในอัตภาพอันสูงสุด โดยนัยมีอาทิว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือหนอ หรือว่าไม่เป็นหนอ.
               บทว่า ฌายิโน ตา ปชหนฺติ สพฺพา อาตาปิโน พฺรหฺมจริยํ จรนฺตา ความว่า คนเหล่าใด ชื่อว่าผู้เพ่งฌาน ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน เจริญวิปัสสนา ชื่อว่ามีความเพียร เพราะบริบูรณ์ด้วยสัมมัปปธาน ๔ ประพฤติอยู่ คือได้รับมรรคพรหมจรรย์ ผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค ต่างโดยประเภทแห่งสัทธานุสารีบุคคลเป็นต้น ย่อมละ คือย่อมตัดขาดซึ่งความสงสัยทั้งปวงนั้นในขณะแห่งมรรค. ก็ต่อแต่นั้น เป็นอันชื่อว่า คนเหล่านั้นละความสงสัยเหล่านั้นเสียได้. เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า การละความสงสัยเหล่านั้นอื่นจากนี้ได้เด็ดขาด ย่อมไม่มี.
               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงชมเชยการบรรลุอริยมรรคของท่านพระกังขาเรวตะ โดยฌานมุข คือโดยยกฌานขึ้นเป็นประธาน จึงทรงเปล่งอุทานด้วยอำนาจความชมเชย.
               ก็ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสถาปนาท่านไว้ในเอตทัคคะ โดยความเป็นผู้มีฌานว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้มีฌาน กังขาเรวตะเป็นเลิศแล.๖-
____________________________
๖- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๗

               จบอรรถกถากังขาเรวตสูตรที่ ๗               
               -------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ กังขาเรวตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 119อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 123อ่านอรรถกถา 25 / 124อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3246&Z=3259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=7541
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=7541
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :