ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 123อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 124อ่านอรรถกถา 25 / 125อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อานันทสูตร

               อรรถกถาอานันทสูตร               
               อานันทสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อายสฺมนฺตํ อานนฺทํ เอตทโวจ ความว่า พระเทวทัตชักชวนในการฆ่า ให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี กลิ้งศิลา เมื่อไม่อาจทำความพินาศแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อชฺชตคฺเค ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปนี้ ด้วยประสงค์จะทำลายสงฆ์ กระทำความแยกจักร.
               บทว่า อญฺญตฺเรว ภควตา แปลว่า แยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า ไม่กระทำให้เป็นพระศาสดา.
               บทว่า อญฺญตฺเรว ภิกฺขุสงฺเฆน แปลว่า แยกจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น.
               บทว่า อุโปสถํ กริสฺสามิ สงฺฆกมฺมานิ จ ความว่า จักแยกภิกษุสงฆ์ผู้กระทำตามโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำอุโบสถ และสังฆกรรมแผนกหนึ่งกับเหล่าภิกษุผู้คล้อยตามเรา.
               บทว่า เทวทตฺโต สงฺฆํ ภินฺทิสฺสติ ความว่า วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ แยกเป็น ๒ ส่วน โดยแน่นอน เพราะพระเทวทัตตระเตรียมพรรคพวกผู้กระทำการแตกแยกทั้งหมดไว้แล้ว.
               จริงอยู่ เมื่อพระเทวทัตแสดงวัตถุ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาวัตถุเครื่องกระทำความแตกแยก มีอาทิว่า แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แล้วให้ยินยอมว่า พวกเธอจงถือเอาสิ่งนี้ จงชอบใจสิ่งนี้ ด้วยเหตุนั้นๆ แล้วให้จับสลาก แยกกระทำสังฆกรรม สงฆ์เป็นอันถูกทำลายแล้ว.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า๑-
               สงฆ์แตกกันด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ
                         ด้วยกรรม ๑
                         ด้วยอุทเทส ๑
                         ด้วยการชักชวน ๑
                         ด้วยการสวดประกาศ ๑
                         ด้วยการจับสลาก ๑.
____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๒๑๒

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺเมน ได้แก่ ด้วยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดากรรม ๔ อย่าง มีอปโลกนกรรมเป็นต้น.
               บทว่า อุทฺเทเสน ได้แก่ ด้วยอุทเทสอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาปาติโมกขุทเทศ ๕ อย่าง.
               บทว่า โวหรนฺโต ได้แก่ แสดงถึงวัตถุเครื่องทำความแตกร้าว ๑๘ อย่าง มีการแสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรมเป็นต้น๒- ด้วยอุบัติเหล่านั้นๆ.
____________________________
๒- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๐๕

               บทว่า อนุสฺสาวเนน ความว่า ด้วยการเปล่งวาจา ประกาศที่ใกล้หู โดยนัยมีอาทิว่า พวกเธอย่อมรู้มิใช่หรือว่า เราบวชมาจากตระกูลสูง และว่าเป็นพหูสูต ควรหรือพวกท่านจะให้เกิดความคิด ขึ้นว่า ชื่อว่าคนเช่นเราจะพึงให้ถือนอกธรรม นอกวินัย เราไม่กลัวอบายหรือ.
               บทว่า สลากคฺคาเหน ความว่า ด้วยการสวดประกาศอย่างนี้แล้ว จึงสนับสนุนความคิดของภิกษุเหล่านั้น กระทำให้มีการไม่หวนกลับเป็นธรรม แล้วให้จับสลากด้วยคำว่า พวกท่านจงจับสลากนี้.
               ก็ในอาการเหล่านี้ กรรมหรืออุทเทสเท่านั้น ย่อมเป็นสำคัญ. ส่วนการชักชวน การสวดประกาศ และการให้จับสลาก เป็นส่วนเบื้องต้น.
               จริงอยู่ เมื่อเธอชักชวนด้วยการแสดงวัตถุ ๑๘ ประการ แล้วสวดประกาศเพื่อให้เกิดความยินดีในการชักชวนนั้น แล้วจึงให้จับสลาก สงฆ์ก็เป็นอันชื่อว่ายังไม่แตกกันก่อน. แต่เมื่อภิกษุ ๔ รูปหรือเกินกว่านั้น พากันจับสลากแล้ว พากันทำอุทเทส หรือกรรมแยกกัน ด้วยอาการอย่างนี้ สงฆ์ชื่อว่าเป็นอันถูกทำลายแล้ว
               ส่วนพระเทวทัตพอให้ส่วนเบื้องต้นแห่งสังฆเภททั้งหมดสำเร็จแล้ว ก็คิดว่า วันนี้เราจักแยกทำอุโบสถ และสังฆกรรม เป็นเฉพาะส่วนหนึ่ง จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อชฺชตคฺเค ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระอานนทเถระจึงกราบทูลว่า วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ พระเจ้าข้า ดังนี้เป็นต้น. เพราะเราทั้งหลายได้กล่าวไว้แล้วว่า เพราะพระเทวทัตตระเตรียมพรรคพวกผู้ทำความแตกร้าวทั้งหมดไว้แล้ว.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง ซึ่งสังฆเภทกรรม อันเป็นทางให้เกิดในอเวจีมหานรก ตั้งอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้ ที่พระเทวทัตให้บังเกิดขึ้นนี้.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศอรรถนี้ว่า ก็บุคคลผู้ฉลาดหลักแหลมดี เนื่องด้วยเป็นสัปบุรุษปฏิบัติถูกส่วนกันในฝ่ายกุศล และเป็นอสัปบุรุษปฏิบัติไม่ถูกส่วนกันในฝ่ายกุศล ตามลำดับ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกรํ สาธุนา สาธุ ความว่า ชื่อว่าคนดี เพราะยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของสังคมให้สำเร็จ ได้แก่ผู้ปฏิบัติชอบ กรรมดี คือกรรมงามเจริญอันนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม อันคนดีนั้น คือพระสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือโลกิยสาธุชนอื่น ทำได้โดยง่าย คือสามารถเพื่อจะทำได้โดยง่าย.
               บทว่า สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ ความว่า ก็กรรมดี มีลักษณะดังกล่าวแล้วนั้นนั่นแล อันคนชั่ว คือปาปบุคคล มีพระเทวทัตเป็นต้น ทำได้ยาก คือไม่สามารถจะทำได้. อธิบายว่า เขาไม่อาจจะทำกรรมดีนั้นได้.
               บทว่า ปาปํ ปาเปน สุกรํ ความว่า กรรมชั่ว คือกรรมไม่ดี ได้แก่กรรมที่นำความพินาศมาให้ทั้งแก่ตนและสังคม อันคนชั่ว คือปาปบุคคลตามที่กล่าวแล้ว ทำได้ง่าย คือสามารถจะทำได้โดยง่าย.
               บทว่า ปาปมริเยหิ ทุกฺกรํ ความว่า ส่วนกรรมชั่วนั้นๆ อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย คืออันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทำได้ยาก คือไม่มีความยินดียิ่งเป็นแดนเกิด.
               ก็พระศาสดาทรงแสดงว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ฆ่ากิเลส เพียงดังสะพานได้แล้ว.

               จบอรรถกถาอานันทสูตรที่ ๘               
               ----------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อานันทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 123อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 124อ่านอรรถกถา 25 / 125อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3260&Z=3282
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=7583
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=7583
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :