|
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔หน้าต่างที่ ๒ / ๑๒. ๒. เรื่องพระเถระผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน [๓๔] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษูรูปใดรูปหนึ่ง ผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน๑- ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เผณูปมํ" เป็นต้น.
____________________________
๑- กัมมัฏฐานมีอันพิจารณาพยับแดดเป็นอารมณ์.
พระเถระเจริญมรีจิกัมมัฏฐาน
ดังได้สดับมา พระเถระนั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา แล้วคิดว่า "เราจักทำสมณธรรม" ดังนี้แล้ว เข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายามแล้ว
ก็ไม่อาจบรรลุพระอรหัตได้ จึงกลับมายังสำนักพระศาสดา ด้วยตั้งใจว่า "จักทูลอาราธนาให้ตรัสบอกพระกัมมัฏฐานให้วิเศษ",
เห็นพยับแดดในระหว่างทาง เจริญมรีจิกัมมัฏฐานว่า "พยับแดดนี้ตั้งขึ้นแล้วในฤดูร้อน ย่อมปรากฏแก่บุคคลทั้งหลายผู้ยืนอยู่ ณ ที่ไกล ดุจมีรูปร่าง, แต่ไม่ปรากฏเลย แก่บุคคลผู้มาสู่ที่ใกล้ฉันใด;
แม้อัตภาพนี้ก็มีรูปเหมือนอย่างนั้น เพราะอรรถว่า เกิดขึ้นและเสื่อมไป" เดินมาแล้ว เมื่อยล้าในหนทาง อาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดี นั่งที่ร่ม (ไม้) ริมฝั่งแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยวแห่งหนึ่ง
เห็นฟองน้ำใหญ่ ตั้งขึ้นด้วยกำลังแห่งน้ำกระทบกันแล้วแตกไป ได้ถือเอาเป็นอารมณ์ว่า "แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปร่างอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะอรรถว่า เกิดขึ้นแล้วก็แตกไป."
ทรงเปรียบกายด้วยฟองน้ำและพยับแดด
พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นพระเถระนั้นแล้ว จึงตรัสว่า " อย่างนั้นนั่นแหละ ภิกษุ อัตภาพนี้มีรูปอย่างนั้นแล มีอันเกิดขึ้นและแตกไปเป็นสภาพแน่แท้ เหมือนฟองน้ำ (และ) พยับแดด"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๒. | เผณูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา |
| | มรีจิธมฺมํ อภิสมฺพุธาโน |
| | เฉตฺวาน มารสฺส ปปุปฺผกานิ |
| | อทสฺสนํ มจฺจุราชสฺส คจฺเฉ. |
| | ภิกษุรู้แจ้งกายนี้ว่า มีฟองน้ำเป็นเครื่องเปรียบ,
| รู้ชัดกายนี้ว่า มีพยับแดดเป็นธรรม ตัดพวงดอกไม้
| ของมารเสียแล้ว พึงถึงสถานที่มัจจุราชไม่เห็น. |
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เผณูปมํ ความว่า รู้แจ้งกายนี้ คืออันนับว่าเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่างๆ มีผมเป็นต้น ว่า "เห็นสมด้วยฟองน้ำ เพราะอรรถว่า ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม ไม่ตั้งอยู่นานและเป็นไปชั่วกาล."
บทว่า มรีจิธมฺมํ เป็นต้น ความว่า รู้ชัด คือรู้ ได้แก่ทราบว่า "แม้กายนี้ ชื่อว่ามีพยับแดดเป็นธรรม เพราะอรรถว่า เป็นไปชั่วขณะและปรากฏนิดหน่อย
เหมือนอย่างพยับแดด เป็นดุจมีรูปร่าง (และ) เป็นดุจเข้าถึงความเป็นของที่ควรถือเอาได้ แก่บุคคลทั้งหลายผู้ยืนอยู่ ณ ที่ไกล, (แต่) เมื่อบุคคลเข้าไปใกล้ ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า เข้าถึงความเป็นของถือเอาไม่ได้ฉะนั้น."
สองบทว่า มารสฺส ปปุปฺผกานิ เป็นต้น ความว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ๑-
ตัดวัฏฏะอันเป็นไปในไตรภูมิ๒- กล่าวคือพวงดอกไม้ของมารเสียได้ ด้วยอริยมรรคแล้ว พึงถึงสถานที่ไม่เห็น คือที่อันไม่เห็น คือที่อันไม่เป็นวิสัยของมัจจุราช ได้แก่พระอมตมหานิพพาน.
____________________________
๑- ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว.
๒- ไตรภูมิ = ภูมิ ๓ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ.
ในกาลจบคาถา พระเถระบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ชมเชย สรรเสริญ ถวายบังคมพระสรีระของพระศาสดา ซึ่งมีพรรณดุจทองคำ มาแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระเถระผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน จบ. -----------------------------------------------------
.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔ อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=395&Z=433 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=1 The Pali Atthakatha in Roman https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=1 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|