ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 13อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 14อ่านอรรถกถา 25 / 15อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๒.

               ๘. เรื่องนางวิสาขา [๔๐]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อทรงเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในบุพพาราม ทรงปรารภอุบาสิกาชื่อวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา" เป็นต้น.

               พระศาสดาเสด็จไปโปรดสัตว์               
               ดังได้สดับมา นางวิสาขาอุบาสิกานั้น เกิดในท้องนางสุมนาเทวี ภริยาหลวงของธนญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบุตรเมณฑกเศรษฐี ในภัททิยนคร แคว้นอังคะ. ในเวลาที่นางมีอายุ ๗ ขวบ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของสัตว์ ผู้มีเผ่าพันธุ์ที่พึงแนะนำ เพื่อความตรัสรู้ มีเสลพราหมณ์เป็นต้น มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จจาริกไปถึงนครนั้น.

               ผู้มีบุญทั้ง ๕ ในภัททิยนคร               
               ก็ในสมัยนั้น เมณฑกคฤหบดีเป็นหัวหน้าของผู้มีบุญมาก ๕ คน ครองตำแหน่งเศรษฐีอยู่ในเมืองนั้น. ชื่อว่าคนที่มีบุญมาก ๕ คน คือ เมณฑกเศรษฐี ๑ ภริยาหลวงของเศรษฐีนั้น นามว่าจันทปทุมา ๑ บุตรชายคนโตของเศรษฐีนั้นเอง ชื่อธนญชัย ๑ ภริยาของธนญชัยนั้น ชื่อว่าสุมนาเทวี ๑ คนใช้ของเมณฑกเศรษฐี ชื่อปุณณะ ๑.

               คนมั่งมีในแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร ๕ คน               
               ใช่จะมีแต่เมณฑกเศรษฐีแต่ผู้เดียวเท่านั้นก็หาไม่, ก็ในแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้มีคนผู้มีโภคะนับไม่ถ้วน ๕ คน คือ โชติยะ ๑ ชฏิละ ๑ เมณฑกะ ๑ ปุณณกะ ๑ กากวัลลิยะ ๑.

               เมณฑกเศรษฐีให้นางวิสาขาไปรับพระศาสดา               
               ในท่านเหล่านั้น เมณฑกเศรษฐีนี้ได้ทราบความที่พระทศพลเสด็จถึงนครของตน จึงให้เรียกเด็กหญิงวิสาขา ลูกสาวธนญชัยเศรษฐีผู้บุตรมา บอกว่า "แม่หนู เป็นมงคลทั้งแก่เจ้า, ทั้งแก่เรา; แม่หนูกับพวกเด็กหญิงบริวารของเจ้า ๕๐๐ จงขึ้นรถ ๕๐๐ คัน แวดล้อมด้วยทาสี ๕๐๐ คน (ไป) ทำการต้อนรับพระทศพล."
               นางรับว่า "ดีละ" แล้วได้ทำอย่างนั้น. แต่เพราะความที่นางเป็นเด็กฉลาดในเหตุอันควรและไม่ควร นางจึงไปด้วยยานเท่าที่ยาน (ไปได้) ลงจากยานแล้ว ก็เดินเท้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรม ด้วยสามารถแห่งบุรพจรรยาของนาง.

               นางได้โสดาปัตติผลแต่อายุ ๗ ขวบ               
               ในเวลาจบเทศนา นางพร้อมด้วยเด็กหญิง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
               ฝ่ายเมณฑกเศรษฐีแล เข้าเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถา ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว จึงนิมนต์เพื่อเสวยอาหารเช้า ในวันรุ่งขึ้น อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตที่เรือนของตน ได้ถวายมหาทานโดยอุบายนี้แล ตลอดกึ่งเดือน. พระศาสดาประทับอยู่ในภัททิยนคร ตามความพอพระหฤทัยแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.

               พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากได้ผู้มีบุญ               
               ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลต่างก็เป็นพระภัสดาของพระภคินีกันและกัน. ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกศลทรงดำริว่า "คนมีโภคะนับไม่ถ้วน มีบุญมากทั้ง ๕ ย่อมอยู่ในแคว้นพระเจ้าพิมพิสาร. ในแคว้นของเรา ผู้เช่นนั้นแม้เพียงคนเดียวก็ไม่มี; อย่ากระนั้นเลย เราพึงไปสู่สำนักของพระเจ้าพิมพิสารขอผู้มีบุญมากสักคนหนึ่ง."
               พระองค์เสด็จไปในพระนครนั้นแล้ว อันพระราชาทรงทำปฏิสันถาร ทูลถามว่า "พระองค์เสด็จมา เพราะเหตุไร?" จึงตรัสว่า "หม่อมฉันมา ด้วยประสงค์ว่า คนมีโภคะนับไม่ถ้วน มีบุญมากทั้ง ๕ คน อยู่ในแคว้นของพระองค์, หม่อมฉันจักพาเอาคนหนึ่งจาก ๕ คนนั้นไป, ขอพระองค์จงประทานคนหนึ่งใน ๕ คนนั้น แก่หม่อมฉันเถิด."
               พิมพิสาร. หม่อมฉันไม่อาจจะให้ตระกูลใหญ่ๆ ย้ายได้.
               ปเสนทิโกศล. หม่อมฉันไม่ได้ ก็จักไม่ไป.

               มอบธนญชัยเศรษฐีให้พระเจ้าโกศล               
               พระราชา (พระเจ้าพิมพิสาร) ทรงปรึกษากับพวกอำมาตย์แล้ว ตรัสว่า "ชื่อว่าการย้ายตระกูลใหญ่ๆ มีโชติยสกุลเป็นต้น เช่นกับแผ่นดินไหว, บุตรของเมณฑกมหาเศรษฐี ชื่อธนญชัยเศรษฐี มีอยู่, หม่อมฉันปรึกษากับเธอเสร็จแล้ว จักถวายคำตอบแด่พระองค์" ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เรียกธนญชัยเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า "พ่อ พระเจ้าโกศลตรัสว่า 'จักพาเอาเศรษฐีมีทรัพย์คนหนึ่งไป’, เธอจงไปกับพระองค์เถิด."
               ธนญชัย. เมื่อพระองค์ส่งไป, ข้าพระองค์ก็จักไป พระเจ้าข้า.
               พิมพิสาร. ถ้าเช่นนั้น เธอจงทำการตระเตรียมไปเถิด พ่อ.
               เศรษฐีนั้นได้ทำกิจจำเป็นที่ควรทำของตนแล้ว. ฝ่ายพระราชาทรงทำสักการะใหญ่แก่เขา ทรงส่งพระเจ้าปเสนทิโกศลไปด้วยพระดำรัสว่า "ขอพระองค์จงพาเศรษฐีนี้ไปเถิด." ท้าวเธอพาธนญชัยเศรษฐีนั้น เสด็จไปโดยการประทับแรมราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง บรรลุถึงสถานอันผาสุกแห่งหนึ่งแล้ว ก็ทรงหยุดพัก.

               การสร้างเมืองสาเกต               
               ครั้งนั้น ธนญชัยเศรษฐีทูลถามท้าวเธอว่า "นี้เป็นแคว้นของใคร?"
               ปเสนทิโกศล. ของเรา เศรษฐี.
               ธนญชัย. เมืองสาวัตถี แต่นี้ไป ไกลเท่าไร?
               ปเสนทิโกศล. ในที่สุด ๗ โยชน์.
               ธนญชัย. ภายในพระนครคับแคบ, ชนบริวารของข้าพระองค์มาก ถ้าพระองค์ทรงโปรดไซร้, ข้าพระองค์พึงอยู่ที่นี้แหละ พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงรับว่า "ดีละ" ดังนี้แล้ว ให้สร้างเมืองในที่นั้น ได้พระราชทานแก่เศรษฐีนั้นแล้วเสด็จไป. เมืองได้นามว่า "สาเกต" เพราะความที่แห่งสถานที่อยู่ ในประเทศนั้น อันเศรษฐีจับจองแล้วในเวลาเย็น.
               แม้ในกรุงสาวัตถีแล บุตรของมิคารเศรษฐี ชื่อว่าปุณณวัฒนกุมาร เจริญวัยได้มีแล้ว. ครั้งนั้น มารดาบิดากล่าวกะเขาว่า "พ่อ เจ้าจงเลือกเด็กหญิงคนหนึ่งในที่เป็นที่ชอบใจของเจ้า."
               ปุณณะ. กิจด้วยภริยาเห็นปานนั้น ของผมไม่มี.
               มารดาบิดา. เจ้าอย่าทำอย่างนี้ ลูก, ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตร ตั้งอยู่ไม่ได้.

               ลักษณะเบญจกัลยาณี               
               เขาถูกมารดาบิดาพูดรบเร้าอยู่ จึงกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ผม เมื่อได้หญิงสาวประกอบพร้อมด้วยความงาม ๕ อย่าง ก็จักทำตามคำของคุณพ่อคุณแม่."
               มารดาบิดา. ก็ชื่อว่าความงาม ๕ อย่างนั้น อะไรเล่า? พ่อ.
               ปุณณะ. คือ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูกงาม, ผิวงาม, วัยงาม.
               ก็ผมของหญิงผู้มีบุญมาก เป็นเช่นกับกำหางนกยูง แก้ปล่อยระชายผ้านุ่งแล้ว ก็กลับมีปลายงอนขึ้นตั้งอยู่, นี้ ชื่อว่าผมงาม. ริมฝีปากเช่นกับผลตำลึง (สุก) ถึงพร้อมด้วยสีเรียบชิดสนิทดี, นี้ ชื่อว่าเนื้องาม. ฟันขาวเรียบไม่ห่างกัน งดงามดุจระเบียบแห่งเพชร ที่เขายกขึ้นตั้งไว้ และดุจระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีแล้ว, นี้ ชื่อว่ากระดูกงาม, ผิวพรรณของหญิงดำไม่ลูบไล้ด้วยเครื่องประเทืองผิวเป็นต้นเลย ก็ดำสนิทประหนึ่งพวงอุบลเขียว, ของหญิงขาว ประหนึ่งพวงดอกกรรณิการ์, นี้ ชื่อว่าผิวงาม. ก็แลหญิงแม้คลอดแล้วตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็เหมือนคลอดครั้งเดียว ยังสาวพริ้งอยู่เทียว, นี้ ชื่อว่าวัยงาม ดังนี้แล.

               เศรษฐีส่งพราหมณ์ไปแสวงหาหญิงเบญจกัลยาณี               
               ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายปุณณวัฒนกุมารนั้น เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาให้บริโภคแล้ว ถามว่า "ชื่อว่าหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี มีอยู่หรือ?"
               พราหมณ์เหล่านั้น ตอบว่า "จ้ะ มีอยู่."
               เศรษฐีกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ชน (คือพราหมณ์) ๘ คนจงไปแสวงหาเด็กหญิงเห็นปานนี้" ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์เป็นอันมาก สั่งว่า "ก็ในเวลาที่พวกท่านกลับ ข้าพเจ้าทั้งหลายจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่พวกท่าน, ท่านทั้งหลายไปเถิด, แสวงหาเด็กหญิงแม้เห็นปานนั้น, และในเวลาที่พบแล้ว พึงประดับพวงมาลัยทองคำนี้" ดังนี้แล้ว ให้พวงมาลัยทองคำอันมีราคาแสนหนึ่ง ส่งไปแล้ว.
               พราหมณ์เหล่านั้นไปยังนครใหญ่ๆ แสวงหาอยู่ ไม่พบเด็กหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี กลับมาถึงเมืองสาเกตโดยลำดับ ในวันมีงานนักขัตฤกษ์เปิด จึงคิดกันว่า "การงานของพวกเราคงสำเร็จในวันนี้."

               งานประจำปีของนครสาเกต               
               ก็ในนครนั้น ชื่อว่างานนักขัตฤกษ์เปิด๑- ย่อมมีประจำปี. ในกาลนั้น แม้ตระกูลที่ไม่ออกภายนอก ก็ออกจากเรือนกับบริวาร มีร่างกายมิได้ปกปิด ไปสู่ฝั่งแม่น้ำด้วยเท้าเทียว. ในวันนั้น ถึงบุตรทั้งหลายของขัตติยมหาศาลเป็นต้น ก็ยืนแอบหนทางนั้นๆ ด้วยตั้งใจว่า "พวกเรา พบเด็กหญิงมีตระกูลที่พึงใจ มีชาติเสมอด้วยตนแล้ว จึงคล้องด้วยพวงมาลัย."
____________________________
๑- วิวฏนกฺขตฺต นักษัตรเปิดเผย เป็นงานประจำปีของนครสาเกต ในงานนี้ชาวเมืองทุกคนเผยร่างโดยปราศจากผ้าคลุมปิดหน้า เดินเท้าไปยังแม่น้ำ.

               พราหมณ์พบนางวิสาขา               
               พราหมณ์แม้เหล่านั้น เข้าไปถึงศาลาแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำแล้ว ได้ยืนอยู่. ขณะนั้น นางวิสาขามีอายุย่างเข้า ๑๕-๑๖ ปี ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง อันเหล่ากุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อมแล้ว คิดว่า "เราจักไปยังแม่น้ำแล้วอาบน้ำ" ถึงประเทศนั้นแล้ว.
               ครั้งนั้นแล เมฆตั้งขึ้นแล้ว ก็ยังฝนให้ตก. เด็กหญิง ๕๐๐ รีบเดินเข้าไปสู่ศาลา. พวกพราหมณ์พิจารณาดูอยู่ ก็ไม่เห็นเด็กหญิงเหล่านั้นแม้สักคนเดียว ที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี. นางวิสาขาเข้าไปยังศาลาด้วยการเดินตามปกตินั่นเอง. ผ้าและอาภรณ์เปียกโชก.
               พวกพราหมณ์เห็นความงาม ๔ อย่างของนางแล้ว ประสงค์จะเห็นฟัน จึงกล่าวกะกันและกันว่า "ธิดาของพวกเรา เป็นหญิงเฉื่อยชา, สามีของหญิงคนนี้เห็นที่จักไม่ได้ แม้เพียงข้าวปลายเกรียน"
               ทีนั้น นางวิสาขาพูดกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า "พวกท่านว่าใครกัน."
               พราหมณ์. ว่าเธอ แม่.
               ได้ยินว่า เสียงอันไพเราะของนาง เปล่งออกประหนึ่งเสียงกังสดาล, ลำดับนั้น นางจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า "เพราะเหตุไร? จึงว่าฉัน."
               พราหมณ์. หญิงบริวารของเธอไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับเปียก รีบเข้าสู่ศาลา, กิจแม้เพียงการรีบมาสู่ที่ประมาณเท่านี้ของเธอ ก็มิได้มี, เธอปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกมาแล้ว; เพราะฉะนั้น พวกเราจึงพากันว่า.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้, ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้น, แต่ฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่มาโดยเร็ว.
               พราหมณ์. เหตุอะไร? แม่.

               ชน ๔ จำพวกวิ่งไปไม่งาม               
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวก เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม, เหตุอันหนึ่ง แม้อื่นอีก ยังมีอยู่.
               พราหมณ์. ชน ๔ จำพวก เหล่าไหน? เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม แม่.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เมื่อถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมไม่งาม, ย่อมได้ความครหาเป็นแน่นอนว่า 'ทำไม พระราชาองค์นี้จึงวิ่งเหมือนคฤหบดี ' ค่อยๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม;
               แม้ช้างมงคลของพระราชา ประดับแล้ว วิ่งไป ก็ไม่งาม, ต่อเมื่อเดินไปด้วยลีลาแห่งช้าง จึงจะงาม,
               บรรพชิต เมื่อวิ่ง ก็ไม่งาม, ย่อมได้แต่ความครหาอย่างเดียวเท่านั้นว่า ‘ทำไม สมณะรูปนี้ จึงวิ่งไปเหมือนคฤหัสถ์’, แต่ย่อมงาม ด้วยการเดินอย่างอาการของผู้สงบเสงี่ยม;
               สตรี เมื่อวิ่งก็ไม่งาม, ย่อมถูกเขาติเตียนอย่างเดียวว่า ‘ทำไม หญิงคนนี้ จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย', แต่ย่อมงามด้วยการเดินอย่างธรรมดา;
               พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวกเหล่านี้ เมื่อวิ่งไป ย่อมไม่งาม.
               พราหมณ์ ก็เหตุอื่นอีกอย่างหนึ่ง เป็นไฉน? แม่.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดา ถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ เลี้ยงดูธิดา, เพราะว่า พวกฉัน ชื่อว่าเป็นสิ่งของอันมารดาบิดาพึงขาย, มารดาบิดาเลี้ยงฉันมา ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลอื่น, ถ้าว่า ในเวลาที่พวกฉันวิ่งไป เหยียบชายผ้านุ่งหรือลื่นล้มลงบนพื้นดิน มือหรือเท้าก็จะพึงหัก, พวกฉันก็จะพึงเป็นภาระของตระกูลนั่นแล, ส่วนเครื่องแต่งตัวเปียกแล้วก็จักแห้ง; ดิฉันกำหนดเหตุนี้ จึงไม่วิ่งไป พ่อ.

               พราหมณ์สวมมาลัยทองให้               
               พวกพราหมณ์เห็นความถึงพร้อมแห่งฟัน ในเวลานางพูด จึงให้สาธุการแก่นางว่า "สมบัติเช่นนี้ พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย" แล้วกล่าวว่า "แม่ พวงมาลัยนี้สมควรแก่เธอเท่านั้น" ดังนี้แล้ว จึงได้คล้องพวงมาลัยทองนั้นให้.
               ลำดับนั้น นางจึงถามพวกเขาว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านมาจากเมืองไหน?"
               พราหมณ์. จากเมืองสาวัตถี แม่.
               วิสาขา. ตระกูลเศรษฐี ชื่อไร?
               พราหมณ์. ชื่อมิคารเศรษฐี แม่.
               วิสาขา. บุตรของท่านเจ้าพระคุณ ชื่อไร?
               พราหมณ์. ชื่อปุณณวัฒนกุมาร แม่.
               นางวิสาขานั้น รับรองว่า "ตระกูลของเรา เสมอกัน" ดังนี้แล้ว จึงส่งข่าวไปแก่บิดาว่า "ขอคุณพ่อและคุณแม่ จงส่งรถไปให้พวกดิฉัน." ก็ในเวลามา นางเดินมาก็จริง, ถึงอย่างนั้น จำเดิมแต่กาลที่ประดับด้วยมาลัยทองคำแล้ว ย่อมไม่ได้เพื่อจะไปเช่นนั้น. เด็กหญิงทั้งหลายผู้มีอิสระ ย่อมไปด้วยยานมีรถเป็นต้น, หญิงนอกนี้ขึ้นยานธรรมดา (ไป), กั้นฉัตรหรือใบตาลข้างบน, เมื่อฉัตรหรือใบตาล แม้นั้นไม่มี ก็ยกชายผ้านุ่ง ขึ้นมาพาดบนบ่าทีเดียว, ส่วนบิดาของนางวิสาขานั้น ส่งรถไป ๕๐๐ คัน. นางวิสาขานั้นกับบริวารขึ้นรถไปแล้ว แม้พวกพราหมณ์ก็ได้ไปด้วยกัน.
               ทีนั้น ท่านเศรษฐี ถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า "พวกท่านมาจากไหน?"
               พราหมณ์. มาจากเมืองสาวัตถี ท่านมหาเศรษฐี.
               เศรษฐี. เศรษฐีชื่อไร?
               พราหมณ์. ชื่อมิคารเศรษฐี.
               เศรษฐี. บุตรชื่อไร?
               พราหมณ์ . ชื่อปุณณวัฒนกุมาร.
               เศรษฐี . ทรัพย์มีเท่าไร?
               พราหมณ์ . ๔๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี .
               เศรษฐีรับคำ ด้วยคิดว่า "ทรัพย์เท่านั้น, เทียบทรัพย์ของเรา ก็เท่ากับกากณิกเดียว. แต่จะประโยชน์อะไรด้วยเหตุอื่น จำเดิมแต่กาลที่นางทาริกาได้เหตุเพียงการรักษา." เศรษฐีนั้นทำสักการะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ให้พักอยู่วัน ๒ วัน แล้วก็ส่งกลับ.

               พราหมณ์กลับเมืองสาวัตถี               
               พวกเขาไปกรุงสาวัตถีแล้ว เรียน (ท่านเศรษฐี) ว่า "พวกข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว."
               เศรษฐี. ลูกสาวของใคร?
               พราหมณ์. ของธนญชัยเศรษฐี.
               เศรษฐีนั้นคิดว่า "นางทาริกาแห่งตระกูลใหญ่ อันเราได้แล้ว, ควรที่เราจะนำนางมาโดยเร็วทีเดียว" ดังนี้แล้ว กราบทูลแด่พระราชาเพื่อไปในเมืองนั้น.
               พระราชาทรงดำริว่า "ตระกูลใหญ่นั่น อันเรานำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อยู่อาศัยในเมืองสาเกต, ควรจะทำความยกย่องแก่ตระกูลนั้น" ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งว่า "แม้เรา ก็จักไป."
               เศรษฐีทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว ส่งข่าวไปบอกแก่ธนญชัยเศรษฐีว่า "เมื่อข้าพเจ้ามา, แม้พระราชาก็จักเสด็จมา, พลของพระราชามาก, ท่านจักอาจเพื่อทำกิจที่ควรทำแก่ชนประมาณเท่านั้น หรือจักไม่อาจ."
               ฝ่ายเศรษฐีนอกนี้ได้ส่งข่าวตอบไปว่า "แม้ถ้าพระราชาจะเสด็จมาสัก ๑๐ พระองค์, ขอจงเสด็จมาเถิด." มิคารเศรษฐี เว้นเพียงคนเฝ้าเรือน พาเอาคนที่เหลือในนครใหญ่ถึงเพียงนั้นไป หยุดพักในหนทางกึ่งโยชน์แล้ว ส่งข่าวไปว่า "พวกข้าพเจ้ามาแล้ว."

               ธนญชัยเศรษฐีกับธิดาจัดสถานที่ต้อนรับ               
               ธนญชัยเศรษฐีส่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไป แล้วปรึกษากับธิดาว่า "แม่ ได้ยินว่า พ่อผัวของเจ้า มากับพระเจ้าโกศล, เราควรจัดเรือนหลังไหน สำหรับพ่อผัวของเจ้านั้น, หลังไหน สำหรับพระราชา, หลังไหน สำหรับอิสรชนมีอุปราชเป็นต้น."
               เศรษฐีธิดาผู้ฉลาด มีญาณเฉียบแหลมดุจยอดเพชร ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป สมบูรณ์แล้วด้วยอภินิหาร จัดแจงว่า "ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเรือนหลังโน้น เพื่อพ่อผัวของเรา, หลังโน้น เพื่อพระราชา, หลังโน้น เพื่ออุปราช เป็นต้น" ดังนี้แล้ว ให้เรียกทาสและกรรมกรมา จัดการว่า "พวกท่านเท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่พระราชา, เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่อุปราชเป็นต้น. พวกท่านนั่นแล จงดูแลแม้สัตว์พาหนะมีช้างและม้าเป็นต้น, แม้คนผูกม้าเป็นต้น มาถึงแล้ว จักได้ชมมหรสพในงานมงคล."
               ถามว่า "เพราะเหตุไร? (นางจึงจัดอย่างนั้น)."
               ตอบว่า " (เพราะ) คนบางพวกอย่าได้เพื่อพูดว่า 'เราไปสู่' ที่มงคลแห่งนางวิสาขา ไม่ได้อะไรเลย, ทำแต่กิจมีการเฝ้าม้าเป็นต้น ไม่ได้เที่ยวตามสบาย."

               เครื่องแต่งตัวนางวิสาขา ๔ เดือนจึงแล้วเสร็จ               
               ในวันนั้นแล บิดาของนางวิสาขาให้เรียกช่างทองมา ๕๐๐ คนแล้ว กล่าวว่า "พวกท่านจงทำเครื่องประดับ ชื่อมหาลดาปสาธน์ แก่ธิดาของเรา" ดังนี้แล้ว สั่งให้ให้ทองคำมีสีสุกพันลิ่ม และเงินแก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬ และเพชรเป็นต้น พอสมกับทองนั้น.
               พระราชาประทับอยู่ ๒-๓ วันแล้ว ทรงส่งข่าวไปแก่ธนญชัยเศรษฐีว่า "เศรษฐีไม่สามารถทำการเลี้ยงดูพวกเราได้, ขอเศรษฐีจงรู้กาลไปแห่งนางทาริกาเถิด."
               ฝ่ายเศรษฐีนั้นส่งข่าวไปทูลพระราชาว่า "บัดนี้ กาลฝนมาถึงแล้ว, ใครๆ ไม่อาจเพื่อเที่ยวไปตลอด ๔ เดือนได้; การที่หมู่พลของพระองค์ได้วัตถุใดๆ สมควร, วัตถุนั้นๆ ทั้งหมดเป็นภาระของข้าพระองค์; พระองค์ผู้สมมติเทพจักเสด็จไปได้ในเวลาที่ข้าพระองค์ส่งเสด็จ." จำเดิมแต่กาลนั้น นครสาเกตได้เป็นนครราวกะมีนักษัตรเป็นนิตย์.
               วัตถุมีพวงดอกไม้ของหอมและผ้าเป็นต้น เป็นของอันเศรษฐีจัดแล้วแก่ชนทั้งหมด ตั้งต้นแต่พระราชาแล. ชนเหล่านั้นคิดกันว่า "เศรษฐีทำสักการะแก่พวกเราถ่ายเดียว ๓ เดือนล่วงไปแล้ว โดยอาการอย่างนี้. ส่วนเครื่องประดับก็ยังไม่เสร็จก่อน. ผู้ควบคุมงานมาแจ้งแก่เศรษฐีว่า "สิ่งอื่นที่ชื่อว่าไม่มี ก็หาไม่, แต่ฟืนสำหรับหุงต้มภัตเพื่อหมู่พล ไม่พอ." เศรษฐีกล่าวว่า "ไปเถิดพ่อทั้งหลาย, พวกท่านจง (รื้อ) ขนเอาโรงช้างเก่าๆ เป็นต้นและเรือนเก่าในนครนี้หุงต้มเถิด."
               แม้เมื่อหุงต้มอยู่อย่างนั้น, กึ่งเดือนล่วงไปแล้ว. ลำดับนั้น ผู้ควบคุมงานมาแจ้งแก่ท่านเศรษฐีอีกครั้งว่า "ฟืนไม่มี." เศรษฐีกล่าวว่า "ใครๆ ไม่อาจได้ฟืนในเวลานี้, พวกท่านจงเปิดเรือนคลังผ้าทั้งหลาย แล้วเอาผ้าเนื้อหยาบทำเกลียวชุบลงในตุ่มน้ำมันหุงภัตเถิด." ชนเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้น ตลอดกึ่งเดือน. ๔ เดือนล่วงไปแล้ว โดยอาการอย่างนี้. แม้เครื่องประดับก็เสร็จแล้ว.

               เครื่องประกอบในมหาลดาปสาธน์               
               เพชร ๔ ทะนาน ได้ถึงอันประกอบเข้าในเครื่องประดับนั้น, แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน, แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน, แก้วมณี ๓๓ ทะนาน. เครื่องประดับนั้นได้ถึงความสำเร็จ ด้วยรัตนะเหล่านี้และเหล่าอื่นด้วยประการฉะนี้. เครื่องประดับไม่สำเร็จด้วยด้าย, การงานที่ทำด้วยด้าย เขาทำแล้วด้วยเงิน. เครื่องประดับนั้นสวมที่ศีรษะแล้ว ย่อมจดหลังเท้า.
               ลูกดุมที่เขาประกอบทำเป็นแหวนในที่นั้นๆ ทำด้วยทอง, ห่วงทำด้วยเงิน, แหวนวงหนึ่งที่ท่ามกลางกระหม่อม, หลังหูทั้งสอง ๒ วง, ที่หลุมคอ ๑ วง, ที่เข่าทั้งสอง ๒ วง, ที่ข้อศอกทั้งสอง ๒ วง, ที่ข้างสะเอวทั้งสอง ๒ วง ดังนี้. ก็ในเครื่องประดับนั้นแล เขาทำนกยูงตัวหนึ่งไว้. ขนปีกทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน ได้มีที่ปีกเบื้องขวาแห่งนกยูงนั้น, ๕๐๐ ขนได้มีที่ปีกเบื้องซ้าย, จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ, นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี, คอและแววหางก็เหมือนกัน, ก้านขนทำด้วยเงิน, ขาก็เหมือนกัน. นกยูงนั้นสถิตอยู่ท่ามกลางกระหม่อมแห่งนางวิสาขา ปรากฏประหนึ่งนกยูงยืนรำแพนอยู่บนยอดเขา. เสียงแห่งก้านขนปีกพันหนึ่ง เป็นไปประหนึ่งทิพยสังคีต และประหนึ่งเสียงกึกก้องแห่งดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕. ชนทั้งหลายผู้เข้าไปสู่ที่ใกล้เท่านั้น ย่อมทราบว่า นกยูงนั้นไม่ใช่นกยูง (จริง). เครื่องประดับมีค่า ๙ โกฏิ. ท่านเศรษฐีให้ค่าหัตถกรรม (ค่าบำเหน็จ) แสนหนึ่ง.

               หญิงถวายจีวรย่อมได้มหาลดาปสาธน์               
               ถามว่า "ก็เครื่องประดับนั่น อันนางวิสาขานั้นได้แล้ว เพราะผลแห่งกรรมอะไร?"
               แก้ว่า "ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางถวายจีวรสาฎกแก่ภิกษุ ๒ หมื่นรูปแล้ว ได้ถวายด้ายบ้าง เข็มบ้าง เครื่องย้อมบ้าง ซึ่งเป็นของตนนั่นเอง นางได้แล้วซึ่งเครื่องประดับนี้ เพราะผลแห่งจีวรทานนั้น.
               ก็จีวรทานของหญิงทั้งหลาย ย่อมถึงที่สุดด้วยเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์,
               จีวรทานของบุรุษทั้งหลาย ย่อมถึงที่สุดด้วยบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์."

               เศรษฐีจัดไทยธรรมให้นางวิสาขา               
               มหาเศรษฐีทำการตระเตรียม เพื่อธิดาโดย ๔ เดือนอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะให้ไทยธรรมแก่ธิดานั้น ได้ให้เกวียนเต็มด้วยกหาปณะ ๕๐๐ เล่ม, ได้ให้เกวียนเต็มด้วยภาชนะทองคำ ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยภาชนะเงิน ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยภาชนะทองแดง ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยภาชนะสำริด ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยผ้าด้ายผ้าไหม ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยเนยใส ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยน้ำมัน ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยน้ำอ้อย ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยข้าวสารแห่งข้าวสาลี ๕๐๐ เล่ม, เต็มด้วยเครื่องอุปกรณ์ มีไถและผาลเป็นต้น ๕๐๐ เล่ม.
               ได้ยินว่า ความคิดอย่างนี้ได้มีแก่มหาเศรษฐีนั้นว่า "ในที่แห่งธิดาของเราไปแล้ว นางอย่าได้ส่งคนไปสู่ประตูเรือนของคนอื่นว่า เราต้องการด้วยวัตถุชื่อโน้น"; เพราะฉะนั้น มหาเศรษฐีจึงได้สั่งให้ให้เครื่องอุปกรณ์ทุกสิ่ง (แก่ธิดาของตน). มหาเศรษฐีได้ให้รถ ๕๐๐ คัน ตั้งนางสาวใช้รูปงามผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพไว้บนรถคันละ ๓ คนๆ, ได้ให้นางปริจาริกา ๑,๕๐๐ คน ด้วยสั่งว่า "พวกเจ้าเท่านี้คน จงให้ธิดาของเราอาบ เท่านี้คนให้บริโภค เท่านี้คนแต่งตัว เที่ยวไป."
               ครั้งนั้น มหาเศรษฐีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "เราจักให้โคแก่ธิดาของเรา." ท่านสั่งบุรุษว่า "พนาย พวกท่านจงไป, จงเปิดประตูคอกน้อยแล้ว ยืนถือกลอง ๓ ใบ อยู่ในที่ ๓ คาวุต, ยืนอยู่ที่ข้างทั้งสองในที่ประมาณ ๑ อุสภะ โดยส่วนกว้าง, ถัดจากนั้นจงอย่าให้แม่โคทั้งหลายไปที่อื่น, พึงตีกลองสัญญาในเวลาแม่โคหยุดแล้วอย่างนี้." บุรุษเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว. เวลาแม่โคออกจากคอกได้ ๑ คาวุต พวกเขาได้ตีกลองสัญญาขึ้น, ในเวลาแม่โคไปได้กึ่งโยชน์ ได้ตีกลองสัญญาอีก, แต่ในเวลาแม่โคไปได้ ๓ คาวุต พวกเขาได้ห้ามการไปโดยส่วนกว้างอีก แม่โคทั้งหลายได้ยืนเบียดกันและกันในที่ยาวประมาณ ๓ คาวุต กว้างประมาณ ๑ อุสภะ ด้วยประการอย่างนี้.
               มหาเศรษฐีสั่งให้ปิดประตูคอกด้วยคำว่า "โคเท่านี้ พอแล้วแก่ธิดาของข้าพเจ้า, พวกเจ้าจงปิดประตูเถิด." เมื่อเขาปิดประตูคอกแล้ว, เพราะผลบุญของนางวิสาขา โคตัวมีกำลังและแม่โคนมทั้งหลาย ก็กระโดดออกไปแล้ว. เมื่อพวกมนุษย์ห้ามอยู่นั่นแล โคตัวมีกำลัง ๖ หมื่นตัว และแม่โคนม ๖ หมื่นตัว ออกแล้ว, (และ) ลูกโคตัวมีกำลัง มีจำนวนเท่านั้น ก็ออกไปแล้ว, พวกโคอุสภะของแม่นมเหล่านั้น ก็ได้ติดตามไปแล้ว.
               ถามว่า "ก็โคทั้งหลายไปแล้วอย่างนั้น เพราะผลแห่งกรรมอะไร?"
               แก้ว่า "เพราะผลแห่งทานที่นางวิสาขาถวายแล้วแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ห้ามอยู่ๆ"
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางเป็นน้องสุดท้องของธิดาทั้ง ๗ ของพระเจ้ากิกิ มีพระนามว่าสังฆทาสี เมื่อถวายเบญจโครสทานแก่ภิกษุ ๒ หมื่นรูป แม้เมื่อภิกษุหนุ่มและสามเณรปิดบาตร ห้ามอยู่ว่า "พอ พอ" ก็ยังรับสั่งว่า "นี่อร่อย นี่น่าฉัน" แล้วได้ถวาย (อีก). เพราะผลแห่งกรรมนั้น โคเหล่านั้น แม้เขาห้ามอยู่ ก็ออกไปแล้วอย่างนั้น.
               ในเวลาที่เศรษฐีให้ทรัพย์เท่านี้ (แก่ธิดา) แล้ว ภริยาของเศรษฐีได้พูดว่า "ทุกสิ่งอันท่านจัดแจงแล้วแก่ธิดาของเรา, แต่คนใช้ชายหญิง ผู้ทำการรับใช้ ท่านมิได้จัดแจง, ข้อนั้นเพราะเหตุไร?"
               เศรษฐีตอบว่า "(ที่เราไม่จัดแจง) เพื่อรู้คนผู้มีความรักและชังในธิดาของเรา, เพราะเราจะจับคอพวกที่ไม่ไปกับธิดานั้นส่งไปไม่ได้, แต่ในเวลาจะขึ้นยานไปนั่นแล เราจะพูดว่า 'ใครอยากไปกับนางวิสาขานั่น ก็จงไป, ผู้ไม่อยากไป ก็อย่าไป.’"
               ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า "ธิดาของเรา จักไปพรุ่งนี้" นั่งในห้อง ให้ธิดานั่งในที่ใกล้แล้วให้โอวาทว่า "แม่ ธรรมดาหญิงผู้อยู่ในสกุลผัว รักษามรรยาทนี้และนี้ จึงจะควร.
               แม้มิคารเศรษฐีนี้นั่งในห้องถัดไป ได้ยินโอวาทของธนญชัยเศรษฐีแล้ว.

               โอวาท ๑๐ ข้อของเศรษฐี               
               ฝ่าย (ธนญชัย) เศรษฐีนั้น สอนธิดาอย่างนั้นแล้ว ให้โอวาท ๑๐ ข้อนี้ว่า
               "แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก,
                         ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน,
                         พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น,
                         ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้,
                         พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้,
                         พึงนั่งให้เป็นสุข,
                         พึงบริโภคให้เป็นสุข,
                         พึงนอนให้เป็นสุข,
                         พึงบำเรอไฟ,
                         พึงนอบน้อมเทวดาภายใน" ดังนี้แล้ว
               ในวันรุ่งขึ้น เรียกประชุมเสนาทั้งหมดแล้ว จึงเอากุฎุมพี ๘ คนให้เป็นผู้ค้ำประกันในท่ามกลางราชเสนาแล้ว กล่าวว่า "ถ้าโทษเกิดขึ้นแก่ธิดาของเรา ในที่ที่ไปแล้ว, พวกท่านพึงชำระ" ดังนี้แล้ว ประดับธิดาด้วยเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าได้ ๙ โกฏิ ให้ทรัพย์ ๕๔ โกฏิ เป็นค่าจุณสำหรับอาบ ให้ขึ้นสู่ยานแล้ว ให้คนเที่ยวตีกลองประกาศในบ้านส่วย ๑๔ ตำบลอันเป็นของตนเท่าอนุราธบุรี รอบเมืองสาเกตว่า "ชนผู้อยากไปกับธิดาของเรา ก็จงไป."
               ชาวบ้าน ๑๔ ตำบลพอได้ยินเสียง จึงออกไปไม่เหลือใครๆ เลย ด้วยคิดว่า "จักมีประโยชน์อะไรแก่พวกเราในที่นี้ ในเวลาที่แม่เจ้าของเราไปเสีย." ฝ่ายธนญชัยเศรษฐีทำสักการะแด่พระราชาและมิคารเศรษฐีแล้ว ก็ตามไปส่งธิดากับคนเหล่านั้นหน่อยหนึ่ง.
               มิคารเศรษฐีนั่งในยานน้อยไปข้างหลังยานทั้งหมด เห็นหมู่พลแล้ว จึงถามว่า "นั่นพวกไหน?"
               พวกคนใช้. ทาสหญิงทาสชาย ผู้รับใช้ของหญิงสะใภ้ของท่าน.
               มิคารเศรษฐี. ใครจักเลี้ยงดูคนจำนวนเท่านั้นได้; พวกท่านจงโบยคนพวกนั้นแล้วไล่ให้หนีไป, จงฉุดพวกที่ไม่หนีออกจากที่นี้.
               แต่นางวิสาขากล่าวว่า "หลีกไป, อย่าห้าม, พลนั่นแล จักให้ภัตแก่พล."
               แม้เมื่อนางกล่าวอย่างนั้น, เศรษฐีก็ยังกล่าวว่า "แม่ เราไม่มีความต้องการด้วยชนเหล่านั้น, ใครจักเลี้ยงคนเหล่านี้ได้" ดังนี้แล้ว จึงให้โบยด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ไล่ให้หนีไปแล้วพาพวกที่เหลือไป ด้วยคิดว่า "เราพอละ ด้วยคนจำนวนเท่านี้."

               นางวิสาขาถึงกรุงสาวัตถี               
               ครั้นเวลาถึงประตูนครสาวัตถี นางวิสาขาคิดว่า "เราจักนั่งในยานที่ปกปิดเข้าไปหรือหนอ? หรือจะยืนบนรถเข้าไป." ทีนั้น นางได้ตกลงใจอย่างนี้ว่า "เมื่อเราเข้าไปด้วยยานที่ปกปิด, ความวิเศษแห่งเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์จักไม่ปรากฏ." นางยืนบนรถแสดงตนแก่ชาวนครทั้งสิ้น เข้าไปสู่นครแล้ว. ชาวกรุงสาวัตถีเห็นสมบัติของนางวิสาขาแล้ว จึงพูดกันว่า "นัยว่า หญิงนั่นชื่อวิสาขา, สมบัติเห็นปานนี้ นี้สมควรแก่นางแท้."
               นางวิสาขานั้นเข้าไปสู่เรือนของเศรษฐีด้วยสมบัติมาก ด้วยประการฉะนี้. ก็ในวันที่นางมาถึง ชาวนครทั้งสิ้นได้ส่งบรรณาการไปตามกำลัง ด้วยคิดว่า "ธนญชัยเศรษฐีได้ทำสักการะมากมายแก่พวกเราผู้ถึงนครของตน." นางวิสาขาได้ให้ให้บรรณาการที่เขาส่งมาแล้วๆ (ทำ) ให้เป็นประโยชน์ทุกอย่าง ในตระกูลอื่นๆ ในนครนั้นนั่นแหละ.

               นางวิสาขาเจรจาไพเราะ               
               นางกล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก เหมาะแก่วัยของคนเหล่านั้นๆ ว่า "ท่านจงให้สิ่งนี้แก่คุณแม่ของฉัน, จงให้สิ่งนี้แก่คุณพ่อของฉัน, จงให้สิ่งนี้แก่พี่ชายน้องชายของฉัน. จงให้สิ่งนี้แก่พี่สาวน้องสาวของฉัน" ดังนี้แล้ว ส่งบรรณาการไป, ได้ทำชาวนครทั้งหมดให้เป็นเหมือนพวกญาติ ด้วยประการฉะนี้.
               ต่อมาในระหว่างตอนกลางคืน นางลาตัวเป็นแม่ม้าอาชาไนยของนางได้ตกลูก. นางให้พวกทาสีถือประทีปด้ามไปในที่นั้นแล้ว ยังนางลาให้อาบด้วยน้ำอุ่น ให้ทาด้วยน้ำมัน แล้วได้ไปสู่ที่อยู่ของตนตามเดิม.
               มิคารเศรษฐี เมื่อทำอาวาหมงคลของบุตร หาได้คำนึงถึงพระตถาคต แม้ประทับอยู่ในวิหารใกล้ไม่ อันความรักที่ตั้งอยู่เฉพาะในพวกสมณะเปลือยสิ้นกาลนาน เตือนอยู่ คิดว่า "เราจักทำสักการะแม้แก่พระผู้เป็นเจ้าของเรา" ดังนี้แล้ว วันหนึ่งให้คนหุงข้าวปายาสข้นบรรจุในภาชนะใหม่ หลายร้อยสำรับ ให้นิมนต์พวกอเจลกะ#- ๕๐๐ คน เชิญเข้าไปในเรือนแล้ว จึงส่งข่าวแก่นางวิสาขาว่า "สะใภ้ของฉันจงมา, ไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย."
____________________________
#- อเจลกะ คนผู้ถือลัทธิเปลือยกาย.

               นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว               
               นางเป็นอริยสาวิกาผู้โสดาบัน (พอ) ได้ยินคำว่า "อรหันต์" ก็เป็นผู้ร่าเริงยินดี มาสู่ที่บริโภคแห่งอเจลกะเหล่านั้น แลดูอเจลกะเหล่านั้นแล้ว คิดว่า "ผู้เว้นจากหิริโอตตัปปะเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่าพระอรหันต์ไม่ได้, เหตุไร พ่อผัวจึงให้เรียกเรามา?" ติเตียนเศรษฐีแล้ว ก็ไปที่อยู่ของตนตามเดิม.
               พวกอเจลกะเห็นอาการของนางวิสาขานั้นแล้ว จึงติเตียนเศรษฐี โดยเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดว่า "คฤหบดี ท่านไม่ได้หญิงอื่นแล้วหรือ จึงให้สาวิกาของสมณโคดม ซึ่งเป็นนางกาลกิณีตัวสำคัญเข้ามาในที่นี้? จงให้ขับไล่นางออกจากเรือนนี้โดยเร็ว." เศรษฐีนั้นคิดว่า " เราไม่อาจให้ขับไล่ออกไป ด้วยเหตุเพียงถ้อยคำของท่านเหล่านี้เท่านั้น, นางเป็นธิดาของสกุลใหญ่" ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ธรรมดาเด็กรู้บ้างไม่รู้บ้าง พึงทำ, ท่านทั้งหลายนิ่งเสียเถิด" ส่งอเจลกะเหล่านั้นไปแล้ว นั่งบนอาสนะมีค่ามาก บริโภคข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยในถาดทองคำ.
               ในสมัยนั้น พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาต ได้เข้าไปสู่เรือนหลังนั้นแล้ว. นางวิสาขายืนพัดพ่อผัวอยู่ เห็นพระเถระรูปนั้นว่า คิดว่า "การบอกพ่อผัวไม่ควร", จึงได้เลี่ยงออกไปยืน โดยอาการที่พ่อผัวนั้นจะเห็นพระเถระได้. แต่เศรษฐีนั้นเป็นพาล แม้เห็นพระเถระ ก็แกล้งทำเป็นเหมือนไม่เห็น ก้มหน้าบริโภคอยู่นั่นเอง.

               นางวิสาขาติพ่อผัวว่าบริโภคของเก่า               
               นางวิสาขารู้ว่า "พ่อผัวของเราแม้เห็นพระเถระ ก็ไม่เอาใจใส่" จึงกล่าวว่า "นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า, พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า." เศรษฐีนั้น แม้อดกลั้นได้ในเวลาที่พวกนิครนถ์บอก (แต่) ในขณะที่นางวิสาขากล่าวว่า "บริโภคของเก่า" นั่นเอง ก็วางมือกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงนำข้าวปายาสนี้ไปเสียจากที่นี่, จงขับไล่นางนั่นออกจากเรือนนี้, นางคนนี้ทำให้เราเป็นผู้ชื่อว่า เคี้ยวกินของไม่สะอาด ในกาลมงคลเช่นนี้."
               ก็แลทาสและกรรมกรทั้งหมดในเรือนนั้น ล้วนเป็นคนของนางวิสาขา จึงไม่อาจจะเข้าใกล้, ใครจักจับนางที่มือหรือที่เท้า, แม้ผู้สามารถกล่าวด้วยปากก็ไม่มี.
               นางวิสาขาฟังคำของพ่อผัวแล้ว กล่าวว่า "คุณพ่อ ดิฉันจะไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คุณพ่อมิได้นำดิฉันมา เหมือนนำนางกุมภทาสีมาแต่ท่าน้ำ ธรรมดาธิดาของมารดาบิดาผู้ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้; เพราะเหตุนั้นแล ในเวลาจะมาที่นี้ คุณพ่อของดิฉัน จึงได้เรียกกุฎุมพี ๘ คนมา พูดว่า 'ถ้าโทษเกิดขึ้นแก่ธิดาของเรา' ดังนี้แล้ว ก็มอบดิฉันไว้ในมือของกุฎุมพีเหล่านั้น คุณพ่อจงให้เรียกท่านเหล่านั้นมาแล้วให้ชำระโทษของดิฉัน."
               เศรษฐีคิดว่า "นางวิสาขานี้ พูดดี" จึงให้เรียกกุฎุมพีทั้ง ๘ มาแล้วบอกว่า "นางทาริกานี้ว่า ฉันผู้นั่งรับประทานข้าวปายาสมีน้ำข้นในถาดทอง ในเวลามงคลว่า ‘ผู้กินของไม่สะอาด’, พวกท่านยกโทษนางวิสาขานี้ขึ้นแล้ว จงคร่านางนี้ออกจากเรือนนี้."
               กุฎุมพี. ทราบว่า อย่างนั้นหรือ? แม่.
               วิสาขา. ฉันไม่ได้พูดอย่างนั้น, แต่เมื่อพระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง ยืนอยู่ที่ประตูเรือน, พ่อผัวของฉันกำลังรับประทานข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย ไม่ใส่ใจถึงพระเถระนั้น, ฉันคิดว่า ‘พ่อผัวของเรา ไม่ทำบุญในอัตภาพนี้, บริโภคแต่บุญเก่าเท่านั้น’, จึงได้พูดว่า ‘นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า, พ่อผัวของดิฉัน กำลังบริโภคของเก่า’, โทษอะไรของดิฉันจะมีในเพราะเหตุนี้เล่า?
               กุฎุมพี. ท่าน โทษในเพราะเหตุนี้ มิได้มี, ธิดาของข้าพเจ้ากล่าวชอบ. เหตุไร ท่านจึงโกรธ?
               เศรษฐี. ท่านทั้งหลาย โทษอันนี้เป็นอันพ้นไปก่อน, แต่วันหนึ่ง ในมัชฌิมยาม นางวิสาขานี้อันคนใช้ชายหญิงแวดล้อมแล้วได้ไปหลังเรือน.
               กุฎุมพี. ทราบว่า อย่างนั้นหรือ? แม่.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย ดิฉันไม่ได้ไปเพราะเหตุอื่น, ก็เมื่อนางลาแม่ม้าอาชาไนยตกลูกแล้วใกล้เรือนนี้ ดิฉันคิดว่า ‘การที่นั่งเฉยไม่เอาเป็นธุระเสียเลย ไม่สมควร’ จึงให้คนถือประทีปด้ามไปกับพวกหญิงคนใช้ ให้ทำการบริหารแก่แม่ลาที่ตกลูกแล้ว, ในเพราะเหตุนี้ ดิฉันจะมีโทษอะไร?
               กุฎุมพี. ท่าน ธิดาของพวกข้าพเจ้าทำกรรม แม้พวกหญิงคนใช้ไม่พึงทำในเรือนของท่าน, ท่านยังเห็นโทษอะไร ในเพราะเหตุนี้?
               เศรษฐี. ท่านทั้งหลาย แม้ในเรื่องนี้จะไม่มีโทษ ก็ช่างเถอะ, แต่ว่า บิดาของนางวิสาขานี้ เมื่อกล่าวสอนนางวิสาขานี้ ในเวลาจะมาที่นี้ ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อซึ่งลี้ลับปิดบัง, เราไม่ทราบเนื้อความแห่งโอวาทนั้น, นางจงบอกเนื้อความแห่งโอวาทนั้นแก่เรา; ก็บิดาของนางนี้ได้บอกว่า ‘ไฟใน ไม่พึงนำออกไปภายนอก’ พวกเราอาจหรือหนอ? เพื่อจะไม่ให้ไฟแก่เรือนคุ้นเคยทั้งสองฝ่ายแล้วอยู่ได้."

               นางวิสาขาชนะความพ่อผัว               
               กุฎุมพี. ทราบว่าอย่างนั้นหรือ? แม่.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันมิได้พูดหมายความดังนั้น, แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า ‘แม่ เจ้าเห็นโทษของแม่ผัว พ่อผัว และสามีของเจ้าแล้ว อย่าเฝ้ากล่าว ณ ภายนอก คือในเรือนนั้นๆ, เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟชนิดนี้ ย่อมไม่มี.
               เศรษฐี. ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นยกไว้ก่อน, ก็บิดาของนางวิสาขานี้กล่าวว่า ‘ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน’, พวกเราอาจเพื่อจะไม่ไปนำไฟมาจากภายนอกหรือ? ในเมื่อไฟใน (เรือน) ดับ.
               กุฎุมพี. ทราบว่าอย่างนั้นหรือ? แม่.
               วิสาขา. พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉัน ไม่ได้พูดหมายความดังนั้น, แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า ‘ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลาย ในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของแม่ผัว พ่อผัว และสามี, เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นพูดแล้ว มาพูดอีกว่า ‘คนชื่อโน้นพูดยกโทษอย่างนี้ของท่านทั้งหลาย’ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟนั่น ย่อมไม่มี.
               นางวิสาขาได้พ้นโทษ เพราะเหตุนี้อย่างนี้. ก็นางพ้นโทษในเพราะเหตุนี้ฉันใด, แม้ในคำที่เหลือ นางก็ได้พ้นโทษฉันนั้น (เหมือนกัน).

               อรรถาธิบายข้อโอวาทอื่น               
               ก็ในโอวาทเหล่านั้น พึงทราบอธิบายดังนี้ :-
               ก็คำที่บิดาของนางสอนว่า "แม่ เจ้าควรให้แก่ชนทั้งหลายที่ให้เท่านั้น" เศรษฐีกล่าวหมายเอา (เนื้อความนี้) ว่า "ควรให้ แก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ส่งคืนเท่านั้น."
               แม้คำว่า "ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอาเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ไม่ส่งคืน."
               ก็แลคำว่า "ควรให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "เมื่อญาติและมิตรยากจนมาถึงแล้ว, ชนเหล่านั้น อาจจะใช้คืน หรือไม่อาจก็ตาม, ให้แก่ญาติและมิตรเหล่านั้นนั่นแหละ ควร."
               แม้คำว่า "พึงนั่งเป็นสุข" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "การนั่งในที่ๆ เห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามีแล้วต้องลุกขึ้น ไม่ควร."
               ส่วนคำว่า "พึงบริโภคเป็นสุข" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "การไม่บริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี เลี้ยงดูท่านเหล่านั้น รู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้น ทุกๆ คนได้แล้วหรือยังไม่ได้ แล้วตนเองบริโภคทีหลัง จึงควร."
               แม้คำว่า "พึงนอนเป็นสุข" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี, ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว ตนเองนอนทีหลัง จึงควร."
               และคำว่า "พึงบำเรอไฟ" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "การเห็นทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามี ให้เป็นเหมือนกองไฟและเหมือนพระยานาค จึงควร."
               แม้คำว่า "พึงนอบน้อมเทวดาภายใน" นี้ เศรษฐีกล่าวหมายความว่า "การเห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามี ให้เป็นเหมือนเทวดา จึงสมควร."
               เศรษฐีได้ฟังเนื้อความแห่งโอวาท ๑๐ ข้อนี้ อย่างนั้นแล้ว ไม่เห็นคำโต้เถียง ได้นั่งก้มหน้าแล้ว.
               ครั้งนั้น กุฎุมพีทั้งหลายถามเศรษฐีนั้นว่า "ท่านเศรษฐี โทษแม้อย่างอื่นแห่งธิดาของพวกข้าพเจ้า ยังมีอยู่หรือ?"
               เศรษฐี. ไม่มีดอก ท่าน.
               กุฎูมพี. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ท่านจึงให้ขับไล่ นางผู้ไม่มีความผิด ออกจากเรือน โดยไม่มีเหตุเล่า?

               มิคารเศรษฐีขอโทษนางวิสาขา               
               เมื่อกุฎุมพีทั้งหลายพูดอย่างนั้นแล้ว, นางวิสาขาได้พูดว่า "พ่อทั้งหลาย การที่ดิฉันไปก่อนตามคำของพ่อผัว ไม่สมควรเลย ก็จริง, แต่ในเวลาจะมา คุณพ่อของดิฉัน ได้มอบดิฉันไว้ในมือของพวกท่านเพื่อต้องการชำระโทษของดิฉัน, ก็ความที่ดิฉันไม่มีโทษ ท่านทั้งหลายทราบแล้ว, บัดนี้ ดิฉันควรไปได้" ดังนี้แล้ว จึงสั่งคนใช้หญิงชายทั้งหลายว่า "พวกเจ้าจงให้ช่วยกันจัดแจงพาหนะ มียานเป็นต้น."
               ทีนั้น เศรษฐียึดกุฎุมพีเหล่านั้นไว้ แล้วกล่าวกะนางว่า "แม่ ฉันไม่รู้ พูดไปแล้ว, ยกโทษให้ฉันเถิด."
               วิสาขา. คุณพ่อ ดิฉันยกโทษที่ควรยกให้แก่คุณพ่อได้โดยแท้, แต่ดิฉันเป็นธิดาของตระกูลผู้มีความเลื่อมใสอันไม่ง่อนแง่น ในพระพุทธศาสนา, พวกดิฉันเว้นภิกษุสงฆ์แล้ว เป็นอยู่ไม่ได้, หากดิฉันได้เพื่อบำรุงภิกษุสงฆ์ตามความพอใจของดิฉัน, ดิฉันจึงจักอยู่.
               เศรษฐี. แม่ เจ้าจงบำรุงพวกสมณะของเจ้า ตามความชอบใจเถิด.

               มิคารเศรษฐีฟังธรรมของพระพุทธเจ้า               
               นางวิสาขาให้คนไปทูลนิมนต์พระทศพล แล้วเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่นิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น. ฝ่ายพวกสมณะเปลือยได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จไปยังเรือนของมิคารเศรษฐี จึงไปนั่งล้อมเรือนไว้. นางวิสาขาถวายน้ำทักษิโณทกแล้วส่งข่าวไปว่า "ดิฉันตกแต่งเครื่องสักการะทั้งปวงไว้แล้ว, เชิญพ่อผัวของดิฉัน มาอังคาสพระทศพลเถิด."
               ครั้งนั้น พวกอาชีวกห้ามมิคารเศรษฐีผู้อยากจะมาว่า "คฤหบดี ท่านอย่าไปสู่สำนักของพระสมณโคดมเลย." เศรษฐีส่งข่าวไปว่า "สะใภ้ของฉัน จงอังคาสเองเถิด." นางอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ได้ส่งข่าวไปอีกว่า "เชิญพ่อผัวของดิฉัน มาฟังธรรมกถาเถิด." ทีนั้น พวกอาชีวกนั้นกล่าวกะเศรษฐีนั้นผู้คิดว่า "ชื่อว่า การไม่ไปคราวนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง" แล้วกำลังไป เพราะความที่ตนอยากฟังธรรมอีกว่า "ถ้ากระนั้น ท่านเมื่อฟังธรรมของพระสมณโคดม จงนั่งฟังภายนอกม่าน" ดังนี้แล้ว จึงล่วงหน้าไปก่อนเศรษฐีนั้นแล้วก็กั้นม่านไว้. เศรษฐีไปนั่งภายนอกม่าน.
               พระศาสดาตรัสว่า "ท่านจงนั่งนอกม่านก็ตาม ที่ฝาเรือนคนอื่นก็ตาม ฟากภูเขาหินโน้นก็ตาม ฟากจักรวาลโน้นก็ตาม, เราชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมอาจจะให้ท่านได้ยินเสียงของเราได้" ดังนี้แล้ว ทรงเริ่มอนุปุพพีกถาเพื่อแสดงธรรม ดุจจับต้นหว้าใหญ่สั่น และดุจยังฝน คืออมตธรรมให้ตกอยู่.
               ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ชนผู้ยืนอยู่ข้างหน้าก็ตาม ข้างหลังก็ตาม อยู่เลยร้อยจักรวาล พันจักรวาลก็ตาม อยู่ในภพอกนิษฐ์ก็ตาม ย่อมกล่าวกันว่า "พระศาสดาย่อมทอดพระเนตรดูเราคนเดียว, ทรงแสดงธรรมโปรดเราคนเดียว."
               แท้จริง พระศาสดาเป็นดุจทอดพระเนตรดูชนนั้นๆ และเป็นดุจตรัสกับคนนั้นๆ.
               นัยว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุปมาดังพระจันทร์, ย่อมปรากฏเหมือนประทับยืนอยู่ตรงหน้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เหมือนพระจันทร์ลอยอยู่แล้วในกลางหาว ย่อมปรากฏแก่ปวงสัตว์ว่า "พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา, พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา" ฉะนั้น.
               ได้ยินว่า นี้เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตัดพระเศียรที่ประดับแล้ว ทรงควักพระเนตรที่หยอดดีแล้ว ทรงชำแหละเนื้อหทัยแล้ว ทรงบริจาคโอรสเช่นกับพระชาลี ธิดาเช่นกับนางกัณหาชินา ปชาบดีเช่นกับพระนางมัทรี ให้แล้ว เพื่อเป็นทาสของผู้อื่น.

               นางวิสาขาได้นามว่ามิคารมารดา               
               ฝ่ายมิคารเศรษฐี เมื่อพระตถาคตทรงเปลี่ยนแปลงยักย้ายธรรมเทศนาอยู่ นั่งอยู่ภายนอกม่านนั่นเอง ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล อันประดับด้วยพันนัย ประกอบด้วยอจลศรัทธา เป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ ยกชายม่านขึ้นแล้ว มาเอาปากอมถันหญิงสะใภ้ ตั้งนางไว้ในตำแหน่งมารดาด้วยคำว่า "เจ้าจงเป็นมารดาของฉัน ตั้งแต่วันนี้ไป."
               จำเดิมแต่วันนั้น นางวิสาขาได้ชื่อว่ามิคารมารดาแล้ว, ภายหลังได้บุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า "มิคาระ."
               มหาเศรษฐีปล่อยถันของหญิงสะใภ้แล้ว ไปหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า นวดฟั้นพระบาทด้วยมือ และจุ๊บด้วยปากและประกาศชื่อ ๓ ครั้งว่า "ข้าพระองค์ชื่อมิคาระ พระเจ้าข้า" ดังนี้เป็นต้นแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ทราบ ตลอดกาลเพียงเท่านี้ ‘ทานที่บุคคลให้แล้วในศาสนานี้ มีผลมาก’, ข้าพระองค์ทราบผลแห่งทานในบัดนี้ ก็เพราะอาศัยหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์, ข้าพระองค์เป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทุกข์ทั้งปวง, หญิงสะใภ้ของข้าพระองค์ เมื่อมาสู่เรือนนี้ ก็มาแล้วเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์" ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า :-
                         "ข้าพระองค์นั้น ย่อมรู้ทั่วถึงทานที่บุคคลให้
                         แล้ว ในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมากในวันนี้,
                         หญิงสะใภ้คนดีของข้าพระองค์มาสู่เรือน เพื่อ
                         ประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ."
               นางวิสาขาทูลนิมนต์พระศาสดา แม้เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น. แม้ในวันรุ่งขึ้น แม่ผัวได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. จำเดิมแต่กาลนั้น เรือนหลังนั้น ได้เปิดประตูแล้วเพื่อพระศาสนา.

               มิคารเศรษฐีทำเครื่องประดับให้นางวิสาขา               
               ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า "สะใภ้ของเรา มีอุปการะมาก, เราจักทำบรรณาการให้แก่นาง, เพราะเครื่องประดับของสะใภ้นั้นหนัก, ไม่อาจเพื่อประดับตลอดกาลเป็นนิตย์ได้, เราจักให้ช่างทำเครื่องประดับอย่างเบาๆ แก่นาง ควรแก่การประดับในทุกอิริยาบถ ทั้งในกลางวันและกลางคืน" ดังนี้แล้ว จึงให้ช่างทำเครื่องประดับ ชื่อฆนมัฏฐกะ อันมีราคาแสนหนึ่ง, เมื่อเครื่องประดับนั้นเสร็จแล้ว, นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้ฉัน โดยความเคารพแล้ว ให้นางวิสาขาอาบน้ำด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ ให้ยืนถวายบังคมพระศาสดา ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาแล้ว. พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้ว เสด็จไปสู่วิหารตามเดิม.

               นางวิสาขามีกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก               
               จำเดิมแต่กาลนั้น แม้นางวิสาขา ทำบุญมีทานเป็นต้นอยู่ ได้พร ๘ ประการจากสำนักพระศาสดา ปรากฏประหนึ่งจันทเลขา (วงจันทร์) ในกลางหาว ถึงความเจริญด้วยบุตรและธิดาแล้ว.
               ได้ทราบมาว่า นางมีบุตร ๑๐ คน มีธิดา ๑๐ คน, บรรดาบุตร (ชายหญิง) เหล่านั้น คนหนึ่งๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน มีธิดาคนละ ๑๐ คน, บรรดาหลานเหล่านั้น คนหนึ่งๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน มีธิดาคนละ ๑๐ คน, จำนวนคนได้มีตั้ง ๘,๔๒๐ คน เป็นไปด้วยสามารถแห่งความสืบเนื่องแห่งบุตรหลานและเหลน ของนางวิสาขานั้น อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               นางวิสาขาเองก็ได้มีอายุ ๑๒๐ ปี. ชื่อว่าผมหงอกบนศีรษะแม้เส้นหนึ่ง ก็ไม่มี. นางได้เป็นประหนึ่งเด็กหญิงรุ่นอายุราว ๑๖ ปี เป็นนิตย์. ชนทั้งหลายเห็นนางมีบุตรและหลานเป็นบริวารเดินไปวิหาร ย่อมถามกันว่า "ในหญิงเหล่านี้ คนไหน นางวิสาขา?" ชนผู้เห็นนางเดินไปอยู่ ย่อมคิดว่า "บัดนี้ขอจงเดินไปหน่อยเถิด, แม่เจ้าของเราเดินไปอยู่เทียว ย่อมงาม." ชนที่เห็นนางยืนนั่งนอน ก็ย่อมคิดว่า "บัดนี้ จงนอนหน่อยเถิด, แม่เจ้าของเรานอนแล้วแล ย่อมงาม." นางได้เป็นผู้อันใครๆ พูดไม่ได้ว่า "ในอิริยาบถทั้ง ๔ นางย่อมไม่งามในอิริยาบถ ชื่อโน้น" ด้วยประการฉะนี้.
               ก็นางวิสาขานั้นย่อมทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก. พระราชาทรงสดับว่า "ได้ทราบว่า นางวิสาขาทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก" ในเวลานางไปวิหารฟังธรรมแล้วกลับมา มีพระประสงค์จะทดลองกำลัง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างไป. ช้างนั้นชูงวง ได้วิ่งรี่เข้าใส่นางวิสาขาแล้ว. หญิงบริวารของนาง ๕๐๐ บางพวกวิ่งหนีไป, บางพวกไม่ละนาง, เมื่อนางวิสาขาถามว่า "อะไรกันนี่?" จึงบอกว่า "แม่เจ้า ได้ทราบว่า พระราชาทรงประสงค์จะทดลองกำลังแม่เจ้า จึงรับสั่งให้ปล่อยช้าง." นางวิสาขาคิดว่า "ประโยชน์อะไร ด้วยการเห็นช้างนี้แล้ววิ่งหนีไป, เราจักจับช้างนั้นอย่างไรหนอแล?" จึงคิดว่า "ถ้าเราจับช้างนั้นอย่างมั่นคง, ช้างนั้นจะพึงฉิบหาย" ดังนี้แล้ว จึงเอานิ้ว ๒ นิ้ว จับงวงแล้วผลักไป. ช้างไม่อาจทรงตัวอยู่ได้, ได้ซวนล้มลงที่พระลานหลวงแล้ว. มหาชนได้ให้สาธุการ. นางพร้อมกับบริวารได้กลับเรือนโดยสวัสดีแล้ว.

               นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ที่วิหาร               
               ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดามีบุตรมาก มีหลานมาก มีบุตรหาโรคมิได้ มีหลานหาโรคมิได้ สมมติกันว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง ในกรุงสาวัตถี. บรรดาบุตรหลานตั้งพัน มีจำนวนเท่านั้น แม้คนหนึ่ง ที่ชื่อว่าถึงความตายในระหว่าง มิได้มีแล้ว. ในงานมหรสพที่เป็นมงคล ชาวกรุงสาวัตถีย่อมอัญเชิญนางวิสาขาให้บริโภคก่อน.
               ต่อมา ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อมหาชนแต่งตัวไปวิหารเพื่อฟังธรรม, แม้นางวิสาขาบริโภคในที่ที่เขาเชิญแล้ว ก็แต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ ไปวิหารกับด้วยมหาชน ได้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ให้แก่หญิงคนใช้ไว้,
               ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวหมายเอาคำนี้ว่า๑-
____________________________
๑- วิ. มหาวิภังค์ เล่ม ๒/ข้อ ๗๓๙.

               "ก็โดยสมัยนั้นแล ในกรุงสาวัตถี มีการมหรสพ, มนุษย์ทั้งหลายแต่งตัวแล้วไปวัด. แม้นางวิสาขามิคารมารดา ก็แต่งตัวไปวิหาร. ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดาเปลื้องเครื่องประดับ ผูกให้เป็นห่อที่ผ้าห่มแล้วได้ (ส่ง) ให้หญิงคนใช้ว่า "นี่แน่ะแม่ เจ้าจงรับห่อนี้ไว้."
               ได้ยินว่า นางวิสาขานั้น เมื่อกำลังเดินไปวิหาร คิดว่า "การที่เราสวมเครื่องประดับมีค่ามากเห็นปานนี้ไว้บนศีรษะ แล้วประดับเครื่องอลังการจนถึงหลังเท้า เข้าไปสู่วิหาร ไม่ควร" จึงเปลื้องเครื่องประดับนั้นออกห่อไว้ แล้วได้ส่งให้ในมือหญิงคนใช้ ผู้ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก ผู้เกิดด้วยบุญของตนเหมือนกัน. หญิงคนใช้นั้นคนเดียว ย่อมอาจเพื่อรับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นได้, เพราะเหตุนั้น นางวิสาขา จึงกล่าวกะหญิงคนใช้นั้นว่า "แม่ จงรับเครื่องประดับนี้ไว้, ฉันจักสวมมันในเวลากลับจากสำนักของพระศาสดา. ก็นางวิสาขา ครั้นให้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะ ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา สดับธรรมแล้ว.
               ในที่สุดการสดับธรรม นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว. ฝ่ายหญิงคนใช้นั้นของนางลืมเครื่องประดับนั้นแล้ว. ก็เมื่อบริษัทฟังธรรมหลีกไปแล้ว, ถ้าใครลืมของอะไรไว้. พระอานนทเถระย่อมเก็บงำของนั้น. เพราะเหตุดังนี้ ในวันนั้น ท่านเห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์แล้ว จึงทูลแด่พระศาสดาว่า "นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ ไปแล้ว พระเจ้าข้า."
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงเก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่งเถิด อานนท์." พระเถระยกเครื่องประดับนั้น เก็บคล้องไว้ที่ข้างบันได.

               นางวิสาขาตรวจบริเวณวัด               
               ฝ่ายนางวิสาขาเที่ยวเดินไปภายในวิหาร กับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า "จักรู้สิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุผู้เตรียมตัวจะไป และภิกษุไข้เป็นต้น." ก็โดยปกติแล ภิกษุหนุ่มและสามเณร ผู้ต้องการด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำมันเป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้นในภายในวิหารแล้ว ย่อมถือภาชนะมีถาดเป็นต้น เดินเข้าไปหา. ถึงในวันนั้น ก็ทำแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ครั้งนั้น นางสุปปิยาเห็นภิกษุไข้รูปหนึ่ง จึงถามว่า "พระผู้เป็นเจ้าต้องการอะไร?"
               เมื่อภิกษุไข้รูปนั้น ตอบว่า "ต้องการรสแห่งเนื้อ๑-" จึงตอบว่า "ได้พระผู้เป็นเจ้า, ดิฉันจักส่งไป" ในวันที่ ๒ เมื่อไม่ได้เนื้อที่เป็นกัปปิยะ จึงทำกิจที่ควรทำด้วยเนื้อขาอ่อนของตน ด้วยความเลื่อมใสในพระศาสดา ก็กลับเป็นผู้มีสรีระตั้งอยู่ตามปกตินั่นแล.
____________________________
๑- อรรถกถาแก้ว่า ปฏิจฺฉาทนีเยนาติ มํสรเสน (น้ำเนื้อต้ม).

               ฝ่ายนางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้แล้ว ก็ออกโดยประตูอื่น ยืนอยู่ที่อุปจารวิหารแล้ว พูดว่า "แม่ จงเอาเครื่องประดับมา, ฉันจักแต่ง." ในขณะนั้น หญิงคนใช้นั้นรู้ว่าตนลืมแล้วออกมา จึงตอบว่า "ดิฉันลืม แม่เจ้า." นางวิสาขา กล่าวว่า "ถ้ากระนั้น จงไปเอามา, แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น, เจ้าอย่าเอามา, ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั้นแล."
               นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่า "พระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่พวกมนุษย์ลืมไว้", เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น.

               นางวิสาขาซื้อที่สร้างวิหารถวายสงฆ์               
               ฝ่ายพระเถระพอเห็นนางคนใช้นั้น ก็ถามว่า "เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร?" เมื่อหญิงคนใช้นั่นตอบว่า "ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉัน จึงได้มา", จึงกล่าวว่า "ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น, เจ้าจงเอาไป."
               หญิงคนใช้นั้นตอบว่า "พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉัน สั่งมิให้นำเอาไป" ดังนี้แล้ว ก็มีมือเปล่ากลับไป ถูกนางวิสาขาถามว่า "อะไร แม่?" จึงบอกเนื้อความนั้น. นางวิสาขากล่าวว่า "แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว, ฉันบริจาคแล้ว, แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ เป็นการลำบาก. ฉันจำหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้วจักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไป, เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา." หญิงคนใช้นั้นไปนำเอามาแล้ว.
               นางวิสาขาไม่แต่งเครื่องประดับนั้น สั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา, เมื่อพวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า "มีราคาถึง ๖ โกฏิ, แต่สำหรับค่าบำเหน็จต้องถึงแสน", จึงวางเครื่องประดับไว้บนยานแล้วกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น พวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น." ไม่มีใครจักอาจให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นรับไว้ได้, เพราะหญิงผู้สมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก.
               แท้จริง หญิง ๓ คนเท่านั้น ในปฐพีมณฑล ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑, นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑, ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑,
               เพราะฉะนั้น นางวิสาขา จึงให้ค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว, จำเดิมแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้, แต่หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า ‘จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา’ ไม่เห็นผู้อื่นจะสามารถรับไว้ได้ จึงให้รับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองมาแล้ว, หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า?"
               พระศาสดา ตรัสว่า "เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา." นางวิสาขาทูลรับว่า "สมควร พระเจ้าข้า" มีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ ซื้อเฉพาะที่ดิน. นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๙ โกฏินอกนี้.

               การสร้างวิหารของนางวิสาขา ๙ เดือนแล้วเสร็จ               
               ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่าภัททิยะ ผู้จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังประตูด้านทิศอุดร. แม้ตามปกติ พระศาสดาทรงรับภิกษาในเรือนของนางวิสาขาแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านทักษิณ ประทับอยู่ในพระเชตวัน, ทรงรับภิกษาในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านปราจีน ประทับอยู่ในบุพพาราม. ชนทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดำเนินมุ่งตรงประตูด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า "จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก."
               ในวันนั้น แม้นางวิสาขาพอทราบว่า "พระศาสดาเสด็จดำเนินบ่ายพระพักตร์ไปทางประตูด้านทิศอุดร" จึงรีบไป ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า "ทรงประสงค์จะเสด็จดำเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระเจ้าข้า?"
               พระศาสดา. อย่างนั้น วิสาขา.
               วิสาขา. พระเจ้าข้า หม่อมฉันบริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระองค์, โปรดเสด็จกลับเถิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. นี้ เป็นการไปยังไม่กลับ วิสาขา.
               นางวิสาขานั้นคิดว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเห็นใครๆ ผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ เป็นแน่." จึงกราบทูลว่า "ถ้ากระนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เข้าใจการงานที่หม่อมฉันทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ กลับ แล้วเสด็จเถิด พระเจ้าข้า."
               พระศาสดา. เธอพอใจภิกษุรูปใด, จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา.
               แม้นางจะพึงใจพระอานนทเถระก็จริง, แต่คิดว่า "พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์, การงานของเราจักพลันสำเร็จ ก็เพราะอาศัยพระเถระนั่น" ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระเถระไว้. พระเถระแลดูพระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า "โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับเถิด."
               ท่านได้ทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว. ด้วยอานุภาพของท่าน พวกมนุษย์ผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหิน ระยะทางแม้ตั้ง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาทันในวันนั้นนั่นเอง, แม้ยกไม้และหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบากเลย, เพลาเกวียนก็ไม่หัก, ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ. ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง, ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง.
               พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือนแล้ว ได้เสด็จ (กลับ) ไปสู่กรุงสาวัตถีอีก. แม้การงานในปราสาทของนางุวิสาขา ก็สำเร็จโดย ๙ เดือนเหมือนกัน. นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล.
               นางได้ยินว่า "พระศาสดาเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร" จึงทำการต้อนรับนำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว รับปฏิญญาว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้, หม่อมฉันจักทำการฉลองปราสาท."
               พระศาสดาทรงรับแล้ว.

               นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร               
               จำเดิมแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้น ย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล. ครั้งนั้น หญิงสหายคนหนึ่งของนาง ถือผ้าผืนหนึ่งราคา ๑,๐๐๐ มาแล้ว กล่าวว่า "สหาย ฉันอยากจะลาดผ้าผืนนี้ โดยสังเขปว่าเครื่องลาดพื้นในปราสาทของท่าน, ขอท่านช่วยบอกที่ลาดแก่ฉัน." นางวิสาขากล่าวว่า "สหาย ถ้าฉันจะบอกแก่ท่านว่า ‘โอกาสไม่มี’, ท่านก็จักสำคัญว่า ‘ไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่เรา’, ท่านจงตรวจดูพื้นแห่งปราสาท ๒ ชั้น และห้องพันห้องแล้ว รู้ที่ลาดเอาเองเถิด"
               หญิงสหายนั้นถือผ้าราคา ๑,๐๐๐ เที่ยว (เดินตรวจ) ในที่นั้นๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาน้อยกว่าผ้าของตนนั้นแล้ว ก็ถึงความเสียใจว่า "เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้" ได้ยืนร้องไห้อยู่แล้ว ในที่แห่งหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระอานนทเถระเห็นหญิงนั้น จึงถามว่า "ร้องไห้เพราะเหตุไร?"
               นางบอกเนื้อความนั้นแล้ว.
               พระเถระกล่าวว่า "อย่าคิดเลย, เราจักบอกที่ลาดให้แก่ท่าน", กล่าวแล้วว่า "ท่านจงลาดไว้ที่บันได ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า, ภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้ว เช็ดเท้าที่ผ้านั้นก่อน จึงจักเข้าไปภายใน, เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลเป็นอันมากก็จักมีแก่ท่าน."
               ได้ยินว่า ที่นั่นเป็นสถานอันนางวิสาขามิได้กำหนดไว้.
               นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในภายในวิหาร ตลอด ๔ เดือน. ในวันสุดท้าย ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์. ผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว ได้มีราคาพันหนึ่ง. นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป. ในเพราะการบริจาคทาน ทรัพย์ได้ (หมดไป) ถึง ๙ โกฏิ. นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา ทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือ ในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ, ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ, ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่าการบริจาคเห็นปานนี้ ย่อมไม่มีแก่หญิงอื่น ผู้ดำรงอยู่ในภาวะแห่งสตรีอยู่ในเรือนของคนผู้มิจฉาทิฏฐิ.

               นางวิสาขาเปล่งอุทานในวันฉลองวิหารเสร็จ               
               ในวันแห่งการฉลองวิหารเสร็จ เวลาบ่าย นางวิสาขานั้นอันบุตรหลานแวดล้อมแล้ว คิดว่า "ความปรารถนาใดๆ อันเราตั้งไว้แล้วในกาลก่อน, ความปรารถนานั้นๆ ทั้งหมดเทียว ถึงที่สุดแล้ว." เดินเวียนรอบปราสาท เปล่งอุทานนี้ด้วยเสียงอันไพเราะด้วย ๕ คาถาว่า :-
                                   ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายปราสาทใหม่
                         ฉาบด้วยปูนขาวและดิน เป็นวิหารทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
                                   ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเตียงตั่งฟูก
                         และหมอนเป็นเสนาสนภัณฑ์’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
                                   ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายสลากภัตผสม
                         ด้วยเนื้ออันสะอาด เป็นโภชนทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
                                   ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์
                         ผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
                                   ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเนยใส เนยข้น
                         น้ำผึ้ง น้ำมันและน้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
               ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงของนางแล้ว กราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า ชื่อว่าการขับร้องของนางวิสาขา พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นในกาลนาน ประมาณเท่านี้, วันนี้ นางอันบุตรและหลานแวดล้อมแล้ว ขับเพลงเดินเวียนรอบปราสาท, ดีของนางกำเริบหรือหนอแล, หรือนางเสียจริตเสียแล้ว?"
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาขับเพลงไม่, แต่อัชฌาสัยส่วนตัวของเธอเต็มเปี่ยมแล้ว, เธอดีใจว่า ‘ความปรารถนาที่เราตั้งไว้ ถึงที่สุดแล้ว’, จึงเดินเปล่งอุทาน."
               เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ก็นางตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร พระเจ้าข้า",
               จึงตรัสว่า "จักฟังหรือ ภิกษุทั้งหลาย"
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "จักฟัง พระเจ้าข้า."
               จึงทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสดังต่อไปนี้) :-

               บุรพประวัติของนางวิสาขา               
               ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแสนกัปแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก. พระองค์ได้มีพระชนมายุแสนปี, มีภิกษุขีณาสพแสนหนึ่งเป็นบริวาร, นครชื่อหังสวดี, พระชนกเป็นพระราชา นามว่าสุนันทะ, พระชนนีเป็นพระเทวี นามว่าสุชาดา.
               อุบาสิกาผู้เป็นยอดอุปัฏฐายิกาของพระศาสดาองค์นั้นทูลขอพร ๘ ประการแล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา บำรุงพระศาสดาด้วยปัจจัย ๔ ย่อมไปสู่ที่บำรุงทั้งเย็นและเช้า. หญิงสหายคนหนึ่งของอุบาสิกานั้น ย่อมไปวิหารกับอุบาสิกานั้นเป็นนิตย์. หญิงนั้นเห็นอุบาสิกาานั้นพูดกับพระศาสดา ด้วยความคุ้นเคย และเห็นความเป็นผู้สนิทสนมกับพระศาสดา คิดว่า "เธอทำกรรมอะไรหนอแล จึงเป็นผู้สนิทสนมกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนี้?" ดังนี้แล้ว จึงทูลถามพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า หญิงนี้เป็นอะไรแก่พระองค์?"
               พระศาสดา. เป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐายิกา.
               หญิง. พระเจ้าข้า นางกระทำกรรมอะไร จึงเป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐายิกา?
               พระศาสดา. เธอตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป.
               หญิง. บัดนี้ หม่อมฉันปรารถนาแล้วอาจจะได้ไหม พระเจ้าข้า?
               พระศาสดา. จ้ะ อาจ.
               หญิงนั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ถ้ากระนั้น ขอพระองค์กับภิกษุแสนรูป โปรดรับภิกษาของหม่อมฉันตลอด ๗ วันเถิด.
               พระศาสดาทรงรับแล้ว. หญิงนั้นถวายทานครบ ๗ วัน ในวันที่สุด ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา หมอบลงแทบบาทมูล ตั้งความปรารถนาว่า "พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลกเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็หาไม่, หม่อมฉันพึงได้พร ๘ ประการ ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของอุบาสิกาผู้สามารถเพื่อบำรุงด้วยปัจจัย ๔."
               พระศาสดาทรงดำริว่า "ความปรารถนาของหญิงนี้ จักสำเร็จหรือหนอ?" ทรงคำนึงถึงอนาคตกาล ตรวจดูตลอดแสนกัปแล้ว จึงตรัสว่า
               "ในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น, ในกาลนั้น เธอจักเป็นอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา ได้พร ๘ ประการในสำนักของพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา จักเป็นเลิศแห่งหญิงผู้เป็นอุปัฏฐายิกาผู้บำรุงด้วยปัจจัย ๔."
               สมบัตินั้นได้เป็นประหนึ่งว่า อันนางจะพึงได้ในวันพรุ่งนี้ทีเดียว.
               นางทำบุญจนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้น เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป, นางเป็นพระธิดา พระนามว่าสังฆทาสี ผู้พระกนิษฐาของบรรดาพระธิดา ๗ พระองค์ของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกิ ยังมิได้ไปสู่ตระกูลอื่น ทรงทำบุญมีทานเป็นต้นกับด้วยเจ้าพี่หญิงเหล่านั้นตลอดกาลนาน, ได้ทำความปรารถนาไว้ แม้แทบบาทมูลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปว่า "ในอนาคตกาล หม่อมฉันพึงได้พร ๘ ประการในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดแห่งอุบาสิกาผู้ถวายปัจจัย ๔."
               ก็จำเดิมแต่กาลนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในอัตภาพนี้ได้เกิดเป็นธิดาของธนญชัยเศรษฐีผู้เป็นบุตรแห่งเมณฑกเศรษฐี. ได้ทำบุญเป็นอันมากในศาสนาของเรา.

               สัตว์เกิดแล้วควรทำกุศลให้มาก               
               พระศาสดา (ครั้นทรงแสดงอดีตนิทานจบแล้ว) ตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราย่อมไม่ขับเพลง ด้วยประการฉะนี้แล, แต่เธอเห็นความสำเร็จแห่งความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทาน."
               เมื่อจะทรงแสดงธรรมตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการผู้ฉลาดทำกองดอกไม้ต่างๆ ให้เป็นกองโตแล้ว ย่อมทำพวงดอกไม้มีประการต่างๆ ได้ฉันใด, จิตของนางวิสาขาย่อมน้อมไปเพื่อทำกุศล มีประการต่างๆ ฉันนั้นเหมือนกัน"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๘. ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา                กยิรา มาลาคุเฬ๑- พหู
                         เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
                         นายมาลาการพึงทำพวงดอกไม้ให้มาก จากกองดอกไม้
                         แม้ฉันใด, มัจจสัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ควรทำ
                         กุศลไว้ให้มาก ฉันนั้น.
____________________________
๑- อรรถกถา เป็นมาลาคุเณ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุปฺผราสิมฺหา ได้แก่ จากกองแห่งดอกไม้มีประการต่างๆ.
               บทว่า กยิรา แปลว่า พึงทำ.
               สองบทว่า มาลาคุเณ พหู ความว่า ซึ่งมาลาวิกัติ หลายชนิด ต่างโดยชนิดมีดอกไม้ที่ร้อยขั้วข้างเดียวเป็นต้น.
               บทว่า มจฺเจน ความว่า สัตว์ผู้ได้ชื่อว่า ‘มจฺโจ’ เพราะความเป็นผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ควรทำกุศล ต่างด้วยกุศลมีการถวายจีวรเป็นต้นไว้ให้มาก.
               ศัพท์คือ ปุปฺผราสิ ในพระคาถานั้น มีอันแสดงดอกไม้มากเป็นอรรถ.
               ก็ถ้าดอกไม้มีน้อย และนายมาลาการฉลาด ก็ย่อมไม่อาจทำพวงดอกไม้ให้มากได้เลย, ส่วนนายมาลาการผู้ไม่ฉลาด เมื่อดอกไม้จะมีน้อยก็ตาม มากก็ตาม ย่อมไม่อาจโดยแท้, แต่เมื่อดอกไม้มีมาก นายมาลาการผู้ฉลาด ขยัน เฉียบแหลม ย่อมทำพวงดอกไม้ให้มาก ฉันใด;
               ถ้าศรัทธาของคนบางคนมีน้อย ส่วนโภคะมีมาก ผู้นั้นย่อมไม่อาจทำกุศลให้มากได้, ก็แล เมื่อศรัทธามีน้อยทั้งโภคะก็น้อย, เขาก็ย่อมไม่อาจ, ก็แล เมื่อศรัทธาโอฬาร แต่โภคะน้อย เขาก็ย่อมไม่อาจเหมือนกัน, ก็แต่เมื่อมีศรัทธาโอฬาร และโภคะก็โอฬาร เขาย่อมอาจทำกุศลให้มากได้ ฉันนั้น,
               นางวิสาขาอุบาสิกาเป็นผู้เช่นนั้นแล,
               พระศาสดาทรงหมายนางวิสาขานั้น จึงตรัสคำเป็นพระคาถาดังนี้ว่า :-
                         "นายมาลาการพึงทำพวงดอกไม้ให้มาก จากกองดอกไม้
                         แม้ฉันใด, มัจจสัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ควรทำ
                         กุศลไว้ให้มาก ฉันนั้น."

               ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคล มีโสดาบันเป็นต้น,
               เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องนางวิสาขา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 13อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 14อ่านอรรถกถา 25 / 15อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=395&Z=433
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :