ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 139อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 25 / 143อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ ติตถสูตร

               อรรถกถาติตถสูตร               
               ติตถสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               คำทั้งหมดมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังแล.
               ก็ในคำว่า อิมํ อุทานํ นี้พึงประกอบความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความเป็นไปล่วง และความไม่เป็นไปล่วง จากสงสารตามลำดับของผู้ที่เห็นโทษในทิฏฐิ ตัณหา และมานะ แล้วเว้นทิฏฐิเป็นต้นเหล่านั้นให้ห่างไกล แล้วพิจารณาสังขารตามความเป็นจริง และของผู้ยึดถือผิด เพราะไม่เห็นโทษในสังขารเหล่านั้น ไม่เห็นตามความเป็นจริง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหงฺการปสุตายํ ปชา ความว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ขวนขวาย คือประกอบตามอหังการ กล่าวคือเราสร้างเองดังกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเราสร้างเอง ได้แก่ทิฏฐิที่เป็นไปอย่างนั้น คือหมู่สัตว์ที่ยึดถือผิด.
               บทว่า ปรงฺการูปสํหิตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปรังการ เพราะอาศัยทิฏฐิว่าผู้อื่นสร้าง อันเป็นไปอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มีอิสรชนเป็นต้นสร้างทั้งหมด ได้แก่ผู้ประกอบด้วยปรังการทิฏฐินั้น.
               บทว่า เอตเทเก นาพฺภญฺญํสุ ความว่า สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้มีปกติเห็นโทษในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ไม่ตามรู้ทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น.
               คืออะไร?
               คือ ก็เมื่อมีการสร้างเองได้ สัตว์ทั้งหลายก็จะพึงปรารถนาสร้างกามเท่านั้น ผู้ที่ไม่ปรารถนาไม่มี. ใครๆ จะปรารถนาทุกข์เพื่อตน และมีสิ่งที่ไม่ต้องการก็หาไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นผู้สร้างเอง.
               แม้คนอื่นสร้าง ถ้ามีอิสรชนเป็นเหตุ อิสรชนนี้นั้นก็จะสร้างเพื่อตนหรือเพื่อผู้อื่น. ใน ๒ อย่างนั้น ถ้าสร้างเพื่อตน ก็จะพึงไม่มีกิจที่ตนจะทำ เพราะจะให้กิจที่ยังไม่สำเร็จให้สำเร็จลง. ถ้าสร้างเพื่อผู้อื่น ก็จะพึงให้สำเร็จเฉพาะหิตสุขแก่ชนทั้งหมดเท่านั้น สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นทุกข์ก็จะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น คนอื่นสร้างจึงไม่สำเร็จ โดยอิสรชน.
               ก็ถ้าเหตุโดยไม่มุ่งผู้อื่น กล่าวคืออิสรชนจะพึงมีเพื่อความเป็นไปเป็นนิตย์ทีเดียว. ไม่พึงเกิดขึ้นเพราะการกระทำ คนทั้งหมดนั่นแล จะพึงเกิดขึ้นรวมกัน เพราะเหตุที่ตั้งไว้รวมกัน. ถ้าผู้นั้นปรารถนา เหตุมีการกระทำรวมกันแม้อย่างอื่น ข้อนั้นนั่นแหละเป็นเหตุ. จะประโยชน์อะไรด้วยอิสรชนผู้กำหนดโดยความสามารถในกิจที่ยังไม่สำเร็จ.
               เหมือนอย่างว่า คนอื่นสร้างมีอิสรชนเป็นเหตุ ย่อมไม่สำเร็จฉันใด แม้ตนสร้างมีสัตว์ บุรุษ ปกติพรหมและกาลเป็นต้นเป็นเหตุ ก็ไม่สำเร็จฉันนั้นเหมือนกัน เพราะชนแม้เหล่านั้น ก็ไม่ให้สำเร็จ และเพราะจะไม่พ้นโทษตามที่กล่าวแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอตเทเก นาพฺภญฺญํสุ.
               ก็ชนเหล่าใดไม่รู้ตนเองสร้างและผู้อื่นสร้างตามที่กล่าวแล้ว ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกที่เกิดขึ้นลอยๆ ชนแม้เหล่านั้นไม่เห็นทิฏฐินั้นว่าเป็นลูกศร คือแม้บุคคลผู้มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะยังไม่ล่วงพ้นการยึดถือผิด จึงไม่เห็นทิฏฐินั้นว่าเป็นลูกศร เพราะอรรถว่าเสียดแทง โดยทำทุกข์ให้เกิดขึ้นในอัตตาและโลกนั้นๆ.
               บทว่า เอตญฺจ สลฺลํ ปฏิคจฺจ ปสฺสโต ความว่า ก็ผู้ใดเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้นั้นย่อมพิจารณาเห็นวิปริตทัสสนะ ๓ อย่างนี้ และมิจฉาภินิเวสะอื่นทั้งสิ้น และอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันเป็นที่อาศัยของธรรมเหล่านั้น ด้วยวิปัสสนาในเบื้องต้นนั้นแหละว่าเป็นลูกศร เพราะทิ่มแทง และเพราะถอนได้ยาก.
               เมื่อพระโยคีนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ มิได้มีความคิดว่า เราสร้างโดยส่วนเท่านั้น ในขณะอริยมรรค. ก็พระโยคีนั้นมิได้มีความคิดว่า ผู้อื่นสร้างโดยประการที่ไม่ปรากฏแก่ท่านว่า ตนสร้าง. แต่จะมีเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม กล่าวคือความไม่เที่ยงอย่างเดียวเท่านั้น.
               ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันแสดงถึงความที่ผู้ปฏิบัติชอบไม่มี ทิฏฐิและมานะ แม้โดยประการทั้งปวง ก็ด้วยคำนั้น เป็นอันประกาศถึงการล่วงพ้นสงสาร ด้วยการบรรลุพระอรหัต.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงว่า ผู้ที่ติดอยู่ในทิฏฐิย่อมไม่อาจเงยศีรษะขึ้นจากสงสารได้ จึงตรัสคาถาว่า มานุเปตา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มานุเปตา อยํ ปชา ความว่า ประชาคือหมู่สัตว์ กล่าวคือทิฏฐิคติกบุคคลนี้ทั้งหมด เข้าถึงคือประกอบด้วยมานะอันมีลักษณะประคองการยึดถือของตนว่า ทิฏฐิของเรางาม การยึดถือของเรางาม.
               บทว่า มานคณฺฐา มานวินิพฺพนฺธา ความว่า ต่อแต่นั้นแล หมู่สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าผู้มีเครื่องร้อยรัดคือมานะ มีเครื่องผูกพันคือมานะ เพราะมานะที่เกิดขึ้นสืบๆ กันมานั้น ร้อยรัดและผูกพันสันดานตนไว้ โดยที่ตนยังไม่สละคืนทิฏฐินั้น.
               บทว่า ทิฏฺฐีสุ สารมฺภกถา สํสารํ นาติวตฺตติ ความว่า มีสารัมภกถาว่าด้วยการแข่งดี คือมีวิโรธกถาว่าด้วยความขัดแย้งในทิฏฐิของชนเหล่าอื่น โดยการยึดถือทิฏฐิของตน ด้วยการยกตนข่มท่านว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ย่อมไม่ล่วงเลย คือย่อมไม่พ้นจากสงสาร เพราะยังประหาณอวิชชาและตัณหา อันนำสัตว์ไปสู่สงสารไม่ได้.

               จบอรรถกถาติตถสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ ติตถสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 139อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 25 / 143อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3637&Z=3674
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=8312
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=8312
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :