ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

หน้าต่างที่ ๑๔ / ๑๕.

               ๑๔. เรื่องพระสุธรรมเถระ [๕๘]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสุธรรมเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสนฺตํ ภาวมิจฺเฉยฺย" เป็นต้น.

               จิตตคฤหบดีถวายสวนเป็นสังฆาราม               
               ก็เทศนาตั้งขึ้นแล้วในมัจฉิกาสัณฑนคร จบแล้วในกรุงสาวัตถี.
               ความพิสดารว่า จิตตคฤหบดี ในมัจฉิกาสัณฑนคร เห็นพระมหานามเถระ ภายในพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ เลื่อมใสในอิริยาบถของพระเถระแล้ว จึงรับบาตร นิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือนให้ฉันแล้ว ในกาลเสร็จภัตกิจ สดับธรรมกถา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว ใคร่เพื่อจะทำอุทยานของตนอันชื่อว่าอัมพาฏกวัน ให้เป็นสังฆาราม จึงหลั่งน้ำลงไปในมือของพระเถระ มอบถวายแล้ว.
               ในขณะนั้น มหาปฐพี ทำน้ำที่สุด ก็หวั่นไหวด้วยบอกเหตุว่า "พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้ว."
               มหาเศรษฐีให้สร้างวิหารใหญ่ในอุทยาน ได้เป็นผู้มีประตูเปิดไว้ เพื่อพวกภิกษุผู้มาจากทิศทั้งปวงแล้ว. พระสุธรรมเถระได้เป็นเจ้าอาวาส อยู่ในมัจฉิกาสัณฑ์.

               คฤหบดีบรรลุอนาคามิผล               
               โดยสมัยอื่น พระอัครสาวกทั้งสองสดับกถาพรรณนาคุณของจิตตคฤหบดีแล้ว ใคร่จะทำความสงเคราะห์แก่คฤหบดีนั้น จึงได้ไปสู่มัจฉิกาสัณฑนคร. จิตตคฤหบดีทราบการมาของพระอัครสาวกทั้งสองนั้น จึงไปต้อนรับสิ้นทางประมาณกึ่งโยชน์ พาพระอัครสาวกทั้งสองนั้นมาแล้ว นิมนต์ให้เข้าไปสู่วิหารของตน ทำอาคันตุกวัตรแล้ว อ้อนวอนพระธรรมเสนาบดีว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมปรารถนาฟังธรรมกถาสักหน่อย."
               ครั้งนั้น พระเถระกล่าวกะเขาว่า "อุบาสก อาตมะทั้งหลายเหน็ดเหนื่อยแล้วโดยทางไกล, อนึ่ง ท่านจงฟังเพียงนิดหน่อยเถิด" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวธรรมกถาแก่เขา. คฤหบดีนั้นฟังธรรมกถาของพระเถระอยู่แล บรรลุอนาคามิผลแล้ว. เขาไหว้พระอัครสาวกทั้งสองแล้วนิมนต์ว่า "ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอท่านทั้งสองกับภิกษุพันรูป รับภิกษาที่เรือนกระผม" แล้วนิมนต์พระสุธรรมเถระเจ้าอาวาสภายหลังว่า "ท่านขอรับ พรุ่งนี้แม้ท่านก็พึงมากับพระเถระทั้งหลาย."

               พระสุธรรมเถระด่าคฤหบดี               
               พระสุธรรมเถระนั้นโกรธว่า "อุบาสกนี้ นิมนต์เราภายหลัง" จึงห้ามเสีย แม้อันคฤหบดีอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ก็ห้ามแล้วนั่นแล. อุบาสกกล่าวว่า "ท่านจักปรากฏ ขอรับ" แล้วหลีกไป ในวันรุ่งขึ้นจัดแจงทานใหญ่ไว้ในที่อยู่ของตน.
               ในเวลาใกล้รุ่งแล แม้พระสุธรรมเถระคิดว่า "คฤหบดี จัดแจงสักการะเช่นไรหนอแล? เพื่อพระอัครสาวกทั้งสอง พรุ่งนี้เราจักไปดู" แล้วได้ถือบาตรและจีวร ไปสู่เรือนของคฤหบดีนั้นแต่เช้าตรู่. พระสุธรรมเถระนั้น แม้อันคฤหบดีกล่าวว่า "นิมนต์นั่งเถิด ขอรับ" ก็กล่าวว่า "เราไม่นั่ง, จักเที่ยวบิณฑบาต" แล้วตรวจดูสักการะอันคฤหบดีเตรียมไว้เพื่อพระอัครสาวกทั้งสอง ใคร่จะเสียดสีคฤหบดีโดยชาติ จึงกล่าวว่า "คฤหบดี สักการะของท่านล้นเหลือ, ก็แต่ในสักการะนี้ ไม่มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น."
               คฤหบดี. อะไร ขอรับ?
               พระเถระ ตอบว่า "ขนมแดกงา คฤหบดี"
               ถูกคฤหบดีรุกรานด้วยวาจาอุปมาด้วยกา โกรธแล้ว กล่าวว่า "คฤหบดี นั่นอาวาสของท่าน, เราจักหลีกไป." แม้อันคฤหบดีห้ามถึง ๓ ครั้ง ก็หลีกไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลคำที่จิตตคฤหบดี และตนกล่าวแล้ว.

               พระสุธรรมเถระถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม               
               พระศาสดาตรัสว่า "อุบาสกเป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส อันเธอด่าด้วยคำเลว" ดังนี้แล้ว ทรงปรับโทษแก่พระสุธรรมเถระนั้นนั่นแล แล้วรับสั่งให้สงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม๑- แล้วส่งไปว่า "เธอจงไป, ให้จิตตคฤหบดีอดโทษเสีย."
____________________________
๑- กรรมอันให้ระลึกถึงความผิด.

               พระเถระไปในที่นั้นแล้ว แม้กล่าวว่า "คฤหบดี นั่นโทษของอาตมะเท่านั้น, ท่านจงอดโทษแก่อาตมะเถิด" อันคฤหบดีนั้น ห้ามว่า "ผมไม่อดโทษ" เป็นผู้เก้อ ไม่อาจให้คฤหบดีนั้นอดโทษได้, จึงกลับมาสู่สำนักพระศาสดาอีกเทียว. พระศาสดา แม้ทรงทราบว่า "อุบาสกจักไม่อดโทษแก่พระสุธรรมนั้น" ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้กระด้างเพราะมานะ จงไปสู่ทาง ๓ โยชน์แล้วกลับมา" จึงไม่ทรงบอกอุบายให้อดโทษเลย ทรงส่งไปแล้ว.

               สมณะไม่ควรทำมานะและริษยา               
               ครั้นในกาลที่พระสุธรรมเถระนั้นกลับมา พระศาสดาประทานภิกษุผู้อนุทูตแก่เธอผู้นำมานะออกแล้ว ตรัสว่า "เธอจงไปเถิด, ไปกับภิกษุนี้ จงให้อุบาสกอดโทษ" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ธรรมดาสมณะไม่ควรทำมานะ หรือริษยาว่า วิหารของเรา, ที่อยู่ของเรา, อุบาสกของเรา, อุบาสิกาของเรา, เพราะเมื่อสมณะทำอย่างนั้น เหล่ากิเลสมีริษยาและมานะเป็นต้น ย่อมเจริญ"
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
               ๑๔. อสนฺตํ ภาวมิจฺเฉยย    ปุเรกฺขารญฺจ ภิกฺขุสุ
               อาวาเสสุ จ อิสฺสริยํ    ปูชา ปรกุเลสุ จ
               มเนว กตมญฺญนฺตุ    คิหี ปพฺพชิตา อุโภ
               มเมว อติวสา อสฺสุ    กิจฺจากิจฺเจสุ กิสฺมิจิ
               อิติ พาลสฺส สงฺกปฺโป    อิสฺสา มโน จ วฑฺฒตฺ.
               ภิกษุผู้พาล พึงปรารถนาความยกย่องอันไม่มีอยู่ ความแวดล้อม
               ในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และการบูชาในตระกูล
               แห่งชนอื่น ความดำริ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พาลว่า ‘คฤหัสถ์และ
               บรรพชิตทั้งสองจงสำคัญกรรม อันเขาทำเสร็จแล้ว เพราะอาศัย
               เราผู้เดียว จงเป็นไปในอำนาจของเราเท่านั้น ในกิจน้อยใหญ่
               กิจไรๆ’, ริษยาและมานะย่อมเจริญ (แก่เธอ).

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสนฺตํ ความว่า
               ภิกษุผู้พาล พึงปรารถนาความสรรเสริญอันไม่มีอยู่ คือภิกษุผู้พาลไม่มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีล สดับน้อย ไม่สงัด เกียจคร้าน มีสติไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่มั่นคง มีปัญญาทราม ไม่ใช่ขีณาสพ ย่อมปรารถนาความยกย่องอันไม่มีอยู่นี้ว่า
               "ไฉนหนอ ชนพึงรู้จักเราว่า ภิกษุนี้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็นผู้สงัด ปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีจิตมั่นคง มีปัญญา เป็นพระขีณาสพ"
               โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในปาปิจฉตานิทเทสว่า๑-
               "ภิกษุเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเลย ย่อมปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราว่า ผู้มีศรัทธา" เป็นต้น.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๖๘.

               บทว่า ปุเรกฺขารํ คือ ซึ่งบริวาร.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้พาลตั้งอยู่ในความประพฤติด้วยอำนาจความอยากอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ภิกษุในวิหารทั้งสิ้น พึงแวดล้อมเราถามปัญหาอยู่" ชื่อว่าย่อมปรารถนาความแวดล้อมในภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า อาวาเสสุ ได้แก่ ในอาวาสอันเป็นของสงฆ์.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้พาลจัดเสนาสนะประณีตในท่ามกลางวิหาร เพื่อภิกษุทั้งหลายมีภิกษุที่เป็นเพื่อนเห็นและเพื่อนคบเป็นต้นของตัว ด้วยบอกว่า "พวกท่านจงอยู่ในเสนาสนะนี้" ส่วนตนเกียดกันเสนาสนะที่ดี จัดเสนาสนะอันทรามและเสนาสนะอันอมนุษย์หวงแหนแล้ว ซึ่งตั้งอยู่สุดท้าย เพื่ออาคันตุกภิกษุที่เหลือทั้งหลาย ด้วยบอกว่า "พวกท่านจงอยู่ในเสนาสนะนี้" ชื่อว่าย่อมปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส.
               บาทพระคาถาว่า ปูชา ปรกุเลสุ จ ความว่า ภิกษุผู้พาลย่อมไม่ปรารถนาการบูชาด้วยปัจจัย ๔ ในสกุลของมารดาและบิดาเลย และของพวกญาติก็ไม่ปรารถนา. (แต่) ย่อมปรารถนาในสกุลของชนเหล่าอื่นเท่านั้น อย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ชนเหล่านี้พึงถวายแก่เราคนเดียว ไม่พึงถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น."
               บาทพระคาถาว่า มเมว กตมญฺญนฺตุ ความว่า ก็ความดำริ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พาลใดว่า "พวกคฤหัสถ์และบรรพชิต แม้ทั้งสองจงสำคัญกิจอันตนทำแล้ว คือที่สำเร็จแล้วเพราะอาศัยเราเท่านั้น" ด้วยความประสงค์ อย่างนี้ว่า "นวกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาทำแล้วในวิหาร ด้วยสามารถการกระทำนวกรรมมีโรงอุโบสถเป็นต้น, นวกรรมนั้นทั้งหมด อันพระเถระของพวกเราทำแล้ว."
               บาทพระคาถาว่า มเมว อติวสา อสฺสุ ความว่า ความดำริ ย่อมเกิดขึ้น (แก่ภิกษุผู้พาลนั้น) ว่า "คฤหัสถ์และบรรพชิตแม้ทั้งหมด จงเป็นไปในอำนาจของเราแต่ผู้เดียว คือ พาหนะและเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลายเป็นต้นว่า เกวียน โค พร้า ขวาน หรือโดยที่สุดกิจทั้งหลายเป็นต้นว่า อุ่นแม้เพียงข้าวยาคูแล้วดื่ม อันคฤหัสถ์และบรรพชิตจะพึงได้ก็ตามเถิด, แต่บรรดากิจน้อยและกิจใหญ่ คือบรรดากรณียกิจทั้งน้อยทั้งใหญ่เห็นปานนี้ คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย จงเป็นไปในอำนาจของเราเท่านั้น ในกิจไรๆ คือ แม้ในกิจอย่างหนึ่ง. อธิบายว่า จงถามเราเท่านั้นแล้วจึงกระทำ."
               สองบทว่า อิติ พาลสฺส ความว่า ความอยากนั้น และความดำริเห็นปานนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พาลใด, วิปัสสนา มรรคและผล ย่อมไม่เจริญทีเดียวแก่ภิกษุผู้พาลนั้น แต่ตัณหาซึ่งบังเกิดขึ้นในทวาร ๖ และมานะ ๙ อย่าง๒- ย่อมเจริญแก่ภิกษุผู้พาลนั้นอย่างเดียว เหมือนน้ำเจริญแก่ทะเลในเวลาพระจันทร์ขึ้นฉะนั้น๓-
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
____________________________
๒- มานะ ๙ อย่าง ดูพิสดารในธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒.
๓- นี้แปลตามฉบับสีหลและยุโรป แต่ตามฉบับของเราที่ใช้อยู่ เวลาแปลเติม นิสฺสาย เข้ามาแปลว่า ตัณหาอันจะอาศัยฉันทะเป็นต้น เกิดขึ้นในทวาร ๖ และมานะ ๙ อย่าง ย่อมเจริญแก่..., สี. ยุ. ฉนฺทาทโย เป็น จนฺโททเย.

               พระสุธรรมเถระบรรลุพระอรหัต               
               แม้พระสุธรรมเถระฟังพระโอวาทนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำประทักษิณแล้ว ไปกับภิกษุผู้เป็นอนุทูตนั้น กระทำคืนอาบัติในคลองจักษุของอุบาสก ยังอุบาสกให้อดโทษแล้ว.
               พระสุธรรมเถระนั้น อันอุบาสกให้อดโทษด้วยคำว่า "กระผมอดโทษ ขอรับ. ถ้าโทษของกระผมมี ขอท่านอดโทษแก่กระผม" ตั้งอยู่ในพระโอวาทที่พระศาสดาประทานแล้ว โดย ๒-๓ วันเท่านั้น ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแล้ว.

               จิตตคฤหบดีไปเฝ้าพระศาสดา               
               ฝ่ายอุบาสกคิดว่า "เรายังไม่ได้เฝ้าพระศาสดาเลย เมื่อบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ยังไม่ได้เฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน เมื่อดำรงอยู่ในอนาคามิผล, เราควรเฝ้าพระศาสดาโดยแท้."
               คฤหบดีนั้นให้เทียมเกวียน ๕๐๐ เล่ม เต็มด้วยวัตถุมีงา ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อย และผ้านุ่งห่มเป็นต้นแล้ว ให้บอกแก่หมู่ภิกษุว่า "พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายใด ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา. พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายนั้นจงไป, จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตเป็นต้น" ดังนี้แล้ว ก็ให้แจ้งทั้งแก่หมู่ภิกษุณี ทั้งแก่พวกอุบาสก ทั้งแก่พวกอุบาสิกา.
               ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๕๐๐ อุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ ออกไปกับคฤหบดีนั้น.
               เขาตระเตรียมแล้วโดยประการที่จะไม่มีความบกพร่องสักน้อยหนึ่ง ด้วยข้าวยาคูและภัตเป็นต้น ในหนทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อชนสามพันคน คือเพื่อภิกษุเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล และเพื่อบริษัทของตน.
               ฝ่ายพวกเทวดาทราบความที่อุบาสกนั้นออกไปแล้ว ปลูกค่ายที่พักไว้ทุกๆ โยชน์ บำรุงมหาชนนั้นด้วยอาหารวัตถุ มีข้าวยาคู ของควรเคี้ยว ภัตและน้ำดื่มเป็นต้น อันเป็นทิพย์. ความบกพร่องด้วยวัตถุอะไรๆ มิได้มีแล้วแก่ใครๆ.
               มหาชนอันเทวดาทั้งหลาย บำรุงอยู่อย่างนั้น เดินทางได้วันละโยชน์ๆ โดยเดือนหนึ่งก็ถึงกรุงสาวัตถี. เกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม ยังเต็มบริบูรณ์เช่นเดิมนั้นแหละ. คฤหบดีได้สละบรรณาการ อันพวกเทวดานั้นแล และมนุษย์ทั้งหลายนำมา ไปแล้ว.

               พระศาสดาทรงแสดงปาฏิหาริย์               
               พระศาสดาตรัสกะพระอานนทเถระว่า "อานนท์ ในเวลาบ่ายวันนี้ จิตตคฤหบดีอันอุบาสก ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว จักมาไหว้เรา."
               พระอานนท์. พระเจ้าข้า ก็ในกาลที่จิตตคฤหบดีนั้น ถวายบังคมพระองค์ ปาฏิหาริย์ไรๆ จักมีหรือ?
               พระศาสดา. จักมี อานนท์.
               อานนท์. ปาฏิหาริย์อะไร? พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. ในกาลที่จิตตคฤหบดีนั้นมาไหว้เรา ฝนลูกเห็บแห่งดอกไม้ทิพย์มีสี ๕ สี จักตกโดยถ่องแถวประมาณเพียงเข่าในประเทศประมาณ ๘ กรีส โดยวิธีนับอย่างของหลวง.
               ชาวเมืองฟังข่าวนั้นแล้ว คิดว่า "ได้ยินว่า จิตตคฤหบดีผู้มีบุญมากอย่างนั้น จักมาถวายบังคมพระศาสดาวันนี้, เขาว่าปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ จักมี, แม้พวกเราจักได้เห็นผู้มีบุญมากนั้น" ดังนี้แล้ว ได้ถือเอาเครื่องบรรณาการไปยืนอยู่สองข้างทาง.
               ในกาลที่จิตตคฤหบดีมาใกล้วิหาร ภิกษุ ๕๐๐ รูปมาถึงก่อน. จิตตคฤหบดีกล่าวกะพวกอุบาสิกาว่า "แม่ทั้งหลาย พวกท่านจงมาข้างหลัง" แล้ว ส่วนตนอันอุบาสก ๕๐๐ แวดล้อมแล้ว ได้ไปสู่สำนักของพระศาสดา. ก็ชนทั้งหลายผู้ยืนก็ดี นั่งก็ดี ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้มีข้างนี้หรือข้างโน้น. ย่อมยืนอยู่แน่นขนัดเทียวในสองข้างแห่งพุทธวิถี.
               จิตตคฤหบดีก้าวลงสู่พุทธวิถีใหญ่แล้ว. ที่อันพระอริยสาวกผู้บรรลุผล ๓ แลดูๆ หวั่นไหวแล้ว. มหาชนแลดูแล้ว ด้วยคิดว่า "เขาว่า คนนั่นคือจิตตคฤหบดี" คฤหบดีนั้นเข้าเฝ้าพระศาสดา เข้าไปภายในพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ จับพระบาทพระศาสดาที่ข้อพระบาททั้งสองถวายบังคมแล้ว. ในขณะนั้นเอง ฝนดอกไม้มีประการดังกล่าวมาตกแล้ว. สาธุการพันหนึ่งเป็นไปแล้ว.

               จิตตคฤหบดีถวายทาน               
                คฤหบดีนั้นอยู่ในสำนักพระศาสดาสิ้นเดือนหนึ่งแล ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานทั้งสิ้น ให้นั่งในวิหารนั่นแหละ ถวายทานใหญ่แล้ว. ทำภิกษุ แม้ผู้มากับตนไว้ภายในวิหารนั้นแหละบำรุงแล้ว. ไม่ต้องหยิบอะไรๆ ในเกวียนของตน แม้สักวันหนึ่ง. ได้ทำกิจทุกอย่าง ด้วยบรรณาการ อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาเท่านั้น.
               จิตตคฤหบดีนั้นถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มาด้วยตั้งใจว่า ‘จักถวายทานแด่พระองค์ ได้พักอยู่ในระหว่างทางเดือนหนึ่ง, เดือนหนึ่งของข้าพระองค์ล่วงไปแล้ว ในที่นี้, ข้าพระองค์ไม่ได้เพื่อจะถือเอาของอะไรๆ ที่ข้าพระองค์นำมาเลย, ได้ถวายทานสิ้นกาลเท่านี้ ด้วยบรรณาการที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาเท่านั้น, แม้ถ้าข้าพระองค์นั้นจักอยู่ในที่นี้ สิ้นปีหนึ่ง, ก็จักไม่ได้เพื่อจะถวายไทยธรรมของข้าพระองค์แน่แท้, ข้าพระองค์ปรารถนาจักถ่ายเกวียนแล้วไป, ขอพระองค์จงโปรดให้บอกที่สำหรับเก็บแก่ข้าพระองค์เถิด."
               พระศาสดาตรัสกะพระอานนทเถระว่า "อานนท์ เธอจงให้จัดที่แห่งหนึ่งให้ว่าง ให้แก่อุบาสก." พระเถระได้กระทำอย่างนั้นแล้ว.
               ได้ยินว่า พระศาสดาทรงอนุญาตกัปปิยภูมิแก่จิตตคฤหบดีแล้ว.

               จิตตคฤหบดีเดินทางกลับ               
               ฝ่ายอุบาสกกับชนสามพันซึ่งมาพร้อมกับตน เดินทางกลับด้วยเกวียนเปล่าแล้ว. พวกเทวดาและมนุษย์ลุกขึ้นแล้ว กล่าวว่า "พระผู้เป็นเจ้า ท่านทำกรรมคือการเดินไปด้วยเกวียนเปล่า" ดังนี้แล้ว ก็บรรจุเกวียนให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ. คฤหบดีนั้นได้บำรุงมหาชนด้วยบรรณาการอันเขานำมาเพื่อตน ไปแล้ว.
               พระอานนทเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า
               "พระเจ้าข้า จิตตคฤหบดี แม้เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์ มาแล้วโดยเดือนหนึ่ง, อยู่ในที่นี้เดือนหนึ่งเหมือนกัน ได้ถวายทานด้วยบรรณาการที่เทวดาและมนุษย์นำมาเท่านั้น สิ้นกาลเท่านี้.
               ได้ยินว่า บัดนี้ คฤหบดีนั้นทำเกวียน ๕๐๐ เล่มให้เปล่า จักไปโดยเดือนหนึ่งเหมือนกัน, ก็เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ลุกขึ้นแล้ว กล่าวแก่คฤหบดีนั้นว่า ‘พระผู้เป็นเจ้า ท่านทำกรรมคือการเดินไปด้วยเกวียนเปล่า’ ดังนี้แล้ว ก็บรรจุเกวียนให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ,
               ได้ยินว่า คฤหบดีบำรุงมหาชน ด้วยเครื่องบรรณาการอันเทวดาและมนุษย์ นำมาเพื่อตนนั่นแหละจักกลับไป พระเจ้าข้า ก็สักการะนี้เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั่นผู้มาสู่สำนักของพระองค์เท่านั้นหรือ, หรือแม้ไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน."
               พระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ จิตตคฤหบดีนั้นมาสู่สำนักของเราก็ดี ไป ณ ที่อื่นก็ดี สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น เพราะอุบาสกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใส มีศีลสมบูรณ์ อุบาสกผู้เห็นปานนี้ ย่อมคบ (ไป) ประเทศใดๆ ลาภสักการะย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้นๆ ทีเดียว"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาในปกิณณกวรรคนี้ว่า :-
                         ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อมด้วยยศและโภคะ ย่อมคบ
                         ประเทศใดๆ ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้ว ในประเทศนั้นๆ ทีเดียว.

               ก็เนื้อความแห่งพระคาถานั้น จักแจ่มแจ้งในปกิณณกวรรคนั้นแล.

               บุรพกรรมของจิตตคฤหบดี               
                เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว พระอานนเถระจึงทูลถามบุรพกรรมของจิตตคฤหบดี.
               ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะตรัสแก่พระอานนทเถระนั้น จึงตรัสว่า :-
               "อานนท์ จิตตคฤหบดีนี้มีอภินิหาร อันทำไว้แทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ สิ้นแสนกัลป์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป (เขา) เกิดในสกุลของพรานเนื้อ ถึงความเจริญแล้ว
               วันหนึ่ง เมื่อฝนตกอยู่ถือหอกไปสู่ป่า เพื่อต้องการจะล่าเนื้อ ตรวจดูหมู่เนื้ออยู่ เห็นภิกษุรูปหนึ่งนั่งคลุมศีรษะ ที่เงื้อมเกิดเอง๑- แห่งหนึ่ง
               จึงคิดว่า "พระผู้เป็นเจ้ารูปเดียวจักนั่งทำสมณธรรม, เราจักนำอาหารมา เพื่อพระผู้เป็นเจ้านั้น"
               ดังนี้แล้ว รีบไปสู่เรือน ให้คนปิ้งเนื้อที่ตนนำมาเมื่อวานที่เตาแห่งหนึ่ง ให้หุงข้าวที่เตาแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุเที่ยวบิณฑบาตพวกอื่น รับบาตรของภิกษุแม้เหล่านั้น นิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่จัดแจงไว้ ตระเตรียมภิกษาแล้ว สั่งคนอื่นว่า "พวกท่านจงอังคาสพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย" แล้วใส่ภัตนั้นลงในตระกร้า ถือเดินไป เลือกเก็บดอกไม้ต่างๆ ในระหว่างทาง ห่อด้วยใบไม้ ไปสู่ที่พระเถระนั่งแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงทำความสงเคราะห์แก่กระผมเถิด" ดังนี้แล้ว รับบาตร ให้เต็มด้วยภัตแล้ววางไว้ในมือของพระเถระ กระทำการบูชาด้วยดอกไม้เหล่านั้น ตั้งความปรารถนาว่า
               "บิณฑบาตอันมีรสนี้ พร้อมด้วยดอกไม้เครื่องบูชา ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดีฉันใด ขอบรรณาการพันหนึ่ง จงมายังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี ในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วๆ ฉันนั้น และขอฝนดอกไม้มีสี ๕ สีจงตก."
               เขาบำเพ็ญกุศลจนตลอดชีพแล้ว เกิดในเทวโลก. ฝนดอกไม้ทิพย์ตกแล้วโดยถ่องแถว ประมาณเพียงเข่า ในที่ที่เขาเกิดแล้ว. แม้ในกาลนี้ ฝนดอกไม้ (ทิพย์) ก็ตกในวันที่เขาเกิดแล้ว และเมื่อเขามาในที่นี้ การนำบรรณาการมา และการที่เกวียนเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ ก็เป็นผลแห่งกรรมนั้นแล."
____________________________
๑- อกตปพฺภาร เงื้อมที่บุคคลไม่ได้ทำ หมายความว่า เกิดเป็นเองตามธรรมชาติ

               เรื่องพระสุธรรมเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=434&Z=478
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=2059
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=2059
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :