ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๕.

               ๒. เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ [๔๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จรญฺเจ นาธิคจฺเฉยฺย" เป็นต้น.

               ผู้เกียจคร้านมักอ้างความดีของคนอื่น               
               เทศนาตั้งขึ้นในกรุงราชคฤห์.
               ได้ยินว่า สัทธิวิหาริก ๒ รูป อุปัฏฐากพระเถระผู้อาศัยกรุงราชคฤห์ อยู่ในถ้ำปิปผลิ. บรรดาภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำวัตรโดยเคารพ, รูปหนึ่งแสดงวัตรที่ภิกษุนั้นกระทำแล้วเป็นเหมือนตนกระทำ รู้ความที่น้ำล้างหน้าและไม้ชำระฟันอันภิกษุนั้นจัดแจงแล้ว จึงเรียน (พระเถระ) ว่า "น้ำล้างหน้าและไม้ชำระฟัน กระผมจัดแจงแล้ว ขอรับ, ขอท่านจงล้างหน้าเถิด." แม้ในกาลทำกิจมีการล้างเท้าและสรงน้ำเป็นต้น ก็ย่อมเรียนอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ภิกษุนอกนี้ คิดว่า "ภิกษุนี้ย่อมแสดงวัตรที่เรากระทำแล้ว เป็นเหมือนว่าตนกระทำแล้วตลอดกาลเป็นนิตย์, ช่างเถิดข้อนั้น, เราจักกระทำสิ่งที่ควรกระทำแก่เธอ;" เมื่อภิกษุนั้น ฉันแล้วหลับอยู่นั่นแล, ต้มน้ำอาบแล้ว ตักใส่ในหม้อใบหนึ่ง ตั้งไว้หลังซุ้ม, แต่ให้เหลือน้ำไว้ในภาชนะต้มน้ำประมาณกระบวยหนึ่ง แล้วตั้งไว้ให้พ่นไออยู่.

               กรรมตามทัน               
               ในเวลาเย็น ภิกษุนอกนี้ตื่นขึ้น เห็นไอพลุ่งออกอยู่ จึงคิดว่า น้ำจักเป็นน้ำอันภิกษุนั้นต้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม" รีบไปไหว้พระเถระแล้วเรียนว่า "น้ำกระผมตั้งไว้ในซุ้ม ขอรับ, นิมนต์ท่านสรงเถิด" แล้วเข้าไปสู่ซุ้มกับด้วยพระเถระเหมือนกัน. พระเถระ เมื่อไม่เห็นน้ำ จึงกล่าวว่า "น้ำอยู่ที่ไหน? คุณ" ภิกษุหนุ่มไปยังโรงไฟ จ้วงกระบวยลงในภาชนะรู้ความที่ภาชนะเปล่า จึงโพนทะนาว่า "ขอท่านจงดูกรรมของภิกษุหัวดื้อ เธอยกภาชนะเปล่าขึ้นตั้งไว้บนเตา แล้วไปไหนเสีย? กระผมเรียนด้วยเข้าใจว่า "น้ำมีอยู่ในซุ้ม" ดังนี้แล้ว ก็ได้ถือเอาหม้อน้ำไปยังท่าน้ำ.
               ฝ่ายภิกษุนอกนี้ นำเอาน้ำมาจากหลังซุ้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม. แม้พระเถระคิดว่า "ภิกษุหนุ่มรูปนี้ กล่าวว่า ‘น้ำกระผมต้มตั้งไว้ในซุ้มแล้ว, นิมนต์ท่านมาสรงเถิด ขอรับ’ บัดนี้ โพนทะนาอยู่ถือเอาหม้อไปสู่ท่าน้ำ, นี่เหตุอะไรหนอแล?" ใคร่ครวญดู ก็รู้ว่า "ภิกษุหนุ่มรูปนั้น ประกาศกิจวัตรที่ภิกษุนี้กระทำแล้ว เป็นดังว่าตนกระทำแล้ว ตลอดกาลเท่านี้" ได้ให้โอวาทแก่เธอผู้มานั่งในเวลาเย็นว่า "คุณ ชื่อว่าภิกษุ กล่าวกิจที่ตนกระทำแล้วนั่นแหละว่า ‘ตนกระทำแล้ว’ ย่อมควร, จะกล่าวกิจที่ตนมิได้กระทำว่า ‘เป็นกิจที่ตนกระทำแล้ว’ ย่อมไม่ควร; บัดนี้ เธอกล่าวว่า ‘น้ำผมตั้งไว้ในซุ้ม, นิมนต์ท่านสรงเถิด ขอรับ’ เมื่อเราเข้าไปยืนอยู่, ถือหม้อน้ำโพนทะนาไป, ชื่อว่าบรรพชิตกระทำอย่างนั้น ย่อมไม่ควร."
               ภิกษุนั้นกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงดูกรรมของพระเถระ, พระเถระอาศัยเหตุสักว่าน้ำ จึงกล่าวกะเราอย่างนี้" โกรธแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ไม่เข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ. พระเถระไปสู่ประเทศแห่งหนึ่งกับภิกษุนอกนี้. เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ ถูกอุปัฏฐากถามว่า "พระเถระไปไหน? ขอรับ" จึงบอกว่า "ความไม่ผาสุกเกิดแก่พระเถระ, ท่านนั่งอยู่ในวิหารนั่นเอง."
               อุปัฏฐาก. ก็ได้อะไรเล่า จึงจะควร? ขอรับ.
               ภิกษุ. ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายจงถวายอาหาร ชื่อเห็นปานนี้.
               อุปัฏฐากทั้งหลายได้จัดแจงตามทำนองที่ภิกษุนั้นกล่าวนั่นเอง ถวายแล้ว.
               ภิกษุนั้นฉันอาหารนั้นในระหว่างหนทางแล ไปสู่วิหารแล้ว.

               พระเถระจับความเลวทรามของศิษย์ได้               
               ฝ่ายพระเถระได้ผ้าเนื้อละเอียดผืนใหญ่ในที่ที่ไปแล้ว ก็ได้ให้แก่ภิกษุหนุ่มผู้ไปกับด้วยตน. ภิกษุหนุ่มนั้นย้อมผ้านั้นแล้ว ได้กระทำให้เป็นผ้าสำหรับนุ่งห่มแห่งตน. ในวันรุ่งขึ้น พระเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น, เมื่อพวกอุปัฏฐากกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าทราบว่า ‘ได้ยินว่า ความไม่ผาสุกเกิดแก่ท่าน’ จึงจัดแจงอาหารส่งไป โดยทำนองที่ภิกษุหนุ่มกล่าวนั่นเอง ความผาสุกเกิดแก่ท่านเพราะฉันแล้วหรือ?" ก็นิ่งเสีย, ก็พระเถระไปสู่วิหารแล้ว กล่าวกะภิกษุหนุ่มนั้นผู้ไหว้แล้ว นั่งอยู่ในเวลาเย็นอย่างนี้ว่า "คุณ ได้ยินว่า วานนี้ เธอกระทำกรรมชื่อนี้, กรรมนี้ ไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย, บรรพชิตกระทำวิญญัติ (ขอ) แล้วฉัน ย่อมไม่สมควร."

               ประทุษร้ายแก่ผู้มีคุณตายไปเกิดในอเวจี               
               ภิกษุนั้นโกรธแล้ว ผูกอาฆาตในพระเถระว่า "ในวันก่อน พระเถระอาศัยเหตุสักว่าน้ำ กระทำเราให้เป็นคนมักพูดเท็จ ในวันนี้ เพราะเหตุที่เราบริโภคภัตกำมือหนึ่งในสกุลอุปัฏฐากของตน จึงกล่าวกะเราว่า ‘บรรพชิตกระทำวิญญัติบริโภค ย่อมไม่ควร’ แม้ผ้าท่านก็ให้แก่ภิกษุผู้บำรุงตนเท่านั้น, โอ! กรรมของพระเถระหนัก, เราจักรู้สิ่งที่เราควรกระทำแก่พระเถระนั้น"
               ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้าน, ส่วนตนพักอยู่ในวิหาร จับท่อนไม้ ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะสำหรับใช้สอยเป็นต้น แล้วจุดไฟที่บรรณศาลาของพระเถระ, สิ่งใดไฟไม่ไหม้ เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้นแล้วออกหนีไป กระทำกาละแล้ว เกิดในอเวจีมหานรก.
               มหาชนตั้งเรื่องสนทนากันว่า "ได้ยินว่า สัทธิวิหาริกของพระเถระ ไม่อดทนเหตุสักว่าการกล่าวสอน โกรธเผาบรรณศาลาแล้วหนีไป."
               ต่อมาภายหลัง ภิกษุรูปหนึ่งออกจากกรุงราชคฤห์ ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา ไปถึงพระเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา อันพระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถารแล้ว ตรัสถามว่า "เธอมาจากไหน?" ทูลว่า "มาจากกรุงราชคฤห์ พระเจ้าข้า."
               พระศาสดา. มหากัสสปบุตรเรา อยู่สบายหรือ?
               ภิกษุ. สบาย พระเจ้าข้า. แต่ว่า สัทธิวิหาริกของท่านรูปหนึ่ง โกรธด้วยเหตุสักว่าการกล่าวสอน เผาบรรณศาลาแล้วหนีไป.
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุนั้น ฟังโอวาทแล้วโกรธในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็โกรธแล้วเหมือนกัน; และภิกษุนั้นประทุษร้ายกุฎีในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ประทุษร้ายแล้วเหมือนกัน";
               ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า :-

               เรื่องนกขมิ้นกับลิงวิวาทกัน               
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี นกขมิ้นตัวหนึ่งทำรังอยู่ในหิมวันตประเทศ. ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อฝนกำลังตก, ลิงตัวหนึ่งสะท้านอยู่ เพราะความหนาว ได้ไปยังประเทศนั้น.
               นกขมิ้นเห็นลิงนั้น จึงกล่าวคาถาว่า๑- :-
                                   "วานร ศีรษะและมือเท้าของท่านก็มีเหมือน
                         ของมนุษย์, เมื่อเช่นนั้น เพราะโทษอะไรหนอ?
                         เรือนของท่านจึงไม่มี."

____________________________
๑- ขุ. ชา. จตุกก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๘๒; อรรถกถา ขุ. ชา. จตุกก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๘๒

               ลิงคิดว่า "มือและเท้าของเรามีอยู่ก็จริง, ถึงกระนั้น เราพิจารณาแล้วพึงกระทำเรือนด้วยปัญญาใด ปัญญานั้นของเราย่อมไม่มี." ใคร่จะประกาศเนื้อความนั้น
               จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   "นกขมิ้น ศีรษะและมือเท้าของเรา ย่อมมีเหมือน
                         ของมนุษย์, บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาใดประเสริฐ
                         ในมนุษย์ทั้งหลาย, ปัญญานั้น ย่อมไม่มีแม้แก่เรา."๒-

____________________________
๒- ถ้าตัดบท ยาห เป็น ยา-อหุ ก็แปลว่า แต่ข้าพเจ้าไม่มีปัญญา ที่เป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์.

               ลำดับนั้น เมื่อนกขมิ้นจะติเตียนลิงนั้นว่า "การอยู่ครองเรือน จักสำเร็จแก่ท่านผู้เห็นปานนี้ ได้อย่างไร?"
               จึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า :-
                                   "สุขภาพ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตเบา
                         (กลับกลอก) มักประทุษร้ายมิตร มีปกติ ไม่ยั่งยืนเป็นนิตย์.
                         ท่านนั้นจงกระทำอานุภาพเถิด จงเป็นไปล่วงความเป็นปกติ
                         (ของตน) เสีย, จงกระทำกระท่อมเป็นที่ป้องกันหนาวและลม
                         เถิด กบี่."

               ลิงคิดว่า "นกขมิ้นตัวนี้ ย่อมกระทำเราให้เป็นผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตเบา มักประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ยั่งยืน, บัดนี้ เราจักแสดงความที่เรามักเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรต่อมัน" จึงขยี้รังโปรยลงแล้ว.
               นกขมิ้น เมื่อลิงนั้นจับเอารังอยู่นั่นแหละ หนีออกไปโดยข้างหนึ่งแล้ว.

               ทรงประมวลชาดก               
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประมวลชาดกว่า
                         ลิงในกาลนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ประทุษร้ายกุฎีในบัดนี้,
                         นกขมิ้น คือกัสสป.
               ครั้นประมวลชาดกมาแล้ว จึงตรัสว่า
               "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นประทุษร้ายกุฎีในบัดนี้เท่านั้นหามิได้, แม้ในกาลก่อน ภิกษุนั้นโกรธในเพราะโอวาทแล้ว ก็ประทุษร้ายกุฎีแล้ว (เหมือนกัน), การอยู่ของกัสสปบุตรเราคนเดียวเท่านั้น ดีกว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลผู้เห็นปานนั้น"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-
                         ๒. จรญฺเจ นาธิคจฺเฉยฺย    เสยฺยํ สทิสมตฺตโน    
                         เอกจริยํ ทฬฺหํ กยิรา     นตฺถิ พาเล สหายตา.
                         ถ้าบุคคลเมื่อเที่ยวไป ไม่พึงประสบสหายผู้ประเสริฐกว่า
                         ผู้เช่นกับ (ด้วยคุณ) ของตนไซร้, พึงทำการเที่ยวไปคน
                         เดียวให้มั่น, เพราะว่า คุณเครื่องเป็นสหาย ย่อมไม่มีใน
                         เพราะคนพาล.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า จรํ บัณฑิตพึงทราบการเที่ยวไปด้วยใจ ไม่เกี่ยวกับการเที่ยวไปด้วยอิริยาบถ. อธิบายว่า เมื่อแสวงหากัลยาณมิตร.
               บาทพระคาถาว่า เสยฺยํ สทิสมตฺตโน ความว่า ถ้าไม่พึงได้สหายผู้ยิ่งกว่าหรือผู้แม้นกัน ด้วยคุณคือศีล สมาธิ ปัญญาของตน.
               บทว่า เอกจริยํ ความว่า ก็ในสหายเหล่านั้น บุคคลเมื่อได้สหายผู้ดีกว่า ย่อมเจริญด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น, เมื่อได้สหายผู้เช่นกัน ย่อมไม่เสื่อมจากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น, แต่เมื่ออยู่โดยร่วมกันกับสหายที่เลว ทำการสมโภคและบริโภคโดยความเป็นพวกเดียวกัน ย่อมเสื่อมจากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสคำนี้ว่า "บุคคลผู้เห็นปานนั้น อันบัณฑิตไม่พึงเสพ ไม่พึงคบ ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้, เว้นไว้แต่ความเอ็นดู เว้นไว้แต่ความอนุเคราะห์."
               เพราะเหตุนั้น หากบุคคลอาศัยความการุญ คิดว่า "บุคคลนี้อาศัยเรา จักเจริญด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น" ไม่หวังตอบแทนอยู่ซึ่งวัตถุอะไร? จากบุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมอาจสงเคราะห์บุคคลนั้นได้,
               การอาศัยความการุญ สงเคราะห์ดังนี้นั้น เป็นการดี ถ้าไม่อาจจะสงเคราะห์ (อย่างนั้น) ได้ พึงทำความเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น คือว่า ทำความเป็นคนโดดเดี่ยวเท่านั้นให้มั่น อยู่แต่ผู้เดียวในอิริยาบถทั้งปวง.
               ถามว่า "เพราะเหตุอะไร?"
               ตอบว่า "เพราะคุณเครื่องเป็นสหาย ย่อมไม่มีในเพราะชนพาล."
               อธิบายว่า จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐ ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนาคุณ มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ชื่อว่าคุณเครื่องเป็นสหาย, คุณเครื่องเป็นสหายนี้ ย่อมไม่มีเพราะอาศัยคนพาล.
               ในกาลจบเทศนา อาคันตุกภิกษุบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               เทศนาได้เป็นไปกับด้วยประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

               เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=434&Z=478
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=2059
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=2059
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :