ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 160อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 25 / 162อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ นิพพานสูตรที่ ๔

               อรรถกถาจตุตถนิพพานสูตร               
               จตุตถนิพพานสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อถ โข ภควา เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันเกี่ยวด้วยพระนิพพาน โดยแสดงการเทียบเคียงเป็นต้น โดยอเนกปริยายแล้ว
               ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อันดับแรก พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์ ซึ่งมีขันธ์มีอาการเป็นอเนกแห่งอมตมหานิพพานธาตุ จึงทรงประกาศอานุภาพนี้อันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น. แต่ไม่ตรัสอุบายเครื่องบรรลุอมตมหานิพพานธาตุนั้น พวกเรา เมื่อปฏิบัติอยู่ จะพึงบรรลุอมตมหานิพพานนี้อย่างไรหนอ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบโดยอาการทั้งปวงซึ่งอรรถ กล่าวคือภาวะที่ภิกษุเหล่านั้นมีความปริวิตก ตามที่กล่าวแล้วนี้.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า พระองค์ทรงเปล่งอุทานนี้อันประกาศถึงการบรรลุพระนิพพาน ด้วยการละตัณหาได้เด็ดขาดด้วยอริยมรรค ของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาอันดำเนินไปตามวิถีจิต ผู้มีกายและจิตสงบระงับ ผู้ไม่อิงอาศัยในอารมณ์ไหนๆ ด้วยอำนาจตัณหา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสฺสิตสฺส จลิตํ ความว่า บุคคลผู้ถูกตัณหา และทิฏฐิเข้าอาศัยในสังขารมีรูปเป็นต้น ย่อมหวั่นไหว คือย่อมดิ้นรนเพราะตัณหาและทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลผู้ยังละตัณหาและทิฏฐิไม่ได้ เมื่อสุขเวทนาเป็นต้นเกิดขึ้น ไม่อาจจะครอบงำเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นอยู่ มีจิตสันดานดิ้นรนกวัดแกว่ง ดิ้นรนหวั่นไหว อันนำออกแล้ว เพราะให้กุศลเกิดขึ้นด้วยอำนาจการยึดถือตัณหาและทิฏฐิ โดยนัยมีอาทิว่า เวทนาของเรา เราเสวย.
               บทว่า อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ ความว่า ก็บุคคลใดดำเนินไปตามวิสุทธิปฏิปทา ย่อมข่มตัณหาและทิฏฐิได้ด้วยสมถะและวิปัสสนา ย่อมพิจารณาเห็นสังขาร ด้วยลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นอยู่ บุคคลนั้น คือผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย ย่อมไม่มีจิตหวั่นไหว ฟุ้งซ่าน ดิ้นรน ตามที่กล่าวแล้วนั้น เพราะข่มเหตุไว้ได้ด้วยดีแล้ว.
               บทว่า จลิเต อสติ ความว่า เมื่อจิตไม่มีความหวั่นไหวตามที่กล่าวแล้ว เขาก็ทำจิตนั้นให้เกิดความขวนขวายในวิปัสสนา อันดำเนินไปตามวิถีจิต โดยที่การยึดถือตัณหาและทิฏฐิเกิดขึ้นไม่ได้.
               บทว่า ปสฺสทฺธิ ความว่า ปัสสัทธิทั้ง ๒ อย่าง อันเข้าไปสงบกิเลส ซึ่งกระทำความกระวนกระวายกายและจิต ที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาจิต.
               บทว่า ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ ความว่า เมื่อปัสสัทธิ อันควรแก่คุณวิเศษ ก่อนและหลัง มีอยู่ เธอเจริญสมาธิ อันมีความสุขหาโทษมิได้ เป็นที่ตั้งแล้วจึงประกอบสมถะและวิปัสสนาให้เนื่องกันเป็นคู่ โดยทำสมาธินั้น ให้รวมกับวิปัสสนาแล้ว ทำกิเลสให้สิ้นไปโดยสืบๆ แห่งมรรค ตัณหาอันได้นามว่า นติ เพราะน้อมไปในกามภพเป็นต้น ไม่มีในขณะแห่งอริยมรรคโดยเด็ดขาด อธิบายว่า ไม่เกิดขึ้น เพราะให้ถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา.
               บทว่า นติยา อสติ ความว่า เมื่อไม่มีปริยุฏฐานกิเลส คือความอาลัยและความติด เพื่อต้องการภพเป็นต้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ด้วยอริยมรรค.
               บทว่า อาคติคติ น โหติ ความว่า การมา คือความมาในโลกนี้ด้วยอำนาจปฏิสนธิ การไป คือการไปจากโลกนี้สู่ปรโลก ได้แก่ความละไปด้วยอำนาจจุติ ย่อมไม่มี ได้แก่ ย่อมไม่เกิด.
               บทว่า อาคติคติยา อสติ ความว่า เมื่อไม่มีการมาและการไป โดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า จุตูปปาโต น โหติ ความว่า การจุติและอุปบัติไปๆ มาๆ ย่อมไม่มี คือย่อมไม่เกิด.
               จริงอยู่ เมื่อไม่มีกิเลสวัฏ กัมมวัฏก็เป็นอันขาดไปทีเดียว และเมื่อกัมมวัฏนั้นขาดไป วิปากวัฏจักมีแต่ที่ไหน ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มี ดังนี้เป็นต้น. คำที่ควรกล่าวในข้อนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในพาหิยสูตรในหนหลังนั่นแล. เพราะฉะนั้น พึงทราบความโดยนัยดังกล่าวแล้วในพาหิยสูตรนั่นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศอานุภาพแห่งอมตมหานิพพาน อันเป็นเหตุสงบทุกข์ในวัฏฏะได้โดยเด็ดขาด ด้วยสัมมาปฏิบัติแก่ภิกษุเหล่านั้น ในพระศาสนาแม้นี้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาจตุตถนิพพานสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ นิพพานสูตรที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 160อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 25 / 162อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4022&Z=4033
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=9498
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=9498
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :